แม้ช่วงปัจจุบัน การเคลื่อนไหวของม็อบที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ และยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จะลดน้อยลงไป แต่หลายฝ่ายก็มองว่ากลุ่มประชาชนที่มีแนวคิดดังกล่าว โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษา คนรุ่นใหม่ นักวิชาการ ยังไงก็คงไม่ยอมยุติการเคลื่อนไหวในประเด็นดังกล่าวแน่นอน จนหลายคนบอกว่าเป็นการเคลื่อนไหวระยะยาวและยืดเยื้อ ขณะเดียวกันการดำเนินคดีแกนนำและแนวร่วมกลุ่มม็อบด้วยข้อหาความผิดมาตรา 112 ก็ยังดำเนินต่อไปทั้งในชั้นตำรวจ อัยการ และศาลยุติธรรม โดยแกนนำหลายคนถูกเพิกถอนประกันตัวและต้องไปอยู่ในเรือนจำ
สภาพการณ์ที่เกิดขึ้นมีมุมมองเชิงวิชาการและข้อกฎหมายจากดร.มุนินทร์ พงศาปาน คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ส่งเสียงเตือนปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา บนข้อเป็นห่วงว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยและในพื้นที่โซเชียลมีเดีย เป็นเรื่องที่คนในสังคมปฏิเสธความจริงไม่ได้ว่า บริบทสังคมไทยเวลานี้เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมาก จนถึงตอนนี้ถือว่าอยู่ในช่วงเวลาวิกฤต-หัวเลี้ยวหัวต่อ หรือ critical time ที่ควรต้องมีพื้นที่ในการพูดคุยกันเพื่อไม่ให้ปัญหาถูกกดทับไว้ จนกลายเป็นปัญหาระยะยาวที่รอวันระเบิดออกมา ตลอดจนข้อคิดเห็นต่อการดำเนินคดีผู้ต้องหาในคดีมาตรา 112 ที่เห็นว่าวิธีการที่ใช้อยู่ปัจจุบันสุดท้ายแล้วอาจไม่ได้ผล และจะยิ่งเป็นการสร้างความขัดแย้งมากขึ้นของคนในสังคม
เริ่มมองว่ากฎหมายเองไม่มีประสิทธิภาพที่จะทำให้เราบรรลุวัตถุประสงค์เหมือนเดิมอีกแล้ว โดย "การจะธำรงรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" อาจไม่ใช่เพียงแค่บังคับใช้กฎหมายที่มีโทษรุนแรงแล้วก็จับ และไม่ให้ประกันตัวอีกแล้ว จะเห็นได้ว่าจำนวนคนที่แสดงออก หรือคนที่ถูกดำเนินคดีไม่ได้ลดลงมากเท่าไหร่ คนที่อยู่ในคุกก็ไม่ได้กลัวอะไร คนที่อยู่ข้างนอกที่เล่นทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก ยังมีอยู่มากมาย
เราเริ่มด้วยการถามถึงมุมมอง ในฐานะนักกฎหมายต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญใน คดีล้มล้างการปกครอง เมื่อ 10 พ.ย. โดย ดร.มุนินทร์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ทัศนะว่า ผมเชื่อแบบนี้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญคงกำลังคิดว่ากำลังทำหน้าที่ในการรักษาคุณค่าในทางสังคมในทางจารีตประเพณีไว้ โดยการสร้างสถานะที่ไม่อาจแตะต้องได้ในทางกฎหมายโดยเด็ดขาด ซึ่งถ้อยคำและท่วงทำนองของศาลรัฐธรรมนูญกำลังทำให้เกิดความสับสน เพราะศาลควรยืนยันสถานะที่ชัดเจนอยู่แล้วในรัฐธรรมนูญ ไม่ควรใช้ภาษาหรือสื่ออะไรออกมาเลยที่ทำให้คนไขว้เขว คนตั้งคำถาม ศาลกำลังเข้าใจว่าตัวเองกำลังทำหน้าที่ในการพิทักษ์หลักการ แต่ว่ากลายเป็นยิ่งศาลรัฐธรรมนูญอธิบายมากเท่าไหร่ มันกลับหลีกออกไป หรือกลายเป็นการสร้างความสับสน หรือเฉออกไปจากหลักการที่ควรจะเป็น มันยิ่งก่อให้เกิดความเสียหายมากเท่านั้น อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ศาลเองต้องระมัดระวัง
เพราะฉะนั้นแล้ว ผมคิดว่าอย่าพยายามใช้กฎหมายในการธำรงรักษา แต่ควรพยายามใช้กฎหมายให้น้อยที่สุดใน การธำรงรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้ใช้การพูดคุยกัน การทำความเข้าใจ เปิดเวทีให้คนที่ไม่ว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อ เขามีโอกาสได้พูด
