การเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา คืบหน้าไปอย่างมาก ล่าสุดเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมามีกระแสข่าวว่า มีแนวโน้มที่ พรรคพลังประชารัฐและรวมไทยสร้างชาติ อาจจะโหวตให้นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ถ้าเป็นแบบนี้ เท่ากับ พรรคการเมืองจากซีกรัฐบาลปัจจุบัน ทยอยไปร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับเพื่อไทยหลายพรรคแล้ว ทั้งภูมิใจไทย-ชาติไทยพัฒนา-พลังประชารัฐ-รวมไทยสร้างชาติ
ขณะที่"พรรคประชาธิปัตย์"(ปชป.)ที่มีสส.ด้วยกัน 25 คน ยังคงมีปัญหาขัดแย้งกันระหว่างสองกลุ่มในพรรคที่เห็นไม่ตรงกันในเรื่องการจะให้พรรคปชป.ไปร่วมรัฐบาลกับเพื่อไทย จนนำมาซึ่งการที่พรรคปชป.ไม่สามารถเลือกหัวหน้าพรรค.และกรรมการบริหารพรรคปชป.ชุดใหม่ได้ เพราะโหวตเตอร์เข้าประชุมไม่ครบตามจำนวนที่ข้อบังคับพรรคกำหนดไว้ ซึ่งถึงตอนนี้ สถานการณ์ในพรรคปชป.ยังคงอึมครึม ไม่สามารถบอกได้ว่า จะไปในทิศทางใด
ความเห็นต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับพรรคปชป.ในเวลานี้ ในมุมมองของ นักการเมืองอาวุโสของพรรคปชป.คือ "ไชยวัฒน์ ไตรยสุนันท์-กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์-อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์"ที่เป็นสมาชิกพรรคอาวุโสที่คนในพรรคให้ความเคารพเกรงใจ สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นกับพรรคหลังอยู่กับพรรคปชป.มาตั้งแต่เป็นส.ส.เมื่อปีพ.ศ. 2518 โดยกล่าวว่า เลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคปชป.ได้ส.ส.แค่ 25 คน ถือว่าตกต่ำมาก ที่่ผ่านมาพรรคเคยตกต่ำมาก แต่ก็ไม่มากเท่ารอบนี้ กรุงเทพมหานคร พรรคไม่ได้ส.ส.เขตแม้แต่คนเดียวมาสองสมัยแล้ว ความตกต่ำดังกล่าวทำให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ลาออกจากหัวหน้าพรรค ทำให้พรรคมีภารกิจ ต้องเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ซึ่งในการจะชิงหัวหน้าพรรคปชป.คนใหม่ มีผู้เสนอตัวจะลงสมัคร แต่พบว่ารอบนี้อาการมันแปลก ที่บอกว่าแปลกเพราะในฐานะมีประสบการณ์การเมืองมาสี่สิบกว่าปี โดยเมื่อดูจากข้อบังคับพรรคปชป.พบว่าการที่ให้น้ำหนักในการโหวตเลือกหัวหน้าพรรคกับคนที่เป็นส.ส.70 เปอร์เซ็นต์ ส่วนโหวตเตอร์ที่เป็นอดีตส.ส.-อดีตรัฐมนตรี -อดีตหัวหน้าพรรคและอื่นๆ อยู่ที่ 30 เปอร์เซ็นต์
