ความคิดนึก .. กับดักสัตว์ให้ติดในทุกข์ โทษ ภัย!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. “ฝนฉ่ำฟ้า น้ำชุ่มดิน” ไปทั่วไทยในยามนี้ เล่นเอาอุณหภูมิร้อนหายเกลี้ยง คงจะมีแต่เรื่องราวร้อนๆ ในสังคม ที่แผ่กระจายเดือดปุดๆ ไปในจิตวิญญาณประชาสัตว์ ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ..

คำว่า.. “ความคิด..​ คือ บ่อเกิดของความทุกข์

หยุดความคิด.. ดับความทุกข์...”

นับเป็น ธรรมานุสติ ที่ควรแก่การใส่ใจ ใคร่ครวญ เพื่อความเข้าใจในธรรมชาติของความคิดว่า.. เกิดมาได้อย่างไร... อะไรเป็นเหตุปัจจัย.. เป็นสมุทัย..

เมื่อกล่าวถึงเรื่อง ความคิด ..​ก็ต้องสาวไปสู่การคิดและเรื่องที่คิด.. ที่มีความสำคัญผิดว่า มีผู้คิด ขึ้น จนเกิดการยึดถือว่า.. เป็นเจ้าของความคิด ก่อเกิดทิฏฐิขึ้นในจิตใจ..

จาก ความคิด.. การคิด.. สู่ ผู้คิด.. และเรื่องที่คิด จึงกลายเป็น ทิฏฐิ.. ซึ่งทิฏฐิตัวนี้ คือ มิจฉาทิฏฐิ อันเกิดจาก ทิฏฐิวิปลาส .. ที่เป็นเรื่องเดียวกัน

ทิฏฐิวิปลาส.. คือ ความเห็นที่ผิดเพี้ยนไปจากธรรม..

ความวิปลาส เกิดจากอำนาจหนึ่ง คือ กิเลส เมื่อมาประกอบกับจิต ซึ่งมาจากธาตุรู้ที่ประภัสสร จึงทำให้เกิดความเศร้าหมองและเร่าร้อน.. จิตจึงถูกปรุงแต่งด้วยอำนาจกิเลส.. ให้เกิดความรู้เห็นไปตามสภาพธรรมที่ปรุงขึ้นแต่งขึ้น.. ก่อเกิดเป็นความนึกคิด.. มีการเก็บสั่งสม.. และมีความวิจิตรหลากหลาย ที่เรียกว่า จิต

การเก็บสั่งสมวิปลาส.. การคิดนึกวิปลาส.. ความเห็นวิปลาส จึงเกิดปรากฏ ซึ่งเป็นเรื่องของสภาวธรรมที่ดำเนินไปภายใต้กฎธรรมชาติ ที่สะท้อนความเป็นธรรมดาว่า.. มันต้องเป็นเช่นนี้เอง เพื่อแสดงความจริงว่า วิถีจิตที่ดำเนินไปตามกฎปฏิจจสมุปบาทธรรม ภายใต้กฎธรรมชาติที่ควบคุม เรียกอีกชื่อว่า อิทัปปัจจยตา!

เราจึงเห็นการศึกษา เรื่อง การคิด..​ ความคิด.. ผู้คิด และเรื่องที่คิด..​ ที่โยงใยระหว่าง รูปนาม หรือกาย จิต.. โดยหลักการทางวิทยาศาสตร์ จะกล่าวถึง กายในส่วนของสมอง (เนื้อเยื่อในกะโหลกศีรษะ) และจิตที่จัดอยู่ในชุดกระบวนการคิด.. เพื่อแสดงความเป็นจริงว่า หากขาดความสัมพันธ์ของจิตและสมองแล้วนั้น การคิดก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ ดังที่นิยมกล่าวกันว่า.. “หากท่านหยุดนิ่งเฉยไม่คิด.. แสดงว่า ท่านกำลังเดินทางไปสู่ภาวะสมองฝ่อ..” ..ซึ่งนั่นเป็นความเห็นทางกายภาพของนักวิชาการทางโลก

