สภาผู้แทนราษฎรนัดประชุมสภาฯ นัดแรกวันที่ 4 ก.ค.นี้ โดยมีวาระสำคัญคือ การประชุมเพื่อลงมติเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานอีกสองคน และหลังจากนั้นเมื่อมีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เป็น "ประธานรัฐสภา" โดยตำแหน่งแล้ว ฉากการเมืองต่อไปที่ต้องติดตามก็คือ การนัดประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อ โหวตเลือก-เห็นชอบนายกรัฐมนตรี ที่คาดว่าอาจจะเป็นสัปดาห์ถัดไป
สำหรับเสียงลงมติของที่ประชุมร่วมรัฐสภา ในการโหวตเลือกนายกฯ ผู้ได้รับความเห็นชอบ จะต้องได้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาที่ปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งก็คือต้องได้ไม่ต่ำกว่า 376 เสียง
ดังนั้น เสียงของสมาชิกรัฐสภาโดยเฉพาะ สมาชิกวุฒิสภา จึงมีความสำคัญมากกับการจัดตั้งรัฐบาลของ 8 พรรคการเมืองที่มีเสียงอยู่ 312 เสียง และจะเสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี
พลเอกอกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ สมาชิกวุฒิสภา และประธานคณะกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน วุฒิสภา ในฐานะสมาชิกรัฐสภา กล่าวถึงจุดยืนการเลือกนายกรัฐมนตรีว่า บุคคลที่จะถูกเสนอชื่อมาให้ที่ประชุมรัฐสภาโหวตเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งถึงวันดังกล่าวอาจจะไม่ได้มีแค่ชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เพียงคนเดียวก็ได้ อาจจะมีชื่ออื่นอีก
สำหรับตัวผมมีหลักการโหวตเลือกคือ จะเลือกคนดี คนเก่ง คือดีอย่างเดียวก็ไม่ได้ ต้องเก่งด้วย ซึ่งเรื่องคนดีผมก็มีหลักคิดของผมเหมือนกัน หลักก็คือเป็นคนที่อยู่บนความถูกต้อง บนหลักกฎหมายหรือไม่ ทำอะไรอยู่ในกรอบของกฎหมายหรือไม่ อยู่ในกรอบของศาสนาหรือไม่ และอยู่ในหลักประเพณีอันดีงามของเราหรือไม่ ผมเอาหลักสามเรื่องนี้มาสรุป เพื่อพิจารณาว่าคนที่จะเลือกเป็นคนดีหรือไม่
สอง บุคคลนั้นทำอะไรคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติ บ้านเมือง ผลประโยชน์ประชาชนเป็นหลักหรือไม่
สาม ต้องเป็นคนที่ยึดมั่นในหลัก ทำเพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
-ฝ่ายแกนนำม็อบสามนิ้วบอกว่า หากก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จ ไม่โหวตเลือกพิธาเป็นนายกฯ อาจมีม็อบเกิดขึ้น ขณะที่ก้าวไกลก็บอกว่าพรรคตนมีประชาชนเลือกมา 14 ล้านเสียง และรวมเสียง ส.ส.เกิน 250 จัดตั้งรัฐบาลได้แล้ว ทาง ส.ว.ก็ควรโหวตให้ ตรงนี้จะเป็นการสร้างแรงกดดันหรือไม่?
ต้องบอกว่าเสียงข้างมากหรือเสียงข้างน้อยอยู่ที่สภา จะสิบสี่้ล้านเสียงหรือสิบล้านเสียง หรือกี่ล้านเสียง ใครชนะเลือกตั้งได้ ส.ส.มากเรียงลำดับ หนึ่ง สอง สาม ไม่ได้หมายถึงว่าเขาคือเสียงส่วนใหญ่ เป็นเสียงข้างมาก เพียงแต่มาจัดอันดับกันว่าใครมีคะแนนมากกว่า ก็เรียงตามลำดับ 1 2 3
อันดับหนึ่งไม่ได้หมายถึงเสียงข้างมาก หรือเสียงส่วนใหญ่ เสียงส่วนใหญ่อยู่ในสภา เสียงส่วนน้อยอยู่ในสภา แต่ ณ ปัจจุบันยังไม่มีเสียงส่วนใหญ่ เสียงส่วนน้อย ไปทำเอ็มโอยูกัน ก็เป็นแค่การพูดคุยกัน มีผลบังคับทางกฎหมายหรือไม่ ก็ไม่มี
-หากพิธาไม่ได้รับเสียงถึง 376 จนไม่ได้เป็นนายกฯ ก็จะมีการมองมาที่ ส.ว.ที่ไม่โหวตให้?
