ท่าทีสภาสูง โหวตนายกฯ ไม่เลือกคนไม่มีวุฒิภาวะ พ่อคอยไขลาน มาเป็นผู้นำประเทศ

บทบาทของ"สมาชิกวุฒิสภา"(สว.)ถือเป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญทางการเมืองหลังการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น  เพราะด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 272  ที่อยู่ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันปี 2560 ที่ให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีที่พรรคการเมืองเสนอต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภาได้ โดยเป็น"อำนาจพิเศษ"ที่ให้กับสมาชิกวุฒิสภาชุดปัจจุบันที่ได้ใช้อำนาจดังกล่าวเป็นเวลาห้าปี ที่จะสิ้นสุดลงในปี 2567

จึงน่าสนใจว่า ระหว่างที่พรรคการเมืองต่างๆ กำลังแข่งขันกันหาเสียงอย่างหนัก แต่บริบทการเมืองเมื่อมองไปข้างหน้า บทบาทของสว.ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี น่าสนใจอย่างมาก หลังมีสว.บางส่วนบอกไว้ล่วงหน้าแล้วว่า อาจจะไม่โหวตเห็นชอบรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีบางคนจากบางพรรคการเมือง

ท่าทีของสมาชิกวุฒิสภาต่อเรื่องสถานการณ์การเลือกตั้งและการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อจากนี้ "ประพันธ์ คูณมี สมาชิกวุฒิสภา"ซึ่งเรื่องบทบาททางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา ได้แสดงออกและเคลื่อนไหวการเมืองชัดเจนว่า อยู่ตรงข้าม"ระบอบทักษิณ"มาตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ให้ความเห็นถึงการเลือกตั้งครั้งนี้ว่า การเมืองในยุคปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก ไม่เหมือนกับในยุคที่พรรคเพื่อไทยตั้งแต่สมัยยุคไทยรักไทย ยังรุ่งเรืองและมีอำนาจ โดยในช่วง 8-9 ปีที่ผ่านมา สภาพภูมิทัศน์ทางการเมืองของประเทศไทยในปัจจุบัน เปลี่ยนแปลงไปมากและมีผลกระทบกับพรรคเพื่อไทยด้วย โดยต้องยอมรับว่าเหตุและปัจจัยที่ทำให้ฝ่ายเพื่อไทย มีอำนาจต่อเนื่องตั้งแต่ยุคทักษิณ ชินวัตร  เป็นนายกรัฐมนตรี และต่อมา แม้จะมีการยุบพรรคไทยรักไทย และมาเป็นพรรคพลังประชาชน แต่ก็ยังเข็นเอาทั้งสมัคร สุนทรเวช สมชาย วงศ์สวัสดิ์ มาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ จนมาเป็นพรรคเพื่อไทย ก็ยังดัน ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีก

ทั้งหมดเกิดขึ้นในช่วงที่ฝ่ายพลังอื่นๆ อ่อนแอ แต่ฝ่ายพลังของเพื่อไทยเข้มแข็ง เพราะเขาเป็นรัฐบาลหลายสมัย แต่เมื่อมีการลุกขึ้นต่อสู้ของฝ่ายต่างๆ รวมถึงการทำรัฐประหาร ซึ่งรอบแรก โดยคมช.ที่ทำรัฐประหารโดยพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน แต่พลเอกสนธิก็ไม่ได้ทำอะไร ที่จะเป็นการตัดทอนอำนาจของระบอบทักษิณ จึงทำให้ระบอบทักษิณสามารถฟื้นกลับคืนมาได้ จนเอาทั้งสมัคร -สมชาย -ยิ่งลักษณ์ มาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่เมื่อเกิดรัฐประหารรอบสองโดยคสช. ในปี 2557 พบว่าฐานอำนาจของทักษิณและเพื่อไทย ถูกทำลาย-ตัดตอน ถอนรากถอนโคลน ไปเยอะในช่วงแปดปีที่ผ่านมา

ผมจึงไม่เชื่อว่า พรรคเพื่อไทยโดยลำพังจะชนะการเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์จนมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้ อีกทั้งยังมีปัจจัยทางการเมืองจากกรณี คนที่เคยอยู่ร่วมเป็นขบวนการเดียวกัน เคยสนับสนุนพรรคเพื่อไทย ซึ่งปัจจุบันแตกออกไปเยอะ เช่น พรรคภูมิใจไทยของอนุทิน ชาญวีรกูล ก็เป็นพลังอันหนึ่งที่จะทำให้เพื่อไทยถูกลดทอนโอกาสลงในการที่จะชนะเลือกตั้งแลนด์สไลด์

"ประพันธ์"กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ยังมีพรรคไทยสร้างไทย โดยการนำของ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ที่ได้ตัดขาดจากเพื่อไทยอย่างเด็ดเดี่ยว และยังมีกรณี"พรรคก้าวไกล"ที่เป็นกลุ่มที่มีความก้าวหน้าทางการเมืองในบางด้าน แต่ก็เป็นกลุ่มที่ไม่ยอมรับการนำของทักษิณและเพื่อไทย ที่ไม่ได้แสดงจุดยืนของการเป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ทำให้คนที่เคยเป็นนักวิชาการ นักกิจกรรม หรือคนรุ่นใหม่ ที่เคยคาดหวังว่า พรรคเพื่อไทยจะถือธงนำในการเป็นพรรคเพื่อประชาธิปไตย ผมว่าคนรุ่นใหม่พวกนี้ไม่มีทางเชื่อแบบนั้นแล้ว เพราะทุกคนมองออกว่า เพื่อไทย เป็นพรรคการเมืองระบบครอบครัว ที่มีพ่อบ้าน เถ้าแก่  ซึ่งระบบครอบครัว เป็นอุปสรรคโดยตรงต่อระบอบประชาธิปไตย

เพื่อไทยจึงไม่ใช่พรรคการเมืองในฝ่ายประชาธิปไตย ที่จะไปแขวนป้าย ติดหน้าผากตัวเองแล้วไปโฆษณาชวนเชื่อกับประชาชนว่าตัวเองเป็นพรรคฝ่ายประชาธิปไตย เพราะในพรรคก็ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย เพราะทุกอย่างก็แล้วแต่เถ้าแก่ นายทุน เจ้าของพรรคจะสั่งให้ซ้ายหัน ขวาหัน ส.ส.ลูกพรรค ก็เป็นเหมือนหุ่น

