ประเทศไทยจะเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม : ทำอย่างไรให้การเชื่อมโยงแบ่งปันข้อมูลเกิดได้จริงในภาคราชการ

ผมทำงานทางด้านการจัดการข้อมูลและการเชื่อมโยงข้อมูลในภาครัฐมาตลอดชีวิตตั้งแต่จบการศึกษา  ได้เห็นโครงการทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่เวียนตายเวียนเกิดเป็นวัฎสงสารนับครั้งไม่ถ้วนที่เมื่อของบประมาณดำเนินการครั้งใดก็ปรากฎคำว่า “บูรณาการข้อมูล” หรือ “เชื่อมโยงข้อมูล” หรือ “แลกเปลี่ยนข้อมูล” หรือ “ศูนย์ข้อมูล (เพื่อรวบรวม เผยแพร่และนำข้อมูลไปใช้งาน)” เกือบทุกโครงการ 

หากมีการทำแบบสำรวจหน่วยงานและบุคลากรภาครัฐด้วยคำถามว่า “ท่านมีความเห็นอย่างไร กับการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ระหว่างฐานข้อมูล” รับรองได้ว่าเกือบ 100% จะตอบว่าเห็นดีเห็นงาม และเป็นเรื่องที่ควรดำเนินการอย่างยิ่ง

แม้กระนั้น การขอเชื่อมโยง แบ่งปัน แลกเปลี่ยน บูรณาการ กลับเป็นเรื่องที่ยากเย็นแสนเข็ญ ยังคงมีปัญหาการขอใช้งาน การขอเชื่อมโยง จนผู้ปฏิบัติเหน็ดเหนื่อย และ เอือมระอามาหลายยุคทุกสมัย

แล้วเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ?

คำตอบก็คือ มันยังมีพื้นฐานทางจิตวิทยาหรือบริบทสังคมองค์รวมของมนุษย์ที่เป็นเหมือนภูเขาน้ำแข็งส่วนที่อยู่ใต้ผิวน้ำอยู่  เช่น

1 ความรู้สึกอยากเป็นเจ้าของและหวงแหน คือ เมื่ออนุญาตให้ไปเชื่อมผ่านออนไลน์ง่ายสะดวก ย่อมขาดหายไปซึ่งการขออนุมัติอนุญาตงอนง้อขอใช้งาน และหน่วยงานเจ้าของข้อมูลต้นทางกลับกลายเป็นหน่วยหลังบ้าน ปิดทองหลังพระ คนที่ได้เครดิตคือหน่วยงานที่นำไปใช้ประโยชน์และนำเสนอผลงาน

2 การพิจารณาความดีความชอบที่ไม่ชัดเจนในระบบราชการ ว่าคนที่ขับเคลื่อนงานพวกนี้จะมีการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งอย่างไร สู้อยู่ไปแบบความชั่วไม่มีความดีไม่ปรากฏ รอทำงานตามข้อสั่งการจากเบื้องบนให้ดี ก็เพียงพอแล้ว

3 ความเสี่ยงต่อตนเองและหน่วยงาน เช่น หากมีการเผยแพร่ข้อมูลออกไปใช้งานในวงกว้าง อาจเกิดการพาดพิงถึงบุคคลหรือหน่วยงานได้ หรือ เมื่อข้อมูลจากคนละแหล่งมันไม่ตรงกัน หรือ มีการนำข้อมูลไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง หรือ ผู้ใช้ไม่เข้าใจที่มาที่ไปข้อจำกัดในการจัดทำข้อมูล  ซ้ำร้ายเมื่อมีความผิดพลาดขึ้นมา เช่น เปิดเผยแบ่งปันไปแล้วพบว่าข้อมูลไม่ถูกต้อง ข้อมูลถูกแฮ็ก หรือ ส่งผลกระทบถึงบุคคลที่สาม เช่นนี้ ผู้ดำเนินการก็จะถูกทัวร์ลงความรับผิดชอบถาโถมมาหา

4 ภาระงานที่เพิ่มขึ้น คือ เมื่อต้องให้บริการข้อมูล ก็จะตามซึ่งการดูแลระบบฐานข้อมูลให้มีความมั่นคง ยั่งยืน พร้อมใช้ตลอดเวลา รวมถึงต้องปรับแปรุงและแก้ไขข้อผิดพลาดอย่างสม่ำเสมอ  ต่างจากการใช้อยู่คนเดียว ก็พอจะอะลุ่มอล่วยได้ง่ายกว่า

