สืบสานปณิธาน ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ : ชาว ธปท. กระดูกสันหลังตั้งตรง

29 เม.ย.2566 - นายประสาร มฤคพิทักษ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) เขียนบทความเรื่อง "สืบสานปณิธาน ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ : ชาว ธปท. กระดูกสันหลังตั้งตรง" ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 29 เม.ย. 2566 โดยมีเนื้อหาดังนี้

นโยบายแจกเงินเหรียญดิจิทัลให้คนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไป จำนวน 55 ล้านคน คนละ 10,000 บาท รวมเป็นเงิน 5.5 แสนล้านบาท เป็นการประกาศนโยบายที่สร้างความสนใจได้รวดเร็วและกว้างขวาง

ใครๆ ก็สนใจ กลายเป็นประเด็นถกเถียงสาธารณะ (Talk of the Town) ในทุกวงการ

มีหลายปัญหาตามมาที่พรรคเพื่อไทยมีหน้าที่ต้องตอบว่าจะหาเงินมาจากไหน จะไปเบียดงบที่วางไว้แล้วอย่างไร จะต้องกู้เงินหรือเปล่า จะทำได้จริงหรือไม่ในทางปฏิบัติ

ขอหยิบยกเอาทัศนะของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย 3 คน มาเป็นข้อพิจารณา

ดร.ธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการ ธปท. (2549-2553) ให้ความเห็นว่า

"ค่าใช้จ่ายทั้งหมด 5.5 แสนล้านบาท ถามว่าจะเอามาจากไหน

ถ้าเงินจำนวนนี้จ่ายออกไป มีการเก็บภาษี VAT 7% ก็จะได้ภาษี 3.85 หมื่นล้านบาท แต่จริงๆ เป็นไปไม่ได้ ดังนั้น ยังต้องหาเงินอีก 5.11 แสนล้านบาท ถ้าหาเงินหรือลดค่าใช้จ่ายรายการอื่นไม่ได้ ก็ต้องไปกู้มาโปะส่วนที่ขาดนี้

เห็นนโยบายไร้ความรับผิดชอบแบบนี้แล้ว ยังทำให้ประชาชนขาดวินัยทางการเงิน คอยแต่จะแบมือรับ แทนที่จะติดอาวุธให้ประชาชนมีทักษะ มีความสามารถยกระดับความเป็นอยู่ของตัวเองให้ดีขึ้น"

นายวิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการ ธปท. (2558-2563)เขียนบทความเรื่อง เศรษฐศาสตร์พเนจร เมื่อ 16 เม.ย.66 ว่า

"ข้อเสนอนโยบายเศรษฐกิจ ควรต้องผ่านการกลั่นกรองมาอย่างดี ผ่านการจัดลำดับความสำคัญ ชั่งน้ำหนักข้อดี-ข้อเสียและผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้น เพราะปัญหาแต่ละเรื่องมีความเร่งด่วนและความรุนแรงไม่เท่ากัน และเรามีทรัพยากรทุกอย่างจำกัด ไม่สามารถทำได้ทุกอย่าง หลายเรื่องที่ถูกต้องและจำเป็นสำหรับอนาคต ก็ไม่ใช่เรื่องที่ถูกใจฐานเสียงเสมอไป

ต้องสนใจ 3 คำคือ

1.ผลิตภาพ (Productivity) คือคนไทยต้องเก่งขึ้น ธุรกิจไทยต้องเก่งขึ้น และต้นทุนการใช้ชีวิต การทำธุรกิจของคนไทยต้องลดลง

2.การสร้างภูมิคุ้มกัน (Immunity) โลกมีความผันผวนไม่แน่นอน การสร้างภูมิคุ้มกันเป็นเครื่องมือการบริหารความเสี่ยง

นโยบายเศรษฐกิจต้องแน่ใจว่าไม่ทำลายความมั่นคง ทางการเงินการคลังของประเทศในระยะยาว และไม่สร้างความบิดเบือนในระบบแรงจูงใจ ต้องเลิกทำนโยบายแบบเหวี่ยงแห ประเภทใช้งบประมาณปลายเปิดจนควบคุมได้ยาก

3.การกระจายผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นอย่างทั่วถึง (Inclusivity) ต้องตั้งอยู่บนหลักการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ไม่ให้ปลาใหญ่กินปลาเล็ก"

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท.ปัจจุบัน กล่าวในงาน Meet the Press เมื่อ 24 เม.ย.66 ว่า

"ในมุมมองของ ธปท. เศรษฐกิจไทยขณะนี้ไม่จำเป็นต้องกระตุ้น แต่ควรให้น้ำหนักในการดูแลเสถียรภาพ

ที่ผ่านมาการกระตุ้นได้ผลระยะสั้น ส่งผลให้เกิดภาระหนี้ตามมา จึงจำเป็นต้องสร้างศักยภาพในการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว โดยเฉพาะเร่งผลักดันเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน

นโยบายควรมุ่งเป้าไปที่กลุ่มบุคคล การลดค่านู่นนี่ เป็นอะไรที่ไม่เฉพาะเจาะจง ต้องนำเงินที่มีจำกัดไปช่วยเหลือคนจนให้ตรงกลุ่ม ควรให้เงินลงไปที่คนจนมากกว่าทำเหวี่ยงแห"

ปลายปี 2496 ครม. ซึ่งมี จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี มีมติให้ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ พ้นจากตำแหน่ง รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ไปเป็นผู้เชี่ยวชาญกระทรวงการคลัง เพราะไปแข็งขืนกับ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ต้องการซื้อ สหธนาคาร ซึ่งเวลานั้นธนาคารนี้ทำผิดระเบียบ ธปท. กำลังจะถูกปรับเป็นเงินหลายล้านบาท ดร.ป๋วยไม่ยอมยกเว้นค่าปรับตามคำขอของจอมพลสฤษดิ์ และไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะซื้อสหธนาคาร

อีกครั้งหนึ่ง พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เป็น อธิบดีกรมตำรวจ และควบตำแหน่ง รมช.ก.การคลัง ซึ่งพยายามเสนอให้อีกบริษัทหนึ่งของสหรัฐอเมริกา ที่ตนเองมีผลประโยชน์อยู่ด้วยให้ เข้ามาเป็นผู้จัดพิมพ์ธนบัตรไทย แทน บริษัทโทมัสเดอลารู ครม.แต่งตั้งให้ ดร.ป๋วยดูแลเรื่องนี้แล้วพบว่าบริษัทนั้นคุณภาพการพิมพ์ไม่เอาไหน และมีข่าวคราวในความไม่สุจริต ขาดความน่านับถือ จึงไม่เห็นด้วยกับ พล.ต.อ.เผ่า และยืนยันให้ใช้บริษัทเดิมพิมพ์ธนบัตรไทยต่อไป ดร.ป๋วยยังพูดว่าหากรัฐบาลเปลี่ยนโรงพิมพ์ตามเสนอ ก็จะขอลาออกจากราชการ

เวลานั้น พระบริภัณฑ์ยุทธกิจ เป็น รมต.ก.คลัง เห็นว่าดร.ป๋วยอาจไม่ปลอดภัยในชีวิตเสียแล้ว เพราะไปขัดขืนผู้ยิ่งใหญ่ที่ทุกคนต้องยอมตามทั้งนั้น จึงขอให้ ดร.ป๋วยไปเป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐศาสตร์การคลังประจำสถานทูตไทยในอังกฤษ

พระบริภัณฑ์ยุทธกิจยังเปิดเผยในภายหลังว่า ในที่ประชุม ครม. ท่านถูก พล.ต.อ.เผ่าต่อว่า ว่า

"คนของคุณพระนี่ หยิ่งมากนะ คำก็จะลาออก สองคำก็จะลาออก"

ดร.ป๋วยได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าการธนาคารชาติในเวลาต่อมา 12 ปีเต็ม ในฐานะผู้ว่าการ ธปท. ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ สามารถรักษาเสถียรภาพเงินตราไว้ได้อย่างแข็งแกร่ง เงินบาทได้รับความเชื่อมั่นทั้งในและนอกประเทศ การค้าขายและการลงทุนเพิ่มขึ้นมาก เงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้นเป็นประวัติการณ์ ตั้งโรงพิมพ์ธนบัตรเป็นผลสำเร็จ

ในวันนี้ฝ่ายการเมืองกำลังสำแดงอำนาจผ่านนโยบายประชา นิยมแบบล้นเกินของหลายพรรคการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พรรค ที่จะแจกเหรียญดิจิทัล 10,000 บาท ที่ปราศจากเหตุผลรองรับ

แต่ผู้บริหาร ธปท.เป็นคนมีกระดูกสันหลังตั้งตรง ไม่คดงอไปตามปรารถนาของฝ่ายการเมือง ดังที่ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้สร้างแบบอย่างแห่งความเป็นมืออาชีพ ถือหลักความถูกต้องมากกว่าความถูกใจ ไม่ยอมจำนนให้แก่กิเลสของฝ่ายการเมือง ผู้ว่าการ ธปท.ทั้งสามคนจึงสืบสานปณิธานของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ไว้อย่างมั่นคง

จึงขอฟันธงตรงนี้เลยว่า นโยบายสร้างความเป็นขอทานแบบแจกเงินเหรียญดิจิทัล 10,000 บาท ซึ่งจะสร้างความเลวร้ายให้ประเทศมากกว่าความรุ่งเรือง จะเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ ไม่เชื่อก็ลองดู.

ที่มา : นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ ประสา..ประสาร : ฉบับวันที่ 29 เม.ย. 2566

เพิ่มเพื่อน