ซึ่งในโลกนิยม.. จะให้ความสำคัญในอวัยวะของมนุษย์ คือ สมอง เป็นอย่างยิ่ง เพราะยึดถือว่าเป็นฐานความคิด โดยกล่าวว่า สมองของมนุษย์ เป็นสิ่งที่ซับซ้อน มหัศจรรย์ที่สุด เซลล์ประสาทหนึ่งแสนล้านเซลล์ และโครงข่ายสลับซับซ้อนของใยประสาท ทำให้ศักยภาพของสมองมนุษย์มีอานุภาพมาก เหนือวัตถุเทคโนโลยีทั้งปวง ที่ไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ทันสมัยรุ่นใดเทียบเคียงได้

นักวิทยาศาสตร์ตะวันตกจึงให้ความสำคัญของสมองว่า เจริญที่สุดที่ทำให้มนุษย์มีความสามารถในการคิด จนได้ชื่อว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ โดยค้นพบว่า มนุษย์มีมันสมองอยู่ ๓ ชั้น

๑.ชั้นในสุด เทียบกับสมองสัตว์เลื้อยคลาน

๒.ชั้นกลาง เหมือนสมองสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมโดยทั่วไป

๓.ชั้นนอกสุด เป็นสมองมีขนาดใหญ่ เป็นส่วนที่ทำให้มนุษย์รู้สึกผิดชอบชั่วดี มีศีลธรรม แยกแยะในสิ่งนั้นๆ ได้ว่า อะไรมีคุณค่า ไม่มีคุณค่า อะไรมีประโยชน์ ไม่มีประโยชน์ อะไรเป็นโทษภัย.. อะไรไม่เป็น..

แต่พระพุทธศาสนาของเรานั้น.. ให้ความสำคัญของความคิด.. ไว้ที่การทำงานของจิต.. ที่เรียกว่า จิตวิถี.. โดยพระพุทธองค์ตรัสแสดงให้เห็นความสำคัญของ จิตวิญญาณ หรือมโน ว่า...

 “ธรรมทั้งหลาย มีจิต (มโน) เป็นหัวหน้า.. มีจิต (มโน) เป็นใหญ่ ทุกอย่างสำเร็จด้วยจิต (มโน)”

โดยอธิบายในส่วนของกายภาพว่า.. เป็นที่อาศัย ทำงานของจิต.. ดังคำกล่าวที่ว่า “จิตเป็นนาย.. กายเป็นบ่าว” .. ซึ่งหมายถึง กายหรืออาการทั้งปวงที่ประกอบเป็นกาย.. หรือกายในความหมายของรูปทั้งปวงนั้น เป็นเครื่องรองรับ เพื่อสนองตอบความต้องการทางจิต เพื่อสื่อสารสัมพันธ์กับโลกภายนอก..

โดยสรุปชัดเจนว่า “ความคิด เกิดจาก มโน เข้าไปรับอารมณ์ และรู้แจ้ง (วิญญาณ) ในอารมณ์นั้น.. เกิดความคิดขึ้น...”

สำหรับการคิด.. วิธีการคิดนั้น.. เกิดจากการพัฒนาจิตให้มีศักยภาพในการคิด.. โดยรู้วิธีการคิดที่ถูกต้อง อันเป็นไปเพื่อความรู้ตรงตามความเป็นจริง

“สติ-สัมปชัญญะ” จึงเป็นคุณธรรมที่ต้องสร้างให้เกิดขึ้นในขณะจิตนั้น เพื่อประสิทธิภาพของการรู้ชัดที่จะนำไปสู่การคิดอย่างมีระเบียบแบบแผน.. มีเหตุผล.. เร้ากุศล.. ไม่วิปลาสธรรม เพื่อจะได้นำความรู้ที่ถูกต้องคืนกลับมา เก็บสั่งสมไว้ให้จิตได้มีความเห็นชอบ.. ที่นำไปสู่ความคิดหรือความดำริชอบ ซึ่งในทางพระพุทธศาสนาให้ความสำคัญยิ่งต่อ ความเห็นชอบและความดำริชอบ.. ก่อนจะนำไปสู่ การพูด การทำ และการประกอบชีวิตไม่ผิดเพี้ยนไปจากธรรม.. ด้วยความสำนึกที่เป็นธรรม.. เพื่อควบคุมความคิด...

