เส้นทางการขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล หลัง 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลแถลงการทำ MOU กันไปเมื่อ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา ถึงตอนนี้ยังคงต้องติดตามกันต่อไปว่า พิธาจะได้เสียงโหวตเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเกิน 376 เสียงหรือไม่
โดยเงื่อนไขสำคัญตอนนี้ หากดูจากเสียงจัดตั้งรัฐบาลที่มีประมาณ 312 เสียง ทำให้ยังต้องพึ่งเสียงสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มาร่วมโหวตให้อยู่ ซึ่งท่าทีของสมาชิกวุฒิสภาช่วงที่ผ่านมา ก็ออกมาแสดงความเห็นถึงเรื่องการโหวตนายกรัฐมนตรีอย่างกว้างขวาง โดยหลายคนบอกชัดว่าจะสนับสนุนให้พิธาเป็นนายกฯ แต่อีกหลายคนบอกว่าจะไม่โหวตให้ เพราะติดใจเรื่องที่พรรคก้าวไกลมีนโยบายแก้ไขมาตรา 112 เป็นต้น
ท่าทีของอีกหนึ่งสมาชิกวุฒิสภาต่อประเด็นการโหวตนายกรัฐมนตรี นพ.พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา ให้ความเห็นไว้ว่า การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีของสมาชิกรัฐสภา จะมีองค์ประกอบทั้งเรื่องหลักการและวิธีปฏิบัติ โดยทางหลักการคิดว่าขั้นตอนที่หนึ่งเสร็จไปแล้ว ก็คือการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ผ่านมา ซึ่งรู้ผลการเลือกตั้งว่าพรรคการเมืองใดได้กี่ที่นั่ง และเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนต้องการให้ใครบริหารประเทศ ซึ่งหากแบ่งเป็นซีกเป็นขั้ว ก็จะเห็นได้ว่าซีกที่มาทางฝ่ายซ้ายได้คะแนนเสียงสนับสนุน อยากให้มาบริหารประเทศมากกว่าทางฝั่งขวา เพราะทางฝั่งขวาบริหารประเทศมาสักระยะหนึ่งพอสมควร ตั้งแต่ปี 2557 หลังรัฐประหาร คสช.จนมาถึงการเลือกตั้ง ซึ่งในความเป็นจริงของสังคมไทย ไม่ว่าใครมาบริหารประเทศ โดยเฉพาะในเรื่อง "ตัวบุคคล" ที่ไม่ว่าใครบริหารยาวนาน ยังไง ก็หนีไม่พ้นกระแสความเบื่อ สังคมไทยเป็นสังคมแบบนี้ แม้แต่ยุคพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ก็ไม่พ้นกระแสนี้เหมือนกัน
ผมก็มองเห็นแบบนี้มานานแล้ว ส่วนตัวได้เคยบอกฝ่ายรัฐบาลเวลานี้เขาอยู่เหมือนกันว่า กระแสความเบื่อแบบนี้มักจะก้าวไม่ค่อยผ่าน ต้องระวัง ถ้าหาจังหวะที่พอประมาณ หาจุดที่ลงซึ่งเหมาะสมจะดีที่สุด แต่เสียงเราก็คงเป็นเสียงเล็กๆ เสียงหนึ่ง จนที่สุดก็เป็นอย่างที่เห็น ก็คือรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ที่อยู่มาสองสมัย รวมถึงยุค คสช.ด้วย สุดท้ายก็มาถึงจุดนี้