จากหลักดังกล่าว เมื่อไปคิดคำนวณพบว่า เพียงแค่ส.ส. 20 คนจากที่มี 25 คน จะมีคะแนนเสียงในการโหวตเกินครึ่งหนึ่งที่สามารถตั้งหัวหน้าพรรคได้ ซึ่งองค์ประชุมในการเลือกหัวหน้าพรรคคือ 250 คน โดยครึ่งหนึ่งเท่ากับ 126 คน ถ้าส.ส.20 คน คะแนนเสียงก็จะเท่ากับ 140 ก็เท่ากับเกินครึ่งหนึ่งของ 250 มาแล้ว สมาชิกพรรคปชป.เมื่อก่อนมี3-4 ล้านคน แต่ในยุคคสช.มีการทำให้เกิดการเซ็ตซีโร่ต้องเริ่มต้นใหม่ ก็เหลือสมาชิกพรรคประมาณตีให้เหลือสักหนึ่งล้านคน เท่ากับสมาชิกพรรคหนึ่งล้านคน ต้องเป็นไปตามที่ส.ส.18 คนสั่งว่าจะเอาใครเป็นหัวหน้าพรรค-กรรมการบริหารพรรค ซึ่งแบบนี้มันไม่ใช่แล้ว เพราะประชาธิปไตยทั่วโลก มันต้องวันแมนวันโหวต หนึ่งคนหนึ่งเสียง ประเทศไม่ใช่บริษัท ไม่ใช่ว่านายก.ลงทุนแล้วถือหุ้นมากกว่าคนอื่นเช่นถือไว้ 80 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือถือไว้ 20 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เวลาลงมติอะไร นายก.ก็ชนะหมด แบบนั้นถือว่าเป็นหลักธุรกิจ ลงทุนเยอะ ก็ถือหุ้นเยอะ แต่ว่าประชาธิปไตยทุกคนต้องมีสิทธิ์เท่ากัน เป็นหลักสากลทั่วโลก มีที่ไหนในโลกนี้ ส.ส.18-20 คน ครองอำนาจพรรคหมดเลย แม้จะมีสมาชิกพรรคกี่คนก็ตาม
ก่อนหน้านี้ ผมก็ไปร้องกกต.ว่าแบบนี้ไม่ได้อาจผิดกฎหมาย แต่ผมก็ไปหารือกับกกต.บางคนว่ามองข้อบังคับแบบนี้อย่างไร เขาก็บอกแล้วแต่พรรค ทางพรรคจะเขียนข้อบังคับอย่างไรก็แล้วแต่พรรค แต่ผมว่าแบบนี้ไม่ได้ ผมยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ อันนี้ไม่ใช่ดีหรือร้าย แต่ขอยกมาเป็นตัวอย่าง อย่างกรณีคุณนริศ ขำนุรักษ์ เป็นส.ส.พัทลุงหลายสมัย ปัจจุบันเป็นรมช.มหาดไทย เลือกตั้งที่ผ่านมา ไม่ได้ลงสมัครส.ส.ระบบเขต ที่พัทลุง โดยให้ลูกชาย ร่มธรรม ขำนุรักษ์ ลงแทน โดยบอกว่าอยากวางมือ แต่ถามว่านายนริศ เป็นส.ส.หลายสมัย แต่นายร่มธรรม เป็นส.ส.ไม่ถึงสามเดือน หากไปโหวตเลือกหัวหน้าพรรค นายร่มธรรมมีคะแนนเสียงในการโหวต 70 เปอร์เซ็นต์ แต่นายนริศ เหลือแค่ 30 ถามว่าคุณภาพพรรคเป็นแบบนี้หรือ เอาอะไรมาวัดว่า นายร่มธรรมเก่งกว่านายนริศสองเท่าเศษๆ นายนริศกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ-อดีตหัวหน้าพรรค รวมกันยังได้แค่ 60 เปอร์เซ็นต์ แต่นายร่มธรรมคนเดียว 70 เปอร์เซ็นต์ ที่กกต.บางคนให้ความเห็นกับผมว่า ข้อบังคับพรรคจะเขียนยังไงก็ได้แต่ผมเห็นว่าหากขัดกับกฎหมาย ขัดกับหลักความเป็นจริง ขัดกับหลักประชาธิปไตย มันไม่ได้ แต่ควรต้องเป็นวันแมนวันโหวต ตอนนี้ก็รอกกต.จะว่าอย่างไร
