ปัญหาของภาคเกษตรโดยรวมไม่เฉพาะบ้านเรา คือเกษตรกรอายุเฉลี่ยมากขึ้น เมื่อไม่นานมานี้ดูข่าวทีวีช่องหนึ่งไปสัมภาษณ์ชาวสวนลำไยที่ทุกคนสูงวัย และพูดถึงลูกหลานไม่สนใจทำอาชีพเกษตร ผมจึงของนำเรื่องราว ที่พูดคุยกับคนที่เรียกได้ว่า ผู้ประกอบการด้านเกษตรรุ่นใหม่ลูกอีสาน 3 กรณีมานำเสนอ
กรณีแรก (Field MUSH Fun ทุ่งเฮ็ดสนุก ความสุขปลอดสาร) เธอเป็นลูกเกษตรกรแถวปากช่อง ที่เรียนเก่ง เห็นพ่อแม่ ชาวสวน มีรายได้เป็นฤดูกาล ราคาผลผลิตขึ้นๆ ลงๆ ก็มีความคิดในใจว่าทำอย่างไรจะช่วยเกษตรกรเหล่านี้ได้ในอนาคต สอบเข้ามหาวิทยาลัย เพื่อนๆ กลุ่มเก่งๆ ด้วยกัน ก็เลือกหมอ วิศว เธอเลือกเรียนเกษตรที่ ม.อุบลราชธานี โดยที่ญาติพี่น้อง ครูอาจารย์ พยายามให้เปลี่ยนใจ ระหว่างเรียน ป.ตรี ขอทำงานช่วยอาจารย์ใหห้องปฏิบัติการ จบ ป.ตรี เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง (คนแรก ของคณะเกษตรศาสตร์ ม.อุบลฯ) อาจารย์เลยแนะนำให้สมัครทุนกาญจนาภิเษก เรียนต่อที่คณะเกษตรศาสตร์ มข. ซึ่งเธอได้รับคัดเลือกเข้าเรียน ป. โท-เอก แบบควบจากผลการเรียน ป.ตรี ที่ดีเยี่ยม จบ ป.เอก ทำงานแรกกับฝ่ายวิจัยกลุ่มน้ำตาลยักษ์ใหญ่ เปลี่ยนงานไปอยู่บริษัทยักษ์ใหญ่อีกแห่ง ที่ส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งได้ใช้ความรู้ที่เรียนมา ไปทำงานกับเกษตรกรจริงๆ เมื่อมีครอบครัวมีลูก เริ่มอยากทำกิจการของตัวเอง อยากปลูกของแพง ส่งตลาดบน โชคดีได้เช่าที่ดิน 12 ไร่ในเมืองขอนแก่นของเศรษฐีที่ดินให้เช่าทำการเกษตรคิดค่าเช่าเพียง 500 บาท/ไร่ ปลูกผักปลอดภัยคุณภาพสูงหลายชนิดเช่น Kale มะเขือเทศ ส่งร้านอาหาร โรงแรม และขายออนไลน์ มะเขือเทศของเธอราคาสูงกว่าสตอเบอรี่ แม้จะยังขอรับรองเป็นผลผลิตออร์กานิคไม่ได้ เพราะใช้น้ำปะปา และไม่กล้าลงทุนมาก เนื่องจากสัญญาเช่าที่ดินปีต่อปี ขณะนี้เริ่มขยับขยายไปทำบนพื้นที่ตัวเอง ดึงเกษตรกรมาเป็นเครือข่ายร่วมผลิต เพราะเกษตรกรเครือข่ายของเธอส่วนใหญ่ภาครัฐได้เข้ามาสนับสนุนเฉพาะภาคการผลิต แต่ไม่ได้ช่วยด้านการตลาด ปัจจุบันรายได้อยู่ในระดับน่าพอไจ แม้จะไม่เท่าเงินเดือนที่เคยได้
กรณีที่ 2 (มิสเตอร์คอร์นฟาร์ม) คู่สามีภรรยา จบการศึกษาปริญญาจากสองมหาวิทยาลัยในอีสาน ฝ่ายชายจบมาใหม่ๆ ไปทำงานฝ่ายวิจัย ฝ่ายผลิตของบริษัทการเกษตร 7 ปี กลับมาเรียนต่อ ป. โท ปรับปรุงพันธุ์พืช เจอเพื่อนร่วมชั้นลูกเกษตรกร ที่มีความสนใจคล้ายๆกัน ตัดสินใจร่วมเป็นคู่ชีวิต กู้เงินหาซื้อพื้นที่ในขอนแก่น ปลูกเมล่อน ซื้อลิขสิทธิ์พันธุ์ข้าวโพดจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นไปผลิตเมล็ดพันธุ์จำหน่าย ใช้ประสบการณ์ที่เรียนและทำงานมา เรื่มงานปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพด มุ่งขายสายพันธุ์พ่อ-แม่ ขายลิขสิทธิ์พันธุ์ และผลิตพันธุ์เฉพาะเพื่อจำหน่ายที่ร้านมิสเตอร์คอร์น ที่เปิดจำหน่ายผลผลิต กาแฟ และ อาหาร จดทะเบียนอีกบริษัทชื่อ หจก. คัพเวอร์การเกษตร เน้นทำงานปรับปรุงพันธุ์ทั้งของตัวเองและความร่วมมือ เช่นปัจจุบันร่วมกับบริษัทเกาหลี รับงานช่วยปรับปรุงพันธุ์พริก ปีนี้ภรรยาได้รับเลือกเป็นเกษตรกรดีเด่นของจังหวัดขอนแก่น เมื่อถามว่าได้อะไรจากงานนี้ เธอหัวเราะบอกว่าได้ป้ายมาติดที่ฟาร์ม และภารกิจที่ถูกร้องขอ แต่ก็ได้เครือข่าย ได้เข้าถึงกิจกรรมของหน่วยงานบางหน่วย ที่ปกติเกษตรกรธรรมดาเข้าถึงยาก เช่นศูนย์ออกแบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (TCDC) ช่วยออกแบบโลโก้ผลิตภัณฑ์ การได้เป็นเกษตรกรดีเด่นจึงถูกเชิญเป็นหนึ่งในสี่สิบ Young Smart Farmer ของขอนแก่น ซึ่งมีเธอคนเดียวที่จบการศึกษาด้านเกษตรมาโดยตรง
กรณีที่ 3 (ไร่ภูแสงทอง ภูเขียว ชัยภูมิ) จบการศึกษาเกษตรจาก ม.ใกล้บ้าน เริ่มทำงานกับบริษัทเคมีเกษตร 2 ปี เป็นลูกจ้างราชการอีก 1 ปีตัดสินใจกลับบ้าน ซึ่งที่บ้านมีที่ดินให้คนเช่า เริ่มทำการเกษตรบนพื้นที่ตัวเองตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงที่ขัดใจพ่อ แม่พี่น้อง ปลูกข้าวมะลิแดง ปลูกผักที่ผ่านการรับรองมาตรฐานออร์กานิคไทยแลนด์ ของกรมวิชาการเกษตรแห่งเดียวในอำเภอภูเขียว จ.ชัยภูมิ เปิดร้านขายอาหารแนวอาหารสุขภาพ รวมถึงพืชทันสมัย “กัญชา” ออร์กานิค ที่พอถามถึงเรื่องนี้ ก็อธิบายว่า เป็นพืชการเมือง ปลูกแล้วไม่มีที่ขาย ยังไม่เห็นงานวิจัยปรับปรุงพันธุ์กัญชาของไทยเอง คิดว่าการปลูกในโรงเรือนตามต่างประเทศ เป็นการเดินผิดทาง
ในการพูดคุยกับทั้งสามราย ได้ชวนคุยเรื่องการที่คนรุ่นใหม่ ไม่ค่อยสนใจเข้าสู่ภาคเกษตร ทำให้เรามีแต่เกษตรกรสูงวัย ซึ่งเป็นปัญหาไม่ใช่เฉพาะบ้านเรา แต่เหมือนหลายประเทศในโลก ทั้งสามคนมีความเห็นว่า มาจากภาพลักษณ์เดิม ที่ว่าเกษตร เป็นอาชีพยากจน งานหนัก พ่อแม่ของทุกราย อยากให้ลูกรักทำงานดีๆ มากกว่างานลำบากเหมือนพวกเขา เจ้าของไร่ภูแสงทองเล่าว่าคนรุ่นใหม่เริ่มกลับมาเยอะขึ้น ทุกรายให้ความเห็นคล้ายๆ กันว่าระบบการศึกษาเกษตร ไม่ว่าระดับใด ต้องปรับเปลี่ยน ให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้านการจัดการ บัญชี รู้เรื่องการทำดิจิตัลคอนเทนต์ รู้กว้าง บูรณาการเป็น ควรเชิญผู้ประกอบการมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกับนักศึกษา ปี สองปี ก่อนสำเร็จการศึกษา ส่วนการเริ่มเป็นผู้ประกอบการด้านการเกษตรเอง ทุกคนเห็นตรงกันว่า ควรทำงานหาประสบการณ์ก่อน เรียนรู้จากชีวิตการทำงานจริงก่อน ต้องมองตลาดเป็นตัวตั้ง อย่าทำตามความรู้สึกตัวเอง
จากกรณีศึกษาที่นำมาเล่าสู่กันฟังนี้ คงพอเห็นได้ว่า ถ้าเราจะมุ่งสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ ที่จะพาเกษตรไทยไปยืนแถวหน้า เราคงต้องหันมาปรับเปลี่ยนหลายๆ เรื่องอย่างเป็นระบบ มากกว่าต่างคนต่างทำ ภาคเกษตรเราก็จะติดกับดักเดิมๆ เช่นแก้ปัญหาสินค้าเกษตรราคาตกต่ำเป็นปีๆ ไป ใครไปขอกู้เงิน ธกส. มาลงทุน ก็เจอเจ้าหน้าที่ธนาคารบอกว่าอาชีพเกษตร มีความเสี่ยง ผลผลิตราคาตกต่ำ ขึ้นๆลงๆ ถ้าภาครัฐมีการสนับสนุนในรูปเงิน เกษตรกรก็ปลูกๆ ไปเพื่อรอเงินประกัน เมื่อมีการประกวดข้าวคุณภาพ ข้าวเราแพ้ ก็มองหาแพะรับบาป หรือการทำ FTA กับจีนก็มองเพียงประโยชน์ที่คาดว่าจะได้จากการขายทุเรียน แต่ลืมไปว่าผักจีนที่ต้นทุนและราคาถูกกว่า ก็ทะลักเข้ามาตีตลาดผักบ้านเราได้เช่นกัน
นโยบายที่พรรคต่างๆ ระดมปล่อยออกมาหาคะแนนเสียง ล้วนมองผลระยะสั้น แจกเงินโน่นนี่ นั่น ผมยังไม่เห็นมีพรรคไหน เสนอนโยบายแก้ปัญหาเกษตรไทยอย่างเป็นระบบ ทั้งๆที่ ทุกพรรคทราบดี ว่าการเกษตรคือ “กระดูกสันหลัง” ของประเทศและสังคมไทย โดยเฉพาะภาคอีสาน ที่มีที่นั่ง สส. มากที่สุด ฝากท่านผู้ทรงเกียรติคิดเป็นการบ้าน เพื่อสนับสนุนภาคเกษตรไทย ให้เดินต่อไปอย่างมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ตลอดไปครับ
คอลัมน์ เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ
ดร. สุวิทย์ เลาหศิริวงศ์
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พาณิชย์ติดตามสถานการณ์ข้าวหอมมะลิฤดูกาลใหม่ของเกษตรกร พร้อมเสนอมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรใน นบข. 8 พ.ย.นี้
พาณิชย์ลงพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด ทุ่งกุลาร้องไห้ ติดตามการซื้อขายข้าวเปลือกหอมมะลิฤดูกาลใหม่ ที่เริ่มทยอยออกสู่ตลาด และพบปะกลุ่มเกษตรกร และสหกรณ์
โครงการส่งเสริมการแปรรูปสินค้าเกษตรและประมง เพิ่มศักยภาพการผลิต สร้างมูลค่าและขยายฐานตลาดแก่สถาบันเกษตรกร
นางธัญธิตา บุญญมณีกุล รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการติดตามโครงการส่งเสริมการแปรรูปสินค้าเกษตรและประมง ปี 2567
ศพก. - แปลงใหญ่ มุ่งเน้นการผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูง ยกระดับรายได้ พัฒนาศักยภาพเกษตรกร
นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากการประชุมเชื่อมโยงการดำเนินงานของคณะกรรมการเครือข่ายศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และแปลงใหญ่ระดับประเทศ ครั้งที่ 4/2567 ณ
สศท.7 เผยผลการศึกษาแนวทางการพัฒนาน้ำนมดิบอินทรีย์ ภายใต้ BCG Model สร้างรายได้ให้เกษตรกรครบวงจร
นางอังคณา พุทธศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 ชัยนาท (สศท.7) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงผลการศึกษาแนวทางการพัฒนาเกษตรอินทรีย์รายสินค้า
เกษตรกร เตรียมเฮ พร้อมก้าวสู่การเป็น Service Provider เต็มรูปแบบ
ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า หลังผลักดันนโยบายการอำนวยความสะดวกด้านการเกษตรเป็นผล ส่งเสริมให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรให้เป็นผู้ให้บริการทางการเกษตรครบวงจร
เสียงสะท้อนจากอีสานผ่านคนสี่ยุค
ความแตกต่างเรื่องความคิดของคนแต่ละยุค เริ่มเห็นเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมไทย บทความนี้มาจากการพูดคุยกับคนอิสานสี่ยุค ในมุมมองต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ การใช้ชีวิตและนโยบายรัฐบาลปัจจุบันเช่น ดิจิตัลวอลเล็ต