การประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อโหวตนายกรัฐมนตรี ถูกเลื่อนออกไป หลัง 16 สิงหาคม เพื่อรอผลการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญในคำร้องเรื่องการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ฯ ขณะที่การจัดตั้งรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำ ที่ไม่มีพรรคก้าวไกลร่วมอยู่ด้วย ยังเป็นฉากใหญ่ทางการเมือง ที่ต้องติดตามสถานการณ์
ท่ามกลางกระแสข่าวว่าดีลตั้งรัฐบาล อาจจะมีการดึงพรรคการเมืองขั้วรัฐบาลปัจจุบันเวลานี้ไปร่วมตั้งรัฐบาลด้วย ซึ่งหนึ่งในพรรคการเมืองที่มีข่าวด้วยก็คือ"พรรคประชาธิปัตย์"
สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ จะมีการประชุมใหญ่พรรค เพื่อเลือก"หัวหน้าพรรค-กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ชุดใหม่"ในวันอาทิตย์ที่ 6 ส.ค.นี้
"ชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช -รักษาการรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์-ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่า ปัจจุบันถือเป็นแกนนำคนสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ในสายภาคใต้คนหนึ่ง"กล่าวถึงทิศทางของพรรคประชาธิปัตย์ ในการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่และกระแสข่าวพรรคจะร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย โดยเมื่อถามถึงว่าการประชุมใหญ่พรรคเมื่อ 9 ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งองค์ประชุมไม่สามารถดำเนินต่อไปได้เพราะองค์ประชุมล่ม แล้วครั้งนี้จะองค์ประชุมล่มอะไรอีกหรือไม่ “ชัยชนะ”ย้ำว่า คิดว่าทุกคนมีจิตสำนึกอยู่แล้วว่าในฐานะที่เราเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์และเราเป็นโหวตเตอร์องค์ประชุม การที่เรายึดมั่นในระบบประชาธิปไตย สิ่งแรกที่เราต้องมีคือเราต้องทำหน้าที่ในฐานะสมาชิกพรรค และทำหน้าที่ในฐานะโหวตเตอร์ให้ดีที่สุด หากเราบอกว่าเราเป็นระบบประชาธิปไตย แต่เราไม่ยอมรับเสียงข้างมาก ไม่ยอมรับมติในที่ประชุม ผมว่าแบบนี้ คงไม่ใช่ ผมคิดว่าวันนี้ ทุกคนในพรรคประชาธิปัตย์ ก็ต้องมีสำนึกและรู้หน้าที่
-จะมีการเล่มเกมอะไรกันหรือไม่ในการประชุมโหวตเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์?
ผมคิดว่า ถ้ากลุ่มไหน ที่คิดจะเล่นเกมกัน ถ้าคุณบอกว่าคุณรักพรรคประชาธิปัตย์ ก็เท่ากับคุณทำลายพรรค สรุปว่า ถ้าคุณยังเล่นเกม จริงๆ แล้วคุณรักตัวเองมากกว่า
-ภาพการเมืองที่คนภายนอกมองไปที่ประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะกับการเลือกหัวหน้าพรรค รอบนี้ คนมองกันว่าในพรรคมีความขัดแย้งกันระหว่างขั้วที่สนับสนุนคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับขั้วสายนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน นายเดชอิศม์ ขาวทอง?
ผมไม่อยากให้มองว่าเป็นขั้วไหนเพราะทุกคนเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ทั้งหมด เป็นคนในพรรคเดียวกัน เพราะฉะนั้น คำพูดที่บอกกันว่า เรารักพรรคประชาธิปัตย์ ต้องการให้พรรคเดินไปข้างหน้า ซึ่งการรักพรรคก็คือ ต้องไม่สร้างความเสียหายให้กับพรรค ความเสียหายนั่นคือ หากเราเป็นองค์ประชุม แต่เรากลับไม่ทำให้เกิดเป็นองค์ประชุมขึ้นมา จนทำให้การประชุมต้องล่ม แบบนี้ถือว่า คุณทำร้ายพรรค ข่าวจะออกไปดูไม่ดี เพราะฉะนั้น ไม่ว่าข่าวจะออกไปว่ามีขั้วอะไรกัน แต่ผมยืนยันว่า ไม่มีขั้วไหนทุกคนคือสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และเราก็ต้องพร้อมเดินหน้าในการเลือกกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ชุดใหม่
ส่วนความคิด ใครจะสงวนความเห็นว่าชอบใครจะเลือกคนไหนเป็นหัวหน้าพรรค แนวทางจะเลือกใครเป็นกรรมการพรรค เรื่องนี้เป็นความคิดส่วนตัวของแต่ละบุคคลที่เราเคารพในการตัดสินใจอยู่แล้วแต่เพราะในการเคารพการตัดสินใจ ผมคิดว่า ทุกคนก็ต้องเคารพการตัดสินใจของแต่ละคนด้วย
-ที่มีข่าว นายนราพัฒน์ แก้วทอง จะลงชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ถึงตอนนี้เป็นอย่างไร และส่วนตัวสนับสนุนหรือไม่?
