การจัดตั้งรัฐบาล บนผลประโยชน์ การกลับมาของ"ทักษิณ"

การประกาศเดินทางกลับประเทศไทยในวันที่ 10 สิงหาคม ที่จะถึงนี้ ของ"ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี"ที่จะต้องกลับมารับโทษจำคุก โดยเลือกกลับมาในช่วงที่การจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย กำลังติดล็อกหลายอย่าง ท่ามกลางกระแสข่าว เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา มีนักการเมืองระดับแกนนำหลายพรรคการเมืองทั้งในขั้วแปดพรรคตั้งรัฐบาลและกลุ่มพรรคการเมืองขั้วรัฐบาลปัจจุบันเดินทางไปพูดคุยเรื่องการตั้งรัฐบาลกับทักษิณ ที่ฮ่องกงในช่วงวันเกิดทักษิณ เมื่อ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา จนเกิดกระแส"ดีลลับฮ่องกง-ตั้งรัฐบาล"เกิดขึ้น จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่งในการถอดรหัสการเมืองและวิเคราะห์กระดานการเมืองว่าด้วยการจัดตั้งรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำในขณะนี้

"นิติธร ล้ำเหลือ-ทนายนกเขา" ที่เป็นทนายความชื่อดัง และนักเคลื่อนไหวการเมืองซึ่งมีประสบการณ์การเคลื่อนไหวการเมืองนอกรัฐสภาอย่างโชกโชนในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นม็อบพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย-กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) -เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.)-ม็อบกปปส. โดยปัจจุบันร่วมเคลื่อนไหวและแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์การเมืองกับจตุพร พรหมพันธุ์ ในนามคณะหลอมรวมประชาชน  โดย"นิติธร"เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงการประกาศกลับบ้านของทักษิณ ผ่านการให้ข่าวสารจากอุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตรเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ไม่ได้รู้สึกแปลกใจหลังได้ทราบข่าวดังกล่าว เพราะก่อนหน้านี้ตัวทักษิณ สื่อสารมาตลอดเมื่อตอนปี 2565ว่า จะกลับมาแน่ในปีนี้ 2566  โดยมีตัวละครที่เข้ามาเพิ่มในช่วงหลังคือ"อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร"ที่นอกจากเป็นบุตรสาวทักษิณแล้ว ยังเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของเพื่อไทย จึงเป็นคนที่มีความผูกพันกับทักษิณ อีกทั้งต้องรับผิดชอบต่อการเปิดเผยเรื่องดังกล่าวต่อสาธารณชน ที่มีการระบุเวลาสถานที่ในการเดินทางกลับมาอย่างชัดเจนซึ่งแตกต่างจากก่อนหน้านี้ ผนวกกับ ก่อนการเลือกตั้ง อุ๊งอิ๊ง ก็คลอดลูก ตัวทักษิณก็บอกว่าจะกลับมาเลี้ยงหลาน จะจบทุกอย่าง ขออยู่กับครอบครัว

ที่น่าสนใจทักษิณ ใช้คำว่า"ขออนุญาต"ในการจะกลับมา และอีกคำที่มีเข้ามาเพิ่มเติมก็คือ ตัวทักษิณ บอกว่า การกลับมาจะไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆกับพรรคเพื่อไทย ไม่มีการนิรโทษกรรม อีกทั้งจะพบว่า ระยะหลังทักษิณ มีท่าทีอ่อนลง หากมองเป็นเกมก็ยังมองได้อยู่ แต่หากมองบริบทว่ายังมีเรื่องความแค้นอะไรต่างๆ จะเห็นว่าลดลง นิ่งมากขึ้น

ปัจจัยที่นิ่งมากขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเพราะตัวทักษิณมีอายุมากขึ้น และมีหลาน อีกทั้งตัวอุ๊งอิ๊ง ก็มีสถานะเป็นแคนดิเดตนายกฯของเพื่อไทย เขาก็อาจนำทุกอย่างมาผูกรวมกันในการจะเดินทางกลับครั้งนี้ โดยผูกด้วยการ"ขออนุญาต"ภายใต้การบอกอย่างชัดเจน ไม่เกี่ยวกับพรรคเพื่อไทยและไม่เอาการนิรโทษกรรม และเมื่อไปดูคำพูดครั้งสุดท้ายก่อนหน้านี้ของแพทองธาร ก็บอกว่า จะกลับมา ก็เมื่อการเมืองนิ่ง และต้องมีการจัดตั้งรัฐบาลเสร็จ

