ปี 2565 สำนักงานสถิติแห่งชาติคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มตัว (Super-aged Society) นั่นคือมีประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ข้อมูลล่าสุดปี 2563 ประเทศไทยมีประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวนมากกว่า 12 ล้านคน หรือราวร้อยละ 18 ของจำนวนประชากรทั้งหมด โดยเฉพาะประชากรภาคเกษตร ซึ่งภาพรวมการเข้าสู่สังคมสูงวัยของแรงงานในภาคเกษตรมีความรุนแรงมากกว่าภาพรวมของประเทศ โดยพบว่าสัดส่วนของแรงงานภาคเกษตรที่มีอายุมากกว่า 60 ปี เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 13 ในปี 2546 เป็นร้อยละ 19 ในปี 2556 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในปี 2560 ที่ร้อยละ 14 (สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์)
เนื่องจากสังคมไทยและสังคมภาคเกษตรก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็วและรุนแรง ในขณะที่สถานภาพเกษตรกรสูงวัยส่วนใหญ่พบว่ามีระดับการศึกษาต่ำสุดและมีรายได้เฉลี่ยต่ำสุด โดยรายได้ส่วนใหญ่มาจากเงินช่วยเหลือจากลูกหลานเป็นหลัก หรือมีอัตราการพึ่งพิงสูง อย่างไรก็ตาม ในวันข้างหน้า ผู้สูงวัยจะต้องพึ่งตนเอง เนื่องจากจะไม่มีลูกหลานเลี้ยงดู หากไม่มีการวางแผนเก็บออมไว้ล่วงหน้า ต้องพึ่งพารายได้จากเบี้ยยังชีพคนชราเป็นหลัก แน่นอนว่าคงไม่เพียงพอกับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นหรืออยู่รอดได้ยาก ดังนั้นบทบาทของภาครัฐนอกเหนือจากการใช้นโยบายและกลไกสวัสดิการทางสังคมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรสูงวัย ควรมีมาตรการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรสูงวัย ด้วยการส่งเสริมอาชีพภายหลังเกษียณ การอบรมความรู้ เพิ่มพูนทักษะ การฝึกอาชีพ ตลอดจนการส่งเสริมให้ประชากรวัยแรงงานมีการวางแผนและเตรียมตัวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยล่วงหน้า
หนึ่งในกรณีตัวอย่างแนวทางการส่งเสริมให้เกษตรกรสูงวัยมีงานทำและอยู่ในกำลังแรงงานยาวนานขึ้น เป็นเรื่องที่ควรส่งเสริมและจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศและต่อตัวผู้สูงอายุรวมถึงครัวเรือน กรณีตัวอย่างเกษตรกรพื้นที่เป้าหมายของมูลนิธิชีวิตไทใน อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี เป็นพื้นที่ที่มีการปลูกพืชเศรษฐกิจหลัก ได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง ข้าว สับปะรด เกษตรกรมีการใช้ประโยชน์จากที่ดินอย่างเข้มข้น มีการใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมีในปริมาณมาก และขาดการปรับปรุงบํารุงดินที่ดี ทำให้ดินเริ่มเสื่อม ผลผลิตลดลง มีการปลูกพืชชนิดเดิมซ้ำๆ หากพืชชนิดใดมีราคาสูงก็ปลูกมาก และมีปัญหาในเรื่องราคาผลผลิตตกต่ำมาตลอด ปัญหาแหล่งน้ำทางการเกษตร ที่อาศัยน้ำจากใต้ดินและจากธรรมชาติ ทำให้ต้องพึ่งพาน้ำฝน เกษตรกรส่วนใหญ่จึงเสี่ยงต่อสภาวะทางธรรมชาติ และภัยทางธรรมชาติเมื่อฝนไม่ตกตามฤดูกาล หรือฝนตกมาก แต่ขาดแหล่งกักเก็บน้ำ ทำให้เกิดน้ำท่วมไหลหลาก ส่งผลต่อความเสียหายทางการเกษตร และปัญหาด้านการตลาดจากราคาผลิตไม่แน่นอนและถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง รวมไปถึงการใช้สารเคมีที่ทำให้ต้นทุนในการทำเกษตรสูงขึ้น
จากการวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาดังกล่าวข้างต้น เกษตรกรกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มพอใจในวิถีพอเพียง จึงปรับเปลี่ยนมาปลูกอัญชัน เนื่องจากอัญชันเป็นพืชทนแล้ง โตง่าย เพียงให้น้ำสม่ำเสมอ หลังจากลงแปลงแล้วประมาณ 1 เดือน จะเริ่มทอดยอด ต้องรีบปักค้างยอดจะได้พันหลัก พอเริ่มทอดยอด ก็จะเริ่มออกดอก ปุ๋ยที่ใช้เพียงแค่ใส่ปุ๋ยคอกบ้างเดือนละครั้ง มีโรคพืชบ้าง เช่น เพลี้ย เพียงใช้น้ำส้มควันไม้ผสมยาเส้นฉีดพ่น หรือหนอนกินใบลง ก็เพียงตัดต้นให้แตกใหม่ ปลูกครั้งหนึ่งอยู่ได้นาน 2-3 ปี ลงทุนไม่มาก ใช้พื้นที่น้อย 1 งาน ปลูกอัญชันได้ 400 ต้น สามารถเก็บดอกสดได้เฉลี่ยวันละ 10 กก. เมื่อนำมาตากแห้งแล้วจะเหลือ 1 กก. สามารถจำหน่ายได้ ขั้นต่ำ กก.ละ 250-300 บาท ตั้งแต่ต้นปี 2564 ราคาอัญชันอบแห้งมีพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อถึงบ้านราคาพุ่งขึ้นสูงถึง 400 บาท
กรณีตัวอย่างเกษตรกรสูงวัยผู้ปลูกอัญชันรายหนึ่ง ป้ามะลิ อายุ 71 ปี อยู่กับครอบครัวทั้งหมด 4 คน ลูกชายมีอาชีพรับจ้างทั่วไป มีพื้นที่ปลูกอ้อย มันสำปะหลังเล็กน้อย ป้ามะลิปลูกอัญชันริมรั้วและพื้นที่รอบบ้าน เนื้อที่ประมาณ 1 งาน การปลูกและเก็บอัญชันเป็นงานที่ผู้สูงวัยและหลานชายอายุสิบขวบก็สามารถมาช่วยเก็บอัญชัน ช่วยตากแห้งได้ เป็นงานที่คนในครอบครัวช่วยกันทำ โดยมีคนมารับซื้ออัญชันถึงบ้าน ก่อให้เกิดอาชีพเสริมสร้างรายได้อย่างสม่ำเสมอ รายได้เฉลี่ยเดือนละ 5,000-6,000 บาท
นอกจากนี้ กลุ่มเกษตรกรสูงวัยผู้ปลูกอัญชันยังได้รับการส่งเสริมจากทางสำนักงานเกษตรจังหวัดกาญจนบุรี มาช่วยอบรมในการทำมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม (PGS) โดยมีเป้าหมายเรื่องการปลูกอัญชันให้ได้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ เพื่อทำอัญชันอบแห้งขายให้กับบริษัทเอกชนผู้ส่งออกจีน ยุโรป และส่งขายให้กับมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร
จะเห็นได้ว่าการปลูกอัญชันเป็นหนึ่งในอาชีพทางเลือกและแนวทางการเกษตรที่ควรส่งเสริมสนับสนุนให้สอดคล้องกับแรงงานเกษตรกรสูงวัย เพื่อให้เกษตรกรสูงวัยสามารถพึ่งพาตนเองและมีรายได้เพียงพอกับการเลี้ยงชีพ เพราะต้นทุนการผลิตไม่สูง ใช้พื้นที่ไม่มาก ปลูกครั้งเดียวอยู่ได้นานหลายปี งานไม่หนักมากนัก ที่สำคัญแนวโน้มดอกอัญชันอบแห้งยังเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศอีกมาก ขอเพียงให้เกษตรกรปลูกแบบอินทรีย์และรักษามาตรฐานการผลิตไว้ ก็จะสามารถเพิ่มมูลค่าของอัญชันได้อย่างยั่งยืน.
พาฝัน ไพรเกษตร
มูลนิธิชีวิตไท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รัฐบาลแพทองธาร อยู่ไม่ครบปี บิ๊กป้อม ยังสู้-พปชร.เดินหน้าต่อ
เหลือเวลาอีกเพียง 3 สัปดาห์เศษ ปี 2567 ก็จะผ่านพ้นไปแล้วเพื่อเข้าสู่ปีใหม่ 2568 ซึ่งภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2567 เป็นอย่างไร และปีหน้า 2568 จะมีทิศทางเช่นไร เรื่องนี้มีมุมมองแนววิเคราะห์จาก
ประมาทไม่ได้เลย คือ จิตของเรา!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. มีพระภาษิตบทหนึ่งกล่าวว่า..
คานถล่ม ผู้บริสุทธิ์จบชีวิต 6 ราย กับ สำนึกของนักการเมืองไทย!
เช้าตรู่วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2567 เกิดโศกนาฏกรรมคานเหล็กยักษ์ที่ใช้สำหรับก่อสร้างทางยกระดับถนนพระราม 2 ถล่ม คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์จำนวน 6 ราย
ศึกเลือกตั้ง อบจ. 1 ก.พ. 68 Generation War พท.-ปชน. บารมีบ้านใหญ่ ขลังหรือเสื่อม?
การเมืองท้องถิ่นกับการเลือกตั้ง "นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด" (นายก อบจ.) ซึ่งที่ผ่านมามีการเลือกตั้งกันไปหลายจังหวัด ได้รับความสนใจจากแวดวงการเมืองอย่างมาก
ขบวนการแพทย์ชนบท กับรางวัลแมกไซไซ ปี 2024 ทิศทางพัฒนาระบบสุขภาพไทย
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คือวันเสาร์ที่ 16 พ.ย. คณะผู้แทน”ขบวนการแพทย์ชนบท” ได้เดินทางไปรับรางวัลแมกไซไซ ประจำปี 2024
อุทธัจจะ .. ในวังวนแห่งการตื่นธรรม .. ยุคไอที!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระรัตนตรัย... สัทธายะ ตะระติ โอฆัง.. บุคคลข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา.. โอฆะ หมายถึง ห้วงน้ำ ที่มีกระแสเชี่ยวกราก พัดพาสัตว์ทั้งหลายให้ตกไปในกระแสน้ำนั้น ยากจะข้ามฝั่งไปได้