ถูกต้องแต่ไม่ถูกใจ กับ ไม่ถูกต้องแต่ถูกใจ

ในที่สุดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเปิดสมัยการประชุมสภาผู้แทนราษฎรอย่างเป็นทางการเมื่อวันจันทร์ที่ 3 กรกฎาคม นี้แล้ว และวันต่อมาสภาผู้แทนราษฎรก็ได้มีการจัดประชุมเลือกประธานสภาและรองประธานสภาขึ้น เพื่อทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินในด้านนิติบัญญัติให้ประชาชนมีความสุขความเจริญ และให้ประเทศเดินหน้าตามระบอบประชาธิปไตยตามที่พระองค์ท่านได้พระราชทานพระราชดำรัสไว้

ผลการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม หลังจากมีการเจรจาต่อรองและดูท่าทีกันมานานของสองพรรคใหญ่ที่เรียกกันว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย ก็ได้ท่านวันมูหะหมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ซึ่งเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงดีในแวดวงการเมืองของไทยมานานมาเป็นประธานสภาฯ

ผมจำได้ว่าตำแหน่งทางการเมืองอันแรกที่ท่านวันนอร์เข้ารับทำเมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้ว คือ ตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่มีท่านบรม ตันเถียร เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการฯ ซึ่งทำให้ผมได้มีโอกาสได้รู้จักท่านและติดตามผลงานการเมืองที่มากมายของท่านตลอดมา

การที่ผู้แทนราษฎรชุดใหม่ ซึ่งเป็นชุดที่น่าภูมิใจมากเพราะประชาชนคนไทยได้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ถึง 39.27 ล้านเสียง หรือคิดเป็น 75.22 % ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด สูงสุดเป็นประวัติการณ์ การเลือกท่านวันนอร์มาเป็นประธานสภาฯ ในครั้งนี้สำหรับตัวผมถือว่าเป็นการเลือกที่ถูกต้องมากของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้

การเลือกประธานสภาผู้แทนฯ ซึ่งเป็นการเลือกตั้งผู้ที่มีตำแหน่งสำคัญเพื่อการบริหารประเทศชาติตามครรลองประชาธิปไตยครั้งนี้ ทำให้ผมคิดถึงโอกาสที่ผมได้ไปสวดพระอภิธรรมศพของเพื่อนท่านหนึ่ง     ที่วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อคืนวันพุธปลายเดือนมิถุนายนนี้ และได้ฟังการแสดงพระธรรมเทศนา โดยท่านชยสาโรภิกขุ หรือ พระธรรมพัชรญาณมุนี ซึ่งเป็นพระนักเทศน์ชื่อดังมากท่านหนึ่งของประเทศไทยยามนี้ ท่านได้ใช้เวลาเทศนาธรรมประมาณ 30 นาทีเท่านั้น แต่มีสาระที่ดีเลิศทุกเรื่อง ซึ่งผมขอนำเรื่องหนึ่งตามหัวข้อข้างต้นซึ่งดีมาก ควรที่ท่านผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองที่มีความคิดความอ่านฟุ้งซ่านในขณะนี้จะรับไปใช้ในการบริหารประเทศให้ดีได้

ท่านชยสาโรภิกขุ ได้เทศน์ตอนหนึ่งว่า คนทั่วไปจะเลือกเรื่องที่ไม่ถูกต้องแต่ถูกใจเป็นส่วนใหญ่ ส่วนเรื่องที่ถูกต้องแต่ไม่ถูกใจไม่ค่อยจะเลือกกัน ซึ่งผมคิดดูแล้วทุกวันนี้ผู้คนในประเทศเราขาดเหตุและผลเอาแต่เลือกข้างของตน หรือพรรคพวกของตนเท่านั้น ไม่ได้ไตร่ตรองว่าอะไรถูกต้องแค่ไหน ถ้าเป็นพวกข้าและถูกใจข้าก็เป็นเรื่องที่ดีและถูกต้องหมด ซึ่งบ่งบอกถึงความแตกแยกของสังคมไทยอย่างสุดที่จะรับได้

จริงๆ เรื่องแบบนี้ไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะคนไทยเท่านั้น ในประเทศอื่นก็เป็นแบบเดียวกัน ตัวอย่างเช่นในประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งถือว่าเป็นประเทศผู้นำด้านประชาธิปไตย เมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว ฝ่ายที่เชียร์พรรครีพับลิกันได้บุกเข้าไปในสภาคองเกรสไปทำลายทรัพย์สินมากมาย จนมีการตั้งข้อหาร้ายแรงต่ออดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งขณะนี้กำลังทำการไต่สวนอยู่

อีกไม่กี่วันนับจากนี้ก็จะมีการเลือกนายกรัฐมนตรีของประเทศตามมา ถ้าเป็นประเทศที่มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ ผู้คนก็คงไม่มีอะไรต้องตื่นเต้นอีกแล้ว เพราะรู้ว่าคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พรรคที่ได้รับการเลือกตั้งสูงสุดต้องนั่งตำแหน่งผู้นำรัฐบาลใหม่แน่นอน หากไม่มีเรื่องการขาดคุณสมบัติ

รัฐบาลจากการเลือกตั้งครั้งนี้จะสามารถบริหารประเทศไปได้ 4 ปี แล้วก็จะต้องมีการเลือกตั้งทั่วไปกันอีกในอนาคต หรือ ถ้ารัฐบาลทำไม่ดี ไม่รักษาคำพูดที่ได้ให้ไว้กับประชาชนก็อาจต้องมีอันเป็นไปอยู่ได้ไม่ครบเทอม 4 ปี ก็เป็นไปได้

การฟอร์มรัฐบาลตามครรลองของรัฐธรรมนูญของพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยที่ได้คะแนนอันดับ 1 และ 2 ครั้งนี้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญไหม ผมว่าคงมีคนที่สังคมส่วนใหญ่ไม่เอาด้วยเท่านั้นที่จะบอกว่าไม่ถูกต้อง

แต่รัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ในปัจจุบันที่รู้ๆกันอยู่ว่าเป็นประชาธิปไตยไม่เต็มใบจากผลพวงของการรัฐประหารเมื่อ 9 ปีที่แล้วนั้น ได้กำหนดไว้ว่า การเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีต้องผ่านการเห็นชอบของคณะวุฒิสภา จำนวน 250 คน ที่นั่งสลอนโดยไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเหมือนอารยประเทศอื่นเขา แต่เป็นผู้ที่รับเงินเดือนจากภาษีที่เป็นหยาดเหงื่อของประชาชนผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 สมาชิกวุฒิสภาเหล่านั้นจะเป็นผู้มีสิทธิ์เลือกนายกรัฐมนตรีที่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งได้เลือกกันขึ้นมาแล้ว

ฟังจากการแสดงความคิดเห็นที่ออกมาตามสื่อต่างๆในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา จะได้ยินกลุ่มคนที่รับเงินจากภาษีของประชาชนมานานจนชาชิน ทำการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมันปากกับคนที่ประชาชนส่วนใหญ่เขาเลือกมาแล้ว ท่านผู้อ่านจะรู้สึกอย่างไรบ้างก็ขอให้เก็บไว้คนเดียวเถอะครับ แต่สำหรับผมคิดว่าผู้ทรงเกียรติเหล่านั้นคงเข้าใจคำแสดงเทศนาของท่านชยสาโรภิกขุที่ผมยกมากล่าวข้างต้นได้ไม่กี่คน

ท่านชยสาโรภิกขุได้เทศนาไว้อย่างชัดเจนในวันที่ผมได้นั่งตั้งใจฟังว่า ผู้ที่จะสามารถเลือกสิ่งที่ถูกต้องแต่ไม่ถูกใจได้นั้น จะต้องเป็นผู้ที่มีพลังจิตที่บริสุทธิ์และแน่วแน่เท่านั้น การจะเป็นผู้ที่มีพลังจิตแบบนี้จะต้องมีการฝึกฝนพลังจิตอย่างเป็นปกติวิสัยมาตลอด จึงจะสามารถเป็นคนที่น่าเลื่อมใสและทำได้

เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ

สมหมาย ภาษี
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไทยคงต้องตายกันยกแผง! ‘สมหมาย ภาษี’ ซัดตรงรัฐบาล ไม่เห็นทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน

เรื่องที่เป็นนโยบายจะทำโน่นทำนี่เพื่อแก้ไขเศรษฐกิจของประเทศรวมทั้งการยกระดับคนจนระดับล่างให้ดีขึ้น ไม่เห็นรัฐบาลนี้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน

สมหมาย ภาษี -อดีตรมว.คลัง รัฐบาล-ฝ่ายการเมืองต้องหยุด ยุ่มย่าม ก้าวก่าย “แบงก์ชาติ”

การขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี หลังได้”ขุนคลังคนใหม่-พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง”หลังจากนี้จะเป็นอย่างไร น่าติดตามอย่างยิ่ง

อีกไม่นานเกินรอ น้ำตาจะคลอเมื่อเห็นโลงศพ

เมื่อปี่กลองของการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยดังกระหึ่มขึ้น พรรคการเมืองของไทยทุกพรรคก็สุดที่จะคึกคัก ฝ่ายที่เป็นรัฐบาลอยู่ยิ่งคึกมากจนศรีธนญชัยออกมาเพ่นพ่านให้เห็น วันๆ ไม่ได้คิดไม่ได้นั่งทำงาน แต่กลับออกไปตรวจราชการแถวต่างจังหวัดจนหัวชนกัน ยิ่งพวกที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือที่เรียกว่า ส.ส. ที่ได้รับการเลือกตั้งตามหนทางประชาธิปไตยเข้ามา บ้างก็ลาออก บ้างก็หนีประชุม อ้างโน่นอ้างนี่ แต่ก็เห็นๆ กันว่าไปเป็นศรีธนญชัยหาเสียงปาวๆ อยู่ต่างจังหวัด นี่คือการเมืองไทยซึ่งเรียกได้ว่าเป็น "การเมืองแบบศรีธนญชัย"

ดาบสองคมของหนี้ครัวเรือน

ประเทศที่เศรษฐกิจยังต้วมเตี้ยม เพราะอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำแบบไทย ยากที่จะดันให้เศรษฐกิจเติบโตแบบยั่งยืนเหมือนประเทศที่พัฒนาแล้วได้ง่ายๆ จึงทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ต้องแบกภาระหนี้ครัวเรือนกันแทบเลือดตากระเด็นในทุกวันนี้