ภาคการท่องเที่ยวเคยเป็น“ตัวเอก” คอย “แบก”เศรษฐกิจไทยในช่วงก่อนเกิดโควิด โดยเคยสร้างรายได้สูงถึง 3 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 18% ของ GDP สร้างการจ้างงานกว่า 7 ล้านคน หรือ 20% ของการจ้างงาน และหลังจากห่างหายไปหลายปี วันนี้การท่องเที่ยวกำลังจะต้องกลับมาเล่นบทสำคัญอีกครั้งในยุคที่การส่งออกกำลังอ่อนแอ
แต่ในขณะที่ในระยะสั้นเราอาจกำลังลุ้นว่าปีนี้-ปีหน้าประเทศไทยจะได้นักท่องเที่ยวได้ใกล้ 40ล้านคนแบบเมื่อก่อนแค่ไหน อีกคำถามสำคัญที่ควรถามตัวเองคือ เราอยากกลับมาโตด้วยการท่องเที่ยวเน้นปริมาณ ที่มีทั้งปัญหาการกระจุกตัวของรายได้, สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม, ขาดแคลนแรงงาน ฯลฯ แบบเดิมอีกหรือไม่ เสมือนจะให้การท่องเที่ยวกลับมาเป็นตัวเอกที่เล่นบทเดิมๆแม้จะอยู่ใน “หนังเรื่องใหม่” คือ บริบทโลกได้เปลี่ยนไปแล้ว
ส่วนตัวผมมองว่านี่คือโอกาสที่ประเทศไทยจะรีเมค (Remake) การท่องเที่ยวไทยให้หวนคืนมาในบทบาทใหม่ที่ดียิ่งกว่าเดิม ใน 4 มิติสำคัญ คือ ความยั่งยืน (Sustainability), ความสามารถในการรับแรงกระแทกจากความไม่แน่นอนต่างๆ (Resilient), เทคโนโลยี, การเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมอื่น (Linkage)
1.ความยั่งยืน
โมเดลการท่องเที่ยวของไทยแต่เดิมมีปัญหาความยั่งยืนทั้งในมิติด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) และด้านผลกระทบทางสังคม (Social) เช่น ประเทศไทยได้อันดับ 130 จาก 140 ประเทศในด้านความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมในการจัดอันดับของ World Economic Forum ในปี 2019 และ 80%ของนักท่องเที่ยวไทยกระจุกอยู่ใน 5 จังหวัดท่องเที่ยวหลัก ซึ่งข้อหลังนี่ก็มีส่วนทำให้เกิดปัญหาover tourism ในแหล่งท่องเที่ยวบางแห่งจนทำลายสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน
เราอาจจะพูดมาหลายปีเรื่องอยากเปลี่ยนจากโมเดลการท่องเที่ยวเน้น “ปริมาณ” มาเป็นเน้น “คุณภาพ” มากขึ้นแต่วันนี้เป็นโอกาสที่ดีที่ประเทศไทยจะปรับตัวเพราะเทรนด์ของนักท่องเที่ยวโลกกำลังเปลี่ยนอยู่พอดี โดย รายงานเทรนด์การท่องเที่ยวโลกของ Booking.com ชี้ให้เห็นว่า เกือบ80% ของนักท่องเที่ยวเริ่มหาสถานที่พักที่ให้ความสำคัญด้านความยั่งยืน และประมาณ 2 ใน 3 ของนักท่องเที่ยวอยากไปเที่ยวที่ที่คนไม่แน่นและได้สัมผัสความโลคอล (local) ทั้งด้านวัฒนธรรมและคน
จึงเป็นจังหวะที่ดีที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวสายเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวเมืองรอง สร้างผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวใหม่ๆ ชูจุดเด่นของแต่ละจังหวัด รวมถึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้สถานที่ท่องเที่ยวทางเลือกต่างๆสามารถเข้าถึงง่ายกว่าเดิม เป็นต้น
2.Resilient
การท่องเที่ยวในอนาคตควรให้ความสำคัญเรื่องการกระจายความเสี่ยงมากขึ้น เพื่อไม่เอา “ไข่หลายใบไปใส่ในตะกร้าใบเดียว” จนขาด Resilient ในยุคที่โลกมีความไม่แน่นอนสูงขึ้น อาจต้องพบแรงกระแทกจากทั้งจากภัยธรรมชาติ เศรษฐกิจ หรือสงคราม
