ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยในปัจจุบันเป็นระบบเศรษฐกิจที่มีโครงสร้างพื้นฐานหลักอยู่ที่อุตสาหกรรมที่ใช้เครื่องจักรทันสมัยขนาดใหญ่ในการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกเป็นเป้าหมายหลักที่สำคัญ ระบบเศรษฐกิจที่มีโครงสร้างพื้นฐานหลักดังกล่าว ถูกพัฒนาขึ้นโดยรัฐบาล พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ (พ.ศ. 2523 – 2531) และ ใช้เป็นกลไกสำคัญของการพัฒนาประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลามากกว่า 30 ปีแล้ว ซึ่งถ้ายังไม่มี การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาเพิ่มเติม มีการคาดประเมินว่า ประเทศไทยจะมีขีดความสามารถในการแข่งขันอยู่ในระดับต่ำ ไม่สามารถแข่งขันกับประเทศพัฒนาอื่นๆ ได้อีกต่อไป เฉกเช่นเดียวกับประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (New industrial countries) ในอดีตบางประเทศ เช่น ไต้หวัน ที่เคยมีอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ที่โดดเด่น สร้างรายได้ให้กับไต้หวันอย่างมหาศาล ทำให้เศรษฐกิจของไต้หวันมีการเติบโตในอัตราที่สูง แต่ปัจจุบันความสามารถใน การแข่งขันทางเศรษฐกิจของไต้หวันถดถอยลงกว่าในอดีตที่ผ่านมาค่อนข้างมาก จนต้องหันมาพึ่งพิงรายได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว รัฐบาลไทยในช่วง พ.ศ. 2557 – 2562 จึงกำหนดให้มี “นโยบายไทยแลนด์ 4.0” ที่มีเป้าหมายในการปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยให้อยู่บนพื้นฐานของความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ (creativity) การสร้างนวัตกรรม (innovation) และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (information and communication technology) ในกระบวนการผลิต การให้บริการ และการบริหารจัดการระบบงานโดยตั้งเป้าหมายความสำเร็จของนโยบายไทยแลนด์ 4.0 อยู่ที่การยกระดับฐานะของประเทศไทยให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูง
สรุปโดยรวม นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ต้องการปรับโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เป็นระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม โดยการ 1) เปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจจากเดิมที่ดำเนินการผลิตและส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ไปสู่การผลิตสินค้าเชิงนวัตกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น 2) เปลี่ยนแปลงจากระบบเศรษฐกิจเดิมที่ขับเคลื่อนประเทศ ด้วยภาคอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าทั่วไปเพื่อการส่งออก ไปสู่การขับเคลื่อนประเทศด้วย เทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ และ 3) เปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจจากเดิมที่เน้นภาคการผลิตสินค้าไปสู่ การเน้นภาคบริการมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากภาคการเกษตรดั้งเดิมไปสู่การเกษตรสมัยใหม่; เปลี่ยนแปลงจากธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางแบบดั้งเดิม ยกระดับไปสู่การเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพเพิ่มมากขึ้น; เปลี่ยนแปลงจากระบบเศรษฐกิจจากเดิมที่มีภาคบริการแบบดั้งเดิม ไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่เน้นภาคบริการที่มีมูลค่าสูง; และเปลี่ยนแปลงจากระบบเศรษฐกิจที่ใช้แรงงานทักษะต่ำ ไปสู่การพัฒนาและใช้แรงงานที่มีความเชี่ยวชาญและมีทักษะสูง
รูปธรรมหนึ่งของการขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 คือการกำหนดให้มีการพัฒนา “เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก” ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 จนถึงปัจจุบัน มีการตราพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 เพื่อใช้เป็นกฎหมายรองรับการกำหนดแนวทางการพัฒนาฯ และกำหนดองค์กรที่รับผิดชอบการดำเนินการ
สาระสำคัญโดยสรุป พระราชบัญญัติดังกล่าว กำหนดให้การพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษฯ ไม่ต้องอยู่ภายใต้โครงสร้างการบริหารราชการส่วนภูมิภาค แต่ให้อยู่ภายใต้การอำนวยการของ “คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก” ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานที่จะทำหน้าที่บริหารงาน ตามแนวทางของภาคเอกชนมากกว่าราชการ ทั้งนี้เพื่อให้มีความคล่องตัวและมีความยืดหยุ่นมากกว่าการบริหารงานราชการทั่วไป นอกจากนี้ยังกำหนดให้การพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษ ไม่อยู่ภายใต้การบังคับใช้กฎหมายบางฉบับที่อาจเป็นอุปสรรคต่อ การพัฒนาเขตพื้นที่ฯ เช่น พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 เป็นต้น แต่ทั้งนี้ประเด็นใดที่ไม่อยู่ ภายใต้การบังคับใช้ตามพระราชบัญญัติการผังเมือง ก็ต้องนำเสนอและได้รับการพิจารณาอนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกก่อน จึงจะสามารถดำเนินการต่อไปได้
เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ในระยะแรกกำหนดพื้นที่ไว้ 3 จังหวัดซึ่งเคยเป็นพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรมชายฝั่งภาคตะวันออก (Eastern seaboard) มาก่อน ตั้งแต่สมัยรัฐบาล พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งได้แก่ จังหวัดชลบุรี ระยองและฉะเชิงเทรา