...จึงเห็นได้ว่า ในขบวนการที่มีการเชิดลูกสาวตัวเองขึ้นมา ทำให้บรรดาส.ส.และลิ่วล้อในพรรคเพื่อไทย ก็ออกมาแห่แหน ยกยอปอปั้น จะทำให้เป็นนารีขี่ม้าขาว ยกย่องว่าเป็นคนเก่ง มีความสามารถจะเป็นผู้นำประเทศ ไปโน่นเลย ทั้งที่ไม่เคยทำอะไรมาเลย ทำอะไรก็ไม่สำเร็จ บริหารกิจการบ้านเมืองก็ไม่เคยทำ บริหารธุรกิจก็ไม่เคยทำ แม้กระทั่งเข้าเรียนมหาวิทยาลัย จบปริญญาตรีมา ก็ยังมีข้อสงสัยในสายตาประชาชน ว่าสอบเข้าไปได้อย่างไร จบมาได้อย่างไร แต่ก็มาอุปโลกน์กันให้ประชาชนยอมรับเพื่อจะให้มาเป็นผู้นำประเทศเพียงชั่วข้ามคืน

ผมไม่เชื่อว่าประชาชนจะยอมรับจนเกิดกระแสคะแนนนิยมสูง ซึ่งกรณีแบบนี้จะเกิดขึ้นได้ ก็คือพ่อของตัวเองต้องเป็นผู้นำที่ซื่อสัตย์ มีความจงรักภักดี มีผลงานในการบริหารประเทศชาติบ้านเมืองจนประสบความสำเร็จแต่ถูกอำนาจการเมืองรังแก ถ้าแบบนี้ก็มีโอกาสที่ทายาท คนเป็นลูก ที่มาลงการเมือง แล้วจะได้รับคะแนนสงสารจากประชาชนจนได้เสียงสนับสนุน ซึ่งจะพบเห็นได้จากการเมืองในต่างประเทศ แต่กรณีของทักษิณ ไม่ได้เป็นนักการเมืองที่ถูกข่มเหงรังแก แต่เป็นนักการเมืองที่คนในประเทศเชื่อว่าอยู่ประเทศไทยไม่ได้เพราะโกง จนไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชน ในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต ความจงรักภักดี อีกทั้งอยู่ประเทศไทยไม่ได้ เพราะกระทำความผิดในทางคดีไว้มากมายในคดีทุจริต ร่ำรวยผิดปกติ

เพราะฉะนั้นการที่จะมาบิดเบือน กลับขาวให้เป็นดำ จากหน้ามือเป็นหลังมือเพื่อโปรโมตลูกสาวตัวเอง แล้วมาเรียกร้องให้คนเลือกเพื่อไทยให้แลนด์สไลด์ เพื่อตัวทักษิณจะได้กลับประเทศ เป็นข้อเรียกร้องที่ไม่ได้เร้าใจมากพอ ผมจึงไม่เชื่อว่ามันจะแลนด์สไลด์ ยิ่งหากดูจากในอดีต การที่สมัยไทยรักไทยเคยได้ส.ส.จำนวนมาก ก็เพราะใช้วิธีไปให้พรรคการเมืองต่างๆ มายุบรวมกับไทยรักไทยไม่ว่าจะเป็นเสรีธรรม ความหวังใหม่ ชาติพัฒนา และเป็นการเลือกตั้งในช่วงที่พรรคทักษิณเป็นรัฐบาล(การเลือกตั้งปี 2548) คุมกลไกการเลือกตั้ง

"ประพันธ์-สมาชิกวุฒิสภา"ย้ำว่า การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นว่า พรรคการเมืองอื่นๆ ที่เข้าสู่การเลือกตั้ง ก็ไม่ใช่พรรคคู่แข่งที่ไม่มีพละกำลัง ไม่ว่าจะเป็นพลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ ภูมิใจไทย ที่ตอนนี้เป็นฝ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะพลเอกประยุทธ์จากรวมไทยสร้างชาติ ไม่ใช่คนที่ฝ่ายเพื่อไทยจะไปดูแคลนได้ เพราะหากพลเอกประยุทธ์ไม่มีฝีมือ ไม่มีความสามารถ ไม่รู้เท่าทันกลเกมการเมือง ก็คงอยู่มาไม่ได้ตั้ง 8-9 ปี ที่ก็ทำให้อำนาจของระบอบทักษิณขยับอะไรแทบไม่ได้ คือถึงไม่โดนกวาดล้างแต่ก็ถูกทำหมัน ถูกลิดรอนอำนาจออกไปเยอะ และต้องไม่ลืมว่าเมื่อมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น กลไกต่างๆ ทั้งฝ่ายกระทรวงมหาดไทย ตำรวจ ทหาร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อบจ.-อบต. อยู่ในการกำกับดูแลของรัฐบาล ไม่ใช่เพื่อไทย และผมก็ไม่เชื่อว่าข้าราชการเหล่านั้นจะไปเกรงกลัวอำนาจเพื่อไทย จนยอมที่จะไปเสี่ยงไปยอมเป็นเครื่องมือรับใช้เพื่อไทย เพื่อช่วยให้เพื่อไทยได้แลนด์สไลด์ เหมือนอย่างที่เคยทำกันมาก่อนหน้านี้ ที่มีการสั่งผวจ. โดยหากจังหวัดไหน ทำเสียงได้ไม่ถึงเป้า ทักษิณก็ย้าย แต่วันนี้เพื่อไทยไม่มีอำนาจไปทำแบบนั้น

ผมจึงประเมินว่าเพื่อไทยจะได้ไม่เกินหนึ่งร้อยห้าสิบเสียง ที่บอกว่าจะได้เกินสามร้อยเสียง เป็นเรื่องเพ้อฝัน เพราะหากได้แบบนั้น เท่ากับพรรคอื่นไม่ได้ส.ส.เลย ก้าวไกล ไทยสร้างไทย  ก็ไม่ได้ส.ส.เลย ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้เลย เพราะเวลาเลือกตั้งจริงๆ มันสู้กันด้วยพื้นที่ มันไม่ใช่การสู้กันระหว่างฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวา ฝ่ายประชาธิปไตยกับเผด็จการ มันไม่ใช่แล้ว แต่เป็นการสู้กันของฝ่ายเลือกตั้งด้วยกัน เพราะทุกพรรรคือพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ ฝ่ายเพื่อไทย ก็ไม่ใช่ฝ่ายประชาธิปไตย เพราะแค่พรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญและตามกฎหมายเลือกตั้ง การมาบอกว่าเป็นพรรคฝ่ายประชาธิปไตยโดดเด่นกว่าพรรคอื่นมันฟังไม่ขึ้น เพราะเจ้าของพรรค สั่งซ้ายหัน ขวาหันได้หมด ในพรรคไม่มีประชาธิปไตย เจ้าสัวว่ายังไง ก็ต้องเอาตามนั้น

