ปี65ลุ้นศก.ไทยลืมตาจีดีพี4%ต้องไม่ใช่ความฝัน!

แนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2565 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประเมินว่าจีดีพีของไทยจะขยายตัวที่ระดับ 3.5-4.5% โดยมีค่ากลางที่ 4% นั้น ถือว่าเป็นระดับที่เหมาะสม ใช้ได้ในช่วงของการฟื้นตัว โดยรัฐบาลยังมองว่าในปีหน้ามาตรการทางการคลังยังมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างความมั่นใจให้กับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เม็ดเงินของรัฐบาลผ่านงบประมาณต่างๆ ยังมีความสำคัญในการหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจ โดยในปีงบประมาณ 2565 มีวงเงินรวมกว่า 1 ล้านล้านบาท จะเข้าไปหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจผ่านโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่สำคัญ

เศรษฐกิจประเทศไทยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาต้องเจอกับวิกฤตโรคระบาดอย่าง “โควิด-19” ที่สร้างความเสียหายอย่างมหาศาลในทุกมิติ ทั้งด้านสาธารณสุข ด้านสังคม และด้านเศรษฐกิจ สะท้อนจากตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ที่ผ่านมาหดตัวที่ ติดลบ 6.1% ซึ่งเป็นการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 22 ปีตั้งแต่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบอย่างหนักกับภาคการท่องเที่ยว ที่ได้ชื่อว่าเป็น “พระเอก” ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

รัฐบาลจำเป็นต้องใช้มาตรการเข้มงวดอย่าง “ล็อกดาวน์” ในการป้องกันการแพร่ระบาด มาตรการดังกล่าวได้ผลดีในด้านสาธารณสุข ขณะที่ด้านเศรษฐกิจต้องยอมรับแบบไร้ข้อแก้ตัวว่า พังยับเยิน! โดยตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบัน รัฐบาลตัดสินใจใช้มาตรการล็อกดาวน์ 2 ครั้ง ครั้งแรกในช่วงเดือน เม.ย. ปีที่ผ่านมา กิจกรรมทางเศรษฐกิจ เรียกได้ว่าเจอกับภาวะ “ช็อก” ทุกอย่างหยุดนิ่งตามวัตถุประสงค์ของมาตรการ การดำเนินธุรกิจ การใช้ชีวิตประจำวันถูกจำกัด ผลกระทบที่เกิดจากมาตรการล็อกดาวน์ในครั้งนั้นสร้างความเสียหายอย่างมหาศาล

แม้ว่าหลังจากนั้นรัฐบาลจะทยอยประกาศผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์อย่างต่อเนื่อง หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่ในจุดที่ควบคุมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ผลพวงความเสียหายจากมาตรการล็อกดาวน์ดังกล่าวเรียกว่า สาหัส! หลายคนคงได้เห็นภาพของภาคธุรกิจโดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่สายป่านสั้น ต้องปิดกิจการลงเพราะทนแบกรับต้นทุนไม่ไหว ผลกระทบเกิดขึ้นเป็นลูกโซ่ เมื่อมีการปิดกิจการ แน่นอนว่า ปัญหาการว่างงานก็ตามมาทันที

สถานการณ์ล่วงเลยมาจนถึงช่วงสิ้นปี 2563 หลายคนมั่นใจว่าช่วงสิ้นปีซึ่งถือเป็นไฮซีซั่นของการประกอบธุรกิจจะบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนหน้าได้ แต่ความฝันก็ต้องพังครืน! เมื่อประเทศไทยเจอการระบาดของโควิด-19 คลัสเตอร์ใหม่ รอบนี้ยาวจนกินเวลามาถึงช่วงกลางปี 2564 สถานการณ์การระบาดดูเหมือนจะรุนแรงมากขึ้น จากจำนวนผู้ติดเชื้อหลักร้อย ขยับเป็นหลักพัน และหลักหมื่นในที่สุด ด่านสุดท้ายของรัฐบาลคือ การงัด “มาตรการล็อกดาวน์” ออกมาสู้ แม้ว่าการล็อกดาวน์ในรอบนี้จะไม่เข้มข้นเท่ารอบแรก แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลยคือ บาดแผลของภาคธุรกิจจากมาตรการล็อกดาวน์ในรอบแรกยังไม่หายดีก็ต้องมาเจอกับความเจ็บปวดซ้ำสอง!!