...เราต้องทำใจว่าเราอยู่ในสังคมที่ไม่มีคนทุกคนที่สามารถรักได้ และทุกคนเชื่อเหมือนเราได้ แต่เราทำให้เขาอยู่ในสังคมได้อย่างสบายใจ ไม่รู้สึกว่าถูกคุมคาม อย่างที่อังกฤษก็มีคนแตกต่างหลากหลาย คนไม่ได้เชื่อเหมือนกัน แต่คนส่วนใหญ่แฮปปี้ คนส่วนใหญ่เชื่อมั่นในระบอบที่เป็นอยู่ คนบางส่วนก็ไม่เชื่อมั่น แต่เขาก็ไม่รู้สึกว่าต้องทำอะไร เพราะทุกอย่างตัดสินโดยประชาชนเสียงส่วนใหญ่ โดยเขาก็รู้สึกว่าถึงเขาไม่เชื่อแต่เขาก็อยู่ได้ ไม่มีใครมาคุกคามขู่เข็ญ ผมอยากเห็นสังคมเราเป็นแบบนั้นที่จะทำให้สถาบันการเมือง สถาบันพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ได้ ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายและอย่างมั่นคงถาวร
"ความท้าทายที่สุดคือ เราไม่เคยชินกับความแตกต่างหลากหลายมากขนาดนี้ โดยหลายคนยอมรับไม่ได้ แล้วเราก็เลยไปปิดโอกาสที่จะมาพูดคุยกันเพื่อเดินไปข้างหน้าด้วยกัน เพื่อยอมรับกันว่าสังคมเราไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว แต่เรายังสามารถอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างหลากหลาย และทุกคนก็สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ซึ่งต้องเริ่มจาก 1.การยอมรับก่อนว่าเราไม่เหมือนเดิมแล้ว และ 2.ต้องหาเวทีมาพูดคุยในเรื่องความแตกต่างหลากหลายดังกล่าว เราต้องทำสองอย่างนี้เริ่มต้นก่อนเลย"
มองภาพรวมการดำเนินคดี 112 ในช่วงที่ผ่านมาอย่างไรบ้าง หลัง พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯ บอกไว้เมื่อ 19 พ.ย.63 ว่ารัฐบาลจะบังคับใช้กฎหมายทุกมาตรา ก็มีการมองว่ามีการดำเนินคดีมาตรา 112 เพิ่มมากขึ้น?
ผมขอแยกเป็นสองส่วน คือ 1.ส่วนของกฎหมาย และ 2.การบังคับใช้กฎหมาย โดยต้องบอกแบบนี้ก่อนว่า ในทางการเมืองต้องนับว่าตัวเองเป็นพวก กลางขวา แต่ว่าผมไม่ค่อยสบายใจกับการบังคับใช้กฎหมายมาตรา 112 สักเท่าไหร่ โดยเฉพาะเพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ผมคิดว่าตัวระบบกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย มันน่าจะไม่ได้ช่วยให้วัตถุประสงค์หรือเป้าหมายที่อยากเห็นมันมีความมั่นคงในระยะยาว แน่นอนหลักการนี้ต้องยอมรับก่อนว่า ประมุขของรัฐต้องได้รับการคุ้มครองมากกว่าคนปกติ อันนี้คือหลักการที่นักกฎหมายทุกคนทราบดี ประมุขของรัฐในต่างประเทศก็ได้รับการคุ้มครองมากกว่าบุคคลทั่วไป เรื่องดังกล่าวเป็นหลักการที่เข้าใจได้ แต่ว่าในแต่ละสังคม การรักษาคุณค่าทางสังคมเพื่อให้ยังคงอยู่จะมีวิธีการที่แตกต่างหลากหลายกันไป ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของสังคม
ต้องยอมรับว่าตัวมาตรา 112 ใช้กันมาตั้งแต่ช่วงที่มีการปฏิวัติ ช่วงปี พ.ศ.2500 และต่อมามีการแก้ไขเพิ่มเติม จะพบว่ามีการใช้กันมานานมาก ซึ่งสถานการณ์ ณ เวลานั้นมันเป็นแบบหนึ่ง แต่สถานการณ์ ณ เวลานี้เป็นอีกแบบหนึ่ง และกระบวนการบังคับใช้กฎหมายมาตรา 112 เราไม่ค่อยเห็นในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันเกิดขึ้นเยอะมาก บังคับใช้กันแบบเกิดขึ้นบ่อย โดยมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นหลายครั้ง บางครั้งศาลก็ตัดสินให้ประกันตัว บางทีก็ไม่ให้ประกัน ที่มีคนเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วยเกิดขึ้นบ่อยมาก
