เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา ในช่วงเข้าพรรษา ๓ เดือน นับเป็นเวลาที่มีคุณค่ายิ่งต่อการได้พักกาย-จิตในอาวาสเขตอธิษฐานจำพรรษา.. เพื่อการเจริญสติปัญญา.. ค้นคว้าศึกษาพระธรรมวินัย.. ทบทวนความรู้ ความเข้าใจ ตลอดจนสอดส่อง ตรวจสอบ พฤติกรรม-พฤติจิต.. ของตนเองและเอื้อเฟื้อหมู่คณะ.. จนถึงพัฒนา ซ่อมแซม ดูแล เสนาสนะในเขตวัดวาอาราม.. ให้สมบูรณ์อยู่เสมอ สำคัญยิ่งคือ การได้ออกเดินบิณฑบาตโปรดคณะศรัทธาญาติโยมทั้งหลายในพื้นที่..ให้ทั่วถึง ทั้งใกล้-ไกลตามกำลังขาที่สามารถก้าวย่างไปได้.. โดยได้เจริญธรรม สวดมนต์ ดำริธรรมไปตามมรรคา.. เพื่อโปรยปรายธรรมไปให้ทั่วถึงทุกภพภูมิตามอริยประเพณี.. โดยคำนึงถึง วัน คืน ที่ผ่านมาว่า ได้บำเพ็ญกุศลธรรม ปัญญาธรรม มามากน้อยแค่ไหน อย่างไร.. ไม่ใช่เนื้อนาบุญส่วนเกินที่กระเด็นเป็นเศษสวะอยู่นอกเขียงพระศาสนา..
ในพรรษานี้.. จึงได้พิจารณาธรรมเสมอว่า
“พึงตัดตัณหา ดุจดังกระแสน้ำเสียเถิด
จงถ่ายถอนตมทั้งหลายเสียเถิด..
เพราะพระมุนี ไม่ละกามทั้งแล้ว
จะเข้าถึงความเป็นคนผู้เดียวไม่ได้..
ถ้าจะทำ .. ก็พึงทำสิ่งนั้นเถิด
แต่พึงบากบั่น ทำกิจนั้นให้จริง
เพราะสมณธรรม เครื่องละเว้นที่ย่อหย่อน
ยิ่งโปรยโทษดุจธุระ
ความชั่ว .. บาปกรรม ไม่ทำเสียเลยดีกว่า
เพราะความชั่ว .. บาปกรรม ย่อมเผาผลาญให้ทุกข์ร้อนในภายหลัง..
ความดี บุญกรรม นั่นแหละ เป็นสิ่งที่ควรทำ.. เพราะไม่เดือดเนื้อร้อนใจในภายหลัง...
สิ่งสำคัญยิ่งในการปฏิบัติกิจของพระภิกษุในพระพุทธศาสนายามนี้หรือยามไหนๆ.. คือ การเร่งเพียรเจริญสติปัฏฐานธรรม.. อย่างจริงจัง ด้วยความเคารพ ด้วยความศรัทธา วิริยะ.. อย่างยิ่งยวด...
จึงได้เห็นการออกเดิน.. เพื่อเปลี่ยนถ่ายอิริยาบถให้ต่อเนื่อง เหมาะควร.. ด้วยการทำความรู้สึกตัว (สัมปชานการี) เพื่อเจริญสติปัญญาอันยิ่งในบริบทของ การเจริญสัมปชัญญะ..
“การเจริญสัมปชัญญะ” .. ดูเหมือนว่าชาวพุทธในบ้านเราไม่ค่อยคุ้นเคยกันเท่ากับคำว่า “เจริญสติ” .. ซึ่งจริงๆ แล้วก็คือกัน.. เพราะสองคำนี้ต้องควบคู่กันเสมอ ที่เรียกว่า สติสัมปชัญญะ หรือพูดย่อๆ อย่างเข้าใจเป็นภาษาไทยว่า.. สติปัญญา
จึงเห็นได้ว่า.. ทั้งสองคำเป็นคำที่สนธิเนื่องกัน.. เพื่อสื่อสารความหมายให้เต็มว่า เจริญสติ เพื่อให้ได้มาซึ่ง สัมปชัญญะ .. เพื่ออะไร.. คำตอบคือ เพื่อการทำความรู้ ความเข้าใจ ไปสู่การกระทำชอบ ถูกต้อง ตามความรู้นั้น..
