โอกาส-ความเป็นไปได้ นโยบาย 'ยกเครื่องกองทัพ'

รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ได้เข้าบริหารราชการแผ่นดินอย่างเต็มตัวไปแล้วตั้งแต่เมื่อ 13 ก.ย. หลังเสร็จสิ้นการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อที่ประชุมรัฐสภาเมื่อ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา

ซึ่งหนึ่งในภารกิจการขับเคลื่อนการทำงานของรัฐบาลที่หลายคนสนใจก็คือ "ด้านความมั่นคง” หลังพรรคเพื่อไทยผลักดันให้ สุทิน คลังแสง เป็น รมว.กลาโหม ซึ่งตัวสุทินก็ได้เข้าทำงานอย่างเป็นทางการที่กระทรวงกลาโหม เมื่อ 13 ก.ย.ที่ผ่านมาเช่นกัน

มีมุมมองและข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะในเชิงวิชาการจากนักรัฐศาสตร์ด้านความมั่นคงชื่อดัง “รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์พิเศษ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ” ที่มาให้ข้อคิดเห็นผ่านรายการ “อิสรภาพแห่งความคิด” ของไทยโพสต์ ถึงมุมมองในเรื่อง ทิศทางเรื่องงานด้านความมั่นคงของรัฐบาล หลังมีหลายฝ่ายต้องการเห็น "การปฏิรูปกองทัพ

สำหรับ "ดร.ปณิธาน” ที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ ก็เคยเข้าไปทำงานเป็น "หัวหน้าคณะทำงาน รมว.กลาโหม ยุคชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีควบ รมว.กลาโหม" มาแล้ว ขณะเดียวกันก็มีประสบการณ์ด้านงานความมั่นคง-การต่างประเทศอีกหลายอย่างในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ตอนนั้นเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นต้น

“ดร.ปณิธาน” กล่าวถึงการที่นายสุทิน ที่มาจากพลเรือนแล้วมาเป็น รมว.กลาโหม ซึ่งจะแตกต่างจาก รมว.กลาโหมพลเรือนก่อนหน้านี้ ที่เป็นนายกฯ ควบ รมว.กลาโหมว่า เป็นฉากใหม่ของบริบทการเมืองไทย ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือนกับทหาร มองว่ารัฐบาลพลเรือนเขาก็อยากได้ รมว.กลาโหมที่เป็นพลเรือน อย่างสมัย ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ตอนปี 2519 ซึ่งท่านก็เป็นอดีตหัวหน้าเสรีไทย เป็นคนแรกที่เป็น รมว.กลาโหม และนายกฯ แต่ท่าน ม.ร.ว.เสนีย์ก็อยู่แค่เดือนเดียวเพราะปัญหาเยอะ ก็มีคุณชวน หลีกภัย อยู่นานสุด 3 ปีครึ่ง และทำอะไรที่เหนือความคาดหมาย เช่นส่งทหารไทยไปติมอร์ตะวันออก ซึ่งตอนนั้นผู้นำเหล่าทัพก็ไม่ค่อยเห็นด้วย พลเอกมงคล อัมพรพิสิฏฐ์ อดีต ผบ.สส.บอกว่าไม่มีกำลัง ซึ่งก็ไม่มีกำลังจริงๆ และ ผบ.ทบ.ก็ไม่ค่อยพร้อม ต้องไปเอาหน่วยรบเคลื่อนที่เร็วมา แล้วก็ต้องเอาพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ กลับมาเป็น ผบ.ทบ. แล้วก็ส่งกำลังไปรักษาสันติภาพ

ตอนนั้นผมเป็นข้าราชการประจำเป็นอาจารย์สอนหนังสือ ก็ไปช่วยราชการท่านชวนตอนเป็น รมว.กลาโหม เป็นหัวหน้าคณะทำงาน รมว.กลาโหม ช่วงนั้นเที่ยงคืนกว่า ผมก็รับโทรศัพท์จากสหรัฐฯ สหประชาชาติ เขาก็ถามว่านายกฯ รมว.กลาโหมไทยอยู่ไหม ผมก็บอกว่าท่านหลับไปแล้ว แต่ก็มีการไปปลุกท่านมา เพราะสหประชาชาติจะมีมติแล้วว่าจะขอให้ไทยส่งกองกำลังรักษาสันติภาพไปติมอร์ฯ ตอนนั้นคนไทยจำนวนมากไม่เห็นด้วย สื่อก็ไม่เห็นด้วย แต่ท่านชวนบอกว่าเราจำเป็นต้องส่งไป เพราะเพื่อนบ้านเราอาเซียนเขาเดือดร้อน ตอนนั้นคุณสุรินทร์ พิศสุวรรณ เป็น รมว.ต่างประเทศ ก็ไปคุยกับอินโดนีเซีย เขาก็เห็นด้วย

ช่วงนั้น รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ ก็โทรศัพท์มา เราก็บอกไปว่าคนไทยไม่อยากให้ส่งไปและไม่มีเงิน เขาก็บอกว่าไม่เป็นไร จะให้ออสเตรเลียส่งเครื่องบินมารับ ให้ไปแต่ตัว แต่คำว่าไปแต่ตัวผลัดแรกก็ไป 800 กว่าคน ที่ก็ไปแต่ตัวจริงๆ พอไปถึงก็ต้องไปเอาพลเอกบุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ มาทำงาน

ทั้งหมดเหล่านี้ หากไม่มีพวก ไม่มีรุ่น และไม่ใช่ทหาร คนก็บอกว่าจะตัดสินใจง่ายกว่า และหลังจากนั้นก็พิสูจน์ได้อีกกรณีคือ การต่อรองขอเงินคืน ขอให้ไม่ยึดเงินมัดจำในโครงการจัดซื้อจัดหาเครื่องบิน F-18

ทั้งสองกรณีดังกล่าวเป็นบทพิสูจน์ว่า การที่ รมว.กลาโหมเป็นพลเรือนก็มีประโยชน์เหมือนกัน เพราะท่านชวนเป็นคนสุภาพ เป็นคนรับฟัง และมีคณะทำงานที่เป็นทั้งทหารและพลเรือน อย่างพลเอกยุทธนา แย้มพันธุ์ ที่เป็นนักรบ เครื่องบินตกก็ไม่เสียชีวิต ก็เป็นคณะที่ปรึกษา หรืออย่างการตั้งพลเอกสุรยุทธ์ จากที่ปรึกษากองทัพบกมาเป็น ผบ.ทบ. ที่ก่อนหน้านั้นคนก็ไปมองว่าเส้นทางของพลเอกสุรยุทธ์คงจบแล้ว แต่คุณชวนก็ไปดึงกลับมาได้ และยังกัดฟันสั่งให้ลดอัตรากำลังของกองทัพลง 8 หมื่นอัตราที่อยู่ในแผนแม่บท และสั่งให้ตัดจำนวนนายพลลงให้เหลือปีละพันคน

-มองกรณีคุณสุทินเป็น รมว.กลาโหมอย่างไร กังวลใจอะไรหรือไม่?

การที่คุณสุทินเคยเป็นครูบาอาจารย์ มีความสุขุมรอบคอบ คุ้นเคยกับทหารดี อาจจะเคยต่อสู้กับทหารมาแล้วหลายยก เพราะฉะนั้นก็จะเข้าใจดี ตื้นลึกหนาบาง และหลังจากขี่ม้าเลียบค่าย ป้อมทหารก็เปิดประตู คุณสุทินก็เข้าไปแล้ว ก็ต้องระวังอย่าให้ไปเจอค่ายกล หรือถูกปิดแล้วอยู่ข้างใน

แต่ว่าดูภาพรวมดูทรงตอนนี้ ก็ดูท่าทางใช้ได้ แต่ยกเว้นว่าแฟนคลับของอีกฝ่ายหนึ่งเขาก็บอกว่า เคยหาเสียงไว้แบบนี้แล้วถึงเวลาทำจริงจะทำแบบไหน จะยกเลิกการเกณฑ์ทหารจะทำแบบไหน เสียงช่วงหลังจะเปลี่ยนไปหรือไม่ ที่ก็เป็นเรื่องภายในซึ่งผมมองว่าทั้งทหารและรัฐมนตรีน่าจะคุ้นเคยดีอยู่แล้ว ไม่น่าจะมีปัญหาเท่าใดนัก รวมถึงการเพิ่มหรือปรับลด การจัดซื้อบางอย่างของกลาโหม การปรับเปลี่ยนโครงสร้างบางอย่างในกองทัพ ที่ก็สามารถทำได้โดยไม่ต้องเกรงใจรุ่นหรือพวก แต่ทำแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย ก็ต้องถือเป็นช่วงฮันนีมูนพีเรียดจริงๆ เพราะเป็นบริบทใหม่ ฉากใหม่ คนยังไม่ค่อยคุ้น

ส่วนเรื่องอื่นๆ เช่นมีคนถาม รมว.กลาโหมว่าจะเอาอย่างไรกับทหารเกเร เพราะคนก็คุ้นเคยกับทหารเกเร เพราะมีเสธ.ต่างๆ แต่คุณสุทินบอกว่าไม่น่าเป็นห่วง เพราะทหารมีระบบมีวินัย เรื่องนี้ก็ต้องรอดูไป ก็เป็นความท้าทายของคนเป็น รมว.กลาโหม ที่ไม่ได้ควบตำแหน่งนายกฯ เพราะความเกรงใจจะไม่เหมือนกับหากเป็นนายกฯ มาควบตำแหน่ง รมว.กลาโหม แต่คุณสุทินก็มีความใกล้ชิดกับนายกฯ พอสมควร

รวมถึง รมว.กลาโหมก็ต้องประสานกับ รมว.ต่างประเทศ (ปานปรีย์ พหิทธานุกร) ด้วยเพราะลักษณะงานมีความเกี่ยวข้องกับกระทรวงต่างประเทศ มากกว่าที่หลายคนคิด อย่างเช่นไม่กี่วันข้างหน้า ทหารไทยต้องไปร่วมซ้อมรบกับอาเซียน ใกล้ๆ กับทะเลจีนใต้ที่ขัดแย้งกันอยู่ จะไม่ไปก็ไม่ได้ แต่ไปก็อันตราย เพราะถ้าจีนมองว่าพวกนี้จับมือกันกดดันจีนหรือไม่ ซึ่งการซ้อมรบดังกล่าวเป็นการเชื้อเชิญของอินโดนีเซีย ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีต รมว.ต่างประเทศเคยบอกว่า การทำให้อาเซียนเข้มแข็งมันดีกับเรา โดยเฉพาะในทางทหาร 

ยุคคุณสมัคร สุนทรเวช, สมชาย วงศ์สวัสดิ์, ยิ่งลักษณ์ อยู่ไม่กี่เดือน ก็ยังไม่ค่อยเป็นชิ้นเป็นอัน ตอนนี้ก็เป็นสถานการณ์ใหม่ ไม่ใช่เรื่องแบบเดิม แต่ก็ให้กำลังใจ

"ดร.ปณิธาน" กล่าวด้วยว่า ขณะนี้สถานการณ์ในเมียนมาคนก็กำลังพูดจะเป็นยูเครนสองหรือไม่ จีนบอกแล้วว่ามีหลายประเทศสนับสนุนและส่งอาวุธไปให้กองกำลังติดอาวุธจนรบเก่งมาก จีนก็กำลังถามอยู่ ซึ่งการทำงานของ รมว.กลาโหม คุณสุทินก็ต้องใช้ที่ปรึกษาให้ดีๆ เพียงแต่ว่าบางครั้งพอที่ปรึกษาเห็นต่างกันเพราะที่ปรึกษาก็จะมาจากหลายสำนัก ทำให้ตัว รมว.กลาโหมต้องตัดสินใจเอง

ยกตัวอย่างเช่น "การเพิ่มกำลังทหาร" บางคนจะบอกว่าไม่ดี แต่อีกสำนักจะบอกว่าแบบนี้ดี สองสำนักนี้ก็จะขัดแย้งกัน สายเหยี่ยว-สายพิราบ แล้วความจริงจะอยู่ตรงไหน เรื่องสมดุลใหม่ ที่พลเอกประยุทธ์เคยพูดไว้ตอนไปประชุมรัฐมนตรีกลาโหมที่สิงคโปร์ ซึ่งพลเอกประยุทธ์บอกว่าสมดุลใหม่ที่ต้องทำให้ได้ ต้องอยู่กลางๆ ไม่เข้าใกล้ใคร แต่ก็ไม่ห่างไกลใคร ซึ่งก็ทำยาก เพราะหากไปเข้าใกล้สหรัฐฯ มากไป แล้วจีนมองว่าเป็นศัตรูมันก็ยุ่ง แต่หากใกล้เข้าจีนมากไป อย่างเช่นกัมพูชาแบบนี้ สหรัฐฯ ก็จะบอกว่าแบบนี้ไม่น่าคบ กัมพูชาก็เลยต้องปรับ

