"พรรคพลังประชารัฐ"ที่จับได้เบอร์เลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ คือ เบอร์ 37 พบว่า เป็นอีกหนึ่งพรรคการเมืองที่เดินหน้าหาเสียงอย่างหนักทั่วประเทศ เพื่อนำเสนอนโยบายของพรรคในด้านต่างๆ ต่อประชาชน
โดยหนึ่งในแกนนำพรรคพลังประชารัฐ ที่มีบทบาทสำคัญในการคิดและร่างแนวนโยบายพรรคพลังประชารัฐในการหาเสียงครั้งนี้ก็คือ "ศาสตราจารย์ ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ กรรมการบริหารพรรค-เหรัญญิกพรรคพลังประชารัฐ"และในการเลือกตั้งครั้งนี้ ยังมีบทบาทสำคัญคือการเป็น”หัวหน้าทีมผู้ดูแลการเลือกตั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ของพรรคพลังประชารัฐ"ร่วมกับ สกลธี ภัททิยกุล
โดย"ศ.ดร.นฤมล-แกนนำพรรคพลังประชารัฐ"ย้ำว่าหลังจากที่ได้มีการยื่นสมัครส.ส.ระบบเขตและบัญชีรายชื่อ เสร็จสิ้นกันไปทุกพรรคการเมืองแล้ว ทำให้นับจากนี้ เรียกได้ว่านักรบต้องอยู่ในสนาม ผู้ลงสมัครส.ส.ระบบเขต ของพลังประชารัฐ จะต้องลงพื้นที่หาเสียงอย่างหนัก โดยพรรคเตรียมแนวทางแผนการหาเสียงของผู้สมัครแต่ละคน แต่ละเขตไว้แล้ว เช่นการเปิดเวทีปราศรัยย่อยในพื้นที่ต่างๆ โดยในพื้นที่เลือกตั้ง กรุงเทพมหานคร ทางพลังประชารัฐจะจัดเวทีปราศรัยย่อยทุกวันศุกร์ของแต่ละสัปดาห์ โดยจัดแยกไปตามโซนต่างๆ ของพื้นที่เลือกตั้ง
...พรรคพลังประชารัฐ จะมีเวทีปราศรัยใหญ่ ที่เป็นเวทีปิดการหาเสียงวันศุกร์ที่ 12 พ.ค. 2566 ที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง นอกจากนั้นก็จะมีการจัดเวทีปราศรัยใหญ่ในต่างจังหวัดที่จะจัดเวทีปราศรัยในจังหวัดหลักๆ ตามภาคต่างๆ รวมทั้งหมด 10 เวที โดยจะมีส่วนกลางลงไปช่วยปราศรัย และอีกหนึ่งยุทธศาสตร์การเลือกตั้งที่ต้องทำควบคู่กันไป ก็คือการทำงานหาเสียงในโซเชียลมีเดีย ที่ก็จะมีทีมงานของพรรครับผิดชอบเรื่องดังกล่าว อีกทั้งผู้สมัครส.ส.ของพรรคแต่ละคนก็จะมีทีมงานส่วนตัวที่ขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว
และสำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ ที่แตกต่างจากตอนเลือกตั้งปี 2562 เพราะตอนปี 2562 ใช้ระบบบัตรเลือกตั้งใบเดียว แต่เลือกตั้งที่จะมีขึ้น ใช้ระบบบัตรสองใบ ซึ่งบัตรใบที่สอง ที่เป็นบัตรลงคะแนนแบบบัญชีรายชื่อ ที่เลือกพรรคและเลือกแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของแต่ละพรรคการเมือง ทำให้จะต้องมีแคมเปญหาเสียงของพรรคออกมาอีกต่างหาก ที่ตรงนี้ก็เป็นหน้าที่ของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ ที่จะต้องร่วมกันคิด ร่วมกันทำ โดยในรายชื่อผู้สมัครระบบบัญชีรายชื่อของพรรค ก็มีผู้บริหารพรรครวมอยู่ด้วย ทำให้ก็จะมีการกำหนดยุทธศาสตร์เดินหน้าหาเสียงสำหรับบัตรใบที่สอง ระบบบัญชีรายชื่อกันอย่างไร เพราะยุทธศาสตร์การหาเสียง ที่พรรคเคยใช้ตอนเลือกตั้งปี 2562 คงนำมาใช้กับการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ได้แล้ว เพราะการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ที่ใช้บัตรใบเดียว คะแนนเสียงไม่ตกน้ำ ผู้สมัครส.ส.ระบบเขต ก็คือผู้หาคะแนนให้กับผู้สมัครส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อด้วย แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่ใช่อีกแล้ว