การเลือกตั้งครั้งนี้ ประเด็นที่คนจะคิดในการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งคิดได้ง่ายสุดคือ ระหว่างพลเอกประยุทธ์กับอุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ประชาชนจะเลือกใคร เพราะเป็นคนที่มีโอกาสจะเป็นนายกฯจากสองฝ่าย ซี่งผมยังเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ในประเทศนี้ เขายังให้น้ำหนักกับพลเอกประยุทธ์หรือแม้แต่กับพลเอกประวิตรจากพลังประชารัฐมากกว่าเพราะมีความอาวุโส มีความรู้มีประสบการณ์ในการบริหารบ้านเมือง เพราะฉะนั้น ถ้าชูประเด็นว่า ระหว่างพลเอกประยุทธ์กับอุ๊งอิ๊ง ประชาชนจะเอาใคร ผมว่าฝ่าย 3 ป.จะได้เปรียบ

...อุ๊งอิ๊งหากจะเป็นนายกฯ ก็เป็นนายกรัฐมนตรีตามคำสั่งพ่อ ประสบการณ์ ความรู้ ก็ไม่มี การเลือกตั้งครั้งนี้ ก็คือจะเอาฝั่งพรรคการเมืองที่เป็นฝั่งรัฐบาลปัจจุบัน หรือจะฝั่งเพื่อไทย ซึ่งฝั่งรัฐบาลก็มี ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย รวมไทยสร้างชาติ พลังประชารัฐ ชาติไทยพัฒนาแม้แต่กับชาติพัฒนากล้า โดยหากเลือกฝั่งนี้ ก็ยังได้นายกฯที่ดูดีกว่า เพราะมีทั้งพลเอกประยุทธ์ พลเอกประวิตร อนุทิน จุรินทร์ ซึ่งเขาสามารถตกลงกันได้ในทางการเมือง หากเขาร่วมรัฐบาลกัน การเลือกตั้งครั้งนี้จึงเป็นการเลือกตั้งระหว่างฝ่ายที่เป็นรัฐบาลอยู่ตอนนี้กับพรรคที่เป็นพรรคปีกฝ่ายค้าน หรือจะเอาอุ๊งอิ๊งหรือจะเอาพลเอกประยุทธ์

ลั่นโหวตนายกฯ

ไม่เลือกคนไม่มีวุฒิภาวะ

มีพ่อเป็นนักโทษคอยไขลานอยู่

-หากเพื่อไทย ชนะเลือกตั้งแล้วรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลได้เกินกึ่งหนึ่ง 250 เสียงโดยเสนอชื่ออุ๊งอิ๊ง หรือเศรษฐา ทวีสิน ในฐานะสมาชิกวุฒิสภา จะมีแนวทางการโหวตเลือกนายกฯอย่างไร?

ตอนนี้สว.ยังไม่ได้คุยประเด็นนี้ ส่วนใหญ่ทั้งหมด คือรอดูเหตุการณ์ภายหลังเลือกตั้ง ถึงจะเห็นภาพชัดเจนว่าผลเลือกตั้งออกมาทิศทางไหน ระหว่างฝ่ายพรรครัฐบาลปัจจุบันกับฝ่ายค้าน ฝ่ายไหนรวมเสียงแล้วได้ส.ส.มากกว่ากัน ถึงตอนนั้น ถึงจะมาตัดสินใจ แต่แน่นอนว่า หากพรรคฝ่ายรัฐบาลปัจจุบันหลังเลือกตั้งรวมเสียงกันแล้วได้เป็นเสียงข้างมากเกิน 250 เสียง คิดว่าการโหวตเลือกนายกฯจะไม่ยุ่งยากไม่ซับซ้อน แต่หากพรรคฝ่ายค้านปัจจุบันรวมเสียงกันแล้วได้เป็นเสียงข้างมาก จนจัดตั้งรัฐบาลได้ มันก็มีเงื่อนไขอยู่ว่าแล้วใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรี จะมีปัจจัยเรื่องนี้มาพิจารณาประกอบสำหรับสว.ด้วย

หากคนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่มีวุฒิภาวะ ไม่มีความรู้ ไม่มีประสบการณ์ในการบริหารบ้านเมือง ไม่มีความน่าไว้วางใจในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต จุดนี้จะเป็นเหตุและปัจจัยที่ทำให้สมาชิกวุฒิสภา คิดและตัดสินใจด้วยตัวเองว่าสมควรสนับสนุนหรือไม่ เพราะการโหวตเลือกคนเป็นนายกฯ คือการโหวตเลือกคนมาเป็นผู้นำประเทศ มันไม่ใช่การเลือกคนมาเป็นผู้นำครอบครัวใด ครอบครัวหนึ่ง

 “ข้ออ้างว่ามาจากการเลือกตั้งมันไม่เพียงพอ ถ้าคุณมาจากการเลือกตั้ง คุณต้องเคารพประชาชนด้วย ว่าคุณจะเอาใครมายัดเยียดให้เป็นผู้ปกครองเขา คุณต้องฟังความรู้สึกของประชาชนด้วย เพราะประชาชนไม่ใช่ลูกพรรคคุณ ที่คุณจะมาสั่งซ้ายหันขวาหันได้ วุฒิสมาชิก ไม่ใช่ลูกพรรคคุณ ที่จะมาสั่งให้สว.ซ้ายหัน ขวาหันได้ เขาก็ต้องคิดว่าหากจะเอาคนที่ไม่มีวุฒิภาวะ และเป็นคนที่มีพ่อเป็นนักโทษคอยไขลานอยู่ เอาว่า อย่างน้อยผมคนหนึ่งละที่จะไม่โหวตให้”

.... แต่ถ้าเป็นคนอื่น ในเพื่อไทยอย่าง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สุทิน คลังแสง หรือคนอื่นในพรรคที่พอมีวุฒิภาวะอย่างชัยเกษม นิติศิริ แบบนี้ยังพอฟังได้ว่าคุณให้เกียรติและเคารพประชาชน เคารพคนที่จะมาโหวตให้ความเห็นชอบคุณด้วย เพราะคนที่จะเลือก เลือกไปเป็นผู้นำประเทศ ไม่ใช่มาเป็นเบ๊ มาเป็นลูกน้องคอยรับใช้ เจ้าของพรรค และประชาชนเขาจะได้รู้สึกว่าเป็นการให้เกียรติประชาชน

-แล้วหากเป็นเศรษฐา ทวีสิน ?

