1) รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขโดยนักการเมือง ก็ได้รับการประกาศใช้อย่างเป็นทางการไปเรียบร้อยแล้ว (เป็นรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้มีการเลือกตั้งโดยใช้บัตร 2 ใบ อย่างที่รู้ๆ กันอยู่แล้ว) เราก็ต้องรอกฎหมายลูก 2 ฉบับ คือ กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งกับกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง ทั้งหมดทั้งปวง ผลของการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่และกฎหมายลูกฉบับใหม่ทั้ง 2 ฉบับนั้น จะเป็นเครื่องพิสูจน์แสดงให้โลกได้เห็นว่า การเมืองไทยมันจะพัฒนาขึ้นหรือว่ามันจะเลวลง อันจักเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า นักการเมืองและประชาชนผู้มีและใช้สิทธิเลือกตั้งในประเทศไทยมีคุณภาพสูงขึ้นหรือต่ำลง ถ้าเกิดเผด็จการรัฐสภาอย่างที่เคยเกิดขึ้นหลังการใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ขึ้นมาอีก ก็แสดงว่าการเมืองของเรามันเลวลง กล่าวคือ ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่สามารถกลั่นกรองเอาคนดีเข้าสภาได้มากกว่าคนไม่ดี ถ้าประชาชนเห็นแก่เงินยอมขายเสียง นักการเมืองเห็นแก่เงิน (ยอมขายตัว) มากกว่าอุดมคติและผลประโยชน์ของประชาชน การเมืองก็จะเลวลง การโกงกิน คอร์รัปชัน ก็จะมีมากขึ้น การพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมก็จะทำได้ยากยิ่งขึ้น เพราะการเมืองชั่วร่วมกับราชการชั่วจะเป็นตัวถ่วงและขัดขวางความเจริญในทุกๆ ด้าน นี่คือการมองในแง่ร้าย (เพราะมันเคยเกิดขึ้นมาแล้ว) แต่อาจจะไม่เป็นเช่นนั้นก็ได้ ถ้าทั้งประชาชนและนักการเมืองยังจำความผิดพลาดในอดีตได้ และไม่หน้าด้านทำซ้ำอีก ทุกอย่างอาจจะดีขึ้นก็ได้ ใครจะไปรู้ ก็ต้องรอดูกันต่อไป
2) เมื่อรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับแก้ไขโดยนักการเมือง (เพียงไม่กี่มาตรา) ได้ถูกประกาศใช้บังคับแล้วก็ทำให้หวนคิดถึงร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยประชาชนแสนกว่าคนที่ถูกรัฐสภาคว่ำไปเรียบร้อยแล้วนั้น ถ้าสมมุติว่าประเทศไทยเกิดมีรัฐธรรมนูญเช่นว่านั้นขึ้นมาจริงๆ เราก็จะมีเพียงสภาเดียวที่มีอำนาจเหนือองค์กรอิสระและสถาบันศาลทั้งมวล มันก็จะเกิดความหายนะไม่แตกต่างจากที่ได้วิเคราะห์เอาไว้ในข้อ 1) กล่าวคือ ประเทศไทยก็จะมีเผด็จการรัฐสภา การเมืองชั่วร่วมกับราชการชั่วก็จะกลายเป็นอุปสรรคต่อความเจริญของประเทศในทุกๆ ทาง อาจจะหนักกว่าเดิมที่เคยเกิดขึ้นหลัง พ.ศ.2540 เพราะการซื้อสิทธิขายเสียงจะรุนแรงยิ่งกว่าเดิม เนื่องจากมีทุนที่โกงสะสมไว้มากกว่าเดิม ลองดูในปัจจุบัน เพียงแค่เป็นการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ยังซื้อกันถึงเสียงละไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท
เมื่อรัฐธรรมนูญเปิดโอกาสคนมีเงินย่อมกล้าจะลงทุนในระดับพันล้านหรือหมื่นล้าน เพราะถ้ามีเสียงมากพอจะจัดตั้งรัฐบาลเองได้ก็สามารถจะโกงกินได้เป็นแสนๆ ล้าน มันต้องมีคนกล้า ด้านเสียอย่าง มีปัญหามะ?
