เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI) ได้ประกาศดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index หรือที่เรียกกันอย่างย่อว่า “CPI”) ประจำปี 2565 ของประเทศต่างๆรวม 180 ประเทศซึ่งถูกจัดอันดับดัชนีที่มีอิทธิพลต่อภาพลักษณ์การทุจริตคอร์รัปชัน โดยประเทศไทยถูกจัดอันดับที่ 101 ของโลกด้วยคะแนนอยู่ที่ 36 คะแนน ดีขึ้นกว่าเดิมในปี 2564 ที่ได้อันดับ 110 มีคะแนนอยู่ที่ 35 คะแนน โดยในปีก่อนหน้านั้น ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 104 ด้วยคะแนน 36 คะแนน และเป็นคะแนน 36 คะแนนที่ได้เท่ากันในปี 2563 (อันดับที่ 101) และ 2562 (อันดับที่ 99) ตามลำดับ
แต่ที่น่าสนใจเป็นประเด็นชวนท่านผู้อ่านมาวิเคราะห์ร่วมกันคือ เมื่อประมาณ 8 ปีที่แล้วคือในปี 2558 เราถูกจัดอันดับที่ 76 ด้วยคะแนนที่ 38 คะแนนในขณะที่ประเทศเวียตนามได้คะแนนอยู่ที่ 31 และอยู่ในอันดับที่ 112 แต่ในวันนี้ของการจัดอันดับล่าสุดนั้น เวียตนามกลับได้คะแนนแซงเราไปด้วยคะแนน 42 คะแนนและอยู่อันดับที่ 77 จึงมีคำถามว่า เกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทยใน 8 ปีที่ผ่านมา?
เมื่อพิจารณาคะแนนของประเทศไทยตั้งแต่ปี 2559 -2565 พบว่าได้คะแนนช่วงระหว่าง 35-37 สลับไปมาและอยู่ในลำดับระหว่าง 99-110 ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน
คำถามต่อไปว่าการจัดอันดับ CPI โดย TI นั้น น่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด เห็นว่าการเก็บข้อมูลและประเมินผลนั้นมาจากหลากหลายแหล่งที่มีความเป็นอิสระในระดับสากลรวม 13 แหล่งโดยเฉพาะที่สำคัญคือ World Economic Forum (WEF) ที่มีการจัดประชุมของผู้นำระดับโลกทั้งภาครัฐและเอกชนทุกปีที่เมืองดาวอส (Davos) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ทั้งนี้ มีตัวแปรหนึ่งที่มีความสำคัญและถูกนำมาคำนวนเป็น CPI คือรายงานการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขัน (Global Competitiveness Report: GCR) ผ่านตัวชี้วัดที่เรียกว่า “Global Competitiveness Index” (GCI) ด้วยการออกแบบสอบถามความคิดเห็นผู้บริหาร นักลงทุนเพื่อสำรวจว่ามีความพึงพอใจและ/หรือความสะดวกในการประกอบธุรกิจในประเทศนั้นๆมากน้อยเพียงใด มีปัญหาและอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจหรือประเด็นการทุจริต เรียกรับสินบน ระยะเวลาการขออนุญาตต่างๆ หรือไม่ อย่างไรซึ่งคำตอบที่ได้จะถูกนำไปประมวลผลออกมาทบกับตัวแปรอื่นๆไม่ว่าจะเป็นจาก IMD World Competitiveness Yearbook (IMD) ที่มีข้อมูลด้านการติดสินบนและการทุจริตว่ามีอยู่หรือไม่ และมากน้อยเพียงใด และ World Justice Project (WJP) ที่มีข้อมูลพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนในทางมิชอบมากน้อยเพียงใด รวมถึง World Justice Project (WJP) ที่มีข้อมูลเจ้าหน้าที่รัฐมีพฤติกรรมการใช้ตำแหน่งหน้าที่ในทางมิชอบ เป็นต้น
ผลการประเมินที่ออกมาติดต่อกันเช่นนี้ คงไม่สามารถสรุปได้ว่า เป็นเพราะการทำงานของสำนักงานป.ป.ช. ที่เป็นหน่วยงาน(นำ) ด้านการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบมีความสามารถไม่ดีพอหรือควรให้เป็นความผิดของรัฐบาลที่ไม่สามารถแก้ไขเรื่องนี้ได้แต่หากเราทุกคนช่วยกันเปลี่ยนกรอบแนวคิดใหม่ว่า ปัญหาคอร์รัปชันคือปัญหาใหญ่ยิ่งของประเทศและเป็นปัญหาของชาวไทยทุกคนที่ต้องมาร่วมกันสร้างความตระหนักรู้ผิดชอบชั่วดี และร่วมกันรณรงค์ในการแก้ไขปัญหาแบบ “ไม่ทำ ไม่ทน ไม่เฉย รวมไทยต้านโกง” ให้เป็นวาระแห่งชาติได้อย่างจริงจังแล้ว เชื่อว่าสถานการณ์ทุจริตคอร์รัปชันของประเทศจะดีขึ้นตามลำดับ