ก็ยังพอรับฟังได้ ก็อยู่ที่ดุลยพินิจของสว.คนอื่นๆว่าเขาคิดเห็นอย่างไร แต่สำหรับผมต้องพิจารณาจากวัยวุฒิ คุณวุฒิ ความสามารถ ประสบการณ์ ความซื่อสัตย์สุจริต ประสบการณ์ในการที่จะบริหารประเทศชาติบ้านเมืองประกอบด้วย เพราะคะแนน 250 เสียงส.ส.ที่เกินมา ไม่สามารถมาสั่งสว.ได้ เพราะสว.เขามีอิสระในการโหวต

เสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ

ต้องให้เกียรติประชาชน

ให้เกียรติประเทศชาติ

-หากฝ่ายเพื่อไทย ชนะเลือกตั้งแล้วรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลได้ ด้วยเสียงเกิน 280 เสียง หรือไปถึงระดับ 300 เสียง หากเสนอชื่ออุ๊งอิ๊ง ให้เป็นนายกฯ แต่ปรากกว่า  สว.ไม่เอาด้วยตามที่เพื่อไทยเสนอมา จะเกิดอะไรขึ้นหรือไม่?

ผมไม่รู้ว่าคุณจะไปรวมเสียงกันมาได้กี่ร้อยเสียงก็ตาม แต่คุณต้องฟังเสียงประชาชน แต่ถ้าคุณเอาคนนั้นมา เอาลูกสาวคุณมา คือคุณไม่ให้เกียรติประชาชน ไม่ให้เกียรติประเทศชาติตัวเอง

-แต่เพื่อไทยอาจบอกว่า ก็ประชาชนเลือกมาแล้วว่าให้คนนี้เป็นนายกฯ ?

ประชาชนก็ส่วนประชาชน เพราะว่าประชาชนไม่ได้มีอำนาจอยู่เหนือดุลยพินิจของสว. เพราะผมก็มีสิทธิ์ที่จะไม่เชื่อได้ ดุลยพินิจของประชาชนอาจผิดก็ได้ และมันก็ผิดมาหลายคนแล้ว เลือกทักษิณมาผิดไหม เลือกยิ่งลักษณ์มาผิดไหม  ดุลยพินิจประชาชนจึงอาจไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องเสมอไป แล้วคนที่เป็นโจร มันไปขอประชามติว่าจะปล้นบ้านหลังหนึ่ง แล้วบอกว่าประชาชนยอมให้มันปล้นแล้ว ดังนั้นต้องยอมให้มันเอาทรัพย์สินไป มันไม่ได้ สำหรับผม ตระกะอันนี้เอามาใช้ไม่ได้

-หากคะแนนปาร์ตี้ลิสต์เพื่อไทยได้มาจำนวนมากเช่น อาจเกือบสิบล้าน เพื่อไทยก็จะบอกว่าประชาชนเลือกมาสิบล้านแล้ว?

ไม่เกี่ยวครับ เอามาตัดสินไม่ได้ ไม่เกี่ยวเลย เวลาเลือกนายกฯ เขาไม่ได้ดูคะแนน แต่ดูกี๋นส์ เขาดูคน ต้องเอาคนมาทำงาน ต้องให้ได้ร้อยล้านด้วย ถ้าเอาคนไม่ได้เรื่องมา เขาก็ไม่เลือก เพราะมันคนละบริบทกันแล้ว ในเมื่อรัฐธรรมนูญให้สิทธิ์เขาในการโหวตในการเลือก เขาก็มีสิทธิ์ที่จะใช้วิจารณญาณของเขาเอง ไม่มีสิทธิ์ที่่จะไปบังคับอะไรเขา สว.ก็ต้องดูว่าคนจะมาเป็นผู้นำประเทศอยู่ในวัยวุฒิ คุณวุฒิ มีประสบการณ์ มีความสามารถ ซื่อสัตย์สุจริต สว.ก็ต้องดูอยู่แล้ว ไม่ใช่ว่าประชาชนเลือกผมมา ผมจะเอาใครก็ได้ มันไม่ใช่

..เอาเป็นว่าสำหรับผม ผมจะเคารพเสียงข้างมาก ฝ่ายไหนรวมเสียงข้างมากได้ผมจะเคารพ ขออย่างเดียว คนที่จะเสนอตัวขึ้นมาเป็นแคนดิเดตนายกฯของฝ่ายเสียงข้างมาก ต้องเป็นคนที่ผมให้ความเคารพและผมยอมรับด้วย ผมไม่ได้ตั้งข้อรังเกียจใคร เพียงแต่จะเสนอใครเป็นนายกฯก็ต้องให้เกียรติประชาชน ให้เกียรติประเทศตัวเอง มีความน่าเคารพ น่าเชื่อถือ มีความรู้และประสบการณ์ที่จะมาเป็นผู้นำประเทศได้ ซึ่งเป็นผลดีกับบ้านเมืองมากกว่าที่จะมาอ้างว่าได้เสียงข้างมากแล้ว จะเสนอใครเข้ามา ก็ต้องโหวตเลือก

-แบบนี้มันจะเกิดความขัดแย้งการเมืองขึ้นหรือไม่ หากเพื่อไทยเสนออุ๊งอิ๊งมา แต่สว.กลับโหวตไม่เอาด้วย ?