3) แต่ที่น่าแคลงใจที่สุดอยู่ข้อหนึ่งก็คือว่า ทำไมคนไทยที่ไปเรียนในต่างประเทศที่เจริญกว่าประเทศไทย เช่น อเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส จึงเกิดมีกลุ่มที่มีความคิดอยากจะลอกแบบทั้งระบบการเมืองการปกครอง วัฒนธรรม และจารีตประเพณี ของพวกฝรั่งตาน้ำข้าวมาใช้กับประเทศไทยทั้งๆ ที่บริบท (context) มากมายแตกต่างกันลิบลับ พวกนักเรียนนอกเหล่านั้นคงไม่ใช่เพราะพวกเขาเป็นคนโง่ไม่มีสมอง คงจะต้องมีสาเหตุมาจากเหตุผลอย่างอื่น เช่น บางคนขาดประสบการณ์จึงถูกครอบโดยคนที่มีอาวุโสกว่า บางคนอาจจะไม่สามารถอ่านหัวใจคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศออก เพราะสายเลือดความเป็นนักการเมืองนักปกครองไม่มีใน DNA ของพวกเขา คือ ธรรมชาติมิได้สร้างเขามาเพื่อการนี้ก็ได้ หรือว่ามีเหตุผลอื่นๆ ที่เราไม่อาจเข้าถึงความในใจส่วนที่ลึกที่สุดของเขาได้ เช่น มาจากความรู้สึกอาฆาตมาดร้ายต่อบางสิ่งบางอย่างที่ฝังใจมาเป็นเวลานาน หรือต้องทำตามคำสั่งหรือตามความต้องการของใครที่อยู่เหนือกว่าแต่แอบอยู่ในที่มืดหรืออาจจะต้องทำตามคำสั่งของต่างชาติ (มหาอำนาจ) ที่ต้องการทำลายอธิปไตยของชาติไทยเพื่อประโยชน์บางประการของพวกเขา เพราะไม่รู้จึงต้องสันนิษฐานไว้หลายๆ ทาง
4) เพราะว่าโดยหลักการแล้ว การที่เราไปเรียนหนังสือในต่างประเทศนั้น เราเพียงเพื่อไปแสวงหาความรู้ในด้านต่างๆ ที่ประเทศเหล่านั้นเขามีมากกว่าประเทศเรา หรือของเขาก้าวหน้ากว่าที่ประเทศเรามี ไม่ว่าจะด้านการเมือง การปกครอง การเศรษฐกิจ และสังคม เราไปเพื่อเรียนให้เข้าใจ นำสิ่งที่เข้าใจมาประยุกต์ใช้กับประเทศของเราเท่าที่พอเหมาะพอสม เพื่อให้ประเทศของเรามีทิศทางในการพัฒนาที่ดีขึ้นเพียงเท่านั้น
ผมเองเริ่มหัดพูดภาษาอังกฤษหลังจากที่จบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว เรียกว่าเริ่มหัดพูดภาษาอังกฤษตอนอายุ 21 ปี โดย ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ในขณะนั้นได้จ้างครูฝรั่งจากสถาบัน AUA มาสอนพวกเรา 10 คนที่เป็นอาจารย์ผู้ช่วย เพื่อเตรียมพร้อมด้านภาษาอังกฤษก่อนจะถูกส่งไปศึกษาต่อในต่างประเทศด้วยการสนับสนุนของมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ หลังจากเรียนภาษาอังกฤษกับ AUA ได้ประมาณ 1 ปี ตัวผมเองถูกมูลนิธิดังกล่าวส่งให้ไปเรียนปริญญาโทในโครงการปริญญาโทที่มูลนิธิได้จัดตั้งไว้ที่มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นโครงการที่ใช้ศาสตราจารย์ชาวอเมริกันที่มีชื่อเสียงหลายท่านถูกจ้างให้มาสอน
ในปีแรกที่เข้าเรียนผมจะไม่กล้าแสดงความคิดเห็นใดๆ ในชั้นเรียนเลย เพราะไม่มั่นใจในภาษาพูดของตนเอง ต่อเมื่อจบปริญญาโทแล้วได้ทุนต่อไปทำปริญญาเอกที่สหรัฐอเมริกา (มหาวิทยาลัยฮาวาย) ภาษาพูดของผมก็แข็งแรงขึ้น (ประกอบกับเผอิญมีแฟนสาวเป็นชาวอเมริกันที่ต้องพูดกันทุกวัน) ผมก็เลยกลายเป็นคนที่มีปัญหากับอาจารย์ผู้สอนมาก เพราะถ้าผมไม่เห็นด้วยกับที่อาจารย์สอน ผมก็จะยกมือขอแสดงความเห็นในทุกๆ เรื่อง หรือถ้าเห็นว่าอาจารย์สอนไม่ค่อยชัดเจน ผมก็ไม่เคยปล่อยให้มันผ่านไปเฉยๆ (คุณดำรง พุฒตาล เคยไปเที่ยวที่มหาวิทยาลัยฮาวาย ได้ฟังกิตติศัพท์เรื่องการเป็นคนเจ้าปัญหาในชั้นเรียนของผม ท่านนำมาเขียนเล่าให้คนไทยฟัง ขณะนั้นผมเป็นโฆษกรัฐบาลของ พล.อ.เปรม)
