ทศวรรษแห่งการสูงอายุอย่างมีสุขภาพแห่งสหประชาชาติ

ผู้เขียนได้รับการคัดเลือกจากองค์การอนามัยโลกให้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในที่ปรึกษาในกลุ่มที่ปรึกษาทางเทคนิคด้านการวัด การติดตามและการประเมินผล “ทศวรรษแห่งการสูงอายุอย่างมีสุขภาพขององค์การสหประชาชาติ (2021 – 2030) [WHO Technical Advisory Group (TAG) for Measurement, Monitoring and Evaluation of the UN Decade of Healthy Ageing (2021 -2030)]” และได้เข้าร่วมประชุม ณ สำนักงานใหญ่ WHO เมืองเจนีวา ระหว่างวันที่ 12 – 15 เมษายน 2566 มีประเด็นน่าสนใจสำหรับประเทศไทยมาเล่าสู่กันฟัง

  1. ความหมายของการสูงอายุอย่างมีสุขภาพ (Healthy ageing) WHO ในฐานะหน่วยงานหลักในการดำเนินการ ทศวรรษแห่งการสูงอายุอย่างมีสุขภาพของ UN ได้นิยาม Healthy ageing ว่าเป็น “กระบวนการของการพัฒนาและการคงไว้ซึ่งความสามารถในการทำงาน (Functional ability) ที่ทำให้เกิดความอยู่ดีมีสุขในการสูงอายุ” Functional ability หมายถึงศักยภาพของคนเพื่อตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐาน เพื่อการเรียนรู้ การเติบโต และการตัดสินใจ เพื่อการเปลี่ยนแปลง เพื่อการสร้างและคงความสัมพันธ์ และเพื่อการมีส่วนช่วยสังคม Functional ability มีความสัมพันธ์กับศักยภาพภายใน (Intrinsic capacity) และสิ่งแวดล้อม (Environment) ของบุคคล Intrinsic capacity หมายถึงศักยภาพทางกายและจิตใจของบุคคล เป็นผลกระทบจากโรคภัยไข้เจ็บ การบาดเจ็บ และการสูงอายุ Intrinsic capacity ประกอบไปด้วย ศักยภาพด้านการเคลื่อนไหว (Locomotor) ด้านจิตวิทยา (Psychological) ด้านประสาทสัมผัส (Sensory) ด้านการรับรู้ (Cognitive) และด้านความมีชีวิตชีวา (Vitality) โดยสรุป Functional ability, intrinsic capacity, และ aging-friendly environment จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการของ Healthy ageing
  2. ทศวรรษแห่งการสูงอายุอย่างมีสุขภาพ ประกอบไปด้วยแผนปฏิบัตการ 10 ปีในการทำให้ชีวิตของผู้สูงสูงอายุ  ครอบครัว และชุมชนของผู้สูงอายุดีขึ้น ใน 4 ด้าน ได้แก่ (1) การเปลี่ยนแปลงวิธีคิด ความรู้สึกและการปฏิบัติที่มีต่ออายุและการสูงอายุ (2) การให้ชุมชนมีบทบาทสูงขึ้นในการส่งเสริมความสามารถของผู้สูงอายุ  (3) การให้บริการการดูแลแบบบูรณาการและการรักษาพยาบาลขั้นปฐมภูมิโดยเน้นคนเป็นศูนย์กลาง และ (4) การเข้าถึงการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่มีความต้องการ

ในการบรรลุเป้าหมายตามแผนปฏิบัติการ WHO ได้มีการเตรียมการดำเนินการ โดยในปี 2020 ได้จัดทำรายงานพื้นฐานเริ่มต้นเกี่ยวกับการสูงอายุอย่างมีสุขภาพจากประสบการณ์ที่มีอยู่ในประเทศสมาชิกต่างๆ (Healthy Ageing Baseline, 2020 Learning from Practices in Countries) จากข้อมูลทางสังคมที่เกี่ยวกับสุขภาพของคนและรุ่นคนต่างๆ และข้อมูลเกี่ยวกับเส้นทางชีวิต (Life course approach) ของคนตั้งแต่อยู่ในครรภ์ วัยทารก วัยเด็ก วัยผู้ใหญ่ และวัยสูงอายุ ในเรื่องของอายุขัยที่คาดหวังว่าจะยืนยาวอย่างมีสุขภาพ (Healthy Life Expectancy) และสุขภาพเพื่อการพัฒนา (Health for development) เกี่ยวกัยศักยภาพ ความยืดหยุ่น และความสามารถทางกายภาพ

การรายงานความก้าวหน้าของทศวรรษแห่งการสูงอายุอย่างมีสุขภาพ WHO ได้แบ่งงานออกเป็น 3 ระยะ ในปี 2023, 2026 และ 2029 โดยมี Departments of Maternal, Newborn, Child, Adolescent Health and Ageing (WHO MNCAH) เป็นหน่วยงานหลักและร่วมมือกับหน่วยงานอื่นใน WHO Headquarters และหน่วยงานระดับภูมิภาค โดยมีการตั้งคณะทำงานเตรียมการรายงานความก้าวหน้าไว้หลายคณะเพื่อศึกษาเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ได้แก่ เส้นทางชีวิตและการสูงอายุอย่างมีสุขภาพ คุณภาพในการจัดการการดูแลตามขั้นตอนของชีวิต โภชนาการและการสูงอายุ สุขภาพสมองและการสูงอายุ ความสัมพันธ์ทางสังคมและการเหยียดผู้สูงอายุ สุขภาพกระดูกและการสูงอายุ โดยใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์ (Evidence-base data) ซึ่งข้อมูลดังกล่าวได้มาจากตัวชี้วัดที่พัฒนาขึ้นมาโดยผู้เชี่ยวชาญจาก WHO Regional Advisors for Healthy Ageing และ the UN steering committee for Measurement,  Monitoring and Evaluation of the UN Decade of Healthy Ageing (2021 – 2030) ซึ่งประกอบไปด้วยตัวแทนจากหน่วยงานอื่นๆ ได้แก่ UNFPA, UNDESA, ILO, ITU, OHCHR และผู้แทนจาก OECD

  • WHO Technical Advisory Group (TAG) for Measurement, Monitoring and Evaluation of the UN Decade of Healthy Ageing (2021 -2030) เป็นกลไกสำคัญในการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการสร้างตัวชี้วัดตามองค์ประกอบทั้งสามของ Healthy Ageing ที่พัฒนาขึ้นจากผู้เชี่ยวชาญข้างต้น กลุ่มที่ปรึกษา WHO-TAG ประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านการสูงอายุ จาก 14 ประเทศที่ได้รับการคัดเลือกและแต่งตั้งจาก WHO MNCAH ปัจจุบัน กลุ่มที่ปรึกษาได้กำหนดตัวชี้วัดเหลือจำนวน 20 ตัวชี้วัด ที่เกี่ยวข้องกับ (1) การเหยียดอายุ (Agism indicators) ซึ่งเป็นชุดตัวชี้วัดที่จะชี้ให้เห็นถึงการลดลงของสัดส่วนผู้สูงอายุมีประสพการณ์เกี่ยวกับอคติ และการเลือกปฏิบัติต่ออายุภายในปีเป้าหมาย 2030 (2) ชุมชนและเมืองที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ ชุดตัวชี้วัดที่จะแสดงให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนของผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในเมือง ในชนบทที่มีความเป็นมิตรต่อการสูงอายุภายในปี 2030 (3) ความครอบคลุมของการบริการดูแลสุขภาพแบบบูรณาการและดูแลทางด้านสังคม เป็นชุดตัวชี้วัดที่เป็นส่วนหนึ่งของการดูแลสุขภาพแบบถ้วนหน้า (Universal health care) ที่จะทำให้ Intrinsic capacity and functional ability ได้ดีที่สุด และ (4) ความครอบคลุมของการบริการดูแลระยะยาว เป็นชุดตัวชี้วัดที่ชี้ให้เห็นถึงการบริการที่เป็นอีกส่วนหนึ่งของการดูแลสุขภาพถ้วนหน้า ที่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้สูงอายุและผู้ดูแลในการดูแลด้านสุขภาพและด้านสังคม