David M. Lamptan อดีตคณบดีของมหาวิทยาลัย Johns Hopkins เขาเขียนหนังสือเรื่องบทบาทของไทยและบทบาทของประเทศในอาเซียน ในการบริหารจัดการความสัมพันธ์กับจีน เขาบอกว่าที่ผ่านมา ประเทศไทยรักษาความสมดุลได้ดีกว่าหลายประเทศ เช่นไม่กู้เงินจีน ไม่ทำสารพัดโครงการแล้วปล่อยให้จีนเข้ามาบงการ เช่น ยึดท่าเรือ ยึดรถไฟ ไทยกัดฟันไม่เอาเงินง่ายๆ เขาบอกว่าแบบนี้ดี เป็นแม่แบบ ทำให้ประเทศไทยสามารถรักษาสถานภาพที่ดี ก็สมดุลเดิม แต่ต้องใกล้ชิดวอชิงตันมากกว่านี้ ต้องขยับปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ อย่างตอนนี้เราคุยกับทุกกลุ่มได้แล้วในเมียนมา คือไม่ได้ว่าเราไปคุยแต่เขาขอให้เราไป อย่างอองซาน ซูจี ซึ่งไม่ได้ไปพบได้ง่ายๆ ถ้าทหารพม่าไม่ไฟเขียว แล้วอองซาน ซูจีไม่อนุญาต แต่ตอนนี้เขาเชิญไทยไปพบ ไปคุยกันเรื่องความขัดแย้ง หลังจากที่เราคุยกับทหารพม่า เราคุยกันหลายกลุ่ม

รัฐบาลเข้ามาตอนนี้ก็ต้องยกระดับให้มันเกิดสันติภาพ ให้มีการเจรจา ยุติการยิงการรบได้ จะไปคุยเฉยๆ ไม่ได้ ต้องผลักดัน ซึ่งหากผลักดันได้มันก็ได้ประโยชน์ เพราะตอนนี้วุ่นวายมาก คนหนีออกมาไปบังกลาเทศเป็นล้าน บ้านเราตอนนี้มีเป็นแสน และประเทศไทยเราพิสูจน์มาแล้ว ไม่ว่าในยามวิกฤต จะมีการทะเลาะกันเรื่องคอมมิวนิสต์ มีวิกฤตต่างๆ เราช่วยได้เยอะ เราช่วยเชื่อมโยง ช่วยตั้งเขตการค้าเสรี

การทำงานของคุณสุทิน รมว.กลาโหม จากนี้ก็ต้องรอดูก่อน แต่เท่าที่เห็นจุดแข็งของคุณสุทิน คือเป็นคนรับฟัง ที่เป็นเรื่องสำคัญ ก็เป็นสัญญาณที่ดี

แก้ปัหาเรือดำน้ำจีน

แนะคุยฟาสต์แทรกเยอรมนี

-นโยบายด้านความมั่นคงของรัฐบาล ที่ไปอยู่ในหมวดด้านการสร้างความปลอดภัย คุณภาพชีวิต ที่พูดถึงเรื่องความมั่นคง เช่น ปรับปรุงการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานในกลาโหม การนำพื้นที่ทหารที่เกินความจำเป็นมาใช้ประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด หรืออย่างเรื่องทหารเกณท์มองว่ายกเลิกเลยได้หรือไม่?

ระยะยาวก็น่าสนใจ หากคนสนใจมาสมัครเป็นทหารกันมาก มีเงินเดือน สวัสดิการที่ดี เราจะเห็นเหตุการณ์แบบนี้มาบ้าง ตอนเศรษฐกิจไม่ดีคนก็สมัครกันเยอะ และในหน่วยพิเศษหลายหน่วย เช่นกองทัพไซเบอร์ ก็น่าจะรับเข้ามา สิงคโปร์ อิหร่าน และอีกหลายประเทศ ก็กำลังทำกันอยู่สำหรับกองทัพไซเบอร์