ตอนนี้ใครๆ ก็โยนมาที่ ส.ว. ถ้าจะไม่ให้ถึง ส.ว.คุณก็ไปรวมเสียง ส.ส.กันมาให้ได้ถึง 376 เสียง แล้ว ส.ว.จะหยุดเลย ไม่ต้องลงมติโหวตเลย พวกคุณได้เป็นรัฐบาลแน่ 376 เสียง ทำได้ไหม พวกคุณไปเคลียร์กันเองสิ ไม่ใช่มาโยนให้ ส.ว. และส่วนตัวก็ไม่เคยได้รับการติดต่อพูดคุยจากคนของพรรคก้าวไกล แต่อยากบอกว่า ส.ว.เขามีวุฒิภาวะพอ ก็อยากบอกว่าให้
พวกคุณไปเคลียร์กันเอง เอาให้ได้สิ 376 เสียงส.ส. ถ้าคุณได้ 376 เสียง ส.ว.ไม่มีความหมายเลย
-การที่พรรคก้าวไกลมีนโยบายหลังเปิดสภา จะเสนอแก้ 112 ตรงนี้เป็นจุดที่ทำให้ ส.ว.ติดใจหรือไม่?
ผมบอกแล้ว ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ คุณไปกระทบตรงนี้หรือไม่ ผมว่า ส.ว.ทุกคนยึดมั่นในชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แก้ 112 มันเกี่ยวข้องกับปากท้องประชาชนหรือไม่ ซึ่งหากจะมีการเสนอร่างแก้ไข 112 เข้ามา อาจจะไม่ผ่านตั้งแต่ชั้นสภาผู้แทนราษฎรก่อนแล้วก็ได้ ไม่มาถึงวุฒิสภา
-ก่อนหน้านี้ตอนที่เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก็เคยพยายามประสานเรื่องการสร้างความปรองดอง ทางก้าวไกลเขามีนโยบายจะเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมคดีชุมนุมทางการเมือง โดยให้มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่ช่วงปี 2549 มองว่าอย่างไร จะสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นได้จริงหรือไม่?
ต้องไปดูว่าตอนนี้คนที่เคยทำผิดในอดีตช่วงต่างๆ เขาติดคุกและตอนนี้ออกมากันแล้ว ไม่ใช่จะมาพ่วงอะไรเต็มไปหมด มันไม่ใช่ นิรโทษกรรมผมเห็นด้วย แต่ต้องให้ชัดเจน ว่าจะให้นิรโทษกรรมใครบ้าง แล้วถามว่าถ้านิรโทษกรรม แล้วคนที่เคยติดคุกแต่ตอนนี้ออกมาแล้วจะทำอย่างไร ยังเหลืออีกแค่ไม่กี่คนที่ยังมีคดีความอยู่ แล้วจะทำอย่างไร บางคนยังไม่ติด แต่บางคนติดและออกมาแล้ว แล้วมันจะเกิดความเป็นธรรมไหม แต่ถ้านิรโทษกรรมแล้วเกิดความปรองดอง เกิดความเป็นธรรมขึ้น ผมเห็นด้วย แต่ต้องชัดเจน ต้องดูรายละเอียด
-นอกจากนี้ก้าวไกลก็มีนโยบายที่หาเสียงไว้ และบอกว่าสภาเปิดจะเข้ามาทำทันที เช่น ยุบสภากลาโหม, ยุบ กอ.รมน., ยุบศาลทหาร, ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ?