WHO-TAG ได้ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับผลการศึกษาของคณะทำงานของ WHO ที่เกี่ยวข้องกับตัวชี้วัดที่มีคุณสมบัติทางจิตวิทยา (Psychometric properties) ใน 10 เรื่อง ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่สำหรับการนำมาเป็นเครื่องมือในการวัดการสูงอายุอย่างมีสุขภาพ

ตัวชี้วัด (ในองค์ประกอบ) ของ Healthy Ageing
ความสามารถในการตอบสนองความจำเป็นขั้นพิ้นฐานในผู้สูงอายุ (Functional ability)
ความสามารถในการเรียนรู้ การเติบโต และการตัดสินใจในผู้สูงอายุ (Functional ability)
ศักยภาพทางด้านประสาทสัมผัส เพื่อตรวจสอบความบกพร่องทางสายตาและการได้ยินในผู้สูงอายุ (Intrinsic Capacity)
ความสามารถในการสร้างและคงความสัมพันธ์ทางสังคมในผู้สูงอายุ (Functional ability)
ความสามารถในการมีส่วนร่วมในผู้สูงอายุ (Functional ability)
ศักยภาพในการเคลื่อนไหวในผู้สูงอายุ (Intrinsic Capacity)    
ความเหนื่อยล้า เพื่อวัดศักยภาพความมีชีวิตชีวาในผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในชุมชน (Vitality Capacity)
ศักยภาพทางจิต เพื่อวัดศักยภาพทางจิตของผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป (Intrinsic Capacity)
ศักยภาพในการรับรู้ เพื่อใช้วัดผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในชุมชน (Intrinsic Capacity)
ความสามารถในการเคลื่อนย้าย เพื่อวัดการเคลื่อนย้ายของผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในชุมชน (Functional ability)
  • สำหรับประเทศไทย การรวบรวมข้อมูลตามตัวชี้วัด Healthy Ageing จะเป็นการสำรวจเพื่อวิเคราะห์ประเมินผลที่ต้องมีความต่อเนื่องเพื่อเห็นการเปลี่ยนแปลงตามเป้าหมายของ ทศวรรษแห่งการสูงอายุอย่างมีสุขภาพและเป็นไปในแบบเส้นทางชีวิต คือ การเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของ Healthy Ageing ในแต่ละช่วงอายุ ซึ่งการสำรวจแบบ Longitudinal panel survey จะเป็นเครื่องมือสำคัญ

ดารารัตน์ อานันทนะสุวงศ์

ศูนย์วิจัยสังคมสูงอายุ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

เมษายน 2566

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ครอบครัว “อบอุ่น ลูกหลานกตัญญู”: ความท้าท้ายในสังคมสูงอายุ

ปัจจุบัน ข่าวในสื่อสารมวลชนได้นำเสนอเกี่ยวกับปัญหาความรุนแรง ความแตกแยกในครอบครัวไทย มีมากขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงภาพหนึ่งของความเป็นปึกแผ่นหรือความอบอุ่นของครอบครัวไทยที่มีสายใยความสัมพันธ์ของสมาชิกในหลายรุ่นวัย ตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย ลุงป้าน้าอา พ่อแม่ ลูก ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในการเข้าสู่สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society) สายใยความสัมพันธ์และการเกื้อกูลกันในระหว่างรุ่นคนในครอบครัวที่เป็นอยู่ปกติในทางพฤติกรรม ได้มีการเปลี่ยนแปลงจากครอบครัว “อบอุ่น ลูกหลานตัญญู” หรือไม่อย่างไร

ฐานข้อมูลการสูงอายุในสังคมสูงอายุสำคัญไฉน? (1)

ประเทศไทยได้เปลี่ยนผ่านจาก “สังคมวัยเยาว์” เข้าสู่ “สังคมสูงอายุ” เมื่อประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา และในปี 2565 ได้กลายเป็น “สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์” ที่สัดส่วนผู้สูงอายุ (อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป) ในประชากรคนไทย 100 คน จะมีผู้สูงอายุ 20 คน และคาดว่า ในอีกประมาณ 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะกลายเป็น “สังคมสูงอายุระดับสุดยอด”