พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามกับยุทธการสุมเตาเผาคอร์รัปชัน

ท่ามกลางอากาศอันร้อนระอุของเดือนเมษายนที่คืบคลานเข้ามาพร้อมกับมลพิษทางอากาศเนื่องจากฝุ่น PM 2.5 ดูเหมือนว่าอุณหภูมิและบรรยากาศในเมืองไทยจะร้อนแรงมากขึ้นภายหลังจากการประกาศยุบสภาในช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา  ประชาชนชาวไทยที่ห่างหายจากการเลือกตั้งมาเป็นเวลา 4 ปี จะได้มีโอกาสกลับมาลงคะแนนเสียงอีกครั้งด้วยความหวังว่าพรรคการเมืองที่ตนสนับสนุนจะได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลท่ามกลางความซับซ้อนของฉากหลังทางการเมืองและเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ 2560  น่าสังเกตว่า การหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้นโยบายแนวประชานิยมโดยเฉพาะการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและกระเป๋าสตางค์ของชาวบ้านทั้งทางตรงและทางอ้อมได้กลายเป็นธงนำเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบและคะแนนนิยมจากประชาชนภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19  ในทางตรงข้าม นโยบายด้านการปราบปรามทุจริตคอรัปชั่นดูเหมือนจะกลายเป็นเพียงตัวประกอบประดับฉากที่พรรคการเมืองหลายพรรคแทบมิได้หยิบยกมาเป็นประเด็นสำคัญในการหาเสียง  

 ประเด็นดังกล่าวอาจสอดคล้องกับบริบทของความเป็นจริงเมื่อพบว่าคะแนนการปลอดคอรัปชั่นของไทยในปี 2564 ดำดิ่งลงต่ำสุดในรอบ 4 ปี ซึ่งสวนทางกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่เริ่มต้นโดยรัฐบาลชุดก่อนในปี 2561  ยิ่งถ้านำข้อมูลของ Transparency International เกี่ยวกับการคอรัปชั่นของไทยไปเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะพบว่า ในปี 2565 ไทยอยู่ในอันดับที่ 4 ตามหลัง สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม  เป็นที่น่าสังเกตว่า เวียดนามซึ่งปกครองโดยระบอบคอมมิวนิสต์ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามเพียงพรรคเดียวที่อาจส่งผลต่อการถูกตั้งคำถามถึงภาวะเผด็จการรัฐสภากลับแซงหน้าไทยขึ้นไปอยู่ในลำดับที่ 77 โดยมีดัชนีการรับรู้ทุจริต 42 คะแนน ในขณะที่ไทยตกลงไปอยู่ในลำดับที่ 101/108 โดยมีดัชนีการรับรู้ทุจริตเพียง 36 คะแนนเท่านั้น

นอกจากนั้น หากมองย้อนกลับไปในช่วงกึ่งทศวรรษที่ผ่านมาจะพบว่าค่าดัชนีการรับรู้ทุจริตหรือ Corruption Perception Index (CPI) ของเวียดนามได้แซงหน้าประเทศไทยไปตั้งแต่ปี ค.ศ. 2019 ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา  คำถามสำคัญก็คือ ในช่วงเวลา 4 ปีที่ผ่านมานั้น เวียดนามสามารถยกระดับและแซงหน้าประเทศไทยด้านการรับรู้ทุจริตได้อย่างไร  ทั้งนี้ ค่าคะแนน CPI เป็นการสะท้อนภาพลักษณ์การทุจริตของประเทศต่างๆ และเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่นักลงทุนใช้ประเมินความน่าสนใจในการลงทุน โดยมองว่าการทุจริตเป็นหนึ่งในปัจจัยที่เป็นต้นทุนหรือเป็นความเสี่ยงในการประกอบธรุกิจในแต่ละประเทศ  ดังนั้น ประเทศที่มีค่า CPI สูงกว่าย่อมดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติที่คำนึงถึงปัจจัยทางด้านการปลอดคอรัปชั่นได้มากกว่า  

ภายหลังการประกาศนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจโด่ยเหมยในปี 1986 การทุจริตคอรัปชั่นได้กลายเป็นปัญหาสำคัญของเวียดนามท่ามกลางกระแสการเปิดประเทศและการกระโจนเข้าสู่รูปแบบเศรษฐกิจแบบการตลาด  ภายหลังการปฏิรูปกว่าสองทศวรรษ ในปี 2010 เวียดนามยังคงถูกจัดให้อยู่ในลำดับที่ 112/182 ประเทศด้านความโปร่งใส  ปัญหาทุจริตยังเป็นปัญหาหลักของชาติ  ในปี 2011 นายเหงียนฝูจ่องได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามวาระแรก  เขาเป็นหนึ่งในผู้ที่ชูนโยบายการต่อต้านทุจริตคอรัปชั่นอย่างเข้มข้น  เมื่อมองย้อนกับไปที่ภูมิหลังและตัวตนของเขาจะพบว่า เหงียนฝูจ่องจบการศึกษาระดับปริญญาเอกสาขาการพัฒนาพรรคฯ เป็นผู้นำพรรคฯ ที่มีภาพลักษณ์ของนักวิชาการที่ยึดมั่นในแนวคิดมาร์กซิสต์อย่างเข้มข้น  นอกจากนั้นยังมีจุดยืนในการจัดการกับสมาชิกพรรคฯ ที่มีแนวโน้มว่าจะสูญเสียคุณลักษณะสำคัญตามหลักการมาร์กซิส-เลนินนิสอย่างเด็ดขาด  

นักวิเคราะห์ตะวันตกมองว่า นับตั้งแต่การประกาศนโยบายการปฏิรูปเศรษฐกิจโด่ยเหมยเมื่อเกือบ 40 ปีที่ผ่านมานั้น ดูเหมือนว่าอำนาจของรัฐบาลซึ่งเป็นฝ่ายบริหารเศรษฐกิจจะเพิ่มมากขึ้นในขณะที่อำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์ที่มีบทบาทสำคัญทางด้านแนวคิด นโยบาย และการกำหนดทิศทางของชาติจะสวนทางไปในทิศทางตรงกันข้าม  ดังนั้น สิ่งที่จะต้องทำอันดับแรกคือการกระชับอำนาจและสร้างกลไกลในการปราบปรามทุจริตคอรัปชั่นโดยมีพรรคคอมมิวนิสต์เป็นแกนกลางเพื่อควบคุมฝ่ายบริหารและการเมืองทุกระดับ  ในปี 2013 คณะกรมการเมืองฯ ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกพรรคฯ ระดับสูงได้มีมติจัดตั้ง ‘คณะกรรมการกลางเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและต่อต้านการทุจริตประพฤติมิชอบ’ โดยมีเลขาธิการใหญ่แห่งพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการฯ  เมื่อก้าวเข้าสู่วาระที่ 2 ในตำแหน่งเลขาธิการใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามในปี 2015 เหงียนฝูจ่องได้ประกาศแคมเปญ ‘เตาเผา’ (đốt lò) เพื่อกวาดล้างการทุจริตคอรัปชั่นที่กลายเป็นปัญหารื้อรังของชาติมากว่า 3 ทศวรรษ

ในฐานะประธานคณะกรรมการกลางเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและต่อต้านการทุจริตประพฤติมิชอบ เหงียนฝูจ่อง มักจะมีวาทะเด็จที่กล่าวถึงการทุจริตคอรัปชั่นอยู่เสมอ  ในที่ประชุมเพื่อพบปะประชาชนเมื่อเดือนธันวาคม 2013 เขากล่าวว่า “แม้กระทั่งพระถังซัมจั๋งผู้เดินทางไปอินเดียเพื่ออัญเชิญพระไตรปิฎกยังต้องทำการติดสินบน  เมื่อก้าวเท้าสู่ดินแดนแห่งพระพุทธศาสนาก็ยังต้องติดสินบน 

ดังนั้นพวกเราต้องตั้งอยู่บนฐานของการตั้งมั่นเพื่อพิจารณา มีสติ ใสสะอาด”  ในการพบปะประชาชนในเดือนตุลาคม 2014 เหงียนฝูจ่องกล่าวว่า “ต้องตั้งอยู่ในความสงบ มีสติ อาศัยสติปัญญา ใช้วิสัยทัศน์เชิงยุทธศาสตร์ ลุงโฮได้สั่งสอนไว้แล้ว บรรพชนของพวกเราได้สั่งสอนไว้แล้วว่าถ้าจะไล่หนูก็จงระวังแจกันแตก ทำอย่างไรที่จะขับไล่หนูโดยแจกันไม่ตกแตก หมายถึงจะต้องรักษาเสถียรภาพไปพร้อมกับการปราบทุจริต”  วาทะของเขาเผยให้เห็นว่านับวันความเข้มข้นของการปราบปรามคอรัปชั่นจะเพิ่มมากขึ้น  ในเดือนกรกฎาคม 2017 เขาเน้นย้ำถึงความเข้มข้นของแคมเปญ ‘เตาเผา’ ว่า “เมื่อเตาเผาร้อนได้ที่แล้ว แม้ฟืนสดก็ต้องมอดไหม้ ฟื้นแห้งขนาดพอเหมาะอาจไหม้ก่อน และเมื่อไฟร้อนทั่วเตาเผาแล้ว องค์กรที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนย่อมลงสู่สนาม จะไม่มีใครอยู่ภายนอก (การปราบคอรัปชั่น) อีกต่อไป”

ในช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา (2012-2022) การปราบปรามทุจริตคอรัปชั่นในเวียดนามส่งผลให้สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามจำนวน 7,390 คนถูกลงโทษทางวินัย มีคดีความที่เกี่ยวกับการคอรัปชั่นจำนวน 2,439  คดีทุจริตที่ได้รับการพิจารณาในศาลชั้นต้นมีผู้ถูกกล่าวหาจำนวน 5,647 คน  ผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกดำเนินคดีในศาลชั้นต้นจำนวน 37 คนคืออดีตข้าราชการที่ปฏิบัติหน้าที่ในส่วนกลาง  คดีทุจริตที่อยู่ในระหว่างการเริ่มดำเนินคดีและการสืบสวนจำนวน 3,628 คดี  หน่วยงานบังคับคดีทางแพ่งในระดับต่างๆ สามารถเรียกคืนทรัพย์สินเป็นมูลค่า 61,000 พันล้านด่งเวียดนาม  คณะกรรมการกลางเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและต่อต้านการทุจริตประพฤติมิชอบดำเนินการชี้นำและอำนวยการเพื่อเรียกคืนทรัพย์สินคิดเป็นมูลค่า 50,000 พันล้านด่งเวียดนาม  กรณีที่น่าสนใจเช่น การจับกุมและดำเนินคดีกับนายดิงลาทัง อดีตกรรมการประจำกรมการเมือง รมต.กระทรวงคมนามคม เลขาธิการพรรคฯ ประจำนครโฮจิมินห์ ฯลฯ ในข้อหาจงใจละเมิดข้อกำหนดของรัฐบาลเกี่ยวกับการบริหารจัดการทางด้านเศรษฐกิจที่ส่งผลเสียหายอย่างร้ายแรง

 การดำเนินการปราบปรามทุจริตคอรัปชั่นที่นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามภายใต้การนำของนายเหงียนฝูจ่อง นอกจากจะส่งผลให้ดัชนีการรับรู้ทุจริต หรือ Corruption Perception Index (CPI) เพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญแล้วยังส่งผลให้เวียดนามกลายเป็นหนึ่งในหมุดหมายและโฟกัสของผู้ที่สนใจเกี่ยวกับความเป็นไปและการเมืองของประเทศที่ปกครองโดยระบอบคอมมิวนิสต์และมีภูมิรัฐศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับไทยอย่างหลีกเลี่ยงมิได้  ข้อสังเกตที่น่าสนใจที่อาจต้องติดตามต่อไปก็คือพรรคฯ จะดำเนินการอย่างไรต่อกรณีการลาออกของคณะผู้บริหารระดับสูงซึ่งค่อนข้างเป็นที่นิยมของประชาชนในช่วงเวลาที่ผ่านมา  นอกจากนั้น ภายหลังจากการลงสู่อำนาจของนายเหงียนฝูจ่อง ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างองค์กรการเมืองต่างๆ ซึ่งมีความจำเป็นต่อการสร้างความสมดุลทางอำนาจภายใต้การปกครองแบบพรรคเดียวจะมีลักษณะอย่างไร  โปรดติดตามต่อไป

ดร.สุริยา คำหว่าน อาจารย์สาขามานุษยวิทยาวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม โทร 0857446724 email [email protected]

คอลัมน์ เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อุตุฯ อัปเดตเส้นทางพายุโซนร้อน 2 ลูก 'จ่ามี-กองเร็ย'

กรมอุตุนิยมวิทยา อัปเดตสถานการณ์พายุเวลา 04.00 น. (28/10/67) : พายุโซนร้อน "จ่ามี (TRAMI)" มีศูนย์กลางใกล้ชายฝั่งทางด้านตอนกลางของประเทศเวียดนาม

กรมอุตุฯ เปิดศูนย์ฯติดตามพายุ ’จ่ามี’ คาดขึ้นเวียดนามไม่เข้าไทย แค่มีฝนตกเพิ่มขึ้น

พายุโซนร้อนกำลังแรง 'จ่ามี' จะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลางในวันนี้ โดยพายุนี้จะไม่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย แต่จะทำให้มีลมฝ่ายตะวันตกและลมตะวันตกเฉียงใต้

นักเตะไทยอยู่สายA ร่วมเวียดนาม-มาเลย์-ติมอร์-บรูไน ฟุตซอลแชมป์อาเซียน2024

เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2567 เวลา 15.00 น. ณ โรงแรมสีมาธานี จังหวัดนครราชสีมา สหพันธ์ฟุตบอล อาเซียน หรือเอเอฟเอฟ จัดพิธีจับสลากแบ่งสายการแข่งขัน ASEAN Futsal Championship 2024 หรือ ฟุตซอลชิงแชมป์อาเซียน ประจำปี 2024

กอล์ฟสมัครเล่นหญิงภูมิภาค 'วีเมนส์ อเมเจอร์ เอเชีย-แปซิฟิก' ดวลที่เวียดนามปีหน้า

อาร์แอนด์เอ หรือองค์กรกำกับดูแลกอล์ฟระหว่างประเทศ ร่วมกับสมาพันธ์กอล์ฟเอเชีย-แปซิฟิก (เอพีจีซี) ประกาศเลือกสนามฮอยอันนา ชอร์ กอล์ฟ คลับ ในเมืองฮอยอัน ประเทศเวียดนาม เป็นสนามแข่งขันกอล์ฟสมัครเล่นหญิงรายการใหญ่ของภูมิภาคศึก “วีเมนส์ อเมเจอร์ เอเชีย-แปซิฟิก” หรือดับเบิ้ลยูเอเอพี ครั้งที่ 7 ระหว่างวันที่ 6-9 มีนาคมศกหน้า

ส.อ.ท. ภาคตะวันออกค้านขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำ 400 บาท

ชี้แรงงานต่างด้าวได้ประโยชน์ แต่ไทยเกิน 400 บาทแล้ว ขณะผลลบทำให้ไทยสู้ต่างชาติอย่างเวียตนามไม่ได้ เหตุค่าแรงต่ำกว่า,เอฟทีเอมากกว่า วัยทำงานมากกว่า