นิติธร-นักเคลื่อนไหวการเมือง”วิเคราะห์การกลับมาของทักษิณต่อไปว่า ตอนนี้จึงเป็นโจทย์หลักว่า สถานการณ์ปัจจุบันการเมืองนิ่งหรือยัง และจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จหรือไม่ พอมาถึงจุดนี้เราจะเห็นได้ว่า การเมืองหากมองจากแค่ภาพข่าวที่ปรากฏ อาจรู้สึกว่าการเมืองยังไม่นิ่ง และอาจกระทบกับความรู้สึกของประชาชนที่จะมีการจัดตั้งรัฐบาลแบบข้ามขั้ว แต่ในระดับพรรคการเมืองที่มีการพูดคุยกัน ถือได้ว่าตอนนี้ได้ข้อตกลงในระดับที่สำคัญหมดแล้ว ประเด็นที่เหลืออยู่ก็คือ "ใครจะเป็นนายกฯ?"

กรอบการจัดตั้งรัฐบาลที่จะเกิดขึ้น ที่เห็นชัดคือ จะมีการข้ามขั้วแน่นอน โดยไม่มีพรรคก้าวไกลเป็นพรรคร่วมรัฐบาล และกำลังดูกันอยู่ว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี รวมถึงกำลังเจรจากันอยู่ว่าจะแบ่งผลประโยชน์ในการตั้งรัฐบาลอย่างไร เมื่อคนที่เกี่ยวข้องต่างเชื่อมั่นกัน จึงกำหนดกรอบออกมาว่า ทักษิณ จะกลับมาวันที่ 10 ส.ค. และมาบอกหลังมีการร่วมดื่มมินต์ช็อคฯที่พรรคเพื่อไทย  มีดีลฮ่องกงเกิดขึ้น

ส่วนคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องกระบวนการโหวตนายกฯ ดูแล้ว ไม่มีเหตุที่จะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงดีลครั้งนี้ เพราะข้อเท็จจริงเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า แม้พรรคก้าวไกลจะพยายามสู้ แม้มวลชนจะยังไม่เห็นด้วย แต่พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้พิสูจน์แล้วเมื่อ 13 ก.ค. จนมาถึงการต่อสู้ครั้งที่สองเมื่อ 19 ก.ค.ว่าไม่สามารถเสนอชื่อพิธาซ้ำได้ แม้ประเด็นข้อกฎหมายที่ยังเห็นแตกต่างกันอยู่ดังกล่าว กำลังรอให้ศาลวินิจฉัย แต่มองว่า ไม่ว่าผลการพิจารณาของศาลจะออกมาอย่างไร ก็เปลี่ยนแปลงสมการทางการเมืองเวลานี้ไม่ได้ พรรคก้าวไกล ถึงตอนนี้ถูกตัดออกไปจากการจัดตั้งรัฐบาลแล้ว เหลือแค่ว่า เพื่อไทยจะมีความชัดเจนในการทิ้งพรรคก้าวไกลเมื่อใด สิ่งเหล่านี้ คือสภาพที่บอกว่าการเมืองนิ่งแล้ว ก็เหลือแค่การตกลงกันว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี และรูปแบบการข้ามขั้วจะเป็นแบบไหน ซึ่งรูปแบบจะออกมาอย่างไร ก็อยู่ที่การตกลงแบ่งปันผลประโยชน์กันของพรรคการเมือง และการทำให้ประชาชนรู้สึกไม่พอใจน้อยที่สุด