"ไชยวัฒน์-สมาชิกอาวุโสพรรคปชป."กล่าวต่อไปว่า ที่ไปยื่นกกต.เพราะจากการที่มีคนในพรรคอยากไปร่วมรัฐบาล ซึ่งข้อบังคับพรรคปชป.ระบุว่าการจะตัดสินใจนำพรรคไปร่วมรัฐบาลต้องเป็นมติของที่ประชุมร่วมกันระหว่างกรรมการบริหารพรรคกับส.ส.ของพรรคปชป. ซึ่งเพื่อไทยตอนนี้ต้องทำเสียงโหวตนายกฯให้ถึง 376 เสียงให้ได้ โดยหากส.ส.ปชป.ไปร่วมโหวตให้เพื่อไทย ที่ข่าวว่าจะมีประมาณ 21 เสียง ก็อาจจะได้โควต้ารัฐมนตรีประมาณ 2 ที่นั่งโดยอาจเป็น รัฐมนตรีว่าการฯ หนึ่งเก้าอี้และรัฐมนตรีช่วยว่าการฯอีกหนึ่งคน ก่อนหน้านี้นายนราพัฒน์ แก้วทอง ที่มีข่าวว่าจะลงสมัครหัวหน้าพรรคปชป.คนใหม่ ให้สัมภาษณ์ทำนองว่า "ทำไมต้องรังเกียจ เพื่อไทย คนดีๆในเพื่อไทย ที่รู้จัก ก็มีเยอะ แล้วจะไปบอกว่าเพื่อไทยเขาโกง เขายังไม่ทันได้โกงหรือ ควรไปร่วมงานกับเขาก่อน แต่หากเขาโกงอะไร เราค่อยถอนตัว กลับตัวได้"ซึ่งก็ไม่ได้ว่า อะไร เราไม่ได้โกรธเคืองอะไร กับทักษิณหรือส.ส.ของเพื่อไทย แต่เราถืออุดมการณ์ของพรรค ทักษิณ หนีไปต่างประเทศ 17 ปี ไม่ใช่เพราะโกงหรือ รัฐมนตรีหลายคนติดคุกไม่ใช่เพราะโกงหรือ แล้วพอถูกถามว่า ไปร่วมคือยกมือให้เขาแล้วเอาตำแหน่งรัฐมนตรีด้วยใช่ไหม นายนราพัฒน์ก็ตอบว่า "ก็เอาสิ ไม่เอาแล้วจะไปร่วมโหวตให้ทำไม"สรุปแล้ว ก็คือเขาเอาแน่ ซึ่งดูแล้ว การโหวตเลือกนายกฯ คงเกิดขึ้นก่อนการประชุมใหญ่พรรคปชป.เพื่อเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่แน่ หรือถึงต่อให้เลือกหัวหน้าพรรคก่อน แล้วได้คนอื่นเช่นอภิสิทธิ์ เขาก็ไม่ฟัง เขาอาจบอก จะขับเขาออกจากพรรค ก็ยิ่งชอบ จะได้ไปอยู่กับเขาเลย ไม่ได้เป็นงูเห่า แต่เป็นไส้เดือนถูกขี้เถ้าคลุกอยู่ในพรรคไปแบบนี้ ไม่มาที่ทำการพรรค ก็ได้
"ไชยวัฒน์-สมาชิกอาวุโสของพรรคปชป."กล่าวต่อไปว่า เมื่อเป็นแบบนี้ ผมก็ต้องหาทาง หารือกันในกลุ่มว่าจะทำอย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้นดี ก็ยืนหยัดสู้กันในเวลานี้ ที่เปิดหน้าเลยก็มีส.ส.สี่คน ก็มีคุณชวน หลีกภัย บัญญัติ บรรทัดฐาน สรรเพชญ บุญญามณี ส.ส.สงขลา จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์
