สังคมไทยหลังเลือกตั้ง ความหวังลดความเหลื่อมล้ำระบบสาธารณสุข

สงกรานต์และวันปีใหม่ไทยผ่านมาอีกครั้ง พร้อมกับความหวังใหม่ ๆ ที่มากับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเดือนพฤษภาคมนี้ ดิฉันได้ยินนโยบายมากมายของพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่ออกมาช่วงหลายเดือนนี้ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วดิฉันคิดว่าสิ่งที่ประชาชนต้องการอาจไม่ได้มีความซับซ้อนอะไรมากไปกว่า ความต้องการที่ว่ายามเมื่อเขาเดือดร้อน ภาครัฐเป็นที่พึ่งให้เขาได้แค่ไหน สวัสดิการของรัฐได้ช่วยให้เขาพ้นวิกฤตของชีวิตได้เพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเขาเป็นประชาชนส่วนน้อยที่เสียภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วยให้กับประเทศนี้

ก่อนสงกรานต์ปีนี้มีเหตุการณ์หลายอย่างเกิดขึ้นกับดิฉันและครอบครัว และในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่ไม่ได้ขาดแคลนอะไร มีงาน มีเงินเดือน มีบ้าน มีรถ แต่ถึงอย่างนั้นดิฉันก็ตระหนักได้ถึงความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่มีเหมือนกันไม่ว่าจะเป็นคนจน คนรวย หรือคนชั้นกลาง นั่นคือความต้องการที่จะมีที่พึ่งพาในยามทุกข์ร้อนและเจ็บป่วย

เมื่อเร็ว ๆ นี้ที่บ้านของดิฉันมีคนป่วยที่ต้องการการรักษาเร่งด่วน ดิฉันได้ไปใช้บริการโรงพยาบาลของรัฐแห่งหนึ่งในกรณีฉุกเฉิน แต่กลับได้พบกับความทุกข์ใจมากมาย ทั้งพยาบาลและผู้ช่วยพยาบาลแผนกฉุกเฉินใช้เวลานานมากกว่าจะเรียกหมอให้ และไม่มีการให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น จากสองทุ่มที่เข้าไปแผนกฉุกเฉินกว่าจะออกจากโรงพยาบาลหลังเที่ยงคืน ถ้าเป็นอะไรมากกว่านี้ ดิฉันบอกได้คำเดียวว่าคงไม่รอด หลังจากเหตุการณ์ฉุกเฉินในวันนั้น ดิฉันก็มีความพยายาม (อีกครั้ง) ที่จะพาคนในครอบครัวไปรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐแห่งนี้ด้วยโรคที่ต้องการการรักษาเร่งด่วน เพราะเชื่อในฝีมือแพทย์และเครื่องมือของโรงพยาบาล

แม้จะทำใจไว้แล้วและไม่ได้มีความคาดหวังจะที่ได้รับบริการที่ดี แต่การไปโรงพยาบาลรัฐในครั้งนี้ก็นำมาซึ่งความผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำอีก หลังจากผ่านไปสามสัปดาห์กับโรคที่เร่งด่วนกว่าจะได้พบหมอที่จำเป็นต้องพบ หมอกลับไม่ได้มีความใส่ใจที่จะตรวจคนไข้อย่างละเอียดทั้งที่คนไข้ต้องการการดูแลใกล้ชิด หมอเหลือบดูเพียงผลตรวจบางส่วน และเพียงเตือนว่าไม่ควรรอนานเพื่อที่จะผ่าตัด เมื่อถามว่าจะได้คิวผ่าตัดเมื่อไหร่ หมอบอกว่าตอบไม่ได้ ให้ไปนัดกับพยาบาลและลูกศิษย์หมอ พยาบาลให้คิวตรวจสุขภาพกับลูกศิษย์หมออีก 1 เดือนข้างหน้า และให้คิวเอ๊กเรย์อีกเกือบ 2 เดือนข้างหน้า โดยยังไม่มีใครบอกได้ว่าคนไข้จะได้รับการรักษาเมื่อไหร่ ไม่มีใครสนใจว่าโรคจะลุกลามแค่ไหน ทุกอย่างเป็นไปตามคิวที่ไม่เร่งรีบของพยาบาลและลูกศิษย์หมอ (ไม่ใช่หมอที่ดูแลเรา)

ณ จุดนั้น ดิฉันมีความรู้สึกว่าชีวิตของคน ๆ หนึ่งไม่ได้มีความหมายสำหรับหมอที่โรงพยาบาลรัฐแห่งนั้น แม้จะเป็นโรงพยาบาลที่ดีและมีเครื่องมือที่ดี แต่ทุกอย่างคงจะสายเกินไปเพราะหมอไม่ได้มี “ใจ” ในการรักษาคนไข้ให้หาย ทุกอย่างขาดแคลนไปเสียหมด ไม่ว่าจะเป็นเวลาของหมอ เวลาของพยาบาล หรือจำนวนเครื่องมือทางการแพทย์สำหรับเคสเร่งด่วน

เนื่องจากดิฉันไม่ได้มี “เส้น” ในโรงพยาบาลรัฐที่จะขอความช่วยเหลือหรือรู้จักใครเป็นพิเศษ ดิฉันจึงตัดสินใจล้มเลิกความพยายามที่จะรักษาที่โรงพยาบาลรัฐและพาคนไข้ไปรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนอีกแห่งหนึ่ง…ทันที

ความคิดเปลี่ยน ชีวิตเปลี่ยน ดิฉันโทรศัพท์จากในรถเพื่อนัดหมอ (โทรไปขับไปเพราะทนไม่ไหวและขับไปโรงพยาบาลเอกชนเลย) ดิฉันรอเพียง 1 ชั่วโมงเพราะเป็นคิวแทรก เมื่อพบหมอๆ ฟังเราอย่างตั้งใจ ดูผลที่ได้จากโรงพยาบาลรัฐ  ตรวจเพิ่มอย่างถี่ถ้วน และอธิบายการวินิจฉัยจนเข้าใจ หลังจากนั้นก็เรียกพยาบาลให้จัดคิวเอ๊กซเรย์ภายในวันนั้น (เทียบกับโรงพยาบาลรัฐที่ต้องรอเกือบสองเดือน!) และกลับมาอธิบายผลให้ฟังอีกรอบในช่วงเย็น และนัดผ่าตัดคนไข้หลังจากนั้นเพียง 1 สัปดาห์

ในวันผ่าตัด โรงพยาบาลเอกชนใช้เวลาในการให้คนไข้พบหมอ 4 คน ตรวจเลือด ตรวจเอ๊กซเรย์และเตรียมร่างกายทั้งหมดภายใน 6 ชั่วโมงและผ่าตัดได้เลยภายในเย็นวันนั้น ใช้เวลาผ่าตัดตามที่แจ้งไว้ หมอโทรมาหาเองหลังผ่าตัด (ไม่ต้องตาม) และอธิบายจนเข้าใจ คนไข้ไม่เจ็บแผล มีหมอทุกด้านตามแต่ต้องการ คนไข้ไม่ถูกทอดทิ้ง ไม่พอใจบ่นได้และมีความพยายามจะรักษาให้ดีที่สุด

ดิฉันรู้สึกขอบคุณที่ดิฉันและครอบครัวเป็นหนึ่งในประชาชนส่วนน้อยที่ยังโชคดี ที่แม้ว่าครอบครัวของดิฉันจะเป็นเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ของคนทำงานที่เสียภาษีให้รัฐและไม่เคยได้รับรัฐสวัสดิการในยามฉุกเฉินเลยแม้แต่ครั้งเดียว แต่ดิฉันและครอบครัวก็ยังสามารถเข้าถึงการรักษาที่ดีได้และมีทางเลือก……แต่ประชาชนคนไทยตาดำ ๆ เป็นสิบ ๆ ล้านๆ คนในประเทศนี้ล่ะ พวกเขาไม่มีสิทธิ์นี้ ในยามเจ็บป่วยร้ายแรง ถ้าไม่เลือกที่จะรอจนตาย ก็คงต้องตายทั้งเป็นเพราะไม่มีเงินจ่ายค่ารักษาที่แพงแสนแพงของโรงพยาบาลเอกชน 

เลือกตั้งคราวนี้ ในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่ง ดิฉันอยากจะบอกแทนครอบครัวและประชาชนที่มีโอกาสน้อยกว่าดิฉันว่า สิ่งที่ประชาชนต้องการมีไม่มาก เราเพียงต้องการสิ่งพื้นฐานในชีวิต มีที่อยู่ มีสวัสดิการให้ลูกของเราไปโรงเรียน มีเงินอุดหนุนให้ลูกและพ่อแม่ยามชรา มีโรงพยาบาลที่เข้าถึงได้และรักษาเราได้ในยามเจ็บป่วยอย่างทันท่วงที และที่สำคัญอย่าลืมคนชั้นกลางที่เขาเสียภาษีให้รัฐบาลเต็มเม็ดเต็มหน่วย (80% ของภาษีเงินได้มาจากมนุษย์เงินเดือน) ซึ่งนอกจากจะเสียภาษีรายได้แล้ว หากมีที่ดินก็ยังต้องเสียภาษีที่ดินอีกมากทั้งที่ไม่ได้มีรายได้จากที่ดินนั้นเลย โปรดอย่าลืมคนชั้นกลางที่แบกรับภาระของประเทศนี้ไว้ และในยามฉุกเฉินของชีวิตก็ต้องใช้เงินออมเกือบทั้งหมดมารักษาตนเอง เพราะระบบสาธารณสุขที่มีอยู่ไม่เอื้อที่จะช่วยเขาได้ทันท่วงที

แม้ระบบสาธารณสุขของไทยจะพัฒนาขึ้นมาก แต่ยังมีความเหลื่อมล้ำมากมายซึ่งควรได้รับการแก้ไข เช่น การเพิ่มบุคลากรโรงพยาบาลรัฐเพื่อลดภาระหนักในการบริการประชาชน เพิ่มคุณภาพการให้บริการและลดความเหนื่อยล้าอันส่งผลต่อคุณภาพบริการที่ล่าช้า ในส่วนของราคาค่ารักษาพยาบาล รัฐควรเข้ามาควบคุมไม่ใช่ปล่อยให้ธุรกิจทางการแพทย์เปิดเสรี ขาดการควบคุมราคาโดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชน รวมถึงการส่งเสริมให้โรงพยาบาลเอกชนเข้ามาอยู่ในระบบประกันสุขภาพ เป็นต้น

เราจะต้องไม่ลืมว่าประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำสูงมากเป็นลำดับต้น ๆ ในภูมิภาคนี้อยู่แล้ว  ดิฉันจึงหวังว่ารัฐบาลใหม่ที่ได้รับเลือกตั้ง จะเข้ามาช่วยในจุดนี้ โดยเริ่มจากก้าวเล็ก ๆ แต่สำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำขั้นพื้นฐานของชีวิตอย่างความเหลื่อมล้ำด้านระบบสาธารณสุข ดิฉันเชื่อว่าก้าวเล็ก ๆ ที่ยิ่งใหญ่นี้ จะนำไปสู่การค่อย ๆ ลดความเหลื่อมล้ำในด้านอื่น ๆ ของสังคมไทยต่อไปในอนาคต

ดร. เทียนทิพ สุพานิช
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ก้าวไกลเพ้อชนะยุบพรรค!

ใจดีสู้เสือ! "ชัยธวัช" เชื่อ "ก้าวไกล" มีโอกาสชนะสูง อ้างยิ่งศาล รธน.ปิดไต่สวน "คดียุบพรรค" ก็ยิ่งมั่นใจในคำแถลงปิดคดี ปลุกกองเชียร์ 7 ส.ค.

'ก้าวไกล' มองคดียุบพรรคไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ตอนนี้เตรียมพร้อมเป็นรัฐบาล เลือกตั้งครั้งหน้า

นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล, นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อและประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวเปิด 3 วิสัยทัศน์พัฒนาเชียงใหม่ พร้อมกับเปิดตัว นายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ว่

เหนื่อยแน่! เพื่อไทย รับต้องปรับยุทธศาสตร์ หลังผลโพลตามหลังก้าวไกล

นายสรวงศ์ เทียนทอง สส.สระแก้ว และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงผลนิด้าโพลเปิดผลโพลในไตรมาส 2 ที่ ปรากฏว่านายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) และ พรรค

‘พิธา’ แสลงหู ‘สว.สีส้ม’ ขออย่าป้ายสีเติมนามสกุลให้ใคร

‘พิธา’ ขออย่าป้ายสีเติมนามสกุลให้ใคร หลังเลือก สว. ผุดคำว่า ‘สว.สีส้ม’ เชื่อส้มในที่นี้คือ ‘จุดยืนประชาธิปไตย’ ย้ำหลักกฎหมายพรรคการเมืองเอี่ยวไม่ได้ มองจะได้สภาสูงที่มีคุณภาพ แม้ไม่ใช่เลือกตั้งทางตรง

'ก้อง ปิยะ-หมอก้อง' นำทีมดาราจิตกุศล-แพทย์-พยาบาล บริการสาธารณสุขผู้ห่างไกล

โครงการ "ตั้งใจทำ" นำโดย ก้อง-ปิยะ เศวตพิกุล, พันโท สรวิชญ์ สุบุญ (หมอก้อง), ชาตรี อุดมวิทย์ ที่ปรึกษาฝ่ายบริหารกลุ่มบริษัท พอนด์เคมิคอล จำกัด(Masa Lab) ร่วมด้วยทีม แพทย์-พยาบาล-เภสัชกร บุคลากรทางการแพทย์ ดารานักแสดงจิตกุศล