จับตาดีลยักษ์โทรคมนาคม จากสนามแข่งสู่พาร์ตเนอร์

การควบรวมกิจการของ TRUE และ DTAC จะยิ่งบีบให้ผู้บริโภครายย่อยขาดทางเลือกในการใช้บริการ และเป็นการลดอำนาจการต่อรองของผู้บริโภคอย่างรุนแรง ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่ประชาชนจะถูกเอาเปรียบจากเอกชนผู้ให้บริการมากขึ้น โดยมองว่าสิทธิของผู้บริโภคจะต้องมีอิสระในการเลือกผู้ให้บริการ ดังนั้นผู้ให้บริการจะต้องมีความหลากหลายในตลาดมากกว่านี้

เมื่อช่วงต้นสัปดาห์เกิดดีลสะท้านวงการ สำหรับการประกาศความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกัน (Equal Partnership) ของเครือซีพี และกลุ่มเทเลนอร์ ซึ่งมีความพยายามในการควบรวมกิจการของผู้ให้บริการโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่อย่าง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (DTAC) เข้าด้วยกัน 

โดยความร่วมมือในครั้งนี้จะมีการปรับโครงสร้างบริษัทครั้งใหญ่ ที่จะยกระดับจากผู้ให้บริการโทรคมนาคมมาเป็นบริษัทเทคโนโลยี หรือ Tech Company ภายใต้ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีฮับ ซึ่งจะเน้นการสร้างดิจิทัลอีโคซิสเต็ม ซึ่งมุ่งหวังจะทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางทางเทคโนโลยีระดับภูมิภาคอีกด้วย 

เปลี่ยนจากคู่แข่งเป็นพาร์ตเนอร์

อย่างที่ทราบกันดี ก่อนหน้านี้ทั้งสองบริษัททั้งดีแทคและทรูต่างก็แข่งขันกันอย่างดุเดือด ผลัดกันแย่งชิงส่วนแบ่งอันดับ 2 และ 3 มาโดยตลอด แต่จุดเปลี่ยนที่ทำให้ทั้งสองบริษัทตัดสินใจที่จะหันหน้าคุยและจับมือเป็นพาร์ตเนอร์นั้นมีหลายปัจจัย

ประการแรก ธุรกิจขยายตัวยาก เห็นได้ชัดว่าในช่วงที่เศรษฐกิจไทยกำลังเจอปัญหาจากโควิด ส่งผลต่อธุรกิจในหลายอุตสาหกรรม ซึ่งรวมถึงธุรกิจโทรคมนาคมด้วย ดังนั้นการเติบโตโดยใช้การซื้อกิจการหรือ การควบรวมจึงเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยผลักดันธุรกิจเติบโตไปข้างหน้า 

ประการที่สอง ช่วยลดต้นทุน เพิ่มแต้มต่อในการแข่งขัน ซึ่งการที่ทั้งสองบริษัททำการควบรวมกันจะทำให้มีจำนวนลูกค้าในมือเพิ่มขึ้นทันที เกิดการประหยัดต่อขนาด (economies of scales) ลดการลงทุนซ้ำซ้อน โดยเฉพาะเรื่องของการขยายเน็ตเวิร์ก ซึ่งก็จะทำให้สามารถขยับรายได้ขึ้นมาทัดเทียมสูสีกับเจ้าตลาด

ประการที่สาม ธุรกิจโทรคมนาคมกำลังเปลี่ยนแปลงสู่ยุคขาลง เนื่องจากธุรกิจโทรคมนาคมนั้นไม่สามารถที่จะเติบโตแบบก้าวกระโดดได้อีกแล้ว อันเนื่องมาจากตลาดค่อนข้างอิ่มตัว ประชากรเกือบ 100% ใช้โทรศัพท์มือถือ สมาร์ทโฟน และอินเทอร์เน็ตกันเกือบหมดแล้ว ตั้งแต่การเติบโตในแง่ฐานลูกค้านั้นจะมีน้อยมาก จะเพิ่มรายได้แค่เพียงบริการเสริมที่นำเสนอต่อลูกค้า ดังนั้นบทบาทของผู้ให้บริการของธุรกิจโทรคมนาคมก็เป็นแค่ Dump Pipe ที่ทำหน้าที่สร้างเครือข่ายรับส่งข้อมูลเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มใดๆ

ปรับโครงสร้างเพื่ออยู่รอด

ในมุมมองของ ซิกเว่ เบรกเก้ ประธาน และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เทเลนอร์กรุ๊ป มองว่า ธุรกิจโทรคมนาคมในอดีต (อาจย้อนไปราว 20 ปีก่อน) ซึ่งประเทศไทยมีการแข่งขันระหว่าง เอไอเอส ทรู และดีแทค เป็นการเติบโตอย่างมีศักยภาพ แต่ภาพการเติบโตนั้นได้จบลงไปแล้ว และบริษัทสื่อสารต้องมีการปรับตัวเพื่อก้าวไปสู่การเป็น เทคคอมพานี ซึ่งซิกเว่เปรียบการมาถึงของโลกการแข่งขันในอนาคต 20 ปีข้างหน้าที่เต็มไปด้วย AI, 5G หรือ 6G, คลาวด์ และ IoT ว่าเป็นเหมือน Perfect Storm (สถานการณ์ย่ำแย่เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน) และถ้าบริษัทโทรคมนาคมไม่เปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจก็จะถูกพายุดังกล่าวทำลายลงอย่างแน่นอน

สอดรับกับความคิดเห็นของ นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ภาพรวมของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม (Telecom Landscape) ได้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จากเทคโนโลยีใหม่และตลาดที่เปิดกว้างต่อการแข่งขัน โดยผู้ประกอบการจากอุตสาหกรรมดิจิทัลขนาดใหญ่ในระดับภูมิภาคเข้ามาเสนอรูปแบบบริการดิจิทัลมากขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว

 “ทุกวันนี้ การทำให้วิถีชีวิตของผู้คนดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการโทรคมนาคมมีบทบาทน้อยลงเรื่อยๆ จนมีคนเรียกหมวดสื่อสารว่าเป็น Dump Pipe หรือท่อที่ไม่ฉลาด สิ่งที่เราเผชิญคือ การเปลี่ยนจากยุค 4.0 ซึ่งเป็นยุคของข้อมูล หรือ BigData ไปสู่การเป็น 5.0 ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับ AI, คลาวด์ ตลอดจนฮาร์ดแวร์ใหม่ๆ และ Space Technology ซึ่งประเทศไทยต้องการการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก และเราก็เล็งเห็นว่าตัวเราทั้งสองบริษัทก็มีข้อจำกัด ที่ว่าเราไม่สามารถเพิ่มมูลค่าต่อได้ ข้อจำกัดที่ว่าเรายังเป็นผู้ประกอบการที่ทำโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมเป็นหลัก ซึ่งข้อจำกัดเหล่านี้ทำให้เราไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผู้บริโภคและประเทศไทยได้”

ประชาชนได้อะไรจากการควบรวม

ประเด็นนี้หากมองในเชิงธุรกิจต้องบอกว่า ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมได้ประโยชน์แน่นอน เพราะการแข่งขันลดลง และผู้ให้บริการสามารถฮั้วราคากันได้ง่าย และยิ่งส่งผลดีต่อการสร้างกำไรให้บริษัท แต่ในภาคประชาชนและลูกค้าได้ประโยชน์อะไร ในส่วนนี้ นฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ให้ความเห็นเผยแพร่ลงบนหน้าเว็บไซต์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า การควบรวมกิจการของ TRUE และ DTAC จะยิ่งบีบให้ผู้บริโภครายย่อยขาดทางเลือกในการใช้บริการ และเป็นการลดอำนาจการต่อรองของผู้บริโภคอย่างรุนแรง ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่ประชาชนจะถูกเอาเปรียบจากเอกชนผู้ให้บริการมากขึ้น โดยมองว่าสิทธิของผู้บริโภคจะต้องมีอิสระในการเลือกผู้ให้บริการ ดังนั้นผู้ให้บริการจะต้องมีความหลากหลายในตลาดมากกว่านี้

พร้อมกันนี้ นอกจากผู้บริโภคที่อาจจะเสียผลประโยชน์แล้ว อาจยังมีโอกาสกระทบไปถึงหน่วยงานและองค์กรต่างๆ อีกเป็นจำนวนมาก โดยยกตัวอย่างการประมูลคลื่นโครงข่าย 5G ที่เพิ่งจบไปไม่นานว่า หากอนาคตเหลือผู้เล่นในตลาดเพียง 2 รายในการประมูลอื่นๆ ที่จะมาถึง แม้แต่ภาครัฐเองก็จะได้รับผลกระทบจากรายได้ส่วนนี้ที่จะลดลงด้วยเช่นเดียวกัน 

กสทช.ทำอะไรได้บ้าง

นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน) ระบุว่า เรื่องการรวมกิจการของทั้งสองค่ายยังเป็นขั้นตอนการเจรจา ซึ่งยังไม่มีข้อสรุป และยังไม่แน่นอนว่าจะเกิดการรวมกิจการกันหรือไม่ ซึ่งจากข้อมูลยังเป็นการพูดคุยถึงการควบรวมในบริษัทแม่ ไม่ใช่ทรูมูฟ เอช และดีแทค ไตรเน็ต (บริษัทลูก) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคม จึงต้องพิจารณาว่าบริษัทแม่มีกิจการและจะรวมกิจการอะไรบ้าง ในส่วนกิจการโทรคมนาคมนั้นเป็นอำนาจหน้าที่ของ กสทช.อย่างแน่นอน แต่หากมีบริษัทลูกที่ประกอบกิจการอื่นและอยู่ในกรอบการเจรจารวมกิจการในครั้งนี้ ก็ต้องพิจารณาตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกฎหมายแข่งขันทางการค้า 

ในส่วน กสทช. มีประกาศหลักที่กำกับดูแลในกรณีนี้ คือ ประกาศเรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 (ประกาศแข่งขัน) และประกาศเรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม (ประกาศรวมธุรกิจ) ซึ่งสามารถกำกับดูแลในส่วนนี้ได้ 

อย่างไรก็ดี ดีลนี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่อาจจะต้องใช้เวลาอย่างน้อยอีกหลายเดือน ซึ่งทั้งสองบริษัทก็จะต้องทำการสอบทรัพย์สิน และต้องเข้าหารือกับหน่วยงานที่กำกับดูแลซึ่งถือกฎหมายทั้งหมด ทั้ง กสทช. คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) รวมไปถึงขั้นตอนในแง่มุมของตลาดทั้ง ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์ และอีกมายมาย ซึ่งกว่าจะชัดเจนว่าดีลนี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่สำเร็จ หรือจะมีทางออกไปในทิศทางที่ต่างจากนี้ ก็คงจะเห็นภาพได้อย่างเร็วสุดคือไตรมาส 1 ปี 2565.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อภิสิทธิ์-อดีตนายกรัฐมนตรี มอง 'จุดเสี่ยง' รัฐบาลเพื่อไทย ระเบิดการเมือง วางไว้เองหลายลูก

แม้ขณะนี้จะไม่ได้มีตำแหน่งทางการเมืองใดๆ แต่สำหรับ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์" การแสดงทัศนะหรือความคิดเห็นทางด้านการเมือง

ความเสื่อม.. ที่ควรเห็น.. ก่อนตาย!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. มีคำกล่าวเป็นสุภาษิต ว่า ความเสื่อมของมนุษย์ ล้วนมีสาเหตุมาจากมนุษย์.. ความเสื่อมของสิ่งใดๆ .. ก็มีสาเหตุมาจากสิ่งนั้นๆ..

รัฐบาลแพทองธาร อยู่ไม่ครบปี บิ๊กป้อม ยังสู้-พปชร.เดินหน้าต่อ

เหลือเวลาอีกเพียง 3 สัปดาห์เศษ ปี 2567 ก็จะผ่านพ้นไปแล้วเพื่อเข้าสู่ปีใหม่ 2568 ซึ่งภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2567 เป็นอย่างไร และปีหน้า 2568 จะมีทิศทางเช่นไร เรื่องนี้มีมุมมองแนววิเคราะห์จาก

คานถล่ม ผู้บริสุทธิ์จบชีวิต 6 ราย กับ สำนึกของนักการเมืองไทย!

เช้าตรู่วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2567 เกิดโศกนาฏกรรมคานเหล็กยักษ์ที่ใช้สำหรับก่อสร้างทางยกระดับถนนพระราม 2 ถล่ม คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์จำนวน 6 ราย

ศึกเลือกตั้ง อบจ. 1 ก.พ. 68 Generation War พท.-ปชน. บารมีบ้านใหญ่ ขลังหรือเสื่อม?

การเมืองท้องถิ่นกับการเลือกตั้ง "นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด" (นายก อบจ.) ซึ่งที่ผ่านมามีการเลือกตั้งกันไปหลายจังหวัด ได้รับความสนใจจากแวดวงการเมืองอย่างมาก