เมื่อกระแสสังคมเบื่อความเก่า การขึ้นมาของฝ่ายพรรคก้าวไกล เขาจี้ไปในจุดที่ว่าประชาชนเขาต้องการเปลี่ยน ซึ่งกลุ่มคนที่้ต้องการเปลี่ยนก็คือ กลุ่มคนรุ่นใหม่ คนเจเนอเรชัน Y และเจเนอเรชัน Z ที่ก็คือคนที่เกิดหลังปี ค.ศ.2000 เป็นต้นไป ก็คืออายุประมาณ 20 เศษๆ ที่เป็นกลุ่มคนที่ต้องการเปลี่ยน ขณะเดียวกันกลุ่มคนวัยกลางคน พวกคนรุ่นพ่อ รุ่นลุง รุ่นปู่ของเด็กพวกนี้ โดยเฉพาะพวกกลุ่มคนที่ยังทำงานอยู่ เขาก็รู้สึกว่าที่ผ่านมามันเปลี่ยนแปลงน้อย ขนาดว่าได้อำนาจมาแล้ว อย่างเรื่อง "การปฏิรูป" ก่อนหน้านี้ก็มีกระแสเรียกร้องให้มีการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง แต่สุดท้ายมันไม่เกิดขึ้นจริง มันไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เลย ได้แต่แผนออกมา แต่การปฏิบัติเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปประเทศจริงๆ มันไม่ถึง
เมื่อมันไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ทำให้ไม่ใช่แค่คนรุ่นใหม่ที่อยากเปลี่ยน แต่คนหลายวัยก็อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงเหมือนกัน กระแสความอยากเปลี่ยนมันจึงมีมานาน และมีเรื่อยๆ กระแสความต้องการอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงมันมีมาประมาณ 3-4 ปีแล้ว ซึ่งจริงๆ ตอนเลือกตั้งปี 2562 มันก็มีสัญญาณตรงนี้มาแล้ว และก่อนหน้านี้ที่มีการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายระดับ ไล่ตั้งแต่ อบจ., อบต., เทศบาล และกรุงเทพมหานคร เราจับกระแสแนวโน้มได้เลยว่าคนต้องการเปลี่ยน จนบอกได้ก่อนหน้านี้ว่าเลือกตั้ง 14 พ.ค. กระแสความต้องการเปลี่ยนแปลงจะมาแรงแน่ และเมื่อผลออกมาแบบนี้ โดยหลักการเมื่ออารมณ์ของคน เอาละ เขาอาจจะใช้ IO หรือจะใช้ Fake News หรือ AI อะไรต่างๆ ที่ก็อาจจะเป็นเครื่องมือ แต่การที่เขาจะเข้าไปสู่อำนาจ ไปเป็นตัวแทนของประชาชน เข้าไปในรัฐสภาและเป็นฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติด้วย เช่นประธานสภา เขาก็เดินมาตามเกม โดยเขาใช้เทคโนโลยีต่างๆ ที่มีสิทธิ์จะใช้ แต่บางฝ่ายไม่ทันเขา เพราะ AI หรือ IO อะไรต่างๆ มันใช้กันทุกฝ่าย แต่อีกฝ่ายใช้แล้ว สู้ฝ่ายที่เขาชนะไม่ได้ ฝ่ายที่แพ้ก็ต้องสรุปบทเรียนไป
สำหรับการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น เมื่อผลออกมาแบบนี้ ก็ต้องมีสปิริตของความเป็นนักกีฬา ฝ่ายที่ลงเลือกตั้งแล้วแพ้ ต้องยอมรับว่าคราวนี้อาจเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ให้กับฝ่ายซ้าย ที่มีทั้งแดงและส้ม รัฐบาลชุดใหม่ก็จะมาจากฝ่ายซ้ายแน่นอน เพราะเป็นความต้องการของประชาชนที่มาทางนี้ ดังนั้น ส.ว.เองก็ต้องเคารพเจตนารมณ์และกระแสตรงนี้ แต่ว่าวิธีการก็ต้องไปดูหน้างานอีก เพราะยังมีปัจจัยอีกหลายอย่างต้องมาพิจารณากัน
นพ.พลเดช กล่าวต่อไปว่า เมื่อฝ่ายสีส้มเขาเป็นแชมป์ เพราะมี ส.ส.เขตและปาร์ตี้ลิสต์มากที่สุด ต้องให้โอกาสเขาในการจัดตั้งรัฐบาลและให้กำลังใจเขา เพราะใครมาเป็นรัฐบาลไม่ว่าจะซ้ายหรือขวา ไม่ว่าจะส้มหรือแดง หรือจะสีน้ำเงิน ใครมาเป็นรัฐบาลได้ก็ต้องมาตามกติกา และเราในฐานะประชาชน ต้องถือว่าเขาเป็นรัฐบาลของเรา แม้ว่าเราจะไม่ได้โหวตเลือกเขาก็ตาม สปิริตมันต้องมีว่าเราต้องเคารพเสียงส่วนใหญ่ เมื่อเสียงส่วนใหญ่เขาต้องการแบบนี้ เพราะบ้านเมืองเราวันหนึ่งจะมาทางขวา แล้วจะกลับไปทางซ้าย แล้วกลับไปขวาอีก มันก็เรื่องปกติ แต่เราต้องประคับประคองให้ไปข้างหน้า
ดังนั้นในยกที่สอง หลังการเลือกตั้ง ฝ่ายไหนที่รวบรวมเสียงข้างมากได้ก็เป็นรัฐบาล แต่หากว่ารวบรวมไม่ได้ ภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือด้วยเหตุอะไรก็แล้วแต่ อย่างเช่นกรณีของนายพิธา หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่อาจจะมีเรื่องของคุณสมบัติ เรื่องของกฎหมายอะไรต่างๆ อันนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ขอไม่พูดตรงนั้น แต่หากคุณผ่านเกณฑ์เรื่องคุณสมบัติ ข้อกฎหมายต่างๆ แล้ว จนพร้อมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นผู้นำในการจัดตั้งรัฐบาล ส.ว.ก็ควรสนับสนุน เพราะไม่มีเหตุผลอะไรที่ ส.ว.จะไม่สนับสนุน แต่หากคุณทำไม่ได้ แล้วฝ่ายสีแดงเขาสามารถรวมเสียงได้ เขาให้โอกาสคุณก่อน แต่คุณกลับทำไม่ได้ ภายในเวลาที่กำหนด แล้วสีแดงเขาเกิดรวบรวมเสียงได้ หรือแม้แต่ฝ่ายสีน้ำเงินทางนี้เขาเกิดรวบรวมเสียงได้ จนได้เสียงข้างมากในสภา