คือถ้าหากจะต้องมีความขัดแย้ง เพื่อนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่า มันก็จำเป็น เพราะมันไม่ใช่ว่า คุณเอาคนที่คนที่ไม่ยอมรับ คนที่ไม่มีความสามารถ แล้วจะมาบีบบังคับให้คนอื่นทำตามคุณ มันไม่ใช่แล้ว คนอื่นจะคิดยังไง ผมไม่รู้ แต่สำหรับผม เป็นคนหนึ่งที่จะไม่โหวตให้ ที่ไม่โหวตให้ ไม่ต้องพูดเรื่องอื่นเลย แต่เพราะวุฒิภาวะไม่ถึงที่จะมาเป็นนายกฯ เพราะยังสู้ส.ส.ธรรมดาๆ ในเพื่อไทยไม่ได้เลย เพราะเป็นคนที่ถูกอุปโลกน์ขึ้นมาจากเจ้าของพรรค จะมาเก่งชั่วข้ามคืนได้ยังไง มันไม่มีทางลัด ไม่ใช่ สามสิบวันนารีขี่ม้าขาว แล้วเป็นไง ก็ไม่มีแผ่นดินอยู่ ทำงานอะไรก็ไม่เป็น ต้องฟังคำสั่งจากใครละ

คนเป็นผู้นำประเทศต้องยึดประโยชน์ประเทศชาติเป็นหลัก ถ้าเราเห็นอยู่แล้ว เราต้องไปบอกกับประชาชน ว่าที่คุณมาสนับสนุนคนที่มาตามโพล์แล้วบอกว่าต้องสนับสนุนคนนี้ ผมดูเป็นเรื่องตลก เพราะโพล์ต่าง ๆ ที่บอกว่าอุ๊งอิ๊งมีคะแนนนิยมสูง ผมไม่ให้ราคา ไม่ให้ความเชื่อถือเลย

-หากหลังเลือกตั้งถ้าเกิดกรณีเช่น เพื่อไทยจับมือกับพลังประชารัฐ โดยเพื่อไทยยอมเสนอชื่อพลเอกประวิตร เป็นนายกฯ?

ต้องดูปัจจัยเรื่องนี้ก่อนคือ หากตั้งรัฐบาลกันแล้ว กลายเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ จนเกือบเป็นเสียงข้างน้อย มันก็ไม่ควรดึงดันหรือดันทุรังตั้งรัฐบาล อย่างรัฐบาลปัจจุบัน ตอนแรกๆ ก็มีเสียงเกินกึ่งหนึ่งไม่มาก แต่ก็สามารถบริหารจนเรียกว่า ครบเทอมได้

การตั้งรัฐบาล หากฝั่งหนึ่ง 251 เสียง อีกฝั่ง 249 ก็ไม่สามารถเป็นรัฐบาลได้ มันไม่ควรเป็นเช่นนั้น ถ้าเป็นแบบนี้ มันก็จะเกิดการกดดันให้ทั้งสองฝ่ายไปเจรจากันเพื่อรวมเสียงกันให้ได้มาก โดยหากฝั่งใดฝั่งหนึ่งรวมเสียงกันได้มากเกินครึ่ง  จนไปถึงระดับ 290 เสียงหรือ 300 เสียง แล้วเสนอตัวบุคคลซึ่งประชาชนยอมรับมาเป็นผู้นำประเทศ ก็น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า กับการมาเสนอคนที่มีปัญหาแล้วมาบังคับเค้นคอให้คนอื่นยอมรับ ยิ่งหากเสียงปริ่มน้ำเข้าไปอีก ก็ยิ่งไปกันใหญ่ ผมก็ว่าคงมีการพูดคุยเจรจากันตั้งรัฐบาลจบก่อนจะเอาชื่อมาให้รัฐสภาโหวตเลือกนายกฯแล้ว

-หากเพื่อไทยจับมือกับบิ๊กป้อมแล้วเสนอชื่อพลเอกประวิตร เป็นนายกฯ ทางสว.รับได้หรือไม่?

ทางสว.ไม่ได้ติดใจประเด็นพวกนี้ ปัญหามันอยู่ที่ว่าพรรคฝ่ายเดียวกับเขาจะยอมรับเขาหรือไม่ กับการที่เคยด่าเขามาตลอดเช่น 3 ป.เผด็จการอะไรต่างๆ มันจึงเป็นข่าวที่ต่างคนต่างได้ประโยชน์ คือพลังประชารัฐก็ได้ประโยชน์ เพื่อไทยก็ได้ประโยชน์ ทำให้ลูกพรรคเพื่อไทยมีความหวัง เพราะมันสะท้อนให้เห็นความจริงอย่างหนึ่งว่า เสียงที่เขาไม่กล้าปฏิเสธจากฝั่งนี้(ฝั่งพรรครัฐบาล)ก็เพราะเขาเสียงไม่พอ เขา(เพื่อไทย) รู้อยู่แก่ใจว่าไม่ได้หรอกแลนด์สไลด์สามร้อยเสียง เพราะหากได้ เขาต้องปฏิเสธแล้วว่าไม่รวมกับใคร เพราะหากได้แลนด์สไลด์สามร้อยเสียงจะไปรวมกับใครทำไม ไม่ต้องแคร์ใครแล้ว ตั้งรัฐบาลได้เลย แต่เขารู้อยู่แก่ใจว่าจะได้เสียงไม่ถึง ผิดกับที่พรรคก้าวไกลกล้าประกาศ เพราะก้าวไกลรู้อยู่แล้วว่าไม่มีใครเอาก้าวไกลไปร่วมจัดตั้งรัฐบาล ต้องอยู่เป็นฝ่ายค้าน

ส่วนโอกาสจะเป็นนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์กับพลเอกประวิตร ผมว่าสองคนนี้ก็มีโอกาสพอกัน 50-50 โดยผมเชื่อว่าหากบิ๊กป้อมจะขึ้นเป็นนายกฯ ก็ต้องได้รับการสนับสนุนจากบิ๊กตู่ เช่นเดียวกัน หากบิ๊กตู่จะกลับมาเป็นนายกฯอีกครั้งก็ต้องได้รับการสนับสนุนจากบิ๊กป้อม แต่ถ้าต่างคนต่างแข่งขันกัน ก็จะไม่ได้เป็นทั้งคู่ แต่ผมก็ยังไม่แน่ใจเรื่องที่ว่า เพื่อไทยจะยอมให้บิ๊กป้อมเป็นนายกฯเพื่อให้ได้เป็นรัฐบาล เขาจะกล้าขนาดนั้นจริงหรือไม่ เพราะตลอดเวลาที่เขา(ทักษิณ)เล่นการเมืองมา เขาเลือกที่จะอยู่ในเกมที่เป็นผู้ควบคุมและสั่งการได้ ไขลานได้ เขาถนัดแบบนั้น แต่ถ้าเป็นคนอื่นเป็นนายกฯ คุณจะไปกำกับสั่งการ ไขลานบิ๊กป้อมได้หรือไม่ เพราะเคยเจอกับกรณี สมัยนายสมัคร สุนทรเวช มาแล้ว

