อีกไม่นานเกินรอ น้ำตาจะคลอเมื่อเห็นโลงศพ

เมื่อปี่กลองของการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยดังกระหึ่มขึ้น พรรคการเมืองของไทยทุกพรรคก็สุดที่จะคึกคัก ฝ่ายที่เป็นรัฐบาลอยู่ยิ่งคึกมากจนศรีธนญชัยออกมาเพ่นพ่านให้เห็น วันๆ ไม่ได้คิดไม่ได้นั่งทำงาน แต่กลับออกไปตรวจราชการแถวต่างจังหวัดจนหัวชนกัน ยิ่งพวกที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือที่เรียกว่า ส.ส. ที่ได้รับการเลือกตั้งตามหนทางประชาธิปไตยเข้ามา บ้างก็ลาออก บ้างก็หนีประชุม อ้างโน่นอ้างนี่ แต่ก็เห็นๆ กันว่าไปเป็นศรีธนญชัยหาเสียงปาวๆ อยู่ต่างจังหวัด นี่คือการเมืองไทยซึ่งเรียกได้ว่าเป็น “การเมืองแบบศรีธนญชัย”

เรื่องที่นักการเมืองส่วนใหญ่โดยเฉพาะพรรคที่เป็นรัฐบาลอยู่พูดเน้นกันเต็มหูของประชาชนตอนนี้คือ การเพิ่มเงินสวัสดิการต่างๆ นานาให้แก่ประชาชนระดับรากหญ้า ถึงกับถกเถียงกันว่าข้าเป็นคนคิดเอามาใช้ก่อน ไม่ว่าจะเป็นบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ บัตรคนพิการ ความจริงการที่คนไทยที่ยากจน สูงอายุ หรือพิการได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลที่มีทั้งของใหม่และปรับของเก่าให้มากขึ้นนั้น เราต้องขอบคุณโควิด-19 อย่างเดียวเท่านั้น ถ้าไม่มีโรคร้ายนี้เข้ามาระบาด คนไทยจะได้รับการดูแลในเรื่องเงินสวัสดิการจากรัฐบาลแบบนี้หรือ

สรุปแล้ว “การเมืองแบบศรีธนญชัย” ที่เหมือนยี่เกโรงใหญ่ที่แข่งกันแสดงต่อหน้าประชาชนทั้งประเทศในขณะนี้ ช่วยดูให้ดีเถอะ ยังไม่มีพรรคการเมืองใดได้เอ่ยถึงปัญหารากเหง้าที่ประเทศไทยได้เผชิญมาตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศในปี พ.ศ.2475 ร่วม 90 ปีแล้วแต่อย่างใด ที่อยู่ได้ทุกวันนี้ก็เพราะมีบุญเก่าที่สร้างสมมาโดยพระมหากษัตริย์และบรรพบุรุษแต่เก่าก่อนทั้งนั้น ตามที่คุณเปลว สีเงิน คอลัมนิสต์อาวุโสชื่อดังได้กล่าวไว้

คนไทยที่มีสิทธิเลือกตั้งทุกคนในวันนี้ คงจะเห็นเป็นประจักษ์ดีแล้วว่า ผู้นำของไทยในอดีตถึงปัจจุบัน ทั้งที่เข้ามาด้วยหนทางประชาธิปไตยและด้วยการปฏิวัติรัฐประหาร ยกเว้นไม่กี่คน ล้วนแต่ขาดปัญญาและทักษะในการวางเป้าหมายหลักชัดๆ เพื่อนำพาประเทศออกไปแข่งขันกับเขาให้ได้