เรื่องปฏิรูปกองทัพไม่ใช่ความคิดใหม่ เราเคยมีการปฏิรูปกองทัพมาแล้ว ตั้งแต่ช่วงปี 2548-2549 มีคณะกรรมการพิจารณาเรื่องปฏิรูปกองทัพ เคยทำมาแล้ว และอยู่ระหว่างการปฏิรูป การลดกำลังพล ลดนายพล ลดหน่วย มันเป็นแผนระยะยาว ทำกันมาโดยต่อเนื่อง แม้กระทั่งการเกณฑ์ทหาร ที่ผ่านมากองทัพก็มีการลดการเกณฑ์ทหารลง แล้วใช้มาตรการเพื่อจูงใจให้คนมาสมัครเกณฑ์ทหาร เราทำกันมาตลอด ไม่ใช่เรื่องใหม่
"ผมเห็นด้วยกับการปฏิรูปกองทัพ แต่โครงสร้างที่เขาเสนอมา คือการยกโครงสร้างของกองทัพสหรัฐอเมริกามาทั้งหมดเลย แบบนี้เรียกว่าปฏิรูปหรือไปลอกแบบ"
ถามว่าประเทศสหรัฐอเมริกาเขามีอายุมาเท่าไหร่ ก็ประมาณสองร้อยกว่าปี ก็เท่ากับมีกองทัพมาแค่สองร้อยปี แต่ประเทศไทยมีกองทัพมากี่ปีแล้ว ก็ตั้ง 700-800 ปีแล้ว แล้วเขามีพระมหากษัตริย์หรือไม่ ตอนที่เริ่มมีกองทัพก็ไม่มี แต่ของเรา เรามีกองทัพมา 700-800 ปี เรามีพระมหากษัตริย์หรือไม่-เรามี และพระมหากษัตริย์ทรงเป็นจอมทัพไทยจนถึงปัจจุบันนี้ เราถึงมีการสวนสนาม สาบานตน สวนสนามราชวัลลภ เพราะเรามีกองทัพมา 700-800 ปี พระมหากษัตริย์ทรงนำทัพออกไปรบ ท่านทรงเป็นจอมทัพไทย ถามว่าถ้าคุณไปก๊อปปี้โครงสร้างกองทัพสหรัฐฯ มา แล้วจอมทัพไทยอยู่ตรงไหน คุณจะไปลิดรอนพระราชอำนาจท่านไหม เป็นเรื่องเชิงสัญลักษณ์ เป็นจอมทัพไทย ถามว่าเอาโครงสร้างสหรัฐฯ มา แล้วท่านยังเป็นจอมทัพไทยอยู่หรือไม่ ตอบผมหน่อยคนที่คิดอันนี้"
-มีคนมองว่าสิ่งที่เสนอจะทำให้กองทัพอ่อนแอลง?
ไม่รู้ทำให้กองทัพอ่อนแอหรือไม่ แต่กองทัพเขามีการปรับตัวมาตลอด มีแผนที่เรียกว่า "แผนพัฒนากองทัพ" เรื่องที่เขาพูดมา กองทัพเขามีการทำมาแล้วและกำลังทำอยู่ อย่างการให้ยุบกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน. ทางประเทศสหรัฐอเมริกาเจอเคส เหตุวินาศกรรม 9/11 หลังเกิดเหตุกองทัพสหรัฐฯ มีการตั้งหน่วยงานขึ้นมาใหม่ Homeland Security (กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐฯ-United States Department of Homeland Security) ก็เหมือนกับ กอ.รมน. ก็ตามหลังเราอีก แต่เราจะไปยุบ เขาไปศึกษามาหรือยังว่าบทบาท อำนาจหน้าที่ของ กอ.รมน.ทำอะไรบ้าง อีกทั้ง กอ.รมน.ไม่ได้ขึ้นกับกองทัพ แต่ขึ้นกับนายกรัฐมนตรี และหากจะยุบแล้วมีหน่วยงานอื่นมารับงานแทนหรือไม่ คิดเอาอะไรมาแทนหรือยัง ไม่ใช่ว่ายุบแล้วหายไปเลย แล้วงานที่เขาทำอยู่ใครจะมาทำ จะยุบหรือจัดบทบาท หรือจัดโครงสร้างใหม่
