มนุษย์ทุกคนที่เกิดมาบนโลกใบนี้ ย่อมต้องมีการพัฒนาตนเองตั้งแต่แรกเกิด ส่วนหนึ่งคือพัฒนาจากธรรมชาติ ได้แก่การเรียนรู้ในการหายใจ การเรียกร้องเมื่อท้องหิวหรือเจ็บป่วย และจะต้องปรับตัวอยู่กับสภาพภูมิอากาศที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ให้ได้ แต่ระหว่างที่การดำรงชีวิตอยู่อย่างธรรมชาตินั้น ทุกคนจะต้องอยู่ในสังคมที่มีคนอื่นอยู่ด้วย และต้องแสวงหาโอกาสในการเรียนรู้และหาเลี้ยงชีพด้วย “การศึกษา” เพื่อการพัฒนาตนเองให้อยู่ในสังคมที่ดีได้
คำว่า “การศึกษา” นั้น ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 4 หมายความว่า กระบวนการเรียนรู้เพื่อความเจริญงอกงามของบุคคล และสังคมโดยการถ่ายทอดความรู้ การฝึก การอบรม การสืบสานทางวัฒนธรรม การสร้างสรรค์ จรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการ การสร้างองค์ความรู้อันเกิดจากการจัดสภาพแวดล้อม สังคม การเรียนรู้ และปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคลเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ในประเทศไทยการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ก่อนอุดมศึกษา) เป็นข้อกำหนดทางกฎหมายตามพระราชบัญญัติการศึกษาที่คนไทยทุกคนจะต้องมีการศึกษาขั้นต่ำคือในระดับขั้นพื้นฐาน
การศึกษาในระบบตามกฎหมายที่กล่าวมานั้น มีการกำหนดวิชาเรียนในขั้นพื้นฐานไว้อย่างเป็นระบบตั้งแต่ชั้นประถมปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ทั้งหมด 12 ปี ที่มีเนื้อหาวิชาแบ่งออกเป็นกลุ่มของการเรียนรู้ 8 กลุ่ม ที่กระทรวงศึกษาธิการเรียกว่า “กลุ่มสาระ” ได้แก่ 1.กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย 2.กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ 3.กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ 4.กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม 5.กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา 6.กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ 7.กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี และ 8.กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ
แต่ถ้าพิจารณาให้ดีจะเห็นว่าทั้ง 8 กลุ่มสาระนั้นจะเป็นหลักสูตรที่นักเรียนจะเรียนรู้จากภายนอกทั้งสิ้น ไม่มีกลุ่มสาระไหนเลยที่พัฒนาผู้เรียนจากภายใน สร้างคนที่จิตใจ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญมากของมนุษย์ในการดำรงชีวิตอยู่ในสังคม และเป็นคนดีที่อยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณธรรมและจริยธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต แต่ก็มักจะมีข้ออ้างอยู่เสมอว่า ก็มีหลักสูตรที่ออกแบบไว้อย่างดีอยู่แล้ว นั่นคือกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ซึ่งหมายถึง กิจกรรมที่สามารถพัฒนาความสามารถของผู้เรียนตามศักยภาพ โดยพัฒนาทั้งด้าน กาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ให้สามารถเข้าใจ ตนเอง ความรู้ ความถนัด สนใจ สามารถปรับตนเองเข้ากับผู้อื่น สังคม และประเทศชาติและดำรงชีวิต ได้อย่างมีความสุข และหนึ่งในนั้นคือวิชาลูกเสือ
จริงๆแล้วกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนตามความหมายนั้นดีมากหากปฏิบัติได้ แต่รายละเอียดของกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนนั้นไม่มีการออกแบบไว้อย่างเป็นรูปธรรม ไม่มีคะแนนกำหนดเป็นเกณฑ์มาตรฐานเหมือนกับวิชาใน 8 กลุ่มสาระ ซึ่งก็จะไม่สามารถทราบได้ว่าเยาวชนคนไหนได้เรียนรู้และปฏิบัติในการพัฒนาตนเองไปสู่สังคมที่ดีในด้านใดบ้าง ได้กระทำตนให้เป็นประโยชน์อย่างไรบ้าง มีความเข้าใจในเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมมากเพียงใด มีความสื่อสัตย์สุจริต พร้อมที่จะเติบโตไปในสังคมและเป็นคนดีได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่าการศึกษาจะทำให้ผู้เรียนมีผลลัพธ์ของความเป็นมนุษย์ในรูปแบบเดียวกันเสมอไป เพราะการเรียนการสอนในแต่ละโรงเรียนไม่เหมือนกัน จึงเป็นคำถามอยู่ในปัจจุบันว่า ทำไมไม่ใช้สิ่งที่มีดีอยู่แล้วมาเป็นตัวกำหนด เช่น กฎของลูกเสือ 10 ข้อ เป็นต้น
กฎของลูกเสือ 10 ข้อ ช่วยได้อย่างไร ทำไมจึงควรนำมาบรรจุไว้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้อีก 1 กลุ่ม เพราะกฎ 10 ข้อของลูกเสือนั้น เน้นการปฏิบัติ และเป็นการเรียนรู้เพื่อการสร้างจิตสำนึกที่ดีที่จะเกิดขึ้นจากภายใน (จิตใจ) สามารถฝึกฝนปฏิบัติและทำผลงานที่สามารถนำมาเป็นคะแนนในการวัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม ทำทีละขั้นตอน ฝึกฝนจนเป็นความเคยชินและปลูกฝังอยู่ในจิตใจของเยาวชน
กฏ 10 ข้อมีอะไรบ้าง
ข้อ 1 ลูกเสือมีเกียรติเชื่อถือได้
ข้อ 2 ลูกเสือมีความจงรัภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และซื่อตรงต่อผู้มีพระคุณ
ข้อ 3 ลูกเสือมีหน้าที่กระทำตนให้เป็นประโยชน์ และช่วยเหลือผู้อื่น
ข้อ 4 ลูกเสือเป็นมิตรกับคนทุกคน และเป็นพี่น้องกับลูกเสืออื่นทั่วโลก
ข้อ 5 ลูกเสือเป็นผู้สุภาพเรียบร้อย
ข้อ 6 ลูกเสือมีความเมตตากรุณาต่อสัตว์
ข้อ 7 ลูกเสือเชื่อฟังคำสั่งของบิดามารดาและผู้บังคับบัญชาด้วยความเคารพ
ข้อ 8 ลูกเสือมีใจร่าเริงและไม่ย่อท้อต้อความยากลำบาก
ข้อ 9 ลูกเสือเป็นผู้มัธยัสถ์
ข้อ 10 ลูกเสือประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ
ถ้าระบบการศึกษาของชาติ นำเอากฎทั้ง 10 ข้อของลูกเสือมาพัฒนาเยาวชน ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ทำเป็นนโยบายหลัก เรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยออกแบบวิชาที่จะเรียนเพื่อเป็นไปตามแนวทางแต่ละข้อได้ โดยไม่ใช่การเรียนในชั่วโมงเรียนลูกเสือเท่านั้น และสามารถจัดทำโครงสร้างหลักสูตรให้สามารถวัดผลได้เช่นเดียวกับกลุ่มสาระอื่นๆได้ รับรองว่าจะเห็นผลที่เปลี่ยนแปลงไป จะได้เยาวชนที่มีความคิดและการกระทำที่แตกต่างออกไปจากเดิมอย่างแน่นอน
เราจะออกแบบหลักสูตรกันอย่างไรเพื่อให้เข้ากับบริบทในกฎแต่ละข้อ ไม่ใช่เรื่องยาก ประเทศเรามีนักการศึกษามากมาย นักจิตวิทยาเด็กก็มีมาก สามารถนำมาช่วยออกแบบกันได้ หากแต่ว่าถ้าแนวคิดไม่ได้รับการตอบสนอง นโยบายการขับเคลื่อนก็ไม่สามารถทำได้แม้แต่จะทดลอง ดังนั้นเราไม่จำเป็นต้องรอ หากโรงเรียนใดสนใจก็มาร่วมกันระดมสมอง ลองทำดู ไม่มีข้อไหนใน 10 ข้อของกฎลูกเสือที่จะทำให้เกิดความเสียหายต่อเด็กและเยาวชนเลย มีแต่จะพัฒนาให้เขาเหล่านั้นมีความเป็นพลเมือง มีความเป็นมนุษย์ที่ได้รับการพัฒนาทั้งจากข้างในจิตใจเพิ่มเติม และได้เรียนรู้จากองค์ความรู้ในด้านต่างๆจากกลุ่มสาระทางการศึกษาต่างอยู่แล้ว
ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า บทความนี้จะมีโอกาสได้จุดประกายความคิดของผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ผู้ที่จะมาเป็นรัฐมนตรี รับแนวคิดที่จะเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไปในทางที่ดี โดยอาศัยหลักการของล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ที่ท่านได้ทรงพระราชทานกำเนิดลูกสือไว้ และพระองค์ท่านก็ได้ทรงลิขิตอักษรด้วยลายพระหัตถ์ที่มีความหมายในภาษาไทยไว้ว่า “ข้าไม่ต้องการตำราเรียนที่เดินได้ ที่ข้าอยากได้นั้น คือเยาวชนที่มีความเป็นสุภาพบุรุษ ซื่อสัตย์สุจริต มีอุปนิสัยใจคอดี” ที่มีกระบวนการอย่างเป็นรูปธรรมให้เห็นมาแล้ว นำไปปฏิบัติและออกเป็นนโยบายใหม่ทางการศึกษาของชาติในเร็ววันนี้ได้
ไตรรัตน์ ฉัตรแก้ว
ประธานมูลนิธิเด็กวัด
ผู้ช่วยผู้ตรวจการลูกเสือ สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ
คอลัมน์ เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
Climate School (โรงเรียนเพื่อการรักษาสภาพภูมิอากาศ)
เป็นที่ทราบกันดีโดยทั่วไปอยู่แล้วว่า ในปัจจุบันโลกกำลังเผชิญกับสภาวะแวดล้อมที่มีภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จนทุกประเทศในโลกต้องหันมาให้การสนับสนุนส่งเสริมนโยบายการรักษาสิ่งแวดล้อม
ยังจำกันได้ไหม กรมอุทยานฯ อัปเดต 'น้องขวัญ' ลูกเสือโคร่งของกลาง ตัวโตแล้ว
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เผยแพร่ภาพเสือโคร่ง อัปเดตการดูแลเสือโคร่ง "ขวัญ ขิง ข้าว โขง" ล่าสุดตัวโตแล้ว ...(ชมคลิปในคอมเมนต์) ยังจำกันได้ไหมเอ๋ย “ลูกเสือโคร่งของกลาง”
ตอกหน้า! ‘ตรีนุช’ บอกสพฐ.ไฟเขียวยืดหยุ่นชุดลูกเสือ-เนตรนารี ตั้งแต่กลางปี65
โรงเรียนในสังกัด สพฐ. ของกระทรวงศึกษาธิการทั่วประเทศ ได้มีการยืดหยุ่นการแต่งชุดลูกเสือ-เนตรนารี-ยุวกาชาด ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2565 ที่ผ่านมา
การศึกษาไทยในยุคดิจิทัล ยุคสมัยเปลี่ยนไป...แต่ทำไมระบบการศึกษาไทยยังเหมือนเดิม
คำว่า “การศึกษา” หมายถึง วิธีการส่งผ่านจุดมุ่งหมาย ความรู้ ทักษะ จารีตประเพณีและค่านิยมที่สั่งสมมา ให้ดำรงอยู่จากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง
๑๑๑ ปีลูกเสือไทยทำไมชุดลูกเสือ กิจการลูกเสือ จึงมีความสำคัญต่อการพัฒนาเยาวชน
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชบันทึกและพระราชทานให้แก่เสนาบดีและปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการ, ๒๔๕๓ ไว้ความตอนหนึ่งว่า
เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ เสด็จแทนพระองค์พระราชทานธงคณะลูกเสือแห่งชาติ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เสด็จแทนพระองค์ไปพระราชทานธงคณะลูกเสือแห่งชาติ ธงลูกเสือกรุงเทพมหานคร