ซึ่งเสียงข้างมากในสภาผมหมายถึงแบบนี้ ก็คือ 500 คนของ ส.ส. ดังนั้นเสียงข้างมากในสภาก็แค่ 250 เสียงขึ้นไปเท่านั้น ซึ่งหากซีกใดก็ตาม พรรคใดก็ตาม รวมเสียงข้างมากได้เกิน 251 คนจริง ผมว่า ส.ว.เขาก็สนับสนุน แต่สำหรับเสียงส่วนใหญ่ของ ส.ว.จะเป็นอย่างไร ผมคงพูดแทน ส.ว.คนอื่นไม่ได้ แต่สำหรับเสียงของผมเอง ถ้าใครก็ตาม สีไหนก็ตาม สามารถรวมเสียง ส.ส.ได้เกิน 251 คน ผมก็จะโหวตให้เลย ผมจะสนับสนุน แต่ว่าจะมี ส.ว.คนอื่นไปลงมติให้กี่เสียง ผมไม่สามารถการันตีได้ เพราะไม่รู้ว่าแต่ละคนคิดอย่างไร
นพ.พลเดช-ส.ว. กล่าวต่อไปว่า บทบาทของ ส.ว.ในการโหวตนายกฯ ในทางปฏิบัติ เราก็ต้องไปดูที่หน้างานวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เราจะเชื่อตามข่าวทางสื่อว่า พรรคไหนจับขั้วกับใคร หรือมีการเซ็นเอ็มโอยู หรือมีสัญญาประชาคมต่อกัน มันไม่แน่เสมอไป มันอาจจะมีงูเห่า อาจจะมีกล้วย ซึ่งเราไม่รู้ ที่มันอาจเกิดขึ้นระหว่างทาง เราจะรู้ก็ตอนที่เขาเรียกชื่อคุณ แล้วคุณจะขานชื่อแล้วลงมติให้ใคร แต่เท่าที่ฟัง ส.ว.หลายคนที่ออกมาให้สัมภาษณ์ก็บอกว่า ขอแค่ฝั่งที่ตั้งรัฐบาลได้เกิน 251 เสียง เขาก็จะลงมติให้อยู่แล้ว รวมถึงผมด้วย เพราะผมก็มีเหตุผลและตรรกะแบบนี้ แต่หากมันไม่ได้อย่างนี้ก็ต้องเสี่ยงดวงกันแล้ว พอไล่ชื่อมาทีละคน มาถึงชื่อผม "พ." พลเดช ผมก็ต้องตัดสินใจหน้างานว่ามันจะไปยังไง เราก็ต้องตัดสินใจในข้อมูลตอนนั้น ไม่ใช่ดูแค่ว่าใครบอกตอนนี้ว่าได้แล้วสามร้อยกว่าเสียง นอกจากนี้ก็ต้องดูที่ตัวบุคคล ดูการเปรียบเทียบคู่ชกบนเวทีด้วย หากว่ามีเสนอชื่อมาสองคน หรือหากเสนอมาสามคน ถ้าสามคนก็สามสูตรแล้ว คราวนี้ก็ต้องดูว่าจะตัดสินใจอย่างไร การลงมติครั้งนี้ยอมรับว่าสถานการณ์มันมีความซับซ้อนมากกว่าตอนปี 2562
เสียงเตือน 'แฟนคลับ-ด้อมส้ม'
เลิกพฤติกรรม ถูกมองเป็นเรดการ์ด
-ตอนนี้ยังมี ส.ว.หลายคน บอกว่าที่จะไม่ลงมติสนับสนุนนายพิธา เพราะพรรคก้าวไกลเพราะมีนโยบายจะเสนอแก้ไขมาตรา 112 ส่วนตัวแล้วติดใจประเด็นนี้หรือไม่?
ผมคิดว่าแบบนี้ คือในตอนหาเสียงที่เรียกว่าเป็น "ยกที่ 1" มันก็เป็นกลยุทธ์ของเขาที่เขาก็ต้องเสนอ อย่างที่ผมวิเคราะห์ให้ฟังคืออารมณ์ของคนในสังคมที่ต้องการเปลี่ยน ซึ่งการที่จะทำให้ประชาชนเชื่อว่าคุณต้องการเปลี่ยน ก็ต้องเสนอนโยบายที่ชัดเจนและแตกต่าง ที่จะทำให้เห็นว่าคุณจะเปลี่ยนจริง เพราะฉะนั้นนโยบายที่เสนอมาจึงสุดขั้ว ที่ก็เป็นเรื่องปกติ คือเป็นแท็กติกในการต่อสู้รณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง แต่เมื่อผ่านยกที่หนึ่งมาแล้ว เข้าสู่เฟสที่สองในการตั้งรัฐบาล เมื่อไม่สามารถตั้งได้พรรคเดียว ก็ต้องหาเพื่อน การหาเพื่อนมันก็ต้องเริ่มปรับแล้ว จากสุดขั้วก็ต้องประนีประนอมกัน แล้วการเมืองลักษณะหนึ่งมันเป็นเรื่องของการประนอมอำนาจ และประนอมผลประโยชน์กัน จะเอาตัวเองคนเดียวไม่ได้ เพราะมันจะเป็นเผด็จการความคิดทางนโยบายและอะไรต่างๆ
เพราะฉะนั้นเขาก็ต้องปรับตัว พรรคนี้ (ก้าวไกล) ผมว่าเขาก็ต้องเรียนรู้ เพราะการจะทำอะไร งานที่ยาก งานใหญ่ๆ มันทำคนเดียวไม่ได้ เหมือนที่เขาว่า "นกไม่มีขน คนไม่มีเพื่อน มันบินไม่ได้" นกมันบินไม่ได้ คนก็ทำงานไม่สำเร็จ มันถึงต้องเรียนรู้จากชีวิตจริงแล้วค่อยๆ ปรับ ผมก็คิดว่าในยกที่สอง ผมอยากเห็นการปรับของเขา แล้วเขาควรปรับ
ความจริงหลายเรื่องที่เขาพูดมันเป็นเรื่องดี หลายคนอยากเห็น แต่หลายคนไม่กล้าพูด อันนี้ผมไม่ได้พูดเรื่อง 112 แต่เรื่องอื่น เช่น กระจายอำนาจ เลือกตั้งผู้ว่าฯ เรื่องสุราพื้นบ้าน พวกนี้มันลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมไม่ให้มีการผูกขาด หลายเรื่องที่เขาพูดมันโดนใจ แล้วเขากล้าพูด ผมจึงคิดว่าเรื่องยากๆ บางเรื่อง มันต้องอาศัยคนที่บ้าบิ่นพอสมควร มันก็ต้องบุคลิกแบบหนึ่ง แต่มันจะเป็นประโยชน์ สังคมต้องติดตามในสิ่งที่เขาเคยพูดไว้ ประชาชนและสังคมควรห้อมล้อมให้เขาไปในทิศทางที่ถูก ทิศทางที่อยู่ในร่องในรอย โดยทิศทางที่อยู่ในร่องในรอย มันต้องเป็นทางสายกลาง เพราะหากทางสายสุด มันจะไปได้ไม่ไกล เพราะก็จะมีสุดอีกขั้วหนึ่งคอยขัดขา คอยโจมตีคุณ เพราะฉะนั้นเขาต้องปรับ แต่จะกลางมากหรือกลางน้อยก็แล้วแต่เรื่อง บางเรื่องต้องมากลางๆ แล้วสวิงไปในทางขวาด้วยซ้ำ บางเรื่องก็สวิงไปทางซ้าย
ผมก็อยากเห็นเขา (พรรคก้าวไกล) มีการปรับ นอกจากปรับในท่าทีของผู้นำในพรรคที่จะไปอยู่ในสภาแล้ว เรื่องของท่าทีการพูด การปฏิบัติ หากปรับให้เป็นผู้ใหญ่มากขึ้น มีความเป็นสุภาพชนมากขึ้นก็จะดี เพราะเมื่อเขาเข้าไปอยู่ในสภา มันก็ไม่ใช่คนคนเดียว แต่คือ 151 คน
ดังนั้น Leadership ของพวกผู้นำคือนายพิธา จะสามารถปรับบุคลิกตัวเองและ 151 คนให้มีบุคลิกภาพใหม่ได้หรือไม่ โดยหากปรับได้เขาจะสามารถสร้างพันธมิตรในสภาล่างที่มี 500 เสียง ในการทำงานเรื่องใหญ่ๆ ได้ รวมถึง ส.ว.ก็จะสนับสนุน
“นอกจากนี้ก็คือเรื่องพฤติกรรมของคนที่เป็น 'สาวก' คนที่เป็น 'กองกำลัง' ในช่วงของการสู้รบเพื่อเอาชนะกัน ตอนนี้มันผ่านไปแล้ว แต่วันนี้ถ้าคุณยังไม่เข้าใจตรงนี้ คุณยังไปไล่บี้ ไปล่าแม่มด ทำนั่นทำนี่ สุดท้ายบัลลังก์แชมป์ของคุณ จะถูกทำลายด้วยกระบวนการพวกนี้ มันจะกลับมาทำลายคุณ ระยะยาวไปอีกสักระยะหนึ่ง มันจะเป็นเรดการ์ดไปแล้ว อันนี้ผมพูดด้วยเมตตาธรรม ต้องปรับ เพราะหากปรับจะทำประโยชน์ให้กับประเทศได้มากกว่านี้อีก ก็ห่วงพวกนี้จะทำพัง”
จึงต้อง warning ไปยังผู้นำว่าคุณชนะแล้ว สปิริตของผู้ชนะคืออะไร ลองไปคิดดู ที่จะทำให้ชัยชนะยืนยาวต่อไป แต่หากไม่ระวังให้ดี ชัยชนะจะเป็นจุดเริ่มของความพ่ายแพ้ จะมาเร็วหรือมาช้า ถ้าไม่ระวังให้ดี ก็เตือนกัน ซึ่งตัวนายพิธาและตัว ส.ส.ก้าวไกล รวม 151 คน ที่จะทำงานในสภา ต้องกลับมาทบทวนและปรับบุคลิกภาพบางอย่างให้สมกับเป็นผู้ชนะ มีสปิริตของผู้ชนะ ไม่เหยียบย่ำคนแพ้ ไม่เย่อหยิ่งทะนงตน แล้วน้อมตัวลงไปเพื่อทำงานกับบุคคลต่างๆ โดยแม้จะมีจุดยืนของตัวเอง แต่ก็ต้องเคารพจุดยืนของคนอื่น หลักคิดของคนอื่น แล้วประนอมเข้าหากัน
หากประนอมกันได้ ในที่สุดมันจะเป็นทางสายกลางได้ เขาต้องจับตรงนี้ให้ได้ เอาสิ่งที่เป็นจุดแข็งจุดที่ดีเข้ามา ประนอมเข้าหากันแล้วมันจะวิน-วิน ที่จะทำให้สังคมและประเทศชาติก็จะวิน-วินไปด้วย
นพ.พลเดช-สมาชิกวุฒิสภา วิเคราะห์ว่า จุดแข็งที่ทำให้พรรคก้าวไกลประสบความสำเร็จ ก็เพราะเขาใช้สื่อโซเชียลมีเดีย การใช้ไอที และใช้ IO ซึ่ง IO ของเขา ทีมปฏิบัติการไม่ใช่น้อยๆ เป็นเรือนหมื่น เหมือนเป็นจิตอาสา อันนี้ที่ทำให้เขาสามารถชนะพวกบ้านใหญ่ได้หมดเลย และผ่านระบบอุปถัมภ์ได้หมดเลย ผ่านจนกระทั่งพวกสีแดงมาได้ด้วย
อันนี้ต้องยอมรับว่าเขาประสบความสำเร็จ ก็เป็นจุดแข็งของเขา แต่ว่าในจุดแข็งของเขาที่เขาใช้พวกไอทีต่างๆ ใช้ IO เข้ามาช่วย แต่เขาก็ต้องขับเคลื่อนโดยคน ซึ่งคนที่นี่ ผมหมายถึงคนที่เป็นสาวก คนที่เป็นกองกำลัง ตรงนี้ หากว่าไม่กำกับดูแลกันให้ดี แล้วไม่ปรับขบวน ไม่ปรับพฤติกรรม ตรงนี้ในที่สุดจะกลายเป็นจุดอ่อน และสิ่งนี้จะทำให้สิ่งที่เขาขายฝันให้ประชาชน สุดท้ายจะล่ม จะสะดุดขาล้มด้วยขบวนของตัวเอง
หาก 'พิธา-ก้าวไกล' เป็นรัฐบาล
ระวังเจอ 'ปีศาจในรายละเอียด'
-นโยบายหาเสียงของพรรคก้าวไกลหลายเรื่องเป็นอย่างไร เช่นเรื่องปฏิรูปกองทัพ และอะไรต่างๆ?
