Logistics Connectivity: ดาบ 2 คม

Logistics Connectivity การเชื่อมโยงด้านโลจิสติกส์และด้านการขนส่ง เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ผ่านมาทุกรัฐบาล เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางขนส่งของภูมิภาค โดยแนวคิดที่สำคัญในปัจจุบัน คือ การเชื่อมโยงกับโครงการ “Belt and Road Initiative: BRI” ที่นำเสนอโดยจีน  ทั้งนี้ ไทยคงไม่สามารถละเลยการเชื่อมโยงกับ BRI ได้ แต่การนำประเทศไปเชื่อมโยงกับ BRI ควรดำเนินการอย่างมี “สติ” ประกอบด้วย “ยุทธศาสตร์” ที่ผ่านการพิจารณาข้อดีข้อเสียอย่างรอบด้าน   วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งควรเป็นบทเรียนที่สะท้อนถึงผลพวงจากการเร่ง “เปิดเสรีการเงิน” โดยไม่มีการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ (Disruption) ที่จะเกิดกับตลาดเงินตลาดทุน

เส้นทางรถไฟลาวจีน ซึ่งพึ่งเปิดให้บริการ เมื่อปลายปี พ.ศ. 2564 ได้รับการคาดหมายว่า จะเป็นตัวต่อสำคัญให้ไทยเชื่อมเข้ากับโครงการ BRI เปิดโอกาสให้สินค้าไทยส่งออกไปจีนเพิ่มขึ้นอย่างมาก  เส้นทางนี้ให้บริการจากเมืองเวียงจันทน์แล้วไปเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟภายในของจีนถึงเมืองคุนหมิง ระยะทางรวมประมาณพันกิโลเมตร  เส้นทางส่วนที่อยู่ใน สปป. ลาว เป็นทางเดี่ยวให้บริการขนส่งผู้โดยสารที่ความเร็ว 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และที่ความเร็วสูงสุด 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในการขนส่งสินค้า รถไฟสายนี้จึงไม่ใช่รถไฟความเร็วสูงตามที่หลายคนเข้าใจผิดกัน และการออกแบบให้เป็นรถไฟทางเดี่ยวและทำความเร็วได้เพียงเท่านี้ ส่อให้เห็นถึงการให้ความสำคัญอย่างมากกับการใช้รถไฟเพื่อสนับสนุนการขนส่งสินค้า

รถไฟลาวจีน กับ การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ (Disruption) ของภูมิประเทศ (Landscape) ของการลงทุน การผลิต การค้าและการขนส่งสินค้าในภูมิภาค

 โดยสรุปในบริบทของการขนส่งสินค้า รถไฟลาวจีนจะเป็นสารตั้งต้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ (Disruption) ใน 2 มิติ  ดังนี้

Disruption ที่มีต่อสถานการณ์การค้าและขนส่งระหว่างจีนกับอาเซียน:  เส้นทางรถไฟลาวจีนเป็นทางเลือกใหม่ให้กับการขนส่งสินค้าระหว่างจีนกับอาเซียน น่าจะส่งผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบต่อไทยอย่างมีนัยสำคัญ หรืออีกนัยหนึ่งโครงการที่เป็น “ดาบสองคม”   ในด้านบวก สินค้าไทยมีโอกาสเข้าสู่มณฑลภายในของจีนได้ง่ายขึ้น จากที่เคยขนส่งผ่านถนนกว่า 2 วัน เหลือไม่เกิน 15 ชั่วโมง อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากผลไม้เมืองร้อนของไทย ซึ่งจีนไม่สามารถผลิตเองได้แล้ว ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีสินค้าไทยประเภทใดอีกที่มีศักยภาพพอที่จะใช้ประโยชน์จากเส้นทางนี้ เข้าไปแข่งขันกับสินค้าแบบเดียวกันของจีนได้ สินค้าไทยที่จะไปขายในจีนได้ต้องมีต้นทุนหรือราคารวมที่แข่งขันได้กับสินค้าที่ผลิตในประเทศจีนเอง จะมองเฉพาะแค่ต้นทุนโลจิสติกส์ที่ลดลงไม่ได้  ไม่พบข้อมูลรายละเอียดทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนว่า จะดำเนินการเชิงรุกผลักดันความหวังที่จะเพิ่มการส่งออกสินค้าไทยไปจีนอย่างมีนัย ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในทางปฏิบัติได้อย่างไร  คงเห็นแค่การจัดสัมมนาให้ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการบุกตลาดจีนเป็นระยะๆเท่านั้น

