ทนายแจม-ศศินันท์ ก้าวไกล แก้ไขมาตรา 112 เราได้ฉันทามติจากประชาชน

ผลการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อโหวตเห็นชอบ-ไม่เห็นชอบ บุคคลที่ถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อ 13 ก.ค.จบไปแล้ว โดย"พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล"ไม่ได้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภาที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ ส่วนเส้นทางการเมืองของพรรคก้าวไกล ต่อจากนี้ จะยังคงเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ และพิธา ยังได้ลุ้นเป็นนายกฯ อีกหรือไม่ ต้องรอติดตามต่อไปแบบไม่กระพริบตาทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม การประชุมร่วมรัฐสภาวันดังกล่าว ประเด็นหนึ่งที่มีทั้งสมาชิกวุฒิสภา(สว.)และส.ส.อภิปรายกันค่อนข้างมากก็คือเรื่อง"นโยบายการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล" ซึ่งแกนนำพรรคก้าวไกล ก็ได้ยืนยันต่อที่ประชุมรัฐสภาถึงการจะผลักดันเรื่องดังกล่าวต่อไป

"ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์-ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล"หรือที่หลายคนรู้จักกันในชื่อ"ทนายแจม"นักกฎหมายสิทธิมนุษยชนชื่อดัง-อดีตทนายความ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน-อดีตเลขาธิการ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ที่มีประสบการณ์โดยตรงมาก่อนกับการเป็นทนายความ ที่คอยว่าความ-ช่วยเหลือให้คำปรึกษาข้อกฎหมายกับผู้ถูกดำเนินคดีตามมาตรา  112 และคดีการเคลื่อนไหวและการแสดงออกทางการเมืองมาหลายปีในช่วงเป็นทนายความที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ก่อนที่จะมาเป็นส.ส.ในปัจจุบัน

แน่นอนว่า เมื่อคุยกับ"ทนายแจม-ศศินันท์"เราต้องคุยเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 ว่าพรรคก้าวไกลมีหลักการและเหตุผลอย่างไรในการจะผลักดันเรื่องนี้ แต่ลำดับแรก เราถามถึงว่าการเข้ามาเป็นส.ส.ในสภาฯครั้งแรกในชีวิต มีความตั้งใจจะเข้ามาทำงานหรือผลักดันในเรื่องอะไรบ้าง โดยเฉพาะเรื่องความเท่าเทียม-สิทธิสตรี ซึ่ง"ทนายแจม-ศศินันท์"บอกเล่าถึงความตั้งใจในส่วนนี้ว่า อยากทำงานในสเกลที่ได้แก้ไขปัญหาจริงๆ ที่เรารู้สึกว่ามันเป็นปัญหาสังคม

อย่างที่เราพูดบ่อยก่อนหน้านี้คือเรื่องการให้มี "ห้องให้นม"ในสถานที่ต่างๆ ซึ่งในบทบาทของการเป็นทนายความ หรือประชาชนทั่วไป เราอาจจะทำอะไรได้ไม่มาก ได้แต่ออกข่าว ให้ข่าวว่าเราอยากมีห้องให้นม เกิดขึ้นในประเทศไทย ให้ออกมาเป็นกฎหมายหรือมีลักษณะการบังคับให้สถานที่ราชการ สถานที่สาธารณะ หรือบริษัทต่างๆ ควรมีห้องให้นม สำหรับผู้หญิงเพื่อให้นมบุตร ซึ่งพอเรามีโอกาสได้เข้ามาทำงานในสภาฯ จะทำให้เราขับเคลื่อนกฎหมายเรื่องพวกนี้ได้ ขับเคลื่อนการแก้ไขพรบ.บางฉบับที่อาจจะช่วยพอให้มีห้องให้นมได้ในอนาคต เหมือนกับเราได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาโดยตรง

"ทนายแจม-ศศินันท์"กล่าวต่อไปว่านอกจากนี้จากที่เราทำงานด้านกฎหมาย มาร่วมสิบปี ทำให้ได้เห็นปัญหาในบางเรื่องเช่นจากประสบการณ์ของเราในเรื่องมาตรา 112 เพราะเคยเป็นทนายความที่ทำคดีเกี่ยวกับมาตรา 112 มาตั้งแต่เป็นทนายความใหม่ๆ ทำให้ได้เห็นปัญหาของมาตรา 112 มากกว่าที่คนนำไปพูดกันตามที่เป็นข่าว แต่เรามองว่ามันเป็นปัญหาจริงๆ กับการที่ 112 อยู่ในประมวลกฎหมายอาญา หมวดความมั่นคง แต่ตอนที่เราเป็นทนายความ เราแค่ทำตามกฎหมายที่เขามีให้ เราจะทำมากกว่านั้นไม่ได้ กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้ แต่การทำงานในสภาฯ เราสามารถเข้าไปแก้ไขปัญหานั้นเลยได้

-การเสนอแก้ไขมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล มีหลักการ เหตุผลอย่างไร?

มาตรา 112 ปัจจุบันอยู่ในหมวดความมั่นคงของประมวลกฎหมายอาญา การที่อยู่ในหมวดความมั่นคง ทำให้พอมีเวลาฟ้องร้องดำเนินคดีเกิดขึ้น การไปแจ้งความ ทำให้ตำรวจ อัยการ ศาล เขาก็เหมือนจะมีความที่ไม่กล้าใช้ดุลยพินิจตัดสินใจด้วยตัวเอง จะต้องมีคณะกรรมการกลั่นกรองตลอดเวลา ทำให้เรารู้สึกว่ามันไม่ค่อยมีความเป็นธรรมสำหรับคนที่ถูกดำเนินคดี

อย่างตอนที่เราทำคดีพวก 112 ใหม่ๆ มีอยู่ช่วงหนึ่ง คนที่ถูกดำเนินคดีแทบไม่ได้รับสิทธิการประกันตัวด้วยซ้ำ หรือการตีความที่ตัวกฎหมาย ไม่ได้บัญญัติชัดเจนว่า แค่ไหนถึงจะเป็นความผิด เราถึงจะเห็นการโดนดำเนินคดีในเนื้อหาที่แตกต่างกันมาก เช่นอย่างที่เห็นบางคนแค่โพสต์ หรือแค่เขียนบางคำ บางประโยค ก็ถูกตีความว่าทำผิดมาตรา 112 แล้ว และอีกอันที่สำคัญคือการริเริ่มคดี ที่ให้ใครก็สามารถริเริ่มคดีก็ได้ คนทั่วไป ที่พบเห็น ก็สามารถไปแจ้งความดำเนินคดี 112 เองได้ ทำให้ใครจะถูกกลั่นแกล้งก็ได้ เพราะความที่อาจจะไม่ชอบ

อย่างที่เราเจอก็เช่นมีการปลอมเฟซบุ๊ก  เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นคือมีเพื่อนผู้หญิงสองคน แล้วเกิดทะเลาะกัน เพื่อนคนหนึ่งก็ไปปลอมเฟซบุ๊ก โดยใช้ชื่อ-นามสกุล คนที่ถูกปลอมแล้วก็ใส่หน้าคนที่ถูกปลอมด้วย ต่อมาก็มีการไปจับกุม ซึ่งในช่วงดังกล่าว อยู่ในช่วงการประกาศกฎอัยการศึก (หลังรัฐประหารปี 2557 ) ที่คดีจะต้องขึ้นศาลทหาร   แม้ว่ามันอาจจะสู้คดีในชั้นศาลได้ แต่กระบวนการก่อนหน้านั้น มันทำให้คนนั้นไม่ได้รับความเป็นธรรม กว่าจะไปถึงชั้นศาล  กว่าจะพิสูจน์ให้เห็นว่าไม่มีหลักฐานที่จะเชื่อมโยงมาได้ เขาก็ถูกลิดรอนสิทธิ ถูกคุมขังไปจนครบ 12 ผลัด ก็คือประมาณ 84 วัน ไปแล้วในกระบวนการระหว่างนั้นและสุดท้าย อัยการสั่งไม่ฟ้องเพราะไม่มีหลักฐานว่าเขาเป็นโพสต์จริงหรือไม่ ก็ปล่อยตัวออกมา  แต่กลายเป็นว่า 84 วันเขาต้องอยู่ในเรือนจำ ติดคุกไปฟรีๆ

หรืออย่างคดีที่เราเคยทำ ก็มีคนที่มีอาการทางจิตเวช หลายคนก็ถูกดำเนินคดี 112 เพราะคนที่มีอาการทางจิตเวช ก็จะคิดว่าตัวเองเป็นกษัตริย์ แล้วกษัตริย์ไปยืมเงินอะไรเหล่านี้ แม้ข้อเท็จจริง อาจจะฟังดูเป็นเรื่องขำๆ แต่เวลาโดนดำเนินคดีจริงๆ มันก็ขำไม่ออก กลายเป็นว่าตำรวจก็ไม่กล้าที่จะไม่จับ เพราะข้อเท็จจริงมันเข้าลักษณะ เราก็พยายามจะยื่นเรื่องว่าการมีอาการทางจิตเวช อาจทำให้เขาขาดเจตนาในการกระทำความผิดต่างๆ แต่ก็มีปัญหาอีกคือข้อความมันเข้าองค์ประกอบแล้ว ทำให้การดำเนินคดีมาตรา 112 ไม่ว่าจะเป็นในชั้นตำรวจ อัยการ ศาล มันเหมือนมีความไม่กล้าที่จะใช้ดุลยพินิจในการตัดสินคดี หรือจะให้ความเห็นต่างๆ ทางคดีเท่าใด

สำหรับสาระสำคัญของร่างแก้ไขมาตรา 112 ที่พรรคก้าวไกลจะเสนอเข้าสภาฯ ก็มีเช่น เสนอให้ย้ายความผิดฐาน 112 ออกจากหมวดความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ และให้ลดโทษการกระทำความผิด จำคุกไม่เกิน 1 ปี เพราะโทษความผิดปัจจุบัน มีการกำหนดขั้นต่ำไว้(3 ปี) แต่ปกติคดีทั่วไปจะไม่มีโทษขั้นต่ำ แต่จะบอกว่าจำคุกไม่เกินกี่ปี แต่มาตรา 112 มีโทษจำคุกขั้นต่ำ ทำให้แม้ศาลอาจเห็นว่าคดีเบา แต่ก็ไม่สามารถตัดสินให้ต่ำกว่าโทษขั้นต่ำได้ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ได้มีแค่ 112 ยังมีมาตราอื่นอีก ถ้าในกรณีที่รุนแรงเช่นประทุษร้าย ก็ยังมีมาตราอื่นอยู่ แต่อันนี้เป็นแค่การแสดงความคิดเห็น จนกลายเป็นว่ามาตรา 112 นำมาใช้กับการแสดงความคิดเห็นเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ได้รุนแรงจนถึงขั้นจะไปล้มล้างสถาบันฯ ได้ขนาดนั้น จึงไม่ควรอัตราโทษที่มันรุนแรงจนเกินไป

นอกจากนี้ ก็มีการเสนอแก้ไขให้สำนักราชเลขาธิการ เป็นผู้แจ้งความดำเนินคดี ก็เพราะพอมาตรา 112 อยู่ในหมวดความมั่นคง ที่ทำให้ใครก็ริเริ่มคดีได้ มันทำให้มีการกลั่นแกล้งเกิดขึ้น ทำให้มีคดีพวกนี้เข้าไปสู่กระบวนการยุติธรรมเยอะมากขึ้น ซึ่งโดยหลักการแล้ว การที่เราจะฟ้องดำเนินคดีใครก็ตาม เราควรเป็นผู้เสียหาย เช่นมีคนมาตีเรา ตัวเราเป็นคนถูกตี เราก็ต้องไปแจ้งความดำเนินคดี แต่กรณี 112 ประมาณว่าคนที่ไปแจ้งความไปฟ้องอาจไม่ใช่ผู้เสียหาย ซึ่งหากกลับมาที่หลักการของมัน ก็ควรให้เป็นผู้เสียหายไปดำเนินการ ซึ่งหากโอเคไม่อยากให้กษัตริย์เข้ามาเกี่ยวข้องในคดี ก็ควรต้องเป็นสำนักราชเลขาธิการ ในการที่จะพิจารณาว่าควรดำเนินคดีหรือไม่อย่างไร

-แต่ก็มีเสียงแย้งว่า แนวทางดังกล่าว ก็จะทำให้สำนักราชเลขาธิการ กลายเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชนโดยตรง?

เขามีสิทธิ์ที่จะกลั่นกรอง เพราะสุดท้ายแล้วการให้ประชาชนมาขัดแย้งกันเอง จะยิ่งทำให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะอย่างที่เราเห็น คือเป็นฝั่งตรงข้ามมาแจ้งความดำเนินคดี อะไรนิดหน่อย ก็มาแจ้งความ 112 แล้ว หรือมีองค์กรประชาชนที่ตั้งขึ้นมาแล้วก็มามอนิเตอร์เฟซบุ๊กเป็นรายบุคคล มาดูโพสต์ไหนที่มันเข้าข่าย กลายเป็นว่าเป็นประชาชนฟ้องคดีกันเอง ริเริ่มคดีกันเอง

นอกจากนี้ก็มีการเสนอแก้ไขในเรื่องของข่ายของมาตรา 112 ที่ว่าต้องแค่ไหนถึงจะเป็นความผิด โดยควรต้องมีบทบัญญัติเพิ่มเติมว่า ขอบข่ายของการกระทำความผิดต้องประมาณไหน ข้อความประมาณไหน เพราะปัจจุบันมันค่อนข้างกว้างมาก เหมือนอย่างมีเคสหนึ่ง นำรูปไปทิ้งลงในน้ำ ก็ถือว่าเข้าข่ายผิดมาตรา 112 แล้ว หรือบางเคส ก็มีที่ไปกดไลค์เพจ ก็ควรต้องมีสโคปของความผิดที่มันชัดเจน เพราะโดยหลักของกฎหมายอาญา คนที่จะต้องรับโทษทางคดีอาญา จะต้องรู้ด้วยว่าสิ่งที่เขาทำมันผิด แต่บางอย่าง คนอาจไม่รู้ว่าแค่ไหนคือการทำผิด ทำให้มันเกิดความไม่ชัดเจน เหมือนอย่างเรื่องลักขโมย การหยิบของคนอื่นมาเป็นของตัวเอง แบบนี้คือผิดข้อหาลักทรัพย์ หรือคนไปตีคนอื่น คนที่ไปทำ เขารู้อยู่แล้วว่าเขาทำผิด แต่กรณีของมาตรา 112 คนก็ยังเห็นไม่ชัดเจนว่าแค่ไหนถึงคือการกระทำความผิด มันจึงไม่ค่อยเป็นไปตามหลักการของกฎหมายอาญาเท่าใดนัก ซึ่งหากมีการเสนอแก้ไข ก็จะทำให้สถาบันฯ จะไม่ถูกดึงมาให้ประชาชนมีปัญหากันเองเหมือนในปัจจุบัน

-คิดว่าหากพรรคก้าวไกลเสนอร่างแก้ไข 112 เข้าสภาฯจะได้เสียงสนับสนุนจากส.ส.และสว.มากน้อยแค่ไหน ?

มองว่าเราได้ฉันทามติจากประชาชน เพราะตลอดเวลาที่เราหาเสียงมา เราก็จะถูกโจมตีเรื่องนี้มาตลอด เรื่อง 112 ก็พูดกันว่าหากเลือกก้าวไกล เข้าไปจะแก้ 112 แต่ประชาชนก็ยังเลือกเรามา มองว่าเพราะส่วนหนึ่งเขาเห็นถึงความชัดเจนที่เรา ไม่เคยลดเพดานตัวเองลงมาว่าเราจะไม่ทำแล้ว เพราะว่าเรารับปากกับประชาชนไว้แล้วในเรื่องนี้ เพียงแต่ว่าอาจจะไม่ได้เป็น priority ในหนึ่งปีแรกหรือสองปีแรก แต่ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่เราคาดหวังว่าเราจะได้เข้ามาทำเรื่องนี้

-แต่สภาฯสมัยที่แล้ว ส.ส.ก้าวไกล ก็เคยเข้าชื่อกันเสนอร่างแก้ไข 112 เข้าสภาฯ แต่ฝ่ายกฎหมายของสภาฯ ก็บอกว่าเสนอไม่ได้ขัดรัฐธรรมนูญ และหากรอบนี้จะเสนอเข้ามาอีก ดูแล้วคงฝ่าอีกหลายด่าน หากสุดท้าย ก้าวไกลผลักดันไม่สำเร็จจะมีผลทางการเมืองอะไรหรือไม่?

คืออย่างน้อยๆ เราขอให้ได้ทำในสิ่งที่เราได้รับปากไว้ก่อน ส่วนในระหว่างทาง และปลายทางจะเป็นอย่างไร แจมว่าก็อยากให้มันมีการได้ริเริ่มก่อน เลือกตั้งรอบนี้ พรรคได้เสียงมาค่อนข้างเยอะ และเราก็คิดว่า อุปสรรคอาจจะน้อยกว่าครั้งที่แล้ว ส่วนรอบนี้จะไปได้ไกลขนาดไหน เราว่าก็ต้องดูกระแสของสังคมด้วย และดูสถานการณ์ต่างๆ ในช่วงระยะเวลานั้น

อย่างไรก็ตาม เรื่องนโยบายต่างๆ ของพรรคก้าวไกลนั้น พรรคมีชุดนโยบายตอนหาเสียง 300 กว่านโยบาย แต่เรื่องแก้ไขมาตรา  112 เป็นหนึ่งในสามร้อยกว่านโยบาย เพียงแต่เรื่องนี้อาจโดดเด่นกว่าพรรคการเมืองอื่น คนก็เลยไฮไลท์เรื่องนี้กันเยอะ แต่หากใครที่ติดตามพรรคก้าวไกลจริงๆ เรามีสามร้อยกว่านโยบาย

-คนก็มองกันว่าหากสุดท้าย ก้าวไกลเสนอร่างแก้ไข 112 เข้าสภาฯจริงๆ อาจจะนำไปสู่การสร้างความขัดแย้งของคนในสังคม?

คิดว่าเป็นหน้าที่ของนักการเมืองที่ต้องอธิบายให้สังคมทราบว่า เหตุและผลเป็นอย่างไร เรามีหน้าที่ในการอธิบาย ซึ่งการนำเรื่องนี้เข้ามาในสภาฯ ส่วนหนึ่งมันทำให้สิ่งนี้ เข้ามาพูดในสภาฯ มันจะช่วยลดความขัดแย้งในสังคมได้ เพราะสภา เป็นสถานที่ซึ่งจะทำให้เราได้พูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมาจริงๆ ได้พูดคุยถึงปัญหาเรื่องนั้นจริงๆ ได้ฟังเหตุและผลของคนในรัฐสภา ซึ่งสุดท้าย ประชาชนจะตัดสินได้เองว่า แต่ละคนมีเหตุผลอย่างไร คนที่เห็นด้วย มีเหตุผลอย่างไร และคนที่ไม่เห็นด้วย มีความคิดเห็นอย่างไร แจมว่าอันนี้คือหน้าที่ของนักการเมืองที่จะทำให้ประชาชนได้เห็นความเห็นจากคนทั้งสองฝั่งจริงๆ แต่ปัจจุบัน เรื่องนี้ ถ้าเรานำไปพูดกันนอกสภาฯ พูดแล้วเกิดอะไรขึ้น ก็โดนคดีกัน แต่เราจะลดแรงต้านตรงนั้น เอามาให้นักการเมืองได้พูดกันในสภาฯ เพื่อให้ประชาชนได้เห็น แบบที่ไม่ต้องโดนกฎหมายด้านนอกจัดการ และการพูดในสภาฯ ก็เป็นพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งทำให้เขาได้เห็นจริงๆ เพราะหากเรานำปัญหาไว้ใต้พรหม ไว้ใต้โต๊ะอยู่ตลอดเวลา สุดท้าย ปัญหานั้น ก็จะไม่ได้รับการแก้ไข แต่หากเรานำปัญหานั้นมาวางไว้บนโต๊ะหรือนำเรื่องเข้ามาสู่การพิจารณาของสภาฯ ให้ทั้งสองฝั่งได้ถกเถียงกันในสภาฯ ประชาชนจะเป็นคนตัดสินเองว่า เขามีความคิดเห็นไปในทิศทางไหน อันนี้ แจมว่า อันนี้คือวิธีการที่ช่วยลดความขัดแย้งในคดีมาตรา 112 อีกวิธีการหนึ่ง

สำหรับข้อมูลตัวเลขคนที่โดนดำเนินคดีและได้รับผลกระทบจากคดี 112 ในช่วงก่อนหน้านี้ พบว่ามีหลากหลายมา แต่ว่าเราลาออกจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมาประมาณสองปีแล้ว แต่หากพูดถึงช่วงที่เราทำงานอยู่ เฉพาะแค่ปีแรก ก็ประมาณ 30-40 คดี แต่พบว่าคดีมันขึ้นมาเยอะมากตอนช่วงที่เราลาออกมาแล้ว เลยไม่ได้ไปดูว่าสถิติเป็นอย่างไร แต่ก็คิดว่าเป็นร้อยกว่าคดี ซึ่งบางคน หากรวมๆกันหลายคดี ติดคุกกันแบบหลายสิบชาติ ก็ไม่จบ บางคนนั่งคำนวณกันเล่นๆ หากโดนตัดสินว่าผิดหมด ติดคุกรวมกันร่วมสามร้อยปี เพราะด้วยอัตราโทษที่สูงมาก

“เรื่อง 112 พรรคพูดเรื่องนี้มาตั้งแต่ตอนหาเสียงและเราพูดเรื่องนี้มาตลอด และเราก็โดนโจมตีเรื่องนี้มาโดยตลอดว่าพรรคเราจะทำเรื่องนี้ อย่าไปเลือกก้าวไกล เพราะจะไปแก้ 112 แต่สุดท้าย ฉันทามติของประชาชนก็ออกมาว่า เราชนะการเลือกตั้ง ได้คะแนนมาอันดับหนึ่ง เราคิดว่าประชาชน ก็ได้บอกอะไรกับสังคมแล้วเหมือนกันว่า เขาต้องการอะไรบ้าง เขาเห็นด้วยกับเราขนาดไหน”

นิรโทษกรรม

คดีแสดงออกทางการเมือง

ทำไมต้องผลักดันเป็นกฎหมาย?

-ทางหัวหน้าพรรคก้าวไกล  นายพิธาได้แถลงไว้เมื่อ 3 ก.ค.ถึงการจะผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมคดีแสดงออกทางการเมือง ตรงนี้มีหลักการ และแนวทางอย่างไร จะเกี่ยวข้องกับคนที่ถูกดำเนินคดี 112 ด้วยหรือไม่?

เราคิดว่าคดีการแสดงออกทางการเมืองมันค่อนข้างกว้าง อาจไม่ได้หมายถึงเรื่อง 112 อย่างเดียว แต่อาจจะเกี่ยวกับคดีการชุมนุมทางการเมือง ที่เราเห็นนักศึกษา ลูกหลานเรา หรือใครก็ตามที่ถูกดำเนินคดี จากการที่เขาแค่ไปชุมนุมเรียกร้องสิทธิในเรื่องที่เขาเห็นว่ามันไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นกระบวนการประชาธิปไตยอย่างที่ทั่วโลกเขาทำกัน เช่นรู้สึกไม่พอใจรัฐบาล ก็มีสิทธิที่จะออกมาเรียกร้อง ซึ่งในสมัยรัฐบาลที่ผ่านมา สิทธิที่จะได้เรียกร้องมันน้อยมาก เพราะพอออกมา ก็โดนดำเนินคดี โดนจับขังคุก โดนฉีดน้ำใส่ -โดนกระสุนยางและอีกหลายอย่าง

สิ่งเหล่านี้ สุดท้าย กลายเป็นว่าเจ้าหน้าที่ไม่โดนดำเนินคดี แต่กลายเป็นประชาชนที่ถูกดำเนินคดี ที่จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีเยอะมาก อย่างในช่วงตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา มีประชาชนที่โดนจับกุมคุมขัง และถูกดำเนินคดี จากการชุมนุม-การแสดงออกทางความคิดเห็นที่เกี่ยวกับการเมืองทั้งหลายมีเยอะมาก น่าจะเป็นพันกว่าคดี และมีหลายร้อยคนมากที่ถูกดำเนินคดี ซึ่งพอโดนคดี ก็ส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิต เช่นต้องถูกติดกำไลEM หรืออย่างแค่มีประวัติติดอยู่ในข้อมูลของตำรวจ การใช้ชีวิต-การทำงานก็ลำบาก

บางคนเขาก็ถูกแบล็กลิสต์ ห้ามออกนอกประเทศ มันก็ส่งผลต่อการใช้ชีวิต มีน้องๆหลายคน มีโอกาสสอบได้ทุน แต่ไปไม่ได้ เพราะติดคดีเหล่านี้อยู่ ซึ่งเป็นคดีที่เกิดจากเขาใช้สิทธิในฐานะของพลเมืองคนหนึ่งที่อยากเห็นประเทศดีขึ้น ก็ออกมาเรียกร้องตามสิทธิ แต่กลับถูกรัฐบาลดำเนินคดี คดีพวกนี้ ควรถูกได้รับการพิจารณาจากการนิรโทษกรรม แต่รายละเอียด ตอนนี้ต้องดูทางพรรคว่าจะมีรายละเอียดเรื่องนี้อย่างไร แต่ในภาพกว้าง การนิรโทษกรรมคดีการแสดงออกทางการเมือง น่าจะหมายถึงประมาณนี้

แต่เรื่องนิรโทษกรรม แจมโฟกัสไปที่ประชาชนเป็นหลัก ประชาชนคนเล็กคนน้อยที่ต้องถูกดำเนินคดี เพราะการที่คนหนึ่งคนโดนดำเนินคดี มันเกิดผลกระทบไปทั้งครอบครัว อย่างสมัยที่เคยเป็นทนายทำคดี ก็มีอย่างเช่น มีน้องคนหนึ่งโดนจับ ก็ทำให้พ่อแม่ ญาติพี่น้อง ต้องไปเยี่ยม ไปทำอะไรต่างๆ ก็ทำให้เสียเวลา เสียเงินเสียทอง กับการที่เขาทำในเรื่องที่ไม่ได้ทำเพื่อครอบครัวตัวเอง แต่เขาทำเพื่อส่วนรวม เขาอยากเห็นสังคมไปในทิศทางอย่างที่เขาเห็น เด็กรุ่นใหม่ๆ ที่รู้สึกว่าสิบกว่าปีที่ผ่านมา การเมืองมันแย่มาก เขาอยากสร้างสังคมที่เขาต้องอยู่ในอนาคต ด้วยตัวเขาเอง แต่พอออกมาเรียกร้อง ก็ถูกดำเนินคดี ก็เลยคิดว่าเรื่องเหล่านี้ ถามว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนหรือไม่ ก็เป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะปัจจุบัน คนก็ยังขึ้นโรงขึ้นศาลกันหลายร้อยคดี

-นโยบายพรรคก้าวไกล ก็ให้ความสำคัญเรื่องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ปฏิรูปตำรวจด้วย มีแนวทางอย่างไร?

เรื่องสำคัญที่พรรคก้าวไกลได้พูดมาตั้งแต่สมัยเป็นฝ่ายค้าน ก็คือระบบ"ตั๋ว"ต่างๆ เพราะระบบตั๋ว ก็ทำให้การเมืองเราถอยหลัง เพราะพอมีระบบตั๋ว ตำรวจก็ต้องทำตามแนวนโยบายของคนที่ถือตั๋ว เพื่อจะได้มีตำแหน่ง มียศที่สูงขึ้น มีตำแหน่งที่ดีขึ้น ก็ต้องไปติดตามนายที่ถือโผตำรวจ เวลามีตั๋วมีโผ ทำให้เวลาตำรวจทำงานอะไรก็ตาม เช่นมีม็อบ ก็ต้องฟังว่าจะจัดการแบบไหน เช่น การใช้กระสุนยาง แก๊สน้ำตา ก็เกิดจากผู้บังคับบัญชาที่เขาสั่งลงมา ซึ่งผู้บังคับบัญชา ก็ต้องฟังระบบของเขา ก็ทำให้การทำงานทุกอย่างไปอยู่ที่ระบบตั๋วเสียเยอะ นายตำรวจหลายคนที่ไม่ได้ทำงานจริงๆ แต่ไปคอยตามนายคนนั้นคนนี้ ต้องไปเข้าหาผู้ใหญ่ ทำให้แทนที่จะมาทำงานช่วยเหลือประชาชน แต่กลับเอาเวลาไปคอยติดตามนาย ติดตามผู้ใหญ่โดยไม่ได้เนื้องานที่จะมาทำงานให้ประชาชน ทำให้ตำรวจไม่ได้ทำงานจริงๆ

นโยบายการยกเลิกระบบตั๋ว ระบบเส้นสายต่างๆ จะช่วยทำให้ ตำรวจได้กลับมาทำงานของตำรวจจริงๆ โดยให้มีระบบการประเมินวัดผลตามขั้นตอนในการจะเลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้นจะต้องมีKPIอะไรบ้างในการวัดผล โดยKPI ก็ควรต้องยึดโยงกับประชาชน ยึดโยงกับปริมาณงาน การทำงานของตำรวจ มากกว่าการยึดโยงแค่ว่าคุณเป็นเด็กของใคร คอยติดตามใคร

นอกจากนี้พรรคก็มีนโยบายเรื่องการลดภาระพนักงานสอบสวน -การให้สวัสดิการพนักงานสอบสวน เพราะพนักงานสอบสวนในประเทศไทยเหมือนจะมีเยอะ แต่ด้วยหน้างานสอบสวนจริงๆ ก็มีคนทำงานไม่กี่คน ก็จะไปโยงเรื่องปัญหาระบบตั๋วอยู่ดี เพราะตำแหน่งบอกว่าเป็นพนักงานสอบสวน แต่จริงๆ ไปช่วยราชการ ไปติดตามคนเพื่อความก้าวหน้าทางอาชีพ ซึ่งหากเรายกเลิกระบบเส้นสายต่างๆ ได้ ก็จะทำให้มีการคืนตำรวจให้กลับมาทำงานจริงๆ ได้กลับมาเป็นพนักงานสอบสวนจริงๆ เพราะหากตำรวจกลับมาทำงานเยอะขึ้น หน้างานก็จะน้อยลง

อย่างที่เราไปคุยกับตำรวจ พบว่าอย่างในสถานีตำรวจมีตำแหน่งอยู่สิบคน แต่ทำงานจริงๆ มีแค่ 3-4 คน ที่เหลือคือมีชื่ออยู่สถานี แต่จริงๆ ไปช่วยงานคนนั้นคนนี้ ทำให้เนื้องานก็กองกันไว้โดยมีคนทำงานน้อย ทำให้เกิดความเครียดจนทำงานไม่มีประสิทธิภาพหรือที่มีการฆ่าตัวตาย ก็จะเห็นได้ว่าทุกปัญหามันจะเกี่ยวโยงกันไปทั้งหมด

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“รองประธานสโมสร เชียงราย ยูไนเต็ด สู่นักการเมืองหญิงแกร่ง”

หลายคนรู้จักกับนักการเมืองรุ่นใหญ่ อย่าง “ยงยุทธ ติยะไพรัช” อดีตประธานรัฐสภา ที่มีลูกสาว “สส.โฮม” ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช สส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ที่ “สส.โฮม” ได้ตัดสินใจลงเล่นการเมือง จากมาดามสู่สส. มีอะไรต้องเปลี่ยนเยอะ และด้วยภาพลักษณ์ที่สดใส เป็นมิตร เฟรนลี่กับทุกคน จึงได้รับคำเรียกเล่นๆว่า ทูตสันถวไมตรี เพราะ “สส.โฮม” เป็นกันเอง ไม่ถือตัวกับทุกคน แต่ใครจะไปรู้ว่าชีวิตของ “โฮม” นั้น ผ่านอะไรมาบ้าง จึงได้ไปสอบถาม

เลือกตั้งนายก อบจ. 47 จังหวัด บ้านใหญ่ รอเข้าวิน พท.กวาดเยอะ-พรรคส้ม เสี่ยงร่วง

ยิ่งใกล้ถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายก อบจ. พบว่าการหาเสียงของผู้สมัครนายก อบจ.ทั้งที่ลงในนามพรรคการเมือง และไม่ได้ลงในนามพรรค

ร้อยใจไทย สืบสานราชธรรม .. ณ จังหวัดนครปฐม!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ในวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๗ โครงการร้อยใจธรรม สืบสานราชธรรม ทั้งแผ่นดิน ถวายเป็นพระราชกุศลฯ ที่ดำเนินการโดย สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยและวัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย (ธ) ในพระราชูปถัมภ์ฯ จ.ลำพูน

ลึกสุดใจ. ”พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ผบ.ตร.” ยึดกฎกติกา ไม่กลัวทุกอิทธิพล

ถึงตอนนี้ "พลตํารวจเอก กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ หรือ บิ๊กต่าย ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ" ได้ทำหน้าที่ ผบ.ตร.อย่างเป็นทางการมาร่วมสามเดือนเศษ ส่วนการทำงานต่อจากนี้ ในฐานะ"บิ๊กสีกากี เบอร์หนึ่ง-รั้วปทุมวัน"จะเป็นอย่างไร?

2 สว. “ชาญวิศว์-พิสิษฐ์” ปักธงพิทักษ์รธน. ปกป้องสถาบันฯ พวกเราเป็นอิสระ ไม่มีรับใบสั่ง

กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการทำประชามติเพื่อนำไปสู่การให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูยเพื่อมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อไทย ที่ต้องการทำให้เสร็จก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น

ก้าวย่างออกจากปัญหา .. ของประเทศ!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา... คำกล่าวที่ว่า.. “เมื่อสังคมมนุษยชาติขาดศีลธรรม.. ย่อมพบภัยพิบัติ.. เสื่อมสูญสิ้นสลาย..” นับว่าเป็นสัจธรรมที่ควรน้อมนำมาพิจารณา.. เพื่อการตั้งอยู่ ดำรงอยู่ อย่างไม่ประมาท...