ผมอยากให้มองไกลไปกว่ากฎหมาย คือหากพูดถึงตัวกฎหมาย ผมเริ่มมองว่ากฎหมายเองไม่มีประสิทธิภาพที่จะทำให้เราบรรลุวัตถุประสงค์เหมือนเดิมอีกแล้ว โดย การจะธำรงรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มันอาจไม่ใช่เพียงแค่บังคับใช้กฎหมายที่มีโทษรุนแรง แล้วก็จับและไม่ให้ประกันตัวอีกแล้ว เพราะจะเห็นได้ว่าจำนวนคนที่แสดงออก หรือจำนวนคนที่ถูกดำเนินคดีไม่ได้ลดลงมากเท่าไหร่ คนที่อยู่ในคุกก็ไม่ได้กลัวอะไร หรือคนที่อยู่ข้างนอกที่ยังเล่นทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก ยังมีอยู่เยอะแยะมากมาย
ผมเลยมองว่าอาจต้องกลับมาคิดว่า 1.กฎหมายดังกล่าวอาจจะไม่เหมาะ ที่โดยส่วนตัวผมคิดว่าบทลงโทษของมาตรา 112 ก็ไม่ได้สัดส่วนอยู่แล้ว หากเทียบกับความผิดฐานอื่นๆ ผมมองว่าโทษจำคุกมันรุนแรงเกินไป กว้างเกินไป ไม่สมเหตุสมผล การทำให้โทษมันสูงกว่าโทษทั่วๆ ไปมันก็ยังทำได้อยู่ แต่ว่าอาจจะโดยรูปแบบอื่นของการลงโทษ
2.เรื่องของกระบวนการในการพิจารณาคดี ที่ต้องยอมรับว่าคดีเหล่านี้ sensitive มาก ศาลเองก็ระมัดระวังอย่างยิ่งยวด ส่วนนักกฎหมายก็ไม่อยากแสดงความคิดเห็นกันมากในเรื่องพวกนี้ เลยกลายเป็นเรื่องที่แตะต้องไม่ได้ ซึ่งมันอาจจะไม่เวิร์ก แล้วถ้าเราคิดแบบนั้น เพราะสมัยก่อนเกิดขึ้นน้อย จึงพอเข้าใจได้บ้างที่คนไม่อยากพูดถึง เช่น มีคดีเกิดขึ้นแค่ 1-2 คดี แต่ปัจจุบันเยอะมาก แล้วพอคนไม่ได้รับการประกันตัวหรือรู้สึกว่าไม่ได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม ไม่ได้รับสิทธิในการต่อสู้คดี เลยยิ่งทำให้เกิดคำถามเยอะแยะมากมาย
มองว่าเรื่องนี้ในทางกฎหมาย เป็นเรื่องที่ต้องกลับมาพิจารณาแล้วว่าต้องแก้ไข ในส่วนของฝ่ายบริหารที่รับผิดชอบในส่วนของการบังคับใช้กฎหมาย ว่ากลไกทางกฎหมายยังมีประสิทธิภาพและยังเหมาะสมที่จะใช้ในการจัดการกับเรื่องพวกนี้หรือไม่ ผมอยากให้มองในภาพรวม ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เรากำลังอยู่ในช่วงเวลาที่สำคัญ ที่จริงๆ ไม่ใช่แค่เรื่องนี้อย่างเดียวแต่ทุกเรื่อง ทั้งเรื่องระบบเศรษฐกิจ การศึกษา การเมือง มันอยู่ในช่วงการถูก disrupt ที่เราเคยพูดกันเรื่อง disruption อะไรทั้งหลาย ที่สังคมกำลังเปลี่ยนแปลงไป ปัจจัยภายนอกหลายอย่างทำให้วิถีชีวิต การใช้ชีวิตของคนถูก disrupt ได้รับผลกระทบ จนเราต้องปรับตัวกันมาก ซึ่งอย่าว่าแต่เรื่องการเมืองเลย เรื่องชีวิต การทำงานเราก็ต้องปรับตัว เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้น เพียงแต่มันเกิดขึ้นเร็วและเกิดขึ้นชนิดที่เราเองก็อาจยังไม่ทันตั้งตัวหรือไม่ทันคุ้นเคย เพราะมีเรื่องของเทคโนโลยีหรือโซเชียลมีเดีย
เช่นเดียวกันกับในเรื่องทางการเมือง หรือแม้กระทั่งเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ การที่คนใช้โซเชียลมีเดียพูดหรือเขียนอะไรต่างๆ หลายเรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องที่หากย้อนหลังกลับไปเมื่อสัก 3-4 ปีก่อนหน้านี้ เป็นเรื่องที่น่ากังวล น่าตกใจมาก ที่เราไม่เคยได้ยินเรื่องพวกนี้มาก่อนเลย อย่างในทวิตเตอร์ผมเห็นแล้วผมยังตกใจเลย ที่เห็น 2-3 ล้านทวีต พูดถึงเรื่องอะไรบางเรื่อง มันเป็นไปได้ยังไง แต่ว่าสิ่งที่เราต้องก้าวข้ามให้ได้ก็คือ เราอย่าไปกังวลว่ามันเป็นเรื่องที่น่าตกใจมาก เป็นเรื่องที่รุนแรง เป็นเรื่องที่ต้องกำจัด ต้องกดหรือต้องปราบให้มันไม่เกิด ซึ่งมันไม่มีทางเป็นแบบนั้นได้แล้ว