ผู้นำเรามักมองแต่เรื่องเล็กๆ หยุมหยิม มองประเทศเหมือนชาวบ้านรากหญ้าทั่วไป แต่ไม่มองเหมือนผู้นำชาติอื่นแม้ที่เป็นเพื่อนบ้านอย่าง อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และมาเลเซีย และเมื่อได้เป็นผู้นำแล้ว ไม่เคยทำเพื่อประเทศจริง ที่พูดแต่ปากว่าต้องการเข้ามาทำเพื่อประเทศชาติและประชาชนนั้น แท้ที่จริงทำเพื่อตัวกู พวกกู และพรรคกู ทั้งนั้นที่ขยันออกสื่อกันตอนนี้จึงเป็นการเมืองแบบศรีธนญชัยโดยแท้ พี่น้องคนไทยทั้งหลายยังจะเลือกเข้าไปบริหารประเทศได้หรือ

ลองมาวิเคราะห์ถึงสิ่งที่ขาดที่เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการสร้างความก้าวหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืนของประเทศ แต่เป็นเรื่องที่พรรคการเมืองและนักการเมืองไทยไม่กล้าคิดกล้าทำ หรือแม้แต่จะพูดถึง มาดูว่ามีอะไรกันบ้าง

ประการแรก คือ การปล่อยให้มีการทุจริตคอร์รัปชันในวงนักการเมืองและข้าราชการทุกประเภทอย่างกว้างขวาง ยุค 6-7 ปี ที่ผ่านมานี้ ถือว่าไม่มียุคไหนในอดีตที่เราจะได้ฟังเรื่องทุจริตคอร์รัปชันมากเท่าอีกแล้ว การให้สินบาทคาดสินบนตลอดทั้งการส่งส่วยให้แก่นักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐชั้นผู้ใหญ่ของราชการ ไม่ว่าในสังกัดไหนก็ตาม ยุคนี้ดูเหมือนจะถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้คิดจะทำชั่วจะใช้อำนาจของตนไปทำอย่างน่าตาเฉย ทำเพื่อเปลี่ยนเรื่องผิดให้เป็นถูก หรือเรื่องถูกให้เป็นผิดได้มากขึ้น

ในเอเชียประเทศไทยติดอันดับดัชนีชี้วัดคอร์รัปชัน (Corruption Perception Index) สูงถึง 100 ในปี 2556 ซึ่งเป็นปีฝีแตกจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือก แต่หลังจากการปฏิวัติโดย คสช. ในปี 2557 ดัชนีนี้ก็ดีขึ้น 2 ปีแรกเหลือ 85 และ 76 และแล้วในปี 2559 ดัชชีชี้วัดคอร์รัปชันของไทยก็สูงขึ้นอีกเป็น 101 ซึ่งประเทศที่อันดับใกล้เคียงกับไทยก็มีเวียดนาม เปรู ฟิลิปปินส์ และติมอร์-เลสเต จากนั้นตั้งแต่ปี 2560 ประเทศไทยเราก็ครองอันดับใกล้เคียง 100 จาก 180 ประเทศมาตลอด จนกระทั่งปี 2564 ดัชนีของไทยได้พุ่งสูงสุดถึง 110 ซึ่งเข้าใจว่ามาจากคอร์รัปชันในการต่อสู้กับโควิด-19 มาผสมด้วย แต่ปี 2565 ก็ได้ลดลงมาหน่อยเหลือ 101

ไหนคุยนักคุยหนาว่ารัฐธรรมนูญปี 60 นี้ เป็นรัฐธรรมนูญปราบโกงไงครับ กลับกลายเป็นรัฐธรรมนูญที่มีคอร์รัปชันสูงสุดไปได้อย่างไร ไม่แต่เท่านี้ ยังเป็นรัฐธรรมนูญที่ก่อให้เกิดการขาดธรรมาภิบาลมากที่สุดอีกด้วย