แม้ระยะหลังเมื่อผมหาเวลาว่างจากงานการเมือง พอจะสมัครเข้าไปเรียนในโครงการสั้นๆ 3 เดือนบ้าง 6 เดือนบ้าง ที่มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเขาเปิดสอน ผมก็เลือกไปเรียนทั้งที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard ในสหรัฐอเมริกา) มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Cambridge ในอังกฤษ) และคณะเศรษฐศาสตร์ (London School of Economics แห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ)
จากการได้ใช้ภาษาอังกฤษในการประชุมในต่างประเทศในฐานะเป็นรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี ภาษาพูดของผมก็ยิ่งพัฒนาดีมากขึ้น เมื่อผมไปเรียนในโปรแกรมในมหาวิทยาลัยทั้ง 3 แห่งดังกล่าวข้างต้น ผมก็ไม่เคยปล่อยให้อาจารย์นำความคิดสุดโต่งของพวกเขามายัดใส่ในหัวผม ผมจะยกมือขอแสดงความเห็นต่างๆ ว่าทฤษฎีที่อาจารย์สอนนั้นมันไม่เหมาะกับประเทศด้อยพัฒนาอย่างประเทศไทยเป็นประการใดบ้าง บริบทมันแตกต่างกันอย่างไร โดยเฉพาะในเรื่องประชาธิปไตย แม้จะเห็นด้วยกับการเลือกตั้ง แต่ก็ไม่เคยเห็นด้วยที่จะเอาระบอบของฝรั่งใดๆ มายัดใส่หรือครอบลงบนประเทศไทย บอกเขาตรงๆ ว่าคนไทยไม่เหมือนคนของพวกเขา นักการเมืองไทยก็ไม่เหมือนนักการเมืองของพวกเขา บริบทอื่นๆ ทั้งประวัติศาสตร์ จารีตประเพณีก็ไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะคนไทยยังมีการนับถืออาวุโสตามหลักพุทธศาสนา ไม่ได้นับถือคนที่เงินในกระเป๋าของพวกเขาอย่างที่คนอเมริกันเขานับถือกัน แต่ผมก็ย้ำว่าการเมืองของพวกฝรั่งที่ว่ามีคุณภาพในปัจจุบันนั้น ล้วนแล้วแต่เคยผ่านการมีนักการเมืองที่ด้อยคุณภาพเพราะได้ตำแหน่งมาจากการซื้อสิทธิ์ขายเสียงมาก่อนเช่นกัน จึงต้องให้เวลาในการพัฒนาตนเองของประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลาย อย่ารีบยัดเยียดเนรมิต ไม่มีใครทำได้ในเวลาเพียงข้ามคืน และก็ไม่เห็นมีอาจารย์คนไหนเถียงผมในเรื่องนี้ว่า “ไม่จริง”
ผมมีหลักฐานว่ามีอาจารย์บางคนที่ประทับใจกับความเป็นคนช่างเถียงของผม เช่น ศาสตราจารย์มาร์ตี ลินสกี (Prof. Marty Linsky) ซึ่งอดีตเคยเป็นส่วนหนึ่งของคณะที่ปรึกษาของประธานาธิบดี Bill Clinton ท่านเป็นอาจารย์สอนเรื่อง “ความเป็นผู้นำ” โดยมีตำราของท่านที่ท่านใช้สอนชื่อ Leadership on the Line ท่านได้กรุณามอบหนังสือที่ท่านเขียนให้ผมเล่มหนึ่งพร้อมกับเขียนแสดงความรู้สึกบางประการเอาไว้ (ดูในภาพ) ซึ่งสามารถแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “ขอมอบให้นายไตรรงค์ นักการเมืองผู้ทุ่มเทความพยายามอย่างลึกซึ้งให้กับประเทศของตนในการต่อสู้กับปัญหาที่ท้าทายมากมายหลายประการ แต่ก็ยังยึดถือหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างน่าประทับใจยิ่ง โดยหวังว่าความเป็นผู้นำของท่านจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่ประเทศของท่านอยู่ต่อไป”