ในส่วนของสถานศึกษา โรงเรียนต่างๆนั้น ยังสามารถร่วมมือกับทางป.ป.ช.ที่มีการขับเคลื่อนพัฒนาหลักสูตร “ทุจริตศึกษา” ถ่ายทอดให้กับเด็กๆและเยาวชนได้ แต่ที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งเมื่อได้ทราบข่าวว่า พิพิธภัณฑ์ต้านโกง ของสำนักงานป.ป.ช.ซึ่งเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้และแสดงตัวอย่างการทุจริตในรูปแบบต่างๆแก่สาธารณชนมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 นั้น ได้ถูกปิดตัวลงโดยไม่ทราบสาเหตุตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้ว ซึ่งมีข่าวออกมาเพียงว่าจะมีการทำพิพิธภัณฑ์ในรูปแบบใหม่ที่เป็น virtual คือเสมือนจริงในจอคอมพิวเตอร์โดยใช้งบประมาณเพียง 10 ล้านบาท ทั้งๆที่ป.ป.ช. สามารถยึดทรัพย์สินคืนแผ่นดินในแต่ละปีนับพันล้านบาทก็ตาม จึงดูเหมือนว่าความหวังที่จะให้การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันเป็นวาระแห่งชาตินั้นดูเลือนลางมาก คงต้องฝากรัฐบาลใหม่ที่จะมีขึ้นในกลางปีนี้ให้รีบเร่งเข้ามากำหนดนโยบายเสนอต่อรัฐสภา(ใหม่) เพื่อส่งเสริมในทุกมิติของการสร้างกลไกการรับรู้ การมีส่วนร่วม การเปิดเผยข้อมูลด้านงบประมาณของหน่วยราชการต่างๆอย่างเปิดเผย โปร่งใส จริงจังต่อเนื่อง และขอภาวนาให้พิพิธภัณฑ์ต้านโกง กลับมาเปิดให้ประชาชน เยาวชน เข้าชมได้เหมือนเดิมหรือดีกว่าโดยเร็ว
เทวัญ อุทัยวัฒน์
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
หน้าที่พลเมืองในการแก้ปัญหาของประเทศ
ประเทศของเรากำลังเผชิญกับปัญหาและความท้าทายหลายประการทั้งในเชิงโครงสร้างและปัญหาอื่นๆที่สะสมมายาวนานไม่ว่าจะเป็นเรื่องของหนี้ภาคครัวเรือน ความสามารถด้านการแข่งขัน การขาดนวัตกรรมและสภาพคล่องของเอสเอ็มอี การเข้าสู่สังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์ การทุจริตคอร์รัปชัน
ESG และ NET ZERO ในบริบทของกลุ่มเปราะบางในประเทศไทย
ในช่วงปีที่ผ่านมาหลังวิกฤติด้านสาธารณสุขของโรคระบาดโควิด 19 ประเทศไทยเริ่มฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและผู้คนจำนวนมากได้กลับสู่ชีวิตเป็นปรกติแม้จะมีส่วนหนึ่งที่ตัดสินใจเปลี่ยนแปลงชีวิตหน้าที่การงาน
สังคมไทยภายใต้กระบวน การยุติธรรมหลาย มาตรฐาน
ต้องยอมรับว่าหลายๆ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศเราในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานั้นทำให้ระบบสังคมโดยเฉพาะระบบย่อยหลายระบบ เช่น เศรษฐกิจ ครอบครัว สาธารณสุข ความเชื่อและศาสนามีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเจริญเติบโตด้านวัตถุ โครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี รถยนต์ไฟฟ้า หรือการนำปัญญาประดิษฐมาประยุกต์ใช้งานและธุรกิจต่างๆ
ความล้มเหลวของการศึกษาไทยสู่ปัญหาที่ขาดผู้รับผิดชอบ
ในแวดวงนักวิชาการด้านนโยบายสาธารณะต่างเห็นตรงกันว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศที่สำคัญลำดับต้นๆ คือการปฏิรูปการศึกษาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดย รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ในหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ มาตรา 54 บัญญัติในสาระสำคัญว่า
การป้องกันการทุจริตเชิงนโยบายระดับท้องถิ่น
เมื่อวันที่ 4 สิงหาคมที่ผ่านมา สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือ “ป.ป.ช.” โดยผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตร “นักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง’ (นยปส.) รุ่นที่ 14” รวม 85 คน จากแวดวงราชการและรัฐวิสาหกิจรวมถึงผู้แทนจากภาคประชาสังคมได้ร่วมกันจัดเวทีสัมมนาสาธารณะในหัวข้อ “ยุทธศาสตร์การป้องกันการทุจริตเชิงนโยบายระดับท้องถิ่น” โดยได้เชิญข้าราชการจากหน่วยงานต่างๆ นักวิชาการ ผู้แทนสมาคม มูลนิธิ สื่อมวลชน เข้าร่วมงานกว่า 400 คน
ข้อมูลส่วนบุคคลกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม
ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ในช่วงเกือบสองปีที่ผ่านมาและยังดำเนินต่อไปนั้น ต้องยอมรับว่าได้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคมในประเทศของเราและในหลายๆ ประเทศทั่วโลกอย่างมีนัยสำคัญโดยเฉพาะในเรื่องของสังคมที่มีปัจจัยที่เป็นตัวเร่งคือโรคระบาดและความรวดเร็วของการใช้เทคโนโลยีในการติดต่อสื่อสารที่มีชุดข้อมูลอยู่มากมายในโลกออนไลน์