ความเป็นธรรมดาของโลก .. ที่ไม่มีอะไรเกิดขึ้นโดยบังเอิญ!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ปีนี้ (พ.ศ.๒๕๖๖) ตรงกับปีเถาะ อธิกมาส ปกติวาร ปกติสุรทิน จ.ศ.๑๓๘๕ โดยอธิกมาสมาเดือน ๑๐ ในวัสสานฤดู เริ่ม ๓ กรกฎาคม ถึง ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ วันวิสาขบูชาในปีนี้ จึงไปตกในวันที่ ๓ มิถุนายน.. ในขณะที่ตามปฏิทินปกติ (สุริยคติ) วันวิสาขบูชา ตรงกับ ๖ พฤษภาคม ๒๕๖๖ จึงต่างกับเกณฑ์ปฏิทินจันทรคติที่ทางพุทธศาสนาไทยใช้คำนวณ วัน เดือน ปี ซึ่งปี พ.ศ.๒๕๖๖ เป็นปีอธิกมาส (เดือนแปดสองหน) ดังนั้น วันสำคัญทางพุทธศาสนาในประเทศไทยจึงเลื่อนไป ๑ เดือน เช่น

วันมาฆบูชา เลื่อนเป็น วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนสี่ (๔)

วันวิสาขบูชา เลื่อนเป็น วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนเจ็ด (๗)

วันอาสาฬหบูชา เลื่อนเป็น วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนแปดหลัง (๘๘)

ส่วนวันออกพรรษา ยังเหมือนเดิมคือ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนสิบเอ็ด (๑๑)

ซึ่งหากไม่เลื่อนเดือน จะมีปัญหาในการจำพรรษา ที่จะไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย ที่พระสงฆ์ต้องจำพรรษา ๓ เดือน ในฤดูกาลฝน

เรื่องดังกล่าวควรรับฟังไว้บ้าง เพื่อความเข้าใจในการจัดทำปฏิทิน ซึ่งปัจจุบันมี ๒ แบบ คือ

๑) ปฏิทินสุริยคติ ถือการโคจรของดวงอาทิตย์ มีเดือนมกราคม จนถึงเดือนธันวาคม รวม ๑๒ เดือน ๓๖๕ วันบ้าง ๓๖๖ วันบ้าง

๒) ปฏิทินจันทรคติ ถือการโคจรของดวงจันทร์ มีเดือนอ้าย เดือนยี่ มกราคม จนถึงเดือน ๑๒ รวม ๑๒ เดือน เท่ากับ ๓๕๔ วัน

จะสังเกตได้ว่า วันทางจันทรคติ น้อยกว่าวันทางสุริยคติ ปีละ ๑๑ วัน ถ้าปล่อยให้วันเดินไปตามปกติครบ ๓ ปี ก็จะขาดไป ๓๓ วัน หากไม่เพิ่มวันให้เท่ากับฤดูกาลต่างๆ ก็จะคลาดเคลื่อนไปหมด เช่น ฤดูร้อน ก็จะมาเดือนแปด, ฤดูฝน ก็จะมาเดือนสิบสอง, ฤดูหนาว ก็จะมาเดือนสี่ เป็นต้น เพราะฉะนั้นผู้รู้จึงคิดหาวิธีการเติมเดือนเพิ่มหนึ่งเดือน หากเพิ่มในปีใดจะเรียกปีนั้นว่า ปีอธิกมาส...

ส่วนจะเติมเดือนแปดในปีใด ท่านผู้รู้หรือปราชญ์สมัยก่อนได้คิดสูตรไว้ดังนี้ คือ ๓-๓-๓-๒-๓-๓-๒ หมายความว่า สามปีมีเดือนแปดสองหนครั้งหนึ่งสามหน อีกสองปีมีเดือนแปดสองหนครั้งหนึ่ง อีกสามปีต่อมามีเดือนแปดสองหนอีกสองครั้ง และสองปีมีเดือนแปดสองหนอีกครั้งหนึ่ง รวมมีเดือนแปดสองหนในเจ็ดครั้ง ในรอบ ๑๙ ปี โดยมีเดือนแปดสองหนเรียกว่า ปีอธิกมาส ซึ่งเหตุผลของการเพิ่มเดือนทางจันทรคติอีกหนึ่งเดือน เพื่อให้ปีทางจันทรคติตรงกับปีทางสุริยคติ ที่กล่าวมาเป็นโดยย่อ หากจะศึกษาให้ละเอียดต้องค้นคว้าในเรื่อง ปักขคณนา ที่เรียกว่า การเดินปักษ์ หรือการนับปักษ์

เคยมีข้อสงสัยว่า วัน เดือน ปี มีอิทธิพลต่อมนุษย์หรือสัตว์โลกได้อย่างไร จนนำไปสู่การศึกษาด้าน โหราศาสตร์ ที่อ้างอิง ดาราศาสตร์

เรื่องนี้น่าสนใจอย่างยิ่งภายใต้นิยาม ๕ เมื่อเห็นความเชื่อมโยงสัมพันธ์ของจิตนิยาม กรรมนิยาม กับพืชนิยาม และอุตุนิยาม ภายใต้ ธรรมนิยาม

ความสัมพันธ์เกี่ยวข้องในนิยามทั้ง ๔ (คือ กรรมนิยาม จิตนิยาม พืชนิยาม อุตุนิยาม) ที่อยู่ภายใต้อำนาจธรรมนิยาม จึงได้เห็นปรากฏการณ์ของชีวิต อันเป็นสนามทดสอบแรงกรรม.. เพื่อยืนยันว่า ไม่มีแรงใดเสมอด้วยแรงกรรม ดังมีสัจธรรมกล่าวว่า อำนาจที่เป็นใหญ่ในโลก ในบรรดาอำนาจทั้งปวง อำนาจกรรมนั้นใหญ่ที่สุด (วะโส อิสสะริยัง โลเก)

ฤดูกาล มี ดินฟ้าอากาศ วันเดือนปี ซึ่งเกิดจากการเคลื่อนตัวอย่างสัมพันธ์กันของดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ โลก และดวงดาวต่างๆ.. ตลอดจนฤดูเกี่ยวกับธรรมชาติ อันเกี่ยวกับการสืบพันธุ์ เมล็ดพืช รวมถึงกฎธรรมชาติ ที่เกี่ยวกับพันธุกรรม จึงมีกระบวนการถ่ายทอดข้อมูลของสิ่งมีชีวิตผ่านการสืบพันธุ์ที่น่าศึกษายิ่ง ซึ่งล้วนมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันตาม กฎปัจจยาการ หรือ กฎลูกโซ่ ที่สืบเนื่องมาจากอิทธิพลของจิต ที่เรียก จิตนิยาม (Psychic laws) อันเป็นกฎธรรมชาติเกี่ยวกับการทำงานของจิต ที่ควบคุมโดย กรรมนิยาม (Karmic laws) คือ กฎแห่งกรรม ที่แสดงความเป็นจริงของกฎแห่งการกระทำและผลของการกระทำ ที่ทั้งหมดอยู่ภายใต้ ธรรมนิยาม หรือ กฎแห่งธรรม ที่แสดงความเป็นไปอย่างธรรมดาแห่งเหตุปัจจัย เพื่อประกาศว่า ไม่มีอะไรเกิดขึ้นโดยบังเอิญ...

ความเข้าใจในนิยามทั้ง ๕ จะนำไปสู่ความเข้าใจในทุกเรื่องราวที่สัมพันธ์เกี่ยวข้องกับชีวิต.. ที่แสดงความจริงอันหนึ่ง คือ อำนาจของกรรม ภายใต้ กฎเกณฑ์ของกรรม

สิ่งสำคัญที่สุด คือ จะต้องเข้าใจสัจธรรมความเป็นจริงที่มีอยู่ในธรรมชาติ ที่เรียกว่า ธรรมนิยาม ซึ่งมีเป็นปกติอยู่ตามธรรมดาอย่างไม่เปลี่ยนแปลงไปตามอิทธิพลของสิ่งใดๆ.. ในโลกนี้

โดยพระพุทธเจ้าทรงค้นพบกฎความจริงดังกล่าวนี้ด้วยพระองค์เอง จึงนำมาบัญญัติ แต่งตั้ง จำแนกโดยเปิดเผย ให้เข้าใจว่า...

 “เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ย่อมมี .. เพราะความเกิดขึ้นแห่งสิ่งนี้ .. สิ่งนี้ สิ่งนี้ จึงเกิดขึ้น

เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ย่อมไม่มี .. เพราะความดับไปแห่งสิ่งนี้ .. สิ่งนี้ สิ่งนี้ จึงดับไป...”

ความเข้าใจในกฎธรรมชาติ.. จึงนำไปสู่ความเข้าใจในโลก อย่างไม่ขัดแย้งกับโลก ไม่ว่าโลกจะบัญญัติอย่างไร ก็สามารถเข้าใจได้อย่างเป็นปกติ

บุคคลเข้าใจธรรม.. เข้าใจกฎความเป็นจริงในธรรมชาติ จึงไม่เสียเวลาทุ่มเถียงโต้แย้งกับใครๆ....

ความเข้าใจที่ถูกต้องตรงธรรม.. จะนำไปสู่การกระทำที่มีประโยชน์ ไม่เป็นโทษ ดังสมัยที่พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ นาม พระมหาชนก วันหนึ่งเสด็จประพาสพระราชอุทยานพร้อมข้าราชบริพาร ทอดพระเนตรเห็นมะม่วง ๒ ต้น ต้นหนึ่งมีผลดก อีกต้นหนึ่งหามีผลไม่...

