งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา
วิกฤตเมื่อเกิดแล้ว ก็จะจบลงในที่สุด
ณ จุดนี้ เราได้เผชิญกับวิกฤต Perfect Storm มาระยะหนึ่งแล้ว
และเริ่มเห็นว่า ผลกระทบในมิติต่างๆ ได้เริ่มซาลง
กระทั่งเงินเฟ้อในประเทศต่างๆ ก็เริ่มลงมาพอควร
โดยเงินเฟ้อสหรัฐจากสูงสุด 9.1% ลดลงมาที่ 4.9%
แม้ลงมาช้ากว่าที่ทุกคนหวังไว้
แต่ก็ชัดเจนว่า เงินเฟ้อกำลังกลับมาอยู่ในการควบคุมอีกรอบ
ไม่พุ่งทะยาน เหมือนช่วงต้นปี 65
ทำให้พอสบายใจกันได้ว่า “มาถูกทางแล้ว”
แค่รอเวลาเท่านั้น เงินเฟ้อก็น่าจะลงมาเป็นปกติอีกครั้ง
ดังนั้น จุดนี้ จึงเป็นจุดสำคัญ
ที่เราต้องเริ่มมาคิดทบทวนเรื่องความท้าทายทางเศรษฐกิจ
ซึ่งรออยู่ข้างหน้า หลัง Perfect Storm ผ่านไป
ที่ภาคธุรกิจต้องเตรียมการตั้งแต่วันนี้
เรื่องแรก คือ ความท้าทายอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี
ที่อีก 10 ปี ข้างหน้า ผลิตภัณฑ์สินค้า กระบวนการผลิต และวิธีการทำธุรกิจ จะเปลี่ยนไปอย่างที่คาดไม่ถึง
เทคโนโลยีที่กำลังถูกคิดค้นขึ้นมา อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ ระบบ Sensing ระบบสื่อสาร ตลอดจนวัสดุใหม่ๆ และอื่นๆ กำลังเปลี่ยนแปลงสมรภูมิการแข่งขันของธุรกิจอย่างที่ไม่เป็นมาก่อน
โดยศาสตราจารย์ Hod Lipson จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ผู้เชี่ยวชาญเรื่องหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ของโลก ได้มาพูดที่ Innovation Club Thailand ให้ผู้บริหารบริษัทชั้นนำไทยฟังเมื่อเร็วๆ นี้ บอกว่า ทุกอย่างกำลังเกิดขึ้นเร็วกว่าอัตราทวีคูณ หรือเร็วกว่า Exponential Growth
หมายความว่า ถ้าเราไม่ปรับตาม เราจะตกเทรนด์ และจะกลายเป็นส่วนเกินที่ถูกคนอื่นเขาทิ้งไป
ถูกคู่แข่งที่สนใจนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาพัฒนายกระดับคุณภาพสินค้า ระบบการผลิต กระบวนการขาย ก้าวข้ามเราไป
ทำให้ภาคธุรกิจเอกชน ต้องเริ่มคิดตั้งแต่วันนี้
ว่าจะปรับตรงไหน จะเปลี่ยนอะไร จะนำนวัตกรรมอะไรมาใช้ในการทำงาน
ส่วนภาครัฐต้องเริ่มคิดว่า หากไทยยังมีข้อจำกัดในการวิจัย พัฒนา ขาดนวัตกร ขาด Startups ของเราเอง เราจะต้องปรับเปลี่ยนกฏเกณฑ์อะไรบ้าง ที่จะเอื้อให้ธุรกิจจากต่างประเทศสนใจใช้ไทยเป็น R&D Centers เป็นฐานสำคัญในการศึกษาวิจัยและพัฒนาสินค้าและความรู้ของเขาให้รับกับความต้องการสินค้าในเอเชีย ดึงดูดผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมา Work from Thailand ใช้ไทยเป็นฐานในการทำงาน รวมทั้งชักจูง Startups ของโลก มารวมตัวใช้ไทยเป็น Hub ในการทำธุรกิจในเอเชีย
ทั้งหมดนี้ จะกลายเป็นแต้มต่อ ช่วยให้ไทยยืมพลังของโลก มาก้าวข้ามข้อจำกัดของตนเอง ทันต่อเวลา ช่วยให้ไม่ตกขบวนในช่วงโค้งสำคัญของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้
เรื่องที่สอง คือ ความท้าทายอันเนื่องมาจากโอกาสของธุรกิจในภูมิภาคที่กำลังเปลี่ยนไป
โลกกำลังจับตามองเอเชีย
แต่ประตูสู่เอเชียกำลังปิด
โดยล่าสุด นักลงทุนในโลกตะวันตก
ไม่สามารถเข้าทำธุรกิจในรัสเซีย