ก็ยังได้ข่าวว่านายนราพัฒน์ ยังยืนยันที่จะลงสมัครหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เช่นเดิม ซึ่งทุกคนที่จะประกาศตัวลงสมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์มีคุณสมบัติทั้งหมด แต่ว่าบางเวลาบางช่วงเวลา เราก็ต้องพิจารณาว่าใครที่จะเหมาะสมที่สุด ทุกคนเป็นคนดีทั้งหมด
สำหรับนายนราพัฒน์ ผมมองว่าเขาเป็นคนมีประสบการณ์ และเป็นคนที่ทำงานกับพรรคมานาน ที่สำคัญคุณพ่อคุณนราพัฒน์ ท่านไพฑูรย์ แก้วทอง ก็อยู่กับประชาธิปัตย์มายาวนาน สร้างคุโณปการ ให้กับประเทศชาติและพรรคประชาธิปัตย์มายาวนาน อีกทั้งคุณนราพัฒน์ ก็มีประสบการณ์ในการเป็นส.ส. เคยเป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ผมคิดว่าเขาก็พร้อม ถามว่าคุณสมบัติพร้อมไหมในการเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็ถือว่าพร้อม อย่างเรื่องการศึกษา ก็จบจากต่างประเทศ คิดว่าเขามีคุณสมบัติที่พร้อมจะเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
-ที่ผ่านมา เวลาเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ลงสมัครแต่ไม่ได้รับเลือก ก็ออกจากพรรคประชาธิปัตย์ กันไปหลายคนเช่น พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม กรณ์ จาติกวณิช แล้วกับการเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เวลานี้ คนก็อาจมองกันว่า ถ้าผลออกมาแล้วบางคนไม่ได้ตามที่ต้องการ จะเกิดความแตกแยกในพรรค จะมีการย้ายออกจากพรรคประชาธิปัตย์กันไปอีก?
ผมคิดว่าใครจะอยู่ หรือใครจะย้ายไป อันนี้เป็นการตัดสินใจส่วนตัวของแต่ละบุคคล เอาตามข้อเท็จจริง เราไม่อยากให้ใครออกไปไหน แต่วันนี้ผมเลยบอกว่าวาทกรรม ที่บอกว่ารักพรรค แต่เมื่อไม่ได้ตำแหน่งตามต้องการ ก็ออกจากพรรค อันนี้ต้องถามว่ารักตัวเองหรือรักพรรค
ผมกล้าพูดเลยว่า ทุกคนที่เดินออกไปจากพรรคประชาธิปัตย์ คุณได้อะไรจากประชาธิปัตย์ไปเยอะแยะ คุณได้เป็นรัฐมนตรี คุณได้เป็นผู้บริหารพรรคคุณได้บริหารประเทศชาติมาหลายรอบ
แต่วันหนึ่ง พอคุณไม่ได้ตามต้องการ คุณเลยออกจากพรรค แล้วพอออกจากพรรคไป สิ่งที่แย่ที่สุดก็คือว่าคุณกลับมาให้ร้ายบ้านตัวเอง ซึ่งเป็นบ้านที่ให้กำเนิดทางการเมืองคุณ ให้โอกาสการเติบโตทางการเมืองคุณ แต่คุณกลับเอาก้อนหินเขวี้ยงใส่หลังคาบ้านเอาไฟจุดเผาบ้าน ผมคิดว่าอันนี้ผมไม่เห็นด้วย
การเลือกตั้งแพ้-ชนะเป็นเรื่องของระบบประชาธิปไตย บ้านนี้พรรคประชาธิปัตย์เป็นองค์กร เป็นสถาบันพรรคการเมือง คนที่เป็นหัวหน้าพรรคก็มีวาระ 4 ปีหลังจาก 4 ปี คุณก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เพราะฉะนั้นไม่มีอะไรที่ได้ดั่งใจเรา 100% เพราะที่นี่ ไม่ใช่เป็นสมบัติของใคร มันเป็นสิทธิ์ของสมาชิกพรรคทุกคน
