หลังการเลือกตั้งเมื่อ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่ถึงตอนนี้ก็ผ่านมาหนึ่งเดือน พบว่า ประชาชนจำนวนมากและแวดวงการเมืองต่างถามกันไม่น้อยว่า "นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี"หายไปไหน และหมอวรงค์-พรรคไทยภักดี จะยังทำพรรค-ทำการเมืองต่อไปหรือไม่ หลังเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคไทยภักดีไม่มีที่นั่งส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎร แม้แต่คนเดียว
เพื่อให้รู้ทิศทางการเมืองของ”นพ.วรงค์-พรรคไทยภักดี”ต่อจากนี้ “ไทยโพสต์”ได้สัมภาษณ์พิเศษเปิดใจ นพ.วรงค์ ว่าวางอนาคตการเมืองของตัวเองและของพรรคไทยภักดีต่อจากนี้อย่างไร ซึ่ง”หมอวรงค์”ย้ำว่า พรรคไทยภักดียังคงอยู่ และจะอยู่บนถนนการเมืองต่อไปแต่หากกติกาและบริบทการเลือกตั้งยังคงเป็นแบบที่เป็นตอนเลือกตั้งที่ผ่านมา ก็ตัดสินใจแล้วว่าหากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นตนเองและทีมงานพรรคไทยภักดี คงไม่ลงเลือกตั้งแข่งด้วย ส่วนเหตุผลเป็นเพราะอะไร มีคำอธิบายผ่านบทสัมภาษณ์ต่อจากนี้
เราเริ่มด้วยคำถามที่ว่า ผ่านมาแล้วหนึ่งเดือนหลังการเลือกตั้ง ได้มีการถอดบทเรียนและประเมินผลเลือกตั้งที่ออกมาอย่างไร “นพ.วรงค์”กล่าวตอบว่า หลังจากผ่านการเลือกตั้งมาหนึ่งเดือน ผมได้มีการไปพูดคุย สรุปบทเรียนกับสิ่งที่เกิดขึ้น ผมสรุปภาพใหญ่แบบนี้ หนึ่ง รัฐบาลล้มเหลว เราต้องยอมรับก่อน ซึ่งผมรู้อยู่แก่ใจแล้ว แต่ในสถานการณ์ในอดีต ช่วงก่อนการเลือกตั้ง มันไม่เหมาะที่จะไปวิพากษ์วิจารณ์ ถามว่าเขาล้มเหลวอะไรบ้าง ผมเห็นว่า รัฐบาลปัจจุบันล้มเหลวสี่เรื่อง
หนึ่ง เขาไปแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราและนำไปสู่การแก้ไขพรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ ที่แก้ไข เปลี่ยนระบบการเลือกตั้งจากตอนเลือกตั้งปี 2562 หากจำได้ ตอนที่มีการแก้ไขเปลี่ยนระบบการเลือกตั้ง โดยเฉพาะระบบบัญชีรายชื่อจากหาร100 มาเป็นหาร 500 ทุกเสียงไม่ตกน้ำ ตอนนี้กระแสรัฐบาลทำท่าจะมาแล้ว แต่ทีมการเมืองฝ่ายลุงป้อม(พลเอกประวิตร) ไปเล่นเกม จนสุดท้าย ระบบเลือกตั้งพลิกกลับมาเป็นบัตรสองใบ หาร 100 ทำให้พอแก้ไขทุกอย่างเสร็จ ฝ่ายค้านเวลานั้นประกาศทันทีเลือกตั้งเมื่อไหร่จะชนะเลือกตั้งแลนด์สไลด์ กระแสรัฐบาลตกทันที และตกต่อเนื่อง
พรรคไทยภักดีเป็นพรรคการเมืองพรรคเดียวและพรรคแรก ที่ออกมาแสดงความเห็นในประเด็นนี้ เพราะเรามองออกและออกมาเตือนว่า ระบบที่แก้ไขดังกล่าว จะนำไปสู่ปัญหาของประเทศในอนาคต และฝ่ายรัฐบาลจะแพ้ทั้งกระดาน เพราะระบบเลือกตั้งแบบที่ใช้ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา มันเคยใช้ในอดีต ทำให้เกิดระบอบทักษิณ มีพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ที่มีอำนาจมากและจะนำไปสู่การใช้อำนาจที่มิชอบอีก แต่เขาไม่ฟัง
ประเด็นที่สอง พรรคและคนในฝ่ายรัฐบาลมาแตกกันเอง แล้วแยกออกมาอยู่กันคนละพรรค ทำให้คนยิ่งเบื่อ
ประการที่สาม คือเอื้อทุจริตและเอื้อทุนผูกขาด ที่พรรคไทยภักดีก็ออกมาต่อต้านเรื่องพวกนี้ ทั้งเรื่องพลังงาน การสื่อสารผ่านดาวเทียม เป็นต้น
และสุดท้ายที่เป็นจุดพลาดมากๆ ทั้งที่เป็นหน้าที่ซึ่งต้องทำ และนำไปสู่ความพ่ายแพ้ครั้งยิ่งใหญ่ คือเขาไม่ต่อสู้ทางความคิด พรรคฝ่ายค้านเดิมเขาต่อสู้ทางความคิด โดยบิดเบือนหมด แต่ฝ่ายรัฐบาลไม่เอาความจริงมาสู้ มีแต่พวกผมที่ไปสู้ แล้วพวกผม เปรียบไปเหมือนช้างสารสู้กัน เราเหมือนหนูตัวเล็กๆ ไปสู้
ที่ผ่านมา ฝ่ายรัฐบาลไม่เคยออกมาต่อสู้ทางความคิด ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง 112 เรื่องสถาบันฯ อาจมีบ้างแต่ก็หยุมหยิม ไม่ได้ออกมาแบบสร้างชุดความคิดสู้ หรือแม้แต่ที่เขาประกาศเรื่องปลดล็อกท้องถิ่น ซึ่งมันคือการแบ่งแยกแผ่นดิน แบ่งแยกประเทศ แม้แต่เรื่องปฏิรูปกองทัพ มันก็คือการทำลายกองทัพ แต่ฝ่ายรัฐบาลก็ไม่คิดจะสู้ทางความคิด มันเลยทำให้คนเบื่อ เพราะพื้นฐานการที่่ฝ่ายรัฐบาลอยู่มาแปดปีกว่า คนมันเบื่ออยู่แล้ว มันก็เลยยิ่งสวิงมากขึ้น และแน่นอน มันก็ต้องมีผลกระทบกับพรรคไทยภักดีตามมา ถามว่ากระทบอย่างไร ก็เพราะไทยภักดี คนมองว่าเป็นพรรคการเมืองที่เหมือนกับสนับสนุนรัฐบาล ทั้งที่อะไรที่ดีเราก็เชียร์ แต่อะไรไม่ดี เราก็วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล แต่แน่นอน มันหนีไม่พ้น พรรคไทยภักดี ย่อมได้รับผลกระทบจากสิ่งนี้ อันนี้คือภาพที่ทำให้เกิดปัญหา
“นพ.วรงค์”ชี้ประเด็นไว้ว่า จากความเบื่อหน่ายของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลและความผิดพลาดของฝ่ายรัฐบาลในสี่ประเด็นข้างต้นดังกล่าว ทำให้การเมืองอีกซีกหนึ่งได้เปรียบ ผมใช้คำแบบนี้แล้วกัน การต่อสู้ตรงนี้มันเกิดจาก "ไม่ซื้อเสียง ก็ซื้อสื่อ"
...คำว่าซื้อสื่อ ผมให้ความหมายครอบคลุม คือผมเชื่อว่าสื่อเกือบ 70-80เปอร์เซ็นต์เป็นของเขา ที่ผมไปออกทุกรายการ เป็นคนของเขาหมด เข้าข้างเขาหมด เวลาเราไปออกรายการ ผมมีข้อมูลจะพูดเพื่อคัดค้านเขา ก็มีความพยายามปิดปากไม่ให้เราพูด รวมถึงสื่อโซเชียลมีเดีย และไอโอ ทำให้การปั่นกระแสของพวกนี้เขาจะได้เปรียบ อย่างผมขอยกตัวอย่าง กรณี"ลุงพล" จากผู้ร้ายทำให้กลายเป็นพระเอกขึ้นมา