กำลังพยายามย้ายฐานการผลิตออกจากจีน
เริ่มลังเลใจเกี่ยวกับอินเดีย จากความที่อินเดียใกล้ชิดกับจีนและรัสเซียผ่านกลุ่ม BRICS
เหลือแต่เพียงอาเซียน เป็นประตูสุดท้ายที่เหลืออยู่
ที่บริษัทเหล่านี้สามารถใช้เป็นพื้นที่หลักสำหรับเป็นฐานการผลิต เพื่อเจาะและตีตลาดเอเชีย
เพราะถ้าเขาพลาดตลาดนี้ ก็จะพลาดตลาดหลักที่คึกคักที่สุดของโลกสำหรับ 20 ปีข้างหน้า
ด้วยเหตุนี้ ล่าสุด อินโดนีเซีย เวียดนาม ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ จึงได้กลายเป็นพื้นที่สำคัญ ที่เป็นเป้าหมายในการย้ายฐานการลงทุนเข้าสู่เอเชียของทุกคน ที่ต้องเข้ามาจับจอง ยึดหัวหาดให้ได้
ทั้งหมดหมายความต่อไปว่า 5 ปีให้หลัง เมื่อการลงทุนโดยตรงเหล่านี้ สร้างเสร็จแล้ว
ฐานการผลิตของอาเซียนทั้งหมดจะเปลี่ยนไป
จะมีสินค้าใหม่ๆ ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ผลิตในอาเซียนเข้ามาตีตลาดแข่งขันกับผลิตภัณฑ์เดิมของเรา พร้อมทำให้ห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาคเปลี่ยนไป เกิดความต้องการวัตถุดิบแบบใหม่ๆ ที่หลากหลายซับซ้อนมากขึ้น
นอกจากนี้ การลงทุนที่เข้ามารอบใหม่นี้ จะช่วยยกระดับรายได้เฉลี่ยของประเทศต่างๆ ในอาเซียนไปอีกขั้น ทำให้เกิดเมืองใหม่ พัฒนาเมืองเก่า ย้ายถิ่นฐานครั้งสำคัญ และสร้างชนชั้นกลางกลุ่มใหม่หรือ Middle Class อีกมากกว่าร้อยล้านคน ที่จะเป็นกำลังซื้อใหม่ ที่ต้องการสินค้าต่างๆ
ถ้าเราไม่เตรียมตัวตั้งแต่ตอนนี้ เราก็จะพลาดโอกาสธุรกิจครั้งสำคัญ
เรื่องสุดท้าย คือ ความท้าทายอันเนื่องมาจากการเสื่อมลงของอเมริกา
ประวัติศาสตร์สอนว่า ทุกครั้งที่เบอร์ 1 เริ่มอ่อนแรงลง
กระบวนการเปลี่ยนผ่าน จะนำมาซึ่งความไม่แน่นอน ความปั่นป่วน
จากการเผชิญหน้าระหว่างยักษ์ใหญ่
โดยความขัดแย้งระหว่างเบอร์ 1 กับเบอร์ 2 ที่เป็นคู่ชิง
จะกระเทือนถึงทุกคน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ต้องถูกบังคับให้เลือกข้าง
ว่าใครจะร่วมหัวจมท้ายกับใคร
โดยกล่าวได้ว่า ข่าวต่างๆ ที่ออกมามากมายในช่วงนี้
เป็นฉากต่างๆ ของหนังม้วนเดียวกัน
ไม่ว่าจะเป็นการที่สหรัฐกีดกันลงโทษบริษัทจีน ห้ามจีนใช้เทคโนโลยีสหรัฐ ห้ามคนที่ใช้เทคโนโลยีสหรัฐใช้เทคโนโลยีจีน ตลอดจนการข่มขู่ยั่วยุเชิงการฑูตและการทหารในกรณีของไต้หวัน
ส่วนด้านจีน การเตรียมการในการลดผลกระทบ หาทางเลือกใหม่ในการลงทุนเงินสำรอง การเตรียมหาระบบการชำระเงินทางเลือก การหาสมัครพรรคพวกเพิ่มเติมเข้าสู่กลุ่ม BRICS เพื่อท้าทายสหรัฐ ก็เริ่มหมุนไปอย่างต่อเนื่อง
ทั้งหมดนี้ จะค่อยๆ ปีนเกลียว เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ
ยิ่ง ASPI สถาบันยุทธศาสตร์อิสระของออสเตรเลีย ออกมาประเมินเมื่อต้นปีนี้ว่า
เทคโนโลยีใหม่ๆ ของโลกใน 5 กลุ่มใหญ่ 44 ด้านย่อย จีนเป็นผู้นำอยู่ 37 ด้าน เทียบกับสหรัฐ 7 ด้าน
ยิ่งทำให้ความไม่พอใจ ความกังวลใจของสหรัฐเพิ่มมากขึ้น
กลายเป็นโจทย์สำคัญของเราว่า
ประเทศไทยจะครองตัวอยู่ภายใต้ความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจอย่างไร
