หลังจากใกล้จะมีการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม ทำให้น่าติดตาม บทบาทการทำงานการเมืองของแต่ละพรรคการเมืองว่าจะเป็นอย่างไรต่อไปนับจากนี้
และหนึ่งในพรรคการเมืองที่น่าสนใจ ก็คือ”พรรครวมไทยสร้างชาติ”(รทสช.) ที่ได้ส.ส.เข้าสภาฯ 36 ที่นั่ง ที่ตอนนี้แวดวงการเมือง ดูจะเห็นไปในทางเดียวกันว่า รวมไทยสร้างชาติแนวโน้มคงเป็นพรรคฝ่ายค้าน จึงทำให้หลายคนสนใจกันว่า บทบาทการเป็นฝ่ายค้านของรทสช.จะเป็นอย่างไรและตัวพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แคนดิเดตนายกฯของรวมไทยสร้างชาติ จะยังคงอยู่กับพรรครทสช.ต่อไปหรือไม่?
“เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ”กล่าวถึงทิศทางการเมืองของพรรคต่อจากนี้ ว่าในฐานะเป็นผู้บริหารพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งพรรคมีส.ส.ในสภาฯ 36 ที่นั่ง เราต้องทำให้ส.ส.ของพรรคมีความพร้อมในการเข้าไปทำงานในสภาฯ และการทำงานให้กับประชาชน
สำหรับผมมองว่าคะแนนนิยมของพรรครวมไทยสร้างชาติ 4,760,000 กว่าคะแนน มีนัยยะสำคัญมาก เราเป็นพรรคการเมืองเกิดใหม่ ลงเลือกตั้งครั้งแรก ซึ่งทุกคะแนนเสียง ทุกที่นั่ง นับได้ว่าเป็นความสำเร็จ เพราะเราเริ่มจากศูนย์ การที่พรรคลงเลือกตั้งครั้งแรกแล้วได้สี่ล้านกว่าคะแนนเสียงถือว่าไม่น้อย หากเปรียบเทียบจากสถิติเช่นอย่างพรรคภูมิใจไทย ลงเลือกตั้งครั้งแรก ลงเลือกตั้งครั้งแรก ก็ได้น้อยกว่า 36 ที่นั่ง เท่าที่จำไม่ผิดน่าจะประมาณ 32 ที่นั่ง แต่ต่อมาก็มีส.ส.มากขึ้นตามลำดับ อย่างเลือกตั้งที่ผ่านมา ก็ได้ส.ส.ร่วม 71 คน ที่ถือว่าทำได้ดีด้วยการบริหารจัดการ
หรืออย่าง พรรคอนาคตใหม่ ลงเลือกตั้งครั้งแรกปี 2562 ได้คะแนนมาหกล้านกว่าคะแนน แต่ทุกคนก็ทราบดีว่า หกล้านกว่าคะแนนดังกล่าว เกิดกรณียุบพรรคไทยรักษาชาติที่แยกออกมาจากเพื่อไทย ก่อนการเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่มีผู้สมัครส.ส.ของไทยรักษาชาติเลยหายไป และเป็นเขตที่ไม่มีคนของเพื่อไทยลงสมัคร กองเชียร์-ผู้สนับสนุน ก็ไปเลือกพรรคอนาคตใหม่แทน คนก็ไปพูดกันตอนนั้นว่าเป็นคะแนนที่ยืมมาหรือส้มหล่นบ้าง ที่ก็น่าจะประมาณสักสองล้าน ทำให้เอาจริงๆ คะแนนของอนาคตใหม่ ประมาณสี่ล้านกว่าเกือบห้าล้านคะแนน พอๆกับรวมไทยสร้างชาติ แต่ช่วงสี่ปีที่ผ่านมา เขาก็ขับเคลื่อนจนเลือกตั้งรอบนี้ได้มาสิบสี่ล้านเสียง
วันนี้ภารกิจสำคัญของผมในฐานะเลขาธิการพรรคคือ จะทำอย่างไรที่จะนำ สี่้ล้านเจ็ดแสนหกหมื่นกว่าคะแนนที่ถือเป็นต้นทุน ภารกิจแรกก็คือ ต้องรักษามันไว้ เพราะต้องยอมรับว่าคะแนนตรงนี้ส่วนใหญ่มาจากความนิยมชมชอบ ความศรัทธาในตัวพลเอกประยุทธ์ ผมก็หวังว่า ไม่ว่าพลเอกประยุทธ์จะอยู่ในสถานะใดก็ตาม ก็ยังจะสนับสนุนพรรครวมไทยสร้างชาติ วันนี้พลเอกประยุทธ์ยังเป็นสมาชิกพรรคและเป็นประธานยุทธศาสตร์พรรคอยู่ พรรคต้องรักษาสี่ล้านเจ็ดแสนหกหมื่นคะแนนดังกล่าวไว้ แต่ที่สำคัญมากกว่านั้น คือการเลือกตั้งครั้งต่อไป ก็๋หวังว่าจะได้มากกว่าสี่ล้านเจ็ดแสนหกหมื่นคะแนน ถือเป็นภารกิจสำคัญ
