การทุจริตคอรัปชั่นเป็นปัญหาสำคัญที่ฉุดรั้งการพัฒนาเศรษฐกิจในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย
เวลากล่าวถึงคอรัปชั่น ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรของรัฐเพื่อประโยชน์ส่วนตนนั้น คนทั่วไปมักจะนึกถึงการทุจริตที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหนี้ที่ภาครัฐหรือการบังคับใช้กฎหมาย เช่น การติดสินบนเพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายค่าปรับหรือเพื่ออำนวยความสะดวกในการติดต่อกับหน่วยราชการ รวมถึงการยักยอกสมบัติสาธารณะมาเป็นของตน
แต่ยังมีการทุจริตคอร์รัปชั่นอีกรูปแบบหนึ่งที่ซับซ้อนและรุนแรงกว่ามาก ซึ่งรู้จักกันในชื่อ “การยึดรัฐ”
การยึดรัฐ (State Capture) คือการที่กลุ่มผลประโยชน์เข้าไปมีอิทธิพลต่อการออกกฎหมายและการกำหนดนโยบายของภาครัฐเพื่อผลประโยชน์ของตน
การเข้าไปมีอิทธิพลในภาครัฐนี้สามารถกระทำผ่านรัฐสภา รัฐบาล หน่วยราชการรัฐวิสาหกิจ และองค์กรภาครัฐ ที่ทำหน้าที่ออกกฎหมาย นโยบาย มาตรการ ระเบียบข้อบังคับต่างๆ รวมถึงผ่านสถาบันตุลาการและองค์กรอิสระต่างๆ ที่มีหน้าที่ตีความกฎหมาย
สำหรับวิธีการเข้าไปยึดรัฐนั้นอาจทำได้ทั้งจากการเข้าไปมีอิทธิพลเหนือเจ้าหน้าที่ในภาครัฐ หรือการส่งคนของธุรกิจตนเองเข้าไปมีตำแหน่งหรือบทบาทในภาครัฐ เช่น การเป็นสมาชิกรัฐสภา รัฐบาล หรือกรรมการองค์กรและรัฐวิสาหกิจต่างๆ
การยึดรัฐนี้จำเป็นต้องใช้ทรัพยากร ซึ่งรวมถึงเงินและการให้ผลตอบแทนในรูปแบบอื่นๆ เช่น การสัญญาให้ตำแหน่งในอนาคตในธุรกิจเอกชนแก่เจ้าหน้าที่รัฐในปัจจุบัน
จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจว่าการยึดรัฐในหลายประเทศจึงมักเกิดจากกลุ่มธุรกิจ ซึ่งประโยชน์ที่กลุ่มธุรกิจได้รับจากการยึดรัฐมีหลายหลาก เช่น
อำนาจเหนือตลาด (Market Power) ที่สร้างกำไรจากการผูกขาดให้แก่ธุรกิจ เช่น การให้ใบอนุญาตประกอบกิจการในอุตสาหกรรมที่มีการควบคุมโดยรัฐ การกำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิ์ประมูลโครงการภาครัฐที่กีดกันคู่แข่ง
การใช้จ่ายของภาครัฐที่เอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจเพียงบางราย เช่น การสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนโดยรวม หรือการให้สิทธิพิเศษในการใช้สาธารณสมบัติเพื่อประโยชน์ของธุรกิจอย่างไม่เท่าเทียมกัน
การขายสินค้าและบริการของธุรกิจให้แก่รัฐในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด หรือทำสัญญาขายในปริมาณมากกว่าที่รัฐจำเป็นต้องซื้อ
การซื้อสินค้าและบริการ การได้รับสัมปทาน การซื้อกิจการรัฐวิสาหกิจที่แปรรูป (Privatization) ในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง
รวมถึงสิทธิพิเศษทางภาษี เช่น การได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีเงินได้หรือภาษีนำเข้าสินค้า
นอกจากประโยชน์จากกฎหมาย นโยบาย มาตรการ และกฎระเบียบที่ธุรกิจเข้าไปมีอิทธิพลให้รัฐเปลี่ยนแปลงตามที่ตนต้องการแล้ว ประโยชน์ของกลุ่มธุรกิจที่เข้าไปยึดรัฐยังอาจเกิดจากการที่ให้รัฐคงกฎระเบียบต่างๆ ไว้ดังเดิม เช่น ไม่ให้เปิดเสรีให้มีการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่ตนผูกขาดอยู่ หรือไม่ให้ขึ้นภาษี