5 คนเปิดข้อมูลเหนื่อยแต่คนปิดสบาย คือ ผู้ที่ต้องการเชื่อมโยง เผยแพร่ หรือ แลกเปลี่ยน กลับเป็นฝ่ายที่ต้องหาเหตุผลมาสนับสนุน ต้องวิเคราะห์อธิบายความจำเป็น และ ต้องยืนยันว่าการให้บริการข้อมูลนั่นไม่มีความเสี่ยง หรือ ผลกระทบใด ๆ ต้องตรวจทานตรวจสอบถี่ถ้วนว่าไม่ละเมิดกฎหมายหรือระเบียบใด ๆ

เช่นนี้ จึงดูเหมือนเป็นอุปสรรคเสียเหลือเกิน !! แล้วจะแก้อย่างไร  จะให้ทำใจยอมรับสภาพ เช่นนั้นหรือ ?

ผมครุ่นคิดถึงวิธีแก้ปัญหานี้มายาวนาน ว่าจะมีวิธีการใดที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไม่ใช่ปลายเหตุ ปลายทาง ส่วนปลีกย่อย หรือ แก้เฉพาะกิจ เช่น ทำมาตรฐานข้อมูล ซื้อซอฟต์แวร์ พัฒนาระบบสารสนเทศ เข้าพบชี้แจงผู้มีอำนาจสั่งการ หรือ เจรจาลงนาม MoU

หลังจากทำงานที่สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) มาได้ 3 ปี จึงพบกับคำตอบ ซึ่งก็คือต้องผูกโยงการบูรณาการข้อมูลเข้ากับสิ่งที่จะเป็นแรงจูงใจที่เป็นเส้นเลือดใหญ่เป็นลมหายใจของหน่วยงานภาครัฐ  แรงจูงใจนี้ต้องเป็นแรงจูงใจยิ่งยวดโดยธรรมชาติ ไม่ใช่แค่แรงจูงใจอ่อน ๆ ที่มีอยู่แล้ว เช่น เพื่อประโยชน์จากการใช้งานข้อมูล เพื่อความสะดวก หรือ เพื่อตอบภารกิจ

แรงจูงใจยิ่งยวด นั่นก็คือ “งบประมาณ” เพราะงบประมาณ เป็นเหมือนเลือดหล่อเลี้ยงหน่วยงานภาครัฐ หากขาดงบประมาณย่อมไม่อาจดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้ จึงมีแรงขับสูงสุด

แล้ววิธีการใช้ประโยชน์จากแรงจูงใจนี้ล่ะเป็นอย่างไร ?

คำตอบคือ ให้กำหนดระเบียบเป็นเงื่อนไขว่า เมื่อหน่วยงานจะทำคำของบประมาณที่เกี่ยวกับโครงการด้านข้อมูลและสารสนเทศ ในเนื้อหาโครงการต้องกำหนดให้มีสิ่งส่งมอบสำคัญ คือ พัฒนาช่องทาง หรือ ระบบที่ให้บริการเชื่อมโยงแบ่งปันข้อมูลให้กับหน่วยงานอื่นภายนอก (หรือแม้แต่บริการภาคเอกชนในบางบริบท) ไปด้วยเลย  หากโครงการใดไม่บรรจุสิ่งส่งมอบนี้ลงไป ก็ขอพิจารณาจัดความสำคัญไว้ท้าย ๆ แนวทางหลักการเหล่านี้ต้องรับทราบและปฏิบัติในระดับคณะกรรมาธิการงบประมาณและสำนักงบประมาณด้วย

หมายเหตุ ทั้งนี้ เมื่อจะดำเนินการให้อาศัย มาตรา ๕ แห่ง พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ ที่ว่า “ให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้และให้มีอํานาจออกระเบียบเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้”  แปลว่า นายกรัฐมนตรี หรือ และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สามารถออกเป็นระเบียบเพิ่มเติมได้ถูกต้องตามกฎหมาย

ส่วนคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ที่ถูกแต่งตั้งมาพิจารณาเห็นชอบงบประมาณโครงการของหน่วยงาน ก็เพียงเน้นดูเนื้อหาในส่วนสิ่งส่งมอบสำคัญนี้ ว่าอธิบายแจกแจงชัดเจน มีเหตุผล มีความจริงจัง มีประโยชน์มากน้อยเพียงใด จะช่วยลดภาระที่ต้องเข้าไปดูเนื้อหาส่วนอื่น ๆ ซึ่งมักมีรายละเอียดมากและซับซ้อน (อาจจะเป็นหลายร้อยหน้ากระดาษ) และต้องใช้ผู้ที่เข้าใจคลุกคลี คว่ำหวอดอยู่ในสายงานนั้น ๆ มายาวนาน

หากสามารถกำหนดระเบียบเพิ่มการเชื่อมโยงและบริการข้อมูลเป็นเงื่อนไขในการขอรับงบประมาณได้ ก็จะส่งผลให้โครงการที่ดำเนินการใหม่ สามารถให้บริการเชื่อมโยงข้อมูลได้มากขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งนานวันก็จะยิ่งมากขึ้น และหน่วยงานจะยินดี อุตสาหะ และจัดทำข้อมูลให้ดีมีคุณภาพ ใช้ประโยชน์ได้จริง (มิเช่นนั้นจะไม่ได้รับจัดสรรงบประมาณ) นับเป็นการแก้ไขปัญหาในระดับฐานรากที่สามารถส่งผลกระทบขึ้นไปยังเบื้องบนได้ถาวรยั่งยืน

เมื่อข้อมูลสามารถแบ่งปันใช้งานเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนได้สะดวกแล้ว หน่วยงานรัฐทั้งหมด ย่อมใช้งานได้โดยไม่ต้องจัดทำซ้ำซ้อน การลงทุนต่าง ๆ จะมีประสิทธิภาพเพราะต้องให้บริการจริงแก่คนนอก เป็นการตรวจสอบกันเองภายในระบบนิเวศโดยไม่ต้องตั้งคณะกรรมการติดตาม หรือ ตั้งบประมาณขึ้นมาเพิ่มเติม (เช่น เบี้ยประชุม เบี้ยเดินทางตรวจงาน) เพื่อใช้สำหรับกิจกรรมตรวจสอบติดตามกันอีก 

ประเทศไทยจะเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม อีกต่อไป

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม (อนุญาตให้นำไปแก้ไขและปรับใช้ได้โดยไม่สงวนลิขสิทธิ์)

แม่แบบ (Template) รายละเอียดและขอบเขตงานให้ระบบสารสนเทศสามารถให้บริการข้อมูลแก่ระบบอื่น ๆ ภายนอก (ร่างที่ 1.1) https://bit.ly/3PSt7E2

เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ
มนต์ศักดิ์  โซ่เจริญธรรม ที่ปรึกษาดิจิทัลอาวุโส สถาบันพัฒนาบุคลากรภาครัฐด้านดิจิทัล สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กรอบการพัฒนา AI Roadmap ขององค์กร

ในยุคที่ AI เป็นประเด็นสุดร้อนแรงในทุกวงการ องค์กรต้องการได้ชื่อว่าได้ นำ AI มาใช้งานแล้ว  เพื่อสร้างภาพลักษณ์ความทันสมัย และ มีประสิทธิภาพ มีความพยายามส่งคนไปอบรมใช้งาน Chatbot เพื่อช่วยทำงานด้านการตลาด การใช้วาดรูป วาดกราฟ หรือ ช่วยจัดทำเอกสารวิเคราะห์รายงานต่าง ๆ 

เปิดเผยข้อมูลด้วยไฟล์คอมพิวเตอร์ Word/Excel การปรับเปลี่ยนเล็ก ๆ ที่ส่งผลใหญ่

โปรแกรม Microsoft Word/Excel เป็นโปรแกรมอยู่คู่งานภาครัฐไทยมาอย่างยาวนาน เพราะภาครัฐโดยธรรมชาติมักเต็มไปด้วยงานเอกสาร ตั้งแต่ งบประมาณ เอกสารจัดซื้อจัดจ้าง เอกสารรับรอง ใบอนุญาตต่าง ๆ

เคลื่อนร่าง 'อาเบะ' กลับโตเกียว มือปืนอ้างอดีตนายกฯเชื่อมโยงองค์กรลับ

ในช่วงเช้าของวันที่ 9 กรกฎาคม ได้มีการเครื่องร่างของนายชินโซ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น ออกจากโรงพยาบาลในเมืองคาชิฮาระ จังหวัด นารา ทางตะวันตกของญี่ปุ่น