เพื่อไทยที่ผ่านมา เราเคยเรียกว่า ระบอบทักษิณ ตั้งแต่ยังเป็นสมัยไทยรักไทย เอารัฐมนตรีมาโกง จนติดคุกติดตะรางกันเป็นแถวในเวลานี้ ทุกวันนี้ก็ยังมี ทักษิณกับน้องสาว ก็หนีไปต่างประเทศ แบบนี้ยังไม่โกงอีกหรือ ถ้าเราไปร่วมกับพรรคที่เราเรียกว่าระบอบทักษิณ แล้วยังมีอีกหลายเรื่องเช่น เหตุการณ์ที่เกรือเซะ -นโยบายปราบยาเสพติด แบบนี้คือระบอบทักษิณ ที่เรารับไม่ได้แล้วเราจะไปร่วมกับเขา แต่คนในพรรคปชป.ที่้ต้องการไปร่วมรัฐบาลบอกว่า เพื่อไทยมีคนดีๆเยอะแยะ รอให้ร่วมรัฐบาลก่อน หากมีอะไรค่อยว่ากัน แต่ผมว่ามันไม่ใช่อย่างนั้น ประวัติศาสตร์มันสอน จะมาเถียงกันทำไม ทักษิณ ชินวัตร เดิมมียศเป็นพ.ต.ท.แต่ตอนนี้เป็นนายทักษิณ เพราะถูกถอดยศ เพราะโกง ผมพูดแบบนี้ ไม่กลัวโดนฟ้อง
"หากประชาธิปัตย์ไปร่วมตั้งรัฐบาลด้วย เลือกตั้งคราวหน้า ประชาธิปัตย์ ส.ส.คนเดียวก็จะไม่ได้ คนจะไม่เลือกประชาธิปัตย์ อาจเป็นพรรคที่อาจจะไม่มีส.ส.สักคน แต่ก็จะทำพรรคต่อไป คือส.ส.ของพรรคหากจะไปโหวตนายกฯให้เพื่อไทย เขาก็มีสิทธิ์ทำได้ เป็นเอกสิทธิ์ของส.ส. แต่ว่าสมาชิกพรรคปชป.ที่สมัครเป็นสมาชิกพรรคตลอดชีพ เสียคนละสองพันบาทเท่ากันหมด ส่วนรายปีก็คนละสองร้อยบาท ถ้าจะไปทำแบบนั้น ผมเชื่อว่า สมาชิกพรรคที่เหลืออยู่ สิ้นปีนี้ ไม่ต่ออายุ ไม่เสียเงินค่าสมาชิกพรรค กันหลายแสนคน"
-หากส.ส.ปชป. ไปร่วมโหวตให้นายกฯจากเพื่อไทย จะเป็นงูเห่าไหม?
ไม่ใช่งูเห่า แต่เป็นไส้เดือนคลุกขี้เถ้ามากกว่า งูเห่า มีศักดิ์ศรี ออกจากพรรคที่เคยอยู่ แล้วออกไปอยู่พรรคอื่น แต่นี้ไปซุกเขา เป็นไส้เดือนคลุกขี้เถ้า ผมขอให้ฉายาใหม่ พวกอยากไปร่วมรัฐบาล กระสันมาก คุณไปเอาไส้เดือน โยนใส่กองขี้เถ้า คุณจะเห็นอาการ มันจะดิ้นทุรนทุราย แบบนี้ไม่ใช่งูเห่า เพราะไม่มีมติพรรคให้ไปทำ แต่กลับไปทำ ไม่ได้ฝืนมติ เพราะไม่มีประชุม ไม่มีกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ซึ่งหากจะเรียกประชุมกรรมการบริหารพรรคชุดรักษาการให้มาประชุมกับส.ส.เพื่อโหวตเรื่องนี้ แต่ถามว่าหากเรียกมาแล้วเขาจะมากันไหม เพราะส.ส.ตอนนี้ 20 คนมันยึดพรรคได้แล้ว ไม่ต้องไปคิดสมการอื่นๆเช่นกรรมการบริหารพรรคสายไหน มีกี่คน เพราะเขาจะไปเสียอย่าง ถึงโหวตไม่ให้ไป แต่เขาก็จะไป เพราะยึดพรรคไปแล้ว
-ถ้าสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ พรรคปชป.จะแตกหรือไม่?