5) ที่พูดมาทั้งหมด ก็เพื่อให้เป็นอุทาหรณ์แก่คนไทยทุกคนทั้งที่เคยไปเรียนในต่างประเทศมาแล้ว (บางคนกลับมาเป็นอาจารย์) บางคนกำลังเรียนอยู่ และบางคนกำลังจะไปในอนาคตว่า : “การไปเรียนนั้นต้องรู้จักกลั่นกรองเฉพาะส่วนที่ดี ที่เหมาะ มาใช้กับประเทศของเรา ไม่ใช่คิดจะลอกแบบทั้งชุดมาครอบลงบนประเทศของตน ทั้งๆ ที่บริบทต่างๆ มากมายล้วนแตกต่างกัน”
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระปิยะมหาราช) ได้ทรงแนะนำตักเตือนนักเรียนไทยที่ไปเรียนเมืองนอกในยุคของพระองค์ มีความว่า “...ให้พึงนึกในใจไว้ว่า เราไม่ได้มาเรียนจะเป็นฝรั่ง เราเรียนเพื่อจะเป็นคนไทยที่มีความรู้เสมอด้วยฝรั่ง” (จากหนังสือ “จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, 2458 หน้า 38)
คนที่ไม่สำนึกในบุญคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีต่อแผ่นดินเกิด ก็คงจะไม่สนใจและไม่ฟังพระราชดำรัสของพระเจ้าแผ่นดินองค์ใดๆ ทั้งสิ้น แต่ผมฟังครับ เพราะผมเป็นพวกสลิ่มด้วยความเต็มใจ ครับ.
FB : ไตรรงค์ สุวรรณคีรี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ขบวนการแพทย์ชนบท กับรางวัลแมกไซไซ ปี 2024 ทิศทางพัฒนาระบบสุขภาพไทย
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คือวันเสาร์ที่ 16 พ.ย. คณะผู้แทน”ขบวนการแพทย์ชนบท” ได้เดินทางไปรับรางวัลแมกไซไซ ประจำปี 2024
อุทธัจจะ .. ในวังวนแห่งการตื่นธรรม .. ยุคไอที!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระรัตนตรัย... สัทธายะ ตะระติ โอฆัง.. บุคคลข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา.. โอฆะ หมายถึง ห้วงน้ำ ที่มีกระแสเชี่ยวกราก พัดพาสัตว์ทั้งหลายให้ตกไปในกระแสน้ำนั้น ยากจะข้ามฝั่งไปได้
’ห้าพันตารางกิโลเมตร‘ เท่ากับกี่ตารางนิ้ว ? เงื่อนตายของ MOU 2544 ?
MOU 2544 ไม่ใช่กรอบการเจรจาเพื่อหาข้อตกลง ”แบ่งผลประโยชน์(ปิโตรเลียม)“ เท่านั้น แต่หาข้อตกลง “แบ่งเขตแดน(ทะเล)“ ด้วย !
คำนูณ ผ่าปม 2 ได้ 3 เสีย ถ้าไม่ยกเลิก MOU 2544
ความเคลื่อนไหวและการแสดงความคิดเห็นเรื่อง MOU 2544 ที่เชื่อมโยงถึงเกาะกูด, การหาแหล่งพลังงานแห่งใหม่ในพื้นที่อ้างสิทธิไทย-กัมพูชา ที่มีการประเมินกันว่ามีมูลค่าสูงถึง 10 ล้านล้านบาท ยั
'แก้วสรร' แพร่บทความ 'นิติสงคราม' คืออะไร?
นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ออกบทความเรื่อง “นิติสงคราม” คืออะไร???
อย่าได้ประมาทในธรรม.. “เมื่อใจตรง .. จะตรงใจ”..
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา.. เดินทางกลับมาจากอินเดีย เมื่อ ๗ พ.ย.๒๕๖๗.. ถึงกรุงเทพฯ ๘ พ.ย.๒๕๖๗ หลังจากไปร่วมประชุม “The First Asian Buddhist Summit 2024” ที่นิวเดลี งานนี้จัดโดยกระทรวงวัฒนธรรมและท่องเที่ยวของรัฐบาลอินเดีย