จีนเป็นมหาอำนาจที่รายได้เฉลี่ยของคนในประเทศยังอยู่ในระดับปานกลาง ยังมีคนยากจนจำนวนมากในประเทศ รัฐบาลจีนจึงน่าจะใช้โครงการนี้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจของมณฑลยากจนที่อยู่ตอนกลางและตะวันตกของประเทศ จากสถิติการนำเข้าส่งออกเบื้องต้นผ่านเส้นทางรถไฟสายนี้ พอจะคาดเดายุทธศาสตร์ของจีนในการใช้ประโยชน์จากรถไฟสายนี้ได้ว่า จะถูกใช้เป็นเส้นทางนำเข้าทรัพยากรธรรมชาติ และสินค้าปฐมภูมิราคาถูกจากอาเซียน เข้าไปป้อนเป็นวัตถุดิบให้กับโรงงานผลิตในจีน ซึ่งจะทำการแปรรูปเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคขั้นปลายที่ราคาสูงส่งออกผ่านเส้นทางรถไฟสายนี้ กลับมาขายในตลาดอาเซียน  ก่อนที่จะมีเส้นทางรถไฟสายนี้ สินค้าที่ผลิตในมณฑลยูนนานและใกล้เคียงที่ส่งออกมาขายในอาเซียน จะเสียต้นทุนและเวลาขนส่งที่สูง เพราะต้องขนส่งสินค้าทางรถไฟไปที่ท่าเรือฝั่งตะวันออกเพื่อขึ้นเรือมาอาเซียนอีกทอดหนึ่ง  เส้นทางรถไฟลาวจีนสายนี้ช่วยให้ส่งออกสินค้าจีนลงมาในตลาดอาเซียนได้สะดวกขึ้น โดยตลาดเป้าหมายไม่ได้มีเฉพาะ สปป. ลาวหรือไทย แต่จะรวมถึงประเทศอาเซียนอื่นๆด้วย สินค้าจีนจะครองส่วนแบ่งการตลาดในประเทศอาเซียนมากขึ้น ซึ่งย่อมกระทบต่อผู้ผลิตสินค้าไทย ซึ่งนอกจากต้องแข่งกับสินค้าจีนที่เข้ามาตีตลาดไทยในแล้ว และยังอาจจะเสียส่วนแบ่งการตลาดสินค้าไทยในประเทศอาเซียนที่เคยนิยมซื้อสินค้าไทยอีกด้วย  ซึ่งในที่สุด มีความเป็นไปได้เวียงจันทน์อาจจะกลายเป็น “อี้อูแห่งอาเซียน” เป็น Gateway ทำหน้าที่ระบายสินค้าของจีนเข้ามาในภูมิภาคอาเซียนนี้

Disruption ที่มีต่อความสามารถในการแข่งขันของผลผลิตทางการเกษตรของไทย: เส้นทางรถไฟเปิดพื้นที่ตามแนวเส้นทางให้เข้าถึงระบบการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ สามารถนำผลผลิตจากการผลิตในพื้นที่ดังกล่าวออกไปยังตลาดโลกได้ง่ายขึ้น ในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา มีรายงานการขยายอิทธิพลของทุนจีนที่ขอสัมปทานใช้พื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟใน สปป. ลาว เป็นฐานการผลิตเกษตรกรรม  ซึ่ง สปป. ลาวมีพื้นที่ขนาดใหญ่ที่มีภูมิประเทศและภูมิอากาศที่ใกล้เคียงกับประเทศไทย จึงสามารถปลูกพืชเมืองร้อนได้เหมือนกับประเทศไทย ด้วยประสิทธิภาพในการผลิตที่สูง เพราะเป็นการทำเกษตรแปลงใหญ่ที่ใช้ทุน เทคโนโลยี และการบริหารของจีน  ในขณะที่การเกษตรของไทยจำนวนมากยังเป็นเกษตรแปลงย่อย จึงมีความเป็นไปได้ว่าผลผลิตที่ได้จากพื้นที่เกษตรตามแนวเส้นทางรถไฟนี้ มีโอกาสเบียดแข่งขันกับผลผลิตของไทยที่ส่งออกไปประเทศจีน และในระยะยาวอาจสามารถส่งผลผลิตส่วนเกินเข้ามาแข่งขายกับผลผลิตที่ปลูกในประเทศไทยได้อีกด้วย ทั้งนี้ทั้งนั้น ยังไม่เห็นการตื่นตัวที่จะเตรียมรับมือกับสถานการณ์นี้ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐ เอกชน หรือเกษตรกร

อนึ่ง ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เวียงจันทน์ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ระบุว่า  เว็บไซต์ Produce report เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีบริษัทจากจีนหลายบริษัทกำลังทำการปลูกทุเรียนในสปป.ลาว นอกจากนี้ สปป.ลาว มีเป้าหมายส่งออกผลิตภัณฑ์เกษตรจากลาวไปจีน ซึ่งประกอบด้วย ถั่วลิสง มันสำปะหลัง เนื้อวัวแช่แข็งและตากแห้ง มะม่วงหิมพานต์ ทุเรียน กล้วย มะม่วง ถั่วเหลือง และน้ำตาล คาดว่าจะสามารถสร้างรายรับเข้าประเทศถึง 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ฯ

การเตรียมความพร้อมของรัฐบาลไทยเปรียบเทียบกับรัฐบาลจีน

การเตรียมความพร้อมของฝั่งไทยส่วนใหญ่จะเน้นอยู่ 2 เรื่องหลัก คือ การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมต่อระบบขนส่งที่หนองคายและเวียงจันทน์ และการอำนวยความสะดวกการตรวจปล่อยสินค้าที่นำเข้าและส่งออกผ่านด่านชายแดนที่เชื่อมโยงกับเส้นทางรถไฟ  แทบจะไม่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการลงทุนในภาคการผลิตและการค้า จะมีเฉพาะการส่งเสริมการลงทุนในประเทศพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเพียงที่อุดรธานีเท่านั้น โดยไม่มีรายละเอียดการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการไทยเลย

แต่เมื่อเปรียบเทียบกับการเตรียมความพร้อมของฝั่งจีนจากข่าวชิ้นหนึ่ง ซึ่งนำเสนอโดย thaibizchina.com เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นแผนปฏิบัติการ 3 ปีในการใช้ประโยชน์จากรถไฟจีนลาว ของมณฑลยูนนาน ซึ่งนอกเหนือจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และการอำนวยความสะดวกแก่การค้าที่บริเวณด่านชายแดนคล้ายกับของไทยแล้ว จีนยังได้ให้ความสำคัญกับการเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการจีน ในการแผ่ขยายอิทธิพลการผลิตและการค้าไปในทุกประเทศตามแนวเส้นทาง ตามนโยบาย “ก้าวออกไป (Going Out Strategy)”  นอกเหนือจากแผนการลงทุนในจีน รวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมให้กับธุรกิจจีน และการให้คำปรึกษาด้านกฎหมายให้กับผู้ประกอบการจีน  ทั้งนี้ ในการดำเนินการมีการกระจายทั้งอำนาจในการตัดสินใจและอำนาจเงินให้กับรัฐบาลท้องถิ่นระดับมณฑล เพื่อความรวดเร็วในการรับมือกับสถานการณ์และให้เกิดความชัดเจนในการรับผิดชอบ (Accountability) ต่อผลการดำเนินงาน

บทสรุป

การขนส่งเกิดขึ้นใน 2 ทิศทางเสมอ ขนส่งสินค้าออกไปได้ง่าย คนอื่นก็ขนสินค้าเข้ามาได้ง่ายเช่นเดียวกัน จะได้ประโยชน์สูงสุดจาก Logistics Connectivity เมื่อมีความพร้อมที่จะฉวยโอกาสใหม่ๆที่เกิดขึ้นและมีมาตรการรองรับความท้าทายและผลเสียที่จะมีควบคู่กันมา ซึ่งต้องอาศัยการขับเคลื่อนเชิงรุกและการผนึกปัญญาความคิดทั้งองคาพยพของการผลิตและการค้า ตั้งแต่กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ สภาอุตสาหกรรมฯ หอการค้าไทย และตัวผู้ประกอบการ ทั้งนี้ โลจิสติกส์เป็นกิจกรรมที่เกิดจากความต้องการผลิตและการค้า ดังนั้น นโยบายโลจิสติกส์จึงต้องเชื่อมโยงและสอดคล้องกับนโยบายด้านการค้าและด้านการผลิต จุดบกพร่องสำคัญของนโยบาย Logistics Connectivity ไทยคือ ไม่เกื้อกูลและไม่เป็นเอกภาพกับ นโยบายด้านอุตสาหกรรม และนโยบายด้านการค้าของไทย

ขอปิดท้ายด้วยข่าวล่าสุด 2 ชิ้นที่น่าจะสะท้อนให้เข้าใจถึงการบาดเจ็บหรือบาดแผลจาก “คม” ด้านลบของ Logistics Connectivity

ข่าวแรก ปลายเดือนกรกฎาคม 2566 รมต. กระทรวงกลาโหมอิตาลี Guido Crosetto ได้ให้สัมภาษณ์ว่า การเลือกเข้าร่วมโครงการ BRI ของรัฐบาลชุดที่แล้วเป็นการตัดสินใจที่ขาดการไตร่ตรองอย่างดีมาก่อน มองโลกสวยหวังเพียงว่าจะสามารถส่งส้มอิตาลีไปประเทศจีนได้ในมากขึ้น แต่การณ์กลับเป็นว่าสินค้าจีนที่ส่งออกไปอิตาลีเพิ่มขึ้นสามเท่าในสามปีต่อมา

ข่าวที่สอง กลางเดือนสิงหาคม 2566 ประธานสภาอุตสาหกรรมฯ เปิดเผยว่า มีอุตสาหกรรมไทยหลายกลุ่ม เดือดร้อนจากสินค้าจีนที่เข้ามาตีตลาดในไทยเป็นจำนวนมาก  แล้วยังส่งออกในอาเซียนมากขึ้น ทำให้การส่งออกไปอาเซียนของไทยลดลงอย่างเห็นได้ชัด เหตุการณ์เกิดขึ้นเร็วมาก ผู้ประกอบการไทยรับมือไม่ทัน ส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมมาก โดยสินค้าทุนจีนไหลเข้ามาทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ โหมเข้ามาทุกทิศทุกทาง

หมายเหตุ เนื้อหาบางส่วนได้คัดลอกมาจากบทความของผู้เขียนที่เคยนำเสนอในวารสารของสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย ประจำปี 2022 (TTLA Logistics Outlook 2022)

คอลัมน์ เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ
ดร. สมพงษ์ ศิริโสภณศิลป์
ที่ปรึกษา หลักสูตรสหสาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปลี่ยนก้อนหิน เป็นดอกไม้..เปลี่ยนความขัดแย้ง เป็นความปรองดอง หลอมรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย พาประเทศก้าวเดินไปข้างหน้า…..