คำว่าแตกคืออะไร พรรคไม่ใช่แก้ว พรรคก็ยังอยู่ที่เก่า พระแม่ธรณีบีบมวยผม ก็ยังอยู่ที่เดิม
พรรคไม่ได้แตกหรอก แต่คนเลวมันปฏิบัติชั่ว ทำให้พรรคได้รับความเสียหาย พรรคไม่ได้แตก ยังเป็นพรรคอยู่ แต่ถ้าคนไม่ดีออกไปหมด เราก็จะกลับคืนมาได้
แต่ถามว่าแล้วจะทำยังไง ก็ยังคิดกันอยู่ จะไปไล่เขาออกก็ไม่ได้ เพราะไม่มีกรรมการบริหารพรรคในมือ จะไปไล่เขาออกอย่างไร หรือถึงมี แล้วไล่เขาออกไป เขาอาจบอกยิ่งดี จะได้ไปอยู่พรรคอื่น เขาไม่จำเป็นต้องอยู่ประชาธิปัตย์ ผมว่าคราวหน้าเขาก็ไม่อยู่ประชาธิปัตย์หรอก พวกเหล่านี้ เขาไปอยู่กับพรรคที่เอากับทักษิณ เอากับรัฐบาลที่เอากับทุจริตเลยง่ายกว่า มาอยู่ทำไมกับพรรคคนจน มันเหนื่อย
หากจะไปร่วมรัฐบาลครั้งนี้ถือว่าทำผิดต่ออุดมการณ์ของพรรค เขาอาจจะบอกว่าตอนนี้ยังตั้งรัฐบาลไม่ได้ ประเทศเดินไม่ได้ เราต้องรับผิดชอบต้องร่วมรัฐบาลเพื่อให้ตั้งได้ ถ้าแบบนั้น ก็ให้ประชาชนตัดสิน เลือกตั้งรอบหน้าค่อยว่ากัน อย่างตอนนี้ที่ร่วมรัฐบาลกับพลเอกประยุทธ์ พรรคก็เหลือส.ส. 25 คน แล้วหากครั้งนี้ไปร่วมรัฐบาลกับเพื่อไทย จะเหลือสักคนไหม แบบนี้ ถามใจกันว่าสมาชิกพรรคจะยอมเสียเงินต่ออายุสมาชิกพรรคไหม
"ไชยวัฒน์" กล่าวตอนท้ายว่า สถานการณ์ขณะนี้ ประชาธิปัตย์ ควรเป็นฝ่ายค้านเพื่อกอบกู้สถานภาพของพรรคให้กลับคืนมาก่อน เราป่วยเราต้องรักษาตัวเองให้หายก่อน ไม่ใช่ป่วยแล้วไปกินเลี้ยงกินไวน์ และจากนั้นก็หาหัวหน้าพรรคปชป.คนใหม่ที่เข้ามาปรับปรุงและกอบกู้สถานภาพของพรรคปชป.ให้กลับคืนสู่สภาพเดิม ให้เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาเหมือนเดิม
แต่หากพรรคปชป.ไปร่วมตั้งรัฐบาล เลือกตั้งรอบหน้า พรรคคงไม่เหลือส.ส. คงไม่มีใครเลือกปชป.ไปเป็นส.ส.อีกแล้ว
ต้องรีบจบปัญหา
ปล่อยไว้ ฝ่ายที่จะแพ้
คือตัวพรรคปชป.
“เชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์และสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์” (ปชป.) กล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองของพรรคปชป.ในขณะนี้ที่ยังไม่สามารถจัดประชุมเลือกหัวหน้าพรรคปชป.คนใหม่และมีข่าวว่าจะมีส.ส.พรรคปชป.21 คนจะไปร่วมตั้งรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับพรรคปชป.ขณะนี้ถือว่าอยู่ในสภาวะที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก หากทั้งสองซีกในพรรค ยังไม่สามารถที่จะพูดคุยหรือว่าเจรจาต่อรองกันได้ เพราะฉะนั้นผมว่าสภาพการณ์ที่ที่เกิดขึ้นไม่เป็นผลดีกับพรรคและก็เป็นเรื่องที่ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่จะเป็นผู้ชนะ แต่จะเป็นผู้แพ้ทั้งสองฝ่าย
คนที่จะแพ้หนักที่สุดก็คือพรรคปชป.เพราะว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมันก็ชักจะบานปลายขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้จากคำให้สัมภาษณ์ของ อดีตเลขาธิการพรรค คุณเฉลิมชัย ศรีอ่อนที่ใช้คำที่รุนแรง ซึ่งไม่มีใครคาดคิด เหมือนเจตนาต้องการไปกล่าวหาอีกฝ่ายหนึ่งในทำนองที่ใช้อารมณ์ใช้ถ้อยคำที่รุนแรงซึ่งหลายคนก็ตกใจ
สภาพการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นนี้ หากยังปล่อยไว้แบบนี้นานๆ คงไม่ดี ในฐานะที่เป็นสมาชิกพรรคปชป.ก็อยากเห็นภาพที่มีการเปิดโต๊ะเจรจากัน หาข้อยุติ หาจุดร่วมที่ตรงกันให้ได้ โดยเฉพาะในการเลือกหัวหน้าพรรคปชป.คนใหม่ ถ้าจะมีการนัดประชุมเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ ก่อนที่จะมีการนัดประชุม กรรมการบริหารพรรค คงประชุมร่วมกันเพื่อหาข้อยุติกันให้ได้ก่อน เพราะถ้านัดประชุม องค์ประชุมก็อาจไปร่วมประชุมไม่ครบอีก
“เชาว์”ย้ำว่า ปัญหาของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพรรคปชป. ไม่ต้องไปมองอื่นไกล ปัญหาหลักๆ ก็เริ่มจากการที่กลุ่มของคุณเฉลิมชัย ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้ประกาศสัจจะวาจาต่อหน้าประชาชนหลายครั้งว่า จะเลิกเล่นการเมือง หากพรรคได้ส.ส.ต่ำกว่า 52 คน แต่เมื่อผลการเลือกตั้งออกมา ท่าทีของนายเฉลิมชัย ปากแม้จะบอกว่าเลิก แต่การกระทำของเขา ทุกคนก็พอที่จะเห็นได้ว่า ยังไม่เลิก ยังอยู่เบื้องหลัง ยังซ่องสุมกำลังและที่สำคัญก็ไปรวมส.ส.ในพรรคมาไว้ 21 คน
“เชาว์-อดีตรองโฆษกพรรคปชป.”ย้ำว่า พรรคปชป.เวลานี้อยู่ในช่วงตกต่ำ จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟู เพื่อเรียกความเชื่อมั่นศรัทธากลับคืนมาให้ได้ แต่กระแสข่าวที่เล็ดลอดออกมา รวมถึงคำพูดของกลุ่มส.ส.เหล่านี้ ที่แสดงตัวตนชัดว่ามี 21 คน ต่างก็มีท่าทีไปในทิศทางเดียวกัน ก็คือต้องการจะเข้าร่วมรัฐบาลอย่างเดียว โดยไม่สนใจเสียงเรียกร้องจากสมาชิกพรรคที่มีบุคคลหลายกลุ่มหลายฝ่าย ที่ผมมั่นใจว่าสมาชิกพรรคส่วนใหญ่ไม่อยากเห็นพรรคปชป.อยู่ในสภาพการณ์เช่นนี้ ไปเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย เพราะความเป็นสถาบันพรรคการเมืองของพรรคในอดีตที่ผ่านมา พิสูจน์ได้ว่าพรรคปชป. มีบทบาทนำในสังคมมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นในช่วงเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลหรือต้องรับบทฝ่ายค้าน ก็ทำหน้าที่ฝ่ายค้านได้อย่างเข้มแข็ง
การตัดสินใจจะเอาพรรคเข้าร่วมรัฐบาล จึงไม่มีเหตุผลใดเลยที่จะมาแสดงความชอบธรรม ให้กับสมาชิกพรรคและผู้อาวุโสของพรรคที่ออกมาคัดค้านเวลานี้ไม่ว่าจะเป็นคุณชวน หลีกภัย นายบัญญัติ บรรทัดฐาน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มีบทบาทสำคัญในพรรคมาตลอด
“เชาว์”กล่าวต่อไปว่า ผมมองว่าหากกลุ่มของนายเฉลิมชัย ได้แถลงนโยบายของกลุ่มที่จะเข้ามาบริหารพรรค โดยแถลงให้ชัดว่า หากเข้ามาเป็นกรรมการบริหารพรรค จะไม่นำพรรคเข้าร่วมรัฐบาลและจะมีทิศทางฟื้นฟูพรรคอย่างไร ถ้าทำแบบนี้ ปัญหาทุกอย่างคงจบ คงไม่มีใครไปสามารถโต้แย้งได้ หากเขามีความตั้งใจจริงจะเข้ามาพัฒนาพรรค แต่ท่าทีซึ่งปรากฏไม่เคยมีถ้อยแถลงจากกลุ่มนายเฉลิมชัยว่า จะมีทิศทางฟื้นฟูพรรคอย่างไร นอกจากมีกระแสข่าวเล็ดลอดมาตลอดว่าจะนำพรรคไปร่วมรัฐบาล ที่ตอนนี้ข่าวก็หนาหูมากขึ้นเรื่อยๆ ที่แม้จะไปไม่ครบ 25 เสียง แต่แค่ 19 เสียง ก็จะไปกันแล้ว ซึ่งถ้าถึงจุดนี้ คิดว่า น่าจะเป็นจุดที่แตกหักระหว่างสมาชิกกับผู้บริหารพรรค เพราะแน่นอนว่าคงไม่มีใครยอมให้นำพรรคปชป.ไปใช้ประโยชน์ทางการเมืองสำหรับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