หลักปฏิบัติธรรม.. ในพระพุทธศาสนา จึงต้องครบองค์ธรรม ๓ ประการนี้ จึงจะเรียกได้ว่าเป็นการปฏิบัติธรรม เคารพธรรม.. ประพฤติธรรม ได้แก่ ๑.สติ ๒.สัมปชัญญะ และ ๓.วิริยะ .. กล่าวได้ว่า.. ไม่สามารถขาดองค์ธรรมใด..องค์ธรรมหนึ่งไปได้เลย.. ในการปฏิบัติธรรม.. ที่รวมลงในความหมายของ การเจริญสติปัฏฐานธรรม หรือ การเจริญสมถ-วิปัสสนากรรมฐาน.. ซึ่งอาจจะเรียกสั้นๆ ว่า การเจริญสติ .. ก็ย่อมได้.. ดังที่พระเถราจารย์ทั้งหลายนิยมกล่าวกัน
การเจริญสตินั้น.. กล่าวสรุปได้ว่า เป็นอุบายวิธีดับทุกข์ด้วยการรู้เข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง ตรงกับความเป็นจริงในธรรมชาติด้วยตนเอง.. ด้วยการกำหนดรู้ให้แจ่มแจ้งในสภาวธรรมนั้นๆ .. ที่ประชุมลงที่กายและใจ
การเจริญสติ.. จึงเป็น วิปัสสนา ภาวนา ด้วยเป็นเอกธรรมสำหรับการอบรมจิตให้เกิด วิปัสสนาญาณ ที่หยั่งเห็นความจริงโดยประจักษ์ว่า.. สรรพสิ่งทั้งหลาย แท้จริงแล้ว.. มีความเป็นอย่างนี้ เป็นธรรมดา คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ทั้งนี้.. โดยการเจริญสติ.. จะก่อให้เกิด สัมปชัญญะ ที่แปลว่า ความเป็นผู้รู้อย่างบริบูรณ์โดยประการต่างๆ หรือโดยพิเศษอย่างยิ่ง.. หมายถึง มีปัญญาดำเนินไปในการกำหนดรู้นั้น.. เช่น ในขณะหายใจเข้าให้รู้ทั่วถึง-หายใจออกให้รู้ทั่วถึง ตามความเป็นจริง โดยสติกำหนดที่ลมหายใจเข้า-ออก.. โดยใช้สัมปชัญญะรู้ทั่วถึงทุกขณะที่ลมหายใจเข้า-ออกในขณะนั้น.. มิได้แยกรู้ลมอันหนึ่ง รู้กายอันหนึ่ง ซึ่งไม่สามารถทำได้ในขณะจิตเดียวกัน เพราะจิตทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งได้เพียงอย่างเดียว จะไม่ทำงานทีเดียว ๒ อย่าง.. ดังนั้น จึงใช้สติกำหนดที่ลมหายใจ.. เพื่อรู้ทั่วถึง ขณะลมหายใจเข้า-ออกสัมพันธ์กับกาย.. จึงเรียกว่า กายลม (Breath Body) หรือ กายสังขาร..
ทั้งนี้ โดยมุ่งเน้นพัฒนาจิตให้เกิดความเป็นผู้รู้ทั่วถึงอย่างบริบูรณ์ในขณะจิตนั้นโดยประการต่างๆ.. โดยคำนึงถึง...
๑.ความรู้ชัดในประโยชน์ที่ควรกระทำ
๒.ความรู้ชัดในสิ่งที่เหมาะสม
๓.ความรู้ชัดในสติที่กำหนด เพื่อรู้อย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ ไม่ขาดตอน จนรู้เท่าทันตรงกับความจริง จนเกิดความรู้ชัด ไม่หลงผิด หยั่งเห็นทั้งสภาวลักษณะและสามัญลักษณะของสภาวธรรม (รูปนาม) นั้นๆ
หลักธรรมปฏิบัติ..ในพระพุทธศาสนา จึงให้ควาสำคัญกับการกำหนดรู้ในอิริยาบถทั้งย่อย.. และใหญ่ ควบคู่กันไป เรียกว่า.. กำหนดรู้ในทุกลักษณะธรรมที่ปรากฏ.. ไม่ปล่อยผ่าน โดยทรงกล่าวสั่งสอนว่า ไม่ว่าจะเดินหน้า ถอยหลัง เหลียวซ้าย แลขวา เหยียดแขน คู้แขน นุ่งห่มเสื้อผ้า จะกิน จะดื่ม จะเคี้ยว จะกลืน จะถ่ายหนัก ถ่ายเบา จะเดิน ยืน นั่ง หลับ ตื่น พูด หรือหยุดพูด .. ให้เจริญสัมปชัญญะ คือ ทำความรู้สึกตัว.. ตื่นรู้อยู่เสมอ.. อย่าปล่อยผ่านไปอย่างไม่ใส่ใจ ตรวจตรา ดูแล พิจารณาให้เข้าใจ.. จนเกิดการสั่งสมการเข้าใจผิด คลาดเคลื่อนไปจากธรรม.. ที่เรียกว่า รู้ไม่จริง.. หรือรู้ไม่ถูกต้องตามความจริง จนก่อเกิดความเป็นโมหะหรือมิจฉาทิฏฐิ.. ให้เป็นอุปสรรคในการพัฒนาชีวิต เพื่อมุ่งสู่ความสงบสุขโดยธรรมแท้จริง.. นั่นเป็นประโยชน์ตน.. ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์แห่งธรรม.. ที่ไม่ขัดแย้งกับประโยชน์ใดๆ..
ศาสนาพุทธของเรา.. สั่งสอนให้รู้จักการบำเพ็ญประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน และประโยชน์แห่งธรรม โดยการยึดหลักการ ไม่ทำชั่ว ทำกุศลให้ถึงพร้อม และพัฒนาจิตให้ผ่องใส.. ซึ่งจักต้องใช้เครื่องมือในการพัฒนากายจิต.. ได้แก่ อุปการธรรมทั้งสามตามที่กล่าวมา.. เพื่อ อบรมจิตด้วยการเจริญสติระลึกรู้ตามความเป็นจริง..
โดยปกติ คนเราชอบหมกมุ่นอยู่กับความคิดนึก.. ไม่ว่าคิดไปในอดีต คิดไปในอนาคต โดยละเลยการกำหนดรู้ทั่วถึงในปัจจุบันธรรม.. จึงไม่รู้ตนเอง ทำให้ไม่มีเราให้รู้ในปัจจุบันนั้น.. นับเป็นความเสียหายอย่างยิ่งต่อการพัฒนาชีวิต..
เพราะแท้จริงของการพัฒนาชีวิต.. คือ การรู้ตนเอง.. เพื่อเข้าใจตนเอง.. เพื่อพัฒนาตนเองตามหลัก อ่านตนออก.. บอกตนได้.. ใช้ตนเป็น.. คือ ให้เกิดประโยชน์อย่างรู้เท่าทันตรงกับความจริง.. ไม่ วิปลาสธรรม!
แต่คนเราหาได้อยู่กับการกำหนดรู้ตนเองที่เป็นปัจจุบันไม่.. ตั้งแต่ตื่นนอนจนหลับสนิท เรามักจะตกอยู่ในภาพลวงของอดีตและอนาคตตลอดเวลา เหตุเป็นดังนี้ เพราะว่าจิตใจของเรา ผูกพันกับอดีต และให้ฝันแต่อนาคต
ดังนั้น.. เมื่อมีสิ่งใดๆ มากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.. จึงอาศัยสัญญาจำหมายจากอดีต เข้าไปรับรู้เชิง สัญชาตญาณ .. ที่นำไปสู่การยึดถือ เพื่อตอบสนองความต้องการ ด้วยอำนาจของกิเลสที่ชอบใจ ไม่ชอบใจ หรือเฉย.. จนก่อเกิดผลเป็นความทุกข์ร้อนขึ้นด้วยอาการต่างๆ ที่แปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัยแห่งสภาวธรรมนั้นๆ .. ที่ยากจะทนทานได้ ทำให้ไม่สมประสงค์ ไม่สมปรารถนา.. ตามที่ยึดหมายไว้ว่าเป็นตัวตน บุคคล เรา เขา.. มีความเที่ยง เป็นสุข.. บังคับบัญชาได้ตามความต้องการ
จิตจึงเครียด.. เศร้าหมอง คับแค้นในทุกขณะจิต ที่เข้าไปรู้สัมผัสนั้นๆ อย่างขาดปัญญา.. กลายเป็นพวกชอบวิตกกังวลจนเกินจริงไป...
จึงไม่แปลกที่คนในสังคมวัตถุนิยม.. จะมากไปด้วยความวิตกกังวล.. หลากหลายความคิดนึก หลายจิตหลายใจ.. เปลี่ยนแปลงไปมา.. จนไม่นิ่งสงบ
ภาวะทางสังคม.. จึงไม่ยุติโดยธรรม.. ไร้ความสุข อันเกิดจากการคิดนึกที่ขาดระเบียบแบบแผน.. ไร้สติปัญญาควบคุม.. ดังคำกล่าวที่ว่า..
“แม้จะอ่านธรรม.. เข้าใจธรรม.. ก็ไร้ธรรม เพราะจิตใจขาดสติปัญญา ควบคุม.. จึงยากนักจะหยุดยั้งความคิดนึกได้.. แม้รู้ว่า คิดชั่ว.. เป็นบาปอกุศล นี่คือ เวรกรรมของสัตว์โลกในยุคนี้”.
เจริญพร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ความเสื่อม.. ที่ควรเห็น.. ก่อนตาย!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. มีคำกล่าวเป็นสุภาษิต ว่า ความเสื่อมของมนุษย์ ล้วนมีสาเหตุมาจากมนุษย์.. ความเสื่อมของสิ่งใดๆ .. ก็มีสาเหตุมาจากสิ่งนั้นๆ..
รัฐบาลแพทองธาร อยู่ไม่ครบปี บิ๊กป้อม ยังสู้-พปชร.เดินหน้าต่อ
เหลือเวลาอีกเพียง 3 สัปดาห์เศษ ปี 2567 ก็จะผ่านพ้นไปแล้วเพื่อเข้าสู่ปีใหม่ 2568 ซึ่งภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2567 เป็นอย่างไร และปีหน้า 2568 จะมีทิศทางเช่นไร เรื่องนี้มีมุมมองแนววิเคราะห์จาก
ประมาทไม่ได้เลย คือ จิตของเรา!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. มีพระภาษิตบทหนึ่งกล่าวว่า..
คานถล่ม ผู้บริสุทธิ์จบชีวิต 6 ราย กับ สำนึกของนักการเมืองไทย!
เช้าตรู่วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2567 เกิดโศกนาฏกรรมคานเหล็กยักษ์ที่ใช้สำหรับก่อสร้างทางยกระดับถนนพระราม 2 ถล่ม คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์จำนวน 6 ราย
ศึกเลือกตั้ง อบจ. 1 ก.พ. 68 Generation War พท.-ปชน. บารมีบ้านใหญ่ ขลังหรือเสื่อม?
การเมืองท้องถิ่นกับการเลือกตั้ง "นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด" (นายก อบจ.) ซึ่งที่ผ่านมามีการเลือกตั้งกันไปหลายจังหวัด ได้รับความสนใจจากแวดวงการเมืองอย่างมาก
ขบวนการแพทย์ชนบท กับรางวัลแมกไซไซ ปี 2024 ทิศทางพัฒนาระบบสุขภาพไทย
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คือวันเสาร์ที่ 16 พ.ย. คณะผู้แทน”ขบวนการแพทย์ชนบท” ได้เดินทางไปรับรางวัลแมกไซไซ ประจำปี 2024