รัฐบาล”เศรษฐา ทวีสิน”จะแถลงนโยบายการบริหารประเทศต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภา วันที่11-12 ก.ย.นี้ ซึ่งหลังรัฐบาลแถลงนโยบายเสร็จสิ้น ก็จะสามารถเข้าบริหารราชการแผ่นดินได้เต็มรูปแบบ
”ไทยโพสต์”ได้ทำการสัมภาษณ์พิเศษ “พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม-หัวหน้าพรรคประชาชาติ”เพื่อสอบถามถึงแนวนโยบายการทำงานในฐานะรมว.ยุติธรรม
ตลอดจนประเด็นการเมืองเรื่องการขับเคลื่อนพรรคประชาชาติ หลัง พ.ต.อ.ทวี ได้รับเลือกให้เข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคประชาชาติคนใหม่ แทนนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา
โดย”พ.ต.อ.ทวี -รมว.ยุติธรรม”ย้ำว่า กระทรวงยุติธรรม เป็นกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับงานเรื่องกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย จนถึงบังคับคดี โดยทางอาญา ก็คือ งานด้านราชทัณฑ์ ที่ตอนนี้ก็มีนักโทษอยู่ประมาณ สองแสนหกหมื่นคน ซึ่งไม่น่าเชื่อ เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรของประเทศไทยที่มีประมาณ 66 ล้านคน โดยหากเทียบกับบางประเทศเช่นอินโดนีเซีย ที่มีประชากรประมาณสองร้อยล้านคน ของไทยเรามีนักโทษในเรือนจำมากกว่าอินโดนีเซียเสียอีก ถือเป็นปัญหาใหญ่ รวมถึงเรื่องที่เราถูกมองว่า ในเรือนจำ ของกรมราชทัณฑ์ เป็นพื้นที่ซึ่งถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนค่อนข้างเยอะ กับกรณีการละเมิดสิทธิระหว่างนักโทษด้วยกัน
นอกจากนี้ ยังมีงานเกี่ยวกับการบังคับคดีทางแพ่ง (กรมบังคับคดี) คนที่มีหนี้สินก็ถูกบังคับคดี รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และอีกบางหน่วยงานเช่นกรมสอบสวนคดีพิเศษ
“รมว.ยุติธรรม”กล่าวต่อไปว่า ที่สำคัญที่เป็นปัญหาใหญ่ ที่เป็นปัญหาที่ต้องรีบแก้ไขภายใน 3 เดือน ถึงหนึ่งปี คือปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติด ซึ่งกระทรวงยุติธรรม ก็ดูแลรับผิดชอบ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) โดยที่ผ่านมา คนอยากให้มีการแก้ไขปัญหายาเสพติดกันมาก เพราะยาเสพติดแพร่ระบาดเข้าไปจะเกือบทุกหมู่บ้าน ก็ถือเป็นงานท้าทาย คิดว่างานที่รับผิดชอบมีเรื่องให้ทำเยอะ และต้องทำแล้วจับต้องได้ เพราะหากกระทรวงยุติธรรม ให้ความยุติธรรมกับประชาชนไม่ได้ กระทรวงยุติธรรมก็ไม่ควรจะมี
-เรื่องของคนที่กระทำความผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมถึงคนที่ถูกเอาผิดในคดีเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่อยู่ในเรือนจำ ยังไม่ได้รับการประกันตัว จะเป็นอย่างไร?
พรรคการเมืองที่มาร่วมตั้งรัฐบาลครั้งนี้ ทุกพรรคการเมือง ยืนยันว่าไม่เอาด้วยกับการแก้ไขมาตรา 112 แต่ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายอะไร การใช้ต้องให้มีความยุติธรรม ที่เป็นเรื่องของหลักพื้นฐาน ซึ่งการแก้ไขกฎหมายเป็นเรื่องของสภาฯ
ในความเห็นส่วนตัว สำหรับกระบวนการต่างๆ เช่นการที่คนจะไปแจ้งความดำเนินคดีอะไรต่างๆเพื่อกล่าวหากัน มันควรมีหลักประกันให้กับประชาชน คือเรื่องกฎหมายมันต้องมีการปรับปรุงทุกกฎหมายอยู่แล้ว คำว่าปรับปรุงกระบวนการ ผมเชื่อว่าการใช้มาตรา 112 เพื่อจะไปปิดปากใครหรืออะไร มันไม่น่าจะมีอยู่แล้ว แต่จะทำอย่างไรที่จะต้องอยู่ในกรอบกฎหมาย
-เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา กลุ่มส.ส.พรรคก้าวไกล ก็ร่วมกันแถลงข่าว อยากให้รมว.ยุติธรรม ดูแลนักโทษคดี 112 ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว?
คือหากคดีอยู่ในชั้นตำรวจ ก็ต้องไปทำเรื่องที่ศาล หากว่าเขาไม่หนี คือการคุมนักโทษ รัฐธรรมนูญบอกว่าเพื่อป้องกันการหนี ซึ่งเรื่องนี้บางส่วน อยู่ที่อำนาจศาล เราอาจเข้าไปดูรายละเอียด แต่เราคงไม่เข้าไปแทรกแซงกระบวนการ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือหากเขาเข้ามาอยู่ในเรือนจำ ก็จะต้องไม่มีการไปบีบคั้นอะไร ซึ่งในความเห็นส่วนตัว การคุมขังนักโทษตามหลัก ก็จะมีนักโทษเด็ดขาด กับผู้ถูกคุมขัง ที่คดีอยู่ระหว่างการสอบสวนหรือคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาก่อนศาลตัดสินหรือเรียกว่า อยู่ในชั้นพิจารณา ที่ยังไม่ได้เป็นนักโทษ เราต้องไปทำระบบ ที่ไม่รู้จะทำได้หรือไม่ แต่ฝันว่า ต่อไปนี้การควบคุมในเรือนจำ อยากให้ผู้บริหารเรือนจำไปดูว่าบุคคลที่ถูกดำเนินคดีแล้วอยู่ระหว่างการสอบสวน หรือพิจารณาคดี ก็ปฏิบัติแบบหนึ่ง ส่วนนักโทษเด็ดขาดก็ว่าไปอีกแบบหนึ่ง
เพราะคนที่คดียังไม่ถึงที่สุด เขาก็ยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ พ่อแม่เขาก็ยังเป็นห่วงอยู่ เพราะบางคนก็ยังเรียนหนังสือ ก็อาจต้องหาวิธีตรงนี้ แต่เราจะไม่ไปก้าวล่วงศาล และบางอย่างเรื่องพวกนี้ ถ้าเรามาตัดสินใจเองเลย โดยที่เรื่องของเขา อยู่ในอำนาจของศาล ก็มาดูว่าควรมีคณะไปคุยกับฝ่ายศาล หรือไม่ ในคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาล ที่มีอยู่ประมาณห้าหมื่นกว่าคน ที่ถือว่าเยอะ และคดีเด็ดขาดที่มีนักโทษประมาณสองแสนคน มาดูว่ากรมราชทัณฑ์มีสถานที่หรือหากไม่มีสถานที่ ก็คุยกับทางศาลว่า จะใช้วิธีอย่างไร เพราะอย่างน้อยเขาก็เป็นพลเมือง ยังไม่รู้ว่าเขาผิดหรือถูก อันนี้ก็พูดไว้ก่อน แต่ยังไม่ได้เข้าไปดูงาน แต่คิดไว้ในใจ
ส่วนการควบคุมนักโทษในเรือนจำ โดยหลักจะมีกฎเกณฑ์ของกรมราชทัณฑ์อยู่แล้ว ก็ต้องเข้าไปดู แต่จะไม่เข้าไปยุ่งอะไร ผมเคยลองถามคนที่อยู่ในราชทัณฑ์ มีคนที่จบปริญญาเอกด้าน อาชญาวิทยา และทัณฑวิทยา จากมหาวิทยาลัยดีๆ จำนวนมาก เราก็ต้องมาดูว่าจะทำอย่างไรให้เรือนจำของเราได้รับการยกระดับ ไม่ใช่ไปดูเรื่อง Rule of Law หลักนิติธรรม แล้วสิ่งที่แย่ที่สุดคือเรือนจำ ทั้งที่เรามีนักเรียนที่ได้ทุนรัฐบาลไปเรียนมา แล้วกลับมาทำงานที่กรมราชทัณฑ์อยู่เยอะ ทำไม ไม่เอาความรู้มาใช้ ต้องให้คนมืออาชีพมาทำ ไม่ใช่ว่า เป็นตำแหน่งที่วิ่งเต้นกันมาอยู่
"พ.ต.อ.ทวี-รมว.ยุติธรรม"ยังกล่าวถึงการเตรียมพิจารณาสรรหาเสนอตั้งบุคคลมาเป็นอธิบดีกรมราชทัณฑ์คนใหม่แทนนาย อายุตม์ สินธพพันธุ์ ที่จะเกษียณอายุราชการ 30 ก.ย.นี้ด้วยว่า ยังไม่ได้คิดเรื่องว่าใครจะไปอยู่ตำแหน่งใด แต่อย่างน้อยต้องเป็นคนที่เข้าใจงาน และต้องผ่านงานราชทัณฑ์มา ไม่อยากเอาคนที่อื่นไปครอบเขา เพื่อที่คนในจะได้โตในจุดนั้น แต่มันก็มีงานบางอย่างที่แยกกันไม่ค่อยออก เช่นงานปราบยาเสพติด หลายหน่วยก็ทั้งป้องกันและปราบปราม อย่างสำนักงานป.ป.ส. ที่ผมเคยเป็นรองเลขาธิการป.ป.ส. คนในหน่วย บางที เขาก็น้อยเนื้อต่ำใจว่า จะมีคนนอกมานั่ง แต่พอคนจากหน่วยอื่นมา บางคนมาแล้ว เขาก็รับได้ อย่างเช่น สมัยท่านพล.ต.อ.เภา สารสิน และอีกหลายคนที่พอเข้ามาทำงาน ก็ได้ทำงานอุทิศตนเพื่อแก้ปัญหายาเสพติด
ภารกิจขับเคลื่อน
พรรคประชาชาติ
หลังรับตำแหน่งหัวหน้าพรรค
“พ.ต.อ.ทวี-หัวหน้าพรรคประชาติ”กล่าวถึงการขับเคลื่อนพรรคประชาชาติ หลังจากเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาชาติคนใหม่ว่า พรรคประชาชาติ ถือกำเนิดเปิดตัวเมื่อ 1 กันยายน 2562 ถึงตอนนี้ ครบรอบการขึ้นสู่ปีที่ห้าของการก่อตั้งพรรค
ทางพรรคประชาชาติ ภาคภูมิใจที่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติคนแรกได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เป็นประธานรัฐสภาโดยตำแหน่ง ซึ่งด้วยรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันบัญญัติว่า ประธานสภาฯต้องมีความเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่อีกทั้งบัญญัติว่า จะเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองไม่ได้ ท่านวันมูหะมัดนอร์ มะทา ก็เลยลาออกจากหัวหน้าพรรคประชาชาติ พรรคก็เลยมีการประชุมใหญ่พรรคเพื่อเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ซึ่งที่ประชุมก็ได้เลือกผมมาเป็นหัวหน้าพรรคประชาชาติ
"หัวหน้าพรรคประชาชาติ"กล่าวต่อไปว่า พรรคประชาชาติมีความมุ่งมั่นจะทำให้พรรคประชาชาติเป็นสถาบันการเมือง โดยแม้เราจะตั้งพรรคมาได้ไม่นาน แต่เราก็ได้รวมคนที่มีความหลากหลายแต่มีอุดมการณ์ตรงกันมาอยู่ร่วมกัน พรรคให้ความสำคัญกับคนที่อยู่ห่างไกล -ชายขอบ คนที่อยู่ในชนบท คนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่เรียกว่า "พหุวัฒนธรรม"
"พรรคประชาชาติ ต้องการขับเคลื่อนพรรคไปสู่การเป็นพรรคการเมืองที่มีความหลากหลายทางพหุวัฒนธรรม ให้ประชาชนได้มีพื้นที่ในสังคมประชาธิปไตย ส่วนการที่พรรคประชาชาติ เริ่มต้นทำการเมืองในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนหนึ่งเพราะในพื้นที่ดังกล่าวมีปัญหาความขัดแย้งมายาวนาน เราจึงอยากทำให้แผ่นดินของประเทศไทย ไม่มีความขัดแย้งอีกต่อไป อยากให้มีความสงบสุข มีสันติภาพ ซึ่งตรงนี้เป็นส่วนหนึ่งในการเกิดขึ้นของพรรคประชาชาติ เพราะปัญหาในพื้นที่ดังกล่าว คือปัญหาของประเทศ ปัญหาของสังคมไทย ซึ่งหากปัญหาได้รับการแก้ไขจนสำเร็จ มันก็เป็นสิ่งที่คุ้ม"พ.ต.อ.ทวี ระบุ
"หัวหน้าพรรคประชาชาติ"กล่าวต่อไปว่า สำหรับเรื่องการจะผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามที่แกนนำรัฐบาลจากพรรคการเมืองอื่น ประกาศว่ารัฐบาลชุดนี้มีนโยบายจะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ด้วยการให้สภาร่างรัฐธรรมนูญ มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น ก่อนอื่นต้องบอกว่า ประเทศเรามีปัญหามากมาย เช่นปัญหาความยากจน ปัญหายาเสพติด แต่หากมองให้ลึกลงไป เรามองว่าปัญหาเรื่องความเป็นประชาธิปไตย ก็เป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่ง ซึ่งคำว่าประชาธิปไตย หมายถึงคนที่ถูกปกครอง จะต้องยอมรับคนที่มาปกครองด้วยความศรัทธา ไม่ใช่เพราะใช้อำนาจต่างๆ ไปบังคับ แต่เกิดจากประชาชนยอมรับและเชื่อมั่นศรัทธา เพราะคนเป็นผู้ปกครอง ต้องเป็นลูกน้องประชาชน เพราะประชาชนคือผู้นำคะแนนมาให้ ซึ่งปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะช่วงที่ผ่านมา สังคมเรายังไม่เป็นประชาธิปไตย
ก่อนหน้านี้เราได้รัฐธรรมนูญ แต่เรายังไม่ได้ประชาธิปไตย และในรัฐธรรมนูญบางเรื่องประชาชนไม่ยอมรับ เราจึงหนีไม่พ้นที่ต้องสร้างสังคมวันนี้ให้เป็นประชาธิปไตย ซึ่งการสร้างสังคมให้เป็นประชาธิปไตย เราก็ต้องคืนสิทธิ คืนเสรีภาพ คืนศักดิ์ศรีให้ประชาชน พรรคประชาชาติ จึงเป็นอีกหนึ่งพรรคการเมืองที่เราอยากให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ รวมถึงเรื่องการกระจายอำนาจ เพราะไม่มีใครรู้เรื่องในพื้นที่ต่างๆ ดีเท่ากับชุมชน ก็เหมือนในครอบครัว เราจะไปรู้ปัญหาของครอบครัวต่างๆ ดีกว่าคนในครอบครัวคนอื่นไม่ได้ เพราะต้องเป็นคนในบ้าน ถึงจะรู้ว่าปัญหาจริงๆ คืออะไร
ดังนั้นเมื่อตอนนี้ประชาชนมีความรู้ต่างๆ ดีขึ้น เราจึงควรกระจายอำนาจ ให้เขาได้มีส่วนกำหนดชะตาชีวิตของเขา เราจึงมีความคิดว่า ความคิดที่คิดจะไปสร้าง"รัฐรวมศูนย์" ด้วยการทำให้ระบบราชการเป็นใหญ่ กลายเป็นว่า ทำให้ปัญหาความยากจน -ความเหลื่อมล้ำ มันกลับยิ่งมีมากขึ้น เราจึงควรไปเน้นเรื่องการกระจายอำนาจ จะดีกว่าที่จะใช้ระบบแบบรัฐรวมศูนย์ เพราะที่ผ่านมา ปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจ เรื่องการศึกษา มองดูแล้ว การกระจายอำนาจ อาจเป็นยาที่ดีที่สุดในการช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ก็ได้
ซึ่งหากดูจากโครงสร้างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ทั้งฉบับ ไม่มีคำว่าเรื่องกระจายอำนาจเลย ก็มีแต่เรื่ององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งหลักคิดเรื่องนี้ มองว่าหากเราต้องการแก้ปัญหาใดปัญหาหนึ่ง เราส่งไปให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนจะดีกว่าหรือไม่ โดยรัฐมีหน้าที่แค่ส่งเสริม สนับสนุน แต่เน้นให้ชุมชน มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาจะดีกว่า
-เมื่อพรรคประชาชาติเข้าไปเป็นรัฐบาลแล้ว จะมีส่วนช่วยผลักดันให้ประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้หรือไม่ ?
พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยะลา -ปัตตานี -นราธิวาส จริงๆมีความมั่นคงทางอาหารมาก สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ล้อมด้วยทะเล อ่าวไทยและอันดามัน เป็นพื้นที่ซึ่งมีทรัพยากรด้านการประมง รวมถึงพืชผลทางการเกษตรฯ ที่เป็นพืชหลักเช่นยางพารา และติดชายแดน ซึ่งสถานที่บางแห่งของประเทศเพื่อนบ้านเช่น ปีนัง ทรัพยากรน้อยกว่าเรา แต่ทำไมเจริญกว่าเรา เช่นปีนังเทียบกับยะลา ทั้งที่เรามีทรัพยากรมากกว่า เราจึงต้องสร้างโอกาสด้วยการลดความขัดแย้ง การทำให้คนหันหน้าเข้าหากัน และลดการผูกขาดต่างๆ เช่นเรื่องค่าไฟ รวมถึงความมั่นคง ที่ผูกขาดให้กับคนถือปืน คนมีปืน วันนี้ต้องให้ความสำคัญในเรื่องของความมั่นคงของมนุษย์ที่ต้องมากกว่าความมั่นคงของเจ้าหน้าที่รัฐ นี้คือสิ่งที่เราต้องมาแก้ไขกัน
"พ.ต.อ.ทวี -รมว.ยุติธรรม"ซึ่งเคยเป็นอดีตเลขาธิการศอ.บต.กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาภาคใต้ช่วงที่ผ่านมา ซึ่งระบบของภาครัฐมีศอ.บต. ซึ่งตามกฎหมายให้มีการทำงานแบบบูรณาการ แล้วรัฐบาลที่ผ่านมา ก็เข้าไปทำงบแบบบูรณาการ เหมือนกับไม่ไว้ใจ ศอ.บต. ทำแบบพอไม่ไว้ใจใคร ก็เอามาบูรณาการกันใหม่ เหมือนอย่าง กอ.รมน.ซึ่งตามโครงสร้าง ก็ให้มีการบูรณาการเรื่องความมั่นคงอยู่แล้ว แต่รัฐบาลที่ผ่านมา ก็ไม่ไว้ใจ จนทำให้เกิดลักษณะแบบ"รัฐซ้อนรัฐ" ขึ้นมา
วันนี้คิดว่า ที่ผ่านมา อะไรซึ่งออกคำสั่งออกมาแล้วมันซ้ำซ้อน พอกพูนเกินไป ก็ควรยกเลิกให้หมด ให้เหลือกฎหมายแต่ละประเภทก่อน แต่หากทำแล้ว ถ้าการใช้กฎหมายปกติแต่ละประเภทรับมือไม่ไหว ก็มาดูกัน เช่นวันนี้อาจยังมีคำสั่งคสช.ที่เคยออกมา หรือการให้มีครม.ส่วนหน้า มีการตั้งคณะอะไรต่างๆ เยอะแยะ เบื้องต้น รัฐบาลมาใหม่ ก็ควรมาคุยแล้วยกเลิกให้หมด ให้อยู่ในจุดของโครงสร้างที่มีอยู่ อย่างศอ.บต.ก็มาดูว่า ไหวหรือไม่ เพราะเป็นกฎหมายที่เกิดมาเพื่อให้ทุกส่วนราชการ ยกเว้นศาล กับทหาร ที่ให้อยู่ใต้โครงสร้างศอ.บต. เพียงแต่ต้องเลือกเลขาธิการศอ.บต.ที่สามารถขับเคลื่อน หรือปลุกพลังของประชาชนมาแก้ไขปัญหา ถ้าเราเอาตรงนี้ได้ ก็ไม่ควรมีคำสั่งหน่วยงานต่างๆ เข้าไป อย่างผู้ว่าราชการจังหวัด ก็ควรให้เข้าได้มีโอกาสทำงาน ไม่ใช่ว่า ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือเจ้าหน้าที่ป.ป.ส. จะไปปราบยาเสพติดในพื้นที่ ก็ไม่ได้อีก เพราะต้องไปฟังกอ.รมน.อีก ทั้งที่กฎหมายเขามีอยู่แล้ว
มองว่า ดังนั้น ก็ควรให้ระบบการทำงานเป็นระบบปกติก่อน แต่หากใช้ระบบปกติแล้ว ยังไม่ได้ เราก็อาจต้องมาร่วมคิดกันว่า ระบบแบบปกติ มันอาจไม่พอ อาจต้องทำให้เกิดการแข่งขันกันสร้างความเจริญ จะทำอย่างไรจะให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี จะทำอย่างไรให้ประชาชนมีรายได้สูงขึ้น จะทำอย่างไรให้สินค้าเกษตร มีราคาที่ดีขึ้น รวมถึงจะทำอย่างไรให้เกษตรกร มีที่ดินทำกิน มีที่อยู่อาศัย เราก็มาว่ากันอีกที
-เรื่องของกำลังทหารในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ตอนนี้ก็ยังมีอยู่จำนวนหนึ่ง มองอย่างไร ควรต้องมีการปรับอะไรหรือไม่?
ทหาร เขาก็ปรับตัว ผมว่าเขาก็ปรับตัว โดยหากเรา บอกหน้าที่ของเขาให้ชัดเจน ว่าทหารมีหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองประเทศ และข้าราชการ ตำรวจและพลเรือน มีหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อย แต่หากอะไรที่เหนือกว่าบ่าแรง ก็ค่อยไปขอกำลังจากทหาร แล้วให้ประชาชนมีส่วนร่วม
หากเราเริ่มจากตรงนี้ ความรู้สึกเรา มันอาจจะไม่จำเป็นต้องมีเรือนจำที่อยู่นอกเรือนจำ คือด่านต่างๆ ตามทุกหมู่บ้าน โดยบางด่าน อาจปรับโดยนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เพราะหากมีด่านแต่ไม่เคยใช้เลยหรือตั้งไว้เพื่อทำให้ชาวบ้านในพื้นที่เกิดความรู้สึก น้อยเนื้อต่ำใจ เราก็อาจยกเลิก แต่ตรงจุดไหน ที่มีความจำเป็น และต้องทำให้มีประสิทธิภาพ เราก็ต้องเข้าไปเสริม และจุดไหนที่ประชาชนในพื้นที่เขายังห่วงเรื่องความปลอดภัยเช่น พื้นที่เปราะบาง อย่างชุมชนไทยพุทธในพื้นที่ หรือชุมชนใดอยากมี ก็เข้าไปเสริมให้ในพื้นที่ แต่ไม่ใช่ไปตั้งด่านทุกพื้นที่ แต่ปรากฏว่าไม่มีเจ้าหน้าที่อยู่
วันนี้ผมเชื่อว่าเราอาจลองกลับไปสู่ระบบปกติ แล้วก็เข้าไปพัฒนา ส่วนกำลังทหาร ก็ไปอยู่ในค่ายทหาร แล้วตำรวจก็ออกมาทำงานตามระบบปกติ แล้วก็ใช้กำลังพลเรือน รวมถึงก็ยังมีพวกอาสาสมัครต่างๆ ซึ่งเขาจะรู้พื้นที่ดี ส่วนหากยังมีคนกังวลอยู่ เราก็อาจเปิดพื้นที่ ให้คนที่มีความเห็นต่าง ได้มีพื้นที่พูดคุยกันเช่นมีปัญหาไม่ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องอะไร ก็มาคุยกัน
มันมีหลักคิดอยู่อย่างหนึ่งคือ การแก้ปัญหาของประเทศต่างๆ เช่นกลุ่มประเทศด้อยพัฒนา ที่เขาประสบความสำเร็จ การแก้ปัญหาอันดับแรกๆ ที่ได้ผลเกินกว่าห้าสิบเปอร์เซ็นต์ คือต้องทำเรื่องการศึกษา ด้วยการทำให้คนมีความรู้ ทำให้คนมีการศึกษา เพื่อสร้างความรู้-สร้างคน ต้องสร้างคน เพื่อให้คนไปสร้างชาติ ไม่ใช่ไปสร้างวัตถุก่อน
ดังนั้นผมคิดว่าภาคใต้เป็นเมืองของการศึกษา หากเราทำให้ประชาชนมีความรู้ ยิ่งเมื่อในพื้นที่ก็มีทรัพยากรจำนวนมาก ที่หากคนมีความรู้เขาก็สามารถนำทรัพยากรไปหารายได้จากประเทศเพื่อนบ้านได้อีกเยอะ และอีกประการหนึ่ง แทนที่เราจะใช้ระบบสงเคราะห์ ก็ควรทำให้เป็นแบบ"สวัสดิการถ้วนหน้า" อย่างเช่น 30 บาทรักษาทุกโรค หรือเรื่อง"เบี้ยผู้สูงอายุ" คือถ้าเราทำให้ประชาชนมีรายได้จนเกินเส้นความยากจนได้ มันก็จะแก้ปัญหาความยากจนของคนทั้งประเทศ เพราะมีการพิสูจน์แล้วว่า ระบบเศรษฐกิจสำหรับประเทศอย่างเรา เราอาจหนีไม่พ้นที่จะต้องเดินเข้าไปสู่"รัฐสวัสดิการ"ในบางเรื่อง
อย่างในปี 2565 ที่ผ่านมา มีการวัด หลักนิติธรรม (Rule of Law) โดย World Justice Program ที่เขามีการประเมินหลักนิติธรรมประเทศต่างๆ ปรากฎว่า ประเทศที่มีหลักนิติธรรม พบว่าห้าประเทศแรก ที่มีหลักนิติธรรม ก็มีเช่น เดนมาร์ก ฟินแลนด์ สวีเดน ซึ่งเป็นประเทศที่มีรัฐสวัสดิการ และคนของเขาก็มีความสุข แต่ประเทศอย่างเรา พบว่าเรื่อง Rule of Law อยู่ในอันดับท้ายๆ ตรงนี้ บางที การเป็นรัฐบาล ก็ต้องกลับมาคิดว่า การแก้ปัญหาประเทศด้านต่างๆเช่น ปัญหาความเหลื่อมล้ำ จะเป็นอย่างไร
ซึ่งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่าง ปัตตานี พบว่าผลสำรวจล่าสุด เป็นจังหวัดที่ประชาชนยากจนที่สุด ทั้งที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีทรัพยากรจำนวนมาก จนบางที เราอาจคิดว่าอาจต้องขอโปรแกรม นโยบายที่เป็นเชิงจะไปสู่รัฐสวัสดิการ เช่นเรื่องการศึกษาต้องให้เรียนฟรีและเรียนอย่างมีคุณภาพ อย่างเด็กที่กู้ยืมเงิน ของกยศ.แล้วเรียนจบมาไม่มีงานทำ ก็อาจต้องให้มีโปรแกรม ให้คืนเฉพาะเงินต้นเท่านั้น โดยล้างดอกเบี้ย คือให้ได้เงินทุนคืน ไม่ใช่ไปคิดเอากำไรจากดอกเบี้ย
"พรรคประชาชาติต้องการมาแก้ปัญหาให้กับประชาชน ปัญหาประชาชนมีมากมาย และต้องการสร้างความเจริญให้ประเทศ เราต้องการทำบ้านเมืองให้เป็นประชาธิปไตย ภายใต้การมีนโยบายที่สมดุล ทำให้ประชาชนมีความหวัง พรรคประชาชาติ ต้องการขยายพื้นที่ ไม่ใช่ถูกมองว่าเป็นพรรคการเมืองภูมิภาค เราต้องการเป็นพรรคการเมืองที่มีพื้นที่มากขึ้น และเป็นพรรคที่ใหญ่ขึ้น ก็หวังว่าการเลือกตั้งสมัยหน้า เราอาจจะมีส.ส.เขต ที่อยู่พื้นที่อื่นนอกเหนือจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สิ่งนี้ก็คือเรื่องที่เราอยากจะทำ ก็อยากเชิญชวน คนที่มีความรู้ต่างๆ เข้ามาร่วมกันสร้างพรรคประชาชาติร่วมกัน"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“รองประธานสโมสร เชียงราย ยูไนเต็ด สู่นักการเมืองหญิงแกร่ง”
หลายคนรู้จักกับนักการเมืองรุ่นใหญ่ อย่าง “ยงยุทธ ติยะไพรัช” อดีตประธานรัฐสภา ที่มีลูกสาว “สส.โฮม” ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช สส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ที่ “สส.โฮม” ได้ตัดสินใจลงเล่นการเมือง จากมาดามสู่สส. มีอะไรต้องเปลี่ยนเยอะ และด้วยภาพลักษณ์ที่สดใส เป็นมิตร เฟรนลี่กับทุกคน จึงได้รับคำเรียกเล่นๆว่า ทูตสันถวไมตรี เพราะ “สส.โฮม” เป็นกันเอง ไม่ถือตัวกับทุกคน แต่ใครจะไปรู้ว่าชีวิตของ “โฮม” นั้น ผ่านอะไรมาบ้าง จึงได้ไปสอบถาม
เลือกตั้งนายก อบจ. 47 จังหวัด บ้านใหญ่ รอเข้าวิน พท.กวาดเยอะ-พรรคส้ม เสี่ยงร่วง
ยิ่งใกล้ถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายก อบจ. พบว่าการหาเสียงของผู้สมัครนายก อบจ.ทั้งที่ลงในนามพรรคการเมือง และไม่ได้ลงในนามพรรค
ร้อยใจไทย สืบสานราชธรรม .. ณ จังหวัดนครปฐม!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ในวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๗ โครงการร้อยใจธรรม สืบสานราชธรรม ทั้งแผ่นดิน ถวายเป็นพระราชกุศลฯ ที่ดำเนินการโดย สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยและวัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย (ธ) ในพระราชูปถัมภ์ฯ จ.ลำพูน
ลึกสุดใจ. ”พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ผบ.ตร.” ยึดกฎกติกา ไม่กลัวทุกอิทธิพล
ถึงตอนนี้ "พลตํารวจเอก กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ หรือ บิ๊กต่าย ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ" ได้ทำหน้าที่ ผบ.ตร.อย่างเป็นทางการมาร่วมสามเดือนเศษ ส่วนการทำงานต่อจากนี้ ในฐานะ"บิ๊กสีกากี เบอร์หนึ่ง-รั้วปทุมวัน"จะเป็นอย่างไร?
2 สว. “ชาญวิศว์-พิสิษฐ์” ปักธงพิทักษ์รธน. ปกป้องสถาบันฯ พวกเราเป็นอิสระ ไม่มีรับใบสั่ง
กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการทำประชามติเพื่อนำไปสู่การให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูยเพื่อมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อไทย ที่ต้องการทำให้เสร็จก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น
ก้าวย่างออกจากปัญหา .. ของประเทศ!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา... คำกล่าวที่ว่า.. “เมื่อสังคมมนุษยชาติขาดศีลธรรม.. ย่อมพบภัยพิบัติ.. เสื่อมสูญสิ้นสลาย..” นับว่าเป็นสัจธรรมที่ควรน้อมนำมาพิจารณา.. เพื่อการตั้งอยู่ ดำรงอยู่ อย่างไม่ประมาท...