อย่าลืมว่า ส.ส.ของพรรคที่ได้รับเลือกตั้งมา 25 คน การใช้สิทธิ์ออกเสียงต่างๆ อย่าลืมว่าคุณคือตัวแทนของประชาชน ได้เป็นส.ส.ก็เพราะสมาชิกพรรคและประชาชนเลือกเข้ามา ดังนั้นการใช้สิทธิออกเสียงหรือไปทำอะไรก็แล้วแต่ ต้องฟังเสียงสมาชิกพรรคและประชาชนที่เลือกเข้าไปด้วย ไม่ใช่ว่าได้เป็นส.ส.จะทำอะไรตามอำเภอใจก็คงไม่ได้ เพราะจะต้องพบกับแรงเสียดทาน ที่จะออกมาคัดค้าน และจะมีการตรวจสอบอะไรหลายอย่าง
“เชาว์-สมาชิกพรรคปชป.”กล่าวอีกว่า ปชป.เป็นพรรคที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ทุกคนมีสิทธิ์มีเสียง คิดว่าการจะตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลแม้จะเข้าร่วมไปแล้วก็คงไม่ง่าย ที่จะบริหารงานได้อย่างราบรื่น โดยเฉพาะปัญหาในพรรคปชป. ก็คงแก้ไขได้ยากลำบากและหากไปถึงวันนั้น ถ้ามีการเลือกตั้งในวันข้างหน้า โอกาสที่พรรคปชป.จะสูญพันธุ์เป็นไปได้สูง
สถานการณ์ที่เป็นอยู่ขณะนี้ จำเป็นต้องพูดคุยกันและต้องทำโดยเร็ว เพราะหากปล่อยให้สถานการณ์อึมครึมแบบนี้ มีการแตกแยกทางความคิด มีการโจมตีใส่ร้ายกันอยู่เรื่อยๆ หากเป็นแบบนี้ ก็บอบช้ำด้วยกันทั้งสองฝ่าย และฝ่ายที่จะแพ้ก็คือ ประชาธิปัตย์ที่เป็นสถาบันพรรคการเมือง จะแพ้ในที่สุดเพราะเมื่อสมาชิกไม่เข้มแข็ง พรรคก็ไม่มีทางเข้มแข็ง ที่ทุกคนบอกว่า รักพรรคก็ต้องหาจุดร่วมที่ตรงกันให้ได้ เวลานี้สมควรต้องเปิดโต๊ะเจรจากันและจัดสรรเรื่องตำแหน่งการเข้ามาบริหารพรรคให้ลงตัว
หากยังดื้อดึงจะเดินหน้าเข้าร่วมรัฐบาลให้ได้ โดยไม่ฟังเสียงทัดทานจากสมาชิกพรรคด้วยกันเอง มันก็จะนำไปสู่หนทางแห่งความแตกแยกมากขึ้นเรื่อยๆ สมมุติว่า กรรมการบริหารพรรคชุดที่รักษาการตอนนี้ ซึ่งแม้จะยังมีอำนาจเต็มในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ของพรรคได้แม้จะเป็นชุดรักษาการ ที่ก็รวมถึงการตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาล ที่หากจะตัดสินใจเรื่องดังกล่าว ต้องทำเป็นมติที่ประชุมร่วมกรรมการบริหารพรรคกับส.ส. แต่อย่าลืมว่าหากยังไม่มีการเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ที่มีความชอบธรรมอย่างเต็มที่ในการบริหารพรรคและการตัดสินใจเรื่องสำคัญๆเช่นการเข้าร่วมรัฐบาล ควรให้เป็นการตัดสินใจของกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ เพราะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต นั่นหมายถึงหากตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาล ก็ต้องรับผิดชอบกับการลงมติด้วย แต่ถ้าให้กรรมการบริหารพรรคชุดรักษาการในเวลานี้ตัดสินใจ ซึ่งในอนาคต ก็ต้องพ้นจากการเป็นกรรมการรักษาการ ก็เท่ากับไม่ต้องมารับผิดชอบอะไร จะเกิดผลเสียหายอย่างไรก็ไม่ต้องรับผิดชอบเพราะพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว ซึ่งลักษณะแบบนี้ แม้อาจจะถูกกฎหมาย แต่ก็ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“รองประธานสโมสร เชียงราย ยูไนเต็ด สู่นักการเมืองหญิงแกร่ง”