“เอกนัฏ”กล่าวต่อไปว่า ในช่วงหนึ่งเดือนหลังเลือกตั้งที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า พรรคไม่ได้ไปขับเคี่ยวหรือไปสู้เพื่อจะไปเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เพราะเราเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงมาอันดับหนึ่งและอันดับต้นๆ ไปว่ากันเอง ไม่เคยเข้าไปยุ่ง ไม่ไปวิจารณ์เพราะไม่ใช่หน้าที่เรา แต่ไม่ได้หมายถึงว่าเราอยู่เฉยๆ ไม่ได้ทำอะไร เพราะในรอบหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ส.ส.ของพรรค36 คน มีการเรียกประชุมซักซ้อมทำความเข้าใจกัน ซึ่งวันดังกล่าวพลเอกประยุทธ์ได้เดินทางมาร่วมประชุมด้วย แต่จริงๆ ยังมีผู้สมัครส.ส.อีกหลายคนที่มีคุณภาพ แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง ยกตัวอย่างเช่นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ถือว่าผลคะแนนของพรรคใช้ได้ คะแนนรวมในระบบบัญชีรายชื่อรายชื่อในกทม.มาอันดับสอง และในหลายเขต แม้ผู้สมัครจะหน้าใหม่ แต่คะแนนก็มาเป็นอันดับสองในเขตที่ลง ที่เป็นคนรุ่นใหม่มีความสามารถ และมีความตั้งใจที่จะทำงานการเมือง และในพื้นที่ต่างจังหวัด ก็ยังมีอีกหลายจุด เราก็พยายามรวบรวมมา
ตอนนี้ก็มีการนัดประชุมระดมความคิด มีการทำ work shop เพื่อให้ตกผลึกถึงทิศทางการทำงานของพรรคในอนาคต ก็มีการทำมาเป็นเดือน บางสัปดาห์ก็นัดคุยกันตลอดทั้งสัปดาห์ ประชุมตลอดทั้งเช้า-บ่าย เพราะพรรคยังให้ความสำคัญกับคนที่แม้จะไม่ชนะเลือกตั้ง เพราะอย่างตัวผมเอง ก็เคยทั้งสอบได้และสอบตกมาก่อน แต่ความที่เราไม่เคยท้อถอย เรายึดมั่นในอุดมการณ์ของเรา และยังมี passionในงานการเมือง ผมก็ยังทำงานการเมืองมาตลอด จนมาตั้งพรรค-เป็นเลขาธิการพรรค ก็พยายามให้กำลังใจทุกคนให้ทำงานการเมืองต่อ
การเมืองมันเปลี่ยนไป จะไปหวังผลจากการขับเคลื่อนงานในสภาฯอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องมีการขับเคลื่อนเรื่องผู้สนับสนุน กองเชียร์ สมาชิก บางทีไปถึงขั้นมวลชนที่อยู่นอกสภาฯด้วย ตรงนี้ผู้สมัครที่ไม่ได้รับการเลือกตั้งจะเข้ามามีบทบาทสำคัญมาก ในการขับเคลื่อน สร้างเครือข่ายที่จะมาเป็นฐานเสียงในอนาคต ซึ่งที่ผ่านมา ผมก็ได้มีการนัดเรียกมาร่วมประชุมระดมความคิดเห็นกันประมาณ 40-50 คน ซึ่งทั้งหมด ก็ได้แสดงเจตนาว่าจะทำงานการเมืองต่อ
วันนี้การเมืองมันต้องเปลี่ยน จะไปติดยึดการทำงานในพื้นที่อย่างเดียว อาจไม่ได้ แต่ไม่ได้หมายถึงว่าไม่ทำเลย แต่วันนี้พรรคต้องขับเคลื่อนด้วยนโยบาย และเมื่อจะขับเคลื่อนด้วยนโยบาย เราต้องไปแสวงหา Pain point ก่อนว่า ในสังคม ปัญหาของประเทศเรามีเรื่องอะไรสำคัญ และนโยบายต้องเป็นคำตอบให้กับปัญหาเหล่านั้น และต้องมีคนมาช่วยคิด ซึ่งงานตรงนี้นอกจากต้องหาคนที่มีประสบการณ์แล้ว ยังต้องหาคนที่สามารถค้นคว้า หาข้อมูล ไปวิเคราะห์ออกมา จนหาคำตอบในเรื่องต่างๆ ได้
สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ผมพยายามจะสร้างที่ไม่อยากใช้คำว่ากองกำลัง แต่จริงๆ มันก็คือสร้างให้มันมี กองกำลังตรงนี้อยู่เพื่อไปทำงาน ความตั้งใจคือเราอยากให้พรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นสถาบันการเมือง วันนี้จริงๆ ความสำคัญมันไม่ใช่แค่ส.ส.อย่างเดียว บางคนอาจคิดว่าต้องดูว่าพรรคการเมืองแต่ละพรรคมีส.ส.กันกี่คน แต่หากมองอีกมุมหนึ่ง เราเป็นพรรคการเมืองที่มีคะแนนนิยม คะแนนที่ได้มา สี่ล้านเจ็ดแสนกว่าคะแนนไม่ใช่น้อย เพราะฉะนั้นก็ต้องเอาตรงนี้มาเป็นต้นทุนแล้วก็ขยายผลต่อ และผู้สมัครส.ส.ที่แม้จะไม่ชนะเลือกตั้ง แต่เขาจะต้องมีบทบาทสำคัญไม่น้อยกว่าส.ส. ที่อยู่ในสภาฯ จะต้องมีการขับเคลื่อนภารกิจ ขับเคลื่อนมวลชน สร้างฐานเสียงนอกสภาฯ ด้วย"
รทสช.กับบทบาท หัวหอกฝ่ายค้าน
-ได้คุยกันในกลุ่ม 36 ส.ส.หรือไม่ว่าหลังจากนี้ หากต้องเป็นพรรคฝ่ายค้าน จะเข้าไปทำงานอย่างไร?
สำหรับคนที่ทำงานการเมือง เมื่อเข้ามาก็ต้องเตรียมใจไว้ เพราะลงเลือกตั้ง มีทั้งชนะและแพ้ และถึงจะชนะมา มันก็มีโอกาสทั้งจะได้เป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ต้องเตรียมพร้อมทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ซึ่งในที่สุด หากเป็นฝ่ายค้าน พรรคก็พร้อมและจะทำให้ส.ส.ทั้ง 36 คน มีความพร้อมในการทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล
นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายอีกหลายฉบับที่ต้องมีการปรับปรุงแก้ไข มีการออกกฎหมายใหม่ ก็เป็นหน้าที่ของพรรคที่ต้องเตรียมพร้อมกับงานในส่วนนี้ ซึ่งบทบาทในส่วนนี้ หัวหน้าพรรค คุณพีระพันธุ์ ก็คงจะเป็นผู้รับผิดชอบหลักเพราะอินกับเรื่องนี้มาก เพราะหัวหน้าพรรคมองว่า ปัจจุบันยังมีกฎหมายที่ใช้อยู่ตอนนี้หลายฉบับยังมีความล้าหลัง ต้องรื้อ-โละ-ปลด-สร้าง ต้องรื้อใหม่ หรือเสนอเข้าไปใหม่เลย โดยเฉพาะกฎหมายที่ทำให้ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม เช่นเรื่องที่ดินทำกิน เป็นต้น
ส่วนการผลักดันร่างพรบ.ฯเข้าสภาฯผมมองว่า การทำหน้าที่ของส.ส. เรื่องของการเสนอร่างพรบ.ต่างๆ ไม่ควรมีเส้นแบ่งระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้าน ร่างกฎหมายฉบับไหน หากเป็นร่างที่เป็นประโยชน์ ไม่ว่าฝ่ายไหนเสนอ อะไรที่เป็นประโยชน์กับประเทศ ก็ควรได้รับการสนับสนุน แต่อะไรที่จะสร้างปัญหาให้กับประเทศ เราก็ไม่เอาด้วย
อย่างเรื่องที่อาจจะมีการเสนอแก้ไขมาตรา 112 ผมก็ยืนยันว่าจะเป็นตายร้ายดีอย่างไร ก็๋ไม่แก้ ถ้าเสนอเข้าสภาฯ เราเป็นส.ส.ในสภาฯ ก็ต้องคัดค้าน
-นอกจาก 112 แล้วทางก้าวไกล ก็มีนโยบายที่บอกว่าจะผลักดันให้มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมคดีชุมนุมทางการเมือง?
เรื่องการจะเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมคดีชุมนุมทางการเมืองเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก ต้องระวัง ผมเคยมีประสบการณ์คัดค้านพรบ.นิรโทษกรรมมาแล้ว โดยตอนแรก ส.ส.พรรคเพื่อไทย ก็เสนอร่างพรบ.นิรโทษกรรมฯ ซึ่งร่างแรก ที่ผ่านสภาฯวาระแรก ยังเขียนกว้างๆ ทำนองว่าให้นิรโทษกรรมเฉพาะผู้ชุมนุมทางการเมือง แต่ในชั้นคณะกรรมาธิการฯ มีการไปเขียนให้ครอบคลุมถึงคดีทุจริต และคดีอาญาร้ายแรงที่เกิดจากการชุมนุม ซึ่งตรงนี้ก็ต้องยืนยันว่า หากจะเสนอร่างพรบ.นิรโทษกรรมแบบนี้เข้ามา การจะให้นิรโทษเรื่องทุจริตต้องไม่มี คดีอาญาก็ต้องไม่ได้ รวมไปถึงการให้นิรโทษคนที่ทำผิด 112 ถ้าจะให้นิรโทษกรรมไปแตะคนที่ทำผิดสามเรื่องนี้ คือทุจริต คดีอาญาร้ายแรงและ 112 เราก็ไม่เห็นด้วยเหมือนเดิม แต่ถ้าการนิรโทษกรรมจะเป็นการเดินไปสู่การปรองดองและเป็นแค่เรื่องของเฉพาะผู้ชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่สมัยเสื้อเหลือง เสื้อแดง ผมว่าค่อยมาคุยกัน แต่เมื่อใดก็ตาม ถ้าไปแตะสามเรื่องข้างต้น แบบนี้คงไม่ได้
แต่จริง ๆไม่ใช่แค่เรื่องนี้ ยังมีอีกหลายเรื่องที่ผมเป็นห่วงไม่น้อยกว่า เรื่องแก้ 112 หรือการจะนิรโทษกรรม เช่นเรื่องนโยบายเศรษฐกิจหรือนโยบายการต่างประเทศ ซึ่งมองในบางมุม ที่หากมองฉากหน้า จะดูเหมือนว่า หลายเรื่องที่เสนอมา จะเป็นความก้าวหน้า เช่นบอกว่าจะปฏิรูปอะไรต่างๆ ที่ตรงนั้นผมไม่ติดใจ เพราะเราก็เป็นคนหนึ่งที่อยากจะให้ประเทศมันดี แต่หลายเรื่องต้องไปศึกษาให้ดี อย่างนโยบายด้านเศรษฐกิจ เช่น จะเพิ่มค่าแรง หรือรีดภาษีเพิ่ม แล้วก็ไปให้สวัสดิการ แต่เป็นการให้แบบถ้วนหน้า และให้ในปริมาณที่เยอะมาก มันทำให้ประเทศสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขัน เราจึงควรวาง position ของประเทศให้ดี
นโยบายเศรษฐกิจวันนี้ควรเป็นนโยบายที่จะเพิ่มการลงทุน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มรายได้เพื่ออนาคตจะได้มีเงินมาเป็นสวัสดิการให้ประชาชนได้ และในจำนวนที่เหมาะสม ไม่ใช่ว่าจะไปเป็นรัฐสวัสดิการเต็มรูปแบบ หรือเรื่องการต่างประเทศ เราก็ต้องบาลานซ์สัมพันธไมตรีให้ดี และต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ทางการค้าด้วย เพื่อให้ประโยชน์ตกมาถึงประชาชนคนไทย ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก ไม่ใช่เอามันส์อย่างเดียว
ถ้า“ลุงตู่”วางมือการเมือง
ผลกระทบกับพรรครทสช.?
