การป้องกันการทุจริตเชิงนโยบายระดับท้องถิ่น

เมื่อวันที่ 4 สิงหาคมที่ผ่านมา  สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือ “ป.ป.ช.” โดยผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตร “นักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง’ (นยปส.) รุ่นที่ 14” รวม 85 คน จากแวดวงราชการและรัฐวิสาหกิจรวมถึงผู้แทนจากภาคประชาสังคมได้ร่วมกันจัดเวทีสัมมนาสาธารณะในหัวข้อ “ยุทธศาสตร์การป้องกันการทุจริตเชิงนโยบายระดับท้องถิ่น” โดยได้เชิญข้าราชการจากหน่วยงานต่างๆ นักวิชาการ ผู้แทนสมาคม มูลนิธิ สื่อมวลชน เข้าร่วมงานกว่า 400 คน และได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมอภิปรายให้ความเห็นต่อยุทธศาสตร์ดังกล่าวซึ่งได้มีการศึกษาแนวทางการป้องกันการทุจริตเชิงนโยบายระดับท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อันประกอบด้วย องค์กรบริหารส่วนจังหวัด  เทศบาล องค์กรบริหารส่วนตำบล และองค์กรเขตปกครองพิเศษ (กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา) นับได้รวม 7,850 แห่งทั่วประเทศ มียอดจำนวนการร้องเรียนและดำเนินการทางกฎหมายโดยสำนักงาน ป.ป.ช. มากที่สุดในแต่ละปีกว่า 5,000 เรื่อง โดยเฉพาะโครงการจัดซื้อจัดจ้าง การก่อสร้าง รวมถึงเรื่องการติดตั้งเสาไฟฟ้าประติมากรรมในรูปแบบต่างๆ ในหลายๆ จังหวัด

ในยุคของเทคโนโลยีและสภาพแวดล้อมของสังคมที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนั้น การทุจริต ประพฤติมิชอบมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงรูปแบบและวิธีการที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะการทุจริตเชิงนโยบาย เริ่มตั้งแต่การเข้าสู่อำนาจ การกำหนดนโยบาย การจัดหางบประมาณ และการนำงบประมาณไปใช้จ่ายโดยมีผลประโยชน์ทับซ้อน เห็นแก่พวกพ้องในลักษณะของการจัดสรรปันส่วนหรือมีเงินทอนหรือผลประโยชน์อื่นใดที่มิใช่ตัวเงิน มีการสร้างเครือข่ายเป็นระบบอุปถัมภ์ที่เติบโตอย่างแข็งแรง

ดังนั้น การที่จะป้องกันการทุจริตเชิงนโยบายระดับท้องถิ่นให้ได้ผลอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนได้นั้น มีการนำเสนอยุทธศาสตร์ใน 5 เรื่องที่ถือเป็นยุทธศาสตร์ย่อยรวมเรียกว่า “P.R.I.D.E” ดังนี้คือ

ยุทธศาสตร์ที่ 1 P = Politics (การเมือง) คือ การสร้างพลังทางการเมืองสุจริตเพื่อป้องกันการทุจริต ด้วยการสร้างการมีส่วนร่วมทางการเมือง ส่งเสริมผลักดันนโยบายโดยประชาชน ไปสู่ภาคการเมือง พัฒนาสถาบันพรรคการเมือง และสร้างกลไกตรวจสอบ ยุทธศาสตร์ที่ 2 R = Regulatory (กฎหมาย) คือ เครื่องมือทางกฎหมายที่ใช้กำกับดูแลและการบูรณาการด้วยพัฒนากฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย การบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และพัฒนานักการเมืองและบุคลากรท้องถิ่น ยุทธศาสตร์ที่ 3  I = Involvement (การมีส่วนร่วม) คือ การมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อกำหนดแผน โครงการและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณยุทธศาสตร์ที่ 4 D - Digitalization (นวัตกรรมดิจิทัล) คือ สร้างนวัตกรรมและเครื่องมือในการป้องกันการทุจริต นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินนโยบาย จัดฐานข้อมูลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปรับโครงสร้าง ปรับกระบวนการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อนำนวัตกรรมมาใช้ได้อย่างบูรณาการและทันสมัยในรูปแบบต่างๆ และยุทธศาสตร์ที่ 5 E = Evaluation (ประเมินผล-ตัวชี้วัด) คือ การพัฒนาตัวชี้วัดในการป้องกันการทุจริตเชิงนโยบายระดับท้องถิ่น ซึ่งประกอบด้วย 2 กลยุทธ์ คือ พัฒนาตัวชี้วัดที่มีประสิทธิภาพ และพัฒนาตัวชี้วัด

ทั้งนี้ การดำเนินการทั้งหมดข้างต้นให้เกิดผลได้นั้น ยังจำเป็นต้องอาศัยองค์ประกอบสำคัญอีกสองส่วนคือ (1) ภาวะผู้นำ ที่มีเจตน์จำนงทางการเมือง (Leadership and Political Will) อย่างแน่วแน่ในการแก้ไขปัญหา และ (2) การมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจเอกชน (Collective Action)  ที่ถือว่าเป็นต้นทางของการทุจริตติดสินบน เช่น การขอใบอนุญาต การเข้าประมูลโครงการต่างๆ เป็นต้น ซึ่งทางภาคเอกชนและองค์กรที่เกี่ยวข้องได้มีการรวมตัวกันในการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน (Collective Action  Against Corruption) หรือ “CAC” โดยมีกระบวนการรับรองและขึ้นทะเบียนโดยคณะผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งผู้อ่านสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่  www.thai-cac.com  และมีจำนวนบริษัทมากกว่า 1,000 บริษัท ได้ประกาศเจตนารมณ์ในการเข้าร่วมโครงการ CAC แล้วและในจำนวนนี้มีบริษัทมากกว่าครึ่งผ่านการรับรองแล้วทั้งบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บริษัทที่ไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ และบริษัทที่อยู่ในกลุ่ม SME จึงขอเชิญชวนมาร่วมด้วยช่วยกันและที่สำคัญคือ เราทุกคนต้องไม่เฉย ไม่ทน รวมไทยต้านโกง แล้วสักวันหนึ่ง เราจะได้เห็นการทุจริตคอร์รัปชันลดลงๆ อย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากการนำเสนอยุทธศาสตร์ข้างต้นแล้ว  ทางสำนักงานป.ป.ช. ยังได้รับเกียรติอย่างสูงจาก  ท่าน หาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ได้แสดงปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “Zero Tolerance Anti - corruption Campaign : How did China stop corruption)” ที่เราสามารถนำมาศึกษาแนวทางได้ และจะได้มาเล่าให้ฟังในโอกาสต่อไป แต่ในช่วงของการจัดตั้งรัฐบาลนี้ ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าหัวหน้าคณะรัฐบาลชุดใหม่จะนำเรื่องการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันนี้ให้เป็นวาระแห่งชาติได้อย่างแท้จริงและทำจริง

 เทวัญ   อุทัยวัฒน์    กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ESG และ NET ZERO ในบริบทของกลุ่มเปราะบางในประเทศไทย

ในช่วงปีที่ผ่านมาหลังวิกฤติด้านสาธารณสุขของโรคระบาดโควิด 19  ประเทศไทยเริ่มฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและผู้คนจำนวนมากได้กลับสู่ชีวิตเป็นปรกติแม้จะมีส่วนหนึ่งที่ตัดสินใจเปลี่ยนแปลงชีวิตหน้าที่การงาน

สังคมไทยภายใต้กระบวน การยุติธรรมหลาย มาตรฐาน 

ต้องยอมรับว่าหลายๆ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศเราในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานั้นทำให้ระบบสังคมโดยเฉพาะระบบย่อยหลายระบบ เช่น เศรษฐกิจ ครอบครัว สาธารณสุข ความเชื่อและศาสนามีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเจริญเติบโตด้านวัตถุ โครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี รถยนต์ไฟฟ้า หรือการนำปัญญาประดิษฐมาประยุกต์ใช้งานและธุรกิจต่างๆ

ความล้มเหลวของการศึกษาไทยสู่ปัญหาที่ขาดผู้รับผิดชอบ

ในแวดวงนักวิชาการด้านนโยบายสาธารณะต่างเห็นตรงกันว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศที่สำคัญลำดับต้นๆ คือการปฏิรูปการศึกษาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดย รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ในหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ มาตรา 54 บัญญัติในสาระสำคัญว่า

วาระประเทศไทยเรื่อง "การแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชัน"

องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI) ได้ประกาศดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index  หรือที่เรียกกันอย่างย่อว่า “CPI”) ประจำปี 2565 ของประเทศต่างๆรวม 180 ประเทศซึ่งถูกจัดอันดับดัชนีที่มีอิทธิพลต่อภาพลักษณ์การทุจริตคอร์รัปชัน

ข้อมูลส่วนบุคคลกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม

ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ในช่วงเกือบสองปีที่ผ่านมาและยังดำเนินต่อไปนั้น ต้องยอมรับว่าได้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคมในประเทศของเราและในหลายๆ ประเทศทั่วโลกอย่างมีนัยสำคัญโดยเฉพาะในเรื่องของสังคมที่มีปัจจัยที่เป็นตัวเร่งคือโรคระบาดและความรวดเร็วของการใช้เทคโนโลยีในการติดต่อสื่อสารที่มีชุดข้อมูลอยู่มากมายในโลกออนไลน์