ผมยังเชื่อว่า ถึงตอนจะโหวตนายกฯ เขาจะไม่เสนอชื่ออุ๊งอิ๊ง แต่ตอนนี้แค่นำมาหาเสียง และเชื่อว่า เพื่อไทยจะไม่ได้เป็นรัฐบาล และทักษิณ ไม่มีโอกาสที่จะได้กลับมา และหากทักษิณ ยังทำการเมืองในลักษณะเพื่อครอบครัวตัวเอง แล้วเอาประเด็นเรื่องจะกลับหรือไม่กลับมา เป็นเรื่องใหญ่ของประเทศ ซึ่งไม่ใช่เรื่องของประเทศชาติของประชาชนเลย  เพราะประชาชนรู้ว่ายังไงก็กลับมาไม่ได้ แต่เขาแค่เอามาหาเสียงกับลูกพรรคของตัวเอง

ปิดทุกประตู

เอาทักษิณกลับไทย 

-หากเพื่อไทยชนะเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาล จะหาช่องทาง พาทักษิณ กลับบ้านได้หรือไม่?

ทักษิณ กลับได้ตลอดเวลา เพียงแต่จะกลับมาแบบไม่รับโทษไม่รับความผิด ไม่มีทาง เป็นไปไม่ได้ ประเทศนี้ไม่อนุญาตให้คุณกลับมาแบบลอยชาย แบบไม่มีความผิด ไม่ต้องรับโทษ

หากเพื่อไทยเป็นรัฐบาลแล้วจะหาวิธีออกกฎหมายล้างผิดหรือหาวิธีทำให้ทักษิณไม่มีความผิด ดูแล้วยาก ที่จะได้กลับ เพราะหากจะได้กลับ คงได้กลับมานานแล้ว เรื่องทักษิณกลับบ้าน ถึงตอนนี้มันไม่ขลัง เหมือนตอนเสื้อแดงชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์ ที่ตอนนั้นพีกสุดแล้ว จนทักษิณบอกกับคนเสื้อแดงว่า เสื้อแดงส่งผมขึ้นฝั่งแล้ว การกลับบ้านของทักษิณจึงปิดประตูได้เลยเพราะความผิดของทักษิณไม่ใช่ความผิดจากการชุมนุมทางการเมือง แต่เป็นเรื่องการทุจริต ร่ำรวยผิดปกติ ประพฤติมิชอบ ประเทศนี้ไม่เคยนิรโทษกรรมให้คนทุจริตมีแต่นิรโทษกรรมให้คนที่ร่วมชุมนุมทางการเมือง

-มองว่าเพราะเหตุใด มวลชนที่รักทักษิณ คนที่พอใจประชานิยม คนรากหญ้า ส่วนใหญ่ยังเลือกเพื่อไทย ?

เคยมีงานวิจัยที่บอกว่า ประชาชนรากหญ้าที่เคยเสพติดประชานิยม ต้องไม่น้อยกว่าสิบปีขึ้นไปถึงจะหาย เขาไม่ได้ตัดสินใจการเมืองบนความมีเหตุมีผล เขาเอาแต่ประโยชน์เฉพาะหน้า เวลาพรรคการเมืองพวกนี้ เอาประชาชนมาอ้าง ผมก็มีสิทธิ์ที่จะหักล้างว่าประชาชนที่คุณนำมาอ้าง ผมก็เคารพ แต่ผมไม่ให้น้ำหนัก ไม่ให้ความเชื่อถือ เพราะระหว่างคนสองคน หากผมเป็นผู้บริหารบริษัท พลเอกประยุทธ์มาสมัครทำงาน กับอุ๊งอิ๊ง มาสมัครทำงาน ผมจะไว้วางใจใครให้เป็นซีอีโอบริษัท ถ้าคุณไปถามชาวบ้าน เขาก็ต้องเลือกอุ๊งอิ๊ง เพราะเขาเลี้ยงดูปูเสื่อ ให้ที่อยู่ที่กินที่นอน เอาใจสารพัด เพราะฉะนั้นเวลาเอาประชาชนมาวัดเรื่องอะไร มันต้องวัดให้ถูกต้องด้วย

"ประพันธ์-สว."ยังได้กล่าวถึงการทำงานของพลเอกประยุทธ์ ในช่วงแปดปีที่ผ่านมาว่า ต้องยอมรับว่า พลเอกประยุทธ์ แปดปีที่ผ่านมา เขามีความล้มเหลวในบางด้านแต่เขาก็มีความสำเร็จในหลายด้าน ที่พลเอกประยุทธ์อยู่มาได้แปดปี เพราะเขามีความซื่อสัตย์ ไม่โกง ไม่มีประวัติเสียหายในเรื่องใช้อำนาจโดยมิชอบเพื่อประโยชน์ตัวเอง อันนี้ต้องยอมรับ เพราะหากมีเรื่องเหล่านี้ ฝ่ายค้านต้องจับมาฉีกเป็นริ้วๆ แล้ว อภิปรายยไม่ไว้วางใจมากี่ครั้ง ก็ไม่มีหลักฐานมาล่อว่าประยุทธ์ผิดอะไร และต้องยอมรับว่าในช่วงเขาเป็นนายกฯ บ้านเมืองมันสงบ และในขณะที่เราอยู่ภายใต้การปกครองที่ดูเหมือนมันไม่เป็นประชาธิปไตย ที่หลายคนชอบอ้าง แต่ปรากฏว่า ระบบขนส่งคมนาคมอย่างรถไฟฟ้า ก็มีเกิดขึ้นหลายสิบสายในช่วงที่เขาเป็นรัฐบาล มีการพัฒนาด้านต่างๆ มีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ มีเขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซี ต้องยอมรับว่าประเทศมีความเจริญหลายด้าน และที่วิจารณ์กันเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า โควิดได้สร้างผลกระทบกับระบบเศรษฐกิจหลายประเทศทั่วโลก ไม่ได้กระทบแค่กับประเทศไทย แต่ของไทยเราฟื้นตัวได้เร็วกว่า ทุกวันนี้เราก็ยังอยู่กันได้ หลายอย่างดีขึ้นเช่นการท่องเที่ยว หรือธุรกิจร้านอาหาร ทุกวันนี้ยังหาพนักงานมาทำงานร้านอาหารกันแทบไม่ได้เพราะแย่งตัวกันหมด คนงานไม่พอ