เรื่องการยกเลิกเกณฑ์ทหาร ผมมองว่าเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก ความต้องการ หลักการพื้นฐานบางอย่างของพรรคการเมือง ของสังคมด้วย แต่มันก็มีเส้นบางๆ อยู่ แม้แต่ในเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เยอรมนี และอีกหลายประเทศตอนนี้กลับมาเน้นหนักเรื่องเกณฑ์ทหาร บางประเทศตอนนี้กลับไปใช้การเกณฑ์ทหาร เพื่อต้องการเตรียมกำลัง จัดระเบียบต่างๆ ซึ่งหลายประเทศไม่ใช่แค่คงไว้แต่มีการเพิ่มทหารขึ้นอีก แม้แต่สวีเดน นอร์เวย์ ฟินแลนด์ ที่ว่าเป็นประเทศก้าวหน้า ประเทศเหล่านี้ก็มีทหารเยอะหลายหมื่นคน หากเทียบกับสัดส่วนประชากร และค่าใช้จ่ายในเรื่องการทหารสูงกว่าเราเสียอีก หากเทียบเป็นสัดส่วนอย่างของเราร้อยบาทไทย ให้งบทหารไปแค่ประมาณหนึ่งบาทห้าสิบสตางค์ สหรัฐฯ ให้ไปสามบาท  เกาหลีเหนือให้ไปยี่สิบบาทถึงสามสิบบาท สิงคโปร์ให้ไปสิบกว่าบาท

การจัดการตรงนี้อาจจะดีหากทำให้เกิดประสิทธิภาพ อย่างไรก็แล้วแต่มันต้องถามว่าเป้าหมายคืออะไร เป้าหมายคือจะเตรียมกำลังเพื่อป้องกันตนเอง จัดการชายแดน หรือว่าเตรียมหากจะต้องเข้าสู่สมรภูมิในอนาคต ซึ่งเรื่องนี้เรื่องใหญ่มาก เพราะหากจะเข้าสู่สมรภูมิ ไทยอยากจะอยู่ข้างผู้ชนะอีกแล้วเหมือนเมื่อก่อน แต่ต่อไปมันจะยากกว่าเดิมเยอะ ต้องมาดูว่ามันจะจัดยังไง จะวางกำลังอย่างไร บางประเทศเขาไปถึงขั้นพัฒนาประเทศด้วยการมี "กองทัพโดรน" แล้ว และพบว่ารบได้ดีมาก ขนาดรัสเซียยังป่วนเลย เจอกองทัพโดรนของยูเครนเข้าไป แม้แต่ทหารเมียนมา เจอกองทัพโดรนรุ่นใหม่ ที่ว่ากันว่ามาจากแถวๆ นี้ แต่แถวไหนไม่ทราบ ปรากฏว่าป่วนเลย

จริงๆ ผมว่าควรจะผสม มันไม่สามารถบอกได้ว่าจะเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยลดการเกณฑ์ทหาร แต่ส่วนไหนจะเปิดรับสมัครก็เปิดรับ อย่างกองทัพไซเบอร์อาจจะต้องเพิ่มงบประมาณให้เยอะ

ที่น่าสนใจคือ ที่บอกจะนำพื้นที่ของหน่วยทหารที่เกินความจำเป็นมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน เพราะกองทัพมีทรัพย์สินมหาศาล มีที่ดินเยอะ และหลายประเทศก็บริหารจัดการใหม่ โยกกำลังพลออกไป ใช้ที่ดินนำมาพัฒนาใหม่ให้เป็นเชิงพาณิชย์ ซึ่งเรื่องนี้หากทำได้ดีก็จะดีเลย แต่ต้องหาคนเก่งๆ มาบริหารจัดการ

ส่วนเรื่องการลดกำลังพลนายทหารชั้นสัญญาบัตรระดับสูง และกำหนดอัตรากำลังในกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ให้สอดคล้องกับบทบาทและภารกิจในปัจจุบันและอนาคตของประเทศนั้น มองว่าเรื่อง กอ.รมน.เป็นโจทย์ยาก เป็นโจทย์เก่า โจทย์โบราณ แต่เอามาปรับใหม่ ที่มาจากการต่อต้านคอมมิวนิสต์ และมีการจัดกำลังทุกส่วนมาไว้ที่ กอ.รมน. แล้วสู้กับคอมมิวนิสต์ชนะ พอชนะแล้วก็เลยคิดว่าสูตรนี้ เป็นสูตรที่สำเร็จ แต่จริงๆ แล้วตอนนี้มันไม่มีคอมมิวนิสต์ แต่มันมีภัยคุกคามอื่น อย่างเช่นภัยก่อการร้าย ภัยจากไซเบอร์