เราจะไปหวังแบบเดิมว่าผู้สมัครส.ส.ระบบเขต จะช่วยหาเสียงทั้งสองใบ มันก็อาจไม่เป็นแบบนั้นทุกเขตเลือกตั้ง เพราะอย่างบางพื้นที่เลือกตั้ง ประชาชนในพื้นที่อาจยังชอบตัวผู้สมัครส.ส.เขต แต่สำหรับพรรคการเมืองอาจไปชอบอีกพรรคการเมืองหนึ่ง ผู้สมัครส.ส.ระบบเขตเลือกตั้ง เขาอาจบอกว่า “บัตรเขต เลือกผมนะ แต่บัตรพรรค แล้วแต่พี่” จุดนี้เป็นโจทย์ที่ผู้สมัครส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อต้องไปแก้ ว่าจะต้องมีกลไกอย่างไร เพื่อให้พรรคได้คะแนนเสียงในบัตรใบที่สองด้วย ซึ่งพรรคกำลังหารือกันอยู่เพื่อที่จะทำการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง
"ศ.ดร.นฤมล-รับผิดชอบพื้นที่เลือกตั้ง กรุงเทพมหานคร"ยังกล่าวถึงการหาเสียงเลือกตั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครของพลังประชารัฐด้วยว่า พื้นที่เลือกตั้ง กทม.น่าจะเป็นโจทย์ที่ยากสำหรับทุกพรรคการเมือง ที่ไม่ใช่แค่การเลือกตั้งครั้งนี้ แต่ยากทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง เพราะคนกทม.ไม่ได้ผูกติดกับตัวบุคคล และไม่ได้ผูกติดกับพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง
การที่ไม่ได้ผูกติดกับตัวบุคคล หมายถึงว่า หากถามคนกรุงเทพฯ ว่า ส.ส.เขตในพื้นที่ตัวเองคือใคร บางคนอาจต้องนึกชื่อก่อน หรือถามว่าหลังเลือกตั้งไปแล้ว ได้เคยเจอหน้ากันบ้างหรือไม่ คือคนกรุงเทพฯ อาจมีความผูกพันกับส.ส.เขต กทม.ไม่มากเท่ากับคนต่างจังหวัด แต่อาจมีบ้างในบางชุมชนที่อาจต้องพึ่งกันบ้าง หรือมีส.ส.เขต กทม.เข้าไปช่วยดูแลสนับสนุน การดำเนินชีวิตอะไรต่างๆ ของประชาชนในบางชุมชน แต่ว่าจำนวนคนกทม.จำนวนมาก แทบไม่ได้พึ่งหรือได้สัมผัสกับส.ส.ระบบเขต ทำให้คนกทม.ไม่ได้ผูกติดกับตัวบุคคลมากเสียเท่าใดนัก
บางทีเราอาจไปคิดว่า ก็มีแฟนคลับของพรรคการเมืองบางพรรค แต่หากดูผลการเลือกตั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ก็ไม่ได้เป็นแบบนั้นเสียทีเดียว เช่นหากย้อนกลับไปดูผลการเลือกตั้ง พื้นที่กรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2554 ตอนนั้นก็มีเขตเลือกตั้ง 33 เขต เหมือนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น ซึ่งการเลือกตั้งปี 2554 ทางพรรคประชาธิปัตย์ได้ส.ส.เขตไป 23 ที่นั่ง ที่นับเป็น 70 เปอร์เซ็นต์ และที่เหลือก็คือ พรรคเพื่อไทย 10 ที่นั่ง
แต่ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ที่ส.ส.เขต กทม.