...อย่างไรก็ตาม ก็ต้องยอมรับว่าบางเรื่องเช่นการปฏิรูปประเทศ ในทางการเมือง ที่ผ่านมา รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ก็ไม่มีความชัดเจนอย่างที่บางฝ่ายอยากจะได้อยากจะเห็น โดยหากพิจารณาจากแผนปฏิรูปแต่ละด้าน เขาอาจไม่ได้ทำสำเร็จตามพิมพ์เขียว โดยเรื่องที่น่าตำหนิก็คือเรื่องตำรวจ อันนี้ เป็นจุดอ่อน ที่ไม่กล้ากวาดล้างจุดนี้ ซึ่งผมเข้าใจว่า พวกผู้นำ จะยังไม่กล้าทำเรื่องที่ถ้าทำแล้วรู้เลยว่าจะเกิดกระแสต่อต้าน เกิดพลังใต้ดิน แล้วก็จะไม่ได้รับความร่วมมือในการปกครองบ้านเมือง เขาก็พยายามจะดีเลย์ หลีกเลี่ยงประเด็นที่มันร้อน ที่เหมือนกับจะไปขุดรากถอนโคลน เพราะถ้าจะปฏิรูปตำรวจ ต้องไปขุดรากถอนโคลนเลย แล้วก็จะไปโยงถึงทหารด้วย ซึ่งถ้าจะทำแบบนั้น ผู้นำต้องมีความกล้าหาญมีอำนาจที่มั่นคงแบบสี จิ้นผิง  ถึงจะกล้ากวาดล้าง ก็ทำให้ของร้อนเผือกร้อน เลยไม่อยากเผชิญหน้าก่อน อันนี้ผมเดาใจเขา

พรรคก้าวไกล

ต้องทบทวนตัวเอง

"ประพันธ์-สมาชิกวุฒิสภา"ยังได้ให้ความเห็นเชิงวิพากษ์ พร้อมกับข้อเสนอแนะไปถึง"พรรคก้าวไกล"ที่เป็นอีกหนึ่งพรรคการเมืองที่ถูกจับตามองอย่างมากว่า ผลการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น จะได้ส.ส.เข้าสภาฯกี่คน โดยเขาให้ความเห็นว่า จริงๆแล้วพรรคก้าวไกล ก็เป็นพรรคการเมืองที่ดีพรรคการเมืองหนึ่ง มีความตั้งใจที่จะสร้างพรรคขึ้นมาทำงานในเชิงมีหลักการและอุดมการณ์ทางการเมือง แต่ว่ามันเหมือนสมัยพวกเราเป็นนักศึกษาหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่มีความตื่นตัว และมีความเร่าร้อนเกินความจำเป็น มักจะมีอาการออกไปทางสุ่มเสี่ยงเอียงซ้าย ตามภาษานักทฤษฎีการเมืองและมักจะมองคนอื่นเป็นพวกปฏิกิริยาล้าหลัง

แนวความคิดแบบนี้ ก็ไม่ต่างอะไรจากพวกเรดการ์ดในจีนสมัยหนึ่ง พรรคก้าวไกลต้องปรับตัวเองและสลัดคราบความคิดที่จะไปถึงขนาดจะไปเปลี่ยนแปลงระบอบโครงสร้างการปกครองประเทศ เปลี่ยนแปลงระบอบสถาบันฯ ยกเลิกกฎหมายอะไรต่างๆที่มันยังไม่ใช่สิ่งที่เป็นข้อเรียกร้องของประชาชน ในฐานะพรรคการเมืองที่เข้ามาตามระบอบของรัฐสภาและการเลือกตั้ง ที่มันไม่ได้มวลชน ไม่ได้แนวร่วม ไม่ได้ผู้สนับสนุนทำให้ตัวเองโดดเดี่ยว เรียกว่า เดินกลยุทธ์การเมืองผิด โดยหากพรรคก้าวไกลปรับตัวเอง และทำงานเหมือนกับที่ทำงานอยู่ในสภาฯในช่วงที่ผ่านมา ไปเป็นปากเป็นเสียงให้ประชาชน จะดีกว่าที่จะไปเล่นเกมบนท้องถนน หรือไปท้าทายอำนาจศาล ไปอะไรกับสถาบันฯ ที่ไม่ใช่แนวทางที่ถูกของพรรคการเมือง

ผมเชื่อว่าหากพรรคก้าวไกลปรับตัวเองและมีท่วงทำนองที่มีความสุภาพ แล้วก็สร้างนโยบายที่เป็นประโยชน์ของมหาชน ก็ทำให้ก้าวไกลมีโอกาสจะขึ้นไปแทนพรรคเพื่อไทย เพราะพรรคเพื่อไทยมีแต่จะถอยลงมา เพราะทุกคนรู้อยู่แล้วว่ามันเป็นพรรคของทักษิณ คนในพรรคเพื่อไทยที่มันไม่กล้าพูดเพราะมันโกหกตัวเองทั้งนั้น แม้แต่คนเสื้อแดง ก็ยังแตกหนีออกไป ซึ่งถ้าก้าวไกลปรับตัวเอง ปรับกลยุทธ์ ปรับนโยบาย ก้าวไกลก็มีโอกาสเติบโตได้

เพราะหากดูจากหน้าเสื่อการเมืองตอนนี้ ฝ่ายค้านที่เข้มแข็งที่สุดตอนนี้ ก็คือพรรคก้าวไกล ซึ่งถ้าเป็นเมื่อก่อน ก้าวไกลก็เหมือนกับประชาธิปัตย์ สมัยเป็นฝ่ายค้าน แต่ว่าก้าวไกลเล่นประเด็นสะเปะสะปะกับประเด็นที่ไม่ควรไปเล่น เลยไม่ได้คนทุกชนชั้นมาเป็นแนวร่วม เป็นมิตรกันทางการเมือง

"ประพันธ์"ซึ่งเป็นอดีตนักเคลื่อนไหวการเมืองที่ผ่านมาแล้วหลายยุคหลายสมัย เช่นเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 -6 ตุลาคม 2519 -เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 -การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นต้น กล่าวว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ในช่วงรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ที่เข้ามาเป็นนายกฯรอบสองหลังเลือกตั้งปี 2562(ม็อบสามนิ้ว)  ไม่สามารถเรียกมวลชนให้มาร่วมเคลื่อนไหวด้วยได้มาก เหมือนตอนพันธมิตรฯหรือกปปส.เคลื่อนไหว ทำให้เมื่อไม่มีมวลชนเข้าร่วมด้วย พลังเคลื่อนไหวก็ไปไม่ได้ ทำให้มาถึงตอนนี้ พลังในส่วนของกลุ่มที่เคลื่อนไหวดังกล่าว ก็อ่อนแรงและถดถอยไปเยอะ ไม่มีศักยภาพพอที่จะไปปลุกเร้าประชาชนให้มาเข้าร่วม

