ปัญหาหมอกควันมีมานานนับกว่า 10 ปีแล้ว แต่รุนแรงขึ้นมากอย่างที่เห็นได้ชัดในช่วง 2 – 3 ปีหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางภาคเหนือของประเทศไทยจะถูกปกคลุมด้วยหมอกควันระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายนของทุกปี ทำให้ช่วงนั้นหลายจังหวัดในภาคเหนือของไทยติดอันดับเมืองที่มีมลพิษทางอากาศแย่ที่สุดในโลก ซึ่งพบว่าสาเหตุของปัญหาส่วนใหญ่มาจากการเผาพื้นที่เกษตรและไฟป่าในภาคเหนือ จึงทำให้เกิดหมอกควันข้ามแดนเพิ่มขึ้นทุกปี ในจังหวัดภาคเหนือตอนบนของไทยพบว่าส่วนใหญ่เกิดจากการเผาซากข้าวโพดเพื่อเลี้ยงสัตว์ที่ขยายพื้นที่ปลูกในที่สูง หรือแม้กระทั่งทางภาคเหนือตอนล่างที่เผาอ้อยเพื่อเก็บเกี่ยว และเผาตอซังข้าวในพื้นที่ราบหลายจังหวัด เพื่อเตรียมเพาะปลูกรอบต่อไป ประชาชนส่วนใหญ่ยังเข้าใจว่าการเผาเป็นวิธีที่คุ้มค่าที่สุด เพราะต้นทุนต่ำหรือแทบจะไม่ต้องใช้ทุนใดๆ เลย รวมทั้งใช้เวลาน้อย และสามารถทำได้ง่าย นอกจากนั้นยังพบว่ามีการเผาตามวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวบ้านในพื้นที่สูง ที่มีความเชื่อว่าจะทำให้ผลผลิตพืชป่า อย่างเช่น หญ้าที่ใช้เลี้ยงสัตว์ หรือพืชผักที่เป็นอาหารของคน เช่น ผักหวานป่าและเห็ดเผาะ จะมีปริมาณจำนวนเพิ่มมากขึ้น ล่าสุดหมอกควันในต้นปี 2566 นอกจากจะมาเร็วกว่าทุกปีแล้ว ยังพบปัญหาที่นับว่าทวีความรุนแรงมากขึ้น เพราะปรากฏจุดความร้อนในเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพิ่มขึ้นมาก สะท้อนให้เห็นว่าเกิดการลักลอบเผาอันเนื่องมาจากปัญหาที่ค่อนข้างซับซ้อนในแต่ละพื้นที่ แม้แต่พื้นที่ใกล้เมืองอย่างจังหวัดเชียงใหม่เอง อย่างบนพื้นที่สูงของดอยสุเทพก็สามารถมองเห็นควันไฟได้แทบทุกวัน
ปัญหาหมอกควันส่งผลกระทบรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต สุขภาพของคน และเศรษฐกิจของจังหวัดในภาคเหนือเป็นวงกว้าง ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา สถิติจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคผิวหนัง และโรคที่เกี่ยวกับดวงตามีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้ครัวเรือนมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นในเรื่องของค่ารักษาพยาบาล และการหาซื้ออุปกรณ์ป้องกันมลพิษ อย่างเครื่องกรองอากาศ เครื่องฟอกอากาศ และหน้ากากอนามัย เป็นต้น รวมทั้งธุรกิจร้านอาหารต่างก็ได้รับผลกระทบโดยทั่วกัน เนื่องจากลูกค้าไม่กล้าออกจากบ้าน ที่สำคัญคือส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวเป็นอย่างมากเช่นกัน เมื่อเกิดหมอกควันขึ้นหลายพื้นที่ สิ่งที่เห็นได้ชัดคือจำนวนนักท่องเที่ยวที่เป็นชาวไทยจะลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว เพราะถือว่าเป็นกลุ่มแรกที่รับรู้สถานการณ์หมอกควันจากสื่อต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ส่วนทางด้านจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเมื่อรับรู้ถึงสถานการณ์หมอกควันที่วิกฤตของจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวของไทย ก็เกิดการชะลอลงอย่างน่าใจหาย ส่งผลทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติลดลงไม่ต่ำกว่า 4,000 ล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว ปัญหาหมอกควันนี้หากยังไม่ได้รับการแก้ไข หลายพื้นที่หากเจอฤดูหมอกควันที่รุนแรงแบบนี้ไปตลอด หลายธุรกิจก็คงจะต้องสะดุดกันอีกหลายรอบ
ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าที่ผ่านมากระแสความสนใจต่อปัญหาฝุ่นควันนั้นเกิดขึ้นจากการที่เมืองหลวงของไทยอย่างกรุงเทพได้รับผลกระทบจาก PM2.5 ที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีอย่างเห็นได้ชัด จึงส่งผลให้เกิดข้อถกเถียงมากมายถึงที่มาของฝุ่นควันดังกล่าว หรือหมอกควันที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดของทางภาคเหนือของไทย จนนำมาสู่มายาคติมากมายต่อที่มาของฝุ่นควันหรือหมอกควันที่เป็นมลพิษดังกล่าว หากจะทำการแก้ปัญหาหมอกควัน จึงควรเริ่มต้นโดยการแก้ปัญหาจากสิ่งแรกคือ ต้องเสนอข้อเท็จจริงในช่วงเวลานั้นๆ แต่การเสนอข้อเท็จจริงที่ผ่านมามันมีช่องว่างของข้อเท็จจริงอยู่ อย่างเช่น การที่บอกว่าชาวบ้านเป็นคนเผาป่า ซึ่งเป็นข้อสรุปที่มีช่องว่างของข้อเท็จจริงอยู่เยอะมาก ถ้าหากจะบอกว่า PM2.5 เกิดจากหลายสาเหตุด้วยกัน และทุกคนล้วนมีส่วนในการสร้างปัญหาดังกล่าว ดังนั้นทุกคนในสังคมไม่เพียงแต่คนในพื้นที่ภาคเหนือของไทยเท่านั้น ควรมาช่วยกันแก้ไขปัญหาหมอกควันนั้นอย่างจริงจัง ไม่ใช่เอาแต่จะโทษกันไปกันมาว่าต้นตอของปัญหาแท้จริงนั้นมาจากใคร ซึ่งหากกระทำแบบนั้น จะส่งผลให้ความร่วมมือมันหายไปไปในที่สุด สุดท้ายแล้วก็จะเป็นชาวบ้านที่เป็นทั้งผู้ร้ายและคนที่เดือดร้อนจากปัญหา PM2.5 ที่ซึ่งเกิดขึ้นจากทุกคนมีส่วนในการสร้างปัญหาหมดเลย เพราะมันเป็นเรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม สร้างความเติบโตขึ้น หากว่ามองถึงปัญหาเรื่องของการทำลายสิ่งแวดล้อม เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกคนที่ใช้รถ ใช้แอร์ และใช้พลังงาน ทุกคนต่างก็ทำลายสิ่งแวดล้อมด้วยกันแทบทั้งสิ้น
ดังนั้น การแก้ไขปัญหาหมอกควันจึงถือว่าเป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายควรใส่ใจและไม่นิ่งนอนใจกันต่อไปอีก ปัญหาหมอกควันของภาคเหนือที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าภาครัฐจะพยายามใช้มาตรการที่เข้มข้นขึ้นเพื่อควบคุมการเผาแล้วก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นมาตรการระยะสั้นที่แต่ละจังหวัดประกาศเพิ่มวันห้ามเผา รวมถึงมีการเพิ่มเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์ ส่วนมาตรการระยะยาวได้สนับสนุนการจัดตั้งป่าชุมชนภายใต้ พ.ร.บ.ป่าชุมชน เพื่อให้ชุมชนวางแผนอนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์จากป่าได้อย่างยั่งยืน แต่อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าวก็เพิ่งเริ่มต้นใช้ และทำให้ชุมชนที่เข้าร่วมมีจำนวนไม่มาก สิ่งที่ภาครัฐทำได้ในขณะนั้นก็คือการประชาสัมพันธ์และการขยายผลเพิ่มอีก แต่ในส่วนการส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทบาทเชิงป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า ยังพบว่ายังขาดขีดความสามารถของบุคลากร เครื่องมือ และการจัดสรรงบประมาณในการแก้ปัญหาดังกล่าวเพิ่ม
นอกจากนั้นอุปสรรคอีกหลายอย่างทำให้การแก้ไขปัญหาไม่บรรลุผลเท่าที่ควร ก็มาจากที่ในบางพื้นที่ได้รับความร่วมมือน้อย ประชาชนในบางพื้นที่ยังมีการชิงเผาก่อนช่วงเวลาที่กำหนด เกิดการลักลอบเผาพื้นที่เกษตรและพื้นที่ป่า หรือแม้กระทั่งการดำเนินการของการเข้าดับไฟยังทำได้จำกัด เนื่องจากหลายพื้นที่เข้าถึงยากและห่างอยู่ห่างไกล ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องสำคัญจากปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมด ซึ่งล้วนแล้วแต่มาจากการขาดแรงจูงใจให้ทุกฝ่ายเข้ามาร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ดังนั้นการแก้ไขปัญหาหมอกควันจึงควรมีระบบข้อมูลเชิงพื้นที่สนับสนุน เพื่อติดตามถึงสาเหตุและสถานการณ์ดังกล่าวได้ทันท่วงที ปัญหานี้ไม่เพียงแต่จะมีผลกระทบต่อ สุขภาพ สังคมและเศรษฐกิจภายในประเทศเท่านั้นเราควรระวังผลกระทบต่อส่วนรวมที่การแก้ไขต้องเน้นความร่วมมือของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่จะไม่ก่อให้เกิดปัญหาแก่ผู้อื่นทั้งในและนอกประเทศ ดูตัวอย่างประเทศสิงคโปร์ที่แก้ปัญหาหมอกควันที่มาจากการเผาป่าโดยออกกฎหมายให้เขาสามารถปรับบริษัทนอกอาณาเขตที่สร้างภาวะมลพิษให้กับอากาศในประเทศสิงค์ไปร์ได้มากถึง 2ล้านดอลล่าร์สิงค์โปร์หรือ 51.6 ล้านบาท เพื่อเป็นการลงโทษผู้เป็นต้นเหตุของการก่อปัญหามลภาวะ
ดร. มรกต ณ เชียงใหม่
มูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'หมอชูชัย' ชงยุทธศาสตร์แก้ PM2.5 หนุน HIA สร้างความเข้มแข็งชุมชนท้องถิ่น ภาคธุรกิจร่วมรับผิดชอบ
'หมอชูชัย' ชี้ปัญหาหมอกควันและฝุ่น PM 2.5 เป็นปัญหามลพิษทางอากาศที่สำคัญ เกิดขึ้นต่อเนื่องมาเป็นประจำทุกปี ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง เสนอยุทธศาสตร์สนับสนุน HIA สร้างความเข้มแข็งอบจ.และชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศ เรียกร้องภาคธุรกิจมีความรับผิดชอบพัฒนาอย่างยั่งยืน
เปิด 5 อันดับจังหวัดพบจุดความร้อนมากที่สุด ฝุ่นพิษพุ่งพรวด ภาคเหนือกระอัก
สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า เปิดเผยถึงสถานการณ์หมอกควันไฟป่า ประเทศไทยยังครองอันดับหนึ่ง พบจุดความร้อนวานนี้กว่า 3.2 พันจุด...พื้นที่ป่าอนุรักษ์ยังมากสุดกว่า1.8 จุด
สสส. ผนึกภาคีสู้ฝุ่น ระดมสมองสร้างกลไกแก้ฝุ่น PM 2.5 ภาคเหนือ เร่งสานพลังอาเซียนจัดการปัญหาหมอกควันข้ามแดน
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในพิธีเปิดการประชุมเครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ
'ท็อป-วราวุธ' คุยหมอกควันภาคเหนือดีกว่าปี 64 ถึง 70%
"วราวุธ" เผย สถานการณ์หมอกควันภาคเหนือปีนี้ดีกว่าปี64 ถึง 70% แต่มีบางพื้นที่ PM2.5 ยังสูง สั่งกรมควบคุมมลพิษประสานเลขาฯอาเซียนขอเพื่อนบ้านกวดขันตามชายแดน