หลายคนรู้จักกับนักการเมืองรุ่นใหญ่ อย่าง “ยงยุทธ ติยะไพรัช” อดีตประธานรัฐสภา ที่มีลูกสาว “สส.โฮม” ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช สส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ที่ “สส.โฮม” ได้ตัดสินใจลงเล่นการเมือง จากมาดามสู่สส. มีอะไรต้องเปลี่ยนเยอะ และด้วยภาพลักษณ์ที่สดใส เป็นมิตร เฟรนลี่กับทุกคน จึงได้รับคำเรียกเล่นๆว่า ทูตสันถวไมตรี เพราะ “สส.โฮม” เป็นกันเอง ไม่ถือตัวกับทุกคน แต่ใครจะไปรู้ว่าชีวิตของ “โฮม” นั้น ผ่านอะไรมาบ้าง จึงได้ไปสอบถาม
เลือกตั้งนายก อบจ. 47 จังหวัด บ้านใหญ่ รอเข้าวิน พท.กวาดเยอะ-พรรคส้ม เสี่ยงร่วง
ยิ่งใกล้ถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายก อบจ. พบว่าการหาเสียงของผู้สมัครนายก อบจ.ทั้งที่ลงในนามพรรคการเมือง และไม่ได้ลงในนามพรรค
ร้อยใจไทย สืบสานราชธรรม .. ณ จังหวัดนครปฐม!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ในวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๗ โครงการร้อยใจธรรม สืบสานราชธรรม ทั้งแผ่นดิน ถวายเป็นพระราชกุศลฯ ที่ดำเนินการโดย สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยและวัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย (ธ) ในพระราชูปถัมภ์ฯ จ.ลำพูน
ลึกสุดใจ. ”พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ผบ.ตร.” ยึดกฎกติกา ไม่กลัวทุกอิทธิพล
ถึงตอนนี้ "พลตํารวจเอก กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ หรือ บิ๊กต่าย ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ" ได้ทำหน้าที่ ผบ.ตร.อย่างเป็นทางการมาร่วมสามเดือนเศษ ส่วนการทำงานต่อจากนี้ ในฐานะ"บิ๊กสีกากี เบอร์หนึ่ง-รั้วปทุมวัน"จะเป็นอย่างไร?
2 สว. “ชาญวิศว์-พิสิษฐ์” ปักธงพิทักษ์รธน. ปกป้องสถาบันฯ พวกเราเป็นอิสระ ไม่มีรับใบสั่ง
กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการทำประชามติเพื่อนำไปสู่การให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูยเพื่อมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อไทย ที่ต้องการทำให้เสร็จก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น
ก้าวย่างออกจากปัญหา .. ของประเทศ!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา... คำกล่าวที่ว่า.. “เมื่อสังคมมนุษยชาติขาดศีลธรรม.. ย่อมพบภัยพิบัติ.. เสื่อมสูญสิ้นสลาย..” นับว่าเป็นสัจธรรมที่ควรน้อมนำมาพิจารณา.. เพื่อการตั้งอยู่ ดำรงอยู่ อย่างไม่ประมาท...