ปีแล้วปีเล่าที่ประเทศอันเป็นที่รักของเรา ต้องติดหล่ม จมอยู่กับความขัดแย้ง และทิ่มแทงกันด้วยถ้อยคำกร้าวร้าวรุนแรง แบ่งฝักฝ่ายขว้างปาความเกรี้ยวกราดใส่กัน ด้วยเหตุจากความเห็นที่แตกต่างกัน และช่องว่างความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงความเป็นธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสลดหดหู่หัวใจอย่างยิ่ง

ตลาดหุ้นกู้ กับ การสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน

นช่วงทศวรรษที่ผ่านมา บริษัทเอกชนเข้ามาระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้กันมากขึ้น ตลาดหุ้นกู้จึงเติบโตอย่างรวดเร็ว จนปัจจุบันมีมูลค่าคงค้างราว 4.5 ล้านล้านบาท  จำนวนบริษัทที่ออกหุ้นกู้เพื่อระดมทุนก็เพิ่มขึ้นมาก  ไม่จำกัดอยู่เพียงบริษัทขนาดใหญ่เหมือนแต่ก่อน  แต่มีทั้งบริษัทขนาดกลางขนาดเล็กเพิ่มมากขึ้น

โอกาสของการพัฒนาภาคเกษตรไทย

ภาคเกษตรเคยเป็นพระเอกทางเศรษฐกิจของประเทศไทย เป็นแหล่งอาหารที่เลี้ยงดูประชากรให้มีความอิ่มหนำสำราญ สร้างโอกาสให้คนไปทำงานอื่น ๆ แถมยังสร้างชื่อเสียงเป็นหน้าเป็นตาให้ประเทศด้วย

โหมโรงของคอร์รัปชันรูปแบบใหม่ในโลกปัจจุบัน

การคอร์รัปชันเป็นปัญหาสำคัญระดับประเทศที่หยั่งรากลึก แพร่กระจาย และบ่อนทำลายความไว้วางใจที่มีต่อรัฐบาล อีกทั้งยังสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ เป็นอุปสรรคต่อการลงทุน และขัดขวางความก้าวหน้าของประเทศในทุกมิติ เมื่อเวลาแปรเปลี่ยนไป โลกเข้าสู่ทศวรรษใหม่ การคาดการณ์ถึงวิวัฒนาการของการคอร์รัปชันเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากการเท่าทันความเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการคอร์รัปชันสมัยใหม่จะทำให้ทุกภาคส่วน สามารถพัฒนามาตรการรับมือที่มีประสิทธิผล

การพัฒนาเด็กปฐมวัย: สำคัญอย่างไร และควรทำอย่างไร?

ทำไมต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย ยังเล็กเกินไปสอนอะไรก็ยังไม่ได้ ทำอะไรยังไม่เป็น และต้องรอนานมากกว่าจะเห็นผล? เป็นคำถามที่ผมได้รับมาตลอดช่วงเวลาเกือบสิบปี ที่พยายามพัฒนาเด็กปฐมวัยในประเทศไทย สังคมไทยมักให้ความสำคัญกับการเรียนในระดับประถมและมัธยมมากกว่า ผู้ปกครองต้องจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อให้บุตรหลานได้ติวเพื่อสอบเข้าโรงเรียนดังๆ หรือมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจว่า ผู้บริหารการศึกษาระดับประเทศไปจนถึงระดับโรงเรียนจึงไม่ค่อยเห็นความสำคัญของการศึกษาระดับปฐมวัย

ปฎิรูปการศึกษา: กุญแจสำคัญในการเพิ่มศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ไม่ทราบจะเรียกว่าเป็นวิกฤตได้ไหม เมื่อผลการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ PISA ประจำปี 2565 ของนักเรียนไทยออกมาต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี ในทุกทักษะ ทั้งด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน