เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ ที่ผ่านมา ได้ไปสนทนากับท่าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายดอน ปรมัตถ์วินัย) ที่กระทรวงการต่างประเทศ หัวข้อใหญ่คือ เรื่อง การทูตทางศาสนา (Dhamma Diplomacy) โดยยกตัวอย่างผลงานที่ดำเนินไปอย่างเป็นรูปธรรมในต่างประเทศ โดยเฉพาะ ปากีสถาน ที่กำลังจะมีการจัดงานความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย-ปากีสถานครบรอบ ๗๐ ปี ซึ่งคงจะมีการนำผลงานในด้านการทูตทางศาสนาออกมาเผยแพร่ในบางส่วน ดังเช่นเรื่องการประดิษฐาน ระฆังสันติภาพ (Bell of Peace) บนแผ่นดินมรดกโลกทางพุทธศาสนา (Buddhist Heritage) ที่เมืองตักศิลา-รัฐปัญจาบ และเมืองเปชวาร์-รัฐไคเปอร์ปักตุนควา.. ที่พระพุทธศาสนาเคยรุ่งเรืองยิ่งบนแผ่นดินดังกล่าวในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๕-๖ เป็นต้นมา จนถึงที่สุดหมดสิ้นยุคพุทธศาสนาในพุทธศตวรรษที่ ๑๗ เศษๆ...
การได้เดินทางสู่เขตแดนพุทธศาสนาอันเป็นมรดกโลก ที่ตั้งอยู่ในเขตการปกครองของสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน.. นับเป็นเรื่องที่เป็นมงคลยิ่ง เพื่อจะได้ศึกษาร่องรอยพุทธประวัติที่ผ่านแต่ละยุคแต่ละสมัยมา ดังปรากฏพุทธสถานโบราณ.. หรือพุทธศิลป์เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ อันสามารถบอกกล่าวเล่าเรื่องความเป็นมาจากอดีตได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งมรดกอันล้ำค่าเหล่านี้ปัจจุบันอยู่ในการควบคุมดูแลโดยพิพิธภัณฑ์ของรัฐบาลท้องถิ่นในปากีสถาน ที่มีภาวะการตื่นตัวยิ่งต่อคุณค่าของโบราณวัตถุพุทธศิลป์ต่างๆ ของพุทธศาสนา โดยเฉพาะพุทธสถานที่ปรากฏมากมายในเขตปากีสถาน ต่อเนื่องจนถึงอัฟกานิสถาน จึงได้เกิดการผลักดันนำเสนอต่อสหประชาชาติ เพื่อให้ขึ้นทะเบียนพื้นที่สถานที่ที่รองรับมรดกอันล้ำค่าเหล่านั้น ให้เป็นเขตพื้นที่มรดกโลก เพื่อจะได้มีการรักษาดูแลมิให้เสื่อมสูญสลายไปอย่างไร้ค่า ซึ่งวัตถุสิ่งของเหล่านั้นที่นอกจากจะมีคุณค่าทางวิชาการแล้ว ยังทรงอิทธิพลต่อจิตใจของมหาชนชาวโลก โดยเฉพาะที่เคารพบูชาในพระพุทธศาสนา
จากครั้งที่อาตมาได้เดินทางไปเยือนพื้นที่มรดกโลกของพุทธศาสนาในปากีสถาน เมื่อ ๒๙ ตุลาคม–๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ สื่อเกือบทุกสำนักในปากีสถานได้เผยแพร่ภาพข่าวไปทั่วอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญในพื้นที่มรดกโลกของรัฐบาลปากีสถานและประชาชนชาวปากีสถาน ดังปรากฏเป็นข่าวสารที่เผยแพร่ไปในสื่อเกือบทุกสำนักที่ได้เผยแพร่ภาพข่าวไปทั่วอย่างรวดเร็ว โดยเนื้อหาสาระที่รายงานในข่าวนั้นไม่ต่างกันมากนัก ดังที่สามารถสรุปเพื่อนำเสนอในที่นี้ได้ดังนี้ว่า...
“...พระอาจารย์อารยวังโส เจ้าอาวาสวัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย (ธ) จ.ลำพูน พร้อมคณะบุคคลสำคัญจากประเทศไทย ได้เดินทางเยือนปากีสถาน เพื่อหารือในเรื่องการนำการฝึกปฏิบัติธรรมกลับคืนมายังแหล่งพุทธศาสนาในปากีสถาน ซึ่งจะเป็นเหตุให้มีนักท่องเที่ยวชาวพุทธเดินทางเข้ามาสู่ปากีสถานมากยิ่งขึ้น และจักสามารถส่งเสริมเศรษฐกิจในประเทศได้อีกทางหนึ่ง
โดยการเดินทางมาเยือนปากีสถานในครั้งนี้ พระอาจารย์อารยวังโสมีจุดมุ่งหมายเพื่อมาทัศนศึกษาพื้นที่พุทธศาสนาในอดีตที่ได้รับยกฐานะเป็นมรดกโลกในปัจจุบัน ดังเช่น ตักอิไบ ..ที่อยู่ในเขตปากีสถาน โดยมีการประกอบพิธีทางพุทธศาสนา รวมทั้ง พิธีลั่นระฆังสันติภาพขึ้นที่พิพิธภัณฑ์เปชวาร์ เมืองเปชวาร์ ในไคเปอร์ปักตุนควา (K.P.) ท่ามกลางการต้อนรับอย่างอบอุ่น นับเป็นบรรยากาศที่ดียิ่งในการสื่อสารให้เห็นถึงมิตรภาพระหว่างชาวปากีสถานและชาวพุทธจากประเทศไทย นับเป็นการแสดงออกถึงสัญญาณสันติภาพจากไมตรีจิต ความเป็นกัลยาณมิตรที่ดีของชาวปากีสถาน เพื่อเชิญชวนให้หมู่ชนจากทั่วโลกได้เดินทางมาเยี่ยมเยียนปากีสถานที่มีสภาพแวดล้อมเปี่ยมด้วยมิตรภาพ...
โดยสื่อในปากีสถานได้ระบุต่อไปว่า.. พระอาจารย์อารยวังโสได้กล่าวว่า.. ไม่เห็นด้วยกับความเชื่อที่ว่าปากีสถานไม่ปลอดภัย ตามที่ได้มาสัมผัสด้วยตนเองที่ได้รับการต้อนรับจากชาวปากีสถานอย่างดียิ่ง จึงได้กล่าวว่า
ปากีสถานยังคงมีความเป็นสันติภาพ และเป็นสันติภาพที่มาจากจิตใจของชาวปากีสถาน ที่อาตมาจะช่วยเผยแพร่ความจริงนี้ไปทั่วโลก
สำหรับรายละเอียดโดยสรุปของมรดกโลกทางพุทธศาสนาในปากีสถานนั้น นายอับดุล ซามัด ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์โบราณคดี ไคเปอร์ปักตุนควา ได้ให้ข้อมูลที่มีคุณค่ายิ่งต่อจิตใจชาวพุทธทั่วโลกว่า...
..ได้ค้นพบพระบรมสารีริกธาตุบรรจุไว้ในสถูปตะกั่ว ประดิษฐานอยู่ในเขตพุทธสถานตักอิไบ โดยบริเวณลานสถูปประกอบด้วยสถูปบริวาร ๒๙ องค์ เรียงรายรอบสถูปใหญ่
สำหรับพุทธสถานตักอิไบ... นับเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาในอดีต ซึ่งเคยรุ่งเรืองที่สุดในสมัยอาณาจักรกุสานะ ราวพุทธศตวรรษที่ ๕ เป็นต้นไป.. ดังที่ปรากฏให้เห็นโครงสร้างของความเป็นมหาวิหารที่ยิ่งใหญ่ครบสมบูรณ์ที่สุดในยุคอารยธรรมคันธาระ ที่ตั้งอยู่บนชัยภูมิที่ดียิ่งบนภูเขาเล็กๆ ห่างจากเมืองตักอิไบ ไปทางทิศตะวันออกของเมืองมาร์ดานในเขตไคเปอร์ปักตุนควา ราว ๒ กิโลเมตร
นอกจากนั้น นายอาทิฟ ข่าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ของรัฐบาลท้องถิ่นแห่งไคเปอร์ปักตุนควา ได้กล่าวว่า.. ปากีสถานมีแหล่งพุทธศาสนาหลายพันแห่ง โดยเฉพาะในเขตไคเปอร์ปักตุนควา ที่สำคัญมาก ด้วยลักษณะโบราณสถานของพุทธศาสนาในไคเปอร์ปักตุนควา จะมีเป็นแบบเฉพาะที่แสดงถึงความรุ่งเรืองสูงสุดของพุทธศาสนาในยุคสมัยนั้นๆ โดยเฉพาะความสมบูรณ์ของพุทธศิลป์สมัยคันธาระ.. จึงใคร่เชิญชวนชาวพุทธทั่วโลกจากทุกประเทศได้เดินทางมาเยือนปากีสถานและไคเปอร์ปักตุนควา...”
ดังนั้น ในวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ ที่ผ่านมา.. จึงได้มีการนำเรื่องราวเหล่านี้มาพูดคุยสนทนากัน เนื่องในวาระโอกาสที่จะมีการจัดงานความสัมพันธ์ครบรอบ ๗๐ ปี ระหว่างไทยกับปากีสถาน.. โดยเฉพาะการกำหนดขอบเขตแผนงานที่จะได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือให้คำแนะนำการฟื้นฟู-บูรณะ เพื่อพัฒนามรดกโลกของพุทธศาสนาในปากีสถานให้สืบเนื่องต่อไป ดังที่ได้รับปากกับทางฝ่ายสำนักโบราณคดีของไคเปอร์ปักตุนควาที่จะมีการสนับสนุนหรือช่วยเหลืองานการบูรณะพระพุทธไสยาสน์ที่มีความยาวประมาณ ๑๕ เมตร ซึ่งเพิ่งขุดค้นพบที่บามาลา (Bhamala) โดยเป็นพุทธศิลป์สมัยอารยธรรมคันธาระอันควรแก่การอนุรักษ์ไว้เป็นมรดกของชาวโลกสืบไป
นอกจากเรื่องการตกลงรับปากว่าจะช่วยเหลือบูรณะพระพุทธไสยาสน์ดังกล่าวแล้วนั้น.. ยังมีอีกโครงการหนึ่งที่เกิดขึ้นสืบต่อมาคือ การกำหนดพื้นที่เพื่อจัดตั้งสถานที่ปฏิบัติธรรมในเขตเมืองตักศิลา รัฐปัญจาบ โดยทราบว่าในขณะนี้ ทางผู้ประสานงานฝ่ายปากีสถานได้ดำเนินการกำหนดพื้นที่เพื่อก่อสร้าง Meditation Hall ขึ้นบนพื้นที่ใกล้กับสถูปพระอโศกมหาราชในเขตเมืองตักศิลา เพื่อรองรับนักแสวงบุญหรือผู้ประพฤติธรรมจากทั่วโลก ที่จะเดินทางมาเยือนแผ่นดินอันศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นมรดกโลกของพุทธศาสนาในปากีสถาน
โดยขณะนี้ได้มีการกำหนดพื้นที่และจัดทำร่างแบบเพื่อกำหนดการก่อสร้าง Meditation Hall ดังกล่าว พร้อมรายละเอียดในส่วนต่างๆ ที่จำเป็นในการใช้สอยลงบนพื้นที่ซึ่งได้ถูกกำหนดขึ้น เพื่อรองรับผู้มาเยือนจากทั่วโลก.. ทั้งนี้ เมื่อเข้าสู่ขั้นตอนจะได้มีการเดินทางไปตรวจดูพื้นที่ดังกล่าวในปากีสถานอีกครั้ง จึงคาดว่าเป็นภายในต้นปีหน้า (พ.ศ.๒๕๖๕) หากสถานการณ์ไวรัสโควิด-๑๙ สามารถควบคุมได้ดี และมีการเปิดประเทศให้สามารถเดินทางไปมาหาสู่กันได้ตามปกติ... ก็คงจะมีข่าวดีอันเป็นมงคลยิ่งต่อชาวพุทธทั่วโลก...
ดังนั้น การได้ร่วมพูดคุยร่วมปรึกษาหารือกับท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในวันนี้ ซึ่งมี อธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา ร่วมอยู่ด้วย ณ ห้องรับรองของกระทรวงการต่างประเทศ จึงนับเป็นนิมิตหมายที่ดีต่อการขยายผลงานด้านการทูตทางศาสนา ที่จะได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ต่อทุกประชาคมทั่วโลก แม้จะต่างศาสนา ต่างวัฒนธรรมประเพณี.. แต่มีความเป็นหนึ่งเดียวกันในความปรารถนาสันติภาพ–สันติสุข โดยสันติธรรมวิธี ตามหลักธรรมคำสอนในแต่ละศาสนา ที่มุ่งนำชาวโลกไปสู่สันติสุขโดยธรรมอย่างแท้จริง
การเกื้อกูลกันด้วยความรัก ความปรารถนาดีต่อกันในฐานะมนุษยชาติ.. จึงนำไปสู่ความเชื่อมโยงทางจิตวิญญาณผ่านหลักธรรมในศาสนาของตน ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อสันติสุขของชาวโลก จึงนับเป็นวิถีธรรมเพื่อสันติที่ควรนำมาเป็นหลักการทางการทูตอย่างแท้จริง ดังที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายดอน ปรมัตถ์วินัย เรียกวิถีธรรมในทางการทูตดังกล่าวว่า “Dhamma Diplomacy”...
เจริญพร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ความเสื่อม.. ที่ควรเห็น.. ก่อนตาย!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. มีคำกล่าวเป็นสุภาษิต ว่า ความเสื่อมของมนุษย์ ล้วนมีสาเหตุมาจากมนุษย์.. ความเสื่อมของสิ่งใดๆ .. ก็มีสาเหตุมาจากสิ่งนั้นๆ..
รัฐบาลแพทองธาร อยู่ไม่ครบปี บิ๊กป้อม ยังสู้-พปชร.เดินหน้าต่อ
เหลือเวลาอีกเพียง 3 สัปดาห์เศษ ปี 2567 ก็จะผ่านพ้นไปแล้วเพื่อเข้าสู่ปีใหม่ 2568 ซึ่งภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2567 เป็นอย่างไร และปีหน้า 2568 จะมีทิศทางเช่นไร เรื่องนี้มีมุมมองแนววิเคราะห์จาก
ประมาทไม่ได้เลย คือ จิตของเรา!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. มีพระภาษิตบทหนึ่งกล่าวว่า..
คานถล่ม ผู้บริสุทธิ์จบชีวิต 6 ราย กับ สำนึกของนักการเมืองไทย!
เช้าตรู่วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2567 เกิดโศกนาฏกรรมคานเหล็กยักษ์ที่ใช้สำหรับก่อสร้างทางยกระดับถนนพระราม 2 ถล่ม คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์จำนวน 6 ราย
ศึกเลือกตั้ง อบจ. 1 ก.พ. 68 Generation War พท.-ปชน. บารมีบ้านใหญ่ ขลังหรือเสื่อม?
การเมืองท้องถิ่นกับการเลือกตั้ง "นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด" (นายก อบจ.) ซึ่งที่ผ่านมามีการเลือกตั้งกันไปหลายจังหวัด ได้รับความสนใจจากแวดวงการเมืองอย่างมาก
ขบวนการแพทย์ชนบท กับรางวัลแมกไซไซ ปี 2024 ทิศทางพัฒนาระบบสุขภาพไทย
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คือวันเสาร์ที่ 16 พ.ย. คณะผู้แทน”ขบวนการแพทย์ชนบท” ได้เดินทางไปรับรางวัลแมกไซไซ ประจำปี 2024