หากจะจัดกำลังผสมตรงนี้ ซึ่งผมเคยแนะนำอดีตนายกฯ คนหนึ่งไปว่า ต้องเปลี่ยน กอ.รมน.ให้เหมือนกับเป็นทบวงใหม่ในการป้องกันประเทศ แบบสหรัฐฯ แต่ทำให้เล็กลง หรือจะทำแบบคณะกรรมการประสานงานแบบโมเดลที่ประเทศออสเตรเลีย เพราะแต่ละเหล่าทัพเขามีหลักนิยม มีหลักวิธีคิดของตัวเอง แต่พอมาทำงานร่วมกันมันจะยากในการต่อต้านภัยคุกคามสมัยใหม่ที่เป็นองค์รวม เรื่องการค้ามนุษย์เป็นปัญหาเชิงองค์รวม รวมถึงเรื่องไซเบอร์ ซึ่งหากไม่มีหน่วยงานกลางเข้ามา ก็จะได้เห็นการทำงานแบบกองทัพบก กองทัพเรือ ต่างออกไปทำภารกิจต่างๆ กองทัพอากาศอีก ก็คือไปทำคนละอย่างกัน เพราะหลักนิยมของแต่ละกองทัพเขาแตกต่างกัน ดังนั้นหน่วยประสานงานนี้ต้องปรับระดับใหม่ ปรับวิธีการใหม่

สำหรับเรื่องการปรับปรุงหลักการซื้ออาวุธ ก็เป็นอีกโจทย์ที่ยากมาก และจะอยู่กับเราไปอีกนาน เพราะฝ่ายหนึ่งจะบอกว่าในเมื่อไม่มีการรบ แล้วจะไปซื้ออาวุธทำไม ซื้อมาก็ไม่ได้ยิง ไม่ได้ใช้ ซื้อมาก็เอาไปเก็บไว้ ก็เป็นโจทย์ที่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยเขาตั้งโจทย์ไว้แล้ว ส่วนอีกฝ่ายหนึ่ง บอกว่ามันเป็นเรื่องของ "อำนาจแฝง" ในการต่อรอง เป็นเรื่องของความพร้อม เพราะหากในยามฉุกเฉิน เกิดมีวิกฤต เช่นหากเราต้องส่งกำลังไปร่วมรบที่เกาหลีใต้ จะเตรียมไม่ทันแน่นอน หากไม่วางแผน 10-20 ปี การที่เราไปเกาหลีใต้ได้เป็นประเทศที่สองหลังจากสหรัฐฯ แล้วไปช่วยเขาได้เป็นหมื่นคน ได้ประโยชน์มหาศาล แต่อีกฝ่ายก็จะบอกว่าแล้วเมื่อไหร่จะมีสงครามอีก แต่ตอนนี้มันก็เริ่มแล้ว ทะเลจีนใต้เร็วๆ นี้อาจจะเกิดปัญหา ในเมียนมาก็เกิดแล้ว

ดังนั้นสองฝ่ายน่าจะต้องมาคุยกันให้รู้เรื่อง เช่นให้เห็นว่าภัยคุกคามมีจริง เป็นยังไง อนาคตต้องทำอะไร ต้องตกลงกันให้ได้ แทนที่จะคุยกันเป็นแท่ง อันนี้โจทย์ยาก เพราะมันมาจากสองสำนักที่ไม่เหมือนกัน สายเหยี่ยว สายพิราบ แต่ว่าในความเป็นจริง ตอนนี้เราเรียนรู้เยอะมากว่าเราอาจมีวิธีการอื่นในการเตรียมกำลังโดยที่ไม่ต้องรบโดยตรง หรือเราอาจทำแบบตุุรกีหรืออินเดียทำ คือไม่ได้เน้นเรื่องการพัฒนากองทัพทั้งหมด แต่ว่าก็ต้องเข้มแข็งในระดับหนึ่ง แต่ตรงนั้นคืออะไรก็ต้องมาคุยกัน ถ้าคุยกันได้ มันก็สามารถเดินหน้าได้

ส่วนเรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำ เรื่องนี้มันมีตำนาน คือสมัยผมกลับมาสอนหนังสือเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว ประมาณช่วงปี 2536 ก็มีการจัดสัมมนาเรื่องเรือดำน้ำคอกคูมส์ สวีเดน ที่เราจะซื้อเป็นชุดแรกๆ ตอนนั้น พลเรือเอกทวีศักดิ์ โสมาภา ช่วงนั้นเป็นเสนาธิการทหารเรือ แต่ต่อมาก็ได้เป็น ผบ.ทร. ก็มาพูดในงาน ก็บอกว่าควรจะมีเรือดำน้ำแต่ก็มีไม่ได้ จนเพื่อนบ้านมีครบเกือบหมด ก็เป็นปัญหาในการสร้างศักยภาพ แต่ขณะเดียวกันเรือดำน้ำก็ราคาแพง ถ้าไม่ตั้งหลัก ไม่ดูให้ดีว่าจะเอาจากเยอรมัน สวีเดน เกาหลีใต้ จีนหรือจะเอาอย่างไร แต่เมื่อมีข้อสรุปว่า ให้มีเรือดำน้ำ เพราะประเทศอื่นเขาไปเรือดำน้ำกันหมด คราวนี้ก็เหลือเรื่องทางเทคนิค โดยเรือจีนมาจากเรือรัสเซีย ก็มีข้อดีเยอะ แต่ก็มีข้อเสียหลายอย่างที่ต้องแก้ปัญหา เครื่องยนต์ชุดนี้ หากเป็นเครื่องยนต์ใหม่จริงๆ แล้วไม่เคยใช้ ก็ต้องระวังให้มาก

ทางเลือกหนึ่งก็คือกลับไปเจรจาต่อรองกับเยอรมนี ซึ่งรัฐบาลใหม่ก็น่าจะมีโอกาสดีกว่าเดิม โดยดึงเอาเครื่องยนต์เยอรมนีกลับมา ถ้าทำได้ โดยหากฟาสต์แทรกไปก็จะเป็นผลงานชิ้นโบแดง เยอรมนีเป็นประเทศที่มีความใกล้ชิดกับไทยมาก ไม่ต้องพูดถึงระดับบนสุด ระดับกลาง ระดับล่างก็มี มีคนไทยในเยอรมนีมากที่สุดหลายหมื่นคน แล้วความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ก็ดีมาโดยตลอด แม้เราอาจจะเคยหักหลังเขาในช่วงสงครามโลก และหนีเขาออกมา แต่ในที่สุดแล้วเขามีความใกล้ชิดกับเรา ทูตเยอรมนีหลายคนพูดไทยได้คล่อง รู้จักเมืองไทยดี และใกล้ชิดกับเรา และจริงๆ เขาอยากทำงานกับเรามาก และยังสนใจเรื่องภาคใต้และอีกหลายเรื่อง

ซึ่งหากจะคุยกันจริงๆ ก็ยังคุยกันได้ หาก รมว.กลาโหมมีคนเก่งๆ ไปเจรจา ซึ่งก็มีอยู่แล้วเพราะเท่าที่ดูในรัฐบาลชุดนี้ก็มีนักเจรจา แล้วของจีนเราก็คุยได้ เพราะเราก็ได้เรือแล้ว ซึ่งของจีนก็ไม่ได้เลวร้ายอะไร และพิสูจน์แล้วว่าจีนเอาของรัสเซียมาทำ แล้วดีกว่าเดิม แต่ว่าเครื่องยนต์ตรงนี้ที่ไม่ใช่เครื่องยนต์หลักก็จริง แต่ว่าเมื่อมันมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น ก็ต้องบอกให้ชัด หากดูแล้วสุ่มเสี่ยงในอนาคตหรือไม่ จีนก็ต้องมีหลักประกันให้เราใหม่ เป็นอีกทางเลือกให้เราว่าหากเกิดอะไรขึ้นมา เขาจะต้องมาช่วยรับผิดชอบ มาช่วยกู้ภัย ต้องมาช่วยดูแล อาจต้องมาช่วยซ่อมให้ฟรี ที่มันก็เป็นเรื่องของการเจรจาอยู่แล้ว

-นายกรัฐมนตรีบอกว่า ในอนาคตหากจะมีการจัดหาอาวุธ อาจต้องใช้ระบบบาร์เตอร์เทรด?