การกระจายความเสี่ยงต้องมีอย่างน้อย 2 มิติ
มิติแรก คือ ด้านโปรดักส์ หมายถึงการมีผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวที่หลากหลายมากขึ้น เช่น การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การท่องเที่ยวสายยั่งยืน การท่องเที่ยวพร้อมทำงาน (Workation) รวมถึงแนวใหม่อื่นๆ เช่น สายอาหาร สายอีเวนท์ สายมู ฯลฯ
การส่งเสริมผลิตภัณฑ์ใหม่ๆเหล่านี้จะช่วยให้ได้กลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีความหลากหลายมากขึ้น ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเดินทางมาประเทศไทยในช่วงไฮซีซั่นเท่านั้นและไม่กี่แห่งเท่านั้น ซึ่งแบบเดิมนี้มีความเสี่ยงว่าหากเกิดภัยพิบัติหรือปัญหาสิ่งแวดล้อมในช่วงนั้นขึ้นมาก็อาจมีผลกระทบต่อท่องเที่ยวอย่างมหาศาล (เช่นปัญหา PM 2.5 ในช่วงหน้าหนาว) เป็นต้น
มิติที่สอง คือ ด้านประเทศต้นทางของนักท่องเที่ยว ในสมัยก่อนโควิดนักท่องเที่ยวประมาณ 30% มาจากประเทศจีน แปลว่าหากมีอะไรเกิดขึ้นที่ทำให้นักท่องเที่ยวจีนมาน้อยลงเราจะถูกกระทบหนักทันที อย่างเช่นในช่วงที่จีนยังใช้นโยบายzero covid หรือเผชิญภาวะเศรษฐกิจอ่อนแอ หรืออีกตัวอย่างคือการที่นักท่องเที่ยวรัสเซียถูกกระทบจากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน เป็นต้น
ในมิตินี้ดูเหมือนจะมีทิศทางที่ดีขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมาที่นักท่องเที่ยวมีการกระจายมาจากหลายประเทศมากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจากในอาเซียนด้วยกัน แต่อาจสะท้อนการที่นักท่องเที่ยวยังไม่กลับมาเต็มที่ด้วย ในอนาคตเราอาจต้องเสริมด้วยการมีโปรดักส์การท่องเที่ยวใหม่ๆที่ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวหลายกลุ่มประเทศ ดังที่กล่าวไปข้างต้น รวมไปถึงการพัฒนาและโปรโมทการท่องเที่ยวไทยกับประเทศใหม่ๆที่ปกติอาจไม่ใช้กลุ่มลูกค้าหลัก โดยเทคโนโลยีจะสามารถมีบทบาทสำคัญ (ดูข้อต่อไป)
3.เทคโนโลยี
การพัฒนาของเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างก้าวกระโดดใน 2-3ปีที่ผ่านมาสร้างโอกาสสำคัญให้กับภาคการท่องเที่ยวอย่างน้อย สองมิติสำคัญ
หนึ่ง การที่อุตสาหกรรมคอนเทนท์ออนไลน์ต่างๆ (เช่นหนัง ซีรี่ย์ บันเทิง หรือที่เดี๋ยวนี้มักใช้คำว่า Soft power) มีความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมากขึ้น
ในปัจจุบันคนมีความคุ้นชินกับการบริโภคสื่อ คอนเทนท์และประสบการณ์ในโลกออนไลน์ (Digital Exprience Economy) มากขึ้นกว่าแต่ก่อน ทำให้คอนเทนท์ในโลกออนไลน์ต่างๆมีผลต่อการเลือกสถานที่ท่องเที่ยวของคนมากกว่าแต่ก่อน
นอกจากนี้อุตสาหกรรมคอนเทนท์ยังพัฒนาอย่างก้าวกระโดดจนมีความหลากหลายมากขึ้น เกิดผู้สร้างคอนเทนท์ หรือ “ครีเอเตอร์” และ อินฟลูเอนเซอร์ ใหม่ๆขึ้นที่อาจไม่ได้เป็นคนในวงการบันเทิงเสมอไป เช่น นักพากย์เกม หรือ คนทำคลิปวีดีโอสั้น ที่อาจมีคนดูหลายล้านจากหลายประเทศทั่วโลก