เรื่องนี้คือตัวอย่างที่ผมยกมาให้เห็น การที่พรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งมีเครื่องมือมากในการปั่นกระแสต่างๆ มันจึงทำได้ง่ายมาก และที่สำคัญสิ่งที่ปั่นมัน Fake เยอะ มีการคอนโทรลสื่อทั้งหมด ซึ่งมันเหนือกว่าซื้อเสียง ซื้อสื่อมันกินพลังมากกว่าซื้อเสียงเพราะคอนโทรลได้ทุกอย่าง
นอกจากนี้อีกฝ่ายที่ต้องตำหนิคือคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) คือส่วนสำคัญมันก็อาจมาจากเรื่องของรัฐธรรมนูญ ที่ทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เท่าเทียม คือการแข่งขันในระบอบประชาธิปไตยมันต้องเท่าเทียม ทุกพรรคต้องได้โอกาสเหมือนกัน ใช้เงินใกล้เคียงกัน แล้วให้ประชาชนไตร่ตรอง แต่สิ่งที่เห็นวันนี้มันไม่ใช่
อย่างเรื่องเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งส.ส.ระบบเขตที่ผ่านมา ที่ให้ผู้สมัครส.ส.ระบบเขตแต่ละคนใช้เงินคนละไม่เกินหนึ่งล้านเก้าแสนบาท และบัญชีรายชื่อก็อีกร่วมร้อยกว่าล้านบาท เบ็ดเสร็จต้องหาเงินประมาณเก้าร้อยกว่าล้านบาท แต่ของพรรคไทยภักดี ใช้เงินในการเลือกตั้งที่ผ่านมาน้อยมาก ซึ่งเรารู้อยู่แล้วว่า หากเราไปเอาเงินจากบริษัทใหญ่ๆ มาสุดท้าย เราก็ต้องตอบแทนเขา เราไม่ต้องการกระบวนการทุจริตเพื่อเอื้อประโยชน์เกิดขึ้น
"นพ.วรงค์"ย้ำว่า ตราบใดที่กติกาเป็นแบบนี้ ยังไง เราก็สู้ไม่ได้ ในเมื่อเราปฏิเสธการจะไปทำทุจริตอยู่แล้ว สิ่งที่สำคัญ ที่กกต.ควรทำในอนาคตเพื่อให้บ้านเมืองไปได้ คือต้องจัดการแข่งขันให้เป็นธรรม คือต้องคอนโทรลทุกอย่างโดยเฉพาะการจัดการกับเรื่องซื้อเสียงให้ได้ ขณะเดียวกันต้องจัดการเรื่องการครอบงำสื่อให้ได้ โดยเฉพาะการที่ปล่อยให้สื่อมาจัดเวทีดีเบตเอง แล้วจัดแบบเข้าข้าง เรื่องแบบนี้กกต.ต้องทำ ไม่ใช่ว่ากกต.จัดเวทีดีเบตแล้วไม่มีคนดู แบบนี้ไม่ใช่เพราะความจริงแล้วกกต.ถ้าจัด กกต.ต้องเป็นพระเอก ไม่ใช่ให้สื่อเอกชนมาจัดเวทีดีเบต และพอจัดก็จัดแบบให้มีการเอาเปรียบกัน
ผมก็คุยกับทีมงานพรรคไทยภักดีแบบตรงไปตรงมาเลยว่า เราต้องยอมรับว่ายังไง เราก็สู้เขาไม่ได้ ประกาศเลยผมสู้เขาไม่ได้ แต่ถ้าเรื่องความคิด ผมไม่แพ้คุณ แต่เพราะเราไม่มีองคาพยที่จะมาจัดการสิ่งเหล่านี้ โดยเฉพาะเรื่องสื่อ เราไม่มีปัญญาหาเงิน หาโครงข่ายที่มีผลประโยชน์ร่วม แม้แต่โครงข่ายจากต่างประเทศ แล้วมาทำสิ่งเหล่านี้ ซึ่งผมว่าในอนาคตไม่เป็นผลดีต่อประเทศ ส่วนทางออกคืออะไร ก็เป็นหน้าที่ของกกต.ในการจัดการเลือกตั้งให้เป็นธรรม ให้เท่าเทียมกันในทุกๆมิติ
ยังทำการเมืองต่อ-ไทยภักดียังอยู่
บทบาทใหม่ เน้นสู้ในเวทีประชาชน
-ส่วนตัวรู้สึกผิดหวัง เสียใจ ท้อแท้ หรือไม่ กับผลเลือกตั้งที่ออกมา?
คืนวันเลือกตั้งยอมรับว่าท้อ เพราะเราเป็นพรรคการเมืองที่ขอเรียกว่า ฝั่งอนุรักษ์นิยมที่ทันสมัย ที่เป็นพรรคเดียวที่สู้ พรรคอื่นไม่สู้ หากดูตอนช่วงเลือกตั้ง ไทยภักดี เป็นพรรคการเมืองที่ได้รับการติดต่อให้ไปขึ้นเวทีดีเบตเกือบทุกเวที และสู้ทุกหยด และสู้ได้ด้วย โดยข้อมูลสามารถหักล้างอีกฝั่งได้หมด เพียงแต่ว่าบนเวทีมันถูกเอาเปรียบกันเกินไป แต่ผมก็หวังว่าประชาชนที่ติดตามดูอยู่ จะโอเคกับเรา แต่เวลาผลเลือกตั้งออกมา เราก็เข้าใจได้ว่าเนื่องจากเขาดูเราขึ้นเวทีแค่หนึ่งชั่วโมงหรือหนึ่งชั่วโมงครึ่ง แต่หลังจากนั้น ถูกสื่อปั่น โดนกระแสโซเชียลมีเดียปั่น จนทำให้คนเข้าใจไปอีกแบบ
ทำให้ผมคุยกับน้องๆทีมงานของพรรคไทยภักดีว่าเราสู้เขาไม่ได้ เราต้องยอมรับ หากกติกายังเป็นแบบนี้อยู่ ผมยอมรับเลยว่าผมพ่ายแพ้ ผมสู้เขาไม่ได้ ยกเว้นมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม ผมจะสู้กับคุณ หัวเด็ดตีนขาด ผมไม่กลัว แต่ตราบใดที่คุณใช้ศักยภาพแบบนี้ ผมไม่มีศักยภาพจะไปหาเงินได้เยอะขนาดนั้น หาโครงข่ายจากต่างประเทศ เพราะผมต่อต้านโครงข่ายต่างประเทศอยู่แล้ว
ดังนั้น ยังไง ผมก็สู้พวกคุณไม่ได้ ผมไม่สู้คุณ ในเวทีแบบนี้แล้ว เพราะยังไง ผมสู้พวกคุณไม่ได้ แต่ผมจะสู้กับพวกคุณในเวทีประชาชน
ผมไม่ทิ้งการเมือง แต่ถ้าตราบใดที่ยังแข่งขันกันในลักษณะแบบนี้อยู่ ผมก็เคยบอกกับทีมงานว่า ถ้าแบบนี้เราสู้เขาไม่ได้ คือเขาใช้ทั้งซื้อเสียงหลายกลุ่ม ซื้อสื่อ แล้วเราจะเอาเงินที่ไหนไปซื้อ ในเมื่อไทยภักดีต่อต้านการทุจริตอยู่แล้ว ซึ่งการไปรับเงินจากทุนใหญ่ เขาใช้กันเป็นพันล้าน ไม่ใช่แค่หลักร้อยล้านบาท แต่ไทยภักดีเราใช้แค่หลักสิบล้านต้นๆ ไม่มีทางไปเปรียบเทียบได้
ดังนั้นบอกเลย ผมสู้คุณไม่ได้ แต่ทางความคิด ผมสู้คุณได้ ซึ่งถ้ายังจัดการเลือกตั้งในรูปแบบนี้ ความเห็นส่วนตัวผม คือไม่ต้องไปลงแข่งแล้ว ถ้าไทยภักดีจะทำพรรคการเมืองต่อไป ก็เป็นพรรคการเมืองที่ทำการเมืองนอกรัฐสภา ชี้นำประเทศ ชี้นำประชาชนให้เห็นว่าตอนนี้เกิดปัญหาอะไรขึ้นบ้างในประเทศ
-หมายถึงหลังจากนี้อาจจะได้เห็นบทบาทของหมอวรงค์หรือพรรคไทยภักดี ในบทบาทการทำงานการเมืองภาคประชาชน?