จริงๆ แล้ว จะมีผล.. ไม่มีผล คงเป็นเรื่องพันธุกรรมของต้นไม้ต้นนั้น แต่สิ่งที่น่าสนใจ เมื่อมาเชื่อมโยงกับสัตว์ทั้งหลาย โดยเฉพาะมนุษย์เรา ดังเมื่อทรงรับสั่งเอามะม่วงจากต้นที่มีผลมาเสวย และทรงพอพระทัยในรสชาติ ตรัสว่า “มะม่วงนี้รสดี”

จึงนำไปสู่การยื้อแย่งเอาผลมะม่วงของข้าราชบริพาร มีการหักรานกิ่งเล็กกิ่งน้อย จนต้นมะม่วงดังกล่าว แม้ใบก็จะไม่หลงเหลือ อย่าว่าแต่ผลมะม่วงที่สูญสิ้นไปชั่วพริบตา

เมื่อพระมหาชนกโพธิสัตว์เสด็จกลับ ทอดพระเนตรเห็นต้นมะม่วงทั้ง ๒ ต้น มีสภาพผิดกัน โดยต้นมะม่วงที่ไม่มีผล มีสภาพตั้งอยู่ตามปกติ ส่วนต้นที่มีผลกลับถูกลิดรอนกิ่งใบเกือบหมดสิ้น

เรื่องดังกล่าวจึงนำไปสู่ความดำริที่ว่า

คนเราทุกข์ เพราะความมี.. ไม่ทุกข์ เพราะความไม่มี.. รู้จัก สละ ละวาง.. ไม่ผูกพัน ไม่อาลัย ย่อมสิ้นทุกข์ได้จริง.

จึงเกิดความเห็นชอบว่า ราชสมบัติเสมือนต้นมะม่วงมีผล การออกบวชเหมือนต้นมะม่วงไม่มีผล.. ต่อมาจึงได้ทรงสละราชสมบัติออกบวช...

จากเรื่องดังกล่าว สะท้อนความเป็นจริงในความสัมพันธ์เกี่ยวข้องของสัตว์ทั้งหลาย ภายใต้อำนาจของจิต.. กับสภาพสิ่งแวดล้อมทั้งปวง ที่เป็นไปตามกฎแห่งกรรม.. เพื่อแสดงความเป็นธรรมดา อันเป็นสัจธรรมที่ไม่ผันแปรในกฎธรรมชาติ ที่เรียกว่า ธรรมนิยาม

จึงไม่แปลกหากจะมีการพยากรณ์ว่า จะมีเหตุการณ์การสูญเสีย.. หรือการได้มา.. ที่สำคัญๆ ของบุคคล สังคม ประเทศชาติ ภายในปีนี้ ทั้งนี้ หากศึกษาให้เข้าใจถึงกฎความสัมพันธ์ภายใต้ ธรรมนิยาม .. ที่แสดงความเป็นจริงว่า “ทุกสรรพสิ่งเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย และดับสิ้นไป เมื่อเหตุปัจจัยนั้นสิ้นไป” .. รวมความว่า... ไม่มีอะไรเกิดขึ้นโดยบังเอิญ อันเป็นหัวข้อธรรมที่น่าศึกษายิ่ง!!.

 

เจริญพร

[email protected]

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเสื่อม.. ที่ควรเห็น.. ก่อนตาย!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. มีคำกล่าวเป็นสุภาษิต ว่า ความเสื่อมของมนุษย์ ล้วนมีสาเหตุมาจากมนุษย์.. ความเสื่อมของสิ่งใดๆ .. ก็มีสาเหตุมาจากสิ่งนั้นๆ..

รัฐบาลแพทองธาร อยู่ไม่ครบปี บิ๊กป้อม ยังสู้-พปชร.เดินหน้าต่อ

เหลือเวลาอีกเพียง 3 สัปดาห์เศษ ปี 2567 ก็จะผ่านพ้นไปแล้วเพื่อเข้าสู่ปีใหม่ 2568 ซึ่งภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2567 เป็นอย่างไร และปีหน้า 2568 จะมีทิศทางเช่นไร เรื่องนี้มีมุมมองแนววิเคราะห์จาก

คานถล่ม ผู้บริสุทธิ์จบชีวิต 6 ราย กับ สำนึกของนักการเมืองไทย!

เช้าตรู่วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2567 เกิดโศกนาฏกรรมคานเหล็กยักษ์ที่ใช้สำหรับก่อสร้างทางยกระดับถนนพระราม 2 ถล่ม คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์จำนวน 6 ราย

ศึกเลือกตั้ง อบจ. 1 ก.พ. 68 Generation War พท.-ปชน. บารมีบ้านใหญ่ ขลังหรือเสื่อม?

การเมืองท้องถิ่นกับการเลือกตั้ง "นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด" (นายก อบจ.) ซึ่งที่ผ่านมามีการเลือกตั้งกันไปหลายจังหวัด ได้รับความสนใจจากแวดวงการเมืองอย่างมาก