การควบคุมความคิด .. จึงเป็นงานที่ท้าทายต่อการพัฒนาจิตในมิติของพุทธศาสนา เพื่อให้การนึกคิดดำเนินไปอย่างมีจุดมุ่งหมายที่ถูกต้อง ซึ่งจะต้องกำหนด จดจ่อ.. ให้ต่อเนื่อง ในการใช้จิตคิดนึกเรื่องนั้นๆ ด้วยอำนาจสติปัญญาที่ประกอบจิต.. จนแปรความคิดเป็นการพิจารณาโดยแยบคาย.. ด้วยความใส่ใจ ใคร่ครวญอย่างจริงจัง เพื่อการเข้าถึงความจริงหรือสัจจะในแต่ละชั้นๆ.. จนสามารถแทงทะลุ สภาวสัจจะ บรรลุถึง ปรมัตถสัจจะ ได้... เพื่อประมวลความรู้ลงใน อริยสัจธรรม .. อันประเสริฐ

เมื่อจิตถูกพัฒนาด้วยอำนาจแห่งสติปัญญาประกอบความเพียรชอบ ตามกระบวนการธรรมวิธีในพุทธศาสนา ที่เรียกว่า สติปัฏฐานธรรม จนเกิดความรู้แจ่มแจ้ง ตรงกับความจริง.. มีความรู้ถูก ความเห็นถูก ที่เรียกว่า วิชชา​ .. ความสว่าง (อาโลโก) ก็ย่อมปรากฏ.. ความนึกคิดที่เคยมีมาก่อนเข้าสู่การพิจารณาโดยแยบคาย.. ก็จักหายสิ้นไป ลงเป็นความสว่าง.. ที่หยุดความปรุงแต่ง หมายถึง หยุดการคิดนึก ด้วยกิเลสได้ถูกชำระสิ้นด้วย ปัญญาและวิชชา.. บรรลุถึงความสงบสุขแท้จริง คือ ไม่มีการปรุงแต่งทางความคิดนึกอีกต่อไป เพราะมีสภาพธรรมคือ รู้ สงบ ปรากฏแทน..

จิตที่เข้าถึง ภาวะรู้สงบ.. จะไม่หวั่นไหวในโลกธรรม.. ไม่เศร้าหมอง ปราศจากกิเลส และเกษมจากโยคะ.. นั่นเป็นเอกธรรมแท้จริงของเอกจิต.. ที่สิ้นแล้วซึ่งความคิดนึกปรุงแต่ง...

ในทางพุทธศาสนาของเรา.. จึงให้ความสำคัญที่เหตุแห่งธรรมทั้งปวง.. เมื่อความคิดนึกมาจากจิตที่ถูกปรุงแต่ด้วยกิเลส.. ก็ให้แก้ที่จิต.. เรียกว่า จิตภาวนา.. ตามหลักสติปัฏฐานธรรม..

โดยกำหนดรู้เท่าทันทุกขณะจิต.. จะเป็นจิตประเภทใดก็รู้ เพื่อเข้าสู่กระบวนการพัฒนาตามหลักความเพียรชอบ

ความคิดนึกของผู้อบรมจิต.. จึงเปลี่ยนแปลงไปตามการพัฒนาจิต.. ที่สำคัญ สามารถปล่อยวางความคิดนึกได้.. ไม่ไปคิดนึก จนเสพติดความคิดนึกและเรื่องราวที่คิดนึกนั้น ให้ผิดเพี้ยนไปจากธรรมชาติ ที่เรียกว่า วิปลาสธรรม

สำคัญอย่างยิ่ง.. คือ การแก้ปัญหาได้ตรงจุดและได้ถูกวิธี.. จึงทำให้สามารถออกมาจากวังวนของความคิดนึก.. และเรื่องราว ผลพวงจากความคิดนึกนั้นได้.. จนสามารถวางจิตสงบลงได้ในอารมณ์ที่ดี.. อารมณ์ที่เป็นกุศล.. ซึ่งจะนำไปสู่การรู้จักคิด.. และการคิดเป็น คือ รู้วิธีการคิด.. เพื่อให้เกิดปัญญา

เมื่อจิตประกอบด้วยความรู้ที่ถูกต้อง.. มีสติปัญญาและความเพียรชอบอบรมอยู่.. การคิดนึกทั้งปวงก็ไม่น่าเป็นห่วงว่าจะเป็นโทษคืนกลับมา.. ไม่ว่าคิดดีหรือคิดชั่ว..