-ตัวพลเอกประยุทธ์ หากหลังจากนี้ลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่มีตำแหน่งทางการเมืองแล้ว พลเอกประยุทธ์ได้เคยคุยหรือส่งสัญญาณมายังคนในพรรคหรือไม่ว่า จะทำงานการเมืองอยู่กับพรรคต่อไป?
ผมก็ไลน์คุยกับท่านพลเอกประยุทธ์ เป็นบางครั้ง ท่านก็ให้กำลังใจพวกเรามาตลอด ก็มีการให้กำลังใจกันและกัน ณ วันนี้ ท่านก็ยังถือว่าเป็นผู้สนับสนุนหลักของพรรค เป็นเสาหลักพรรค เป็นทั้งสมาชิกพรรค เป็นทั้งประธานยุทธศาสตร์พรรค ซึ่งไม่เหมือนกับตอนปี 2562 ที่ตอนนั้นเป็นแค่แคนดิเดตนายกฯของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งแม้ว่า 36 ที่นั่ง จะไม่สามารถดันให้พลเอกประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกฯหลังเลือกตั้งได้ แต่ท่านก็ยังเป็นสมาชิกและประธานยุทธศาสตร์พรรคอยู่
ไม่ว่าในอนาคตจะเป็นอย่างไร สมาชิกพรรค ผู้สนับสนุนพรรค และคนที่เลือกพรรครวมไทยสร้างชาติ ตอนเลือกตั้ง ต้องยอมรับว่าทุกคนศรัทธาในตัวพลเอกประยุทธ์
-หากพลเอกประยุทธ์วางมือทางการเมือง จะมีผลต่อพรรคหรือไม่ และพรรคมีการเตรียมรองรับสถานการณ์ตรงนี้ไว้บ้างหรือไม่?
ผมคิดว่าแม้แต่ตัวพลเอกประยุทธ์เอง ถึงท่านถอย ท่านก็คงอยากให้พรรคหรืออย่างน้อยสุด อุดมการณ์ของพรรค มีคนที่จะสานต่อ วันนี้ผมก็ต้องพูดกันตรงๆ ว่า ในทางการเมือง สำหรับพรรคไหนหรือใครที่จุดยืน อุดมการณ์ ไม่ชัดเจนมันยืนลำบาก เพราะฉะนั้นการขับเคลื่อน การเดินหน้างานการเมืองต่อจากนี้ต่อไป อุดมการณ์ จุดยืน ต้องมีความชัดเจน และการสื่อสารต่างๆ เนื้อหา คอนเทนต์ นโยบายจะต้องมีความแหลมคมและชัดเจน นั่นคือเหตุผลที่ผมระดมผู้สมัครส.ส. ที่แม้อาจไม่ได้รับเลือกตั้งแต่เขามีความตั้งใจ มีความรู้ความสามารถ รวมถึงคนนอกวงการการเมือง ได้มาร่วมระดมสมอง ระดมกำลังกัน เพื่อจะได้ทบทวนและวางจุดยืนของพรรคให้มันชัดมากกว่าเดิม โดยเริ่มที่จะสร้างคอนเทนต์หลังจากนี้และในที่สุด ก็พัฒนาให้เป็นแนวนโยบายแต่ละด้านที่พรรคจะต้องผลักดันและดำเนินการต่อไป
ได้มา 36 ที่นั่ง-พลาดเป้าตรงไหน?
-ในฐานะเลขาธิการพรรค ได้มีการสรุป ถอดบทเรียนการเลือกตั้งหรือไม่ว่า เหตุใด จำนวนส.ส.เขตที่ได้รับหลายแห่งถึงไม่เข้าเป้า?