ประเทศไทย มุ่งเน้นการให้สิทธิพิเศษเพื่อส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก สำหรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยแบ่งเป็น 5 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่ต้องการยกระดับการพัฒนาจากอุตสาหกรรมเดิมที่มีอยู่ในพื้นที่ พัฒนาอุตสาหกรรมชายฝั่งภาคตะวันออกเดิม ซึ่งได้แก่ 1) อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Automobile for the future) 2) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics) 3) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (High-income tourism and healthcare tourism) 4) อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (Agricultural and bio technology) และ 5) อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร (Processed Food industry)
นอกจากนี้ ยังมีอีก 5 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่ต้องการส่งเสริมการลงทุน เพื่อให้เกิดขึ้นใหม่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งได้แก่ 1) อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (Robot for industry) 2) อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพครบวงจร (Comprehensive Medical industry) 3) อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation industry) 4) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Bio energy and chemical) และ 5) อุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital)
ผลการดำเนินงานการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ในระยะ 5 ปีแรกระหว่าง พ.ศ. 2561 – 2565
ภาครัฐดำเนินการพัฒนา “โครงสร้างพื้นฐานหลัก” เพื่อเตรียมพื้นที่ให้มีความพร้อมรองรับการลงทุนจากนักลงทุนภาคเอกชนซึ่งได้แก่ 1) ท่าเทียบเรือน้ำลึกแหลมฉบัง 2) รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ – ระยอง/รถไฟทางคู่ เชื่อมโยงท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด 3) สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา และ 4) ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด โดยภาครัฐกำหนดงบประมาณรายจ่ายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลักในระยะห้าปีแรก พ.ศ. 2561 – 2565 เป็นจำนวนเงิน 94,514 ล้านบาท
ในส่วนการลงทุนจากภาคเอกชนนั้น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้อนุมัติการลงทุน (กรอบการลงทุน) ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2561 – 2565) ไปแล้ว เป็นจำนวนเงิน 1.8 ล้านล้านบาท และออกบัตรส่งเสริมการลงทุนไปแล้ว เป็นจำนวนเงิน 1,091,374 ล้านบาท แต่ยังไม่ปรากฏรายงานที่ชัดเจนว่า นักลงทุนที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนไปแล้วนั้น ได้นำเม็ดเงินเข้ามาดำเนินการ ลงทุนจริงแล้ว เป็นจำนวนเงินเท่าใด
ข้อมูลที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ สัญชาติของนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนประกอบกิจการในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ ไต้หวันและสวิตเซอร์แลนด์ โดยมีรายละเอียดความสนใจการลงทุนดังต่อไปนี้
นักลงทุนชาวญี่ปุ่น สนใจเข้ามาลงทุนในด้านอุตสาหกรรมยานยนต์; เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
นักลงทุนชาวจีน สนใจเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์; เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
นักลงทุนชาวสิงคโปร์ สนใจเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์; ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์
นักลงทุนชาวไต้หวัน สนใจเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์; เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
และนักลงทุนชาวสวิตเซอร์แลนด์ สนใจเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์; เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์; และเกษตรและอาหาร
บทสรุปและข้อสังเกต เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทย เพื่อให้ประเทศไทย ยังคงมีความสามารถในการแข่งขันกับประเทศพัฒนาอื่นๆ ของโลกได้ ซึ่งจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตด้านเศรษฐกิจของประเทศต่อเนื่องต่อไปได้ นอกจากนี้เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ยังเป็นแหล่งรองรับการจ้างงานให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ทยอยจบการศึกษาและต้องการ การมีงานทำในแต่ละปีจำนวนหลายแสนคน ดังนั้น รัฐบาลใหม่ภายหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 จึงควรกำหนดให้การพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องต่อไป โดยกำหนดระดับความสำคัญไว้ในลำดับต้นๆ และรีบเร่งดำเนินการให้มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วมากกว่าระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ รัฐบาลควรเร่งรัดการดำเนินการเชิญชวนนักลงทุน ที่จะเข้ามาประกอบกิจการในพื้นที่ให้ครอบคลุมครบทั้ง 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย จากปัจจุบันที่มีความสนใจเข้ามาขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพียงแค่ 4 อุตสาหกรรมเป้าหมายเท่านั้น คืออุตสาหกรรมยานยนต์; เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์; ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์; และเกษตรและอาหาร
คอลัมน์ เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ สําหรับ
รศ. ทวีศักดิ์ สูทกวาทิน
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ผลสัมฤทธิ์การพัฒนาประเทศไทย ตามยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561- 2580): การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 กำหนดไว้ในหมวด 6: แนวนโยบายแห่งรัฐว่า รัฐต้องจัดให้มียุทธศาสตร์การพัฒนาชาติ โดยมีรายละเอียดตามมาตรา 65
'พิชัย' ชวนนักธุรกิจ นักลงทุน สหราชอาณาจักร ดึงเข้า อีอีซี - แลนด์บริดจ์
'พิชัย' เปิดเวทีชวนนักธุรกิจ นักลงทุนสหราชอาณาจักร ดึงเข้า อีอีซี แลนด์บริดจ์ พร้อมเจรจาปักหมุดให้ไทยอยู่ในโฟกัสชาวโลก