พระพุทธศาสนาของเราจึงไม่ได้สอนให้คิดบวกหรือคิดลบ.. แต่สอนให้คิดเป็น.. หรือคิดให้เป็น คิดให้ถูกต้อง.. คิดให้ถูกวิธี คิดให้มีเหตุผลและคิดเร้ากุศล... ซึ่งหมายถึง คิดให้เป็นธรรม เพื่อนำไปสู่การพูดให้เป็นธรรมและทำให้เป็นธรรม.. ชีวิตจะได้ไม่ก้าวไกลไปจากธรรม จนต่ำตมเหลือเพียงการใช้สมองตอบรับสัญญาณจากจิตในวิถีสัตว์กามขั้นเดรัจฉาน.. ที่คิดนึกไปตามความรู้สึก.. อย่างไม่รู้ ไม่เข้าใจ ในคุณโทษของความรู้สึกที่เข้าไปเสพ จนยากจะกลับมาคิดนึกอย่างสัตว์ประเสริฐได้!!.

เจริญพร

[email protected]

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เทวฤทธิ์ -กลุ่มสว.พันธุ์ใหม่ เสรีนิยมก้าวหน้า ปฏิรูปสภาสูง

สมาชิกวุฒิสภา(สว.)ชุดปัจจุบัน 200 คน จะประชุมร่วมกันนัดแรกในวันอังคารนี้ 23 ก.ค. โดยมีระเบียบวาระสำคัญที่จะให้สว.ทั้งหมดร่วมกันประชุมลงมติ นั่นก็คือ

“ศาสนกิจในอินเดีย .. ณ นครปูเน่” น้อมถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๗๒ พรรษา ๒๘ ก.ค.๖๗ ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ระหว่างวันที่ ๑๒-๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๗ ได้เดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจที่ นครปูเน่ รัฐมหาราษฏระ อินเดีย เพื่อติดตามความก้าวหน้าของการสร้างวัดแห่งแรกของชาวพุทธในอินเดีย

อังคณา สว. 2567 ภารกิจ-สิ่งท้าทาย สภาสูง กับโมเดลข้อเสนอ สภาเดี่ยว

การทำงานของสมาชิกวุฒิสภาชุดล่าสุด ที่เรียกกันว่า "สว. 2567" กำลังจะเริ่มต้นขึ้นหลังจากนี้ คาดหมายกันว่า การนัดประชุมวุฒิสภาเพื่อเลือก

บทธรรมถวายเป็นพระราชกุศล .. ในมหามงคลครบ ๖ รอบ “ราชธรรม .. สู่การเปลี่ยนผ่านของประเทศไทย” (ตอนที่ ๗)

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. พระพุทธเจ้าได้ตรัส หลักการปกครองตามแบบธัมมิกสูตร ว่า..

ดร.มานะ-ว่าที่ สว. 2567 ความเป็นอิสระไม่มีอยู่จริง เรื่องใบสั่งก็คงมีบ้าง ไม่มีบ้าง

หนึ่งในผู้ผ่านการคัดเลือก 200 รายชื่อให้เตรียมเข้าไปทำหน้าที่ "สมาชิกวุฒิสภา" (สว.) ชุดใหม่ ที่น่าสนใจ ก็คือ "ดร.มานะ มหาสุวีระชัย อดีต สส.ศรีษะเกษ" ที่เคยสังกัดพรรคพลังธรรมและพรรคประชาธิปัตย์ตามลำดับ

บทธรรมถวายเป็นพระราชกุศล .. ในมหามงคลครบ ๖ รอบ “ราชธรรม .. สู่การเปลี่ยนผ่านของประเทศไทย” (ตอนที่ ๖)

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ได้เขียนคำกล่าวสอนใจไว้บทหนึ่งว่า.. ถึงมีอำนาจ วาสนา สักปานไหน