ส่วนข้อเสนอการปฏิรูปกองทัพ สำหรับผมมีข้อเสนอเยอะ ยกตัวอย่างเช่นการลดกำลัง ทหารเขาเรียกว่า "การปิดการบรรจุ" เขาไม่ได้ยุบหน่วย เขาเรียกว่าปิดการบรรจุ เพราะการยุบหน่วยต้องออกเป็นพระราชบัญญัติ แล้วหากยุบ ถ้ามีศึกสงคราม จะจัดตั้งหน่วยก็ต้องไปออกพระราชบัญญัติ เอากฎหมายเข้าสภา เขาถึงใช้คำว่าปิดการบรรจุ คือหากมีศึกสงคราม มีภัยเข้ามา ก็ค่อยบรรจุคนเข้าไป ไม่ใช่ยุบ อย่างบางหน่วยหากภารกิจซ้ำซ้อน ก็ปิดการบรรจุเสีย บางหน่วยไม่จำเป็นก็ปิดการบรรจุ ไม่ใช่ไปยุบ ถ้ายุบแล้วหากมีสงครามขึ้นมาจะทำยังไง
ที่ผ่านมาตั้งแต่เริ่มมีการปฏิรูปกองทัพ เมื่อปี 2549 กองทัพก็มีการปรับตัวมาตลอด มีการตั้งคณะกรรมการมาศึกษาเรื่องนี้ แล้วกรรมการ เช่น ดร.สุรชาติ บำรุงสุข ก็เป็นกรรมการอยู่ด้วย เขาก็เคยมาขอความเห็นผม แล้วเขาก็รวบรวมความเห็นจากหลากหลายคนแล้วก็สรุป จากนั้นกองทัพก็เริ่มปรับเป็นต้นมา ไม่ใช่ว่ากองทัพไม่เคยปฏิรูป
-ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน วุฒิสภา มีความเห็นเรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรงทั่วประเทศ ตามที่ก้าวไกลเสนอเป็นนโยบายอย่างไร?
อันนี้ต้องแยกให้ออก คือผู้ว่าราชการจังหวัดบริหารงานในส่วนภูมิภาค เป็นมือเป็นไม้ของส่วนกลางที่ไปทำงาน ถามว่าเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดต้องโปรดเกล้าฯ หรือไม่ ต้องโปรดเกล้าฯ แล้วเป็นนายก อบจ.ต้องโปรดเกล้าฯ ไหม ไม่ต้อง เพียงแต่ว่ามันจะปรับบทบาทกันอย่างไร เรื่องกระจายอำนาจจะทำอย่างไร ประเด็นอยู่ตรงนี้ อันไหนที่ส่วนกลางเคยใช้ส่วนภูมิภาคทำงาน ก็กระจายความรับผิดชอบไป แล้วส่วนกลางกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นไปได้หรือไม่ เรื่องนี้ไม่ใช่มาคุยกันแค่ 1-2 วัน ซึ่งเรื่องนี้ ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล เขาเคยนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่ให้ยุบส่วนภูมิภาคมาเสนอต่อรัฐสภา แต่ร่างก็ตกไป เรื่องแบบนี้เขาก็มีคนทำอยู่แล้ว เช่นคณะกรรมการกระจายอำนาจ
-ในฐานะสมาชิกรัฐสภา มองสถานการณ์การเมืองหลังการโหวตนายกฯ อย่างไร จะเกิดความขัดแย้งอะไรหรือไม่?
อย่าไปมองว่าเกิดความขัดแย้งแล้วเกิดความหวาดกลัว ผมไม่กลัวเรื่องความขัดแย้ง ผมมองว่าเรื่องความขัดแย้งจะแก้ไขด้วยวิธีการอย่างไร ใช้ความรุนแรงหรือสันติวิธี สำคัญตรงนี้ อย่ามองความขัดแย้งด้วยความหวาดกลัว วิตกกังวล ต้องเปลี่ยนวิธีคิด ต้องมองความขัดแย้งคือความหลากหลาย ความหลากหลายคือความงดงาม
คุณรู้ไหมว่า ความขัดแย้ง มากส์บอกว่ายังไง มากส์บอกว่า ความขัดแย้งคือสัจธรรมสมบูรณ์ ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกอยู่ได้ด้วยความขัดแย้ง
เหมือนคุณนั่งเก้าอี้อยู่ น้ำหนักตัวคุณจะตกไปที่เก้าอี้ ถ้าเก้าอี้ไม่มีแรงต้านขึ้นมา คุณนั่งได้ไหม-ก็ไม่ได้ มันมีแรงต้าน นี่คือความขัดแย้ง นี่ไงเป็นสัจธรรมสมบูรณ์ แต่อยู่ที่ว่าคุณคิดอย่างไร
ผมถามว่าทำไมไม่เปิดเวทีคุยกัน ผมไม่กลัวเรื่องความขัดแย้ง แต่ผมเห็นว่าควรมีการเปิดเวทีคุยกันด้วยสันติวิธี ผมไม่ยุให้ทั้งสองฝ่ายติดอาวุธแล้วมาสู้กัน แต่ให้สองฝ่ายมาคุยกัน ผมก็พร้อมเป็นคนกลาง โดยผมจะทำโดยไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับการเป็นประธานคณะกรรมาธิการบริหาราชการแผ่นดินของวุฒิสภา และไม่ได้มีความผูกพันอะไรกับสภา เป็นเรื่องของพลเอกอกนิษฐ์ ที่หลายฝ่ายเขาเชื่อใจผม เพราะเรื่องลักษณะแบบนี้ผมไม่ได้ทำครั้งแรกในประเทศไทย โจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา ตลอดแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย รบกันมา 46 ปี ยุติการสู้รบด้วยการพูดคุย
พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยหรือ พคท. อยู่ดีๆ หายไปเลย ผมเป็นคนทำ ผมพูดคุยกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ให้วางอาวุธมาต่อสู้กันทางความคิด ต่อสู้กันทางการเมือง บีอาร์เอ็นคุยกัน ไม่ใช่เรื่องใหม่ ปฐมบทของการพูดคุยที่ใช้แนวทางสันติของการพูดคุย ผมเป็นคนเริ่มเมื่อปี 2535 คุยกับประธานพูโล ผมบินจากกรุงเทพฯ ไปที่กรุงไคโร อียิปต์ ประธานพูโลบินจากซีเรียมาเจอผม ตั้งแต่ปี 2535 ไม่ใช่เพิ่งมาเริ่ม
แต่เวลาเราทำ เราทำแบบเงียบๆ ไม่ต้องอาศัยคนกลาง คุยกับบีอาร์เอ็น ก็คุยปีเดียวกันกับที่คุยกับพูโล ผมคุยกับบีอาร์เอ็น ผมบอกเราคนไทยด้วยกัน มีอะไรไม่เข้าใจกันก็พูดคุยกัน แต่สถานการณ์ตอนนี้เป็นยังไง จากเดิมระดับพื้นที่คุยกันได้ เอามาเลเซียเข้ามา ไปยกเป็นปัญหาระดับชาติ ตอนนี้กลายเป็นปัญหาสากลไปแล้ว ไปดูสิองค์กรระหว่างประเทศในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ตอนนี้มีอยู่เต็มไปหมด เพราะไปยกระดับปัญหา ปี 2535 ผมคุยกับพูโล ผมไม่เห็นต้องมีคนกลางเลย แล้วคุยกับบีอาร์เอ็นก็คุยกันที่กัวลาลัมเปอร์ด้วย
-แต่บริบทความขัดแย้งทางการเมือง จะไปคุยกันแบบที่เคยทำในอดีตที่ยกตัวอย่างมาได้หรือ?
ที่ผมบอกว่าไปคุยๆ มา เป็นการคุยตกลงทางการเมือง คุยกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ก็ไปตกลงทางการเมือง พอตกลงทางการเมืองเสร็จก็นำไปสู่การวางอาวุธ ยุติการใช้ความรุนแรง ผมไม่ได้ไปคุยเชิงทหาร และที่มีปัญหากันทุกวันนี้ ในช่วงที่ผ่านมาพวกเสื้อแดง-เสื้อเหลืองจะรบกัน ถามว่าขัดแย้งกันทางการเมืองหรือการทหาร ก็การเมือง ที่ผมเสนอตัวในการคุย ไม่ได้จะมาคุุยเรื่องทหาร หากคุณขัดแย้งทางการเมืองกันร้อยเรื่อง แต่ผมเชื่อว่าในร้อยเรื่อง ยังไง ต้องมีบางเรื่องที่เห็นตรงกัน แต่มันไม่มีโอกาสมาพูดกัน.