ต่อไปหากเข้าใจสนับสนุนและเสริมบทบาทอุตสาหกรรมด้านคอนเทนท์ อาจไม่ได้เพียงจะสร้างรายได้ให้อุตสาหกรรมนี้เท่านั้นแต่สามารถเป็นสื่อที่มีพลังดึงดูดนักท่องเที่ยวหลากหลายประเภทเข้าประเทศได้อย่างดี (ลองนึกถึงตัวอย่าง พลังของการ์ตูนและเกมญี่ปุ่น หรือ ซีรีย์ของเกาหลีใต้ที่มีอิทธิพลสูงมากแม้จะไม่ใช่ภาษาอังกฤษ) ในทางกลับกันการใช้โฆษณาโปรโมทท่องเที่ยวไทยในรูปแบบเดิมๆอาจไม่มีประสิทธิผลเหมือนเก่า
สอง การเข้าสู่ Data Economy หรือ เศรษฐกิจแห่งข้อมูล
ผลพลอยได้สำคัญของยุคดิจิทัลคือการเกิดฐานข้อมูลออนไลน์มหาศาลและการพัฒนาด้านเทคโนโลยีประมวลข้อมูลรวมทั้งเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)ที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด หากประเทศไทยสามารถเชื่อมโยงฐานข้อมูลต่างๆที่ได้จากการรู้จักนักท่องเที่ยวจากหลากหลายประเทศมาปีละ 40 ล้านคน (ก่อนโควิด)มาใช้ประโยชน์มากกว่านี้ อาจทำให้สามารถค้นพบตลาดใหม่ๆ, สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่, และพัฒนาการทำการตลาดโปรโมทการท่องเที่ยวที่ตรงกลุ่มเป้าหมายเพิ่มรายจ่ายต่อหัวให้สูงขึ้น
ยกตัวอย่างในสิงคโปร์มีการพัฒนาแพลทฟอร์ม Singapore Tourism Analytics Network (STAN) ช่วยเชื่อมโยงฐานข้อมูลทั้งของภาครัฐเองกว่า 2หมื่นกลุ่มกับฐานข้อมูลเอกชนที่ได้มาจากการทำสัญญาแบ่งปันข้อมูล (Data sharing agreement) 15แห่งเช่นกับ Grab Tencent Expedia ทำให้สามารถได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจท่องเที่ยว เช่น การพบว่านักท่องเที่ยวชาวจีนและอินโดนีเซียเป็นกลุ่มที่ใช้จ่ายมากที่สุดเวลาไปช้อปปิ้งทำให้ผู้ประกอบการสามารถออกแคมเปญพิเศษในช่วงที่นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มาเยือน หรือ การพบว่า 1 ใน 10 นักท่องเที่ยวที่มาสิงคโปร์มักจะมีการเปลี่ยนโรงแรมในระหว่างทริป โดยมักจะอัพเกรดไปอยู่โรงแรมที่แพงขึ้น ทำให้โรงแรมสามารถออกแพ็กเกจดึงดูดให้คนอยู่นานขึ้นได้ เป็นต้น
4. Linkage เชื่อมโยง-เสริมผู้อื่น
การท่องเที่ยวไม่ควรจะเป็นเพียงตัวเอกที่เด่นอยู่คนเดียวแต่สามารถเชื่อมโยงและส่งเสริมให้ “ตัวละคร”อื่นๆในเศรษฐกิจไทยโดดเด่นได้ด้วย
ประการที่หนึ่ง เชื่อมโยงการท่องเที่ยวและการส่งออก
ต่อเนื่องจากเรื่อง Data Economy ข้างบน เราอาจศึกษาดูว่าสามารถใช้ข้อมูลที่ได้จากพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยวในประเทศไทยมาช่วยส่งเสริมการส่งออกได้หรือไม่ ยกตัวอย่างปัญหาหนึ่งของ MSME ไทยที่ส่งออกไปต่างประเทศคือไม่รู้ว่าสินค้าไทยอะไรที่ผู้บริโภคในประเทศนั้นกำลังนิยมหรืออินเทรนด์ แต่หากเรามีนักท่องเที่ยวจากประเทศนั้นๆมาเที่ยวไทยจำนวนมาก การวิเคราะห์ข้อมูลว่าพวกเขาซื้ออะไรกัน อาจทำให้เรารู้วิธีเจาะตลาดนี้ได้ เป็นต้น
ประการที่สอง ใช้การท่องเที่ยวดึงดูด Talents (หัวกะทิ)
ในโลกที่ประเทศต่างๆกำลังออกวีซ่าพิเศษแย่งหัวกะทิในทุกด้านโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี ประเทศไทยเรามีข้อได้เปรียบตรงที่มีแต่คนอยากมาอยู่แล้ว หากเราใช้ประโยชน์จากตรงนี้ดึงดูดให้เขาเห็นว่าไทยไม่ได้แต่น่าเที่ยวแต่น่ามาอยู่ทำงานยาวๆเลย จะเป็นการดึง Talent คนเก่งจากทั่วโลกเข้าประเทศ ลดปัญหาขาดแรงงานทักษะสูงและเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันต่อยอดให้อุตสาหกรรมต่างๆได้
ทิ้งท้าย-ต้องเริ่มแก้โจทย์เรื่องคน
อย่างไรก็ดีการ“เขียนบทใหม่” ให้การท่องเที่ยวนี้จะเกิดขึ้นยากหากไม่แก้ตั้งแต่“บรรทัดแรก”คือปัญหาเรื่องการขาดคน-บุคคลากร เพราะประเด็นนี้จะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆในสังคมสูงวัยเพราะคนวัยทำงานน้อยลงและในขณะเดียวกันคนที่ต้องการคนดูแลก็มีมากขึ้น
ในบางเซ็คเตอร์อาจมีการแย่งตัวแรงงาน-talentกันระหว่างคนไทยและนักท่องเที่ยว เช่น หากเราต้องการผลักดันท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ แต่มีหมอ พยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล คนดูแล ไม่พอทุกระดับ สำหรับจะบริการนักท่องเที่ยวและคนไทยจะทำอย่างไร
ประเทศไทยจะเปิดให้สามารถนำเข้าผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ พยาบาล ฯลฯ เพื่อมาเติมเต็มส่วนที่ขาดไหม เราจะมีโครงการอัพสกิล-รีสกิลแรงงานในประเทศให้เข้ามาทำงานในเซ็คเตอร์นี้มากขึ้นได้เพียงพอไหม เป็นต้น คำถามเหล่านี้ล้วนเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องรีบช่วยกันคิดก่อนจะเดินต่อได้
ในวันที่สภาวะเศรษฐกิจโลกจะผลักดันให้การท่องเที่ยวจะกลับมาเป็นตัวเอกสำคัญที่ต้องคอยแบกเศรษฐกิจไทย สร้างงาน สร้างรายได้ให้คนอีกครั้ง เราไม่ควรให้ตัวเอกนี้เขาเล่นบทเดิมๆในหนังเรื่องใหม่ที่อาจไม่ต้องการบทบาทแบบเก่าๆอีกแล้ว แต่น่าจะใช้โอกาสนี้เขียนบทใหม่ให้การท่องเที่ยวกลายเป็นตัวเอกที่โดดเด่นกว่าเดิม โดยมีทั้งความยั่งยืน, Resilient, การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และยังส่งเสริมให้ตัวละครอื่นๆในเศรษฐกิจให้เด่นขึ้นได้เตรียมรับมืออนาคต
ดร. สันติธาร เสถียรไทย
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
คอลัมน์ เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รัฐบาลปลื้มนักท่องเที่ยวมาไทยเฉลี่ยวันละ 1 แสน
รัฐบาลเผยจบปีนักท่องเที่ยวทะลุเกิน 35.54 ล้าน เม็ดเงินทะลุสูงถึง 1.67 ล้านล้านบาท เผยเที่ยวไทยยังปังตั้งแต่1 ม.ค.มาไทยเฉลี่ยวันละ 1 แสนคน สร้างรายได้แล้วเพียง 7 วันกว่า 2.5 หมื่นล้าน
'นายกฯอิ๊งค์' เชื่อเศรษฐกิจไทยปีหน้ามีแนวโน้มดีขึ้น ตั้งเป้าจีดีพีโต 3%
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ตั้งแต่รัฐบาลเข้ามาทำงานที่มีนโยบายต่างๆสำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้ภาคธุรกิจและประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยในปี 2568 งบประมาณจะเพิ่มขึ้น และมีการขาดดุลการคลังที่ลดลง ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่ดี