ใช่ เราต้องพยายามชี้นำทางความคิด เพราะวันนี้การต่อสู้ที่รุนแรงคือการต่อสู้ทางความคิด การต่อสู้ด้วยความจริง ข้อเท็จจริง ถ้าสู้แบบนี้ เราสู้เขาได้ และเราจะเห็นบทบาทของพรรคไทยภักดีในบทบาทแบบนี้เด่นชัดขึ้น
คือเรายังเป็นนักการเมือง แต่ถ้าตราบใดที่กติกายังเป็นแบบนี้ ใช้เงินซื้อสื่อซื้อเสียงแบบนี้ ผมไม่แข่งกับคุณ พวกคุณไปแข่งกันเลยไป จนประชาชนเบื่อขึ้นมาเมื่อไหร่ ค่อยว่ากันอีกที หรือคนคิดได้ เริ่มมีการคิดเรื่องการทำให้เกิดระบบการแข่งขันมีความเป็นธรรมมากขึ้น เราจะเอาไทยภักดีไปแข่ง แต่ถ้ายังเป็นแบบนี้ คงไม่แข่งด้วย
อย่างไรก็ตาม สำหรับพรรคไทยภักดียังทำต่อไป ยังเคลื่อนไหวการเมืองต่อ ให้ความรู้ประชาชน สนับสนุนแนวคิดต่างๆ แต่ปัญหาคือในกระบวนการแข่งขัน เรารู้อยู่ว่าเราสู้ไม่ได้ เราไม่มีปัญญามาเอาเงิน นอกจากว่าเรายอมแกล้งโง่ ไม่สนใจเรื่องอุดมการณ์ เอื้อประโยชน์กันบ้างไม่เป็นไร แล้วไปขอเงินจากทุนใหญ่ๆ มาบ้าง ซึ่งผมว่าเขาก็อาจให้พวกผม ถ้าจะไปขอ แต่ก็ต้องไปเอื้อประโยชน์ให้พวกเขา ซึ่งผมพูดเสมอว่าปัญหาของประเทศคือการเอื้อประโยชน์ การทุจริตคอรัปชั่น สิ่งเหล่านี้คือปัญหาของประเทศ เราจึงพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้
ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุดของประเทศ เราคิดแบบสามัญสำนึก ในเมื่อคุณจะมาทำงานให้ประชาชน แล้วทำไมต้องมาหาเงิน มาจ่ายเงินเอง ทางที่ดี ลองให้คณะกรรมการการเลือกตั้งตั้งงบประมาณให้พรรคการเมืองเพื่อหาเสียงโดยให้งบเท่ากัน เพื่อไม่ให้ไปเป็นเครื่องมือในการทุจริตให้กับทุนใหญ่ทุนผูกขาด โดยหากกกต.ตั้งงบประมาณในส่วนนี้ เช่นสี่ปีตั้งงบไว้หนึ่งครั้ง เบ็ดเสร็จไม่ถึงหมื่นล้านบาท เทียบกับผลประโยชน์ของประเทศชาติปีละหลายล้านล้านบาท มันคุ้มค่ามาก โดยให้พรรคการเมืองแข่งขันกันภายใต้กรอบกติกาดังกล่าวที่เป็นธรรม ผมว่ามันแฟร์ และประเทศก็จะได้ประโยชน์
ผมทราบว่าหลายประเทศก็ทำกัน ทำให้พรรคการเมืองไม่ต้องใช้เงินส่วนตัว ไม่ต้องไปหาเงินส่วนตัว เพราะกกต.จะตั้งงบประมาณให้พรรคการเมืองใช้ โดยตอนหาเสียง ก็ใช้วงเงินดังกล่าวที่กำหนดไว้ เช่นการซื้อพื้นที่สื่อต่างๆ ก็อยู่ในวงเงินนี้ โดยกกต.ก็ต้องคุมโซเชียลมีเดียให้ดี เพื่อให้ประชาชนเสพข้อมูลที่แฟร์กับทุกฝ่าย เพราะแบบนี้ ไม่แฟร์ ซึ่งหากมีการแก้ไขกติกาเลือกตั้งแล้วใช้แบบนี้ ผมคิดว่าไทยภักดีจะลงมาสู้อีกครั้ง แต่ถ้ายังเป็นแบบนี้อยู่ กูไม่สู้มึง กูยอมแพ้
-สมมุติว่าในอนาคต มีการตั้งรัฐบาล แล้วรัฐบาลบริหารประเทศไป พอถึงจุดหนึ่งเช่นผ่านไปปีกว่า เกิดมีปัญหาขึ้นทางการเมือง แล้วมีการยุบสภาฯ โดยที่ยังไม่มีการแก้ไขกติกาเลือกตั้ง ไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไทยภักดี ก็จะไม่ลงเลือกตั้ง?
ถ้าผมยังเป็นหัวหน้าพรรคอยู่ ผมจะบอกเลย ลงไปก็แพ้ ต่อให้เก่งยังไง ก็แพ้ มันพิสูจน์ให้เห็นแล้ว เราสู้แบบหัวเด็ดตีนขาด ไม่มีใครกล้าสู้ แต่เรากล้าสู้ แต่สุดท้ายแล้วเราไม่มีเครื่องมือพอที่จะไปขยายคอนเทนต์ ผ่านสื่อ-ผ่านโซเชียลมีเดีย จะเห็นสื่อบางช่อง พูดแต่เรื่องพรรคการเมืองบางพรรคทั้งวัน มันไม่แฟร์ ของผมมันไม่มี เมื่อไม่มีแล้วจะไปสู้ทำไม เก่งยังไง ก็สู้ไม่ได้
-บทบาททางการเมือง ของนพ.วรงค์ ต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร?
เราจะยังเป็นพรรคการเมือง เป็นภาคการเมืองที่ต้องเคลื่อนไหวอย่างชัดเจนเพื่อชี้นำทิศทางที่ถูกต้องให้ประเทศ และที่สำคัญที่สุดคือนำข้อเท็จจริงมาตีแผ่ หักล้าง
เพราะวันนี้การต่อสู้ทางความคิดมันรุนแรงมากขึ้น และเป็นการชี้นำความคิดที่ผิดๆ จากบางพรรคการเมือง พูดง่ายๆ มีบางพรรคการเมืองต้องการนำประเทศไปสู่ระบบสาธารณรัฐ ซึ่งผมไม่เคยเชื่อระบอบนี้เลย มีแต่การสร้างความแตกแยกสร้างความเกลียดชัง และสร้างความอ่อนแอให้กับประเทศของเรา และสุดท้าย จะไปอยู่ภายใต้การครอบงำของมหาอำนาจ ผมยังยืนยันว่าความเป็นราชอาณาจักรที่มีสถาบันฯ ที่เป็นรากเหง้ามาหลายร้อยปี ประเทศเราถูกสร้างมาจากสถาบัน ความผูกพันยังมีอยู่
หากถามว่าแล้วต่อจากนี้ ไทยภักดีจะเป็นอย่างไร ก็ตอบว่า หากยังเป็นแบบนี้อยู่ ผมไม่แข่งกับคุณ เรายอมแพ้ แต่เรายังอยู่ เราจะบอกประชาชน เราจะชี้นำให้ประชาชนได้เห็นว่าอะไรเป็นอะไร ชี้นำความถูกต้อง
-ถ้าหากเปิดสภาฯ มา ส.ส.ก้าวไกลเข้าชื่อกัน เสนอร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เข้าสภาฯ บทบาทของหมอวรงค์จะเป็นอย่างไร?
ผมก็ต้องออกมาเคลื่อนไหวให้เห็นว่า ที่จะเสนอไปดังกล่าว จะนำไปสู่ปัญหาอะไรบ้าง ซึ่งเรื่องนี้ ผมพูดมาตลอด ดังนั้นถ้าตราบใดที่พรรคพวกนี้ เคลื่อนไหวในหลายประเด็น เช่นแก้ 112 ที่ผมถือว่าจะนำไปสู่การล้มล้างสถาบันฯ หรือการให้เลือกผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรง ที่ให้อำนาจเหมือนผู้ว่าการรัฐฯ ที่จะนำไปการแบ่งแยกประเทศไปสู่ระบบสาธารณรัฐ เราก็ต้องออกมาเคลื่อนไหว ให้ความรู้กับประชาชน ซึ่งจะดีเสียอีก เพราะผมจะได้เคลื่อนไหวแบบสบายใจ เพราะผมจะไม่ลงอยู่แล้ว เพราะผมไม่มีเงินลง
แต่ผมต้องขอย้ำว่า ผมไม่ได้ปฏิเสธที่จะเล่นการเมือง ผมจะยังคงเล่นการเมืองอยู่ เพียงแต่ถ้ากติกายังเป็นแบบนี้ ผมไม่ลง แต่ถ้าวันหนึ่งมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารพรรคชุดใหม่ แล้วบอกว่าอุดมการณ์เราต้องลดลง เรื่องทุจริตคอรัปชั่น-ทุนผูกขาด เราต้องยอมๆ เขาบ้าง ไปรับเงินจากเขามาแล้วพรรคก็ไปลงแข่งเลือกตั้ง แบบนี้ก็แล้วแต่ อันนั้นเป็นเรื่องของผู้บริหารชุดใหม่ แต่ถ้ายังเป็นผมอยู่ ผมไม่ต้องการให้เข้าไปอยู่ในวงจรอุบาทว์เหมือนแบบเดิมๆ ที่สุดท้าย ไปเอาเงินเขามา ก็ต้องไปเอื้อประโยชน์ให้เขา แล้วก็ต้องมาทุจริตกันอีก
ย้ายไปอยู่พรรคการเมืองอื่น
ประตูนี้ ปิดตายหรือไม่?
-ถ้ามีบางพรรคการเมืองอื่น มาชวนให้ไปร่วมงานการเมืองด้วย ให้ไปอยู่ด้วย?
ก็มีคนเขียนคอมเมนต์ในเพจของผมเยอะมากเรื่องนี้ แต่ขอไม่ระบุชื่อพรรค เขาอาจมองว่า เมื่อมีอุดมการณ์เรื่องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ที่ไปตรงกันกับบางพรรค แต่ผมก็ยังไม่แฮปปี้กับความคิดหลายอย่างของเขา โดยเฉพาะกับการเอื้อประโยชน์ทุนใหญ่ เพราะเขาใช้เงินเยอะ
คือผมไม่ได้ปฏิเสธทุนใหญ่ แต่คุณต้องไม่ทำอะไรที่ทำให้ประชาชนเดือดร้อนมากเกินไป ซึ่งถ้าลดโทนได้ อันนั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง เพราะไทยภักดีเอง ก็รู้ว่าการต่อสู้วันนี้มันใช้เงินเยอะมาก ซึ่งตราบใดที่การเลือกตั้งใช้เงินเยอะ ประเทศก็จะยังคงอยู่ในวงจรอุบาทว์ ดังนั้น หากไปอยู่พรรคอื่น แล้วไปเพียงเพื่อขอให้ได้เป็นส.ส. แล้วมันจะได้อะไร
เพราะในเมื่อเราต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศ เพื่อให้ประเทศดีขึ้น แต่เราไม่ได้ต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศ เหมือนพรรคการเมืองบางพรรคที่สุดท้ายทำให้ประเทศอ่อนแอ ต้องไปอยู่ภายใต้อาณัติของจักรวรรดินิยม แต่เราต้องการให้ประเทศไทยคือประเทศที่มีเอกราช มีความภาคภูมิใจในชาติของตัวเอง ดังนั้น ผมก็มานั่งนึก จะให้ไปอยู่กับพรรคการเมืองบางพรรค ที่มีอุดมการณ์ปกป้องสถาบันฯตรงกัน แต่ยังทำการเมืองแบบเก่าๆ อยู่ ผมก็ไม่รู้ว่าจะทำไปทำไม มันไม่ได้ทำให้ประเทศดีขึ้น
วันนี้ผมยังไม่เห็นพรรคการเมืองที่ผมถูกใจ มันจึงเป็นที่มาที่ทำให้ผมมาตั้งพรรคการเมือง แต่มันก็พิสูจน์ให้เห็นแล้ว ถ้าพูดภาษาชาวบ้านคือ "กูไปไม่ไหวจริงๆ กับการต่อสู้แบบนี้" แต่ยังสนุกที่จะยังทำงานการเมือง ปกป้องประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน เมื่อมันเป็นแบบนี้ เราก็ไม่ลงเลือกตั้ง ก็ไม่เห็นเป็นไร ประชาชนเขาเห็น เขาก็อาจเชื่อใจ ที่เรายังไม่ลงเลือกตั้งแล้วเคลื่อนไหวทำอะไรเพื่อประชาชนจริงๆ ก็อาจทำให้เราได้รับการสนับสนุนจากประชาชนมากยิ่งขึ้นก็ได้
อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่า ผมไม่ได้ปฏิเสธการเมือง เดี๋ยวจะเข้าใจผิดว่าผมปฏิเสธการเมือง หรือว่าผมจะไม่ลงการเมือง ไม่ลงสมัครส.ส.แล้ว ไม่ใช่แบบนั้น เพียงแต่ในอนาคต หากมีเงื่อนไขบางอย่างที่ทำให้เราเห็นว่าเราลงแล้วสู้ได้ เหมือนกับคุณเล่นกอล์ฟ ถ้าคุณให้แฮนดิแคปเราลงแข่งกับคุณ ถ้าคุณไม่ให้แฮนดิแคป เราคงไม่ลงแข่งกับคุณ ก็เหมือนกันในตอนนี้ เพราะผมว่ากติกาตอนนี้มันไม่แฟร์
การที่ไม่ลงเลือกตั้งก็ไม่เห็นเป็นไร เพราะเราต้องการชี้ให้เห็นถึงความตั้งใจของเราว่าการทำงานการเมือง ไม่ต้องมีตำแหน่งก็ได้ แต่ก็เคลื่อนไหวทำงานการเมืองได้ ผมยังยืนยันว่าผมเป็นนักการเมือง เพียงแต่ถ้ามีการแก้ไขเงื่อนไขอะไรบางอย่าง หรือในอนาคต หากว่าพรรคการเมืองมันลดโทนลง มาคุยกับผม แล้วบอกว่าเรื่องนี้ผมยอม เช่นเรื่องพลังงาน คุยกันแล้วโอเค ก็อาจเป็นไปได้ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งแล้ว อนาคตก็ไม่แน่
-ก็คือไม่ได้ปิดประตูที่จะไปอยู่กับพรรคอื่น โดยไม่จำเป็นต้องเป็นหัวหน้าพรรค แต่ไปเป็นสมาชิกพรรค หรือทำงานด้านยุทธศาสตร์ให้กับบางพรรค?