อีกทั้งแกนนำหลายคนก็ถอดใจไปเยอะเพราะถูกดำเนินคดีหลายสิบคดี เสียอนาคตตัวเองไปเยอะ ผมจึงมองว่าพลังที่จะมาเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันฯ ยกเลิกมาตรา 112 มันไม่น่าจะเกิดขึ้น

พรรคก้าวไกลจึงควรรู้ว่าจุดขายของตัวเองอยู่ที่ไหน เขาสำคัญตัวเองผิดหรือไม่ ว่าจุดขายของพรรคไม่ใช่อยู่ที่จุดนี้ แต่พรรคก้าวไกลควรทำตัวเป็นคนรุ่นใหม่ ที่มีนโยบายก้าวหน้า อย่างทุกวันนี้ ผมไม่เห็นมีพรรคการเมืองไหน เสนอนโยบายเรื่องไอซีที เทคโนโลยี การสื่อสารและธุรกิจดิจิตอล ว่าจะพาประเทศพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมดิจิตอลอย่างไร ก็ไม่เห็นมีพรรคการเมืองไหนนำเสนอนโยบายแบบนี้ รวมถึงพรรคก้าวไกลต้องตอบให้ได้ว่า หากคนเลือกพรรคก้าวไกล แล้วจะพาสังคมไทยไปสู่สังคมแบบไหนในแต่ละด้าน จะแก้ปัญหาเรื่องความยากจน ความเหลื่อมล้ำของคนในสังคมด้วยวิธีไหน และจะทำให้สำเร็จภายในกี่ปี เหมือนที่สี จิ้นผิงทำ ด้วยพลังของพวกคุณ คนรุ่นใหม่ อีกทั้งพรรคก้าวไกลควรตอบให้ได้ว่าจะดูแลประเทศในอนาคตอย่างไร เขายังไม่ชัดเจนในเรื่องอุดมการณ์และแนวทาง และนโยบายด้านต่างประเทศของก้าวไกล ก็ไม่ชัดเจน คุณกำลังจะพาประเทศไปอยู่ในลักษณะเป็นเครื่องมือ เป็นสมุนหรือบริวารของพวกมหาอำนาจ ไม่เหมือนนโยบายของผู้นำประเทศในช่วงที่ผ่านมาที่เขาพยายามบาลานซ์ถ่วงดุลอำนาจ เขาไม่เทคไซด์ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ที่เขาจะคบหมดทั้งรัสเซีย จีน สหรัฐอเมริกา ที่ทำให้เกิดการ Balance of Power ได้ จนเราไม่ตกเป็นเป้าหมายที่จะถูกทำลายของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เขา(ก้าวไกล)กำลังพยายามพาประเทศไปเทคไซด์อยู่กับสหรัฐอเมริกา

มีหลายเรื่องที่พรรคก้าวไกลต้องทบทวนตัวเอง ซึ่งหากเขาทบทวนตัวเอง แล้วก็สร้างมโนภาพให้ประชาชนเห็นว่า ถ้าเลือกผม คนรุ่นใหม่ จะพาประเทศชาติไปอย่างไร ต้องอธิบายให้ชัดเจน แต่ถ้าอีกห้าสิบปี ร้อยปีข้างหน้า สังคมอาจจะเปลี่ยนรูปเปลี่ยนร่างไปแล้ว ก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ ณ วันนี้มันยังไม่ใช่ ก็เท่านั้นเอง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

2 สว. “ชาญวิศว์-พิสิษฐ์” ปักธงพิทักษ์รธน. ปกป้องสถาบันฯ พวกเราเป็นอิสระ ไม่มีรับใบสั่ง

กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการทำประชามติเพื่อนำไปสู่การให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูยเพื่อมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อไทย ที่ต้องการทำให้เสร็จก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น

ก้าวย่างออกจากปัญหา .. ของประเทศ!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา... คำกล่าวที่ว่า.. “เมื่อสังคมมนุษยชาติขาดศีลธรรม.. ย่อมพบภัยพิบัติ.. เสื่อมสูญสิ้นสลาย..” นับว่าเป็นสัจธรรมที่ควรน้อมนำมาพิจารณา.. เพื่อการตั้งอยู่ ดำรงอยู่ อย่างไม่ประมาท...

เหลียวหลังแลหน้า การเมืองไทย จาก 2567 สู่ 2568 ส่องจุดจบ ระบอบทักษิณภาค 2

รายการ"ไทยโพสต์ อิสรภาพแห่งความคิด"สัมภาษณ์ นักวิชาการ-นักการเมือง สองคน เพื่อมา"เหลียวหลังการเมืองไทยปี 2567 และแลไปข้างหน้า

วิปริตธรรม .. ในสังคม!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. เลียบบ้านแลเมือง มองดูเข้าไปในหมู่ชนของบ้านเรา.. ในยามที่นักการเมืองเป็นใหญ่ มีอำนาจวาสนาบริหารราชการแผ่นดิน จึงได้เห็นความไหลหลงวกวนของหมู่ชน ที่สาละวนอยู่กับการแสวงหา เพื่อให้ได้มาใน ลาภ สักการะ ยศ สรรเสริญ สุข.. ไม่เว้นแม้ในแวดวงนักบวชที่มุ่งแสวงหามากกว่าละวาง

ธุรกิจคาสิโนถูกกฎหมาย ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มักเกี่ยวพันผู้มีอำนาจทางการเมือง

เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดงานเผยแพร่ผลการศึกษาผลกระทบของคาสิโนถูกกฎหมายต่อการฆาตกรรมและการข่มขืนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อภิสิทธิ์-อดีตนายกรัฐมนตรี มอง 'จุดเสี่ยง' รัฐบาลเพื่อไทย ระเบิดการเมือง วางไว้เองหลายลูก

แม้ขณะนี้จะไม่ได้มีตำแหน่งทางการเมืองใดๆ แต่สำหรับ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์" การแสดงทัศนะหรือความคิดเห็นทางด้านการเมือง