ก็เคยใช้มาแล้ว มันก็ดูดี แต่อย่างเอากุ้งไปแลกเครื่องบิน เอากุ้งทั้งประเทศไปแลกก็ไม่ได้ เพราะมันแพง เพราะเราจับกุ้งได้จำนวนหนึ่งแล้วเราขายอยู่แล้ว เราก็ไม่สามารถผลิตกุ้งได้มากกว่านี้ แล้วหากเราจะเอาไปแลก ซึ่งมันเคยทำกับเครื่องบิน F-18 แล้วสหรัฐฯ ก็ไม่ซื้อกุ้งด้วยเพราะมันมีมาตรฐานหลายอย่าง เขาเลยขอให้ญี่ปุ่นซื้อกุ้งเรา ในช่วงที่เราซื้อเครื่องบิน F-18 แต่หนึ่งควรจะทำ แต่สองมันไม่พอ ตอนนี้ที่คุยกันมาก คือไม่ต้องขาย ซื้อสินค้าเกษตรอย่างเดียวก็ได้ แต่โอนเทคโนโลยีของเขาให้เรา พวกสตาร์ทอัป อันนี้มันยาก แต่สหรัฐฯ สามารถไปบีบบริษัทอื่นๆ ให้โอนมา เช่นให้โอนเทคโนโลยีเครื่องบินมาที่อู่ตะเภา มาที่อีอีซี บีบให้โบอิ้งมาตั้งโรงงานที่ไทย อันนี้ทำได้ แต่ต้องใช้กำลัง ซึ่งเกาหลีใต้ทำมาแล้วสำเร็จ รวมถึงญี่ปุ่นก็ทำมาแล้ว เขาได้พัฒนาเครื่องบินของเขาเอง ตุรกีก็กำลังทำอยู่ตอนนี้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“รองประธานสโมสร เชียงราย ยูไนเต็ด สู่นักการเมืองหญิงแกร่ง”

หลายคนรู้จักกับนักการเมืองรุ่นใหญ่ อย่าง “ยงยุทธ ติยะไพรัช” อดีตประธานรัฐสภา ที่มีลูกสาว “สส.โฮม” ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช สส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ที่ “สส.โฮม” ได้ตัดสินใจลงเล่นการเมือง จากมาดามสู่สส. มีอะไรต้องเปลี่ยนเยอะ และด้วยภาพลักษณ์ที่สดใส เป็นมิตร เฟรนลี่กับทุกคน จึงได้รับคำเรียกเล่นๆว่า ทูตสันถวไมตรี เพราะ “สส.โฮม” เป็นกันเอง ไม่ถือตัวกับทุกคน แต่ใครจะไปรู้ว่าชีวิตของ “โฮม” นั้น ผ่านอะไรมาบ้าง จึงได้ไปสอบถาม

เลือกตั้งนายก อบจ. 47 จังหวัด บ้านใหญ่ รอเข้าวิน พท.กวาดเยอะ-พรรคส้ม เสี่ยงร่วง

ยิ่งใกล้ถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายก อบจ. พบว่าการหาเสียงของผู้สมัครนายก อบจ.ทั้งที่ลงในนามพรรคการเมือง และไม่ได้ลงในนามพรรค

ร้อยใจไทย สืบสานราชธรรม .. ณ จังหวัดนครปฐม!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ในวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๗ โครงการร้อยใจธรรม สืบสานราชธรรม ทั้งแผ่นดิน ถวายเป็นพระราชกุศลฯ ที่ดำเนินการโดย สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยและวัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย (ธ) ในพระราชูปถัมภ์ฯ จ.ลำพูน

ลึกสุดใจ. ”พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ผบ.ตร.” ยึดกฎกติกา ไม่กลัวทุกอิทธิพล

ถึงตอนนี้ "พลตํารวจเอก กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ หรือ บิ๊กต่าย ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ" ได้ทำหน้าที่ ผบ.ตร.อย่างเป็นทางการมาร่วมสามเดือนเศษ ส่วนการทำงานต่อจากนี้ ในฐานะ"บิ๊กสีกากี เบอร์หนึ่ง-รั้วปทุมวัน"จะเป็นอย่างไร?

2 สว. “ชาญวิศว์-พิสิษฐ์” ปักธงพิทักษ์รธน. ปกป้องสถาบันฯ พวกเราเป็นอิสระ ไม่มีรับใบสั่ง

กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการทำประชามติเพื่อนำไปสู่การให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูยเพื่อมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อไทย ที่ต้องการทำให้เสร็จก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น

ก้าวย่างออกจากปัญหา .. ของประเทศ!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา... คำกล่าวที่ว่า.. “เมื่อสังคมมนุษยชาติขาดศีลธรรม.. ย่อมพบภัยพิบัติ.. เสื่อมสูญสิ้นสลาย..” นับว่าเป็นสัจธรรมที่ควรน้อมนำมาพิจารณา.. เพื่อการตั้งอยู่ ดำรงอยู่ อย่างไม่ประมาท...