ยุติปัญหาภาคใต้ ต้องแก้กระบวนทัศน์
เสนอสังคายนา ประวัติศาสตร์ปัตตานี
สำหรับ "พลเอกอกนิษฐ์" เป็นอดีตนายทหารที่เคยมีประสบการณ์ทำงานในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาหลายปี จนได้รับการยอมรับว่าเป็นอดีตบิ๊กทหารที่เข้าใจสภาพปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มากที่สุดคนหนึ่ง
และเมื่อเราถามถึงในฐานะมีประสบการณ์ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาหลายปี มองความเคลื่อนไหวก่อนหน้านี้ที่มีการจัดตั้งขบวนการนักศึกษา มีการจัดกิจกรรมทางความคิดเรื่องแยกดินแดนที่ปัตตานีอย่างไร พลเอกอกนิษฐ์ ให้ข้อมูลและความเห็นไว้ว่า เป็นเรื่องที่มีมานานแล้ว และมีไม่รู้กี่ขบวนการ บางกลุ่มหายไปก็มีกลุ่มใหม่ขึ้นมา ผมมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา
ส่วนที่มีบางพรรคการเมืองที่กำลังจะเข้าไปเป็นรัฐบาลบอกว่า มีนโยบายจะให้ทหารด้านความมั่นคงออกจากพื้นที่ หรือการยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่นั้น ต้องบอกว่า เรื่องให้ทหารออกจากพื้นที่ ในความเป็นจริงในปี พ.ศ.2570 กำลังทหารด้านความมั่นคงก็จะไม่มีในพื้นที่แล้ว เรื่องนี้อยู่ในแผนลดทหารในพื้นที่
ส่วนการปรับบทบาท กอ.รมน. ก็มีการปรับอยู่แล้ว เขามีการทำอยู่แล้วเรื่องพวกนี้ มันไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นการเอาเรื่องที่เขาทำอยู่แล้วมาพูด เพราะอย่างตามแผนที่ผมทราบ ในปี 2570 ก็จะถอนทหารออกหมดแล้ว ส่วนหากจะมีการทำอะไรกันก่อนหน้านั้น ก็ต้องดูว่าเขาจะมีมาตรการมารองรับสถานการณ์หรือไม่ พวกทหาร ตำรวจ เขาก็แฮปปี้ ผมว่าน้องๆ เขาก็แฮปปี้ ไม่ต้องไปเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย แต่รัฐบาลจะรับผิดชอบหรือไม่ หากมีเหตุการณ์อะไรขึ้นมา ผมถึงบอกว่า ประชาชนเขาใช้ชีวิตแบบ new normal เขาคุ้นเคยกับสถานการณ์แล้ว ไปดูที่ยะลา บังเกอร์เต็มถนนเลย ข้างทาง เขาก็ใช้ชีวิตของเขาได้ มันเปลี่ยนแล้ว แต่เรื่องนี้พูดแล้วอาจเหมือนตำหนิพวกเดียวกันเอง แต่วิธีคิดยังไม่เปลี่ยน อยู่ที่วิธีคิดตรงนั้น
-โมเดลการมีคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล คณะทำงานดังกล่าวยังมีความจำเป็นอยู่หรือไม่?
ผมถามว่าเป็นพันธกรณีหรือไม่ บางคนที่เคยอยู่ในคณะแบบนี้ไปลงนาม เป็นพันธกรณีหรือไม่ คือหากเป็นพันธกรณียังไงเราก็ต้องปฏิบัติตาม เปลี่ยนรัฐบาลยังไงก็ต้องปฏิบัติตาม แต่อันนี้ไม่ใช่พันธกรณี เพราะการเป็นพันธกรณีคือต้องมีลักษณะแบบสนธิสัญญา มีการลงนามกัน ต้องส่งเรื่องมาที่รัฐสภา ถามว่าจะเลิกเมื่อไหร่ได้หรือไม่ ก็ตอบว่าเลิกได้เพราะไม่ใช่พันธกรณี แต่จะเลิกตอนนี้เลยได้หรือไม่ เลิกน่ะเลิกได้ แต่ผลคืออะไร ก็คือทั่วโลกที่เขาสนใจ จะมองว่าประเทศไทยไม่ยอมใช้สันติวิธี
-ถ้าจะมีพรรคการเมือง นักการเมือง ไปสนับสนุนขบวนการนักศึกษา ไปจัดกิจกรรมลักษณะเดียวกับที่ปัตตานี?
ถามว่าแล้วจะมีหลักฐานหรือไม่ ที่ว่ามีนักการเมือง พรรคการเมืองไปสนับสนุน ก็ต้องมีหลักฐาน มันก็ไม่มี คนก็วิเคราะห์จากที่หาเสียงอะไรต่างๆ มันถึงยาก เพราะมันต้องพูดกันด้วยหลักฐาน ไม่ใช่ว่าเขาพูดว่าอย่างนั้น ผมถึงบอกผลประโยชน์ พรรคการเมือง นักการเมืองได้แน่ก่อนหาเสียง แต่ถามว่าสิ่งที่ไปหาเสียงไว้ แล้วต่อมาชนะเลือกตั้งเข้ามา แล้วคิดหรือไม่ว่ามันจะเกิดแบบนี้ พอเกิดแบบนี้ขึ้นมา ทุกคนโดดหนีหมด ปฏิเสธหมด ผมไม่เกี่ยว ไม่ได้ยุ่ง การจะเอาผิดเขา จะฟ้องศาล ไม่มีหลักฐานไม่ได้ อย่างผมเองก็ตอบไม่ได้เพราะไม่มีหลักฐาน ไม่มีใครรู้ พนักงานสอบสวนก็ไปหาหลักฐานมา ไปตรวจสอบเส้นทางการเงิน
ส่วนความเห็นเรื่องข้อเสนอการแก้ปัญหาภาคใต้นั้น มองว่าคนที่เกี่ยวข้องก็ต้องคิดใหม่ เคยมีคนถามผมว่าถ้าผมมีอำนาจจะแก้ปัญหาอย่างไร ผมก็บอกว่าต้องแก้ที่ตัวเองก่อน ฝ่ายเรา วิธีคิดฝ่ายเรา ต้องแก้กระบวนทัศน์ก่อน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย
ผมพูดมาตั้งแต่สมัยรับราชการว่า ตรงนั้นมันมีสนามรบสองสนามซ้อนกันอยู่ คือสนามรบทางทหาร เช่น ซุ่มยิง วางระเบิด กับสนามรบทางวัฒนธรรม การต่อสู้ทางวัฒนธรรมเพื่อดำรงอัตลักษณ์ของความเป็นมลายู-ปัตตานี แม่ทัพเป็นแม่ทัพในสนามรบทางทหารได้ แต่ในสนามรบทางวัฒนธรรม-ไม่ใช่ เริ่มตั้งแต่อะไร ก็ความขัดแย้งทางประวัติศาสตร์ ใครจะไปแก้ กระทรวงวัฒนธรรมหรือกระทรวงศึกษาธิการ
ผมเสนอให้มีการสังคายนาประวัติศาสตร์ปัตตานี พูดไว้นานแล้วตั้งแต่รับราชการ ไม่ใช่ว่าใครอยากศึกษาประวัติศาสตร์ปัตตานีต้องไปแอบหาหนังสืออ่าน ก็ควรให้มีการมานั่งพูดคุยกัน โดยมีผู้รู้ นักวิชาการต่างๆ ให้มีความหลากหลาย มองประวัติศาสตร์ปัตตานี แล้วสรุปให้มีเรื่องเดียว มีฉบับเดียว ไม่ใช่มีหลายฉบับแล้วเอาประวัติศาสตร์ไปบิดเบือน ไปปลุกระดม บอกว่าปาตานี
ผมไม่เคยเห็น ไม่มี ประเทศไทยไม่เคยมีปาตานี มีแต่จังหวัดปัตตานี ประเทศไทยอาจมีประวัติศาสตร์หลายฉบับก็ได้ ประวัติศาสตร์ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประวัติศาสตร์ของภาคเหนือล้านนา ประเทศหนึ่งมีหลายประวัติศาสตร์ได้ แต่จะยอมรับกันได้ไหม นี่คือเรื่องกระบวนทัศน์
เรื่องลักษณะแบบนี้ไม่ใช่เรื่องของแม่ทัพ แต่เป็นเรื่องของเวทีประชาชน คณะพูดคุยที่เป็นจุดอ่อน ตรงนี้คือไม่ยึดโยงกับประชาชน ทั้งที่ประชาชนคือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เป็นผู้ได้รับผลกระทบ เป็น stakeholder ใหญ่ ส่วนว่าจะให้ประชาชนมีบทบาท เปิดพื้นที่ให้เขาแสดงความคิดเห็นอย่างไร ค่อยมาหารือกันว่าจะมีวิธีการอย่างไร.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“รองประธานสโมสร เชียงราย ยูไนเต็ด สู่นักการเมืองหญิงแกร่ง”
หลายคนรู้จักกับนักการเมืองรุ่นใหญ่ อย่าง “ยงยุทธ ติยะไพรัช” อดีตประธานรัฐสภา ที่มีลูกสาว “สส.โฮม” ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช สส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ที่ “สส.โฮม” ได้ตัดสินใจลงเล่นการเมือง จากมาดามสู่สส. มีอะไรต้องเปลี่ยนเยอะ และด้วยภาพลักษณ์ที่สดใส เป็นมิตร เฟรนลี่กับทุกคน จึงได้รับคำเรียกเล่นๆว่า ทูตสันถวไมตรี เพราะ “สส.โฮม” เป็นกันเอง ไม่ถือตัวกับทุกคน แต่ใครจะไปรู้ว่าชีวิตของ “โฮม” นั้น ผ่านอะไรมาบ้าง จึงได้ไปสอบถาม
เลือกตั้งนายก อบจ. 47 จังหวัด บ้านใหญ่ รอเข้าวิน พท.กวาดเยอะ-พรรคส้ม เสี่ยงร่วง
ยิ่งใกล้ถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายก อบจ. พบว่าการหาเสียงของผู้สมัครนายก อบจ.ทั้งที่ลงในนามพรรคการเมือง และไม่ได้ลงในนามพรรค
ร้อยใจไทย สืบสานราชธรรม .. ณ จังหวัดนครปฐม!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ในวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๗ โครงการร้อยใจธรรม สืบสานราชธรรม ทั้งแผ่นดิน ถวายเป็นพระราชกุศลฯ ที่ดำเนินการโดย สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยและวัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย (ธ) ในพระราชูปถัมภ์ฯ จ.ลำพูน
ลึกสุดใจ. ”พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ผบ.ตร.” ยึดกฎกติกา ไม่กลัวทุกอิทธิพล
ถึงตอนนี้ "พลตํารวจเอก กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ หรือ บิ๊กต่าย ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ" ได้ทำหน้าที่ ผบ.ตร.อย่างเป็นทางการมาร่วมสามเดือนเศษ ส่วนการทำงานต่อจากนี้ ในฐานะ"บิ๊กสีกากี เบอร์หนึ่ง-รั้วปทุมวัน"จะเป็นอย่างไร?
2 สว. “ชาญวิศว์-พิสิษฐ์” ปักธงพิทักษ์รธน. ปกป้องสถาบันฯ พวกเราเป็นอิสระ ไม่มีรับใบสั่ง
กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการทำประชามติเพื่อนำไปสู่การให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูยเพื่อมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อไทย ที่ต้องการทำให้เสร็จก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น
ก้าวย่างออกจากปัญหา .. ของประเทศ!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา... คำกล่าวที่ว่า.. “เมื่อสังคมมนุษยชาติขาดศีลธรรม.. ย่อมพบภัยพิบัติ.. เสื่อมสูญสิ้นสลาย..” นับว่าเป็นสัจธรรมที่ควรน้อมนำมาพิจารณา.. เพื่อการตั้งอยู่ ดำรงอยู่ อย่างไม่ประมาท...