เราต้องปรับตัวเองให้อยู่ให้ได้กับโลกที่คนมีชีวิตอยู่ในโลกอินเทอร์เน็ต แล้วคนก็ตรวจสอบ มีการวิพากษ์วิจารณ์ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ไม่สามารถห้ามได้ ผมจึงมองว่าจะทำอย่างไรดีให้ระบอบการเมือง คุณค่าและจารีตประเพณีของเรา ที่เราอยากให้ดำรงอยู่ต่อไป มันเป็นเรื่องที่เราสามารถปรับตัวได้ อยู่ได้และไม่เกิดปัญหา ผมเลยคิดว่าถ้าเรามองว่าเป็นเรื่องที่น่าตกใจ น่ากังวล น่ากลัวมาก แล้วเราต้องจัดการโดยใช้กฎหมายทางกฎหมายไปจัดการปราบปรามให้มันน้อยลง มันเป็นวิธีการที่ไม่น่าจะถูกต้องแล้ว แต่ว่ามันต้องมีวิธีการอื่น
วิธีการที่พูดคุยกันคือ 1.เราอาจต้องยอมรับในบางเรื่องว่าเป็นเรื่องปกติ 2.มันมีบางเรื่องหรือไม่ที่เราจะมีเวทีพูดคุยกัน ทำความเข้าใจกัน ผมเชื่อแบบนี้ว่า กฎหมายอาจช่วยได้ในระยะเวลาอันสั้น 5 ปี 10 ปี เราอาจใช้กฎหมายปราบปรามจับกุมอะไรต่างๆ ซึ่งคนรุ่นอายุสัก 60-80 ปี ที่อายุแก่ลงไปเรื่อยๆ แล้วคนอีกเจเนอเรชันหนึ่งขึ้นมา แล้วจะทำอย่างไร เมื่อถึงตอนนั้นแล้วคนมันจะสั่งสมอะไรที่มันมีความกดดัน จะสั่งสมไปเรื่อยๆ ผมยังเชื่อว่าในช่วงนี้เป็นช่วงของการปรับตัวในทุกแง่มุมของชีวิตเรา ตั้งแต่ตัวเราเองไปจนถึงสังคม การเมือง เป็นช่วงเวลาที่เราต้องยอมรับตรงกันว่าทุกคนกำลังเผชิญกับความท้าทาย การเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างรวดเร็วภายใต้อิทธิพลของอินเทอร์เน็ต โซเชียลมีเดีย สื่อดิจิทัล มันจึงเป็นช่วงเวลาที่เราต้องคุยกันเพื่อหาทางออกด้วยกัน แล้วเดินไปข้างหน้า แล้วก็รักษาในสิ่งที่เราเห็นว่าสำคัญร่วมกันไว้เพื่อให้ไปด้วยกันได้ ผมก็เลยคิดโดยส่วนตัวว่า การแก้ปัญหาด้วยสิ่งที่ทำอยู่ มันอาจไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ดีนัก
-การธำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต้องทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างระหว่างคนแต่ละรุ่น เช่นคนรุ่นใหม่กับกลุ่มคนที่ถูกมองว่าเป็นพวกอนุรักษนิยม?
ผมมองว่าตัวระบบกฎหมายหรือกระบวนการทางกฎหมายมันอาจต้องปรับ คือ 1.ยังคงต้องรักษา คุ้มครองประมุขของชาติได้ แต่ว่าไม่จำเป็นต้องกำหนดโทษให้รุนแรงขนาดนั้น เราอาจลดโทษจำคุกลง แล้วเพิ่มโทษปรับให้มากขึ้น ส่วนเรื่องกระบวนการดำเนินคดีก็ให้เป็นกระบวนการที่ให้โอกาสผู้ถูกดำเนินคดีในการต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรม ให้เป็นเหมือนคดีปกติทั่วไป อย่าให้เป็นเหมือนคดีร้ายแรงแบบการฆ่าคนตาย คนไปรู้สึกว่าทำไมคดีฆ่าคนตายให้ประกันตัวทั้งที่เป็นคดีร้ายแรง แต่คดีที่เป็นเรื่องของการพูด การคิด กลายเป็นคดีที่ร้ายแรงขนาดนั้น 2.ต้องยอมรับความจริงว่าเราอยู่ในสังคมที่วิพากษ์วิจารณ์ ตรวจสอบกันได้ เพราะเราอยู่ในยุคที่โซเชียลมีเดียที่ทำให้สังคมโปร่งใสขึ้น ที่คนสามารถตรวจสอบหาข้อมูลเปรียบเทียบเรื่องต่างๆ ว่าจริงหรือไม่จริงอย่างไร ทิศทางของสังคมแบบนี้มันเกิดขึ้นในทุกระดับ เราต้องยอมรับว่ามันเกิดขึ้นได้กับทุกคน เพียงแต่สิ่งที่เราต้องทำไปด้วยก็คือ ระบบกฎหมายต้องควบคุมไม่ให้เกิดความรุนแรง ไม่ให้เกิดการห้ำหั่นกันโดยใช้กำลังทำร้ายกัน เป็นเรื่องที่กฎหมายต้องมีกลไกในการคุ้มครองป้องกัน ไม่ให้เกิดเหตุการณ์อะไรแบบนั้นขึ้น
นอกจากนี้ผมก็มองว่า รัฐธรรมนูญเองก็มีส่วนสำคัญมากในการกำหนดขอบเขตความสัมพันธ์ระหว่างองค์พระมหากษัตริย์กับตัวระบบกฎหมาย รัฐธรรมนูญ และประชาชน