คือผมใช้คำนี้ดีกว่า ณ วันนี้ เรื่องเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในหัวผม ผมเลยไม่อยากไปคาดการ ก็เอาเฉพาะไทยภักดีที่เราทำตอนนี้ก่อนก็คือว่า"กูไม่แข่งกับมึงแล้ว ภายใต้เงื่อนไขแบบนี้"แต่ถามว่า แล้วไปอยู่กับพรรคการเมืองอื่นหรือไม่ยังไง ก็ต้องบอกว่า ณ วันนี้ ยังไม่มีเรื่องนี้อยู่ในหัวผม ยังไม่อยากพูดถึงอนาคต เพราะไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นมา แต่ ณ วันนี้หลังจากไตร่ตรองมาเป็นเดือนตั้งแต่หลังเลือกตั้ง 14 พ.ค. ได้คุยกับเพื่อนๆ และทีมงานแล้ว ก็เห็นว่า ถ้ายังเป็นแบบปัจจุบันนี้ ก็อย่าไปแข่งกับมัน แข่งไปก็แพ้ สู้ไม่ได้ ก็ต้องยอมรับ
ส่วนพรรคไทยภักดี ก็ยังเป็นพรรคการเมืองอยู่แต่ก็อาจจะไปเน้นการเคลื่อนไหวนอกสภาฯ ผมว่าวันนี้ประชาชนต้องการคนที่เข้ามาต่อสู้ทางความคิด ซึ่ง ณ วันนี้ ผมดูแล้ว ฝ่ายพรรคการเมืองในสายอนุรักษ์นิยม ไม่มีการต่อสู้ทางความคิดเลย เราจึงมีความจำเป็นต้องยืนอยู่ แต่หากจะให้เราไปติดต่อบริษัทยักษ์ใหญ่ขอเงิน 100 ล้าน 300 ล้านบาท เราทำไม่ได้ เราไม่อยากไปเอื้อประโยชน์
มองโอกาสจัดตั้งรัฐบาล"พรรคก้าวไกล"
การเมืองหลังจากนี้คงวุ่นวาย
"นพ.วรงค์-หัวหน้าพรรคไทยภักดี"กล่าววิเคราะห์สถานการณ์การเมืองต่อจากนี้ว่า ผมว่ามันจะวุ่นวาย แต่ผมก็ต้องวิพากษ์กกต.ด้วยที่เรื่องสำคัญบางเรื่องไม่ควรปล่อยให้พรรคการเมืองออกมาเป็นนโยบาย กกต.ต้องรู้ว่ามันละเอียดอ่อน อย่างกกต.บอกว่าไม่อยากให้มีการพาดพิงเรื่องสถาบันฯตอนหาเสียง แต่สุดท้ายก็ปล่อยให้สื่อเอาเรื่องนี้มาทำเป็นประเด็นใหญ่ เหมือนกับเป็นธงเพื่อสร้างให้เป็นเรื่องปกติ ทำไม กกต.ไม่ยื่นโนติสไม่ให้สื่อพวกนี้จัด หรืออย่างนโยบายบางอย่างเช่นบอกว่าปลดล็อกท้องถิ่น แต่ไส้ในคือแบ่งแยกเป็นรัฐ กกต.ไม่ควรปล่อย จึงเป็นเงื่อนไขที่ทำให้พวกนี้นำมาอ้าง
คือผมไม่เชื่อว่าประชาชนที่เขาเลือกพวกคุณเพราะเขาชอบนโยบายบางอย่างที่หาเสียง มันไม่ใช่ เหมือนอย่างพรรคไทยภักดีมีนโยบายทำระบบประปาเพื่อการเกษตรกระจายไปทุกยังพื้นที่นาทั่วประเทศ แต่ผลเลือกตั้งที่ออกมา แสดงว่าชาวนาไม่ต้องการเรื่องนี้หรือถึงไม่เลือกไทยภักดี มันก็ไม่ใช่
นโยบายเป็นบางอย่างที่เป็นองค์ประกอบ แต่การปั่นกระแสให้เป็นฮีโร่ให้เป็นดารา ให้มันฟีเวอร์ อันนั้นต่างหากคือเงื่อนไขการเลือกตั้ง ซึ่งหากกกต.มีเซ้นส์ ตอนเลือกตั้ง เขาต้องติดตามนโยบายของพรรคการเมือง แต่กกต.ไม่ตาม และแน่นอน จะทำให้การเมืองของประเทศวุ่นวาย เพราะ ณ วันนี้ยิ่งช้ายิ่งวุ่น
ตัวผมเองเป็นคนเคารพกติกา เคารพกฎหมาย กฎคือกฎ กฎหมายคือกฎหมาย เมื่อทำผิดกฎหมาย ก็คือทำผิดกฎหมาย ไม่ว่าคุณจะได้คะแนนมาเยอะเท่าไหร่ แต่ถ้าทำผิดกติกา ก็คือผิด แต่วันนี้ปล่อยให้ไปเรื่อยๆ เขาก็ยิ่งปั่นกระแส วันนี้สิ่งที่เขาพยายามปั่น คือพยายามปั่นว่าเขาโดนกลั่นแกล้งถูกรังแก ทั้งที่คำร้องที่เขาโดนร้องกันมันมีคดีตัวอย่างให้เห็นมากมาย
หากถามผมว่าการเมืองจะเป็นอย่างไรต่อจากนี้ ดูแล้ว คงวุ่นวาย เพราะคนผิดไม่ยอมรับผิด แล้วนิสัยคนไทย พอถึงจุดหนึ่งก็จะรู้สึกว่า ทำผิดแล้วไม่ยอมรับผิด คนไทยอาจไม่ยอมก็ได้ หลังจากนี้ ก็อาจจะมีม็อบเกิดขึ้นก็ได้ เช่นฝั่งที่ผิดแล้วไม่ยอมรับผิด ก็ไปก่อตั้งม็อบ แต่ม็อบนี้น่ากลัวตรงที่มันเชื่อมโยงกับต่างประเทศ เพราะพวกนี้จะเชื่อมโยงกับต่างประเทศตลอด แล้วอย่างตอนนี้ที่มีข่าวมีขบวนการที่จะแบ่งแยกดินแดนด้วย จะทำประชามติให้เป็นเอกราช มันจะวุ่นวาย
"นพ.วรงค์"ประเมินสถานการณ์การเมืองและการจัดตั้งรัฐบาลต่อจากนี้ว่า เท่าที่ดู คิดว่าการจัดตั้งรัฐบาลโดยมีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำ ผมว่ามันจะเกิดขึ้นได้ยาก สิ่งที่เกิดขึ้นแค่ภายในไม่กี่วันที่ผ่านมา(การจัดกิจกรรมประชามติจำลองที่จังหวัดปัตตานี) ขนาดยังไม่มีอำนาจรัฐ แต่จะให้มีประเทศใหม่แล้ว ถ้ามีอำนาจรัฐจะยิ่งไปกันใหญ่ ถ้ามีอำนาจรัฐ ดีไม่ดีจะมีประเทศล้านนา ประเทศอะไรเยอะแยะไปหมด
เพราะสิ่งที่เขาจะทำมันคือการปกครองแบบสาธารณรัฐ แล้วไหนจะเรื่องที่จะไปวุ่นวายกับเรื่องภายในเมียนมา ก็คือพยายามจะปฏิเสธจีน มันจะยิ่งไปกันใหญ่ แค่จีนไม่ให้นักท่องเที่ยวจีนเข้ามาไทยหรือปฏิเสธไม่ซื้อสินค้าเกษตรจากไทย แค่นี้ก็จะวุ่นวายแล้ว สุดท้ายแล้วการตัดสินใจของประชาชนครั้งนี้มีความเสี่ยงที่จะสร้างภัยให้กับทุกคนในอนาคต ภัยก็คือสร้างความเดือดร้อน และการเมืองก็จะวุ่นวาย
สำหรับโอกาสที่พิธา จะได้รับเสียงโหวตเกิน 376 เสียงหรือไม่ ผมว่าไม่น่าจะได้ เราใช้ common sense เราก็รู้ เราก็ต้องเคารพสว.ที่เขาก็มีกฎหมายรองรับเขา และสิ่งที่เขาแสดงออกในช่วงที่ผ่านมา ยังไม่ทันไรเลย ก็จะแยกประเทศแล้ว และวันที่มีอำนาจมันจะหนักกว่านี้ ผมก็คิดว่าก็อาจมีการงดออกเสียง และหากจะมีม็อบอะไรเกิดขึ้น ผมว่าบ้านเมืองก็มีกฎหมาย มีขื่อมีแป ต้องไม่ให้กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย แต่พอถึงจุดหนึ่งที่เป็นเรื่องใหญ่ๆ คนจะไม่ยอม
-ท่าทีของพิธาในเรื่องหุ้นไอทีวี มีการยกเรื่อง 14 ล้านเสียงขึ้นมา มองว่ามีนัยยะการเมืองอะไรหรือไม่?