ผมมองแบบนี้ คือจริงๆ แล้วที่พรรคได้มาสี่ล้านเจ็ดแสนหกหมื่นกว่าคะแนน ผมว่าก็ไม่ได้คลาดเคลื่อนจากเป้าหมายสักเท่าไหร่นัก แม้แต่ท่านนายกรัฐมนตรีก็ทราบดีว่า ภารกิจนี้คือภารกิจที่ท้าทาย เพราะคุณพีระพันธุ์ หัวหน้าพรรคกับผม ก็เพิ่งเข้ามาช่วงเกือบปลายปี 2565 ส่วนพลเอกประยุทธ์ก็เพิ่งเข้ามาช่วงต้นปีมีเวลาเพียงสี่เดือนก่อนถึงวันเลือกตั้ง พรรคเองก็ทราบข้อจำกัดตรงนี้ เราก็เสียดาย หากเราอยู่กับลุงตู่มาก่อนหน้านี้ เวลามันน้อยมาก เพราะความจริง ช่วงที่พลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯผลงานมีเยอะมาก ตอนท่านมาอยู่กับพรรค เราก็พยายามสื่อสารโฆษณา แต่บางส่วนอาจไม่ทันการ เพราะบางคนตัดสินใจไปแล้ว แต่สำหรับสี่ล้านเจ็ดแสนหกหมื่นกว่าคะแนนที่ได้มาจากการที่พรรคลงเลือกตั้งครั้งแรก ผมก็คิดว่าโอเค
แต่ที่ผมคิดว่าน่าจะได้มากกว่านี้คือจำนวนส.ส.เขต เพราะถ้าตีว่าสี่ล้านกว่าคะแนน สัดส่วนในสภาฯ มันประมาณสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ ควรจะได้มีส.ส.สัก 60-70 คน ซึ่งส.ส.เขตเราได้มา 23 คน มันควรจะได้สัก 40-50 ที่นั่ง ก็ไม่อยากพูดว่ามันไปพลาดเป้าตรงไหน อย่างไร
คือทั้งประเทศ ผลที่ออกมา มันเหนือความคาดหมายของหลายคน เช่นกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล ไปจนถึงภาคตะวันออก เดิมทีเราก็คิดว่าเราน่าจะได้ส.ส.มากกว่านี้เช่น ระยอง ชลบุรี แม้กระทั่ง ในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑลอย่าง นนทบุรี เราคิดว่าเราน่าจะได้ส.ส.เขต แต่ผู้สมัครก็มาที่สองหลายที่ แต่ที่เหนือความคาดหมาย ก้าวไกลเขาชนะมาแบบแลนด์สไลด์ในกทม.และปริมณฑล ไปจนถึงพื้นที่โซนตะวันออก ก็ทำให้พลาดเป้าไปบ้าง บางจังหวัดก็เสียดายอย่างเช่น ที่สมุทรสงคราม คุณรังสิมา รอดรัศมี แต่อย่างที่ราชบุรี นครปฐม ก็ชนะเข้ามาตามเป้าที่วางไว้
ส่วนภาคใต้ จริงๆ เราก็คิดว่าเราก็น่าจะได้ประมาณนี้ อย่างชุมพร ก็ชนะยกจังหวัด หรือสุราษฎร์ธานี ก็เกือบยกจังหวัดได้มา 6 ที่นั่งจากที่มี 7 ที่นั่ง แล้วก็มีที่ตรัง พัทลุง นครศรีธรรมราช นราธิวาส เป็นต้น
ภาพรวม ส.ส.เขตที่พรรคได้มา ถือว่าที่ตั้งเป้าไว้ก็เข้ามาเกือบหมด เพียงแต่ไปพลาดเป้าในบางจังหวัด แต่ตอนที่มาที่พรรครวมไทยสร้างชาติ พวกผมหลายคนที่มาจากประชาธิปัตย์ ก็มากันแบบเสื่อผืนหมอนใบ หลายคนก็กลับเข้ามาเป็นส.ส.หมด และบางจังหวัดก็ทำเพิ่มได้ แต่หลังจากนี้ เราก็ต้องทำงานให้หนักขึ้น
เลือกตั้งที่ผ่านมา การที่เรามีเวลา 3-4 เดือนก่อนเลือกตั้ง ภายใต้เวลาที่มีจำกัด การที่จะส.ส.เขตให้ครบทุกภาคไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ว่าจากนี้ไปที่เรามีเวลา ก็ต้องใช้เวลาจากนี้ไปให้เป็นประโยชน์ ต้องมาทบทวนการทำงาน ทั้งสองระดับ คือในระดับพื้นที่ และในเรื่องประเด็นที่เป็น agenda ที่เป็นเรื่องรายประเด็นต่างๆ โดยเราต้องมีคนที่จะขับเคลื่อนงานในประเด็นต่างๆ เช่นเศรษฐกิจ -อุตสาหกรรม- สิ่งแวดล้อม- เรื่องLGBT ต่อไปเราต้องทำทั้งสองระดับมันถึงจะสมบูรณ์แบบ เพราะเราก็เห็นแล้วว่า ก้าวไกล เขาทำได้ประสบความสำเร็จ คือเขาไม่ได้ไปยึดติดกับพื้นที่ ไม่ได้ไปใช้บริการบ้านใหญ่ หรือว่าส่งผู้สมัครที่มีประสบการณ์การเมืองท้องถิ่น หรือว่าเติบโตมาจากพื้นที่ หลายคน ไม่รู้จักด้วยซ้ำว่าผู้สมัครเป็นใคร
-ที่มีการเสนอให้พรรคมีการรีแบนด์พรรค ปรับโครงสร้าง มองอย่างไร?