เหลือ 30 ที่นั่ง ผลเลือกตั้งออกมา พรรคพลังประชารัฐ ที่มาแทนที่พรรคประชาธิปัตย์ ได้ไป 12 ที่นั่ง โดยปรากฏว่าอีกฝ่ายหนึ่งได้ไป 18 ที่นั่ง (พรรคอนาคตใหม่ หรือก้าวไกลปัจจุบัน กับพรรคเพื่อไทย พรรคละ 9 ที่นั่ง) แสดงว่าเอาเข้าจริง คนกรุงเทพฯ เขาไม่ได้คิดว่าเขาอยู่ฝ่ายไหน อย่างที่เรียกกันฝ่ายอนุรักษ์นิยม หรือไม่ใช่ฝ่ายอนุรักษ์นิยม บางทีเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคำดังกล่าวคืออะไร บางคนบอกว่าอย่ามาขีดเส้นว่าเขาคือฝ่ายไหน เขาไม่อยากให้คนมาระบุว่าเขาอยู่ฝ่ายไหน แต่การตัดสินใจเลือกตั้งว่าจะลงคะแนนเลือกใคร หนึ่ง เขาไม่ได้ยึดติดกับตัวบุคคล และสอง ไม่ได้ยึดติดกับพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งด้วย แต่เขาเลือก ณ สถานการณ์ตอนนั้น ว่าแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนใด ที่จะนำพาประเทศเดินต่อไปข้างหน้าได้ ส่วนใหญ่จะเป็นแบบนั้น คนกรุงเทพฯเลือกนายกรัฐมนตรี เขาก็จะพิจารณาจากแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เป็นหลัก
..พอคนกรุงเทพฯบอกว่า อย่ามาบอกว่าเขาคือฝ่ายไหน ความเห็นต่างทางการเมืองแต่ละรอบ มันก็อาจเป็นด้วยเหตุและผลที่ต่างกัน แต่อย่างไรก็ตาม คนกรุงเทพฯ ไม่ชอบให้ความเห็นที่แตกต่างกันดังกล่าว พากันไปที่ถนน ต้องการให้ทุกอย่าง คนที่เกี่ยวข้องไปว่ากัน ไปเถียงกัน ไปตกลงกันให้ได้ ในระบอบของรัฐสภา
ทุกครั้งที่เกิดความขัดแย้งกันทางการเมือง ก็จะใช้เวที กรุงเทพฯ เป็นการแสดงจุดยืนทางการเมือง แล้วก็พากันมาลงถนน ซึ่งส่วนใหญ่คนที่มาลงถนน อาจไม่ใช่คนกทม. แต่อาจมาจากต่างจังหวัดที่มาแสดงจุดยืนทางการเมืองในกรุงเทพ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
..หากถามว่าแล้วแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพลังประชารัฐ ท่านพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค มีจุดเด่นตรงไหน ก็คือตรงที่ท่านจะไม่ยอมให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นอีก ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพราะว่ามันส่งผลกระทบมากในวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลกระทบทางเศรษฐกิจ และชีวิตปากท้องของพี่น้องชาวกรุงเทพฯ ซึ่งคนกรุงเทพฯไม่ต้องการให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้น
จุดยืนของพรรคพลังประชารัฐ และท่านพลเอกประวิตร ที่บอกว่าเราก้าวข้ามความขัดแย้ง ไม่ได้หมายถึงว่าเราจะไปจับมือกับพรรคการเมืองใดก็ได้ แต่หมายถึงว่าเราจะไม่เอาความเห็นต่างทางการเมือง แล้วมาใช้พื้นที่นอกรัฐสภา มาแสดงจุดยืนทางการเมือง เราจะไม่สนับสนุนการที่จะพาพี่น้องประชาชนลงถนน ดังนั้น เราก็ต้องดูว่าจะมีพรรคการเมืองใดบ้าง ทั้งประวัติที่ผ่านมา และอนาคตที่พอจะเห็น มีแนวโน้มแบบนี้ ซึ่งคนกรุงเทพมหานคร เขาก็ไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก ก็น่าจะเข็ด น่าจะเบื่อกัน อย่างตัวเราเอง ก็เบื่อ หากเลือกตั้งครั้งนี้ผลออกมา แล้วบางฝ่ายไม่พอใจแล้วจะพากันลงถนนอีก ก็ควรเลือกพรรคการเมืองที่จะไม่ทำให้เกิดเรื่องแบบนั้น ก็น่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดสำหรับคนกรุงเทพมหานคร
สนามกทม.-พปชร.
ตั้งเป้าชนะ 12-14 ที่นั่ง
-จนถึงขณะนี้ ประเมินว่าพลังประชารัฐ จะได้ส.ส.เขต ในพื้นที่ กทม. กี่ที่นั่ง และตั้งเป้าว่า คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ของพรรค ที่จะได้จากบัตรลงคะแนนบัญชีรายชื่อ น่าจะได้ประมาณเท่าใด?
