เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา... อีกไม่กี่วันก็จะถึงวันเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส.ของชาวไทย ที่กำหนดตรงกับ วันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๖.. ซึ่งนับเป็นเรื่องดียิ่งของทุกคนที่มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญการปกครองประเทศ ที่จะได้ใช้อำนาจอธิปไตยในฐานะปวงชนชาวไทย เพื่อมีส่วนร่วมในการบริหารปกครองประเทศชาติในระบอบประชาธิปไตยผ่านรัฐสภา...
การใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชน.. ผ่านช่องทางระบบการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร.. เพื่อเข้าไปทำหน้าที่แทนตนเอง เป็นหัวใจของการมีส่วนร่วมในการบริหารประเทศที่ทุกคนควรมีความตระหนักรู้.. มีภาวะจิตตื่นรู้ต่อการเลือกบุคคลที่จะเข้าไปนั่งในรัฐสภา เพื่อทำหน้าที่แทนตนเองในฐานะผู้แทนราษฎร ที่เรียกว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร..
ความใส่ใจ.. ในภาวะจิตตื่นรู้.. เพื่อการตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพ.. มีคุณภาพ.. จึงเป็นเรื่องโดยตรงที่ทุกคนจะต้องสร้างความสำนึกชอบอย่างมีวุฒิภาวะ เฉกเช่น สัตบุรุษ ผู้มีสติปัญญาทั้งหลาย ที่ต้องรู้จักคิดพิจารณา.. ใคร่ครวญ.. โดยยึดมั่นในหลักคุณธรรมความดี เพื่อรู้จักพิจารณาหาบุคคลที่มีความพร้อมทั้งความรู้และคุณธรรม.. แม้พรรคการเมืองนั้นๆ .. ที่จักต้องพึงแสดงวุฒิภาวะของความเป็นพรรคมหาชนโดยรวมทางธรรม ผ่านนโยบาย ระเบียบแบบแผน ที่แสดงออกถึงความเป็นพรรคการเมือง ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อการมุ่งสร้างคุณประโยชน์ ความมั่นคง.. และความเจริญรุ่งเรืองให้กับประเทศชาติและมหาชนได้อย่างเป็นรูปธรรมจริง...
สัตบุรุษหรือคนดี.. จึงต้องมีหลักธรรมชี้นำชีวิต.. รู้จักคิดพิจารณาโดยคำนึงถึงปุริสธรรม ๗ ประการเป็นสำคัญ ที่รวมความลงที่คำว่า “รู้”
คำว่า “รู้” ในความหมายของธรรม.. จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง.. ที่แสดงความเป็นจริงของการดำเนินชีวิต เพื่อไปให้ถึงคุณประโยชน์นั้นทั้งต่อตนเองและผู้อื่น.. รวมถึงต่อสังคมประเทศชาติของตน.. โดยจักต้องอ้างอิงอาศัย การรู้จริง.. เห็นจริง.. ที่จะก่อเกิดเป็น ความเห็นชอบ.. การดำริชอบ.. เพื่อการนำไปสู่ การปฏิบัติชอบ
คำว่า “ชอบ” จึงมีคุณค่ายิ่ง.. เมื่อมาจากคำว่า “รู้” .. จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่ทุกคนจะต้องสร้าง ความรู้ชอบ (รู้+ชอบ) ให้เกิดขึ้นในจิตใจของตนเอง.. ก่อนจะดำริชอบในการตัดสินใจที่จะพูด ทำ.. หรือปฏิบัติ...
การทำ ความรู้ชอบ (รู้+ชอบ) ให้เกิดขึ้น.. เป็นเรื่องของผู้ประพฤติธรรม.. ผู้เคารพธรรม ผู้ประพฤติธรรม.. มีธรรมเป็นใหญ่ มีธรรมเป็นธง.. มีธรรมเป็นตราเท่านั้น.. ความรู้ชอบ.. จึงเป็นเครื่องหมายของบัณฑิตหรือผู้รู้อย่างแท้จริง ที่นิยมเรียกกันว่า สัตบุรุษ โดยจะต้องยึดหลัก ๗ รู้ชอบ.. ได้แก่ รู้เหตุ.. รู้ผล.. รู้ตน.. รู้ประมาณ.. รู้กาล.. รู้สังคม และรู้บุคคล
บุคคลใดยึดหลัก ๗ รู้.. ที่เรียกว่า ปุริสธรรม ๗ นี้ได้.. ก็จักดำเนินไปอย่างรู้ชอบ และย่อมนำไปสู่ความสำเร็จในประโยชน์โดยธรรม ในการตัดสินใจคิด พูด ทำ.. การใดๆ..
สิ่งสำคัญของผู้รู้ชอบ.. จะต้องมีความมั่นคง ดำรงตนอยู่อย่างมี สัมปชัญญะ .. เป็นผู้ไม่ขาดธรรมข้อนี้ เพื่อการดำเนินชีวิตไปอย่าง มีการรู้ทั่วถึงอย่างบริบูรณ์โดยประการต่างๆ (สัมปชานะ)
ความเป็นผู้รู้อย่างบริบูรณ์โดยประการต่างๆ ที่เรียกว่า การมี สัมปชัญญะ จึงเกิดขึ้น.. เมื่อทุกคนฝึกหัดตนเองให้เป็นผู้รู้อย่างบริบูรณ์.. ในทุกขณะจิต.. ที่จะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับทุกสภาพธรรม.. เพื่อรู้แจ้งจริงในสภาพธรรม.. หรือในเรื่องราวนั้นๆ.. ซึ่งเป็นการรู้ด้วยตนเอง ไม่ใช่การรู้จากการฟังผู้อื่น.. หรือนึกคิดอย่างขาดการพิจารณาไตร่ตรองโดยละเอียดแยบคาย...
เมื่อเป็นเช่นนี้.. แสดงว่า เราต้องพัฒนาความรู้ชอบ (รู้+ชอบ) .. ให้เข้าสู่ ความเป็นผู้รู้อย่างบริบูรณ์โดยประการต่างๆ (สัมปชัญญะ) .. หมายถึง การพัฒนาตนเองให้เป็นผู้ถึงพร้อมใน สัมปชัญญะ ที่จะต้องดำเนินชีวิตไปอย่างมี ความรู้ชัด ในสิ่งนั้นๆ .. ที่จะกระทำ.. ว่า...
๑) มีประโยชน์หรือไม่.. (ความรู้ชัดในสิ่งที่มีประโยชน์)
๒) มีความเหมาะควรหรือไม่.. (ความรู้ชัดในสิ่งที่เหมาะควร)
๓) มีความรู้ชัดในเรื่องนั้นๆ.. ซึ่งหมายถึง การมีการเจริญสติระลึกรู้อย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ เป็นผู้ไม่ขาดสติ.. จึงรู้ชัดในอารมณ์.. รู้ชัดในเรื่องนั้นๆ .. รู้เท่าทันสภาวธรรมปัจจุบัน. จะไม่ทอดทิ้งการกำหนดรู้.. จึงรู้ถึงประโยชน์และความเหมาะควรในสภาพธรรม..เรื่องราวนั้นๆ .. เพื่อการสร้างความรู้ชอบ.. รู้ทั่วถึงอย่างบริบูรณ์ขึ้น.. อันเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง.. ที่แสดงให้เห็นคุณภาพของจิตที่มีสติเป็นประธานกำกับดูแล และมีปัญญาคล้อยตามสติ.. เข้าสู่
๔) ไม่หลงผิด อันเกิดจากความรู้ชัดในเรื่องนั้นๆ ซึ่งสัมพันธ์กับข้อ ๓.. ที่พัฒนามาสู่การมีปัญญาเป็นใหญ่.. และมีสติคล้อยตามปัญญา จนสามารถเข้าถึง ประโยชน์และความเหมาะสม.. ได้อย่างสมบูรณ์
การรู้โดยชอบ .. ที่นำไปสู่ การรู้อย่างบริบูรณ์ด้วยตนเองโดยประการต่างๆ.. จึงเกิดขึ้นได้จริงในทุกชีวิต หากรู้จักรักษาธรรม .. ประพฤติธรรม ที่จะสามารถประกันตนเองได้ว่า.. จะไม่ก่อความผิดพลาดในการกระทำ.. จะไม่กระทำอย่างลุ่มหลงไร้ปัญญา จะไม่นำพาตนเองไปสู่ความไม่มีประโยชน์และไม่มีความเหมาะสม.. ในการคิดกระทำการใดๆ จะคำนึงถึงประโยชน์และความเหมาะควรโดยธรรมเสมอ...
บุคคลเช่นนี้ จึงควรได้ชื่อว่าเป็น สัตบุรุษ ที่สามารถประพฤติธรรม สมควรแก่ธรรม ตามหลักสัปปุริสธรรม ๗ ประการได้จริง จึงได้ชื่อว่า.. เป็นผู้ใช้อำนาจหน้าที่ให้เป็นธรรม.. มิได้ใช้ธรรมเป็นไปเพื่อตนเองไม่
ดังนั้น “อำนาจของประชาชน” ในระบอบประชาธิปไตยแท้จริง คือ การที่ประชาชนรู้จักใช้อำนาจหน้าที่ให้เป็นธรรม.. นั่นหมายถึง จักต้องพัฒนาจิตใจของประชาชนให้เกิดความรู้ชอบ.. ที่รู้จักดำเนินชีวิตไปอย่างไม่ขาดสัมปชัญญะ.. จนสามารถใช้ชีวิตถือครองสัปปุริสธรรม อันเป็นธรรมของสัตบุรุษ ๗ ประการได้...
มิฉะนั้น.. ก็จักเกิดความผันผวน ย้อนแย้ง.. กับความเป็นจริงของจุดมุ่งหมายในการให้อำนาจเป็นของปวงชน เมื่อประชาชนละทิ้งหลักธรรม.. ดำเนินชีวิตไปอย่างขาด สัมปชัญญะ และความรู้ชอบ..
ประชาธิปไตย.. จึงกลายเป็น อัตตาธิปไตย
ประชาธิปไตย.. จึงกลายเป็น โลกาธิปไตย
ที่น่ากลัวอย่างยิ่ง.. คือ ประชาธิปไตย.. ที่แฝงอยู่ในร่างของ มาราธิปไตย ซึ่งตั้งป้อมอยู่ตรงข้ามกับ ธรรมาธิปไตย เสมอ ไม่ว่ากาลใด.. สมัยใด..
ในบรรดาอธิปไตยตามที่กล่าวมา.. พระพุทธศาสนาของเรา ดำรงอยู่ในความเป็น ธรรมาธิปไตย และยกย่อง ธรรมาธิปไตย .. จึงมีคำสั่งสอนให้ นักบริหาร นักปกครอง นักการเมือง ผู้นำชุมชน สังคม..และครอบครัว จะต้องยึดหลักธรรมาธิปไตย.. ซึ่งจะต้อง เป็นผู้รู้ธรรม.. เป็นผู้รู้ชอบในธรรม.. เป็นผู้ไม่ขาดสัมปชัญญะในการดำเนินชีวิต...
นักปกครอง-นักการเมืองที่เป็นผู้รู้ธรรม.. รู้ชอบในธรรม จะมีลักษณะครบสมบูรณ์ในความเป็นสัตบุรุษ.. คนดี ที่จะมุ่งเน้นใช้จิตคิดพิจารณา มากกว่า การใช้ตาดู.. ใช้หูฟัง.. เมื่อคิดดี.. คิดเป็นธรรม ก็จะนำไปสู่การเป็นผู้ใช้วาจาอันสุภาพ เหมาะควร.. พูดกล่าวแต่สิ่งที่มีประโยชน์และเหมาะสม.. คิดสร้างธรรมด้วยสันติวิธี เพื่อความเป็นสันติธรรมในสังคมประเทศชาติ...
การอนุรักษ์วัฒนธรรมจารีตประเพณี.. ควบคู่กับการพัฒนาให้สังคมเจริญก้าวหน้าไป ย่อมจะคิดดำเนินควบคู่กันไป…
ที่สำคัญยิ่ง.. สัตบุรุษ.. คนดี.. ที่มีความรู้ชอบโดยธรรม.. จะมี ความกตัญญูกตเวทิตา.. ต่อประเทศชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ซึ่งเป็นลักษณะธรรมสำคัญที่สุดของคำว่า “คนดี” อันควรเป็นผู้เข้าไปนั่งใน สภา.. ที่แปลว่า “ที่ประชุมของคนดี”
คนดี.. สัตบุรุษ.. เหล่านี้.. จึงไม่มีความคิดในการทำลาย.. ทำร้าย.. สร้างความแตกแยกในแผ่นดินประเทศชาติโดยเด็ดขาด.. เพราะเขาเหล่านั้น.. มีจิตใจที่มั่นคง รู้คุณ.. จึงไม่คิดเนรคุณ ไม่ว่ากับสิ่งใดๆ .. ที่มีคุณกับเขาโดยธรรม.. อย่าว่าต่อแผ่นดินประเทศชาติ..เลย
จึงควรอย่างยิ่งในการพิจารณาให้รอบคอบ..
ก่อนที่ทุกท่านจะใช้อำนาจให้เป็นธรรม..
เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติที่แท้จริง….
..ซึ่งจะต้องก้าวข้ามความถูกใจ.. ความชอบใจ
ความไม่ถูกใจ.. ความไม่ชอบใจ ไปให้ได้....
ด้วยความเคารพธรรมเป็นใหญ่..
ด้วยความเชื่อมั่นว่า.. อำนาจแห่งธรรม เหนือ อำนาจทั้งปวง!!.
เจริญพร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เลือกตั้งนายก อบจ. 47 จังหวัด บ้านใหญ่ รอเข้าวิน พท.กวาดเยอะ-พรรคส้ม เสี่ยงร่วง
ยิ่งใกล้ถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายก อบจ. พบว่าการหาเสียงของผู้สมัครนายก อบจ.ทั้งที่ลงในนามพรรคการเมือง และไม่ได้ลงในนามพรรค
ร้อยใจไทย สืบสานราชธรรม .. ณ จังหวัดนครปฐม!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ในวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๗ โครงการร้อยใจธรรม สืบสานราชธรรม ทั้งแผ่นดิน ถวายเป็นพระราชกุศลฯ ที่ดำเนินการโดย สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยและวัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย (ธ) ในพระราชูปถัมภ์ฯ จ.ลำพูน
ลึกสุดใจ. ”พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ผบ.ตร.” ยึดกฎกติกา ไม่กลัวทุกอิทธิพล
ถึงตอนนี้ "พลตํารวจเอก กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ หรือ บิ๊กต่าย ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ" ได้ทำหน้าที่ ผบ.ตร.อย่างเป็นทางการมาร่วมสามเดือนเศษ ส่วนการทำงานต่อจากนี้ ในฐานะ"บิ๊กสีกากี เบอร์หนึ่ง-รั้วปทุมวัน"จะเป็นอย่างไร?
2 สว. “ชาญวิศว์-พิสิษฐ์” ปักธงพิทักษ์รธน. ปกป้องสถาบันฯ พวกเราเป็นอิสระ ไม่มีรับใบสั่ง
กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการทำประชามติเพื่อนำไปสู่การให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูยเพื่อมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อไทย ที่ต้องการทำให้เสร็จก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น
ก้าวย่างออกจากปัญหา .. ของประเทศ!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา... คำกล่าวที่ว่า.. “เมื่อสังคมมนุษยชาติขาดศีลธรรม.. ย่อมพบภัยพิบัติ.. เสื่อมสูญสิ้นสลาย..” นับว่าเป็นสัจธรรมที่ควรน้อมนำมาพิจารณา.. เพื่อการตั้งอยู่ ดำรงอยู่ อย่างไม่ประมาท...
เหลียวหลังแลหน้า การเมืองไทย จาก 2567 สู่ 2568 ส่องจุดจบ ระบอบทักษิณภาค 2
รายการ"ไทยโพสต์ อิสรภาพแห่งความคิด"สัมภาษณ์ นักวิชาการ-นักการเมือง สองคน เพื่อมา"เหลียวหลังการเมืองไทยปี 2567 และแลไปข้างหน้า