เพราะฉะนั้นเมื่อคนไหน ฝ่ายไหนชนะ ฝ่ายนั้นก็มีหน้าที่ รับภาระในการบริหารพรรคไป ฝ่ายไหนแพ้ ก็มาช่วยกันทำงานมาร่วมกันฟื้นฟูพรรค ถูกไหม แต่ถ้าแพ้แล้วลาออก แบบนี้ อย่าบอกเลยว่ารักพรรค ก็เหมือนกับเราอยู่บ้านพ่อแม่ ที่คอยดูแล คอยซื้อของเล่นให้เรา พ่อแม่ส่งเราไปเรียนหนังสือสูงๆ พ่อแม่ส่งเราไปทำงานดีๆ แต่วันนึงเราขอเอาเงินไปซื้อรถยนต์ แต่ไม่ได้ แล้วเรากลับบอกว่าไม่ขออยู่แล้ว เราไปอยู่ครอบครัวอื่น แบบนี้ไม่ได้
-หลังวันที่ 6 ส.ค. ผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์ คงรับมือ หากจะเกิดเหตุการณ์คนไม่พอใจผลการเลือกที่ออกมา แล้วอาจลาออกไป ผู้บริหารชุดใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์ที่จะเข้ามาหลัง 6 ส.ค.จะรับมือไหวไหม คนเขาก็ยังมองว่าพรรคอาจเกิดเหตุแบบในอดีตเช่น กลุ่ม 10 มกราคมฯ ?
ผมคิดว่า ถ้าทางกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ชุดใหม่เข้าไปทำหน้าที่ สมมุติว่าทางผมเป็นกรรมการบริหาพรรค เราพร้อมรับสถานการณ์ที่มันอาจเกิดขึ้นอยู่แล้ว
ไม่มีการเปลี่ยนแปลงไหนที่ไม่มีการสูญเสีย อันนี้ต้องยอมรับ เราพร้อมรับสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้น แต่ถามว่ามันจะเกิดขึ้นเท่าไหร่ ก็อยู่ที่จิตสำนึก แต่ยืนยันได้ว่า ส.ส.ของประชาธิปัตย์ทั้งหมดเวลานี้ เป็นเอกภาพกันดี ดูได้จากการโหวตลงมติในช่วงที่ผ่านมา เช่นการโหวตนายกรัฐมนตรี ก็เป็นเอกภาพ
-ภารกิจเร่งด่วน เรื่องสำคัญที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และกรรมการบริหารพรรค เข้ามาทำหน้าที่ เรื่องเร่งด่วนที่ควรต้องทำทันที คืออะไรบ้าง?
ต้องเข้ามาฟื้นฟูพรรค ซึ่งการฟื้นฟูพรรค เราต้องมีการเปลี่ยนแปลงภายในพรรค เช่น ปรับรูปแบบการทำงานของพรรคให้เข้ากับยุคปัจจุบัน หรือเรื่องนโยบายพรรค เราต้องคุยกันว่าเราจะทำเรื่องอะไรที่ตอบสนองความต้องการของสังคม และปัญหาของสังคมในปัจจุบันให้ได้เช่น ปัญหาการศึกษา-ปัญหาเศรษฐกิจ-ปัญหาปากท้อง -ปัญหายาเสพติด
เรื่องเหล่านี้ ผมว่าเป็นเรื่องแรกๆที่ต้องเดินหน้าแก้ปัญหาเรื่องนี้ ขณะที่ในส่วนในการแก้ปัญหาในอนาคตที่เราต้องทำเป็นอย่างยั่งยืน ก็คือนโยบายเรา เพราะประชาธิปัตย์ เราเป็นพรรคที่เริ่มต้นในการทำเรื่องการกระจายอำนาจ เพราะฉะนั้นเราต้องเริ่มต้นกลับมาปัดฝุ่นเพื่อต่อยอดเรื่อง การกระจายอำนาจ ที่เราเป็นพรรคแรกที่เราเริ่มต้นในการแก้ไขปัญหาเรื่องการกระจายอำนาจ ต้องมาดูว่าจะทำอย่างไร เช่นการกระจายอำนาจจากวันนั้น ที่พรรคเริ่มเมื่อปี 2540 มาถึงวันนี้ เราผลักดันให้กรอบวงเงินงบประมาณในการกระจายอำนาจไว้ว่าต้องไม่ต่ำกว่า 35% ของงบประมาณฯ ซึ่งขณะนี้ ผ่านมา 20 กว่าปีแล้ว แต่ท้องถิ่นยังได้งบประมาณอยู่ที่แค่ 29.5%
