ระหว่างที่กำลังรอให้ รัฐบาล”เศรษฐา ทวีสิน”เข้าบริหารราชการแผ่นดินอย่างเป็นทางการ
“ไทยโพสต์”ได้สัมภาษณ์พิเศษ “รศ.ดร.กิตติ ลิ่มสกุล อดีตผู้ร่วมก่อตั้งพรรคไทยรักไทย เมื่อปี 2541 ที่ได้ร่วมสร้างนโยบายที่สำคัญหลายด้าน เช่น กองทุนหมู่บ้าน- โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ OTOP เป็นต้น และยังเคยเป็นอดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”ซึ่งก่อนหน้านี้ เป็นรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แต่หลังนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ลาออกจากหัวหน้าพรรคเพื่อไทยเมื่อ 30 ส.ค. ทำให้ตอนนี้เลยเป็นรักษาการรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย อีกทั้งยังเป็นคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายพรรคเพื่อไทย อีกด้วย
โดย”ดร.กิตติ”ได้กล่าวถึงการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ รวมถึงการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะนโยบายเศรษฐกิจที่เพื่อไทยเคยหาเสียงไว้ เพื่อนำไปปฏิบัติ
เริ่มที่ “ดร.กิตติ”กล่าวว่า นอกจากการเป็นกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย ก็ยังเป็นนักเศรษฐศาสตร์ ในมุมมองของผมนั้น มองว่าการจัดตั้งรัฐบาลที่เป็นรัฐบาลผสมครั้งนี้ การขับเคลื่อนนโยบายพรรคเพื่อไทยเพื่อไปทำงานในฐานะรัฐบาลจะมีนโยบายเศรษฐกิจทั้งระยะสั้น-ปานกลางและระยะยาว
นโยบายระยะสั้น ก็คือการกระตุ้นเศรษฐกิจ การช่วยเหลือประชาชน การเพิ่มความสามารถในการใช้หนี้ครัวเรือนโดยเฉพาะเกษตรกร ซึ่งมีทั้งหนี้ที่เกิดขึ้นจากเรื่องที่อยู่อาศัย และหนี้จากการบริโภค ที่เป็นระเบิดเวลาที่รออยู่ โดยเนื่องจากที่ผ่านมา การส่งออกถดถอย ทำให้รายรับที่เข้ามา รวมถึง การจ้างงาน ก็ถดถอยไปด้วย ส่งผลให้การผ่อนชำระบ้าน-รถยนต์ ระยะหลังจะเห็นว่าตัวเลขการถูกบังคับจำนองมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้ ถือเป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข
ขณะที่ การส่งออก เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับปัจจัยต่างประเทศ อาจต้องใช้เวลา แต่ถ้าเป็นเรื่องปัจจัยภายใน ก็สามารถเร่งแก้ไขได้ เช่นภาพรวมเศรษฐกิจ ที่เคยลงไปbottom เคยติดลบ แต่หากทำให้ดีจนค่อยๆ ขึ้นไปเป็น 3 เปอร์เซ็นต์ จนถึง 5 เปอร์เซ็นต์ ก็คือเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว แต่เท่าที่ผมมอง เศรษฐกิจโลกกำลังหดตัว ประเทศจีนอาจกำลังมีปัญหา เรื่องอสังหาริมทรัพย์ ฟองสบู่กำลังแตก ส่วนสหรัฐฯ กำลังเริ่มฟื้น โดยภาพรวมหลายประเทศ มีปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้การติดต่อซื้อขายระหว่างประเทศไม่เติบโต ไม่มีประเทศไหนที่เป็นผู้นำในการเติบโตแล้วช่วยดึงประเทศอื่นให้เติบโตไปด้วยได้ จากเดิมเคยมีจีน แต่ตอนนี้ไม่มี