“คิดว่าวิธีการรักษาองค์พระมหากษัตริย์ที่ดีที่สุดก็คือ ทำให้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่เคารพสักการะอยู่เหนือการเมือง อยู่เหนือความขัดแย้งทั้งปวง เพราะฉะนั้นแล้วต้องพยายามไม่ทำให้พระองค์เข้ามา เรียกว่าต้องไปลำบากพระองค์ท่านในเรื่องทางการเมือง อย่าให้มีช่องที่จะทำให้มีคนไปตำหนิพระมหากษัตริย์มามีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจในทางการเมืองเรื่องนั้นเรื่องนี้หรือไม่”
...ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ หน้านี้ก็ดีไซน์ไว้ค่อนข้างโอเคแล้ว โดยหากเราคำนึงถึงหลักการนี้แล้วเรายึดถือว่า พระมหากษัตริย์อยู่ในฐานะที่เคารพสักการะและอยู่เหนือการเมือง องค์กรทั้งหลายภายใต้รัฐธรรมนูญก็ต้องดีไซน์ให้สอดคล้องกับหลักแบบนี้ ซึ่งจริงๆ ศาลรัฐธรรมนูญก็มีหน้าที่ต้องอธิบายหลักการพวกนี้ เพราะเป็นวิธีการเดียวที่จะเซฟไม่ให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์มาก โดยสิ่งหนึ่งเราต้องยอมรับว่าไม่มีใครหลีกหนีการวิพากษ์วิจารณ์ได้ เป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจ และจะทำอย่างไรที่จะทำให้สถาบันถูกวิพากษ์วิจารณ์น้อยที่สุด ก็คือต้องให้เกี่ยวข้องกับการเมืองน้อยที่สุด
ผมเลยมองว่ารัฐธรรมนูญในอดีต โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่เราเห็นตัวอย่างแล้วในเรื่องการจัดวางความสัมพันธ์ต่างๆ ที่โดยทั่วไปดำเนินมาค่อนข้างจะดี แต่ว่าในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา เริ่มกลับมามีเรื่องถกเถียงอะไรพวกนี้อีกแล้ว จนกระทั่งศาลรัฐธรรมนูญก็ทำให้รู้สึกสับสน ผมรู้สึกอย่างนั้น ศาลวินิจฉัยที่ทำให้คนสับสนหรือไม่ว่า ระหว่างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือระบอบกึ่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คนก็พูดไปถึงขนาดนั้น ซึ่งผมฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ (คดีล้มล้างการปกครอง) ผมก็คิดไปได้ ซึ่งจริงๆ ศาลไม่ได้มีอะไรมากเลย แค่ทำให้มันชัดเจนตามหลักการที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญซึ่งมันชัดเจนอยู่แล้ว ว่าพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะที่ทรงเป็นที่เคารพสักการะ และอยู่เหนือการเมือง จึงไม่มีความจำเป็นอะไรเลยที่ต้องพูดหรือสื่อออกมาให้คนสับสน
และที่สำคัญที่สุดคือ คุณกำลังหางานให้กับสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะยิ่งเราไปใช้กฎหมายอธิบายมากเท่าไหร่ ผมคิดว่ามันยิ่งเป็นการเรียกว่างานเข้า ผมเลยคิดว่าเราอาจต้องกลับมาทบทวนเรื่องนี้กันให้ดีว่า จะทำอย่างไรที่จะช่วยปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์จากการเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ หรือเป็นหัวข้อของการที่มีการพูดคุยในการเมือง ตรงนี้คิดว่าเป็นเรื่องที่ต้องมาคุยกัน
ไม่เชื่อว่าการแก้ปัญหาอย่างที่ทำอยู่ตอนนี้คือการบังคับใช้กฎหมายอย่างรุนแรง หรือการมีมาตรา 112 ที่มีบทลงโทษรุนแรง จะช่วยให้สังคมไทยมันจะสงบสุขขึ้นในอีก 10-20 ปีข้างหน้า มันได้เพียงแค่กดไว้...ตอนนี้เป็นช่วงเวลาสำคัญมาก เป็น critical time ที่ทุกภาคส่วนต้องลงมาคุยกันอย่างจริงจัง.... มันจะระเบิดออกมา และจะไม่ประนีประนอมกันแล้ว ผมก็กังวลแบบนั้น
ให้สำนักพระราชวัง
เป็นผู้พิจารณาดำเนินคดี 112
-มีความเห็นเรื่องมาตรา 112 อย่างไร จากเดิมเคยมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมาย แต่ปัจจุบันมีการเปลี่ยนเป็นให้ยกเลิกไปเลย?
ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับการให้ยกเลิกมาตรา 112 อย่างที่ผมบอก ผมมองว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ท่านทรงเป็นประมุขของรัฐ ที่เป็นหลักของกฎหมายอยู่แล้วที่ประมุขของรัฐควรได้รับการปกป้อง เพียงแต่ว่าระดับของโทษและกระบวนการ ผมมองว่ามันต้องมีการปรับเปลี่ยน ซึ่งกลไกของการดำเนินคดีก็อาจเป็นไปได้อย่างที่มีคนเสนอคือ ให้ สำนักพระราชวัง เป็นฝ่ายรับผิดชอบว่าจะดำเนินคดีกับเคสใด หรือจะไม่ดำเนินคดีกับเคสใดบ้าง เพราะบางเคสหากสำนักพระราชวังดูเองก็อาจมองว่าปล่อยไปเถอะ เขายังเด็ก ก็อาจมีกรณีแบบนั้นได้ แต่พอไปอยู่ในดุลยพินิจของฝ่ายบริหาร บางทีก็ไม่รู้ว่าที่เขาดำเนินคดีมันมีมูลเหตุทางการเมืองด้วยหรือไม่ อย่างเคยมีเช่นในอดีต คุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์ เคยกล่าวหาว่ารัฐบาลในอดีต เช่นสมัยรัฐบาลทักษิณ ที่บอกว่าให้ตำรวจมาดำเนินคดีกับท่าน มีมูลเหตุการเมืองหรือไม่ เพราะพออยู่ในดุลยพินิจของฝ่ายบริหารที่นักการเมืองกำกับได้ มันก็อาจมีข้อครหาเรื่องมูลเหตุจูงใจทางการเมือง
ผมเลยมองว่าเรายังเก็บมาตรา 112 ไว้ได้ แต่ลดโทษแล้วทำให้กระบวนการมันเป็นกระบวนการที่โปร่งใสและเป็นธรรม และฝ่ายต่างๆ อย่างศาล พนักงานอัยการ ไม่ควรทำให้มันกลายเป็นเหมือนกับกระบวนการพิจารณาคดีผู้ต้องหาคดีร้ายแรง เช่น ก่อการร้าย
-เรื่องข้อเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันฯ เป็นประเด็นที่สังคมไทยคุยกันได้หรือไม่ โดยคุยแล้วมีพื้นที่ปลอดภัย ไม่โดนคดี 112?
มันถึงเวลาที่ต้องคุยกันแล้ว เพราะโลกมันเปลี่ยนแปลงไปมาก และสิ่งที่เราเห็น ที่ปรากฏในโซเชียลมีเดีย ความเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่มันเป็นตัวบ่งชี้ชัดเจนว่าต้องรีบคุยกัน ต้องหาโอกาสคุยกัน มันไม่ควรเป็นเรื่อง sensitive ที่เราไม่อยากจะพูดถึงหรือไม่อยากคุยกันอีกแล้ว แต่ต้องเป็นเรื่องที่คุยกันได้เพื่อประโยชน์ของทุกคนในช่วงเวลาที่ยังคุยกันได้อยู่ และผมคิดว่าเวทีสำคัญที่สุดที่จะพูดคุยกันก็คือเวทีของรัฐสภา โดยฝ่ายบริหารก็คือฝ่ายที่จะกำหนดว่าจะคุยกันได้หรือไม่ได้หรือคุยกันได้แค่ไหน โดยสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นตัวแทนของประชาชนต้องเป็นคนสร้างโอกาสสร้างเวทีคุยกันอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่มาตั้งคณะกรรมการอะไรขึ้นมาแล้วก็จบไป ไม่ได้อะไรเลย แล้วก็ยังคงมีความขัดแย้งกันอยู่เหมือนเดิม ผมคิดว่าต้องรีบทำเลย และอยากฝากไปถึงองค์กรในกระบวนการยุติธรรมด้วยว่า เขาก็เป็นส่วนหนึ่งในการทำให้ความขัดแย้งมีมากขึ้นหรือลดน้อยลง คือศาล อัยการ พนักงานสอบสวนก็มีส่วน คนจะรู้สึกว่ามันไม่มีช่องทางอื่นแล้ว มันไม่มีความหวังอะไรแล้ว หรือยังมีความหวังในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ต่างๆ ได้ ตรงนี้ศาลก็ต้องทำให้คนรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนกลาง ไม่ได้เป็นตัวแทนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้ต่อสู้คดีพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเองอย่างเต็มที่
มองดุลยพินิจศาล
ให้ถอนประกันตัวคดี 112
-ในฐานะเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วย การที่มีนักศึกษาของมหาวิทยาลัยที่เป็นแกนนำการเคลื่อนไหวที่ตอนนี้ไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว ทั้งเพนกวิน, รุ้ง, เบนจา อะปัญ มองเรื่องการให้ประกัน การถอนประกันผู้ถูกดำเนินคดี 112 อย่างไร?
จริงๆ ก็มีข้อโต้แย้งในด้านหลักวิชาการทางกฎหมายที่มีนักวิชาการหลายคนได้เคยออกมาแสดงความคิดเห็น โดยหากพูดจากกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ หลายครั้งก็มีคำถามอย่างกรณีของ รุ้ง-ปนัสยา ทางทนายความเขาก็บอกว่าไปดูในสำนวนคดีแล้ว ไม่มีข้อเท็จจริงอะไรที่ศาลนำมาใช้ในการพิจารณาว่าจะไม่ให้ประกันตัว แล้วศาลไปนำข้อเท็จจริงเพื่อนำมาใช้วินิจฉัยเรื่องการปล่อยตัวชั่วคราวหรือการถอนประกันจากที่ไหน เขาก็กำลังบอกว่าผู้พิพากษาใช้ข้อเท็จจริงนอกสำนวนหรือไม่ แทนที่จะไต่สวนก่อนเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ยุติว่ามีการกระทำที่ถูกกล่าวหารือไม่ ก่อนที่จะไม่ให้ประกันตัว แต่กลายเป็นว่ายังไม่มีการไต่สวน ยังไม่มีข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวนเลย แบบนี้มันทำให้คนเกิดความสงสัยว่ากระบวนการตัดสินคดีเป็นธรรมหรือไม่ ได้เปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่หรือไม่
ผมคิดว่าเราเรียนกัน เราต่อสู้กัน ก็เพื่อรักษาหลักการพวกนี้ไว้ว่า หลักของกระบวนการในการพิจารณาคดีต้องเป็นธรรม ต้องเปิดโอกาสให้ต่อสู้คดี ได้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเองอย่างเต็มที่ ผมคิดว่าระบบแบบนี้ผู้พิพากษาเองก็ต้องคิดให้หนัก โดยหากเราดูตามมาตรฐานกฎหมายปัจจุบันหรือความรู้สึกที่เราเคยชิน ก็อาจเป็นความรู้สึกที่รับได้ยากสำหรับหลายคน แต่ผมยังคิดว่าถ้าเราจะอยู่กันต่อไปอย่างสงบสุขในอีก 10-20 ปีข้างหน้า บางเรื่องมันต้องเริ่มทำความเข้าใจแล้วว่ามันเป็นความเปลี่ยนแปลงของสังคม ผมอยากให้เราคิดถึงสังคมในอีก 10-20 ปีข้างหน้ามากกว่าการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าตอนนี้
ผมไม่เชื่อว่าการแก้ปัญหาอย่างที่ทำอยู่ตอนนี้คือการบังคับใช้กฎหมายอย่างรุนแรง หรือการมีมาตรา 112 ที่มีบทลงโทษรุนแรง จะช่วยให้สังคมไทยมันจะสงบสุขขึ้นในอีก 10-20 ปีข้างหน้า มันได้เพียงแค่กดไว้ แต่จะทำได้อีกสักกี่วัน เป็นเรื่องที่เราต้องมาดูกัน แต่ผมดูแล้ว เด็กไม่ได้กลัว คือเดินเข้าคุกก็ไม่ได้กลัวมาก แล้วก็ไม่ได้หนีเข้าป่าแบบสมัยก่อนที่หนีเข้าป่ากัน แต่ปัจจุบันอยากจับก็จับ ปล่อยมาก็จับเข้าไปอีก เด็กก็อาจจะเงียบๆ โดยความเคลื่อนไหวบนท้องถนนอาจไม่ได้คึกคักแบบปีที่แล้ว แต่ความเคลื่อนไหวบนโซเชียลมีเดียยังมากเหมือนเดิมและอาจมากขึ้นเรื่อยๆ อันนี้เป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ที่รัฐบาลเองก็ต้องมาช่วยกันคิดว่าเราอยากเห็นสังคมเรา ระบบการเมือง ระบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จะเป็นอย่างไรต่อไปในอีก 10-20 ปีข้างหน้า
คิดว่าตอนนี้เป็นช่วงเวลาสำคัญมาก เป็น critical time ที่ทุกภาคส่วนต้องลงมาคุยกันอย่างจริงจัง คือเรื่องนี้เป็นเรื่อง sensitive คนไม่ค่อยอยากคุย มีเวทีไหนก็ไม่ค่อยมีใครอยากคุย ก็พูดอ้อมค้อมกันไปมา แต่ผมคิดว่าอาจถึงเวลาต้องมาคุยกัน เพื่อธำรงรักษาคุณค่าที่เราคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเอกลักษณ์ของชาติ เป็นสิ่งที่เราอยากให้ดำรงอยู่อย่างมั่นคงถาวร อย่างไม่เกิดปัญหาแบบนี้ เราอาจต้องมีเวทีที่ต้องมาคุยกันได้แล้ว
-ฝ่ายการเมือง พรรคการเมือง ฝ่ายนิติบัญญัติ ควรต้องมีท่าทีในเรื่องนี้อย่างไร เพราะอย่างเรื่อง 112 ตอนแรกบางพรรคเช่นพรรคเพื่อไทย ก็บอกว่าจะรับไปผลักดันในสภา แต่ต่อมาก็เปลี่ยนท่าที?
ก็แบบนั้น กล้าๆ กลัวๆ ผมคิดว่านายกรัฐมนตรี พรรคร่วมรัฐบาลอาจจะไม่มองเหมือนผม คือเขามองแค่ปัญหาเฉพาะหน้า ตัวนายกฯ เองอาจเพราะเคยเป็นทหาร เขาก็คงเชื่อในเรื่องวิธีการแก้ปัญหาแบบทหาร คือการใช้กำลังหรือการใช้มาตรการทางกฎหมายที่รุนแรงในการปราบปรามมันยังได้ผล แต่เราก็เห็นแล้วว่าการต่อสู้มันไม่ได้อยู่บนถนนอย่างเดียว แต่แนวร่วมมันอยู่ในโลกที่ไม่มีพรมแดนอีกแล้ว เพราะฉะนั้นแล้วเราต้องพยายามทำความเข้าใจกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม เราจะได้รับมือถูกว่าเราจะจัดการแก้ปัญหานี้อย่างไร ผมไม่ได้จะบอกว่าคนสูงอายุเขาไม่เข้าใจ เพราะมีผู้สูงอายุที่เข้าใจและตามเรื่องนี้อยู่ เพียงแต่ว่านายกฯ เป็นทั้งอดีตทหารและอาจจะอาวุโสแล้ว ผมจึงไม่รู้ว่านายกฯ จะเข้าใจสิ่งที่มันกำลังจะเกิดขึ้นแค่ไหน เราต้องการคนที่เข้าใจการเปลี่ยนแปลง และรู้เท่าทันว่าต้องปรับตัวอย่างไร จึงอยากให้มีการเปิดพื้นที่พูดคุยอย่างจริงจังให้เป็นวาระของชาติ ผมดูว่ารัฐสภาก็ไม่ได้ทำหน้าที่ดังกล่าวเท่าไหร่นัก หรือทำแค่พอเป็นพิธีแล้วสุดท้ายก็กล้าๆ กลัวๆ กัน แล้วก็ไม่ได้ทำอะไร
ผมกำลังดูอยู่ว่า อย่างที่ใช้ 112 กัน แล้วคุณจะได้เห็นว่ามันจะทำให้ทุกอย่างยุติได้จริงหรือไม่ ผมก็ไม่เห็นว่ามันจะเป็นไปในทิศทางนั้น มีแต่จะเป็นปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็มีความโกรธแค้นชิงชังกันทั้งสองฝ่าย คนในสังคม คนที่ไม่ชอบกลุ่มเด็กก็ยิ่งโกรธแค้นชิงชังมากยิ่งขึ้น ส่วนกลุ่มเด็กก็รู้สึกว่าฝ่ายตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรม มันก็ฝังใจมากขึ้น พอถึงจุดหนึ่งมันก็จะไม่คุยกันแล้ว ดังนั้นในช่วงเวลาที่ตอนนี้ยังพอคุยกันได้ ก็ควรหาเวทีให้ได้คุยกัน
-คือเกรงว่าหากยังทำแบบที่ทำตอนนี้ ทำให้เกิดความรู้สึกกดทับ วันหนึ่งข้างหน้าคนในสังคมมันอาจระเบิดออกมา?
ใช่ครับ มันจะระเบิดออกมา แล้วมันจะไม่ประนีประนอมกันแล้ว ผมก็กังวลแบบนั้น พวกเรานักกฎหมายก็ไม่อยากให้เกิดสถานการณ์แบบนั้นขึ้นมา จึงควรมีการสร้างเวทีในการพูดคุยกัน ถอยกันคนละก้าวบ้าง ผมก็ไม่เชื่อว่าคนที่ออกมาเรียกร้องเขาจะคิดว่าเขาจะได้ทั้งหมดตามที่เรียกร้อง แต่ผมยังเชื่อว่าเขายังอยากได้เวทีในการพูดคุยกัน ซึ่งหากคนที่คุมอำนาจอยู่ไม่เปิดไฟเขียว กลไกของกฎหมาย โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญมันล็อกไว้หมด แต่ถ้าคนคุมอำนาจยอมเปิดไฟเขียวก็น่าจะมีโอกาสที่พูดคุยกันได้.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อุทธัจจะ .. ในวังวนแห่งการตื่นธรรม .. ยุคไอที!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระรัตนตรัย... สัทธายะ ตะระติ โอฆัง.. บุคคลข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา.. โอฆะ หมายถึง ห้วงน้ำ ที่มีกระแสเชี่ยวกราก พัดพาสัตว์ทั้งหลายให้ตกไปในกระแสน้ำนั้น ยากจะข้ามฝั่งไปได้
ก้าวไกลแพ้! ศาลยกฟ้อง 'ณฐพร โตประยูร' แจ้งเท็จ-หมิ่น ล้มล้างการปกครอง
ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีดำ อ.308/2564 ที่พรรคก้าวไกล เป็นโจทก์ฟ้องนายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นจำเลยในความผิดฐานแจ้งความเท็จ,หมิ่นประมาทฯพร้อมเรียกค่าเสียหาย 20,062,475บาท
’ห้าพันตารางกิโลเมตร‘ เท่ากับกี่ตารางนิ้ว ? เงื่อนตายของ MOU 2544 ?
MOU 2544 ไม่ใช่กรอบการเจรจาเพื่อหาข้อตกลง ”แบ่งผลประโยชน์(ปิโตรเลียม)“ เท่านั้น แต่หาข้อตกลง “แบ่งเขตแดน(ทะเล)“ ด้วย !
คำนูณ ผ่าปม 2 ได้ 3 เสีย ถ้าไม่ยกเลิก MOU 2544
ความเคลื่อนไหวและการแสดงความคิดเห็นเรื่อง MOU 2544 ที่เชื่อมโยงถึงเกาะกูด, การหาแหล่งพลังงานแห่งใหม่ในพื้นที่อ้างสิทธิไทย-กัมพูชา ที่มีการประเมินกันว่ามีมูลค่าสูงถึง 10 ล้านล้านบาท ยั
'แก้วสรร' แพร่บทความ 'นิติสงคราม' คืออะไร?
นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ออกบทความเรื่อง “นิติสงคราม” คืออะไร???
อย่าได้ประมาทในธรรม.. “เมื่อใจตรง .. จะตรงใจ”..
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา.. เดินทางกลับมาจากอินเดีย เมื่อ ๗ พ.ย.๒๕๖๗.. ถึงกรุงเทพฯ ๘ พ.ย.๒๕๖๗ หลังจากไปร่วมประชุม “The First Asian Buddhist Summit 2024” ที่นิวเดลี งานนี้จัดโดยกระทรวงวัฒนธรรมและท่องเที่ยวของรัฐบาลอินเดีย