มองว่า ในอนาคต เราต้องต่อยอดว่า องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นต้องได้รับการกระจายอำนาจ 50-50 คือส่วนกลาง 50 และท้องถิ่น 50 ลักษณะแบบนี้ เราต้องผลักดันให้ได้ อันนี้คือมุมมองส่วนตัวผม ที่หากผมมีโอกาสเป็นกรรมการบริหารพรรค ผมก็จะทำสิ่งเหล่านี้ คือเรื่องการศึกษา การแก้ปัญหายาเสพติด แก้ปัญหาปากท้องประชาชน และการกระจายอำนาจ
การฟื้นฟูพรรคประชาธิปัตย์ เราต้องปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคปัจจุบัน และวันนี้เราต้องยอมรับว่าการแข่งขันทางการเมือง แข่งขันกันทางโซเชียลมีเดียเราต้องมาดูกันว่าเราจะปรับอย่างไร ให้พรรคเราอยู่ในกระแสของโซเชียลฯ ให้อยู่ในกระแส ว่าเราทำอะไร มีงานอะไรบ้าง และทำไปแล้วตรงไหนบ้าง เราต้องปรับเปลี่ยน และต้องยอมรับว่ามีคนรุ่นใหม่ที่มีประสบการณ์ในการทำงานและพร้อมที่จะทำงาน ดังนั้น ในการเดินหน้าต่อไป พรรคประชาธิปัตย์ ต้องชวนคนรุ่นใหม่เข้าพรรค และการทำพรรค คนที่เคยออกจากพรรคประชาธิปัตย์ เราก็ต้องมีหน้าที่คิดว่าจะไปชวนให้เขากลับมาได้หรือไม่ ส่วนชวนไปแล้ว เขาจะกลับมาหรือไม่กลับมา เป็นการตัดสินใจของเขา
รวมถึงต้องสร้างองค์กรขึ้นมา ประชาธิปัตย์ เมื่อก่อนในอดีต เรามี Young Democrats ก็ต้องมาดูว่าเราจะกลับมาฟื้นฟูให้กลับมามีแบบเดิมได้หรือไม่ เพื่อสร้างองค์กรของคนรุ่นใหม่
-ประชาธิปัตย์จำเป็นต้องเร่งรีแบนด์พรรคหรือไม่ เพราะคนมองว่า ประชาธิปัตย์ เป็นพรรคเก่าแก่ อนุรักษ์นิยม ไม่ทันสมัย?
สิ่งที่ผมพูดไปข้างต้น คือการเปลี่ยนแปลง ก็ต้องรีแบนด์อยู่แล้ว แต่การรีแบนด์ต้องบอกว่าเรื่องไหน เพราะอย่างเรื่องที่พรรคทำดี เราต้องยึดมั่นต่อไป เช่น ความซื่อสัตย์สุจริต อุดมการณ์ทางการเมืองต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต้องปกป้องสถาบัน แต่ว่าแนวทางนโยบายพรรคที่เราต้องเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง เราก็ต้องปรับ
อย่างที่ผมบอกไป
-คือผลการเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่จะออกมา แม้อาจมีคนไม่พอใจบ้างแต่ผลที่จะตามมา คงไม่น่ารุนแรง?
ผมคิดว่ารุนแรงหรือไม่รุนแรง อยู่ที่ความรู้สึกจิตสำนึกของแต่ละคน ก็เหมือนที่ผมบอกเขาว่าเรารักพรรคหรือว่ารักตัวเอง
-มองย้อนกลับไปถึงผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา คิดว่าอะไรที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ ได้ส.ส.ลดน้อยลงไปมาก จากเดิมปี 2562 ได้ 52 ที่นั่ง แต่รอบนี้ได้แค่ 25 คน?
ถ้าให้ผมมอง ก็มี1.นโยบายพรรคไม่ได้ตอบโจทย์ ปัญหาสังคมไทยในปัจจุบัน 2. ในการหาเสียงที่ผ่านมา พรรคไม่ได้มีพื้นที่ในการหาเสียงในพื้นที่โซเชียลมีเดียเยอะเมื่อเทียบกับพรรคการเมืองอื่น3.ที่ผ่านมา เรายังไม่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่มากพอสมควร อย่างเช่นลำดับผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อในระบบปาร์ตี้ลิสต์ ลำดับที่ 1-10 เราต้องยอมรับว่า เรายังมีผู้อาวุโสที่ยังอยู่ในพรรค คือวันนี้โลกมันเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ผมคิดว่าเวลาในการเล่นการเมือง มันมีเวลาของมันอยู่ เมื่อถึงเวลาเราควรเป็นที่ปรึกษา อย่างที่บอกเรื่องนโยบายพรรคในการหาเสียง นโยบายเราไม่ได้ตอบสนองความต้องการของประชาชน
การเลือกตั้งที่ผ่านมา มีการต่อสู้กันหนัก แต่สิ่งหนึ่งที่เราเห็นได้ชัดเจน ก็คือการต่อสู้ทางความคิด ทางความคิดดังกล่าวก็คือ ปัญหาของสังคมไทยในปัจจุบัน คือปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหายาเสพติด พรรคไหนที่แก้ปัญหาเหล่านี้ได้ ประชาชนก็จะเลือก
เราต้องยอมรับว่าทั้งก้าวไกลและเพื่อไทยเขามีจุดแข็งของเขา เช่นเพื่อไทยประกาศว่าถ้าเลือกเพื่อไทย เขาจะเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 600บาท ส่วนพรรคก้าวไกล ก็ชูเรื่องยกเลิกเกณฑ์ทหาร-เบี้ยผู้สูงอายุเดือนละ 3,000 บาท -การออกเอกสารสิทธิที่ดินทำกินให้กับประชาชน ก็จะเห็นได้ว่าทั้งสองพรรคดังกล่าว ต่อสู้กัน ซึ่งเมื่อต่อสู้กัน นโยบายพรรคเขามันตอบโจทย์คน เพราะค่าครองชีพคนมันสูงขึ้นแต่รายรับคนยังเท่าเดิม เพื่อไทยบอกค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ปริญญาตรีเงินเดือน 25,000 ส่วนก้าวไกลก็มีนโยบายโดนใจกลุ่มGen Y เช่น ยกเลิกเกณฑ์ทหาร สมรสเท่าเทียม สุราก้าวหน้า
ผมเลยบอกว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมาคือการสู้ทางความคิด เพราะฉะนั้นนโยบายพรรคที่ไม่สามารถตอบโจทย์คนได้ ไม่สามารถตอบโจทย์โหวตเตอร์ได้ ผมคิดว่า อันนี้ทำให้คนไม่เลือก
-หากเข้าไปเป็นกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ชุดใหม่อีกครั้ง วางเป้าหมายจะทำให้พรรคกลับมามีบทบาท มีส.ส.จำนวนมากแบบก่อนหน้านี้อย่างไร?
ผมคิดว่าทุกคนมีเป้าหมาย ผมก็มีเป้าหมาย ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ เคยยิ่งใหญ่มาแล้วในอดีต เราต้องกลับมาฟื้นฟูทำให้พรรคประชาธิปัตย์กลับมายิ่งใหญ่ แต่ถามว่าใช้เวลาเท่าไหร่ อันนี้เราต้องทำ คนที่ตัดสินใจคือประชาชน ความคาดหวังผมและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ เราต้องการกลับมาเป็นที่หนึ่งในประเทศอยู่แล้วแต่ถามว่ามันพูดอย่างเดียวมันไม่ได้ มันต้องทำแล้วเราประเมินดูเองก็ไม่ได้ เราต้องถามประชาชนว่าสิ่งที่เราทำถูกต้องหรือเปล่า
แต่บริบทประชาธิปัตย์วันนี้ ในการสร้างให้พรรคกลับมา มันต่างจากอดีต คือในอดีต หากพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้เป็นแกนนำรัฐบาล ก็เป็นแกนนำพรรคฝ่ายค้าน แต่สถานะเราวันนี้ เราเป็นพรรคขนาดกลางและเป็นขนาดกลางเล็กๆด้วย วันนี้เราทำอะไร ผลงานก็ไปอยู่ที่พรรคขนาดใหญ่
ถ้า"ปชป."จับมือ"เพื่อไทย"
หากเรานึกถึงแต่อดีต
ประเทศมันเดินไปไม่ได้
"ชัยชนะ-รักษาการรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์"กล่าวถึงกระแสข่าวพรรคประชาธิปัตย์อาจจะไปร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยว่า จุดยืนของพรรคชัดเจนว่าพรรคการเมืองใดที่สนับสนุนให้มีการแก้ไขกฎหมายประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เราไม่สนับสนุนบุคคลของพรรคดังกล่าวเป็นนายกรัฐมนตรี วันนี้เมื่อการจัดตั้งรัฐบาล พรรคก้าวไกลออกมาแล้ว ก็ต้องไปดูว่า บุคคลที่จะถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี มาจากพรรคการเมืองที่มีนโยบายแก้ไขมาตรา 112 หรือไม่ หากไม่มีนโยบายเรื่องนี้
แบบนี้ ก็โอเค เราก็อาจกลับมาคุยกันว่า เป้าหมายในการพัฒนาประเทศชาติเขาเป็นอย่างไร เพราะวันนี้ต้องยอมรับว่าหลังจากผ่านพ้นการเลือกตั้งมา เป็นเวลาร่วม 80 วันแล้ว เรายังไม่มีนายกรัฐมนตรีเพราะฉะนั้นทางออกของประเทศ เราต้องช่วยกันหาทางออกให้กับประเทศ ถ้าพรรคเพื่อไทยเขาไม่มีนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
และยึดมั่นเดินหน้าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฯ และเดินหน้าแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ เราก็ต้องมาพิจารณาและหารือกันในพรรคประชาธิปัตย์
โดยลำดับแรกก็ต้องหารือกันในที่ประชุมส.ส.ของพรรคก่อนว่าเห็นด้วยหรือไม่ ถ้าเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วย เราก็เดินหน้าโหวตให้เขา แต่เรื่องนี้ผมพูดเองคนเดียวไม่ได้ แต่อย่างที่ได้บอกหลักไปแล้วข้างต้น เราก็ต้องไปหารือกันในที่ประชุมส.ส. แต่ส่วนตัวผมเอง ผมไม่ติดขัด ซึ่งก็ต้องเป็นมติพรรค ซึ่งโดยหลักการ มันเป็นเอกสิทธิ์ของส.ส. แต่ธรรมเนียมของประชาธิปัตย์ เราจะมาประชุมร่วมกัน หารือร่วมกันแล้วก็ไปในแนวทางเดียวกัน
-หลังการเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์วันที่ 6 ส.ค. เมื่อมีหัวหน้าพรรคอย่างเป็นทางการแล้ว หากเพื่อไทยจะติดต่อเชิญไปร่วมจัดตั้งรัฐบาลด้วย ทางพรรคจะดำเนินการอย่างไร?
ก็ต้องหารือกันในที่ประชุมส.สและที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคร่วมกัน โดยหากจะเข้าร่วมรัฐบาล ก็ต้องมีการโหวตในที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคและส.ส. จนเป็นมติพรรคหากจะร่วมรัฐบาล
-ที่ผ่านมา ประชาธิปัตย์ ต่อสู้กับเพื่อไทยมาตลอดหลายปี หากวันนี้ประชาธิปัตย์จะไปจับมือร่วมงานการเมืองกับเพื่อไทย จะบอกกับแฟนคลับ เอฟซีพรรคประชาธิปัตย์ อย่างไร?
ผมว่า หากเรายึดถือแต่เรื่องในอดีต แล้วประเทศจะมีทางออกไหม วันนี้ประเทศต้องเดินไปทางไหนก่อน เราบอกว่าเราจะลดความขัดแย้งในประเทศ เพราะฉะนั้นถ้าเรานึกถึงแต่อดีต ประเทศมันเดินไปไม่ได้ แล้ววันนี้พรรคเพื่อไทยไม่ใช่ตัวคุณทักษิณ พรรคเพื่อไทยคือคุณเศรษฐา ถูกหรือไม่ มันไม่ใช่ตัวคุณทักษิณ คุณทักษิณเขาก็ไปตามกระบวนการ แต่เพื่อไทยไม่ใช่ตัวทักษิณ ไม่ใช่ตัวทักษิณ ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีถูกไหม
ผมถามกลับไปว่าเอฟซี ที่บอกเป็นเอฟซี พรรคประชาธิปัตย์ ทำไมคะแนนพรรคในการเลือกตั้งที่ผ่านมา เหลือ 9 แสนคะแนน เราไม่เคยร่วมกับเพื่อไทยมาก่อนเลย ทำไมเหลือ 900,000 คะแนน
การเลือกตั้งที่ผ่านมาวันที่ 14 พฤษภาคม ถ้าคุณบอกว่าคุณเป็นเอฟซี ประชาธิปัตย์ คะแนนพรรคประชาธิปัตย์ทั่วประเทศ ต้องไม่เหลือ 900,000 คะแนน ที่ผ่านมา เราเคยได้ 10 กว่าล้านเสียง ตอนเลือกตั้งปี 2562 คะแนนเหลือ 3.9 ล้านคะแนน แต่เลือกตั้งรอบนี้เหลือ 900,000 คะแนน การตัดสินใจเรื่องนี้เราจะยืนอยู่บนหลักทางออกของประเทศ และยังสามารถตอบทุกคำถามของเอฟซี ผู้สนับสนุนพรรคได้
ตอนประชุมร่วมรัฐสภาโหวตนายกรัฐมนตรีครั้งแรก ผมเป็นคนอภิปรายในที่ประชุมรัฐสภาว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่สนับสนุนพรรคการเมืองที่มีนโยบายแก้ไขมาตรา 112 ซึ่งเพื่อไทย ไม่มีเรื่องนี้ และที่ผมอ่านจากแถลงการณ์ของพรรคเพื่อไทยเมื่อ 1 สิงหาคม เขายืนยันชัดเจนว่าเขาจะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย และมีนโยบายชัดในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจว่าจะมีเรื่องอะไรบ้าง 1 2 3 เขาก็บอกชัดเจน สุดท้ายเขาทำจบ แก้ไขรัฐธรรมนูญจบเขาก็ยุบสภา ฯ ให้มีการเลือกตั้ง คืนอำนาจให้ประชาชน แล้วผมถามว่านี้ไม่ใช่ทางออกของประเทศหรือ แต่หากเรายังติดกับเรื่อง"เหลือง-แดง"วันนี้ เหลืองแดง มันไม่มีอยู่จริง มันมีแต่ส้ม อันนี้ต้องยอมรับข้อเท็จจริง เหลืองแดงไม่มี มีแต่ส้ม
-ในพรรคประชาธิปัตย์ ก็อาจมีคนไม่เห็นด้วย ถ้าพรรคจะไปร่วมตั้งรัฐบาลกับเพื่อไทย?
ผมคิดว่าการเมือง มันไม่มีใครเห็นตรงก้นหมด 100% มันต้องมีคนที่เห็นแตกต่าง แต่การเห็นต่างเราต้องมายอมรับและแก้ไขปัญหากันว่าความเห็นต่างเนี่ยมันคืออะไร คุณเห็นแบบนี้ แต่ผมเห็นแบบนี้ แล้วแบบนี้เราจะมาสงวนความเห็นและมาหาจุดร่วมด้วยกัน มาดูกันว่าจุดร่วมกันคืออะไรและเป้าหมายเราคืออะไร
ส่วนที่เพื่อไทย ระบุในแถลงการณ์เรื่องจะให้มีการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญและยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น เราต้องยอมรับว่า เงื่อนไขในการร่วมรัฐบาลครั้งที่แล้ว ก็มีเรื่องของการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ด้วย เราเป็นพรรคแรกที่ประกาศเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เราแก้ไขได้แค่มาตราเดียวคือเรื่องระบบการเลือกตั้ง ที่ก็ทำให้จำนวนส.ส 500 คน แก้ไขจากระบบเขต 350 คน เพิ่มเป็น 400 คน และระบบบัญชีรายชื่อ แก้ไขจาก
150 เหลือ 100 คน อันนี้พรรคประชาธิปัตย์ เป็นคนผลักดัน
-มีความเห็นจากสมาชิกวุฒิสภาบางส่วน รวมถึงการตั้งข้อสังเกตุทางการเมืองทำนองว่า เกรงจะมีการตลบหลัง ตอนนี้ยังไม่มีก้าวไกลร่วมตั้งรัฐบาล แต่พอทำงานไปสักระยะ อาจมีการปรับครม.แล้วดึงก้าวไกลเข้าร่วม แล้วปรับพรรคการเมืองที่ร่วมตั้งรัฐบาลออกไป ?