เรื่องการรีแบนด์ ผมขอย้ำว่าแบนด์ของพรรครวมไทยสร้างชาติ หากเป็นสินค้า เปิดตัวมาแค่ในไตรมาสแรก ก็ได้ส่วนแบ่งการตลาดไปอันดับที่สามคือสี่ล้านเจ็ดแสนหกหมื่นเสียง จนแซงหลายพรรคที่มีอายุมากกว่าเรา ผมคิดว่าแบนด์มันค่อนข้างโอเค แต่อาจต้องมีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานให้มันดีขึ้น การสื่อสารกับงานการเมือง ปัจจุบันเป็นเรื่องสำคัญมาก ก็ต้องทำให้ดี วันนี้ผมก็ชวนให้พวกเรามาช่วยกันคิดมาทบทวน
ผมไม่ปฏิเสธเราเป็นอนุรักษ์นิยม เป็น conservative แต่ถึงเป็น conservativeก็ต้องมีพัฒนาการ มีวิวัฒนาการให้ทันสมัย มันต้องโมเดิร์นกว่าเดิม ในหลายส่วน วันนี้เรามีจุดยืนที่มันยังมีความจำเป็นในบ้านเมืองอยู่ เช่นความแตกต่างเรื่องนโยบายเศรษฐกิจและการต่างประเทศ ของเรากับของก้าวไกล ชัดเจนมาก คนละเรื่องกันเลย
อย่างเขามองว่า"ทุน"คือต้นตอของปัญหา แต่เรายังคิดว่ายังจำเป็นต้องขับเคลื่อนด้วยระบบเศรษฐกิจที่ยังคงต้องพึ่งทุนในระดับหนึ่งอยู่ แต่ต้องไม่ใช่ทุนขนาดใหญ่ที่มีการผูกขาด ยังไงต้องให้มีการแข่งขัน หรือนโยบายต่างประเทศ ก็ต้องรักษาสมดุลให้ดีเพื่อประโยชน์ของประเทศ ไม่ใช่จะไปหนุน agenda ของบางประเทศแบบนี้ก็ไม่ได้
การเมืองต่อจากนี้ นักการเมืองคนไหนที่ไม่มีความชัดเจนในจุดยืนหรือการสื่อสาร ก็อยู่ลำบาก อยู่ไม่ได้ ซึ่งไม่ว่าพรรคจะเป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาล แต่บทบาทการเมืองในภูมิทัศน์การเมืองของประเทศ ผมว่ามันไม่เปลี่ยนอยู่แล้ว คือเวลาเราพูดกันถึงอนุรักษ์นิยม คนไปมีภาพจำทำนองว่าโบราณ ล้าหลัง เพราะมีคำว่า อนุรักษ์ แต่จริงๆ อนุรักษ์นิยม ไม่จำเป็นต้องโบราณ แต่มีความทันสมัยได้ เพราะอย่างการพัฒนาประเทศชาติ มันจะ conservative ไม่ได้ รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยี การสร้างนวัตกรรม พวกนี้จะล้าหลังไม่ได้ ต้องไปให้เร็วที่สุด
“อยากจะบอกประชาชนที่เลือกรวมไทยสร้างชาติว่า เราขอขอบคุณทุกคะแนนเสียง การที่เราตั้งพรรคมาใหม่ แล้วได้มาสี่ล้านเจ็ดแสนหกหมื่นคะแนนในการลงเลือกตั้งครั้งแรก เรานับว่าเป็นความสำเร็จในระดับหนึ่งและยืนยันว่า ทุกคะแนนเสียงที่ให้มา กองเชียร์ทุกคน เราจะสานต่อภารกิจที่เป็นอุดมการณ์ของพรรค
และไม่ต้องกังวล เรื่องลุงตู่ ที่แม้ 36 ที่นั่งของเราจะไม่สามารถดันให้แคนดิเดตนายกฯของเรา ไม่ว่าจะเป็นลุงตู่หรือหัวหน้าพรรค นายพีระพันธุ์ ไปเป็นนายกรัฐมนตรีได้ แต่ทั้งสองคน ยังสนับสนุนการทำงานของพรรค ยังคงขับเคลื่อนภารกิจงานการเมือง ตามอุดมการณ์ของพรรคอยู่ และผู้สมัครส.ส.หลายคน ไม่ใช่แค่ส.ส. 36 คน หลายคนยังมีความตั้งใจ ที่จะทำงานการเมืองกับพรรครวมไทยสร้างชาติต่อไป”เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติกล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“รองประธานสโมสร เชียงราย ยูไนเต็ด สู่นักการเมืองหญิงแกร่ง”
