เจริญพรสาธุชนผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ครั้งหนึ่งในปัจฉิมพุทธกาล ก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพานของพระพุทธองค์ ณ เมืองกุสินารา .. สุภัททปริพาชกได้มีโอกาสเข้าเฝ้าเพื่อทูลถามปัญหาด้วยธรรมอันเป็นที่สงสัยของตนว่า “สมณพราหมณ์ เจ้าลัทธิผู้มีชื่อเสียง มียศ ชนอันมากสมมติว่าเป็นคนดี สมณพราหมณ์ เจ้าลัทธิเหล่านั้น ได้ตรัสรู้ตามปฏิญญาของตน หรือว่าทั้งหมดไม่ได้ตรัสรู้ หรือว่าบางพวกไม่ได้ตรัสรู้ฯ”
จากคำถามดังกล่าวของสุภัททะ.. หากแปลแบบไทยเป็นไทย ก็พึงกล่าวว่า.. บรรดาพวกสมณพราหมณ์.. เจ้าลัทธิต่างๆ นอกพุทธศาสนา ที่พากันประกาศตน.. แสดงตนต่อมหาชนว่า เป็นพระอรหันต์.. เป็นผู้ตรัสรู้แล้ว.. เหล่านั้น แท้จริง..ได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันต์ตามคำโฆษณาชวนเชื่อต่อสาธารณชนบ้างหรือไม่.. พระเหล่านี้ เจ้าลัทธิเหล่านี้ ได้รับการยกย่องบูชาจากมหาชนบางกลุ่มบางคณะ จนถึงพร้อมด้วย ลาภ ยศ.. ชื่อเสียง..
ด้วยพระมหากรุณาในความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้จะทรงอยู่ในระหว่างจักเสด็จดับขันธปรินิพพานในปัจฉิมยามแห่งราตรีในฤกษ์วิสาขมาส.. จึงได้ทรงทำโอกาสให้เกิดประโยชน์แด่ สุภัททะ.. โดยตรัสตอบว่า..
“อย่าเลย สุภัททะ ข้อถามนั้นงดเสียเถิด ดูก่อนสุภัททะ เราจักแสดงธรรมแก่ท่าน ท่านจงตั้งใจฟังธรรมนั้น จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ฯลฯ.”
จากพุทธวิสัยของพระพุทธองค์ในเรื่องดังกล่าว แสดงความเป็นฉบับของความเป็น “พุทธศาสน์” ที่จะแสดงในสิ่งที่เป็นประโยชน์โดยธรรมเท่านั้น..
อะไรๆ ที่ ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์โดยธรรม.. และไม่เป็นไปเพื่อความเหมาะควร พระพุทธองค์ทรงปฏิเสธที่จะตอบ.. แสดงธรรมนั้นๆ และจะทรงชักนำเข้าสู่เรื่องที่มีประโยชน์และเหมาะควร ที่ผู้ถาม ผู้เกี่ยวข้องและบุคคลอื่น ควรได้รับประโยชน์ด้วย ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม.. อย่างบางเรื่องที่ไม่ตรัสตอบ.. ทรงงด.. ทรงวางเฉย ได้แก่ ประเภททิฏฐิสุดโต่ง ที่ไม่ได้ประโยชน์ใดๆ กับผู้ถามและผู้ฟัง.. เช่น คำถามที่ว่า.. โลกเที่ยงหรือไม่เที่ยง, โลกมีที่สุดหรือไม่มีที่สุด, ชีวะกับสรีระเป็นอันเดียวกันหรือเป็นคนละอย่างกัน เป็นต้น
แม้ภิกษุผู้ถาม (มาลุงกยบุตร) จะกล่าวต่อรองกับพระพุทธองค์ว่า.. “หากตรัสตอบปัญหาเหล่านั้นก็จักประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป.. แต่หากไม่ตรัสตอบตามที่ทูลถาม.. ก็จะตัดสินใจลาสิกขาไปเป็นคฤหัสถ์..”
พระพุทธเจ้าของเรา.. ก็ทรงยืนยันในการไม่ตรัสตอบพยากรณ์ปัญหาเหล่านั้น.. โดยเปรียบเทียบให้เห็นเหตุผลโดยธรรมที่ไม่ตรัสตอบว่า.
“เสมือนบุคคลถูกยิงด้วยลูกศรอาบยาพิษอย่างร้ายแรง ญาติมิตรนำแพทย์ผู้ชำนาญการผ่าตัดมารักษา”
แต่บุรุษถูกยิงด้วยลูกศรอาบยาพิษ กล่าวว่า “ตราบใดที่เราไม่รู้ว่าใครยิง.. ยิงด้วยธนูชนิดไหน.. สายธนูทำด้วยอะไร.. ฯลฯ ตราบนั้น เราจักไม่ถอนลูกศรนี้ออกไป..” .. ซึ่งต่อให้บุรุษนั้นตายไป เขาก็จะไม่รู้เรื่องนั้นเลย
เช่นเดียวกัน หากบุคคลใดพึงกล่าวว่า ตราบใดที่พระผู้มีพระภาคไม่ตรัสตอบว่า..
“โลก เที่ยง.. หรือ ไม่เที่ยง...
โลก มีที่สุด หรือ ไม่มีที่สุด...
ชีวะกับสรีระ เป็นอย่างเดียวกัน.. หรือต่างกัน
หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีก.. ตถาคตไม่เกิด..
หรือหลังจากตถาคตตายแล้วเกิดอีก และไม่เกิดอีก
หรือจะเกิดอีกก็ใช่.. จะไม่เกิดอีกก็มิใช่..”
เราจักไม่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค (ในพระพุทธศาสนานี้!)
พระพุทธองค์ตรัสชัดเจนในสุดท้ายของปัญหาดังกล่าวว่า “ต่อให้บุคคลนั้นตายไป ตถาคตจะไม่ตอบเรื่องนั้น ฉันนั้น เหมือนกัน!!”
โดยทรงให้เหตุผลกับภิกษุที่ชื่อ “มาลุงกยบุตร” ว่า “การตอบคำถามเหล่านั้น ที่ถามว่า โลกเที่ยงหรือไม่เที่ยง.. มีที่สุดหรือไม่มีที่สุด.. ตถาคตตายแล้ว จะเกิดก็มิใช่ จะไม่เกิดก็มิใช่..
จักได้มีการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์กันหรือ ก็หามิได้
ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ก็ยังมีตามปกติ
เราจึงบัญญัติว่า เฉพาะการกำจัด ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ในปัจจุบันเท่านั้น” ซึ่งหมายถึง “จะทรงตอบปัญหาที่เป็นไปเพื่อความดับทุกข์ในปัจจุบันเท่านั้น”
ดังที่พระพุทธองค์ตรัสในท้ายพระสูตรว่า ปัญหาใดเล่า ที่เราตอบ คือ ปัญหาว่า..
“นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.. เราตอบ!
เพราะเหตุใด เราจึงตอบ...
เพราะปัญหานั้น มีประโยชน์เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายความกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้.. และเพื่อนิพพาน..”
จากสภาพสังคมบ้านเราปัจจุบัน ที่อลวนด้วยนานาอะสาระ จึงเต็มไปด้วยวิจิกิจฉา ก่อให้มีคำถามเข้ามามากมาย อันเนื่องจากเกิดปรากฏการณ์ต่างๆ นานา ที่เป็นไปตามทิฏฐิของบุคคล.. กลุ่มชนนั้นๆ.. ดังปรากฏคำถามเรื่อง ครูกายแก้ว.. เป็นใคร.. มาจากที่ไหน.. มีอิทธิฤทธิ์อย่างไร.. ใครเป็นคนชักนำเข้ามา.. เพื่อประโยชน์อะไร!?
เมื่อได้พิจารณาเรื่องราวที่ปรากฏ.. จึงเห็นว่าไม่ควรคิดพิจารณา.. ด้วยไม่ได้ก่อให้เกิดองค์คุณปัญญา.. เพื่อประโยชน์แห่งการเสริมสร้างศรัทธาให้เข้มแข็ง มั่นคง ในพระพุทธศาสนาแต่อย่างใด..
ส่วนจะเป็นเรื่องเหมาะควรหรือไม่.. ขัดแย้งต่อวิถีพุทธ.. ระเบียบปฏิบัติ ขนบธรรมเนียมประเพณีของสังคมไทยหรือไม่.. ก็คงต้องเป็นหน้าที่ของหน่วยงานราชการ.. องค์กรศาสนา ที่ต้องรับผิดชอบตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ.. ที่แสดงไว้อย่างชัดเจน เพื่อรักษาไว้ซึ่งระเบียบปฏิบัติ ขนบธรรมเนียมประเพณีของสังคมประเทศชาติที่ถูกต้องดีงาม สมเป็นประเทศพุทธศาสนาสืบไป..