พวกที่ทำผิดแล้วไม่ยอมรับผิด จะชอบอ้างแบบนี้ พวกนี้ไม่ใช่นักประชาธิปไตยที่แท้จริง พวกนี้คือเผด็จการในคราบการเลือกตั้งเท่านั้นเอง กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย คุณจะเอา 14 ล้านเสียงมาบอกว่าคุณถูกทุกอย่างไม่ได้ กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย ผิดก็ต้องเป็นผิด ถูกก็ต้องเป็นถูก อย่าเอา 14 ล้านเสียงมาอ้าง แล้วคุณทำผิด ไม่ต้องเป็นไรเลย แบบนี้ไม่ได้ อันนี้คือเผด็จการ
ส่วนเรื่องนี้ (คำร้องหุ้นสื่อพิธา) ผมยังคาดเดายากว่ามันจะจบแบบไหน แต่ผมมองว่าพรรคอันดับสอง คือ เพื่อไทย คงคิดหนัก เพราะจะอยู่ร่วมกับพรรคก้าวไกล ก็เกิดกระแสต้านเยอะ จะไปอยู่ร่วมกับลุงป้อมหรือภูมิใจไทย ก็จะเจอกระแสต้านจากอีกฝั่งหนึ่ง บ้านเมืองไม่สงบ คือลึกๆ เพื่อไทย ก็อยากสลัดก้าวไกลออกเพื่อไปตั้งรัฐบาล แต่กระแสที่กำลังมีการปั่นกันตอนนี้ ทำให้เพื่อไทย ขยับอะไรลำบากขึ้น
ชำแหละนโยบายเลือกตั้งผู้ว่าฯ
สร้างปัญหาระยะยาว-ขัดแย้งเชิงพื้นที่
"นพ.วรงค์ หัวหน้าพรรคไทยภักดี"กล่าวแสดงความเห็นเชิงวิพากษ์ถึงนโยบายสำคัญๆของพรรคก้าวไกล ที่กำลังเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลในเวลานี้โดยเฉพาะ"นโยบายเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ"ว่าเรื่องการกระจายอำนาจ ผมเห็นด้วยในหลักการ แต่การกระจายอำนาจ ผมยกตัวอย่างว่ามีสองแบบให้เห็นภาพ
แบบแรกใกล้ตัวเรา คือการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. หรือนายกเมืองพัทยา ซึ่งการกระจายอำนาจโดยเลือกตรงแบบนี้ ผมว่าโอเค รับได้ เพราะอย่างน้อยรัฐบาลกลางกับท้องถิ่น มีความเชื่อมโยงกัน ตามแผนขั้นตอนที่มอบอำนาจให้ และรัฐไทยก็ยังเป็นรัฐเดียวอยู่ เพราะกฎหมายใหญ่ยังเป็นรัฐธรรมนูญ ที่มีเนื้อหาครอบคลุมทั้งหมด และการจัดสรรงบประมาณ และการจัดสรรภารกิจตามแผนขั้นตอนก็จะมีเรื่องของภารกิจที่มอบหมายให้ผู้บริหารท้องถิ่น
อย่างไรก็ตาม ของพรรคก้าวไกล ไม่ใช่แบบนี้ ของพรรคก้าวไกล เป็นการเลือกตั้งผู้ว่าฯที่ตัวผู้ว่าฯ ทำได้ทุกอย่าง ยกเว้นสี่เรื่อง คือ การทหาร คือห้ามตั้งกองทัพ -เงินตรา ห้ามพิมพ์ธนบัตรมาใช้เอง -นโยบายการต่างประเทศ ห้ามแต่งตั้งทูตติดต่อทางการทูต และศาล แบบนี้มันคือบทบาทของผู้ว่าการรัฐฯ ของสหรัฐอเมริกา เท่ากับว่าต่อไปนี้ ผู้ว่าฯ ก็จะทำหน้าที่เหมือนผู้ว่าการรัฐฯ ต่อไป อาจออกฎหมายจราจรในจังหวัดของตัวเอง มีกำหนดเรื่องความเร็วในการขับขี่ของจังหวัดตัวเอง ออกกฎหมายทำแท้งของตัวเอง เป็นต้น เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้ห้าม ทุกกฎหมายออกเองได้หมดในแต่ละจังหวัด
ทำให้ต่อไปประเทศไทยจะมีเละเทะ จากที่ไปที่ไหนๆ เรื่องต่างๆ ก็จะเหมือนกันหมด แต่แบบนี้ต่อไป พออยู่จังหวัดนี้ แล้วข้ามไปอีกจังหวัด กฎหมายเป็นอีกแบบหนึ่ง เหมือนเราอยู่กันคนละประเทศเลย คือจะไปเอาแบบอเมริกา ทั้งที่บ้านเราไม่ได้ใหญ่โตแบบสหรัฐฯ และรากของเรา เป็นประเทศเดียวมาตลอด การปกครองจะให้เหมือนกันมันจึงไม่ได้ และรากฐานชีวิตก็แตกต่างกัน ของเรามีความเป็นพี่เป็นน้อง สังคมเครือญาติ แล้ววันดีคืนดี อาจเกิดความขัดแย้งกัน ทุกคนต้องการเป็นใหญ่ ก็ทำให้เกิดความเกลียดชังกันระหว่างพื้นที่ อาจเกิดสงคราม มันอาจไม่มีกองทัพแต่อาจมีกองกำลังบางอย่าง แล้วแต่จะตั้ง เพราะมองว่าตัวเองมีอำนาจ อาจจะเรียกเป็น กองกำลังป้องกันแผ่นดิน แล้วก็ให้มีการติดอาวุธ จนสุดท้ายบ้านเมืองอาจกลียุค เพราะคนไทยถูกยุแหย่ให้เกลียดชังระหว่างเมือง-ระหว่างรัฐ แล้ววันหนึ่งก็ปลุกเร้าให้มีการทำประชามติ ขอแยกเป็นเอกราช ที่คือสิ่งที่ก้าวไกลกำลังเดิน ผมถึงค้านและต้านเต็มที่ แต่เขาพยายามอ้างญี่ปุ่น ผมยืนยันว่าผู้ว่าฯญี่ปุ่นเหมือนกับผู้ว่าฯกทม. คือรัฐบาลกลางยังคุมได้ แต่ที่เขาเสนอมา รัฐบาลกลางคุมอะไรผู้ว่าฯไม่ได้ มีแค่สี่อย่างที่ห้ามทำ นอกจากสี่อย่างนี้ เขาทำได้ทุกอย่าง
สิ่งที่เขาเสนอ ผมเชื่อว่ามันคงเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะจะนำไปสู่ความขัดแย้ง ทุกเรื่องที่เขาจะทำนำไปสู่ความขัดแย้งหมด แก้ 112 -เรื่องเลือกผู้ว่าฯ ล้วนนำไปสู่ความข้ดแย้ง แม้แต่เรื่องว่าจะปฏิรูปกองทัพ แต่ดูแล้ว คือแทบจะให้มีการยุบกองทัพเลย อย่างเรื่องยกเลิกเกณฑ์ทหาร ในเชิงเหตุผลแล้วผมว่ายังไม่ค่อยมีอะไร เพราะข้อเท็จจริงกระทรวงกลาโหมก็ทำอยู่แล้ว อย่างบางพื้นที่หากคนสมัครเป็นทหารจนเต็มจำนวนที่ต้องการ ก็ไม่มีการเกณฑ์ทหาร แต่เจตนาคือเขาต้องการทำให้กองทัพอ่อนแอลง คือเขาอาจอ้างเรื่องรัฐประหาร แต่ในใจผมมองว่า เขาอาจถือว่า กองทัพจะมีส่วนในการปกป้องสถาบันฯ ถ้าเกิดความรุนแรงอะไรขึ้นมา
นโยบายใหญ่ของเขาจึงดูแล้วการทำมันยาก แรงต้านจะเยอะ สิ่งที่เขาอยากจะทำ ผมมีความรู้สึกว่า มันมีอะเจนด้าบางอย่างที่เขาใฝ่ฝ้นอยากจะให้ประเทศเป็นแบบสหรัฐฯ แต่เขาหารู้ไม่ว่า เขาจะนำประเทศไปสู่ความอ่อนแอ
-แต่ก้าวไกลบอกว่า ที่ต้องปลดล็อกท้องถิ่นเพื่อให้จังหวัดจัดการตัวเองได้ ต้องกระจายอำนาจ
เวลาเขาพูด เขาพูดอย่าง แต่ไส้ในเป็นอีกอย่างหนึ่ง เหมือนกับบอกว่าต้องปฏิรูปสถาบันฯเพื่อให้อยู่กับประชาชนได้ดี แต่ไส้ในคือการทำลายเลย เหมือนอ้างว่าปลดล็อกท้องถิ่น ให้จังหวัดจัดการตนเอง แต่ไส้ในมันคือการแบ่งแยกรัฐ แบ่งแยกแผ่นดิน แต่พยายามตั้งชื่อให้มันดูดี ผมเลยสู้กับพวกเขาทุกเวที และสู้แล้ว ผมบอกเลยถ้าแน่จริง มาเจอกันเดี่ยวๆ แล้วพิธีกร กำหนดเวลาในการพูดของสองฝั่งให้ชัดเจนเพื่อให้เคลียร์ แต่ที่ผ่านมา เวลาผมจะพูดเชิงคัดค้านเขา ก็มีการปิดปากผมตลอด
ก้าวไกลดันแก้112
ประชาชนจะลุกฮือต่อต้าน
- ก่อนหน้านี้ สภาฯสมัยที่แล้ว พรรคก้าวไกลเคยเสนอแก้ 112 แต่ไม่ได้รับการบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระของสภาฯ รอบนี้ ถ้าก้าวไกลเสนอเข้าสภาฯอีกครั้ง ?
ผมเชื่อจะวุ่น เพราะถามว่าเจตนารมณ์ของเขาคืออะไร อย่างมาบอกว่าที่เสนอแก้ไขเพื่อให้สถาบันฯเข้มแข็งขึ้น ให้อยู่กับประชาชน แต่จริงๆ ไม่ใช่ เรารู้พฤติกรรมของเขา จ้องทำลายสถาบันมาตลอด แล้วที่จะเสนอแก้ไข 112 หลายประเด็นเช่น เสนอให้ลดโทษ จากจำคุก 3-15 ปีมาเป็นไม่เกินหนึ่งปี หรือจะให้สำนักพระราชวังเป็นคู่กรณี จะยิ่งทำให้สถาบันฯ ยิ่งอยู่ลำบากในอนาคต เป็นการทำลายแบบค่อยๆ ทำลาย
ผมไม่เคยเชื่อว่าสิ่งที่เขาทำ เขามีความจริงใจต่อประเทศ ต่อสถาบันฯ คนมีสติสัมปชัญญะ อ่านก็รู้ว่าเขามีเจตนาอะไร ข้ออ้างว่ามาตรา 112 ไปละเมิดสิทธิประชาชน ก็โกหกหมด ถามว่ามีประชาชนคนไหนถูกละเมิดสิทธิ มีนักการเมืองคนไหน โดน112 ไปปิดปาก โดนกลั่นแกล้ง ก็ไม่เห็นมี จะมีก็เด็กไม่กี่คน ที่จงใจให้ร้ายสถาบันฯ ก็เป็นกลุ่มพวกคุณทั้งนั้นเลย
อย่างที่ผมไปแจ้งความดำเนินคดี ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เรื่อง 112 ตอนนั้นก็ไม่ใช่จะไปกลั่นแกล้ง แต่ผมรับไม่ได้ ที่เขาไปพูดเรื่องวัคซีนพระราชทานที่ไปกล่าวหาสถาบันฯ กล่าวหาบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ฯ ที่ไม่ใช่การกลั่นแกล้งแต่เพราะเขากระทำสิ่งเหล่านี้
ดังนั้น หากเขาจะเข้าไปขับเคลื่อนเรื่อง112 ก็จะสร้างปัญหาขึ้นมา เป็นเรื่องร้อนที่พวกคุณอย่าปฏิเสธ เพราะพวกคุณเป็นคนเอาน้ำมันเข้าไปในกองไฟ เช่นเดียวกับเรื่องเลือกผู้ว่าฯที่เป็นแบบผู้ว่าการรัฐฯ ในอเมริกา ถึงวันที่ประชาชนเข้าใจ ผมเชื่อว่าประชาชนก็ไม่เอาด้วย ประชาชนก็จะลุกฮือ เพราะในเชิงนโยบายของเขา มันจะสร้างปัญหาให้ประเทศหมด
-หากก้าวไกล เข้าชื่อกันเสนอร่างพรบ.แก้ไขมาตรา 112 เข้าสภาฯ พร้อมจะออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านหรือไม่?
ผมว่าไม่ใช่แค่พวกผมหรอก ผมว่าคนไทยทั้งประเทศ ก็จะออกมา คอยดูเถอะ ถ้าคนไทยรับรู้ความจริง เพราะตอนนั้นที่สู้กัน ตอนดีเบต ความจริงยังออกมาไม่หมด มันยังไม่สุด มันถูกปิดกลั้นโดยอ้างเรื่องเวลา พยายามกลั่นแกล้งไม่ให้เราพูด แต่นี่คือความจริงทั้งหมด ผมไม่ได้กล่าวหาเขา ลองไปอ่านในนโยบายของพรรคเขาก็จะเห็น
-ถ้าจะอ้างว่าต้องทำเพราะคนเลือกมา 14 ล้านเสียง แสดงว่าสนับสนุน?