คือหากเขาได้เข้าไปเป็นรัฐบาลจริง แล้วพอเข้าไปทำงาน เมื่อต้องลงรายละเอียด พอไปถึงขั้นของการปฏิบัติ ตรงนั้นคือยกที่สาม หลังยกแรกคือการหาเสียงเลือกตั้ง ยกที่สองระฆังกำลังดังตอนนี้ การจัดตั้งรัฐบาล ที่ก็ยังไม่ชัดว่าสุดท้ายจะเป็นรัฐบาลสีส้มหรือรัฐบาลสีแดง หรือจะเป็นสีอื่น ถึงตอนนี้ยังไม่รู้ แต่สมมุติว่าเป็นรัฐบาลสีส้ม ก็จะถือว่าเริ่มยกที่สาม โดยยกที่สองตอนนี้น่าจะจบภายในไม่เกินเดือนสิงหาคม ตอนที่โหวตนายกฯ ที่ระหว่างนี้ก็ยังมีเรื่องใบเหลืองใบแดงอะไรต่างๆ และเรื่องการตรวจสอบคุณสมบัติที่ยื่นกันไป แต่มันจะจบสักภายในเดือนสิงหาค, จากนั้นขึ้นยกสาม ที่พอขึ้นยกสามมันก็จะยาวไปถึงยกที่สี่ ยกที่ห้า คือเป็นรัฐบาลปีที่หนึ่ง ปีที่สอง ปีที่สาม ปีที่สี่ ซึ่งยกสาม-สี่-ห้า คราวนี้ต้องเอาสิ่งที่ขายนโยบายไว้ตอนหาเสียง ก็ต้องมา priority (จัดลำดับความสำคัญ) อันไหนถ้าหากว่าไม่สามารถไปได้เพราะพรรคร่วมรัฐบาลขอไว้ ตรงนี้ ก็ต้องอธิบายกับประชาชน
และเมื่อไปถึงตอนช่วงเลือก เรื่องที่จะมาทำ เช่นหากจะปฏิรูปกองทัพ ก็ต้องดูว่าใครเป็น รมว.กลาโหม หากพิธาจะเป็นนายกฯ ควบ รมว.กลาโหม ตัวเขาก็ต้องไปทำงานกับปลัดกระทรวงกลาโหม ทำงานกับผู้บัญชาการเหล่าทัพต่างๆ กับสภากลาโหม ถ้าบอกว่าจะล้มสภากลาโหม ก็ต้องไปดูว่าจะแก้กฎหมายอะไร ต้องทำกี่ฉบับ ซึ่งเป็นงานที่มันต่อเนื่องในยกที่สาม ยกที่สี่ และยกที่ห้า
เมื่อถึงคราวนี้ก็ต้องไปดูหน้างานแล้ว ซึ่งไม่ใช่ว่าคุณไปสั่งให้เขาทำอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วทุกคนเขาจะปฏิบัติตาม มันไม่ใช่ เพราะปลัดกระทรวงเขาก็ต้องทำตามกฎหมาย อย่างปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เขาก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย เขาจะทำตามนโยบายของคุณไม่ได้ คุณต้องไปแก้กฎหมายก่อน เพราะหากยังไม่แก้ แล้วมาบังคับให้เขาทำ หากเขาทำตามคุณ เขาก็ทำผิดกฎหมาย
"มันมีความซับซ้อนในยกสาม ยกสี่ ยกห้า ปีศาจมันอยู่ในรายละเอียด นี่คือคำที่เขาพูดกัน ปีศาจมันอยู่ในรายละเอียด ทั้งความชั่วร้าย ปัญหา อุปสรรคอะไรต่างๆ มันอยู่ในรายละเอียด มันไม่ง่ายเหมือนกับเราฝันอะไรสักอย่าง คือไม่ดูรายละเอียด ไม่เข้าใจ แล้วไปพูด เพราะตอนพูด คนอาจไม่ได้ดูรายละเอียดกัน ก็สร้างความฝันในอากาศขึ้นมา เพราะไม่ต้องดูรายละเอียด แต่พอเข้าไปทำ มันต้องดูในรายละเอียดแล้ว"
นพ.พลเดช-สมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงเส้นทางการเป็นนายกฯ ของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่าหากสุดท้ายได้เป็นนายกฯ จริงจะอยู่ได้นานแค่ไหนว่า เรื่องนี้ก็ยังไม่รู้ เพราะยังมีเหตุปัจจัยอีกหลายอย่าง แต่เรื่องที่ห่วงมากที่สุดก็คือ เรื่องการแทรกแซงของต่างชาติ ของมหาอำนาจ แล้ว พ.ศ.นี้มันไม่เหมือนอดีต ซึ่งปีนี้ก็ยังไม่เหมือนปี 2562 เลย อย่างตอนปี 2562 ตอนนั้นมหาอำนาจยังมีขั้วเดียว แต่สี่ปีที่ผ่านมาสหรัฐฯ มันตกต่ำลง และคนทั่วโลกเริ่มมองเห็นว่า สหรัฐฯ เป็นมหามิตร แต่จริงๆ ชั่วร้ายเหลือเกิน เข้าไปประเทศไหนพังประเทศนั้น แสดงว่าสูตรยาที่ใช้เป็น ไซยาไนด์แล้วกระมัง เข้าไปฉีดยาให้ประเทศไหนมันพังหมดเลย ซีไอเอเข้าไปที่ไหนก็พังที่นั่น ดังนั้นที่คุณถามว่าห่วงอะไร ก็ห่วงตรงนี้
"จึงไม่แปลกที่จะมี ส.ว.บางคนบอกว่า เขาจะสนับสนุนรัฐบาลที่ต้องไม่ปล่อยให้ต่างชาติเข้ามาแทรกแซง ซึ่งผมอาจไม่ถึงขนาดนั้น แต่ผมก็ต้องมีอยู่ในใจเหมือนกันว่า จะขอรอดูที่หน้างาน ตอนโหวตนายกรัฐมนตรี แต่ก็ต้องมีความคิดมีหลักการของเราไว้ก่อน โดยมีผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก".