อ่านไพ่ในมือทักษิณ

ทำไมเลือกกลับมาช่วงตั้งรัฐบาล     

"นิติธร"วิเคราะห์ต่อไปว่า  เมื่อทักษิณจะกลับบ้านแล้วเอามาพัวพันกัน ต้องมีหลักประกันสำหรับทักษิณพอสมควร คือกลับมาแล้วมีความปลอดภัย ไม่มีการกลั่นแกล้ง ไม่มีการกระแทกอะไรเข้ามาจนรู้สึกว่าเป็นภาระมากขึ้น เมื่อเป็นแบบนี้จึงมองเห็นได้ว่า หากทักษิณกลับมาแล้วอุ๊งอิ๊งจะเป็นนายกฯ จะเกิดปัญหาสังคมตามมา เพราะหากทักษิณกลับมาแล้วไปเข้าคุก โดยมีอุ๊งอิ๊งขึ้นมาเป็นนายกฯ มันจะมีความรู้สึกบางอย่างได้ ทำให้ดูแล้ว สมการอุ๊งอิ๊งจะเป็นนายกฯ จะอยู่หลังๆ แล้ว สมการตอนนี้เลยไปอยู่ที่ เศรษฐา ทวีสิน แต่ก็ต้องถามว่า เศรษฐาหากเป็นนายกฯ จะไปอยู่ภายใต้การคอนโทรลของทักษิณหรือไม่ อุ๊งอิ๊งจะคุมเศรษฐาได้ไหม ความผูกพันระหว่างเศรษฐากับทักษิณ มีมากน้อยแค่ไหน เพราะอย่างที่เห็น เศรษฐา มีความเป็นตัวของตัวเองสูง เห็นได้จากการแสดงออกหลายครั้ง ดังนั้น ทักษิณ อาจสบายใจกว่าหากได้นายกฯจากพรรคการเมืองอื่นที่ไม่ได้อยู่ในเอ็มโอยูแปดพรรคตั้งรัฐบาล โดยให้พรรคการเมืองอื่นดังกล่าว เป็นผู้ไปลากพรรคเพื่อไทยเข้ามา แต่จะต้องมีการต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีแบบสมน้ำสมเนื้อ

การที่ทักษิณ เลือกจะกลับมาในช่วงนี้ เพราะตอนนี้ไม่มีบุคลากรในพรรคเช่นคนที่เป็นส.ส.ที่มีศักยภาพพอที่จะเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ในขณะนี้ หรือไม่มีศักยภาพพอที่จะช่วงชิงพื้นที่ทางสื่อมวลชน เพราะตอนนี้กระแสของประชาชน ก็มีหลากหลายเช่น ให้รอสิบเดือนค่อยโหวตนายกฯ เพื่อให้สว.หมดอำนาจในการโหวตนายกฯ แต่ยังเป็นกระแสแบบแผ่วๆ และความเป็นไปได้มีน้อย แต่กระแสที่ถูกปูมาตั้งแต่เริ่มต้น คือกระแสประชาธิปไตยและกระแสรัฐบาลที่ประชาชนเลือกมาและอยากให้ได้เป็นรัฐบาล ซึ่งขณะนี้จะเห็นได้ว่า เพื่อไทย แก้ตัวไม่ออก แก้สมการนี้ไม่ได้ โดยที่สื่อมวลชน-นักวิชาการ ก็มีการส่งแรงกระแทกเข้ามายังพรรคเพื่อไทย

ดังนั้นในทางการเมือง และในทางจิตวิทยามวลชน จะต้องสร้างประเด็นใหม่ขึ้นมาเพื่อจะได้ชิงพื้นที่ประเด็นเก่า เพราะประเด็นทักษิณจะกลับมา เป็นเรื่องที่คนสนใจอยู่แล้ว และเป็นประเด็นที่จะสร้างมวลชนให้ออกมารอต้อนรับทักษิณกลับบ้านได้ด้วย รวมถึงทำให้คนในพรรคเพื่อไทย มีความมั่นใจ-ฮึกเหิมทางการเมืองมากขึ้นกับการกลับมาของทักษิณ และเมื่อกลับมาแล้ว ก็จะเกิดคำพูดที่เริ่มพูดกันแล้วว่า กำลังจะมีรัฐบาลสมานฉันท์ มีความจำเป็นต้องไปต่อเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน และทำให้ภาพใหญ่ทางการเมือง ที่คนมองเห็นกันก็คือ นับแต่นี้เป็นต้นไป คู่แข่งทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยก็คือ พรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกล

เมื่อเป็นแบบนี้ ฝั่งพรรคเพื่อไทยก็ต้องแลก เพราะหากยังนิ่งอยู่กับที่ ขยับอะไรไม่ได้ จะเป็นรัฐบาลก็ไม่ได้ คนของตัวเองเป็นนายกฯก็ไม่ได้ อยู่แบบรอวันแพ้ก้าวไกล ก็เลยเป็นเหตุให้ อาศัยสถานการณ์ขณะนี้ ให้สองกระแสขึ้นมาชนกันคือ กระแสตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว กับความจำเป็นต้องข้ามขั้ว เพื่อเอามาลดกระแสว่า จะย้ายฝั่งเพื่อตั้งรัฐบาลไม่ได้ จากปัญหาที่มีการไปกำหนดฝั่งกันเองว่าเป็นฝั่งประชาธิปไตยกับฝั่งอนุรักษ์นิยมในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งหากสถานการณ์ยังเป็นอยู่แบบนี้ โดยที่ทักษิณ ไม่เข้ามาช่วย พรรคเพื่อไทยจะตีกรรเชียงอย่างไร ก็พบว่าไม่มีทางทำได้เลย และเรื่องการต่อรองทางการเมือง ใครจะไปต่อรองกับฝั่ง 188 เสียง(พรรคขั้วรัฐบาลปัจจุบัน) ได้ดีเท่ากับทักษิณ ไม่มีเลย เพราะคนในขั้ว 188 เสียง หลายคนก็เคยอยู่กับทักษิณ และอยู่แบบเจ้านายกับลูกน้อง เลยต้องมาปรากฏตัว เพราะหากไม่มา สถานการณ์จะทรุดลงไป

"นิติธร-นักเคลื่อนไหวการเมืองชื่อดัง"ระบุว่า รัฐบาลที่กำลังจะจัดตั้ง เป็นรัฐบาลที่ถูกตั้งขึ้นมาบนพื้นฐานประโยชน์จากการกลับบ้านของทักษิณเป็นหลัก แม้จะพยายามอธิบายอย่างไรก็ตาม แต่มันก็เห็นข้อเท็จจริงกันตรงหน้า และเป็นรัฐบาลที่ไม่เป็นไปตามความต้องการและเจตนารมณ์ของประชาชนตั้งแต่ต้น

อีกทั้งกระบวนการที่ได้มาซึ่งการจัดตั้งรัฐบาล มันเป็นดีล เป็นเกมส์ เป็นเล่ห์เพทุบาย ไม่ใช่เรื่องตรงไปตรงมามากนัก แม้จะสร้างปัญหาให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เป็นกับดักไว้ แต่ถ้ายังต้องการรักษาเจตนารมณ์ของประชาชน ยังทำได้เหมือนเดิม ที่ก็คือ ถ้าไม่มี ก็ต้องไม่มี เพื่อจะได้พัฒนาเรื่องนี้ต่อไป ซึ่งถึงที่สุดแล้ว มันก็อาจยอมได้แค่ว่า ความจริงเลย แปดพรรคที่มีเสียง 312 เสียง คุณเอาภูมิใจไทยที่มี 71 เสียงพรรคเดียว มันก็ได้อยู่แล้ว แต่มีการไปตั้งสมการกันเองเพื่อไม่ให้เกิดการตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องที่ประชาชนจะรับได้ง่ายนัก

และต้องอย่าลืมว่า พรรคก้าวไกล ก็ไม่ยอม มวลชนของก้าวไกลก็ไม่ยอม ซึ่งถ้าดูลักษณะการเคลื่อนพลของม็อบหรือมวลชนที่เริ่มออกมาตอนนี้ จะพบว่าประเด็นการเคลื่อนไหวเขาขาดทั้งนั้น ไม่ได้มาแบบประนีประนอม แต่ประเด็นที่ออกมาขาดทุกวัน กลุ่มม็อบทะลุวังที่ไปบุกไปพรรคเพื่อไทย ประเด็นที่เคลื่อนไหวก็ขาดและชัดเจน นี้คือเรื่องที่มันจะเกิดขึ้นและอาจจะมีการขยายตัว และภาพการจัดตั้งรัฐบาลที่มีการข้ามขึ้วกันเกิดขึ้นเพื่อตั้งรัฐบาลให้ได้ ทางการเมือง ทุกคนก็เห็นเหมือนกันหมดว่าสถานการณ์มันจะตึงตัว ก่อให้เกิดการเผชิญหน้ากันได้ นี้คือเหตุผลว่าทำไมทักษิณ ต้องกลับ เพราะไม่อย่างนั้น ดึงสถานการณ์ต่อจากนี้ไม่อยู่

ขณะเดียวกัน หากสถานการณ์นี้มันพัฒนาตัวเร็วขึ้นมาเช่นหากมีการโหวตนายกฯ วันที่ 4 ส.ค.  เผลอๆ ที่บอกว่าจะกลับมา ไม่แน่อาจจะไม่กลับด้วยซ้ำ ซึ่งถ้าผมประเมินอารมณ์คนตอนนี้ที่ไม่พอใจการตั้งรัฐบาล  จะมีความต่อเนื่อง อย่างตอนนี้ ก้าวไกล ก็เล่นแล้ว เริ่มรุกตรวจสอบคนในกลุ่มพรรคที่จะมาร่วมตั้งรัฐบาลอย่างภูมิใจไทยแล้ว กับกรณีศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย

ประเมินว่า การประชุมรัฐสภาวันที่ 4 ส.ค. หากสุดท้าย ผลการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ วันที่ 3 ส.ค. ถ้าศาลไม่รับคำร้อง วันที่ 4 ส.ค. ก็เดินหน้าโหวตนายกฯกันเลย แต่หากศาลรับคำร้องไว้วินิจฉัย ที่ประชุมรัฐสภา ก็จะไปพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา 272 ที่พรรคก้าวไกลยื่นไว้ที่ให้ยกเลิกมาตรา 272 วันที่ 4 ส.ค.จึงร้อนแรงทั้งสองกรณี ทั้งการโหวตนายกฯและการแก้ไขมาตรา 272  

"นิติธร"ย้ำว่าสิ่งที่ทักษิณคิดทางการเมืองวันนี้คือ คนของพรรคเพื่อไทย หากไม่ได้เป็นนายกฯ แต่พรรคเพื่อไทยต้องเป็นรัฐบาล เพราะหากทักษิณบอกไม่คิดอะไรแล้ว พร้อมกลับมาติดคุก แล้วจะเอาเรื่องพวกการจัดตั้งรัฐบาลมาพัวพันทำไม มาวันนี้เมื่อทักษิณ ตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่ทักษิณ ยังต้องการมีหลักประกัน คืออยากมีส่วนในการบริหารจัดการอำนาจรัฐ อยากมีส่วนได้ส่วนเสียในอำนาจรัฐ เพื่อเป็นหลักประกันของตัวเอง ไม่ใช่หลักประกันของพรรคเพื่อไทย เพราะฉะนั้นจะบอกว่าที่ทักษิณยอมกลับมาติดคุกไม่เกี่ยวกับการเมือง จึงไม่ใช่ ซึ่งเกมแบบนี้ คนก็มองกันเห็น แล้วเขาจะรับกันได้หรือ

การกลับมาของทักษิณ วันที่ 10 ส.ค. ลำดับแรก เขาจะดูก่อนว่าการโหวตนายกฯวันที่ 4 ส.ค. ผลออกมาเป็นอย่างไร ได้-ไม่ได้ พอเห็นแล้ว ยังพอมีเวลาตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไรก่อนถึงวันที่ 10 ส.ค.  เพราะหลังวันที่ 4 ส.ค. นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาไปประชุมรัฐสภาอาเซียนที่อินโดนีเซีย กว่าจะกลับมาก็หลังวันที่ 12 ส.ค. ดังนั้น วันที่ 4 ส.ค. ก็รอดูกันว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น จะมีการหักหลังอะไรกันทางการเมืองหรือไม่ หรือการจัดตั้งรัฐบาลสุดท้ายจะไปได้ ก็รอดูวันที่ 4 ส.ค.กันก่อน แต่เบื้องต้นมองว่าหากทักษิณกลับมา สภาพการเมืองไทยคงไม่สงบ ประชาชนจะมีการเคลื่อนไหวต่างๆ เช่นการทวงถามเรื่องอำนาจซ้อนต่างๆ ที่มีทักษิณเข้ามาพัวพันหมด

กรมราชทัณฑ์ ต้องไม่ทำให้

“ทักษิณ”เป็นนักโทษซุปเปอร์วีไอพี

“นิติธร-ทนายนกเขา”ที่เป็นทนายความว่าความคดีดังๆ มามากมาย กล่าวถึงกระบวนการทางกฎหมายหลังทักษิณ เดินทางกลับเข้าประเทศไทยเพื่อมารับโทษจำคุกวันที่ 10 ส.ค.นี้ว่า โดยหลักทั่วไป การกลับมาของบุคคล ที่ถูกศาลออกหมายจับ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม เมื่อเดินทางเข้ามายังประเทศไทย ก็จะต้องผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง(ตม.) ทางตม.ที่สนามบิน ก็จะตรวจเช็คเอกสาร-แสดงเอกสารต่างๆ เพื่อเข้าทำการควบคุมตัว หลังจากเสร็จขั้นตอนตม.แล้ว ทางตม.และตำรวจพื้นที่ คือสน.ดอนเมือง ที่อยู่ในพื้นที่กองบังคับการตำรวจนครบาล2 ก็จะนำตัวทักษิณมาส่งที่ศาลฎีกา ที่เป็นศาลซึ่งพิจารณาคดีของนายทักษิณ โดยเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ก็ต้องมารอที่ศาลฎีกา เพื่อแสดงตัวต่อศาลเพื่อยืนยันตัวตนของทักษิณตามหมายจับของศาลฎีกา แผนกคดีอาญาฯ  ที่ออกหมายจับทักษิณก่อนหน้านี้ โดยทางศาลฎีกาฯ ก็จะทำการตรวจสอบเอกสารทางคดีของทักษิณทั้งหมดว่ามีคดีที่ถึงที่สุดและมีคำพิพากษาให้จำคุกทักษิณกี่คดี และมีคดีค้างการพิจารณาอะไรอยู่หรือไม่ จากนั้นศาลก็จะออกหมายขังในคดีทั้งหมดของทักษิณที่คดีถึงที่สุดแล้ว

จากนั้น เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ก็พาตัวทักษิณไปที่เรือนจำ ซึ่งการเข้าเรือนจำ ต้องดำเนินการตามระเบียบการจำแนกลักษณะผู้ต้องขังก่อน แล้วนำตัวทักษิณ เข้าสู่ขั้นตอนการพาตัวไปตรวจกักโรค ที่ตอนนี้อยู่ที่สิบวัน ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติที่ใช้กับนักโทษทุกคน  หลังจากเสร็จสิ้นการกักโรคแล้วก็ค่อยมาว่ากันตามกระบวนการของกรมราชทัณฑ์เช่นจะส่งตัวทักษิณไปคุมขังที่แดนไหน โดยเรือนจำที่จะส่งตัวทักษิณไปคุมขัง ต้องเป็นเรือนจำที่กฎหมายให้ลักษณะอำนาจจำคุกได้เกินกว่าโทษที่ทักษิณได้รับ อย่างเรือนจำพิเศษ คือจะคุมขังนักโทษที่ต้องคำพิพากษาจำคุกไม่เกินสิบห้าปี

กรณีของทักษิณ พบว่ามีคดีที่ถึงที่สุดแล้วสามคดี รวมโทษจำคุกคือสิบปี ทำให้ทักษิณก็เข้าสู่การถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพได้

 -กระบวนการขอพระราชทานอภัยโทษ ตามหลักปฏิบัติสำหรับนักโทษ มีขั้นตอนอย่างไร ตัวทักษิณ สามารถยื่นเรื่องได้หรือไม่?

หากทักษิณกลับมารับโทษเข้าเรือนจำแล้ว ทักษิณสามารถใช้สิทธิในการขอพระราชทานอภัยโทษเป็นการเฉพาะรายได้ ซึ่งกระบวนการดังกล่าว มีหลักการคือ 1.คดีถึงที่สุดแล้ว 2.ตัวต้องอยู่ในเรือนจำ ดังนั้น เมื่อทักษิณ ที่คดีถึงที่สุดแล้ว และรับโทษอยู่ในเรือนจำแล้ว กระบวนการขอพระราชทานอภัยโทษสามารถเริ่มได้ทันที

สำหรับกระบวนการในการเริ่มขอพระราชทานอภัยโทษ ตัวทักษิณสามารถร่างหนังสือได้เองเลย แล้วก็ส่งเรื่องไปตามขั้นตอน จนถึงอธิบดีกรมราชทัณฑ์ จากนั้นอธิบดีกรมราชทัณฑ์รวบรวมข้อมูลต่างๆ ทำการตรวจสอบจนเสร็จสิ้น ก็ส่งต่อให้ รมว.ยุติธรรม แล้วรมว.ยุติธรรม ก็ส่งต่อไปยังสำนักราชเลขาธิการ เมื่อได้รับหนังสือแล้ว สำนักราชเลขาธิการตรวจสอบหนังสือและเอกสารหลักฐานต่างๆ ก็นำหนังสือดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อให้ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย ถ้าทรงวินิจฉัยให้ก็มีผล แต่หากทรงไม่ให้ การจะยื่นขอพระราชทานอภัยโทษอีกรอบ จะต้องรอให้พ้นหลังจากยื่นครั้งแรกไปสองปี

กระบวนการดังกล่าว ไม่ใช่ว่าทักษิณ ทำได้คนเดียว แต่ผู้ที่ประโยชน์เกี่ยวข้อง เช่นลูกๆ ของทักษิณ ก็สามารถทำได้ แต่ลูกๆของทักษิณ หากจะทำ ไม่ต้องไปยื่นเรื่องที่กรมราชทัณฑ์ เขาสามารถไปยื่นตรงที่สำนักราชเลขาธิการได้เลย ทั้งหมดเป็นกระบวนการขอพระราชทานอภัยโทษเป็นการเฉพาะราย ที่สามารถทำได้เลย

ส่วนการที่ทักษิณ จะได้รับการลดโทษจำคุกลง ในโอกาสสำคัญๆ เป็นกระบวนการพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไป ที่นักโทษไม่ต้องขอ แต่นักโทษคนไหนจะได้รับลดโทษจำคุกลง ก็จะต้องเข้าตามหลักเกณฑ์ของกรมราชทัณฑ์ เช่นติดคุกมาแล้วกี่ปี ส่วนกระบวนการติดคุกแล้วจะออกมาอยู่ข้างนอก จะเป็นอย่างไรบ้างนั้น หลักก็คือ ทักษิณต้องติดคุก รับโทษมาแล้ว 2 ใน 3 ของโทษจำคุกทั้งหมด ซึ่งคดีความที่ศาลฎีกาฯ ตัดสินจำคุกทักษิณที่คดีถึงที่สุดแล้วประมาณสิบปี ก็เท่ากับต้องติดคุกประมาณ 7-8 ปี ส่วนเรื่องที่ว่าทักษิณ อายุเกิน 70 ปีแล้ว ไม่ได้มีผล เพียงแต่จะได้รับการดูแล แต่ไม่มีผลทำให้พ้นโทษ-ลดโทษ เพียงแต่พอมีอายุมากขึ้น ทุกอย่างจะผ่อนคลายลง ส่วนคดีต่างๆ ที่ทักษิณเคยเป็นจำเลยและศาลยังไม่มีคำตัดสินเพราะศาลหยุดพักการไต่สวนคดีไว้ก่อนหน้านี้ เมื่อทักษิณกลับมาแล้ว กระบวนการต่างๆ ก็จะกลับมาพิจารณากันอีกครั้ง แต่ต้องนำตัวทักษิณไปขอประกันตัว แต่ถึงไปขอประกันตัว ก็ไม่ได้เพราะถึงให้มาทักษิณก็ยังต้องอยู่ในคุก ดังนั้นกระบวนการต่าๆ จะเริ่มได้ ก็ต้องรอพระบรมราชวินิจฉัยว่าจะอภัยโทษเมื่อใด ที่เป็นเรื่องของพระราชอำนาจที่จะวินิจฉัยโดยละเอียดรอบคอบอย่างแท้จริง

เมื่อถามถึงคนก็เกรงกันว่า หากทักษิณกลับมารับโทษและถูกส่งตัวเข้าเรือนจำว่า นายทักษิณจะเป็นนักโทษวีไอพี ได้รับการดูแลเป็นกรณีพิเศษ โดยเฉพาะหากเพื่อไทยเป็นแกนนำรัฐบาล "ทนายนกเขา-นิติธร"มองประเด็นนี้ว่า เรื่องการจะเป็นนักโทษวีไอพี เรื่องนี้ก็ต้องยอมรับว่าคนภายนอกอาจไม่สามารถรู้ได้ ดังนั้น ต้องไม่มีข่าวการแอบปล่อยตัวออกมา ให้กลับไปบ้านพัก หรือออกจากคุกไปบ้านบุคคลต่างๆ และหากทักษิณไปพักที่โรงพยาบาล กรมราชทัณฑ์ก็ต้องถือระเบียบการเยี่ยมนักโทษอย่างเคร่งครัด และทักษิณก็ต้องระวังเรื่องพวกนี้ หากมีเรื่องเล็ดลอดออกมาว่าได้รับการดูแลเป็นพิเศษมากกว่านักโทษคนอื่นๆ สังคมไม่ยอมง่ายๆ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“รองประธานสโมสร เชียงราย ยูไนเต็ด สู่นักการเมืองหญิงแกร่ง”

หลายคนรู้จักกับนักการเมืองรุ่นใหญ่ อย่าง “ยงยุทธ ติยะไพรัช” อดีตประธานรัฐสภา ที่มีลูกสาว “สส.โฮม” ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช สส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ที่ “สส.โฮม” ได้ตัดสินใจลงเล่นการเมือง จากมาดามสู่สส. มีอะไรต้องเปลี่ยนเยอะ และด้วยภาพลักษณ์ที่สดใส เป็นมิตร เฟรนลี่กับทุกคน จึงได้รับคำเรียกเล่นๆว่า ทูตสันถวไมตรี เพราะ “สส.โฮม” เป็นกันเอง ไม่ถือตัวกับทุกคน แต่ใครจะไปรู้ว่าชีวิตของ “โฮม” นั้น ผ่านอะไรมาบ้าง จึงได้ไปสอบถาม

เลือกตั้งนายก อบจ. 47 จังหวัด บ้านใหญ่ รอเข้าวิน พท.กวาดเยอะ-พรรคส้ม เสี่ยงร่วง

ยิ่งใกล้ถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายก อบจ. พบว่าการหาเสียงของผู้สมัครนายก อบจ.ทั้งที่ลงในนามพรรคการเมือง และไม่ได้ลงในนามพรรค

ร้อยใจไทย สืบสานราชธรรม .. ณ จังหวัดนครปฐม!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ในวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๗ โครงการร้อยใจธรรม สืบสานราชธรรม ทั้งแผ่นดิน ถวายเป็นพระราชกุศลฯ ที่ดำเนินการโดย สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยและวัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย (ธ) ในพระราชูปถัมภ์ฯ จ.ลำพูน

ลึกสุดใจ. ”พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ผบ.ตร.” ยึดกฎกติกา ไม่กลัวทุกอิทธิพล

ถึงตอนนี้ "พลตํารวจเอก กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ หรือ บิ๊กต่าย ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ" ได้ทำหน้าที่ ผบ.ตร.อย่างเป็นทางการมาร่วมสามเดือนเศษ ส่วนการทำงานต่อจากนี้ ในฐานะ"บิ๊กสีกากี เบอร์หนึ่ง-รั้วปทุมวัน"จะเป็นอย่างไร?

2 สว. “ชาญวิศว์-พิสิษฐ์” ปักธงพิทักษ์รธน. ปกป้องสถาบันฯ พวกเราเป็นอิสระ ไม่มีรับใบสั่ง

กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการทำประชามติเพื่อนำไปสู่การให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูยเพื่อมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อไทย ที่ต้องการทำให้เสร็จก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น

ก้าวย่างออกจากปัญหา .. ของประเทศ!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา... คำกล่าวที่ว่า.. “เมื่อสังคมมนุษยชาติขาดศีลธรรม.. ย่อมพบภัยพิบัติ.. เสื่อมสูญสิ้นสลาย..” นับว่าเป็นสัจธรรมที่ควรน้อมนำมาพิจารณา.. เพื่อการตั้งอยู่ ดำรงอยู่ อย่างไม่ประมาท...