จุดยืนที่เหมาะสมคืออะไร ที่จะดีที่สุดในระยะยาวสำหรับไทย
และภาคเอกชนไทยจะหาสมดุล เพื่อยังทำธุรกิจกับทั้งสองฝ่าย พร้อมๆ กันได้อย่างไร
ซึ่งเราต้องหาคำตอบเหล่านี้ ตั้งแต่วันนี้
แสวงหาความรู้จากผู้สันทัดกรณี
เพื่อเตรียมการไว้ให้พร้อม
เพราะท่ามกลางวิกฤต มีโอกาสอยู่เสมอ
ความท้าทายทางเศรษฐกิจทั้ง 3 ด้านนี้ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องเริ่มคิด เริ่มเตรียมการตั้งแต่วันนี้
เพื่อความสำเร็จของเรา ในโลกหลัง Perfect Storm
ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนครับ
คอลัมน์ เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ สําหรับ
ดร. กอบศักดิ์ ภูตระกูล
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ประเทศชาติจะเปลี่ยนไป เมื่อคนไทยเปลี่ยนแปลง
ประเทศไทยจะอยู่กับวิกฤติการเมืองที่เลวร้าย หรือจะก้าวต่อไปสู่อนาคตที่ดีกว่า 2เส้นทางเดินสำคัญที่คนไทยจะต้องเลือกเดิน คือ…1.เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไป คนไทยต้องเปลี่ยนตาม(When the world changes and we change with it.) หรือ 2.เมื่อคนไทยเปลี่ยนแปลงไป ประเทศไทยก็จะเปลี่ยนตาม(When we change, the world changes.)
Surviving the Great Disruption
ช่วงต่อไปของเศรษฐกิจ คงต้องเรียกว่า The Great Disruption ที่ต้องเรียกเช่นนี้ก็เพราะ ความเปลี่ยนแปลงที่รออยู่ข้างหน้า
ปฎิรูปการศึกษา: กุญแจสำคัญในการเพิ่มศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
ไม่ทราบจะเรียกว่าเป็นวิกฤตได้ไหม เมื่อผลการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ PISA ประจำปี 2565 ของนักเรียนไทยออกมาต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี ในทุกทักษะ ทั้งด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน
สังคมไทยภายใต้กระบวน การยุติธรรมหลาย มาตรฐาน
ต้องยอมรับว่าหลายๆ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศเราในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานั้นทำให้ระบบสังคมโดยเฉพาะระบบย่อยหลายระบบ เช่น เศรษฐกิจ ครอบครัว สาธารณสุข ความเชื่อและศาสนามีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเจริญเติบโตด้านวัตถุ โครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี รถยนต์ไฟฟ้า หรือการนำปัญญาประดิษฐมาประยุกต์ใช้งานและธุรกิจต่างๆ
เศรษฐกิจไทย วิกฤติ หรือ ไม่วิกฤติ
วิกฤติหมายถึงอะไร ประเทศไทยอยู่ในภาวะวิกฤตหรือไม่ ขณะนี้มีความสับสนอย่างมากในสังคมไทยในการใช้คำว่า วิกฤติ
โฉนดเพื่อเกษตรกรรมกับปัญหาการลักลอบเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน
สืบเนื่องจากนโยบายปัจจุบันของรัฐบาล ที่ได้ผลักดันให้มีการออกโฉนดเพื่อเกษตรกรรมให้กับที่ดินเกษตรกรรม ส.ป.ก. โดยคาดหวังว่า นโยบายนี้จะช่วยเพิ่มความมั่งคั่งทางทรัพย์สินให้กับเกษตรกรที่ยากจนได้ และในขณะเดียวกัน ก็จะสามารถอนุรักษ์รูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดินเกษตรกรรมเอาไว้ด้วยนั้น