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“รองประธานสโมสร เชียงราย ยูไนเต็ด สู่นักการเมืองหญิงแกร่ง”
หลายคนรู้จักกับนักการเมืองรุ่นใหญ่ อย่าง “ยงยุทธ ติยะไพรัช” อดีตประธานรัฐสภา ที่มีลูกสาว “สส.โฮม” ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช สส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ที่ “สส.โฮม” ได้ตัดสินใจลงเล่นการเมือง จากมาดามสู่สส. มีอะไรต้องเปลี่ยนเยอะ และด้วยภาพลักษณ์ที่สดใส เป็นมิตร เฟรนลี่กับทุกคน จึงได้รับคำเรียกเล่นๆว่า ทูตสันถวไมตรี เพราะ “สส.โฮม” เป็นกันเอง ไม่ถือตัวกับทุกคน แต่ใครจะไปรู้ว่าชีวิตของ “โฮม” นั้น ผ่านอะไรมาบ้าง จึงได้ไปสอบถาม
เลือกตั้งนายก อบจ. 47 จังหวัด บ้านใหญ่ รอเข้าวิน พท.กวาดเยอะ-พรรคส้ม เสี่ยงร่วง
ยิ่งใกล้ถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายก อบจ. พบว่าการหาเสียงของผู้สมัครนายก อบจ.ทั้งที่ลงในนามพรรคการเมือง และไม่ได้ลงในนามพรรค
ร้อยใจไทย สืบสานราชธรรม .. ณ จังหวัดนครปฐม!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ในวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๗ โครงการร้อยใจธรรม สืบสานราชธรรม ทั้งแผ่นดิน ถวายเป็นพระราชกุศลฯ ที่ดำเนินการโดย สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยและวัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย (ธ) ในพระราชูปถัมภ์ฯ จ.ลำพูน
ลึกสุดใจ. ”พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ผบ.ตร.” ยึดกฎกติกา ไม่กลัวทุกอิทธิพล
ถึงตอนนี้ "พลตํารวจเอก กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ หรือ บิ๊กต่าย ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ" ได้ทำหน้าที่ ผบ.ตร.อย่างเป็นทางการมาร่วมสามเดือนเศษ ส่วนการทำงานต่อจากนี้ ในฐานะ"บิ๊กสีกากี เบอร์หนึ่ง-รั้วปทุมวัน"จะเป็นอย่างไร?
2 สว. “ชาญวิศว์-พิสิษฐ์” ปักธงพิทักษ์รธน. ปกป้องสถาบันฯ พวกเราเป็นอิสระ ไม่มีรับใบสั่ง
กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการทำประชามติเพื่อนำไปสู่การให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูยเพื่อมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อไทย ที่ต้องการทำให้เสร็จก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น
ก้าวย่างออกจากปัญหา .. ของประเทศ!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา... คำกล่าวที่ว่า.. “เมื่อสังคมมนุษยชาติขาดศีลธรรม.. ย่อมพบภัยพิบัติ.. เสื่อมสูญสิ้นสลาย..” นับว่าเป็นสัจธรรมที่ควรน้อมนำมาพิจารณา.. เพื่อการตั้งอยู่ ดำรงอยู่ อย่างไม่ประมาท...