“คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ” (กสทช.) ชุดปัจจุบัน ที่มี”ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ สรณ บุญใบชัยพฤกษ์” เป็นประธานกสทช. ที่เริ่มเข้าปฏิบัติหน้าที่เมื่อเมษายน 2565 ถึงตอนนี้ปฏิบัติหน้าที่มาได้ประมาณ1ปี3 เดือน
สำหรับบทบาท-การทำงานของกสทช.ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะกับสังคมยุคปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี-การสื่อสารอย่างรวดเร็ว และหมุดหมายของประเทศไทยก็กำลังเดินหน้าไปสู่สังคมเศรษฐกิจดิจิทัล ทำให้การทำงานของกสทช.จะมีส่วนสำคัญกับการทำให้ประเทศไทยไปถึงจุดนั้นได้หรือไม่ อีกทั้งการทำงานของกสทช.ก็อยู่ในความสนใจของสังคมจำนวนมากเพราะเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางธุรกิจในวงการโทรคมนาคม-กิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์หลายแสนล้านบาท
โดยที่ผ่านมา การทำงานของกสทช.ชุดปัจจุบันหลายเรื่องอยู่ในความสนใจและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนอย่างมาก เช่นกรณีการเห็นชอบให้มีการควบรวมกิจการของ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่นฯ กับบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น ฯ หรือ ดีแทค และขณะนี้ กสทช.ก็อยู่ระหว่างการพิจารณาการรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ AWN ในเครือ เอไอเอส กับ บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ 3BB อีกทั้งเร็วๆนี้ กสทช.ก็จะพิจารณาคัดเลือกแต่งตั้งเลขาธิการสำนักงานกสทช.คนใหม่ที่อยู่ในความสนใจของสังคมอย่างมาก เป็นต้น
ซึ่งคนหนึ่งที่ทำงานในสำนักงานกสทช.ที่น่าสนใจ ก็คือ"พชร นริพทะพันธุ์-ที่ปรึกษาประจำ ประธานกสทช.”ที่เป็นอดีตนักการเมืองรุ่นใหม่ไฟแรงจากพรรคเพื่อไทย ที่มีโปร์ไฟล์การศึกษา-การทำงานที่ไม่ธรรมดา เช่น ปริญญาตรีด้านรัฐศาสตร์ กฎหมายและการเมืองระหว่างประเทศจาก University of Southern California-ปริญญาโท สาขาวิทยาศาตร์มหาบัณฑิต จาก Boston University และ Columbia University เป็นต้นรวมถึงมีประสบการณ์การทำงานด้านการเมืองและธุรกิจมาอย่างโชกโชน
โดย”พชร-ที่ปรึกษาประธานกสทช.”ได้เล่าถึงการขับเคลื่อน-ผลงานของกสทช.ชุดปัจจุบันรวมถึงนโยบายในอนาคตที่กสทช.ตั้งใจจะทำให้สำเร็จ ให้เราฟัง
เริ่มแรก "พชร-ที่ปรึกษาประจำประธานกสทช.”พูดถึงการทำงานของตัวเองก่อนหน้านี้แบบย่อๆ ว่า ที่ผ่านมาเคยอยู่ในแวดวงการเมืองมาหลายปี ผ่านประสบการณ์งานการเมือง-งานบริหารทั้งภาครัฐและเอกชนมาอย่างโชกโชน เช่นช่วงปี 2548 เคยเป็น เลขานุการส่วนตัว สุวิทย์ คุณกิตติ สมัยนายสุวิทย์เป็นรมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือกระทรวงไอซีที ที่ปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งก่อนหน้าจะเข้ามาเป็นที่ปรึกษาประธานกสทช. ก็ทำงานมาหลายอย่าง แต่หลักๆ ก็จะเป็นงานด้าน digital policy รวมถึงทำธุรกิจส่วนตัว เป็นที่ปรึกษาบริษัทที่กองทุนใหญ่อับดับ สองของโลกด้าน infrastructure ด้านโทรคมนาคม ไฟฟ้า-พลังงาน ต่อมาก็เข้าไปทำงานการเมือง ที่พรรคเพื่อไทย ที่ตอนนั้นเป็นพรรคฝ่ายค้าน โดยเป็นกรรมการบริหารพรรค และได้รับผิดชอบดูแลเรื่องงานเกี่ยวกับการไปดูเรื่องการทำโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจดิจิทัลให้กับพรรคเพื่อไทย
ต่อมาได้ลาออกจากพรรคเพื่อไทย เพื่อมาทำงานเป็นที่ปรึกษาประธานกสทช. ซึ่งจากที่ได้เข้ามาทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาประธานกสทช.ทำให้เราเข้าใจได้ว่าโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจดิจิทัลมันอยู่ที่กสทช. มันเป็น กระดูกสันหลังของสังคมไปแล้ว เหมือนสังคมต้องมี ไฟฟ้า-น้ำประปา เศรษฐกิจดิจิทัล ก็คือสังคมยุคใหม่ที่ต้องมีการสื่อสาร การเชื่อมต่อ-การเชื่อมโยง ซึ่งคนที่ดูแลและคนที่จะสนับสนุนให้เกิดขึ้นได้ อยู่ที่กสทช.
“พชร-ที่ปรึกษาประธานกสทช.”กล่าวต่อไปว่า กสทช.จะดูแลงานสองส่วนใหญ่ๆ คือ การกระจายเสียง ที่รวมถึงกิจการโทรทัศน์ และการโทรคมนาคม มันเป็นการหลอมตัวของกทช.-กคช.มารวมกัน
องค์กรกสทช.เดิมก่อนหน้านี้ เป็นองค์กรทหาร การดูแลspectrum หรือคลื่นความถี่ เป็นเรื่องของความมั่นคงมาก่อน แต่พอเศรษฐกิจมันเปลี่ยนแปลง โครงสร้างความมั่นคงก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย โครงสร้างการใช้ของทหารก็เปลี่ยนเช่นกัน เลยต้องมีการปรับโครงสร้างตามรัฐธรรมนูญ องค์กรสำนักงานกสทช.เกิดขึ้นตอนปี 2553 ผ่านมาถึงตอนนี้ก็สิบกว่าปี ซึ่งที่ผ่านมา การทำงานของกสทช.ที่หลายคนได้เห็นก็เช่น การจัดประมูลทีวีดิจิทัล- การประมูลคลื่นความถี่ ตั้งแต่ 3 จี 4 จี และ 5 จี ที่คือความพยายามปรับประเทศและสังคมให้ไปอยู่ในยุคใหม่ ซึ่งสำหรับประเทศไทยในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ถือว่ามีความก้าวหน้ามากในการเชื่อมต่อทั้งแบบมีสายและไร้สาย แม้กระทั่งการกระจายสัญญาณเครือข่ายโทรทัศน์ Television broadcasting แต่สังคมมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่งประเทศไทย ระบบกฎหมายแต่ละฉบับจะออกมาบังคับใช้ได้ ต้องผ่านกระบวนการพิจารณาของรัฐสภา ทางกสทช.ก็มีความยืดหยุ่นในการออกระเบียบมาบริหารจัดการเรื่องเหล่านี้ กสทช.ก็จะบริหารโครงสร้างดิจิทัลผ่านระเบียบและการบริหารภายใต้กฎหมายที่ให้อำนาจกับกสทช.ไว้ นอกจากนี้สำนักงานกสทช.ที่เป็นนิติบุคคลและแยกมาจากกสทช. ก็ยังมีหน้าที่ในการดูแลระเบียบที่กสทช.ออกมา ให้เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ
จากประสบการณ์การเข้าไปเป็นที่ปรึกษาประธานกสทช.ทำให้เราเห็นได้เลยว่า กสทช.มีความเป็นพิเศษในตัวเอง คือไม่ใช่รัฐ ไม่ใช่ระบบราชการ แต่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้ดึงคนเก่งๆ จากหลายที่เข้ามาทำงาน เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านดิจิทัลและทางด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม จึงทำให้กสทช.มีคนเก่งๆเยอะในองค์กร เช่นด้านวิศวกรรม กิจการดาวเทียม การสื่อสาร การกระจายเสียง ฟิสิกซ์ เศรษฐศาสตร์ ที่จะคอยดูว่าจะมีการขับเคลื่อนเรื่องกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมไปด้วยหลักการแบบใด
"การได้ทำงานกับกรรมการกสทช.ทำให้รู้เลยว่า กสทช.เป็นองค์กรที่มีความพิเศษ ไม่ได้ยึดติดระบบราชการ และหวังว่ามันจะเป็นแบบนั้นต่อไป เพราะมีความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการ และสามารถสนับสนุนประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ"
สำหรับภารกิจและงานที่ได้รับมอบหมายจากประธานกสทช. นั้น”พชร”เล่าว่า ได้รับมอบหมายให้ช่วยงานในเรื่องเทคโนโลยี งานประสานเชื่อมต่อกับต่างประเทศ และงานด้านการเชื่อมต่อและสนับสนุนเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล
โดยงานเรื่องต่างประเทศนั้น เนื่องจากกสทช.เป็นภาคีของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union - ITU) ที่เป็นหน่วยงานด้านสหประชาชาติที่มีหน้าที่ดูแลสัญญาณโครงข่ายและมาตรฐานการเชื่อมต่อของโลกนี้รวมถึงพวกดาวเทียมด้วย ตลอดจนการคุยเรื่องช่องสัญญาณและการใช้ช่องสัญญาณที่เป็นการทำงานร่วมกันในระบบนานาชาติ เพราะมาตรฐานการใช้สัญญาณมันต้องเป็นหนึ่งเดียวกัน ก็จะมีการประชุมร่วม ITU เพื่อดูวิธีการใช้ทั้งหมด ผมก็จะช่วยงานในส่วนนี้รวมถึงการทำงานคู่ไปกับ Regulator ต่างประเทศ เช่นของยุโรป จีน อังกฤษ สิ่งเหล่านี้เราจะดูว่าเราจะพัฒนาธุรกิจไปอย่างไร ส่วนงานด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ก็คือการมองว่าเราจะสนับสนุนธุรกิจเหล่านี้ให้เติบโตขึ้นได้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็น over-the-top (OTT) โครงสร้างพื้นฐาน ต้นทุน เราก็จะมองภาพรวมว่าในทางเศรษฐศาสตร์และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ มันมีช่องทางไหนที่จะทำให้สิ่งเหล่านี้มันเข้าไปถึงประชาชนได้ครบทุกคน
สิ่งหนึ่งที่กสทช.มีก็คือ กองทุน USO ที่้นำมาใช้ตามพื้นฐานและทฤษฎีของITU ในการนำรายได้ส่วนหนึ่งของผู้ประกอบการมากระจายให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงการเชื่อมต่อ ซึ่งประเทศไทยบอกได้เลยว่าการเชื่อมต่อค่อนข้างเต็ม coverage ทั้งแบบมีสายสัญญาณและแบบไร้สายดีที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง จะเห็นได้ว่าในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา มีการทำพื้นที่ต่างๆ เข้าไปถึงพื้นที่ชายขอบ มีอินเตอร์เน็ตชุมชน มีพื้นที่ซึ่งทำให้ประชาชนในพื้นที่ต่างๆ เข้าถึงการใช้สัญญาณ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ หรืออินเตอร์เน็ตได้ ก็เป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ทำให้ประชาชนสามารถนำดิจิทัลไปใช้ได้เช่น การใช้ระบบแอฟฯ หมอพร้อม หรือ ระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (DOPA-Digital ID)ของกระทรวงมหาดไทย สิ่งเหล่านี้ใช้เป็นระบบ computer base ซึ่งหากโครงสร้างพื้นฐานไม่ไปถึงประชาชน ประชาชนก็ไม่สามารถใช้บริการของรัฐได้ ประสิทธิภาพก็จะลดลง สิ่งเหล่านี้ก็คือการทำธุรกิจให้มันดี ต้นทุนต้องถูก รายได้ต้องสูง และมีช่องให้ประชาชนเติบโตได้ อันนี้คือวิธีการคิดของระบบเศรษฐกิจดิจิทัล คือลดต้นทุนประชาชน เพิ่มรายได้ สร้างอาชีพให้เขาจากการมีระบบเศรษฐกิจดิจิทัล เราเลยได้เห็นประชาชนเข้าไปเป็นคู่ค้าของ Shopee - Lazada ได้ขอเพียงให้มีโทรศัพท์มือถือ
กสทช.ให้ความสำคัญ
ดูแลคุ้มครองผู้บริโภค
เมื่อถามถึงว่ากสทช.ให้ความสำคัญกับผู้บริโภคมากน้อยแค่ไหน เช่นการรับเรื่องร้องเรียนต่างๆ เพื่อไปแก้ไขปัญหา เรื่องนี้”พชร-ที่ปรึกษาประธานกสทช.”ยืนยันว่า ส่วนหนึ่งของพรบ.กสทช.ฯให้มีคุ้มครองผู้บริโภคสองฝ่าย คือฝั่งกระจายเสียง กับฝั่งโทรคมนาคม
ในฝั่งโทรคมนาคม เรื่องหลักๆ ก็จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับ บิลค่าบริการแพง สัญญาณการให้บริการของผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือหรือโอเปอเรเตอร์ไม่ดี เราก็มีการรับเรื่องร้องเรียนและแก้ไขปัญหาตลอดเวลา โดยกสทช.เป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อ-แก้ไข ระหว่างโอเปอเรเตอร์กับผู้ใช้ เช่นอาจมีการเข้าใจผิดหรือมีการทำผิดพลาดของผู้ให้บริการ เมื่อผู้ใช้บริการมาร้องเรียน เราก็ลงไปแก้ไขปัญหา
ส่วนการคุ้มครองผู้บริโภคฝั่งกระจายเสียง หลักๆ ก็คือการป้องกันประชาชน ไม่ให้ถูกหลอกลวง จากการใช้สื่อทีวี วิทยุ อย่างที่เจอก็เช่น การนำสื่อวิทยุไปขายของสิ่งที่ผิดกฎหมายหรือไม่มีคุณภาพ เมื่อได้รับเรื่องร้องเรียนมา ก็แจ้งตักเตือน แก้ไขปัญหาเป็นกรณีไป
เดินหน้าพัฒนาเครือข่าย
ระบบเตือนภัยประชาชน
“พชร-ที่ปรึกษาประธานกสทช.”กล่าวถึงเป้าหมายของกสทช.ชุดปัจจุบันในการพัฒนาการสร้างระบบเตือนภัยประชาชนที่รวดเร็วและทันสมัยว่า การพัฒนาระบบเตือนภัยประชาชน เป็นเป้าหมายของกสทช.เพราะการเตือนภัย Emergency Warning System มันเป็นพื้นฐานของประเทศที่พัฒนาแล้วที่จะมีมาตรฐานในการทำ Warning System ซึ่งปัจจุบันทุกคนจะมีโทรศัพท์มือถืออยู่ข้างกายตลอดเวลา สิ่งนี้ถูกนำมาใช้ในการเตือนภัย ทั้งภัยพิบัติทางธรรมชาติ ภัยพิบัติขนาดเล็ก อัคคีภัย รวมถึงสาธารณภัย เราจะเริ่มจากการเตือนภัยที่เป็นภัยพิบัติก่อน และค่อยๆ บริหารจัดการวิธีการ เพราะโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีต่างๆ ประเทศเรามีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าระเบียบการบริหารจัดการกับภาครัฐ เช่นกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย -ตำรวจ ยังไม่เกิด เราต้องรีบทำให้มันเกิด ซึ่งหากเกิดขึ้นมันจะเกิดการเชื่อมต่อของสิ่งที่เรามีอยู่แล้วนำมาใช้เพื่อสร้างประโยชน์ให้ประชาชนได้
เป้าหมายที่เรามองไว้ก็คือทำให้ระบบมีความสามารถในการเตือนแม้กระทั่งเชิงพื้นที่ เช่นหากเกิดอัคคีภัย ในจุดใดจุดหนึ่ง เราจะทำให้คนหลีกเลี่ยงเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว หรือเกิดอุบัติเหตุรถชนขนาดใหญ่ในพื้นที่บางแห่ง ก็ต้องพยายามอย่าให้คนเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อหลีกเลี่ยงจราจรและอันตราย มันสามารถทำได้ แต่ต้องใช้เวลา
เป้าหมายในปีหน้า 2567 สมมุติเราได้ระบบเตือนภัยและป้องกันสาธารณภัย ที่กระจายผ่านระบบ Wireless systems หรือระบบโทรศัพท์มือถือ มันก็จะเริ่มจากการที่ว่า เตือนภัยสึนามิ เตือนภัยแผ่นดินไหว เตือนภัยขนาดใหญ่ก่อน แล้วเราก็ค่อยสร้างพื้นที่แต่ละอัน เป็นเซลล์ไซด์ ที่จะค่อยๆ ย่อยหัวเรื่องในการเตือนภัยได้ แล้วแต่ว่าแต่ละจังหวัดจะมีการบริหารจัดการอย่างไร ซึ่งจะต้องทำควบคู่กับกระทรวงมหาดไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารภัย(ปภ.) ที่ได้รับโอนศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ จากกระทรวงดิจิทัลฯ ไปอยู่ที่ปภ.รวมถึงการทำงานควบคู่ไปกับ กระทรวงดิจิทัลฯ ที่มีหน่วยงานในสังกัดคือกรมอุตุนิยมวิทยา โดยกสทช.ก็จะสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้รัฐบาลมาบริหารจัดการได้เช่น มอบหมายให้ชัดเจนว่าจะให้ใครเป็นผู้แจ้งเหตุ จะให้ผอ.ศูนย์ป้องกันภัยพิบัติแห่งชาติ เป็นคนแจ้งเหตุใช่หรือไม่ แล้วป้องกันภัยระดับจังหวัดแจ้งเหตุด้วยได้หรือไม่ โดยกสทช.จะสร้างโครงสร้างพื้นที่ให้ ในระดับประเทศ -จังหวัด และอำเภอ เพื่อให้รัฐบาลมาบริหารโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว โดยกสทช.มีหน้าที่ทำกุญแจให้เขาปล่อยออกไป ซึ่งเรื่องดังกล่าว ในปี 2567 ก็น่าจะได้เห็นระบบเตือนภัยประชาชนดังกล่าวได้ในบางส่วน
Digital Transformation
องค์กรสำนักงานกสทช.ต้องเกิดขึ้น
บทสนทนาเราย้อนกลับมาคุยกันเรื่อง”องค์กรกสทช.”ว่าเรื่องของ “Digital transformation องค์กรสำนักงานกสทช.” ที่เป็นอีกหนึ่งแผนงานสำคัญที่กสทช.ตั้งเป้าไว้ว่าจะขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นในปี 2567 มีแนวทางอย่างไร “พชร-ที่ปรึกษาประธานกสทช.”ลงรายละเอียดเรื่องนี้ว่า Digital transformation คือการสร้างความสะดวกสบายในการบริการของภาครัฐ ที่ก็จะมีการนำข้อมูลของประชาชนเชื่อมต่อและเปิดเข้ามาโดยให้มีการเข้าถึงได้เร็วที่สุด
....องค์กรกสทช.เป็นองค์กรหลัก เป็นกระดูกสันหลังของการพัฒนาระบบเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ ในองค์กรเองยังมีปัญหาด้านการจัดการด้านDigital transformationอยู่ เป้าหมายการบริหารจัดการองค์กร ในปีนี้รวมถึงอีกสองปีข้างหน้าคือการเอาข้อมูลต่างๆ มา digitize เช่นทำให้จากที่ใช้กระดาษมายื่นแบบฟอร์ม หรือใช้กระดาษในการบริหารจัดการแบบโบราณต้องเหลือให้น้อยที่สุด ทำให้ประชาชนหรือผู้มาติดต่อกับกสทช.ไม่ต้องเสียเวลามานั่งรออะไรต่างๆ แต่ต้องเริ่มจากการบริหารจัดการข้อมูลในองค์กรให้ได้ก่อน
-จากที่ได้ทำงานในองค์กรกสทช.มาหนึ่งปีเศษ พบเจอข้อจำกัดหรือปัญหาอะไรหรือไม่ในการขับเคลื่อนงานกสทช.?
ก็มีสามส่วน ส่วนแรกคือเรื่องของ Generation คนของกสทช.มีช่องว่างระหว่าง ผู้บริหารระดับสูง กับผู้บริหารระดับกลางค่อนข้างกว้าง ทำให้การสื่อสารในการบริหารจัดการค่อนข้าง ยังต้องปรับตัวกันบ้าง อายุเฉลี่ยของพนักงาน จะอยู่ประมาณสี่สิบกว่า ทำให้ช่องว่างระหว่างอายุกับระดับข้างบนที่เป็นผู้บริหารระดับสูงเลย จะมีช่องว่างค่อนข้างสูง ที่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ความเข้าใจในเรื่อง Digital transformation ค่อนข้างยาก
สองคือ กสทช.เป็นองค์กรที่เกิดจากการหลอมรวมกันของกทช.-กคช.และกสช. ซึ่งสามแห่งนี้ไม่เคยเป็นหน่วยงานเดียวกันมาก่อน พอมารวมกัน ก็เลยยังไม่เป็นองค์กรที่หลอมรวมกันชัดเจน ดังนั้นก็เป็นเป้าหมายหนึ่งที่ต้องทำให้เกิดการหลอมรวมกัน โดยยึดบริบทหน้าที่ และ ป้าหมายเพื่อบริการสังคมเป็นหลัก
สาม คือการเข้าใจบริบทของอนาคต ซึ่งวันนี้มันยาก จากผลของการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี เช่น เรายังไม่เห็นว่าอนาคตของทีวีวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร อย่างบีบีซีของอังกฤษ บอกว่าในอนาคตอาจจะยกเลิกการกระจายเสียงทางโทรทัศน์ แต่ เรกูเรเตอร์ที่อังกฤษ ก็บอกว่า ยังไม่ควรยกเลิกโทรทัศน์ แม้การดูโทรทัศน์ของประชาชนจะลดน้อยลง แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะต้องยกเลิกเลย ซึ่งสามข้อข้างต้น ข้อสุดท้ายสำคัญที่สุด เพราะกสทช.ต้องรับการเปลี่ยนแปลงของอนาคตให้ได้ตลอด และหากไม่มีผู้บริหารระดับสูง ระดับกลาง และคนทำงานที่มีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับอนาคตเรื่องพวกนี้ จะทำให้ประเทศติดกรอบเดิม
"พชร-ที่ปรึกษาประธานกสทช."กล่าวอีกว่า เนื่องจากประธานกสทช.มาจากการเป็นแพทย์มาก่อน ทำให้ความโปร่งใสจึงเป็นเรื่องสำคัญ วิธีการมอง วิธีการถามของประธานกสทช.จึงคนละรูปแบบจากผู้บริหารทั่วไป อย่างเรามาจากสายการบริหารจัดการด้านรัฐศาสตร์ ก็จะมองแบบหน้าไปหลัง แต่ประธานกสทช. จะมองจากหลังไปหน้า ดังนั้นวิธีการทำให้เห็นชัดเจนที่สุดคือทำให้เกิดความโปร่งใสในทุกกระบวนการทำงาน
...ประธานกสทช.บอกเสมอที่กสทช.ว่าเราทำงานในด้านการพัฒนาธุรกิจ เราจึงต้องเป็นแบบอย่างในการพัฒนาธุรกิจ ธรรมาภิบาล จึงเป็นสิ่งที่จะทำให้การพัฒนาธุรกิจคงอยู่รอดได้ ท่านจึงบอกว่าอะไรที่เรื่องครหาจะต้องมีการตรวจสอบ และให้ระวังข้อครหาต่างๆ เพราะเราใช้เงินของผู้ประกอบการ กสทช.ไม่ได้ใช้เงินจากภาษีประชาชน กสทช.ใช้เงินจากผู้ประกอบการ เงินของเขา เขาก็ตรวจสอบเงินของเขาว่าเรานำมาใช้ถูกต้องไหม เราเป็นเรกูเรเตอร์ก็จริง แต่เราเอารายได้จากเขาที่มีผู้ถือหุ้น สังคม และราคาค่าบริการของประชาชน เราก็ต้องเอาทุกบาททุกสตางค์มาใช้ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด ประโยชน์ของโอเปอเรเตอร์ ประชาชนของประชาชน เรามีพนักงาน 1,900 คน ก็ต้องดูให้ได้ว่าทำงานได้มีประสิทธิภาพหรือไม่ งานแต่ละส่วน รวมถึงสำนักงานในระดับภูมิภาค ทำงานได้มีประสิทธิภาพหรือไม่ หรือเราเป็นตัวถ่วงเขา
“ ประธานกสทช.จึงบอกว่าเราต้องเป็นนิติบุคคลที่มีธรรมาภิบาลที่ดี ทุกอย่างต้องตรวจสอบได้"
...สำหรับการขับเคลื่อนงานของกสทช.หลังการเข้ามาของรัฐบาลชุดใหม่ โดยหลักกสทช.ก็พร้อมทำงานตามนโยบายรัฐบาลที่ก็พอคาดการได้ว่ารัฐบาลชุดใหม่ คงให้ความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจดิจิทัล การให้ความสำคัญกับเรื่องปากท้องประชาชน ทำอย่างไรให้ฟื้นฟูเศรษฐกิจได้เร็ว ซึ่งเราก็ได้มีการประชุมร่วมกับโอเปอเรเตอร์เพื่อหาหนทางในการช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายประชาชน และการเข้าถึงบริการของรัฐผ่านเครือข่ายดิจิทัลให้ได้อย่างมีคุณภาพและรวดเร็ว รวมถึงการแก้ปัญหาต่างๆ เช่นการนำสายไฟลงดิน ก็ได้มีการเตรียมข้อมูลพื้นฐานให้รัฐบาล และเมื่อรัฐบาลมีกรอบนโยบายชัดเจนออกมาผ่านกระทรวงดิจิทัลฯ กสทช.ก็ต้องพร้อมในการสนับสนุนนโยบายรัฐบาลอยู่แล้ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อุทธัจจะ .. ในวังวนแห่งการตื่นธรรม .. ยุคไอที!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระรัตนตรัย... สัทธายะ ตะระติ โอฆัง.. บุคคลข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา.. โอฆะ หมายถึง ห้วงน้ำ ที่มีกระแสเชี่ยวกราก พัดพาสัตว์ทั้งหลายให้ตกไปในกระแสน้ำนั้น ยากจะข้ามฝั่งไปได้
ก.อุตฯ ลุยเสริมทักษะเอสเอ็มอีกว่า 200 ราย
'ศศิกานต์' เผย ก.อุตฯ เดินหน้าส่งเสริมเอสเอ็มอีกว่า 200 ราย เสริมทักษะ เพิ่มขีดการแข่งขัน เน้นดิจิทัลและความยั่งยืน คาดดันเศรษฐกิจโตกว่า 62 ล้านบาท
ทลาย 'แก๊งคอลเซ็นเตอร์' ใช้เบอร์ 02 ลวงเหยื่อกว่าหมื่นเลขหมาย
พาณิชย์” ร่วม 3 หน่วยงาน แถลงข่าวจับกุมแก๊งคอลเซนเตอร์ ใช้นิติบุคคลบังหน้า หลอกลวงประชาชน หลัง กสทช. พบความผิดปกติใช้เบอร์โทร 02 นับหมื่นเลขหมาย โทรหาเหยื่อ ตำรวจพบมีนิติบุคคล 3 ราย เข้าไปเกี่ยวข้อง และกรมพัฒนาธุรกิจการค้าให้ข้อมูลนิติบุคคลเชิงลึก เผยยังได้วาง 7 แนวทาง ป้องกันการนำบริษัทไปใช้หลอกลวงเกิดขึ้นซ้ำอีก
’ห้าพันตารางกิโลเมตร‘ เท่ากับกี่ตารางนิ้ว ? เงื่อนตายของ MOU 2544 ?
MOU 2544 ไม่ใช่กรอบการเจรจาเพื่อหาข้อตกลง ”แบ่งผลประโยชน์(ปิโตรเลียม)“ เท่านั้น แต่หาข้อตกลง “แบ่งเขตแดน(ทะเล)“ ด้วย !
คำนูณ ผ่าปม 2 ได้ 3 เสีย ถ้าไม่ยกเลิก MOU 2544
ความเคลื่อนไหวและการแสดงความคิดเห็นเรื่อง MOU 2544 ที่เชื่อมโยงถึงเกาะกูด, การหาแหล่งพลังงานแห่งใหม่ในพื้นที่อ้างสิทธิไทย-กัมพูชา ที่มีการประเมินกันว่ามีมูลค่าสูงถึง 10 ล้านล้านบาท ยั