ประการที่สอง คือ การขาดการสร้างเสริมธรรมาภิบาลให้เป็นรูปธรรมเป็นที่เชื่อถือของประชาชนและต่างประเทศ การมีทุจริตคอร์รัปชันที่ยิ่งดาษดื่นเช่นทุกวันนี้ก็เป็นตัวชี้ให้เห็นการขาดธรรมาภิบาลในการบริหารประเทศที่ชัดเจนอยู่แล้วจากศรีธนญชัยธรรมดาก็เป็นศรีธนญชัยเลื้อยคลาน หัวก็ส่าย ลำตัวก็ส่าย หางก็ส่ายด้วย ประชาธิปไตยของไทยก็จะมืดมน ประชาชนส่วนใหญ่ก็จะตกอยู่ในวัฏจักรของความยากจนเหมือนเดิม

ไม่จำเป็นต้องไปดูเรื่องเล็กเรื่องน้อย ดูได้จากปรากฏการณ์ใหญ่ๆ ที่ประชาชนคนไทยได้เห็นกันเมื่อเร็วๆ นี้ ตั้งแต่เรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญได้พิพากษาให้ท่านนายกรัฐมนตรีของประเทศหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว จนกระทั่งศาลรัฐธรรมนูญได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 3 มีนาคมนี้ ให้ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวเช่นกัน นี่เป็นเรื่องที่ยิ่งกว่าการขาดธรรมาภิบาล

ประการที่สาม คือ การขาดผู้นำของประเทศที่กล้าผลักดันและลงมือทำการปฏิรูปปัญหาหลักของประเทศที่เห็นๆ กันอยู่ให้พลิกผันไปสู่การพัฒนาเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน ตลอดเวลาของการขอเวลาเข้ามาแก้ไขปัญหาของประเทศหลายปีของ คสช. ปัญหาที่มีการพูดถึงโดยตลอด ไม่มีอะไรถูกแก้ไขให้เห็นแม้แต่น้อย ทำได้แค่ตั้งคณะกรรมการมาร่างข้อเสนอให้พิจารณาเพื่อโยนทิ้งถังขยะทุกเรื่อง

นับตั้งแต่ปัญหาปฏิรูปการศึกษาที่ไทยเราตามคนอื่นไม่ทันแล้ว ปัญหาการปรับโครงสร้างของระบบราชการ ซึ่งตอนนี้แม้ข้าราชการจะยังสามารถรับใช้ประเทศขับเคลื่อนได้บ้าง แต่ก็เป็นการทำงานตามแนวคิดและวิถีทางที่อิงการทุจริตฉ้อโกงที่นำโดยนักการเมืองเป็นสรณะ ซึ่งแตกต่างอย่างมากกับประเทศเกาหลีหรือญี่ปุ่น ยิ่งเงินเดือนน้อยกว่ามาตรฐานที่ควรจะเป็นมากเท่าใด ก็ยิ่งเพิ่มราคะของความโลภและความหลงให้บรรดาข้าราชการทุกฝ่ายมากขึ้นเท่านั้น รวมทั้งปัญหาการปรับโครงสร้างของตำรวจและทหาร และปัญหาการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิผลไม่มีอะไรออกมาให้เห็นกันเลย

ประการที่สี่ คือ การสร้างรายได้ของประเทศให้เติบโตแบบพลิกผันเพื่อให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างทั่วถึง รวมทั้งการหาวิธีเพิ่มรายได้จากภาษีอากรเข้ารัฐเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการด้านงบประมาณแผ่นดินที่สูงขึ้น เพื่อปรับดุลการคลังให้ดีขึ้นด้วย

การเสริมสร้างรายได้ของประเทศ หรือก็คือ GDP ให้เติบโตแบบพลิกผันนั้น สมัยนี้ไม่เหมือนแต่ก่อนที่มุ่งแต่การส่งเสริมการลงทุนเท่านั้น ปัจจุบันนี้โลกเปลี่ยนไปมากแล้ว คนที่อยู่ในรัฐบาลก็ทราบดีว่าต้องมีการกระตุ้นการบริโภคให้เข้มแข็งขึ้น ซึ่งก็ทำกันมากด้วยการที่รัฐแจกเงินให้คนไปเที่ยวให้คนไปซื้อของ แต่การกระตุ้นแบบนี้ทำไม่ได้ตลอดและได้ผลไม่จีรังหรอกครับ

ในช่วงที่เศรษฐกิจของไทยโตได้ 3-4% เช่นนี้ และประกอบกับช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น ช่วงอัตราเงินเฟ้อค่อนข้างสูง แต่เศรษฐกิจโลกกำลังถดถอย เป็นโอกาสที่ดีมากที่ต้องหาวิธีการเพิ่มรายได้ค่าจ้างงาน และให้รวมถึงรายได้ของข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจให้เข้าสู่ระดับที่สอดคล้องและได้ดุลกับปัจจัยทางเศรษฐกิจด้านต่างๆ ซึ่งเรื่องนี้นักการเมืองที่มาจากประชาธิปไตยไม่เต็มใบ คิดแต่ว่าจะเอาเงินมาจากไหน การขับเคลื่อนในเรื่องนี้ของฝ่ายรัฐบาลจึงไม่เกิด

ยิ่งตอนนี้แรงงานขาดแคลน ไม่ใช่เฉพาะในอุตสาหกรรมโรงแรม แต่ภาคการก่อสร้างและอื่นๆ ด้วย ก็จำต้องปรับค่าจ้างให้สอดคล้องกับการใช้แรงงานจากต่างประเทศด้วย มาถึงจุดนี้ไม่ต้องกลัวธุรกิจและอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ จะร้องว่าทำให้ต้นทุนสูง แต่ช่วงนี้เป็นจังหวะที่รัฐบาลต้องนำนโยบายนี้มาใช้

ส่วนการปรับเงินเดือนให้ข้าราชการและทหารตำรวจนั้น ถึงเวลาแล้วที่ต้องทำก่อนที่ระบบราชการทั้งหมดจะต้องเผชิญกับประสิทธิผล (Productivity) ที่หย่อนยานเกินจุดที่จะรับได้ ถ้าจะขจัดการคอร์รัปชันในภาครัฐก็ต้องเพิ่มเงินเดือนให้ข้าราชการก่อน แล้วจึงขยับเพิ่มรายได้ด้วยวิธีการที่เหมาะสมให้แก่ลูกจ้างภาคเอกชน แล้วรัฐบาลก็จะสามารถเพิ่มการบริโภคภาคประชาชนให้เสริมการขยายตัวของ GDP ด้วย อย่างไรก็ตาม นโยบายนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเอาคนที่ล้นงาน และคนที่ไร้ประสิทธิภาพออกอย่างเป็นระบบด้วย

สำหรับประเด็นที่ว่าทุกรัฐบาลหวาดกลัวการเก็บภาษีเพิ่ม เพราะจะทำให้เสียคะแนนเลือกตั้งนั้น ความคิดนี้มันเป็นของนักการเมืองที่รู้จักแต่อำนาจอย่างเดียวเท่านั้น โดยไม่สนใจเรื่องการนำพาประเทศไปข้างหน้าเลย ประชาชนควรใช้โอกาสที่จะมีการเลือกตั้งครั้งที่กำลังจะมาถึงนี้ขจัดนักการเมืองแบบนี้ออกไปจากแวดวงการเมืองได้แล้ว

พวกเล่นการเมืองแบบศรีธนญชัยหาได้รู้ไม่ว่า ประเทศที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามามากอย่างประเทศไทยนั้น เหมาะที่จะต้องมีการเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้สูงขึ้น เพราะนักท่องเที่ยวที่มาจับจ่ายใช้สอยในประเทศเรา เขาจะเป็นผู้รับภาระภาษีมูลค่าเพิ่มเต็มที่มาก กว่าคนไทย นอกจากนั้น ยังอาจแก้และปรับปรุงกฎเกณฑ์ของภาษีมูลค่าเพิ่มส่วนที่กระทบคนจนให้เบาบางลงอีกก็ยังได้

ประเทศไทยเก็บ VAT ที่ 7% มากว่า 25 ปีแล้ว ขณะที่ไม่กี่ปีมานี้ทั้งเกาหลี ญี่ปุ่นปรับขึ้นกันหมดแล้ว ของประเทศสิงคโปร์ก็มีการปรับภาษี GST (ซึ่งคล้ายกับ VAT) เป็นร้อยละ 8 เมื่อ 1 มกราคม 2566 นี้เอง และจะปรับเป็นร้อยละ 9 ในวันที่ 1 มกราคม 2567 ด้วย ส่วนประเทศในยุโรปไม่ต้องพูดถึง ของเขาเก็บ VAT กันที่ 20% เป็นอย่างน้อยอยู่แล้ว ทั้งนี้ ขออย่ามาอ้างว่ารัฐบาลนี้กำลังจะเก็บภาษีเหยียบแผ่นดินคนละ 200-300 บาท ผมว่าลองเก็บดูเถอะ การฉ้อโกงก็จะตามมาอย่างแน่นอน ในเรื่องการท่องเที่ยวเวลาตกต่ำก็พร่ำเรียกร้องกันเหลือเกิน พอดีขึ้นหน่อยก็จะสร้างความหยุมหยิมน่ารำคาญขึ้นมาอีก ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้มันก็เป็นที่น่ารำคาญมากอยู่แล้ว

ถ้านักการเมืองไทยลดความคิดเรื่องอยากเอาแต่อำนาจเพื่อประโยชน์ของตัวเองและพรรคพวกลงบ้าง แล้วท่านก็จะมีเวลาคิดทางออกในการนำพาชาวประชาให้มีชีวิตที่ดีกว่านี้ได้อีกมาก บางทีอาจจะไม่ต้องหลั่งน้ำตาเมื่อเห็นโลงศพนะท่าน

บทความ โดย สมหมาย ภาษี

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อังกินันทน์' ชนะขาด! ประกาศผลนับคะแนนเลือกตั้ง 'นายก อบจ.เพชรบุรี'

องค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบุรี รายงานผลการนับคะแนนเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบุรี (อย่างไม่เป็นทางการ) ณ เวลา 23.59 น. โดยนับครบแล้วทั้ง 734 หน่วยเลือกตั้ง

ประกาศผลนับคะแนนเลือกตั้ง 'นายก อบจ.อุดรธานี' อย่างไม่เป็นทางการ

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รายงานผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ ของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี

โค่นแชมป์เก่า! 'วาริน' คว้าชัย 'นายก อบจ.เมืองคอน' ทิ้งห่าง 'กนกพร'

ผลการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นครศรีธรรมราช อย่างเป็นทางการ ประกาศว่า นางสาววาริน ชิณวงศ์ ผู้สมัครหมายเลข 2 จากทีมนครเข้มแข็ง

ตอกยํ้าดีลฮ่องกง ลิ่วล้อแจงแทนนาย ‘พรรคส้ม’ ยากเป็นรัฐบาล

ตอกย้ำดีลฮ่องกงเหลว! "ณัฐวุฒิ" ขยายความ "ทักษิณ" คุย "ธนาธร" แค่เล่าชะตากรรม ไม่มีการพาดพิง ม.112 กับก้าวไกล เผยตั้งแต่โหวต "พิธา"

'พิธา' คุยพรรคประชาชนแข่งเลือกตั้งมีแต่ชนะกับพัฒนา ไม่มีคำว่าแพ้

ที่จ.อุดรธานี แกนนำ สส. และผู้ช่วยหาเสียงพรรคประชาชน ร่วมเวทีปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งนายก องค์การ​บริหาร​ส่วน​จังหวัด​ (อบจ.)​ อุดรธานี ที่จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 พ.ย. 2567 ซึ่งพรรคประชาชนได้ส่ง คณิศร ขุริรัง เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายก