สู่ .. ดินแดนอารยธรรมพุทธมหายาน .. ในเกาหลีใต้!!

เจริญพรสาธุชน ผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา ระหว่างวันที่ ๒๑-๒๗ เมษายน ๒๕๖๖ อาตมาได้รับนิมนต์จากคณะสงฆ์เกาหลีใต้ให้ไปเยี่ยมเยียน สนทนาธรรม และแสดงธรรม ณ วัดบงอึนซา (Bongeunsa Temple) ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ มีอายุกว่าหนึ่งพันสองร้อยปี ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาซูโดซาน ทางทิศใต้ของกรุงโซล

เดิมมีชื่อว่า “วัดคยองซองซา” สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์ชิลลา ต่อมาได้รับการบูรณะและเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดบงอึนซา” โดยถูกกำหนดให้เป็นวัดหลักของ นิกายเซน (Zen) ที่ชาวเกาหลีออกเสียงเรียกว่า ซอล (Seon).. จึงได้เห็นสภาพวัดที่ยังคงลักษณะความเป็นพุทธศาสนาแบบเซน (Zen) ที่สงบ ร่มรื่น ซึ่งมีการจัดให้มีการสอนการปฏิบัติสมาธิแบบเซนเป็นปกติในวัดแห่งนี้

ในปีนี้ วัดบงอึนซาได้กำหนดนิมนต์พระเถระเกาหลีใต้จำนวน ๑๐๐ รูป มาแสดงพระธรรมเทศนา ๑๐๐ กัณฑ์ ให้ครบภายใน ๓ ปี ซึ่งอาตมาเป็นพระต่างชาติและเป็นพระภิกษุเถรวาท รูปแรก รูปเดียว ในจำนวน ๑๐๐ รูป ที่ได้มาแสดงธรรมนำสู่การอบรมจิตภาวนาตามหลัก วิปัสสนากรรมฐาน (สติปัฏฐาน ๔) ในงานเทศนา ๑๐๐ กัณฑ์ครั้งนี้ ซึ่งได้แสดงไปเมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๖๖ โดยในวันนั้น มีชาวเกาหลีใต้เข้ารับฟังพระธรรมเทศนาเต็มศาลาปฏิบัติธรรม ร่วมกับคณะชาวไทยทั้งจากสถานทูตไทยและชุมชนชาวไทยในกรุงโซล เกาหลีใต้ นำโดย นายวิชชุ เวชชาชีวะ เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโซล เกาหลีใต้ ที่มาเข้าร่วมใส่บาตร ฟังธรรม ตั้งแต่ยามเช้าของวันดังกล่าว (๒๓ เมษายน ๒๕๖๖)

จากการได้พบปะกับท่านเจ้าอาวาสวัดบงอึนซา ที่มาถวายการต้อนรับด้วยตนเองพร้อมคณะ จึงได้ทราบถึงประวัติความเป็นมาของพุทธศาสนาในเกาหลีใต้ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งนับว่ามีประโยชน์อย่างยิ่งในการศึกษาประวัติพุทธศาสนามหายานในเกาหลีใต้ ที่เชื่อมโยงกับจีนและญี่ปุ่นในห้วงเวลา ๑,๓๐๐ กว่าปี นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และถึงแม้ว่าประเทศเกาหลีใต้จะผ่านเหตุการณ์ต่างๆ มามากมาย แต่ก็มิได้ทำให้ความศรัทธาในพระพุทธศาสนาของชาวเกาหลีใต้สูญสลายไปไม่.. มิหนำซ้ำยังกลับทำให้เกิดความเข้มแข็งยิ่งขึ้น

วันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๖๖ เวลา ๑๑.๐๐ น. จึงได้เห็นภาพพระภิกษุและชาวพุทธในเกาหลีใต้ มาร่วมฟังธรรม ปฏิบัติธรรม กันจนล้น พระวิหารของวัดบงอึนซา.. ในหัวข้อบรรยายที่ชื่อว่า “การเจริญอานาปานสติ สู่สูญญตา แก่ชาวพุทธมหายาน.. เกาหลีใต้” มีการเผยแพร่ภาพเสียงผ่านสถานีโทรทัศน์ของเกาหลีใต้ไปทั่วประเทศ นับว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่ง...

ต่อมาเมื่อเสร็จสิ้นการประกอบศาสนกิจ ณ วัดบงอึนซา แล้ว จึงได้ออกเดินทางไปสู่ อาณาจักรชิลลาเดิม ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเกาหลีใต้ โดยเข้าพักที่ “วัดพุลกุกซา ฮายอิน” โดยถึงวัดดังกล่าวในตอนเย็นของวันที่ ๒๓ เมษายน จึงได้เห็นสภาพบ้านเมืองเชิงอนุรักษ์ในอาณาจักรซิลลาเดิม ที่ยูเนสโก (UNESCO) ขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่มรดกโลก..

ด้วยสภาพอากาศที่ยังหนาวเย็นอยู่ แม้ในยามนี้ จึงต้องรีบเข้าห้องพักที่ปรับอุณหภูมิให้พอเหมาะ ด้วยระบบน้ำร้อนที่ไหลวนใต้พื้นห้อง ที่กำลังอุ่นพอสบายตัว ควรแก่การภาวนาและพักผ่อน ซึ่งอุณหภูมิในเวลากลางคืนประมาณ ๙-๑๐ องศา.. จึงต้องกลับมาใส่ถุงเท้าและสวมหมวกไหมพรมป้องกันความหนาวเย็นในบางครั้ง

ทุกคนจากประเทศไทยที่เดินทางติดตามไปในครั้งนี้ มีความรู้สึกว่า ชอบอากาศที่กำลังเย็นสบายแสนสะอาด ปราศจากฝุ่นละอองมลพิษ อย่างที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยในหน้าร้อนนี้

อากาศเย็นสบาย.. เมื่อบวกกับอาหารแบบเกาหลีใต้ที่เน้นมังสวิรัติ จึงส่งผลให้กายเบา จิตเบา กายสงบ จิตสงบ.. ควรแก่การภาวนาเป็นอย่างยิ่ง จึงให้ระลึกถึงคำว่า อาหารสัปปายะ อาวาสสัปปายะ อากาศสัปปายะ..

เมื่อเสร็จสิ้นกิจส่วนตัวในค่ำคืนนั้น.. จึงไม่เสียโอกาสเวลาที่จะบรรยายธรรม เพื่อให้การอบรมจิตนำภาวนาให้แก่หมู่สงฆ์และคณะศรัทธาสาธุชนที่ติดตามไป

เช้า ๒๔ เมษายน ๒๕๖๖ .. มีกำหนดการเข้าเยี่ยม วัดพุลกุกซา.. ที่ตั้งอยู่บนภูเขา ท่ามกลางสวนป่าธรรมชาติที่ยังคงสภาพอุดมสมบูรณ์ เพราะได้รับการคุ้มครองดูแลอย่างดีจากรัฐบาลเกาหลีใต้ ที่ให้ความสำคัญยิ่งต่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ.. และการส่งเสริมวัดวาอารามทางพุทธศาสนามหายานให้ดำรงอยู่อย่างมีคุณค่า.. และคุณประโยชน์ต่อมหาชนและประเทศชาติ

การเข้าเยี่ยมวัดพุลกุกซาเป็นครั้งแรกนั้น จึงให้ความรู้สึกสดชื่นสบายใจ.. มีคุณค่ายิ่งทางจิตวิญญาณ โดยเฉพาะเมื่อได้เห็นสภาพของมหาวิหารเก่าแก่โบราณมากกว่าหนึ่งพันปี ที่ยังคงรักษาสภาพไว้ได้อย่างสมบูรณ์ แม้ในยุควัตถุนิยมทางเทคโนโลยีมีอิทธิพลต่อจิตใจของมนุษยชาติอย่างยิ่งในปัจจุบันนี้