ก็คงเป็นเรื่องที่สื่อสงสัยมากกว่า แต่เมื่อเหตุการณ์ยังไม่เกิด เราจะไปสงสัยได้อย่างไร แล้วผมถามว่า ถ้าพรรคเพื่อไทย ทำแบบนั้น แล้ววันข้างหน้า พรรคเพื่อไทยเหลืออะไร คนเราเนี่ยถ้าเราตระบัดสัตย์กับมิตรที่ร่วมรบมา หรือตระบัดสัตย์กับคนที่ร่วมจัดตั้งกันมา แล้วถึงเวลาไปถีบกลางเรือเนี่ยผมว่า ไม่มีใครคบในอนาคต
-ในแถลงการณ์ของเพื่อไทยที่เขียนไว้ ที่บอกว่าไม่มีก้าวไกล ก็น่าจะชัดเจนเพียงพอแล้ว หากสว.จะเอาเหตุนี้มาอ้างแล้วไม่โหวตให้?
ผมว่าก็ชัดเจน ผมว่า สมาชิกวุฒิสภา ก็มีจุดยืดชัดเจนว่า เขาไม่สนับสนุนพรรคที่แก้ไขมาตรา 112เพราะฉะนั้นเมื่อสมาชิกส่วนใหญ่พูดอย่างนี้ในเมื่อไม่มี พรรคที่แก้ไข 112 แล้ว คุณไม่โหวตอีกหรือคุณหาเหตุผลยังไง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“รองประธานสโมสร เชียงราย ยูไนเต็ด สู่นักการเมืองหญิงแกร่ง”
หลายคนรู้จักกับนักการเมืองรุ่นใหญ่ อย่าง “ยงยุทธ ติยะไพรัช” อดีตประธานรัฐสภา ที่มีลูกสาว “สส.โฮม” ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช สส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ที่ “สส.โฮม” ได้ตัดสินใจลงเล่นการเมือง จากมาดามสู่สส. มีอะไรต้องเปลี่ยนเยอะ และด้วยภาพลักษณ์ที่สดใส เป็นมิตร เฟรนลี่กับทุกคน จึงได้รับคำเรียกเล่นๆว่า ทูตสันถวไมตรี เพราะ “สส.โฮม” เป็นกันเอง ไม่ถือตัวกับทุกคน แต่ใครจะไปรู้ว่าชีวิตของ “โฮม” นั้น ผ่านอะไรมาบ้าง จึงได้ไปสอบถาม
เลือกตั้งนายก อบจ. 47 จังหวัด บ้านใหญ่ รอเข้าวิน พท.กวาดเยอะ-พรรคส้ม เสี่ยงร่วง
ยิ่งใกล้ถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายก อบจ. พบว่าการหาเสียงของผู้สมัครนายก อบจ.ทั้งที่ลงในนามพรรคการเมือง และไม่ได้ลงในนามพรรค
ร้อยใจไทย สืบสานราชธรรม .. ณ จังหวัดนครปฐม!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ในวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๗ โครงการร้อยใจธรรม สืบสานราชธรรม ทั้งแผ่นดิน ถวายเป็นพระราชกุศลฯ ที่ดำเนินการโดย สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยและวัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย (ธ) ในพระราชูปถัมภ์ฯ จ.ลำพูน
ลึกสุดใจ. ”พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ผบ.ตร.” ยึดกฎกติกา ไม่กลัวทุกอิทธิพล
ถึงตอนนี้ "พลตํารวจเอก กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ หรือ บิ๊กต่าย ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ" ได้ทำหน้าที่ ผบ.ตร.อย่างเป็นทางการมาร่วมสามเดือนเศษ ส่วนการทำงานต่อจากนี้ ในฐานะ"บิ๊กสีกากี เบอร์หนึ่ง-รั้วปทุมวัน"จะเป็นอย่างไร?
2 สว. “ชาญวิศว์-พิสิษฐ์” ปักธงพิทักษ์รธน. ปกป้องสถาบันฯ พวกเราเป็นอิสระ ไม่มีรับใบสั่ง
กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการทำประชามติเพื่อนำไปสู่การให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูยเพื่อมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อไทย ที่ต้องการทำให้เสร็จก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น
ก้าวย่างออกจากปัญหา .. ของประเทศ!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา... คำกล่าวที่ว่า.. “เมื่อสังคมมนุษยชาติขาดศีลธรรม.. ย่อมพบภัยพิบัติ.. เสื่อมสูญสิ้นสลาย..” นับว่าเป็นสัจธรรมที่ควรน้อมนำมาพิจารณา.. เพื่อการตั้งอยู่ ดำรงอยู่ อย่างไม่ประมาท...