หากดูจากตัวเลขคะแนนในพื้นที่กรุงเทพมหานครของพรรคพลังประชารัฐ ตอนเลือกตั้งปี 2562 พรรคได้คะแนนในส่วนนี้ประมาณ 790,000 คะแนน และได้ส.ส.เขต กรุงเทพมหานครรวม 12 ที่นั่ง เราก็หวังว่าจะยังคงรักษาคะแนนที่เคยได้ 790,000 คะแนน ดังกล่าวเอาไว้ให้ได้มากที่สุด โดยฝ่ายที่ดูแลเรื่องการหาเสียงในบัตรบัญชีรายชื่อของพลังประชารัฐ จะต้องพยายามดันให้คะแนนของพรรคในพื้นที่กรุงเทพมหานครให้ได้สักหนึ่งล้าน หากเป็นไปได้
ส่วนเรื่องระบบเขต ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เราก็หวังว่าจะได้อย่างน้อย 12 ที่นั่งหรือเกิน12 คืออาจจะเป็น 14 ที่นั่ง ที่เราดูจากแต่ละเขตที่พรรคพอมีความหวัง เพราะเวลาเราดู เราไม่ได้ดูแค่ตัวผู้สมัครของพรรคอย่างเดียว แต่เราต้องดูคู่แข่งด้วย และด้วยความที่เขตเลือกตั้ง มีการแบ่งใหม่ อย่างที่บอกตอนต้นว่า พื้นที่กรุงเทพมหานคร เป็นโจทย์ที่ยากสำหรับทุกพรรคการเมืองเพราะมีการแบ่งเขตใหม่ ผู้สมัครส.ส.เขต กทม.ของพลังประชารัฐ หลายคนก็เป็นอดีตส.ส. หลายคนก็เคยเป็นอดีตผู้สมัครส.ส.เขต กทม.ในการเลือกตั้งก่อนหน้านี้ โดยที่ผ่านมา ก็ไปทำพื้นทีในเขต-แขวง ที่คิดว่าจะเป็นเขตเลือกตั้ง แต่ปรากฏว่า พอมีการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ ก็ทำให้ต้องมาเริ่มต้นกันใหม่ บางคนก็เริ่มต้นใหม่หมดเลย บางคนก็เริ่มต้นใหม่สัก 70 เปอร์เซ็นต์ หรือบางคนก็ 50 เปอร์เซ็นต์
เมื่อได้พิจารณาจากคู่แข่งขันที่เป็นพรรคการเมืองหลักๆ ที่เป็นคู่แข่งกัน เขาก็ประสบสถานการณ์คล้ายกับพลังประชารัฐ ก็คือเริ่มต้นใหม่ คล้ายๆ กัน อย่างบางพรรคถึงกับต้องโยกผู้สมัครรับเลือกตั้งกัน เช่นโยกจากเดิมเคยอยู่ฝั่งพระนคร ให้ไปลงในฝั่งธนบุรี เพราะฝั่งพระนคร ไม่มีพื้นที่ลงเพราะมีการแบ่งเขตกันใหม่ ทำให้มีการไปทับพื้นที่กับคนอื่นในพรรคเดียวกัน ก็เลยทำให้บางเขต อาจมีผลทำให้เราได้เปรียบ เพราะผู้สมัครของพรรคที่อยู่ในเขตนั้น ทำพื้นที่มาต่อเนื่อง แต่คนที่เป็นคู่แข่งที่โยกเขตมา กลายเป็นว่ามาลงสมัครแบบมาใหม่เลย ต้องมาตั้งต้นใหม่ ตรงนี้ที่เราประเมิน ก็คิดว่าทำให้พรรคน่าจะมีโอกาส ที่พอจะสู้ได้ และมีโอกาสชนะได้ ก็อยู่ที่ 12-14
"ศ.ดร.นฤมล"ย้ำว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ หากประชาชนเลือกพรรคพลังประชารัฐ จะได้ความสงบ และการเมืองที่มีเสถียรภาพเพราะว่าด้วยจุดยืนของพลังประชารัฐคือเราจะไม่ทะเลาะกับใคร และไม่สนับสนุนให้เกิดการรัฐประหารขึ้นอีก
“ดังนั้น หากเลือกพรรคพลังประชารัฐ ก็ปิดประตูรัฐประหารแน่นอน และเราก็เคารพกลไกของประชาธิปไตยในระบอบที่เรามีอยู่ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ที่หมายความว่า ผลการเลือกตั้งออกมา เป็นอย่างไร พรรคพลังประชารัฐ เคารพเสียงของพี่น้องประชาชน และเราจะไม่เดินหน้าตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยโดยเด็ดขาด เราจะต้องรวบรวมเสียงส.ส.ให้ได้เกินครึ่งหนึ่งของจำนวนส.ส.ของสภาผู้แทนราษฎร ถึงจะเดินหน้า เราจะไม่ฝืนจุดยืนของพรรคพลังประชารัฐ พรรคการเมือง อื่นเราไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร แต่พลังประชารัฐเป็นลักษณะดังกล่าว”
..สำหรับจำนวนส.ส.ทั้งหมดของพรรคพลังประชารัฐ หลังการเลือกตั้ง ทางหัวหน้าพรรค ท่านยังตั้งเป้าไว้ว่าให้ได้เท่าเดิม(การเลือกตั้งเมื่อปี 2562 )หรือได้มากกว่าเดิม อย่างส.ส.เขต เราเคยได้97 ที่นั่ง หัวหน้าพรรคก็อยากให้ได้จำนวนที่นั่งใกล้ๆ กับที่เคยได้หรือสูงกว่านั้น
อยากขอโอกาสจากพี่น้องประชาชนที่เคยให้โอกาสและความไว้วางใจ และคะแนนเสียงกับพรรคพลังประชารัฐ ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา เราก็หวังว่าคะแนนเสียงที่พลังประชารัฐ เคยได้ 8 ล้าน 4 แสนกว่าเสียง ประชาชนยังคงจะให้ความไว้วางใจเราเหมือนเดิม
วันนี้พรรคพลังประชารัฐ ยังคงเดินหน้าต่อ ในจุดยืนเดิม คือก้าวข้ามความขัดแย้ง เราไม่ร่วมมือกับผู้ทุจริตคอรัปชั่น และเราไม่สนับสนุนให้เกิดการรัฐประหารขึ้นอีก สิ่งที่เป็นเป้าหมายสำคัญในการทำงานของพรรค ก็คือทำให้เกิดเสถียรภาพทางการเมือง เพื่อให้การเมืองนิ่งและทำให้เศรษฐกิจของประเทศสามารถเดินหน้าต่อไปได้
สิ่งที่ทางพรรคจะเข้ามาดำเนินการลำดับแรกเลยเมื่อเข้าไป ก็คือการเข้าไปแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ เพื่อพลิกฟื้นชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วประเทศ ที่ทางพรรคเรา ทำนโยบายพรรคซึ่งเป็นที่แรกคือการทำนโยบายที่คำนึงถึงสวัสดิการของประชาชนทุกคน จนเกิดบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือบัตรประชารัฐขึ้น จนพรรคอื่นๆ จึงมาคิดในเรื่องของสวัสดิการเช่นเดียวกัน ซึ่งทางพรรคเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่เราได้จุดประกายในเรื่องของสวัสดิการที่ทำให้ทุกพรรคการเมืองได้หันมาดูแลสวัสดิการของประชาชน
...เมื่อมีสวัสดิการแล้ว เราก็ต้องต่อยอดด้วยเศรษฐกิจประชารัฐ โดยทางพรรคจะร่วมกับภาคเอกชนในการที่จะ พัฒนาเศรษฐกิจเพื่อทำให้ประชาชน สามารถฟื้นและเดินหน้าต่อได้ เช่นผู้ทำธุรกิจเอสเอ็มอี เราก็จะมีนโยบายรองรับในการเข้าไปเติมทุน -เสริมทักษะ ที่จะทำให้ผู้ที่ยังสะดุดอยู่หรือล้มลุกคลุกคลานอยู่ สามารถที่จะฟื้นขึ้นมาได้ ภายใต้การร่วมมือกันของภาคเอกชน-ภาคธนาคารและหน่วยงานเช่นสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) ที่จะเข้ามาร่วมมือกัน เช่นเดียวกับภาคการเกษตร ทางพรรคพลังประชารัฐ ก็จะเข้าไปดูแลพี่น้องเกษตรกรในการยกระดับภาคการเกษตร ให้เป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ และทำการเพิ่มมูลค่าของสินค้าเกษตรของเกษตรกร ให้เป็นพืชเศรษฐกิจ
นโยบายหาเสียงพรรคการเมือง
ต้องไม่ใช่แค่หวังคะแนนเสียง
"ศ.ดร.นฤมล-แกนนำพรรคพลังประชารัฐ"ที่มีบทบาทสำคัญในเรื่องการคิดและร่างนโยบายการหาเสียงของพรรคพลังประชารัฐ มาตลอดตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อปี 2562 รวมถึงการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น กล่าวถึงนโยบายของพรรคพลังประชารัฐในการหาเสียงครั้งนี้ว่า นโยบายหลักที่หัวหน้าพรรค พลเอกประวิตรกำชับในทุกพื้นที่เลือกตั้ง ไม่ใช่แค่เฉพาะในกรุงเทพมหานคร ก็คือเรื่องเศรษฐกิจ การฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพื่อให้พี่น้องประชาชนมีโอกาสทำมาหากินมากขึ้น อย่างที่เห็น เวลาพรรคพลังประชารัฐไปหาเสียงต่างจังหวัด เราจะเน้นเรื่องการให้ประชาชนมีที่ดินทำกิน แต่หากเป็นในกรุงเทพมหานคร จะเป็นเรื่องเช่น การหาพื้นที่ซึ่งทำให้ประชาชนทำมาค้าขายได้ ที่อาจไม่ใช่พื้นที่ซึ่งเป็นตลาด แต่เป็นพื้นที่สำหรับการค้าขายผ่านระบบออนไลน์ได้ด้วย
..ในส่วนดังกล่าว อยู่ในนโยบายของพรรคพลังประชารัฐที่จะสนับสนุน ให้ชาวกรุงเทพมหานคร มีโอกาสในการที่จะทำมาค้าขาย มีอาชีพมากขึ้น โดยจะมีนโยบายที่สนับสนุนเรื่องนี้เช่นการพัฒนาทักษะให้ประชาชนสามารถค้าขายในพื้นที่ออนไลน์ได้ หรือการเพิ่มพื้นที่ค้าขายแบบออฟไลน์ เช่นการหาพื้นที่ใช้ร่วมกันระหว่างเอกชนกับภาครัฐ เปิดพื้นที่ให้ประชาชนค้าขายได้ หรือพื้นที่ของหน่วยงานภาครัฐเอง เช่นพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย พื้นที่ซึ่งเป็นส่วนกลาง ที่เป็นของกระทรวงการคลัง ให้มีการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้าไปค้าขายได้ ตรงนี้ก็เป็นเรื่องหลักที่คนกรุงเทพมหานครอยากจะได้
นอกจากนี้ก็มีนโยบายเรื่องของการดูแลเรื่อง"ค่าครองชีพของประชาชน"ที่ต้องทำควบคู่กันไป เพราะนโยบายเรื่องเศรษฐกิจปากท้องดังกล่าว เป็นเรื่องการเพิ่มรายได้ แต่หากค่าครองชีพยังสูง มันก็ไปไม่ได้ ประชาชนยังมีปัญหาอยู่ดี
เรื่องค่าครองชีพ บางคนไปมองว่าคือกลุ่มคนมีรายได้น้อยเท่านั้นที่ต้องดูแล แต่คำว่ารายได้น้อยของไทย คนที่จะได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะต้องมีรายได้ต่อปีไม่เกินหนึ่งแสนบาท แต่คนกรุงเทพฯส่วนใหญ่รายได้เกินหนึ่งแสนบาทต่อปี ส่วนใหญ่คนที่ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จึงมีน้อยมาก ทั้งที่เขาคือคนจนในเมือง เพราะค่าครองชีพยังรวมถึงค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าเช่า ค่าน้ำค่าไฟ ทั้งหมดเหล่านี้ หักจากรายได้แล้วก็แทบไม่เหลือ จึงควรมีสวัสดิการคนเมืองเพื่อดูแลพี่น้องชาวกรุงเทพมหานคร ที่ไม่เหมือนกับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยอื่นๆ อย่างเช่นไปดูแลเรื่องค่าเดินทาง เช่นให้มีตั๋วเดือน- ตั๋วปี สำหรับคนจนในเมืองที่ทางพรรคจะไปดูแลเรื่องสวัสดิการคนจนในเมือง
“ศ.ดร.นฤมล”กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ค่าครองชีพอีกเรื่องหนึ่งที่จะกระทบกับวงกว้างไม่ใช่เฉพาะผู้มีรายได้น้อย ก็คือ"ค่าขนส่ง-ค่าน้ำมัน-ค่าก๊าซหุงต้ม"ที่จะตามมาด้วยค่าอาหาร ค่าราคาสินค้าต่างๆ เพราะสิ่งเหล่านี้จะรวมอยู่ในค่าขนส่ง ค่าต้นทุนการผลิต ค่าผลิตอาหารและสินค้าต่างๆ นำออกมาจำหน่าย
....พรรคพลังประชารัฐ มีนโยบายที่จะลดค่าครองชีพ โดยการรื้อโครงสร้าง"ราคาพลังงาน"เพื่อให้ราคาพลังงานลดลง ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมันทุกประเภท ราคาก๊าซ ทุกประเภท ซึ่งตรงนี้ ทางตัวแทนพรรคพลังประชารัฐที่อยู่ในทีมเศรษฐกิจ ก็ได้นำเสนอแนวนโยบายออกมาบ้างแล้ว แต่ตัวเลขท้ายที่สุด จะทำได้ จะเป็นเท่าใด ทางพรรคกำลังหารือกันอยู่ แต่ก็มีแนวทางแล้วว่าอย่างไรก็ตาม พรรคพลังประชารัฐ จะรื้อโครงสร้างพลังงานและดึงราคาพลังงานลงมาเพื่อลดค่าครองชีพให้ประชาชนแน่นอน
-ในฐานะคีย์แมนพรรคที่ทำเรื่องนโยบายพรรคในการหาเสียง และเป็นอดีตนักวิชาการด้วย นโยบายต่างๆ ที่พลังประชารัฐ นำมาหาเสียงเช่นบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่หาเสียงกัน "ป้อม 700"หรือนโยบายการให้เงินกับผู้สูงอายุแต่ละเดือน เป็นสิ่งที่ทำได้หรือไม่ และหากทำแล้ว จะสร้างภาระกับงบประมาณของประเทศหรือไม่?
ส่วนตัวเลย มองว่าคำว่า นโยบาย หากแปลกันจริงๆ ต้องเป็นเรื่องที่มองระยะยาว ไม่ใช่ว่าทำไปได้หนึ่งปีแล้วก็เลิก หรือมาเขียนไว้บนป้ายหาเสียงไว้เฉยๆ เพื่อให้ได้คะแนนเท่านั้น แบบนี้ตัวอาจารย์เองไม่อยากเรียกว่า นโยบาย และพูดตรงๆ หากสมมุติเป็นแค่องค์กรหนึ่ง เราจะเลือกผู้นำองค์กร หรือเลือกทีมผู้บริหารเข้ามาบริหารองค์กร เราก็ต้องดูว่าทีมดังกล่าว มีศักยภาพ มีวิสัยทัศน์ในการทำให้รายได้ขององค์กรเพิ่มขึ้นได้อย่างไร หรือไม่ อันนี้ เราไม่ได้พูดถึงพรรคใดพรรคเดียว แต่พูดถึงทุกพรรค เพื่อให้ประชาชนได้นำไปเป็นทางเลือก ไม่ใช่มาแข่งกัน โดยแต่ละทีมแข่งกันว่าใครมีแนวทางการใช้เงินเก่งกว่ากัน เอาแค่เลือกผู้บริหารองค์กร เราจะเลือกแบบนี้หรือไม่ ใช่หรือไม่ เพราะถ้าไม่บอกเลยว่า จะหาแหล่งรายได้จากไหน ไม่พูดเลยว่า คุณจะเพิ่มรายได้ให้กับประเทศได้อย่างไร แต่คุณพูดแต่ว่า จะจ่ายอะไรบ้าง
ในส่วนตรงนี้ ทางพรรคพลังประชารัฐ จึงมีอยู่ 2 ระดับของการสื่อสาร คือตัวชุดนโยบายพรรคจริงๆ จะมีเรื่องของ"การหารายได้"และจากรายได้ที่จะได้มา สามารถนำไปช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ผู้สูงอายุ ผู้มีรายได้น้อย อย่างไร ซึ่งพรรคมีการสื่อสารตรงนี้อยู่ แต่ว่าพอคนส่วนใหญ่เห็น ก็จะเห็นแค่ตามป้ายหาเสียง แค่บางอันเท่านั้น แต่ว่าจริงๆ ต้องมองภาพรวมทั้งก้อน ต้องคิดครบวงจร และอยากให้ดูทุกพรรคการเมืองด้วยว่าได้คิดครบวงจรจริงๆ
"ศ.ดร.นฤมล"กล่าวต่อไปว่า สำหรับแหล่งรายได้ที่จะนำมาทำนโยบายที่พรรคหาเสียงไว้ อย่างประเทศไทย เป็นประเทศที่มีรายได้ปีหนึ่งๆ จากการจัดเก็บภาษี จะเห็นกันอยู่ว่าอยู่ที่ 2.4-2.5 ล้านล้านบาท ที่ก็ไม่พอ ทุกวันนี้ก็จ่ายกันอยู่ที่ 3.2-3.3 ล้านล้านบาท แต่พอมีการเลือกตั้งแต่ละครั้ง ทุกพรรคก็เดินเข้ามาแล้วบอกว่า จะจ่ายทำอะไรต่างๆ แต่ไม่เห็นมีใครบอกเลยว่า ที่จัดเก็บรายได้แต่ละปีอยู่ที่ 2.5 ล้านล้านบาท แล้วจะเพิ่มในส่วนนี้ขึ้นมาได้อย่างไร เพราะทุกวันนี้ก็กู้อยู่ กู้อยู่ประมาณ 7 แสนล้านบาท แล้วที่กู้มา 7 แสนล้าน ก็นำไปทำอย่างอื่นไม่ได้เลย ทำได้อย่างเดียวคือนำไปลงทุนเพื่อการพัฒนาประเทศ เพราะพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ฯ บัญญัติไว้ว่า งบประมาณรายจ่ายเพื่อการลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศต้องมีไม่ต่ำกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ ของวงเงินทั้งหมดในร่างพรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีในแต่ละปี
ทางพรรคพลังประชารัฐ เราคิดมาแล้วว่าข้อจำกัดของรายได้ที่มาจากการเก็บภาษี มันอยู่ตรงนี้ ครั้นจะให้ไปเพิ่มภาษีก็คงไม่ใช่ แต่ว่าเราจะต้องไปหาแหล่งรายได้อื่นจากที่ไหน ที่จะลดภาระ เพราะหากเราจะพัฒนาประเทศ แต่เรากู้ได้แค่นี้ เพราะติดเพดานหนี้สาธารณะ ติดตัวพรบ.งบประมาณรายจ่ายฯ เราก็ต้อง"ร่วมทุนกับเอกชน" ผ่านการทำโครงการ PPP (การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ -Public. Private Partnership หรือ PPP) ซึ่งหลายเรื่องที่พรรคออกนโยบายในภาพรวม ก็จะใช้แนวทางร่วมทุนกับเอกชน PPP ที่จะลดภาระที่จะมาใช้รายได้จากการเก็บภาษี
ส่วนที่สองที่ทางพรรคเราตกผลึกกันก็คือ นอกจากการร่วมทุนกับภาคเอกชนแล้วก็คือ การใช้ศักยภาพของตลาดทุน ตั้งกองทุน ระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่จะเป็นเม็ดเงินลงทุนทั้งจากไทยและต่างประเทศ แล้วก็นำเม็ดเงินดังกล่าวมาสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ ฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศ เช่นการสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพ หรือธุรกิจเพื่อสังคม ที่เรียกว่า Social Enterprise ก็จะทำให้เกิดธุรกิจเหล่านี้ขึ้นมากมายในประเทศ และจะทำให้ออกจากกลไกการใช้หน่วยงานราชการไปขับเคลื่อน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เลือกตั้งนายก อบจ. 47 จังหวัด บ้านใหญ่ รอเข้าวิน พท.กวาดเยอะ-พรรคส้ม เสี่ยงร่วง
ยิ่งใกล้ถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายก อบจ. พบว่าการหาเสียงของผู้สมัครนายก อบจ.ทั้งที่ลงในนามพรรคการเมือง และไม่ได้ลงในนามพรรค
ร้อยใจไทย สืบสานราชธรรม .. ณ จังหวัดนครปฐม!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ในวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๗ โครงการร้อยใจธรรม สืบสานราชธรรม ทั้งแผ่นดิน ถวายเป็นพระราชกุศลฯ ที่ดำเนินการโดย สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยและวัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย (ธ) ในพระราชูปถัมภ์ฯ จ.ลำพูน
ลึกสุดใจ. ”พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ผบ.ตร.” ยึดกฎกติกา ไม่กลัวทุกอิทธิพล
ถึงตอนนี้ "พลตํารวจเอก กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ หรือ บิ๊กต่าย ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ" ได้ทำหน้าที่ ผบ.ตร.อย่างเป็นทางการมาร่วมสามเดือนเศษ ส่วนการทำงานต่อจากนี้ ในฐานะ"บิ๊กสีกากี เบอร์หนึ่ง-รั้วปทุมวัน"จะเป็นอย่างไร?
2 สว. “ชาญวิศว์-พิสิษฐ์” ปักธงพิทักษ์รธน. ปกป้องสถาบันฯ พวกเราเป็นอิสระ ไม่มีรับใบสั่ง
กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการทำประชามติเพื่อนำไปสู่การให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูยเพื่อมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อไทย ที่ต้องการทำให้เสร็จก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น
ก้าวย่างออกจากปัญหา .. ของประเทศ!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา... คำกล่าวที่ว่า.. “เมื่อสังคมมนุษยชาติขาดศีลธรรม.. ย่อมพบภัยพิบัติ.. เสื่อมสูญสิ้นสลาย..” นับว่าเป็นสัจธรรมที่ควรน้อมนำมาพิจารณา.. เพื่อการตั้งอยู่ ดำรงอยู่ อย่างไม่ประมาท...
เหลียวหลังแลหน้า การเมืองไทย จาก 2567 สู่ 2568 ส่องจุดจบ ระบอบทักษิณภาค 2
รายการ"ไทยโพสต์ อิสรภาพแห่งความคิด"สัมภาษณ์ นักวิชาการ-นักการเมือง สองคน เพื่อมา"เหลียวหลังการเมืองไทยปี 2567 และแลไปข้างหน้า