เพื่อไทย กับการจัดตั้งรัฐบาล และทาง 3 แพร่ง ที่ต้องเลือก

การจัดตั้งรัฐบาลโดยการนำของ"พรรคเพื่อไทย"ที่ขึ้นมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแทนพรรคก้าวไกล กำลังเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อรวมเสียงสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภาให้ได้ถึง 375 เสียง เพื่อให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ที่คาดว่าพรรคจะเสนอชื่อเศรษฐา ทวีสิน ให้ที่ประชุมรัฐสภาโหวตเป็นนายกรัฐมนตรี ที่จะมีการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อโหวตนายกฯ ในวันที่ 27 ก.ค.นี้

ทาง”ไทยโพสต์” โดยรายการ"อิสรภาพแห่งความคิด"ที่ดำเนินรายการโดย"สำราญ รอดเพชร"ซึ่งเผยแพร่ทางแพลตฟอร์มต่างๆ ของไทยโพสต์ ได้สัมภาษณ์พิเศษ "สุทิน คลังแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหนึ่งในคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย-แกนนำพรรคเพื่อไทย"ถึงทิศทางของพรรคเพื่อไทย ในการจัดตั้งรัฐบาลว่าจะดำเนินอย่างไรต่อจากนี้ ซึ่งบทสัมภาษณ์ครั้งนี้ มีท่าทีของเพื่อไทยที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

บทสัมภาษณ์เริ่มด้วยการพูดคุยกันถึงมติของที่ประชุมร่วมรัฐสภาที่ลงมติด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งคือ  395 เสียง ไม่เห็นชอบให้มีการเสนอชื่อบุคคลที่ไม่ผ่านการโหวตให้เป็นนายกรัฐมนตรีในครั้งแรก กลับมาถูกเสนอชื่อได้เป็นครั้งที่สอง ที่ทำให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ไม่สามารถถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯได้อีกแล้ว

ซึ่ง”สุทิน-ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย”ที่เป็นคนเสนอชื่อนายพิธา ในวันประชุมร่วมรัฐสภา เมื่อ 19 ก.ค.กล่าวถึงเรื่องนี้อีกครั้งว่า ได้เสนอชื่อนายพิธา ไปตามกระบวนการของรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ที่แม้ไม่มีข้อบังคับการประชุมก็ต้องทำ ภายใต้รัฐธรรมนูญมาตรา 272 ซึ่งก่อนจะเสนอ ก็พอรู้ล่วงหน้าอยู่ เพราะตั้งเค้าก่อนหน้าการประชุมว่า หากมีการเสนอชื่อคุณพิธา รอบสอง ก็เห็นความเคลื่อนไหวฝ่ายต่างๆ เห็นท่าทีของสมาชิกวุฒิสภา และพรรคการเมืองต่างๆ แสดงท่าทีไม่เห็นด้วย ที่พอทราบอยู่ ซึ่งถึงตอนนี้ ก็ยังมองว่า การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภา ไม่ใช่การเสนอในรูปแบบของญัตติตามข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภาข้อที่ 41 เพราะญัตติว่าไปตามข้อบังคับ แต่แม้ไม่มีข้อบังคับ แต่เมื่อมีการเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ก็ต้องเสนอ ที่ผมเสนอชื่อพิธาในวันที่ 19 ก.ค.จึงเป็นการเสนอตามรัฐธรรมนูญไม่เป็นญัตติ แต่ก็มีความคล้ายกันมาก แยกแยะไม่ออก ก็ต้องยอมรับว่ามันคลุมเครือ

เมื่อถามถึงว่ามติเสียงข้างมากที่ไม่ให้เสนอชื่อนายพิธารอบที่สองได้ ตอนนี้ดูเหมือนจะยังไม่จบง่ายๆ มีคนไปยื่นผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญและมีความเห็นด้านกฎหมายจากฝ่ายต่างๆตามมามากมาย "สุทิน-ส.ส.เพื่อไทย"มองประเด็นนี้ว่า ช่วงหลัง นักการเมือง ไม่ยอมกันง่ายๆ ก็คิดว่าเรื่องนี้คงไปไกลอยู่ เพราะมีทั้งผู้เกี่ยวข้องโดยตรงและนักร้องอิสระที่มีอยู่เยอะ  แต่ดูแล้วไม่น่าจะมีผลต่อการจัดตั้งรัฐบาล เพราะกระบวนการกว่าจะไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ ก็ใช้เวลาอยู่และศาลก็มักจะเซฟอยู่ คือเรื่องที่เกิดแล้วผ่านไปแล้ว คงไม่มีผลเพราะตอนนี้สถานการณ์ก็บีบรัดมาก

ถามถึงเสียงสะท้อนจากบางฝ่ายเช่นนักธุรกิจที่มองว่า เพื่อไทยไม่ควรผูกมัด(กับพรรคก้าวไกล) พอผูกมัด สถานการณ์เลยลากมาถึงตอนนี้จนไม่รู้จะแยกออกกันได้หรือไม่ และอยากถามว่า วิธีคิดตอนแรกของเพื่อไทยในการตั้งรัฐบาล ตอนแรกคิดอย่างไร  "สุทิน"กล่าวตอบว่า เป็นความห่วงใยที่มีเหตุผล ส่วนเรื่องการตั้งรัฐบาล เราคิดว่าเราต้องสร้างวัฒนธรรมการเมือง สร้างค่านิยมที่ยอมรับการเลือกตั้ง เคารพคนที่ชนะ ถึงได้เห็นว่าเราให้การยอมรับพรรคก้าวไกลเป็นพิเศษ จนหลายคนบอกว่า ไม่น่าจะขนาดนี้ อะไรจะหวานขนาดนั้น ความคิดที่สองก็คือ เราคิดว่าการรวมกลุ่มทางการเมือง ของคนที่มีความคิดเดียวกัน คือประชาธิปไตย ต้องเกาะเกี่ยวกัน มันถึงจะมีพลัง ก็เหนี่ยวนำกันมาตั้งแต่ตอนเป็นฝ่ายค้าน(สภาฯสมัยที่ผ่านมา) พอมาเป็นฝ่ายค้าน ลงเลือกตั้งก็เกาะเกี่ยวกัน หลังเลือกตั้งแล้วก็ควรต้องรวมพลังกัน เพราะดูเหมือนสังคมก็จะจับพวกเราอยู่ในกลุ่มประชาธิปไตย การเกาะกลุ่มกันไว้ นอกจากเป็นพลังแล้ว ก็เกิดขวัญกำลังใจที่ดีต่อประชาชนที่นิยมประชาธิปไตย

-แต่คนก็บอกว่าติดกับดักคำว่าประชาธิปไตยมากเกินไปหรือไม่?

มากเกินไปหรือไม่ มันก็ดูว่าเหมือนจะมาก แต่ว่า มันก็ต้องมีจุดที่เราจะต้องไม่ผูกมัดมาก เชื่อว่าถึงจุดหนึ่งก็ไม่เป็นกับดักแล้ว ก้าวข้ามได้ จะมองว่าเป็นกับดัก ก็คือก้าวข้ามกับดัก

-คนมองว่าเพราะพรรคกลัวด้อมส้ม?

กลัวหรือไม่ ก็ไม่กลัวหรอก แต่เราก็ยอมรับว่าเราก็แคร์สังคมทั่วไปอยู่

ไม่ใช่เฉพาะด้อมส้ม เพราะเราก่อนหน้านี้ เราก็เคยพูดหรือเคยประณามการแย่งกันจัดตั้งรัฐบาลเมื่อคราวก่อน(เลือกตั้งปี 2562 )เพื่อไทยชนะได้มาอันดับหนึ่ง พรรคอันดับสอง(พลังประชารัฐ)มาแย่งตั้ง เราก็พูดถึงความไม่ชอบธรรมเขามาสี่ปี พอมาวันนี้ ถ้าเราจะไปทำแบบนั้น มันก็จะเหมือนกับว่าเราไม่มีหลักการ และกลับคำ เราจึงต้องเคารพจุดยืน-ท่าที ที่เราทำมาก่อนหน้านั้น ก็เลยจำเป็นต้องลาก แต่ว่าลากยังไง มันก็ต้องมีจุดหนึ่งที่มีเหตุผลได้

เพื่อไทย บนทางสามแพร่ง

หลังรับบท แกนนำตั้งรัฐบาล

-ที่เคยบอกก่อนหน้านี้ว่า เพื่อไทย ตอนนี้ถึงทางสามแพร่ง หมายถึงอย่างไร?

คือวันนี้ มันเดินมาถึงจุดที่ทุกคนก็ทราบดีว่า การจะเดินหน้าต่อจากนี้ของเพื่อไทย ถือว่าเรามีความชอบธรรมแล้วที่จะเข้ามาจัดตั้งรัฐบาลเพราะพรรคที่ได้เสียงอันดับหนึ่ง(พรรคก้าวไกล)ไปไม่ได้แล้ว เพราะมติของที่ประชุมร่วมรัฐสภาเมื่อ 19 ก.ค.ก็ถือว่าจบแล้ว เพราะเสนอชื่อซ้ำไม่ได้ แล้วเขาไม่มีแคนดิเดตชื่ออื่น ก็มาถึงพรรคอันดับสอง ส่วนพรรคอันดับสองจะไปยังไงต่อ ตอนนี้มีสามทาง ที่เรียกว่าทางสามแพร่ง    

หากเราคิดที่จะกอดคอกันแปดพรรคการเมืองตามเอ็มโอยูแล้วเราก็ต้องยอมเป็นฝ่ายค้าน เพราะมันมีเงื่อนไขเยอะ เนื่องจากหลายพรรคการเมืองตั้งเงื่อนไขว่าต้องไม่มีก้าวไกล ส่วนสว.ก็บอกว่าต้องไม่มีก้าวไกล คือหากเป็นเพื่อไทย เขาก็พร้อมจะเลือก แต่หากมีก้าวไกลด้วยเขาจะไม่เลือก อันนี้คือเงื่อนไขที่เราต้องเลือก

ทางแรกก็คือยอมเป็นฝ่ายค้าน แปดพรรคกอดคอกันเลย ถ้าเราไม่ทิ้งกัน เราก็ต้องเป็นฝ่ายค้าน ก็ต้องยอมรับว่าก็ไปทุบความหวังประชาชน เพราะถ้ามองจากการเลือกตั้ง คือเขาอยากให้เราเป็นรัฐบาล และอยากให้สกัดกั้นฝ่ายนั้นอย่าให้เข้ามาเป็นอีก การไปยอมเป็นฝ่ายค้าน ก็คือการไปดับความฝันประชาชน

แพร่งที่สอง ก็คือ แปดพรรคตั้งรัฐบาลยังกอดกันเหมือนเดิม ยังเอาก้าวไกลไปด้วย เอ็มโอยูยังเหมือนเดิม แต่ขอลดเงื่อนเข เจรจาลดเงื่อนไขทั้งสองฝ่าย เช่นที่สว.บอกว่า ไม่เอาก้าวไกล ก็ต้องไปขอสว.ว่า เอาก้าวไกลมาด้วย แต่รังเกียจตรงไหน ผมจะไปคุยกับก้าวไกลให้ เราก็คงต้องคุยว่า แนวทางนี้คือเราขอเอาก้าวไกลมาด้วย แต่อยากให้ปรับตรงไหน ผมจะคุยกับก้าวไกลให้ เราพอรู้ เพราะที่คุยกันมาตลอดก็คือเรื่อง"มาตรา 112" อย่างที่บอก หากมี 112 จะไม่โหวต ถ้าเขาบอกมาว่าเป็นเรื่องนี้ ผมก็จะไปคุยกับก้าวไกล ถ้าก้าวไกลลด แล้วทางนั้นเขารับ ก็โอเค แนวทางที่สอง ก็เกิด ก็จะเป็นรัฐบาลเพื่อไทย และก้าวไกล และอีกหกพรรคการเมืองเดิม ก็เป็นแปดพรรค แต่หากทางนี้ไม่ลด แล้วทางโน้นก็ไม่รับ แพร่งที่สอง ก็จบ 

ทางที่สาม ก็คือ หากเราคิดว่าจะตั้งรัฐบาล เพราะคำนึงถึงประชาชน คำนึงถึงผลการเลือกตั้ง ธำรงไว้ซึ่งคุณค่าการเลือกตั้ง เมื่อหนึ่งไม่ได้ สองขอเป็น ก็จำเป็นต้องเดินหน้าเป็นรัฐบาลโดยเพื่อไทยเป็นแกนนำ แต่ก็ต้องตัดก้าวไกล จำเป็นต้องสละน้อง เพราะว่าน้องก็ไม่ลด เงื่อนไขก็ไม่ลด จำเป็นต้องสละ ถ้าไม่สละ ก็ต้องไปเป็นฝ่ายค้าน แล้วให้อีกฝั่งเป็นรัฐบาล เอาไหม เราก็เชื่อว่าประชาชนที่สนับสนุนเรา และลงคะแนนมา ก็จะผิดหวัง 

เพราะฉะนั้นทางที่สาม ก็คือ เพื่อไทย เป็นรัฐบาล แต่ไม่มีก้าวไกล แต่ทางนี้ ก็ต้องบอกว่าเราต้องเป็นแกนนำ ไม่ใช่ว่าเราข้ามขั้ว แต่ว่าทางนั้นข้ามขั้วมาหาเรา เราต้องให้ทางนั้นข้ามมา โดยที่ชัดเจนคือฝ่ายเราต้องเป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนที่คนมักถามกัน ว่าถ้าแบบนี้ จะต้องเอาทางโน้นมาร่วมด้วยใช่ไหม มันก็จำเป็น เพราะถ้าไม่มีก้าวไกล ก็หายไป 151 เสียง พรรคการเมืองรัฐบาลตอนนี้ก็ต้องมา แต่จะมีเงื่อนไขหรือไม่ ลุงที่ว่า เราก็ไม่เอาลุง เอาลูกลุง ลุงไม่อยู่แล้ว อันนี้คือแพร่งที่สาม

ระหว่างนี้ยังยืนอยู่ในสามแพร่ง อยู่ในระหว่างการตัดสินใจอยู่ ยังไม่เลือกแพร่งใดแพร่งหนึ่ง ก็ฟังประชาชน ฟังสังคมอยู่

-ฟันธงว่า ไปแพร่งที่สาม?

ยังไม่รู้ วันนี้ยังไม่ง่าย การที่เราจะเลือกแพร่งที่สาม คือต้องดูว่าจะตัดใคร แล้วเอาใครเข้ามา ต้องอธิบายกับสังคมเยอะ

-มีการมองว่าหากไม่มีก้าวไกล ก็ต้องไปดึงพรรคการเมืองที่มีเสียงพอสมควร เช่น ภูมิใจไทย 71 เสียง พลังประชารัฐ ที่มี 40 เสียง ที่มีลุงป้อมอยู่ หัวหน้าพรรค หรือจะดึงรวมไทยสร้างชาติ ที่ตอนนี้ไม่มีลุงตู่แล้ว จะเอามาไหม?

ก็อาจจะเอานะ เพราะดูแล้วว่ามันไม่พอ นี้คือความยากที่บอกว่า แพร่งที่สาม ก็ไม่ง่าย ส่วนพลังประชารัฐ ก็ฟังว่า ลุงก็อาจไม่เอา ไม่รับตำแหน่งอะไรแล้ว หมายถึงลุงป้อม ฟังมาว่าอย่างนั้น

-ถ้าเป็นแบบนี้ ทางก็โล่งแล้ว เพื่อไทยสามารถอธิบายประชาชนที่เลือกมาสิบล้านเสียงได้?

เราหนักใจที่สุดวันนี้ก็คือ การจะอธิบายให้สังคม เมื่อเช้าก่อนมาให้สัมภาษณ์มีชาวบ้านโทรมาให้ข้อคิดกับผม เขาบอกว่า เล่านิทานให้ฟังเรื่องหนึ่ง โดยเล่าว่า มีครอบครัวหนึ่ง มีลูกหกคน ผัวเมียรักกันดี ไปเที่ยวน้ำตก เมียพลัดตกลงน้ำ จมน้ำ แล้วเกาะกิ่งไม้อยู่ อาจจะตามรอมร่อ สามีต้องตัดสินใจ ที่จะต้องกระโดดลงไปช่วยภรรยา ที่ก็สุ่มเสี่ยงอาจจะจมน้ำไปด้วยกันได้ กับสอง ไม่ลงไปช่วยเพราะห่วงลูกหกคน หากตายทั้งคู่ แล้วใครจะเลี้ยงลูก เพราะฉะนั้น วันนี้สามีต้องตัดสินใจ จะลงไปช่วยภรรยาสุ่มเสี่ยงนะ ลูกหกคนใครจะเลี้ยงดู แต่ถ้าจะห่วงลูกหกคน ภรรยาก็ต้องเสียชีวิต

วันนี้ เพื่อไทย ผมว่าเป็นสามี ชาวบ้านโทรมาเล่าให้ผมฟัง ตั้งใจจะให้ผมคิด เขาตั้งใจจะให้ผมคิดว่า วันนี้คุณกำลังยุ่งยาก แต่ผมก็ไม่ได้ตอบไป แต่บอกว่า ก็น่าคิด ขอเอาไปคิดหน่อย แล้วจะเล่าให้พรรคพวกฟัง ซึ่งผมก็ยังคิดไม่ตก ก็ยังห่วงเมีย ห่วงลูกอยู่ แต่สุดท้าย ผมว่า ลูกมีหลายชีวิต เขายังต้องเดินทางไกลอยู่ ก็ประชาชน 65 ล้านคน หรืออย่างน้อยก็คนที่เลือกเรา 14 ล้าน บวก 11 ล้านเสียง กับอีก 6 ล้านคน (คะแนนเสียงที่เลือกแปดพรรคการเมืองตั้งรัฐบาล)

-ท่าที คุณเศรษฐา ทวีสิน ก็ยอมรับว่า หากยังติดบ่วงเรื่องมาตรา 112 กับพรรคการเมืองที่จะเอาเรื่อง 112 ให้ได้ ก็ไปลำบาก?

สว.ก็ตั้งเงื่อนไขแบบนั้น ถ้าเราคิดว่าเงื่อนไขเขาสูง เราก็ไม่รับ ถ้าไม่รับ ก็ไปเป็นฝ่ายค้าน ก็เท่านั้น แต่หากคิดว่าเงื่อนไขเขา เราจำใจ อยากเป็นรัฐบาล เพราะห่วงลูก ก็ต้องรับ การเมืองวันนี้มันถูกกำหนด กดดันให้มีข้อจำกัด แบบนี้แล้ว อยู่ที่เราจะเลือกทางออกทางไหน

-เมื่อก่อนคุณเศรษฐา ก็เกือบติดกับดักตัวเองเหมือนกัน เพราะเคยประกาศหากผมเป็นนายกฯต้องมีพรรคก้าวไกล ตอนนี้เงื่อนไขดังกล่าวลดลงแล้วใช่ไหม?

ฟังๆ ดูก็เหมือนจะยังงั้น เพราะท้ายที่สุด ก็ต้องฟังกรรมการบริหารพรรค  ก็เป็นเจตนาดี เป็นจิตใต้สำนึกของทุกคนว่า มาด้วยกัน ก็อยากไปด้วยกัน แต่ว่าถึงจุดหนึ่งมันก็ต้องคิด 

-ที่มีข่าวว่าส.ส.อีสาน เพื่อไทย ไม่ค่อยยอมรับนายเศรษฐา และหนุนคุณอุ๊งอิ๊ง เป็นนายกฯมากกว่า เหมือนกับไม่ค่อยชอบท่วงทำนองท่าทีคุณเศรษฐา  ต่อมามีข่าวว่าคุณเศรษฐา ได้เคลียร์กับส.ส.อีสานแล้วจริงหรือไม่?

มีจริง แต่ไม่ใช่เหตุผลนั้น คือเหมือนกับว่าตัวเลือกแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย สองคน คือคุณเศรษฐา กับคุณอุ๊งอิ๊ง ทางส.ส.อีสาน ถ้าให้น้ำหนัก ก็อยากสนับสนุนคุณอุ๊งอิ๊ง แต่เป็นช่วงก่อนหน้านี้ คือตอนไปหาเสียง รณรงค์เลือกตั้ง ค่อนข้างจะชูคุณอุ๊งอิ๊ง คือส.ส.เขาไปขายคุณอุ๊งอิ๊ง พอมาตอนนี้ เขาก็กังวล พอเอาเข้าจริง จะเป็นคุณเศรษฐา เขาต้องไปอธิบายกับประชาชนเยอะ คือไม่ได้ตั้งแง่อะไรกับคุณเศรษฐา แต่ว่าถ้าเรามีเหตุผลที่ดี ที่อธิบายชาวบ้านให้ฟังได้ว่า ทำไมต้องเป็นเศรษฐา เขาก็ไม่ติดใจ ส.ส.อีสาน ก็ไม่ติดใจ เขาสามารถไปอธิบายชาวบ้านได้

-คุณเศรษฐา มาคุยเปิดใจกับส.ส.อีสาน จริงใช่ไหม?

ก็เปิดใจ แต่ไม่ได้ถึงกับออกแรงเปิดใจ เขาก็พูดง่ายๆ สั้นๆ ว่า ผมไม่ได้กำหนดตัวเอง พรรคกำหนด ผมก็ทำตามพรรค ถ้าพรรคคิดว่าไม่ใช่ผม ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าพรรคบอกว่าเป็นผม ผมก็ยินดี ทุกคนก็เข้าใจว่าไม่ใช่ความประสงค์ของเขาที่กำหนด ทุกคนก็เข้าใจ ก็ไม่มีปัญหา ไม่มีใครติดใจ

เพื่อไทย ใช้ตัวจริง

ชิงนายกฯ ไม่มีตัวหลอก

-มีการวิเคราะห์กันไปว่า การโหวตนายกฯวันที่ 27 ก.ค. จากที่มติที่ประชุมรัฐสภาบอกว่าเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯซ้ำไม่ได้ อาจทำให้เพื่อไทย ใช้วิธีเสนอชื่อคนอื่นไปก่อนเช่นคุณชัยเกษม นิติศิริ เพื่อทดสอบ เพื่อแสดงให้เห็นว่าจริงใจกับก้าวไกล แต่สุดท้าย เสียงโหวตเห็นชอบไม่เกินกึ่งหนึ่ง เพราะยังมีก้าวไกล ร่วมตั้งรัฐบาลอยู่ เพื่อไทยจะมาแบบนี้หรือว่าจะเสนอชื่อตัวจริงเลย?

เท่าที่คุยกัน ไม่มีของปลอม ไม่มีตัวหลอก เราหมายมั่นว่า 27 ก.ค. รอบเดียว และคนเดียว จบที่รอบแรก และคนแรก เราจะทำงานเต็มที่ คุณอุ๊งอิ๊ง ก็พูดในที่ประชุมพรรคเพื่อไทย และพูดต่อสาธารณชนมาตลอดว่าสนับสนุนคุณเศรษฐา เพราะฉะนั้น เราไปทำอย่างนั้นไม่ได้ ที่จะมีตัวหลอก แล้วมีตัวจริง เว้นแต่ว่า จากวันนี้ไปจนถึงวันโหวต มันประสานงานไม่ได้ ไม่ชัวร์ ไม่ชัด ก็อาจต้องขอเลื่อน ก็ว่าไป ก็เสนอในที่ประชุมเสนอให้เลื่อนการพิจารณา แต่ผมว่าคงไม่ถึงขนาดนั้น ผมว่า วันที่ 27 ก.ค. คงจบ

-แล้วหากพรรคก้าวไกลไม่ยอม เขาจะไปกับเพื่อไทยให้ได้ จะทำยังไง?

อันนี้ก็คือความยาก ถึงมีทางสามแพร่ง ถ้าแบบนั้นก็ต้องเลือกแล้ว อาจจะเป็นแพร่งที่หนึ่งคือยอมเป็นพรรคฝ่ายค้านด้วยกัน แต่ประชาชนจะยอมไหม เพราะไปด้วยกันยังไง ทางนั้นเขาก็ไม่เลือก สว.ก็ไม่ยกมือให้ ก็ต้องเป็นฝ่ายค้าน แต่เราก็จะไปถามก้าวไกล คนเดียวไม่ได้ หากไปถึงจุดนั้น คนที่จะกำหนดเราก็คือประชาชนเหมือนกัน หากประชาชนบอกว่าไม่ได้ จะไปยอมให้ฝ่ายนั้นเขากลับมาเป็นรัฐบาลอีกไม่ได้ เลือกตั้งมาแทบเป็นแทบตาย เพื่อไทยต้องเป็น ถ้าแบบนั้น หากฟังสังคมชัดเจนแล้ว มันก็ต้องตัดสินใจแล้วผมว่า แต่ต้องบอกก่อนว่า จะเป็นแพร่งไหนที่จะเลือก ยังไม่ได้ตัดสินใจ

“ต้องบอกว่าการจัดตั้งรัฐบาลรอบนี้ยากกว่าทุกครั้ง ที่ยากเพราะตัวรัฐธรรมนูญ เพราะหากเป็นสมัยก่อน หากผลการเลือกตั้งจบออกมาแบบนี้ สมัยก่อน สองทุ่มคืนวันเลือกตั้ง ก็รู้ตัวนายกฯแล้ว เพราะถ้ามีแต่ส.ส.ที่โหวตนายกฯได้ ส.ส.เขายกให้กันเลย อย่างการเลือกตั้งในอดีต คุณชวน หลีกภัย ตอนนั้นเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ส.ส.น้อยกว่า พรรคความหวังใหม่ ที่มีพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นหัวหน้าพรรคแค่สองที่นั่ง ก็ประกาศยกให้ แต่พอให้สว.มาร่วมโหวตนายกฯกับส.ส.ได้ มันก็เลยยุ่ง อย่างวันนี้ ก้าวไกลที่ได้ที่หนึ่งยกให้เพื่อไทยที่ได้ที่สอง แต่ยกให้แล้ว ก็ยังไม่ได้ เพราะมีสว.

อย่างไรก็ตาม จากข้อจำกัดดังกล่าว อีกไม่นาน ก็คงจบแล้ว ตอนนี้ภาระอยู่ที่เพื่อไทย เมื่อเพื่อไทยตัดสินใจให้จบ มันก็จบ ส่วนจะตัดสินใจอย่างไร ถ้ามันต้องยอมเจ็บปวด เพื่อบ้านเมืองเดินได้ ก็อาจเป็นทางหนึ่ง แต่อีกทางหนึ่งหากกลัวความเจ็บปวด ก็อาจรักษาบรรยากาศ ไปอีกแบบหนึ่ง แต่ขอให้เชื่อมั่น เราจะทำให้จบเร็วที่สุด เจ็บแต่จบ หากกลัวเจ็บ แล้วไม่จบ ก็ไม่มีประโยชน์”   

-เรื่องมาตรา 112 พรรคเพื่อไทยมีจุดยืนอย่างไร จะแก้ไขหรือยกเลิกอะไรหรือไม่?

เราก็คุยกันมา ส่วนตัวผมเอง ก็เคยแสดงทัศนะ เราเห็นว่าบ้านเมืองวันนี้มีหลายปัญหา เรื่อง 112 ก็ใช่อยู่เป็นปัญหา แต่พอมาเรียงลำดับความสำคัญ ก่อน-หลัง ที่ต้องทำให้กับประเทศและประชาชน เรายังเห็นว่าเรื่องการฟื้นเศรษฐกิจ-โครงสร้างระบบเศรษฐกิจ ให้กลับมา เพื่อให้ชาวบ้านมีกินมีใช้ เป็นเรื่องใหญ่ และประชาธิปไตยที่เป็นสากล ก็เป็นเรื่องใหญ่ เราเลยคิดว่าต้องทำเรื่องเศรษฐกิจก่อน สำหรับเทอมนี้ที่เราจะเป็นรัฐบาล ต้องเข้าไปฟื้นฟูเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ต้องยกระดับปากท้องชาวบ้านให้กลับมาก่อน สถานะการเงินการคลังประเทศต้องดึงกลับมาก่อน ซึ่งการทำ ต้องสร้างบรรยากาศของประเทศให้มันเหมาะเช่น สร้างบรรยากาศความลงตัวทางการเมืองก่อน ส่วนเรื่องความขัดแย้งใดๆ ให้มันน้อยลง ความเชื่อมั่นสำหรับนักลงทุนถึงจะเกิด

เมื่อคำนึงถึงจุดนี้แล้ว ปัจจัยที่จะทำให้ฟื้นเศรษฐกิจได้ การเมืองต้องนิ่งพอสมควร ความขัดแย้งในสังคมต้องทำให้น้อยลง เรื่อง 112 ต้องยอมรับว่า เป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้ง อย่างเราฟังการอภิปรายในที่ประชุมรัฐสภา จะเห็นได้ว่าร้อนมาก ได้เห็นกลุ่มก้อนความคิดที่แตกต่างกันมาก แล้วข้างนอกทั่วไป ก็เห็นแนวปะทะที่จะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าเรามาทำเรื่องนี้ในสมัยนี้ ก็ต้องยอมรับว่าบรรยากาศมันจะทำให้แก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้ เราจึงยังไม่แตะ ส่วนอนาคต ก็ต้องดูสังคมว่า ถ้าสังคม มีแนวโน้มจะคล้อยไปทางไหน ตกผลึกแล้ว ไม่เกิดความขัดแย้งค่อยมาว่ากัน แต่ตอนนี้เรื่องเศรษฐกิจก่อน ถ้ามาทะเลาะกัน มาขัดแย้งกัน แก้เศรษฐกิจไม่ได้

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“รองประธานสโมสร เชียงราย ยูไนเต็ด สู่นักการเมืองหญิงแกร่ง”

หลายคนรู้จักกับนักการเมืองรุ่นใหญ่ อย่าง “ยงยุทธ ติยะไพรัช” อดีตประธานรัฐสภา ที่มีลูกสาว “สส.โฮม” ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช สส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ที่ “สส.โฮม” ได้ตัดสินใจลงเล่นการเมือง จากมาดามสู่สส. มีอะไรต้องเปลี่ยนเยอะ และด้วยภาพลักษณ์ที่สดใส เป็นมิตร เฟรนลี่กับทุกคน จึงได้รับคำเรียกเล่นๆว่า ทูตสันถวไมตรี เพราะ “สส.โฮม” เป็นกันเอง ไม่ถือตัวกับทุกคน แต่ใครจะไปรู้ว่าชีวิตของ “โฮม” นั้น ผ่านอะไรมาบ้าง จึงได้ไปสอบถาม

เลือกตั้งนายก อบจ. 47 จังหวัด บ้านใหญ่ รอเข้าวิน พท.กวาดเยอะ-พรรคส้ม เสี่ยงร่วง

ยิ่งใกล้ถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายก อบจ. พบว่าการหาเสียงของผู้สมัครนายก อบจ.ทั้งที่ลงในนามพรรคการเมือง และไม่ได้ลงในนามพรรค

ร้อยใจไทย สืบสานราชธรรม .. ณ จังหวัดนครปฐม!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ในวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๗ โครงการร้อยใจธรรม สืบสานราชธรรม ทั้งแผ่นดิน ถวายเป็นพระราชกุศลฯ ที่ดำเนินการโดย สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยและวัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย (ธ) ในพระราชูปถัมภ์ฯ จ.ลำพูน

ลึกสุดใจ. ”พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ผบ.ตร.” ยึดกฎกติกา ไม่กลัวทุกอิทธิพล

ถึงตอนนี้ "พลตํารวจเอก กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ หรือ บิ๊กต่าย ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ" ได้ทำหน้าที่ ผบ.ตร.อย่างเป็นทางการมาร่วมสามเดือนเศษ ส่วนการทำงานต่อจากนี้ ในฐานะ"บิ๊กสีกากี เบอร์หนึ่ง-รั้วปทุมวัน"จะเป็นอย่างไร?

2 สว. “ชาญวิศว์-พิสิษฐ์” ปักธงพิทักษ์รธน. ปกป้องสถาบันฯ พวกเราเป็นอิสระ ไม่มีรับใบสั่ง

กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการทำประชามติเพื่อนำไปสู่การให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูยเพื่อมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อไทย ที่ต้องการทำให้เสร็จก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น

ก้าวย่างออกจากปัญหา .. ของประเทศ!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา... คำกล่าวที่ว่า.. “เมื่อสังคมมนุษยชาติขาดศีลธรรม.. ย่อมพบภัยพิบัติ.. เสื่อมสูญสิ้นสลาย..” นับว่าเป็นสัจธรรมที่ควรน้อมนำมาพิจารณา.. เพื่อการตั้งอยู่ ดำรงอยู่ อย่างไม่ประมาท...