หลายคนรู้จักกับนักการเมืองรุ่นใหญ่ อย่าง “ยงยุทธ ติยะไพรัช” อดีตประธานรัฐสภา ที่มีลูกสาว “สส.โฮม” ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช สส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ที่ “สส.โฮม” ได้ตัดสินใจลงเล่นการเมือง จากมาดามสู่สส. มีอะไรต้องเปลี่ยนเยอะ และด้วยภาพลักษณ์ที่สดใส เป็นมิตร เฟรนลี่กับทุกคน จึงได้รับคำเรียกเล่นๆว่า ทูตสันถวไมตรี เพราะ “สส.โฮม” เป็นกันเอง ไม่ถือตัวกับทุกคน แต่ใครจะไปรู้ว่าชีวิตของ “โฮม” นั้น ผ่านอะไรมาบ้าง จึงได้ไปสอบถาม
เลือกตั้งนายก อบจ. 47 จังหวัด บ้านใหญ่ รอเข้าวิน พท.กวาดเยอะ-พรรคส้ม เสี่ยงร่วง
ยิ่งใกล้ถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายก อบจ. พบว่าการหาเสียงของผู้สมัครนายก อบจ.ทั้งที่ลงในนามพรรคการเมือง และไม่ได้ลงในนามพรรค
ร้อยใจไทย สืบสานราชธรรม .. ณ จังหวัดนครปฐม!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ในวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๗ โครงการร้อยใจธรรม สืบสานราชธรรม ทั้งแผ่นดิน ถวายเป็นพระราชกุศลฯ ที่ดำเนินการโดย สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยและวัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย (ธ) ในพระราชูปถัมภ์ฯ จ.ลำพูน
ลึกสุดใจ. ”พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ผบ.ตร.” ยึดกฎกติกา ไม่กลัวทุกอิทธิพล
ถึงตอนนี้ "พลตํารวจเอก กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ หรือ บิ๊กต่าย ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ" ได้ทำหน้าที่ ผบ.ตร.อย่างเป็นทางการมาร่วมสามเดือนเศษ ส่วนการทำงานต่อจากนี้ ในฐานะ"บิ๊กสีกากี เบอร์หนึ่ง-รั้วปทุมวัน"จะเป็นอย่างไร?
2 สว. “ชาญวิศว์-พิสิษฐ์” ปักธงพิทักษ์รธน. ปกป้องสถาบันฯ พวกเราเป็นอิสระ ไม่มีรับใบสั่ง
กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการทำประชามติเพื่อนำไปสู่การให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูยเพื่อมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อไทย ที่ต้องการทำให้เสร็จก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น
ก้าวย่างออกจากปัญหา .. ของประเทศ!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา... คำกล่าวที่ว่า.. “เมื่อสังคมมนุษยชาติขาดศีลธรรม.. ย่อมพบภัยพิบัติ.. เสื่อมสูญสิ้นสลาย..” นับว่าเป็นสัจธรรมที่ควรน้อมนำมาพิจารณา.. เพื่อการตั้งอยู่ ดำรงอยู่ อย่างไม่ประมาท...