การยึดรัฐโดยกลุ่มธุรกิจเป็นสถานการณ์ที่อันตรายอย่างยิ่ง เพราะก่อให้เกิดการผูกขาดทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองจากการที่อำนาจทางเศรษฐกิจและอำนาจทางการเมืองของกลุ่มผลประโยชน์เกื้อหนุนกัน ระบบเศรษฐกิจของประเทศขาดแข่งขันที่เป็นธรรม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการที่ทำให้ผลิตภาพของประเทศต่ำและความเหลื่อมล้ำในสังคมสูง
ยิ่งไปกว่านั้น หากเกิดการยึดรัฐขึ้นแล้วการแก้ไขจะทำได้ยากมาก เนื่องจากลักษณะสำคัญอย่างน้อย 4 ประการของการยึดรัฐ
ประการที่หนึ่ง ผลประโยชน์จากการยึดรัฐมักจะกระจุกตัวอยู่กับกลุ่มธุรกิจจำนวนไม่มาก แต่ต้นทุนของการยึดรัฐที่สูงมากนั้นกลับตกอยู่กับคนทั้งประเทศ ทำให้สาธารณชนไม่ตระหนักรู้ หรือตระหนักรู้แต่ไม่มีแรงจูงใจในการตรวจสอบและเรียกร้องให้เกิดการป้องกันหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลง ในขณะที่ธุรกิจมีแรงจูงใจที่สูงในการพยายามยึดรัฐ
ประการที่สอง นโยบายและระเบียบต่างๆ ที่เกิดจากการยึดรัฐนั้นเกิดจากกระบวนการนิติบัญญัติและการบริหารรัฐกิจที่มีกฎหมายรองรับ จึงเอาผิดได้ยาก
ประการที่สาม การยึดรัฐนำไปสู่วงจรอุบาท (Vicious Cycle) เพราะเป็นการสร้างผลประโยชน์ต่างตอบแทนระหว่างกลุ่มธุรกิจและเจ้าหน้าที่ภาครัฐ กลุ่มธุรกิจจ่ายเงินให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐเพื่อแลกกับกำไรที่สูงขึ้น และใช้กำไรที่สูงขึ้นนี้รักษาการยึดรัฐต่อไปเรื่อยๆ ยิ่งนานไป การยึดรัฐจึงยิ่งหยั่งรากลึกมากขึ้น
ประการที่สี่ การกำจัดการยึดรัฐนั้นต้องอาศัยการปฏิรูปเพื่อลดการผูกขาดอำนาจทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง แต่การปฏิรูปไม่อาจเกิดขึ้นได้เพราะผู้มีอำนาจรัฐเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการยึดรัฐเสียเอง
ดังนั้น การป้องกันและแก้ไขการยึดรัฐจึงไม่อาจเกิดขึ้นได้หากปราศจากความร่วมแรงร่วมใจกันของทุกคนใช้ช่องทางกฎหมายที่มีอยู่เรียกร้องความโปร่งใสจากบุคลากรและองค์กรภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลเกี่ยวกับสายสัมพันธ์กับธุรกิจเอกชนและผลประโยชน์ทับซ้อน รวมถึงสร้างความตระหนักรู้ให้เกิดขึ้นในสังคมเพื่อให้เกิดความแรงขับเคลื่อนในการลดการผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมือง
แน่นอนว่ากระบวนการนี้เป็นสิ่งที่ยาก แต่จำเป็น หากเราต้องการป้องกันและกำจัดการยึดรัฐให้หมดไปจากประเทศไทย
เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ
โดย ดร. กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์
University of California San Diego
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ลงทุนในทองคำดีไหม
ข่าวที่เราได้เห็นอยู่บ่อยๆ ในปีนี้ ว่าราคาทองคำพุ่งสูงขึ้นทำสถิติสูงสุดใหม่ซ้ำแล้วซ้ำอีก น่าจะทำให้เรารู้สึกว่าเราควรจะลงทุนซื้อทองคำตอนนี้ไว้มากๆ เผื่อเอาไว้ขายทำกำไรได้งามๆ ในอนาคต
เปลี่ยนก้อนหิน เป็นดอกไม้..เปลี่ยนความขัดแย้ง เป็นความปรองดอง หลอมรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย พาประเทศก้าวเดินไปข้างหน้า…..
ปีแล้วปีเล่าที่ประเทศอันเป็นที่รักของเรา ต้องติดหล่ม จมอยู่กับความขัดแย้ง และทิ่มแทงกันด้วยถ้อยคำกร้าวร้าวรุนแรง แบ่งฝักฝ่ายขว้างปาความเกรี้ยวกราดใส่กัน ด้วยเหตุจากความเห็นที่แตกต่างกัน และช่องว่างความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงความเป็นธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสลดหดหู่หัวใจอย่างยิ่ง
ตลาดหุ้นกู้ กับ การสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน
นช่วงทศวรรษที่ผ่านมา บริษัทเอกชนเข้ามาระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้กันมากขึ้น ตลาดหุ้นกู้จึงเติบโตอย่างรวดเร็ว จนปัจจุบันมีมูลค่าคงค้างราว 4.5 ล้านล้านบาท จำนวนบริษัทที่ออกหุ้นกู้เพื่อระดมทุนก็เพิ่มขึ้นมาก ไม่จำกัดอยู่เพียงบริษัทขนาดใหญ่เหมือนแต่ก่อน แต่มีทั้งบริษัทขนาดกลางขนาดเล็กเพิ่มมากขึ้น
โอกาสของการพัฒนาภาคเกษตรไทย
ภาคเกษตรเคยเป็นพระเอกทางเศรษฐกิจของประเทศไทย เป็นแหล่งอาหารที่เลี้ยงดูประชากรให้มีความอิ่มหนำสำราญ สร้างโอกาสให้คนไปทำงานอื่น ๆ แถมยังสร้างชื่อเสียงเป็นหน้าเป็นตาให้ประเทศด้วย
โหมโรงของคอร์รัปชันรูปแบบใหม่ในโลกปัจจุบัน
การคอร์รัปชันเป็นปัญหาสำคัญระดับประเทศที่หยั่งรากลึก แพร่กระจาย และบ่อนทำลายความไว้วางใจที่มีต่อรัฐบาล อีกทั้งยังสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ เป็นอุปสรรคต่อการลงทุน และขัดขวางความก้าวหน้าของประเทศในทุกมิติ เมื่อเวลาแปรเปลี่ยนไป โลกเข้าสู่ทศวรรษใหม่ การคาดการณ์ถึงวิวัฒนาการของการคอร์รัปชันเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากการเท่าทันความเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการคอร์รัปชันสมัยใหม่จะทำให้ทุกภาคส่วน สามารถพัฒนามาตรการรับมือที่มีประสิทธิผล
การพัฒนาเด็กปฐมวัย: สำคัญอย่างไร และควรทำอย่างไร?
ทำไมต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย ยังเล็กเกินไปสอนอะไรก็ยังไม่ได้ ทำอะไรยังไม่เป็น และต้องรอนานมากกว่าจะเห็นผล? เป็นคำถามที่ผมได้รับมาตลอดช่วงเวลาเกือบสิบปี ที่พยายามพัฒนาเด็กปฐมวัยในประเทศไทย สังคมไทยมักให้ความสำคัญกับการเรียนในระดับประถมและมัธยมมากกว่า ผู้ปกครองต้องจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อให้บุตรหลานได้ติวเพื่อสอบเข้าโรงเรียนดังๆ หรือมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจว่า ผู้บริหารการศึกษาระดับประเทศไปจนถึงระดับโรงเรียนจึงไม่ค่อยเห็นความสำคัญของการศึกษาระดับปฐมวัย