จากปัจจัยข้างต้น ทำให้ไทยต้องพึ่งตัวเองมากขึ้น จากเดิมที่เน้นพึ่งภายนอกพวกส่งออก-นำเข้า และการท่องเที่ยว ที่เคยเป็นตัวหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจไทย แต่พอเกิดโควิด ก็เกิดผลกระทบอย่างหนัก นักท่องเที่ยวต่างชาติหายไป 40 ล้านคน แต่ตอนนี้ ก็เริ่มกลับมาแล้ว แต่นักท่องเที่ยวจีน ดูแล้วแม้จะกลับมาเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มขึ้น แต่ก็จะไม่เข้ามามากเหมือนเดิม ปัจจัยภายนอก จึงคาดหวังอะไรมากไม่ได้ จึงต้องไปเน้นหนักที่การดูเรื่องอุปสงค์ภายในประเทศ เช่นการลงทุนทั้ง การใช้จ่ายของรัฐบาลเพื่อการลงทุนและ การลงทุนของภาคเอกชน แต่ก็จะมีไม่มาก ทำให้เศรษฐกิจยังฝืดอยู่ ส่วนการบริโภคภาคครัวเรือน ก็มีปัญหาคือมีหนี้เยอะ
"ดร.กิตติ-คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายพรรคเพื่อไทย”กล่าวต่อว่า เมื่อเป็นแบบนี้ รัฐบาลจะต้องอัดฉีดเงินลงไป ที่เรียกว่า ดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งรัฐบาลตั้งเป้าว่าปีหน้า ตั้งแต่ช่วง ม.ค.-พ.ค. 2567 รัฐบาลจะฉีดเงินลงไปให้ประชาชนหกสิบกว่าล้านคน ก็ประมาณห้าแสนกว่าล้านบาท แต่อาจไม่ใช่การให้รอบเดียว แต่อาจจะออกมาทีละรอบ เช่นรอบแรกสามสิบเปอร์เซ็นต์ จากนั้นก็มีรอบที่สองอีก ก็จะทำให้เกิดการใช้จ่าย ที่หวังว่า จะไปทดแทนอุปสงค์รวมที่หดไป ซึ่งน่าจะเป็นนโยบายที่ถูกต้อง
ตอนหาเสียงเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทย เคยประกาศว่า นโยบายเศรษฐกิจทั้งหมดของพรรคเพื่อไทย เมื่อนำไปปฏิบัติ จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตประมาณปีละ5เปอร์เซ็นต์ ซึ่งการจะทำให้ได้ นโยบายระยะสั้นด้านเศรษฐกิจที่จะทำให้เศรษฐกิจโต 5 เปอร์เซ็นต์ได้ ก็คือ ดิจิทัลวอลเล็ต เพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย เป็นการใช้เครื่องมือทางการคลังในระยะสั้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
สำหรับนโยบายอื่นๆที่พรรคร่วมรัฐบาลเสนอตอนหาเสียงเช่นพักชำระหนี้ ก็อาจต้องมาดูกันเช่นต้องดูว่าหนี้ที่จะให้พักชำระเป็นหนี้ประเภทไหน แต่ดูแล้วคงเป็นหนี้ฝั่งเกษตรกร เป็นหลัก นอกจากนี้ รัฐบาลก็คงให้ความสำคัญกับเรื่องการทำให้เศรษฐกิจกลับมามีความคล่องตัวอีกครั้ง ทำให้กระบวนการผลิตด้านเศรษฐกิจกลับมาลื่นไหลอีกครั้ง เช่นเรื่องการท่องเที่ยว ซึ่งนายเศรษฐา นายกรัฐมนตรีก็ได้ลงพื้นที่ไปดูแล้วที่ภูเก็ต เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านี้ที่ไปรับฟังข้อมูลเช่นเรื่องการอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวจีนที่เป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่เข้ามาเที่ยวในไทย