มันอ้างไม่ได้ คือรัฐบาลไม่ใช่ว่าจะทำอะไรได้ทุกอย่าง แต่รัฐบาลต้องทำสิ่งที่เป็นประโยชน์กับประชาชน แต่ถ้ารัฐบาลจะทำในสิ่งที่ตัวเองอยากจะทำ แต่ประชาชนคัดค้าน อย่าลืมว่าคุณไม่ใช่เสียงข้างมาก 14 ล้านเสียง แต่ 25 ล้านเสียงคือเสียงข้างมาก ที่เขาไม่ได้เอากับคุณ เขาเพียงแค่มีเสียงมากกว่าคนอื่น แต่ไม่ใช่เสียงข้างมาก และแม้คุณจะมีเสียงข้างมาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าคุณจะทำอะไรได้ทุกอย่าง รัฐธรรมนูญ ยังคุ้มครองสิทธิของเสียงข้างน้อย จะใช้เสียงข้างมากมาทำลายสิ่งที่เป็นศรัทธาของประชาชนไม่ได้
ฝ่ายอนุรักษ์นิยม ต้องปรับตัวเยอะ
สร้างคนรุ่นใหม่-ต่อสู้ทางความคิด
-ฝ่ายอนุรักษ์นิยม พรรคการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยม ต้องปรับตัวอย่างไรหลังจากนี้ ?
ต้องปรับเยอะเลย ผมคิดว่าต้องมาต่อสู้ทางความคิด นี้คือหัวใจ ไม่ใช่ว่าแค่ทำเรื่องโครงสร้างพื้นฐานอย่างเดียว วันนี้มันเป็นการต่อสู้ทางความคิดเชิงอุดมการณ์ ต้องสร้างคนขึ้นมาใหม่ๆ เพื่ออธิบายความคิดกับประชาชนทั้งประเทศว่าการปกครองของประเทศควรต้องไปทางไหน และเอาข้อเท็จจริงไปต่อสู้ เพราะผมเชื่อว่าฝ่ายที่อ้างว่าเป็นเสรีนิยม แต่เป็นเสรีแบบโกหก สู้ไปโกหกไป เพียงแต่ว่าเขามีสื่อขยายผลเยอะ แต่พวกผม พูดอะไรไปอาจมีสื่อไม่กี่แห่งนำเสนอ
พรรคการเมืองต่างๆ ต้องเปลี่ยนวิธีคิดของคุณแล้ว ที่คุณนั่งเสวยสุข แสวงหาผลประโยชน์ คุณต้องเลิกคิดเข้ามาหาผลประโยชน์ แล้วเข้ามาทำประโยชน์ให้ประชาชน และอะไรที่เป็นประเด็นสำคัญ คุณต้องศึกษา เช่นเรื่อง 112 -เลือกตั้งผู้ว่าฯ หรือที่มาอ้างกันจะปฏิรูปกองทัพ ก็ต้องเอาความคิดไปต่อสู้กับฝ่ายเขา
หากไม่ปรับความคิดให้ทันสมัย เพื่อต่อสู้ทางความคิดกับเขา ก็จะสู้เขาไม่ได้ ไทยภักดีเป็นพรรคการเมืองสายอนุรักษ์นิยม แต่เราเป็นอนุรักษ์นิยมทันสมัย ดังนั้น หากจะให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมปรับตัวก็คือต้องมาต่อสู้ทางความคิด ละ-เลิก-ลด เรื่องผลประโยชน์ส่วนตัว แล้วศึกษาทางอุดมการณ์สู้ แบบนี้ จะสู้ได้ ยังไง อนุรักษ์นิยมทันสมัยของประเทศไทย สามารถสู้พวกเสรีนิยมกระจอกๆได้ เพราะพวกนั้นไม่ใช่ของจริง ทุกอย่างเป็นเฟกนิวส์ แต่ของเราเป็นของจริง เพียงแต่คนของฝั่งเราบางส่วนยังปรับตัวไม่ทัน ยังเหลิงในอำนาจ เหลิงในผลประโยชน์
ถ้าสร้างคนใหม่ๆ ใช้อุดมการณ์ในการต่อสู้ ประเทศเรามีสิ่งดีๆ ก็ต้องอนุรักษ์ แต่เราก็ต้องทันสมัยด้วย เป็นอนุรักษ์นิยมที่ทันสมัยขึ้น ถ้าเราได้คนที่มีอุดมการณ์ สายเราจะเป็นสายที่เข้มแข็งกว่า เพราะพวกนั้น Fake หมด และไป under จักรวรรดินิยมด้วย มันจะเดินไปไม่ได้เพราะสุดท้าย คนจะต่อต้านจักรวรรดินิยม เพราะคนไทยไม่เอาด้วยกับการที่จะตกอยู่ใต้การครอบงำของต่างชาติ
"นพ.วรงค์"กล่าวทิ้งทายว่า ขอขอบคุณพี่น้องประชาชน ที่หลังรู้ว่าพรรคไทยภักดีไม่ได้ที่นั่งในสภาฯ มีกองเชียร์เข้ามาให้กำลังใจเยอะมากตามช่องทางต่างๆ ก็ขอยืนยันว่าพรรคไทยภักดีไม่ได้ไปไหนยังต่อสู้การเมืองอยู่ ไทยภักดีจะต่อสู้ทางการเมืองที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศและประชาชน เพียงแต่ ถ้ากติกายังเป็นแบบนี้อยู่ เราไม่สู้ เพราะเราไม่มีปัญญา ไปหาเงินมาสู้ และไม่ต้องการจะไปทุจริตคอรัปชั่น "เรายังจะทำงานการเมืองต่อ เรายังไม่ทิ้ง เพราะมันคือชีวิตของผม ผมยังรักการเมืองอยู่ ดังนั้น ยืนยันได้ว่า จะต้องช่วยกันสู้เคียงบ่าเคียงไหล่ไปด้วยกันต่อไป"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ขบวนการแพทย์ชนบท กับรางวัลแมกไซไซ ปี 2024 ทิศทางพัฒนาระบบสุขภาพไทย
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คือวันเสาร์ที่ 16 พ.ย. คณะผู้แทน”ขบวนการแพทย์ชนบท” ได้เดินทางไปรับรางวัลแมกไซไซ ประจำปี 2024
อุทธัจจะ .. ในวังวนแห่งการตื่นธรรม .. ยุคไอที!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระรัตนตรัย... สัทธายะ ตะระติ โอฆัง.. บุคคลข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา.. โอฆะ หมายถึง ห้วงน้ำ ที่มีกระแสเชี่ยวกราก พัดพาสัตว์ทั้งหลายให้ตกไปในกระแสน้ำนั้น ยากจะข้ามฝั่งไปได้
’ห้าพันตารางกิโลเมตร‘ เท่ากับกี่ตารางนิ้ว ? เงื่อนตายของ MOU 2544 ?
MOU 2544 ไม่ใช่กรอบการเจรจาเพื่อหาข้อตกลง ”แบ่งผลประโยชน์(ปิโตรเลียม)“ เท่านั้น แต่หาข้อตกลง “แบ่งเขตแดน(ทะเล)“ ด้วย !
คำนูณ ผ่าปม 2 ได้ 3 เสีย ถ้าไม่ยกเลิก MOU 2544
ความเคลื่อนไหวและการแสดงความคิดเห็นเรื่อง MOU 2544 ที่เชื่อมโยงถึงเกาะกูด, การหาแหล่งพลังงานแห่งใหม่ในพื้นที่อ้างสิทธิไทย-กัมพูชา ที่มีการประเมินกันว่ามีมูลค่าสูงถึง 10 ล้านล้านบาท ยั
'แก้วสรร' แพร่บทความ 'นิติสงคราม' คืออะไร?
นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ออกบทความเรื่อง “นิติสงคราม” คืออะไร???
อย่าได้ประมาทในธรรม.. “เมื่อใจตรง .. จะตรงใจ”..
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา.. เดินทางกลับมาจากอินเดีย เมื่อ ๗ พ.ย.๒๕๖๗.. ถึงกรุงเทพฯ ๘ พ.ย.๒๕๖๗ หลังจากไปร่วมประชุม “The First Asian Buddhist Summit 2024” ที่นิวเดลี งานนี้จัดโดยกระทรวงวัฒนธรรมและท่องเที่ยวของรัฐบาลอินเดีย