จึงอัศจรรย์ใจอย่างยิ่งต่อการบริหารประเทศ ที่สามารถอนุรักษ์สิ่งที่ควรอนุรักษ์ให้อยู่ร่วมควบคู่ไปกับการพัฒนา เพื่อการก้าวไปยังโลกในยุควัตถุนิยมเทคโนโลยี.. การเปลี่ยนแปลงเพื่อการก้าวหน้าไปร่วมกันอย่างไม่สุดโต่งไปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งของประเทศเกาหลีใต้ นับเป็นเรื่องที่น่าศึกษาอย่างยิ่ง อันควรเป็นแบบอย่างของประเทศต่างๆ ที่กำลังมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนไปทางวัตถุนิยม.. จนหลงลืมการอนุรักษ์ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมประเพณี.. คุณค่าความดีงามทางจิตใจในวิถีธรรมชาติ.. ในวิถีศาสนาที่มีความสำคัญต่อการหล่อหลอม ดูแล จิตวิญญาณของมนุษยชาติ.. ให้มีคุณธรรมความดี มีสรณะที่พึ่งทางจิตวิญญาณ.. เพื่อความมั่นคงในอุดมการณ์ของความเป็นสัตว์ประเสริฐที่ควรเชิดชูเหนืออื่นใด...

สภาพธรรมชาติที่ถูกอนุรักษ์.. วัฒนธรรมประเพณีและศาสนาที่ถูกรักษา เพื่อความสืบเนื่องอารยธรรมทางจิตวิญญาณ.. จึงเป็นเสน่ห์อย่างยิ่งของประเทศเกาหลีใต้ในยามนี้..

โดยเฉพาะเมื่อได้เข้าไปสู่แผ่นดินอารยธรรมมรดกโลก ที่ตั้งของวัดวาอารามทั้งหลาย ที่ยังคงอนุรักษ์โบราณสถานไว้อย่างดียิ่ง.. ไม่รกรุงรังด้วยสิ่งก่อสร้างหลากหลายรูปแบบ.. จนไม่รู้ว่าเป็นวัด.. หรือเป็นชุมชนบ้านเรือนของคนอย่างในหลายประเทศ..

วัดพุลกุกซา.. เป็นหลักฐานสำคัญยิ่งต่อการยืนยันว่า.. การอนุรักษ์ในธรรมชาติของสังคมสิ่งแวดล้อม เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องควบคู่ไปกับการพัฒนาของประเทศที่มุ่งไปทางอุตสาหกรรม.. เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลาย ดังที่กล่าวกันว่า ของเก่าก็ไม่ทิ้ง.. ของใหม่ก็สรรหา

วัดวาอารามในเกาหลีใต้.. จึงกลายเป็น “Temple Stay” ของชาวเกาหลีใต้ ซึ่งแม้จะต้องเสียเงินเข้าพัก.. เข้าคอร์สอบรมพัฒนาทางจิต.. เจริญสมาธิ ก็ยอมเสียค่าใช้จ่าย เพื่อการสร้างสรรค์คุณภาพชีวิต.. ให้สมบูรณ์พร้อมทั้งกายใจ เพื่อการก้าวไปตามกระแสโลกอย่างมีประสิทธิภาพ.. “การอนุรักษ์กับการพัฒนา” จึงเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการไปพร้อมๆ กัน เพื่อการสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นในชีวิต.. สังคม สิ่งแวดล้อมของมนุษยชาติ...

ความสวยงามของสถาปัตยกรรมที่ยังถูกรักษาไว้อย่างดียิ่ง เมื่อผสมผสานกับสภาพภูมิทัศน์ที่ถูกออกแบบไว้อย่างคงความเป็น “ปรัชญาเซน” จึงได้เห็นคุณค่าในความหมายแบบพุทธะที่ออกแบบให้ด้านหน้าวัดพุลกุกซา.. มีสระน้ำใหญ่แทนความหมายของ ปัญญา โดยมีสะพานหินทอดข้ามสู่ประตูเทพพิทักษ์ทั้ง ๔ ด้าน ท่ามกลางธรรมชาติที่ยังอุดมสมบูรณ์ของป่าเขาโตฮัมซาน (Mt. Tohamsan) ที่ห่างจากตัวเมืองเคียงจู (Gyeongju) โดยทางรถยนต์เพียง ๑๕-๒๐ นาที และด้วยความโดดเด่นของการอนุรักษ์ทางวัฒนธรรมของวัด จึงได้รับการขึ้นทะเบียนจาก UNESCO ให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมทางพุทธศาสนา ตรงตามความหมายของวัดพุลกุกซา ที่แปลว่า “วัดแห่งดินแดนของพุทธศาสนา”

อาตมาได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับเจ้าอาวาสวัดพุลกุกซา.. ที่มาต้อนรับด้วยตนเอง จึงได้เห็นถึงความใส่ใจที่จะปฏิบัติธรรมให้ยิ่งขึ้น.. โดยท่านได้แจ้งให้ทราบถึงความสนใจที่จะศึกษาปฏิบัติธรรมชั้นสูง.. ตามหลักวิปัสสนากรรมฐานในพุทธศาสนาเถรวาท .. ซึ่งที่ผ่านมาเป็นเพียงการทำสมาธิฌานตามแบบพุทธศาสนานิกายเซน...

ในวันนั้น จึงได้บรรยายโดยสรุปถึงการปฏิบัติธรรมในรูปแบบ สมาธิวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อต่อเนื่องกับการทำ สมาธิฌาน ที่เป็นพื้นฐานการปฏิบัติธรรมที่มีอยู่แล้วของคณะสงฆ์เกาหลีใต้ โดยท่านเจ้าอาวาสวัดพุลกุกซา.. แสดงความสนใจอย่างยิ่ง ด้วยการตั้งใจรับฟังอย่างใส่ใจตลอดเวลา จึงได้กล่าวกับท่านว่า.. ในโอกาสหน้า จะมาสอนการเจริญวิปัสสนาญาณ.. ให้กับหมู่คณะพระสงฆ์และศาสนิกชนที่นี่!!.

 

เจริญพร

[email protected]

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เลือกตั้งนายก อบจ. 47 จังหวัด บ้านใหญ่ รอเข้าวิน พท.กวาดเยอะ-พรรคส้ม เสี่ยงร่วง

ยิ่งใกล้ถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายก อบจ. พบว่าการหาเสียงของผู้สมัครนายก อบจ.ทั้งที่ลงในนามพรรคการเมือง และไม่ได้ลงในนามพรรค

ร้อยใจไทย สืบสานราชธรรม .. ณ จังหวัดนครปฐม!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ในวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๗ โครงการร้อยใจธรรม สืบสานราชธรรม ทั้งแผ่นดิน ถวายเป็นพระราชกุศลฯ ที่ดำเนินการโดย สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยและวัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย (ธ) ในพระราชูปถัมภ์ฯ จ.ลำพูน

ลึกสุดใจ. ”พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ผบ.ตร.” ยึดกฎกติกา ไม่กลัวทุกอิทธิพล

ถึงตอนนี้ "พลตํารวจเอก กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ หรือ บิ๊กต่าย ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ" ได้ทำหน้าที่ ผบ.ตร.อย่างเป็นทางการมาร่วมสามเดือนเศษ ส่วนการทำงานต่อจากนี้ ในฐานะ"บิ๊กสีกากี เบอร์หนึ่ง-รั้วปทุมวัน"จะเป็นอย่างไร?

2 สว. “ชาญวิศว์-พิสิษฐ์” ปักธงพิทักษ์รธน. ปกป้องสถาบันฯ พวกเราเป็นอิสระ ไม่มีรับใบสั่ง

กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการทำประชามติเพื่อนำไปสู่การให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูยเพื่อมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อไทย ที่ต้องการทำให้เสร็จก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น

ก้าวย่างออกจากปัญหา .. ของประเทศ!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา... คำกล่าวที่ว่า.. “เมื่อสังคมมนุษยชาติขาดศีลธรรม.. ย่อมพบภัยพิบัติ.. เสื่อมสูญสิ้นสลาย..” นับว่าเป็นสัจธรรมที่ควรน้อมนำมาพิจารณา.. เพื่อการตั้งอยู่ ดำรงอยู่ อย่างไม่ประมาท...

เหลียวหลังแลหน้า การเมืองไทย จาก 2567 สู่ 2568 ส่องจุดจบ ระบอบทักษิณภาค 2

รายการ"ไทยโพสต์ อิสรภาพแห่งความคิด"สัมภาษณ์ นักวิชาการ-นักการเมือง สองคน เพื่อมา"เหลียวหลังการเมืองไทยปี 2567 และแลไปข้างหน้า