ที่สำคัญ.. ไม่ปล่อยให้เกิดการแสดงออกจนนำไปสู่ความตื่นตระหนกตกใจของประชาชนในสังคม ประเทศชาติ.. ซึ่งแสดงความจริงภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญว่า.. มิใช่ใครจะใช้อิสรภาพตามใจชอบของตนหรือหมู่คณะนั้นได้.. โดยปราศจากความรับผิดชอบต่อสังคมประเทศชาติโดยรวม...
วันนี้หรือวันไหน.. ของสังคมมนุษยชาติ.. จักต้องมีสติปัญญาประกอบความเพียรชอบอย่างมีจุดมุ่งหมาย หลักการ อุดมการณ์ และข้อปฏิบัติ ที่เป็นสัจธรรม เป็นไปเพื่อประโยชน์โดยธรรมเสมอ....
จึงควร ลด ละ วาง.. การเสพข่าวสารที่ไร้สาระ.. ดำรงตนอย่างสงบด้วยสติปัญญา.. ไม่เชื่อมงคลตื่นข่าว คำเล่าลือ อย่างไร้เหตุผลโดยสัจธรรม..
ทั้งควรศึกษาวิธีปฏิบัติต่อสิ่งที่ตนสงสัยหรือหลักความเชื่อ ด้วยธรรมวิธี ๑๐ ประการ ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงใน กาลามสูตร เป็นเครื่องตัดสินก่อนจะปลงใจเชื่อในสิ่งนั้น.. ไม่ว่าด้วยการฟังตามๆ กันมา.. ถือปฏิบัติสืบๆ กันมา.. ด้วยการเล่าลือ.. อ้างอิงตำราหรือคัมภีร์.. แม้จะอ้างอิงพระไตรปิฎก.. เป็นต้น.. อันควรอย่างยิ่งที่สาธุชนพึงควรศึกษาปฏิบัติให้สมฐานะความเป็น “ชาวพุทธ” แท้จริง!!.
เจริญพร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ความเสื่อม.. ที่ควรเห็น.. ก่อนตาย!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. มีคำกล่าวเป็นสุภาษิต ว่า ความเสื่อมของมนุษย์ ล้วนมีสาเหตุมาจากมนุษย์.. ความเสื่อมของสิ่งใดๆ .. ก็มีสาเหตุมาจากสิ่งนั้นๆ..
รัฐบาลแพทองธาร อยู่ไม่ครบปี บิ๊กป้อม ยังสู้-พปชร.เดินหน้าต่อ
เหลือเวลาอีกเพียง 3 สัปดาห์เศษ ปี 2567 ก็จะผ่านพ้นไปแล้วเพื่อเข้าสู่ปีใหม่ 2568 ซึ่งภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2567 เป็นอย่างไร และปีหน้า 2568 จะมีทิศทางเช่นไร เรื่องนี้มีมุมมองแนววิเคราะห์จาก
ประมาทไม่ได้เลย คือ จิตของเรา!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. มีพระภาษิตบทหนึ่งกล่าวว่า..
คานถล่ม ผู้บริสุทธิ์จบชีวิต 6 ราย กับ สำนึกของนักการเมืองไทย!
เช้าตรู่วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2567 เกิดโศกนาฏกรรมคานเหล็กยักษ์ที่ใช้สำหรับก่อสร้างทางยกระดับถนนพระราม 2 ถล่ม คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์จำนวน 6 ราย
ศึกเลือกตั้ง อบจ. 1 ก.พ. 68 Generation War พท.-ปชน. บารมีบ้านใหญ่ ขลังหรือเสื่อม?
การเมืองท้องถิ่นกับการเลือกตั้ง "นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด" (นายก อบจ.) ซึ่งที่ผ่านมามีการเลือกตั้งกันไปหลายจังหวัด ได้รับความสนใจจากแวดวงการเมืองอย่างมาก
ขบวนการแพทย์ชนบท กับรางวัลแมกไซไซ ปี 2024 ทิศทางพัฒนาระบบสุขภาพไทย
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คือวันเสาร์ที่ 16 พ.ย. คณะผู้แทน”ขบวนการแพทย์ชนบท” ได้เดินทางไปรับรางวัลแมกไซไซ ประจำปี 2024