“ดร.กิตติ-นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง-รักษาการรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย”กล่าวต่อไปว่า สำหรับนโยบายเศรษฐกิจระยะกลาง ก็มีเช่น การหาตลาดใหม่ทางการค้า เพราะตอนนี้ภาพรวมทั่วโลก กำลังมีการเปลี่ยนแปลง โดยประเทศไทยมีความสามารถในการผลิต โดยเฉพาะเรื่องเกษตรและอาหาร แต่ที่ผ่านมาเรามีปัญหาเรื่องตลาด เพราะตลาดที่มีเช่น ยุโรป จีน ญี่ปุ่น เริ่มมีข้อจำกัด เราจึงต้องมองหาตลาดใหม่ๆ อย่าง อินเดีย แต่พบว่าหลายประเทศ ก็เข้าไปเหมือนกันแต่ก็ไม่ง่าย รวมถึงแอฟริกา รัสเซีย และบางประเทศในยุโรปตะวันออก รวมถึงการเพิ่มศักยภาพให้กับประชาชนเพื่อรองรับการผลิต และการให้ความสำคัญกับ Digitization
เพราะการแข่งขันทางเศรษฐกิจปัจจุบัน มีการใช้ทั้ง IoT (Internet of Things) -Robotic พรรคเพื่อไทยจึงนำกระทรวงดิจิทัลฯ มาดูแลรับผิดชอบ แต่ก็ต้องทำงานร่วมกับ กระทรวงอุดมศึกษาฯ ที่จะต้อง Upskill - Reskill และนำเทคโนโลยี นวัตกรรม ลงไปให้ เช่นผลการวิจัยเรื่องต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนเรื่องการปรับโคงสร้างเทคโนโลยี จะได้ทำให้คนไทยเก่งขึ้น ภาคการผลิตเช่นโรงงานต่างๆ ก็มีความสามารถในการผลิตมากขึ้น ต้องปรับเปลี่ยนระบบการผลิต เปลี่ยนเครื่องจักร เพราะหากยังผลิตแบบเดิม ก็สู้ต่างประเทศไม่ได้ โดยรัฐบาลก็ต้องวางแผนให้มีเงินกองทุนเพื่อสนับสนุน ด้านเทคโนโลยีและการพัฒนาทักษะคนไทย โดยกระทรวงการคลังก็ต้องเข้ามาสนับสนุนผ่านธนาคารของรัฐ เช่น ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือSME Bank หรือ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เป็นต้น
วิพากษ์การฟอร์มครม.-กังขา
ทำไมนายกฯต้องควบคลัง
เหตุใด ไม่มีรองนายกฯฝ่ายศก.
"ดร.กิตติ-รักษาการรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย"ให้มุมมองว่า การเตรียมเข้าไปบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ที่กำลังจะเกิดขึ้น ผมเห็นการวางโครงสร้างของรัฐมนตรี ผมขอวิพากษ์วิจารณ์ว่า หากดูจากอดีตเช่นสมัยรัฐบาลนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ตั้งแต่รัฐบาล"ทักษิณ1"หลังเลือกตั้งปี 2544 มีการวางโครงสร้างให้มี คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ที่ตอนนั้นมีดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รับผิดชอบพร้อมกับดูแลหน่วยงานเศรษฐกิจหลายแห่งเช่นสำนักงบประมาณ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แต่สำหรับการตั้งครม.รอบนี้ ผมดูแล้วไม่เห็นสิ่งนี้
เท่าที่มีข่าวก็บอกว่าจะให้ดร.ปานปีย์ พหิทธานุกร มาเป็นรองนายกฯและช่วยดูแลเรื่องเศรษฐกิจ แต่พูดไว้กลางๆ ยังไม่เห็นความชัดเจน ตรงนี้ผมเป็นห่วง อยากให้มีรองนายกฯดูแลเศรษฐกิจโดยตรงเลย คล้ายๆ สมัยรัฐบาลไทยรักไทย เพราะอย่างการที่ นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ที่เป็นประธานคณะกรรมการด้านนโยบาย พรรคเพื่อไทยที่ดูแลเรื่องนโยบายเศรษฐกิจของพรรค จะไปเป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี แล้วจะเป็นประธานดูแลเรื่องเศรษฐกิจด้วย มันก็ไม่ได้ เพราะตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ก็ต้องดูเรื่องงานการเมือง-งานมวลชน-ความมั่นคง งานระหว่างประเทศ และต้องทำงานใกล้ชิดนายกฯ การจะมาดูเรื่องเศรษฐกิจด้วย คงไม่มีเวลา แต่ครั้นจะให้รองนายกฯดู ก็ยังไม่เห็นความชัดเจนว่าจะมีรองนายกฯเศรษฐกิจ หรือไม่ เพราะอย่างคุณปานปีย์ ก็มีข่าวว่าจะเป็นรมว.ต่างประเทศกับรองนายกฯด้วย ตรงนี้ผมก็เป็นห่วง
รวมถึงการที่นายกฯควบรมว.คลัง ผมก็เป็นห่วงอีก เพราะนายกฯ สั่งได้ทุกเรื่องเพราะมีอำนาจสูงสุด ไม่จำเป็นต้องมาเป็นรมว.คลัง แต่หากมีอะไร ก็ไปสั่งรมว.คลัง ไม่ใช่ไปเป็น เพราะหากตั้งให้มีรองนายกฯฝ่ายเศรษฐกิจ ตัวรองนายกฯก็ประชุมทีมเศรษฐกิจ รัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ตัวรองนายกฯเศรษฐกิจก็สั่งงานไป ติดตามงานเช่น เงินดิจิทัลวอลเล็ต ใช้ไปเท่าไหร่แล้ว ได้ผลยังไง สั่งรมว.พาณิชย์ว่าให้ไปตรวจสอบดูว่าเงินดิจิทัลวอลเล็ต ประชาชนได้แล้วนำเงินไปจับจ่ายซื้อของอย่างไร จากนั้น พอได้รับเรื่อง รองนายกฯ ก็สรุปเรื่องให้นายกรัฐมนตรี แต่พอนายกฯเป็นรมว.คลังด้วย มันก็จะเป็นการบริหารงานที่แปลกมาก คือเป็นทั้งลูกน้องและเป็นทั้งเจ้านาย ที่มันเสียเวลาที่ต้องทำแบบนั้น
เหตุใด ไม่มอบอำนาจให้รมว.คลังไปเลย ผมก็ไม่เข้าใจ คืออยากให้จัดครม.แบบสมัยนายกฯทักษิณ โดยมีรองนายกฯ ที่รับผิดชอบด้านเศรษฐกิจโดยเฉพาะ มีการมอบหมายงานชัดเจน เช่นเรื่องดิจิทัลวอลเล็ต ก็คอยติดตามว่าแต่ละขั้นตอนไปถึงไหนแล้ว การใช้จ่ายเงิน การเสียภาษี ประชาชนมีความสุขไหม การซื้อของของประชาชนมีผลต่อระบบเศรษฐกิจหรือไม่ แต่ดูจากข่าวเรื่องโผครม.แล้ว ผมก็ยังสงสัยว่าแล้วแบบนี้ใครจะมาทำเรื่องแบบนี้ อัดเงินไปแล้ว ใครจะรู้ข้อมูลต่างๆ ก็อาจรู้เฉพาะเช่นกระทรวงการคลัง ว่าใช้เงินไปแล้วเท่าไหร่ แต่ข้อมูลว่า ประชาชนได้ประโยชน์อะไรบ้าง แล้วใครจะทำ ก็คือควรมีรองนายกฯด้านเศรษฐกิจสักคน หรือหากไม่ได้จริงๆ ก็อาจเป็นบางคนเช่น นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ที่ตามข่าวว่าจะมาเป็นรองนายกฯ แต่เขาก็อาจไม่ได้มาทำได้ทั้งหมด ก็อาจเน้นดูเรื่องเกษตรฯ
-การที่พรรคเพื่อไทย ไม่ได้ดูแลกระทรวงด้านเศรษฐกิจทั้งหมด เช่น กระทรวงพลังงาน อุตสาหกรรม เกษตรและสหกรณ์ จะมีผลต่อการขับเคลื่อนนโยบายของพรรคที่เคยหาเสียงไว้หรือไม่?
ก็มี แต่การปฏิบัติ ก็ให้พรรคร่วมรัฐบาลที่รับผิดชอบเขาทำไป แต่ผมถึงบอกว่า ควรต้องมีรองนายกฯด้านเศรษฐกิจ คือเพื่อไทย จะไปล้วงงานพรรคร่วมรัฐบาลคงไม่ได้ แต่ก็ให้บริหารงานแบบให้รัฐมนตรีพรรคร่วมรัฐบาลทำรายงานมา เช่นหากจะทำเรื่องลดค่าไฟฟ้า แล้วใครจะเป็นคนสั่ง ก็ต้องสั่งไปที่ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน -สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ที่ก็เป็นรมว.พลังงาน รับผิดชอบซึ่งถ้ามีรองนายกฯฝ่ายเศรษฐกิจโดยตรง เวลาทำอะไร ก็ต้องรายงานรองนายกฯ เศรษฐกิจ จากนั้น รองนายกฯ ก็มาบอกนายกรัฐมนตรี แล้วตัวนายกฯ ถึงจะนำข้อมูลต่างๆ เช่น เรื่องตัวเลขของกองทุนพลังงาน มีอยู่เท่าไหร่ เพื่อนายกรัฐมนตรีจะได้นำไปอธิบายกับสภาอุตสาหกรรมและสภาหอการค้า ว่าที่ขอให้รัฐบาลลดค่าไฟฟ้า รัฐบาลลดได้แค่ระดับไหน เรื่องแบบนี้ใครจะมาดูแล นายกรัฐมนตรีก็อาจไม่ไหว ต้องมีรองนายกฝ่ายเศรษฐกิจที่จะคุยกับกระทรวงพลังงาน
-คิดว่าเศรษฐกิจประเทศไทยจะดีขึ้นภายในเวลากี่เดือน คนมองกันว่ารัฐบาลไม่มีฮันนีมูนพีเรียดเพราะคนคาดหวังสูง?
ตั้งแต่หย่ากับพรรคก้าวไกล ก็ติดลบไปแล้ว แต่ติดลบดังกล่าวผมหมายถึง ติดลบเวลา เพราะจริงๆ ควรมีรัฐบาลตั้งแต่เดือนกรกฎาคม มาถึงสิงหาคม จะเข้ากันยายน ก็ติดลบไปเป็นเดือนแล้ว ส่วนที่ว่ารัฐบาละจะทำได้หรือไม่ หากไม่มีกรอบอย่างที่ผมบอก ถามว่าจะทำได้หรือ ผมถามหน่อยเถอะ ถ้าไม่มีคนที่ดูแลภาพรวมเศรษฐกิจทั้งหมด โดยที่นโยบายรัฐบาลใหญ่ ๆอย่างที่ผมบอกข้างต้น ทั้งระยะสั้น-กลาง-ระยะยาว และเรื่องเศรษฐกิจภายในประเทศและต่างประเทศ ที่ตอนนี้ เมื่อมีการแบ่งกระทรวงให้พรรคร่วมรัฐบาลแล้ว เราก็ต้องเชื่อมือเขา แต่คนที่จะกลับมารายงาน แล้วสรุปยำรวมว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ตรงไหน ก็ต้องมี เพื่อประเมินเศรษฐกิจทั้งหมด แจ้งต่อนายกฯ ก็ต้องครม.เศรษฐกิจโดยเฉพาะการแจ้งเตือนภัยทางเศรษฐกิจอย่างตอนนี้ เศรษฐกิจผ่านมาไตรมาสสอง ขยายตัวต่ำกว่าคาดคืออยู่ที่ 1.8% หากไปถึงไตรมาสสามอยู่ที่ 1.9 แบบนี้แย่แน่ แล้วที่เดิมเคยคิดไว้ว่าทั้งปี 2566 จะโตที่ประมาณ 3-4เปอร์เซ็นต์ แต่หากออกมาต่ำกว่าที่คิดเช่นแค่ 2.5 เปอร์เซ็นต์ ค่าจ้างไม่ขึ้น โบนัสพนักงานไม่มี แล้วรัฐบาลจะทำอย่างไร
เรื่องแบบนี้ต้องมีคนประเมินภาพรวมทั้งหมด แจ้งกับนายกฯโดยตรง ก่อนที่จะเกิดเรื่อง มันก็ต้องครม.เศรษฐกิจ ซึ่งครม.เศรษฐกิจ ต้องมีรองนายกฯคุมโดยตรง โดยต้องคุมทั้งพลังงาน-อุตสาหกรรม-พาณิชย์-คลัง-เกษตรและสหกรณ์ และใต้รองนายกฯ ก็ต้องมีเครื่องมือมาสนับสนุนเช่น SME bank -สำนักงานบีโอไอ-สำนักงบประมาณ -สภาพัฒน์ฯ เป็นต้น ดังนั้น จากตัวเลขที่ออกมาว่าจีดีพี ไตรมาสที่ 2 ปี 2566 ขยายตัวแค่ 1.8% ผมเห็นแล้วเป็นห่วง ทั้งหมดผมในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยด้วย ผมพูดด้วยความบริสุทธิ์ใจ
ส่วนที่ถามว่า รัฐบาลจะทำให้เศรษฐกิจโต 5 เปอร์เซ็นต์ แบบที่ตอนหาเสียงได้หรือไม่นั้น ก็ตอบว่า ยังไม่ได้ในตอนนี้ ถ้าจัดครม.แบบนี้ยังไม่น่าได้ และคงไม่เกิดขึ้นในปีนี้ ก็ต้องไปปีหน้า 2567 เพราะรัฐบาลกำลังจะเพิ่งเข้าไปในเดือนกันยายน ก็ต้องให้กำลังใจนายกฯ และรัฐมนตรีคนอื่นๆ
แต่ผมเชื่อว่าปีหน้า2567 รัฐบาลโดยนายกฯเศรษฐา ทวีสิน และทีมเศรษฐกิจ จะทำได้ โดยเฉพาะถ้าทำตามที่ผมแนะนำบ้าง คือให้มีทีมเศรษฐกิจที่เป็นเรื่องเป็นราว มีหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ มีครม.เศรษฐกิจที่มันชัดเจน แบบรัฐบาลยุคไทยรักไทย ก็จะทำให้การทำงานเป็นเอกภาพ แต่เศรษฐกิจจะโตได้ 5 เปอร์เซ็นต์หรือไม่ ก็ต้องดูปัจจัยเศรษฐกิจโลกประกอบด้วย เพราะปีนี้ ยังมีปัญหาอยู่ แต่หวังว่าปีหน้าเศรษฐกิจโลกจะดีขึ้น โดยเฉพาะประเทศใหญ่ๆ อย่างจีน สหรัฐอเมริกา และยุโรป และไทยเรามีการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม ก็จะทำให้เราส่งออกได้มากขึ้น โดย
“ผมเชื่อว่าตัวเลขส่งออกเราปีหน้าจะกลับมาเป็นบวก จนทำให้เศรษฐกิจคลายตัวจนเติบโตที่ 5 เปอร์เซ็นต์อย่างที่ตั้งเป้าไว้ ซึ่งเพื่อไทย ประมาณการความเสี่ยงต่างๆ ไว้แล้วระดับหนึ่ง แต่เสียดายที่เราไม่ชนะแลนด์สไลด์ มันก็เลยไม่เป็นชิ้นเป็นอัน ผมก็เลยเป็นห่วง จึงออกมาให้สัมภาษณ์ครั้งนี้ที่ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ พรรคก็อย่าโกรธผมแล้วกัน”
ดิจิทัลวอลเล็ต
หากพท.ทำไม่ได้ ก็กลับบ้าน
-เรื่องดิจิทัลวอลเล็ต หนึ่งหมื่นบาท จะได้เห็นเมื่อใด?
ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ดิจิทัลวอลเล็ต ไม่ใช่บิตคอยน์ แต่เป็น โทเคน (Token) ที่จะเป็นเหรียญ-กระดาษ-คูปอง ก็ได้ เรียกว่า"สิทธิ"ที่เป็นเรื่องที่ทำได้ ถูกกฎหมาย เป็นไปตามพรบ.ดิจิทัลฯ ใครมาบอกว่าผิดกฎหมายแบงค์ชาติ ยืนยันว่าไม่จริง เรื่องนี้เคยเถียงกันมาแล้ว เพราะมันไม่ใช่เหรียญของแบงค์ชาติ แต่มีเงินแบ็คอัพให้ที่เป็นเงินงบประมาณแผ่นดิน เหมือนกระเป๋าตังค์ โดยการบริหารจัดการสามารถปรับได้ เช่นการใช้เงินที่ให้ใช้ในรัศมีไม่เกิน 4 กิโลเมตรของคนที่ได้เงิน ก็สามารถปรับได้ ไม่ยากเพราะเขียนด้วยบล็อกเชน เช่นประชาชนบางส่วนอยู่ในพื้นทีห่างไกล อยู่แถบภูเขา ก็สามารถขยายพื้นที่การใช้เงินให้ได้ สำหรับนัมเบอร์ดังกล่าว อาจขยายให้ไปถึงสิบกิโลเมตรก็ได้
เงินที่จะให้หนึ่งหมื่นบาท ก็อาจจะไม่ได้ให้ทีเดียวเลย หนึ่งหมื่นบาทต่อคน ผมคาดการว่าอาจจะให้เป็นงวดๆ ประมาณ 2-3 งวด ผมเดานะ มันเป็นไปไม่ได้ที่จะให้ทีเดียวเลยหนึ่งหมื่นบาท โดยอาจจะให้สองรอบ เช่นในช่วงจังหวะดีๆ อย่างเทศกาลสงกรานต์ แต่ก่อนสงกรานต์อาจมีก่อนหนึ่งงวด เช่น 2,500 บาท จากนั้น ให้รองนายกฯฝ่ายเศรษฐกิจประเมินผล หากรายงานมาว่าได้ผลดี คนจับจ่ายซื้อของกันดี คนขายของก็เข้าสู่ระบบภาษี แบบนี้อาจให้อีกงวด 2,500 บาท แล้วเข้าเดือนเมษายน ก็ให้ไปอีก 5,000 บาท ก็ครบหนึ่งหมื่นบาท
และระหว่างการทำ ต้องมีการบริหารCash Flow ด้วย พวกที่มาวิจารณ์ว่าจะเจ็ง ผมถามว่าจะเจ๊งได้ยังไง เพราะการทำ ต้องมีเงินเข้ามาถึงจะทำได้ หากงบยังไม่พร้อม ก็จะบอกประชาชนว่าขอให้รอก่อน ขัดข้องทางเทคนิคเล็กน้อย แต่ให้แน่นอน ก็จะอยู่ในช่วง ม.ค.-พ.ค. 2567 แต่มกราคมอาจไม่ทัน รอบแรกน่าจะอยู่ในช่วงก.พ.หรือมี.ค. แต่สงกรานต์ได้แน่นอน และจะได้เยอะ
นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต วิธีการทำ ต้องดูความเป็นจริงเช่นเรื่องของพื้นที่ในการใช้ สามารถขยายได้ หากมีเหตุผลความจำเป็น แต่อายุขั้นต่ำ 16 ปี ถึงจะได้ อันนี้จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง
สำหรับผลของนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ตามหลัก"ผลกระทบทวีคูณ"ทางเศรษฐศาสตร์ สมมุติหากจ่ายไปหนึ่งบาท จะเกิดคลื่น เหมือนโยนหินลงไปในน้ำ จะเกิดคลื่นหมุนเวียนกี่รอบ ที่ไม่ใช่จีดีพี เรื่องนี้อยู่ที่แต่ละคนจะมีหลักทฤษฎีในการคิดอย่างไร บางคนอาจบอกว่าจะเกิด 2-3 รอบ แต่ผมว่าไม่ใช่ แต่จะเกิดถึง 6 รอบ โดยคิดจากการบริโภคหน่วยสุดท้าย ( Marginal Propensity to Consume / MPC) ที่เท่ากับหนึ่งหารด้วยหนึ่งลบ เท่ากับMPC เช่น มีเงินหนึ่งร้อยบาท จะใช้เงินเท่าใด ที่ประชาชนแต่ละกลุ่มจะใช้ไม่เหมือนกันอย่าง คนรวยมีเงินหนึ่งร้อยบาท จะใช้ประมาณ .40 เปอร์เซ็นต์ แต่คนจน จะใช้มากกว่าอาจประมาณ .75 เปอร์เซ็นต์เพราะคนรวยมีเม็ดเงินเยอะ จึงมีสัดส่วนของเงินที่มากกว่าที่จะนำไปใช้จ่ายได้ เพราะฉะนั้นถ้าคนจนเยอะ แล้วอยู่ในจุด bottom หากใส่เงินเข้าระบบไปหนึ่งบาท คนมีรายได้น้อยจะใช้เงินเกือบหมด แต่หากเป็นคนรวย จะใช้ไม่มาก แต่จะเก็บเยอะ แต่เราอยากให้เหลือน้อย เพราะอยากให้ใช้เยอะๆ
"การหมุนเวียนดังกล่าวหากใช้ดิจิทัลวอลเล็ต นักวิชาการบางคนบอกว่า จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตประมาณ3 เปอร์เซ็นต์ ตรงนี้ก็อยู่ที่จะมีตัวรั่วหรือไม่ เช่นสินค้านำเข้า เพราะคนรวย ก็จะนำสินค้าแบนด์เนมเข้ามา ทำให้ตัวรั่วเยอะ แต่คนมีรายได้น้อยก็จะซื้อของในประเทศ อย่างเราคาดว่าจีดีพีจะโตที่3-3.5 เปอร์เซ็นต์แต่หากหลังมีการดำเนินการตามนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ก็อาจไปได้ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ ยืนยันว่านโยบายดังกล่าว เพื่อไทยทำแน่ หากไม่แน่ ก็กลับบ้าน"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เหลียวหลังแลหน้า การเมืองไทย จาก 2567 สู่ 2568 ส่องจุดจบ ระบอบทักษิณภาค 2
รายการ"ไทยโพสต์ อิสรภาพแห่งความคิด"สัมภาษณ์ นักวิชาการ-นักการเมือง สองคน เพื่อมา"เหลียวหลังการเมืองไทยปี 2567 และแลไปข้างหน้า
วิปริตธรรม .. ในสังคม!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. เลียบบ้านแลเมือง มองดูเข้าไปในหมู่ชนของบ้านเรา.. ในยามที่นักการเมืองเป็นใหญ่ มีอำนาจวาสนาบริหารราชการแผ่นดิน จึงได้เห็นความไหลหลงวกวนของหมู่ชน ที่สาละวนอยู่กับการแสวงหา เพื่อให้ได้มาใน ลาภ สักการะ ยศ สรรเสริญ สุข.. ไม่เว้นแม้ในแวดวงนักบวชที่มุ่งแสวงหามากกว่าละวาง
ธุรกิจคาสิโนถูกกฎหมาย ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มักเกี่ยวพันผู้มีอำนาจทางการเมือง
เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดงานเผยแพร่ผลการศึกษาผลกระทบของคาสิโนถูกกฎหมายต่อการฆาตกรรมและการข่มขืนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
อภิสิทธิ์-อดีตนายกรัฐมนตรี มอง 'จุดเสี่ยง' รัฐบาลเพื่อไทย ระเบิดการเมือง วางไว้เองหลายลูก
แม้ขณะนี้จะไม่ได้มีตำแหน่งทางการเมืองใดๆ แต่สำหรับ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์" การแสดงทัศนะหรือความคิดเห็นทางด้านการเมือง
ความเสื่อม.. ที่ควรเห็น.. ก่อนตาย!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. มีคำกล่าวเป็นสุภาษิต ว่า ความเสื่อมของมนุษย์ ล้วนมีสาเหตุมาจากมนุษย์.. ความเสื่อมของสิ่งใดๆ .. ก็มีสาเหตุมาจากสิ่งนั้นๆ..
รัฐบาลแพทองธาร อยู่ไม่ครบปี บิ๊กป้อม ยังสู้-พปชร.เดินหน้าต่อ
เหลือเวลาอีกเพียง 3 สัปดาห์เศษ ปี 2567 ก็จะผ่านพ้นไปแล้วเพื่อเข้าสู่ปีใหม่ 2568 ซึ่งภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2567 เป็นอย่างไร และปีหน้า 2568 จะมีทิศทางเช่นไร เรื่องนี้มีมุมมองแนววิเคราะห์จาก