ในฝั่งภาคธุรกิจที่ต้องแบกรับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์นั้น มุมของรัฐบาลก็ได้เร่งออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนในหลากหลายมิติ โดยเฉพาะในภาคการเงิน การเติมทุนเพื่อต่อลมหายใจเป็นเรื่องสำคัญที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการ แต่ก็เหมือนความช่วยเหลือที่หยิบยื่นนี้จะมาไม่เต็มที่ เพราะหลายเสียงจากผู้ประกอบการที่เดือดร้อนยืนยันว่า เข้าไม่ถึงมาตรการช่วยเหลือที่มีให้!! ขณะเดียวกันรัฐบาลเองก็มีการกู้เงินเพิ่มเติมเพื่อนำมาช่วยเหลือในด้านการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจในมิติต่างๆ ที่จำเป็น

การดำเนิน “มาตรการด้านสาธารณสุข” ถูกหยิบยกให้ทำคู่ขนานไปกับ “มาตรการด้านการคลัง” เพราะการดำเนินมาตรการใดมาตรการหนึ่งแบบสุดโต่งเกินไปคงไม่เป็นผลดี การสร้างสมดุลในการบริหารระหว่าง 2 ส่วนเป็นสิ่งที่รัฐบาลเล็งเห็น จึงได้เริ่มทยอยคลายล็อกดาวน์ และเป็นที่มาของการตัดสินใจเดินหน้า นโยบายเปิดประเทศ เมื่อวันที่ 1 พ.ย.2564 หลังจากที่ทดลองนำร่องกับ 2 โครงการอย่าง ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ และสมุยพลัสโมเดล

หลายส่วนยอมรับว่า หลังจากรัฐบาลเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งเดินหน้านโยบายเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ช่วยทำให้บรรยากาศด้านเศรษฐกิจกลับมามีชีวิตชีวามากขึ้น ขณะที่อีกหลายส่วนก็ยังเห็นว่าหลายๆ มาตรการที่รัฐบาลกำลังดำเนินการยังไม่ใช่ยาแรงเพียงพอ

ในมุมของกระทรวงการคลังก็มองว่า สถานการณ์และเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจหลายๆ อย่างเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นผลดีกับภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2564 โดย “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รมว.การคลัง ที่มองว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวได้อย่างน้อย 1% ถือเป็นตัวเลขที่สมเหตุสมผล จากไตรมาส 4/2564 ที่คาดว่าเศรษฐกิจจะมีสัญญาณการฟื้นตัวดีต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัว 0.3% นั่นเพราะ “ภาคการส่งออก” ที่ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีผลสัมฤทธิ์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่จะช่วยสนับสนุนอำนาจการซื้อและลดภาระความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศ ผ่านโครงการสำคัญอย่าง คนละครึ่ง และยิ่งใช้ยิ่งได้ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีมาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน อย่าง มาตรการลดค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ซึ่งทั้งหมดมีการทำคู่ขนานไปกับ การเร่งฉีดวัคซีน ให้กับประชาชนในประเทศ ส่วนการเปิดประเทศเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว เหล่านี้เป็นเครื่องยนต์สำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในปี 2564

 “ภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็น 12% ของจีดีพี ปีนี้การจะคาดหวังให้นักท่องเที่ยวต่างชาติโต 40 ล้านคนเหมือนปี 2562 คงไม่ได้ ส่วนวิกฤตโควิด-19 เข้าสู่ปีที่ 2 ก็คาดว่าใกล้จะจบ และทุกคนคงไม่ต้องการเห็นสถานการณ์เหมือนปี 2563-2564 ที่ต้องจำกัดตัวเอง จำกัดการออกจากบ้าน การทำธุรกิจ ทุกคนอยากมีรายได้ มีงานทำ มีอาชีพ ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำคือป้องกันตัวเองไม่ให้ติดเชื้อ ขณะที่เศรษฐกิจก็จำเป็นต้องเดินคู่ขนานไปกับการป้องกันการระบาดของโควิด-19 และเมื่อสถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้น มาตรการที่รัฐบาลเข้าไปช่วยในการเยียวยาหรือกระตุ้นการใช้จ่ายก็อาจจะลดน้อยลงไป แต่ในภาพรวมเป็นเรื่องที่ต้องดูในปี 2565”

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2565 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประเมินว่า จีดีพีของไทยจะขยายตัวที่ระดับ 3.5-4.5% โดยมีค่ากลางที่ 4% นั้น ถือว่าเป็นระดับที่เหมาะสม ใช้ได้ในช่วงของการฟื้นตัว โดยรัฐบาลยังมองว่าในปีหน้ามาตรการทางการคลังยังมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างความมั่นใจให้กับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เม็ดเงินของรัฐบาลผ่านงบประมาณต่างๆ ยังมีความสำคัญในการหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจ โดยในปีงบประมาณ 2565 มีวงเงินรวมกว่า 1 ล้านล้านบาท จะเข้าไปหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจผ่านโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่สำคัญ

รมว.การคลังย้ำว่า ปีหน้าการเติบโตภายใต้จีดีพีที่ 4% นั้น สิ่งที่ต้องการคือ การเติบโตที่ทั่วถึง กระจายในทุกหย่อมหญ้า ไม่ใช่เฉพาะโมเดิร์นเซ็กเตอร์อย่างอีอีซี หรือ 12 อุตสาหกรรมใหม่เท่านั้น แต่ยังต้องคิดถึงเศรษฐกิจชุมชนที่จะเป็นตัวสร้างฐานรายได้ให้กับประเทศอย่างมั่นคงในอนาคต โดยการทำให้เศรษฐกิจเดินคู่กับโควิดได้ต้องอาศัยความร่วมมือ การ์ดตกไม่ได้ เชื่อว่าหากภาครัฐ เอกชนและประชาชนรวมพลังกัน เศรษฐกิจไทยจะยืนอยู่ได้ และเติบโตได้ จีดีพี 4% ไม่ไกลเกินเอื้อม!!.

อีโคโฟกัส

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อภิสิทธิ์-อดีตนายกรัฐมนตรี มอง 'จุดเสี่ยง' รัฐบาลเพื่อไทย ระเบิดการเมือง วางไว้เองหลายลูก

แม้ขณะนี้จะไม่ได้มีตำแหน่งทางการเมืองใดๆ แต่สำหรับ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์" การแสดงทัศนะหรือความคิดเห็นทางด้านการเมือง

ความเสื่อม.. ที่ควรเห็น.. ก่อนตาย!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. มีคำกล่าวเป็นสุภาษิต ว่า ความเสื่อมของมนุษย์ ล้วนมีสาเหตุมาจากมนุษย์.. ความเสื่อมของสิ่งใดๆ .. ก็มีสาเหตุมาจากสิ่งนั้นๆ..

รัฐบาลแพทองธาร อยู่ไม่ครบปี บิ๊กป้อม ยังสู้-พปชร.เดินหน้าต่อ

เหลือเวลาอีกเพียง 3 สัปดาห์เศษ ปี 2567 ก็จะผ่านพ้นไปแล้วเพื่อเข้าสู่ปีใหม่ 2568 ซึ่งภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2567 เป็นอย่างไร และปีหน้า 2568 จะมีทิศทางเช่นไร เรื่องนี้มีมุมมองแนววิเคราะห์จาก

คานถล่ม ผู้บริสุทธิ์จบชีวิต 6 ราย กับ สำนึกของนักการเมืองไทย!

เช้าตรู่วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2567 เกิดโศกนาฏกรรมคานเหล็กยักษ์ที่ใช้สำหรับก่อสร้างทางยกระดับถนนพระราม 2 ถล่ม คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์จำนวน 6 ราย

ศึกเลือกตั้ง อบจ. 1 ก.พ. 68 Generation War พท.-ปชน. บารมีบ้านใหญ่ ขลังหรือเสื่อม?

การเมืองท้องถิ่นกับการเลือกตั้ง "นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด" (นายก อบจ.) ซึ่งที่ผ่านมามีการเลือกตั้งกันไปหลายจังหวัด ได้รับความสนใจจากแวดวงการเมืองอย่างมาก