"พรรคพลังประชารัฐ"พรรคแกนนำรัฐบาลปัจจุบัน ภายใต้การนำของ"บิ๊กป้อม พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี"ที่ประกาศพร้อมเป็นนายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้ง พบว่า เป็นอีกหนึ่งพรรคการเมืองที่มีความเคลื่อนไหวในการลงทำศึกเลือกตั้งรอบนี้อย่างคึกคัก ทั้งเรื่องการทำนโยบายพรรค-การเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครส.ส.ของพรรค -การลงพื้นที่ของแกนนำพรรคในจังหวัดต่างๆ
สำหรับ"พื้นที่เลือกตั้งกรุงเทพมหานคร"พบว่า พรรคพลังประชารัฐ ให้ความสำคัญมากเช่นกัน เพราะนอกจากเป็นพื้นที่เลือกตั้งที่มีจำนวนส.ส.เขตมากที่สุดแล้ว พบว่าในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 พรรคพลังประชารัฐ คือพรรคที่ได้ส.ส.เขต กทม.มากที่สุด เป็นแชมป์ส.ส.เขต กรุงเทพมหานคร คือ 12 เก้าอี้
ซึ่งในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น พรรคพลังประชารัฐ ได้กัปตันทีม-หัวหน้าทีมดูแลการเลือกตั้งพื้นที่กทม.ให้กับพลังประชารัฐคนใหม่คือ"สกลธี ภัททิยกุล อดีตรองผู้ว่าฯกทม.-อดีตส.ส.กทม.-อดีตผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯกทม.ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2565 "มาเป็นคีย์แมนหลักดูแลรับผิดชอบพื้นที่เลือกตั้งกทม.ให้กับพลังประชารัฐ
โดยในการสัมภาษณ์พิเศษครั้งนี้ "สกลธี-หัวหน้าทีมรับผิดชอบดูแลพื้นที่เลือกตั้งกทม.ของพรรคพลังประชารัฐ"ให้สัมภาษณ์ถึงภาพรวมการเตรียมพร้อมนำทัพผู้สมัครส.ส.เขต กทม.พลังประชารัฐ ลงสู้ศึกเลือกตั้ง โดยเริ่มที่การกล่าวถึงภาพรวมการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆว่า จนถึงขณะนี้พรรคพลังประชารัฐมีความพร้อมประมาณ 90 เปอร์เซนต์แล้วสำหรับพื้นที่เลือกตั้งกรุงเทพมหานคร โดยในส่วนของผู้สมัครส.ส.ระบบเขต กรุงเทพมหานครของพรรคพลังประชารัฐที่จะส่งลงเลือกตั้ง จนถึงขณะนี้เหลืออีกประมาณ 4-5 เขตที่ยังไม่ลงตัว
โดยเหตุที่ยังไม่ลงตัว ไม่ใช่เพราะว่าพรรคไม่มีคนส่งลงสมัครรับเลือกตั้งแต่เป็นเพราะ 1.พรรคอาจจะมีบุคคลที่จะส่งลงสมัครรับเลือกตั้งมากกว่าหนึ่งคนที่ต้องพิจารณา 2.เขตเลือกตั้งในพื้นที่กทม.ยังไม่ได้มีการประกาศแบ่งเขตที่ชัดเจนออกมา ทำให้ยังมีพื้นที่เลือกตั้งที่ยังทับซ้อนกันอยู่ ซึ่งผมคิดว่าภายในสักสองสัปดาห์ต่อจากนี้น่าจะเรียบร้อย แต่ว่าก็มีดีลเพิ่มเติมขึ้นมาเพราะทางผู้ใหญ่จากพรรคสร้างอนาคตไทยคือดร.อุตตม สาวนายน กับคุณสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ตอนนี้ได้กลับเข้ามาพลังประชารัฐ ที่ทั้งสองท่านก็จะมีผู้สมัครส.ส.เขต กรุงเทพมหานคร ที่มาให้ผมพิจารณาดูโดยเทียบจากผู้สมัครที่พลังประชารัฐมีอยู่เดิมเทียบกันดูว่าเป็นอย่างไร เพราะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็ให้นโยบายมาว่า ต้องคัดเลือกคนที่ดีที่สุดลงสมัครแข่งขัน
-จะมีปัญหาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนระหว่างผู้สมัครส.ส.เขต กทม. ภายในพรรคหรือไม่?
เราก็จะดูความเหมาะสมก่อน ซึ่งครั้งนี้ตัวผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส.เขต กทม. ตัวบุคคลที่จะส่งลงเลือกตั้ง จะมีการผสมผสาน ระหว่างตัวเก๋า กับคนรุ่นใหม่ที่มีความตั้งใจจริง อย่างเขตไหน เป็นพื้นที่เก๋าสู้รบ แบบนี้ ก็ต้องส่งคนที่เก๋า หรือเขตไหนที่เป็นพื้นที่กระแส เช่นกรุงเทพมหานครเขตชั้นใน ที่อยู่ในเขตเลือกตั้งเช่น เขตที่ 1 2 3 4 5 ก็จะเป็นคนใหม่ แต่ก็ไม่ได้ถึงกับใหม่เลย คือเคยลงพื้นที่ แต่ยังไม่ได้รับโอกาส ก็คือผู้สมัครส.ส.เขต กทม.ของพรรค จะเป็นลักษณะผสมผสานกัน
ผมเชื่อว่าในกรุงเทพมหานคร อย่างที่ผมมักให้สัมภาษณ์ทุกครั้งคือ"กระแส"ของพรรคจะอยู่ที่ประมาณ 70 เปอร์เซนต์ ส่วนผู้สมัครจะอยู่ที่ประมาณ 30 เปอร์เซนต์
ดังนั้น ภาพรวมผู้สมัครส.ส.เขตทั้งหมดของพลังประชารัฐ จะมีลักษณะผสมผสานกัน แต่บางเขต หากเป็นผู้สมัครที่เป็นแบบใหม่เลย ก็จะให้มีคนที่เป็นรุ่นเก๋าๆ ในพื้นที่คอยมาช่วย แต่หากเกิดกรณีผู้สมัครที่จะลงในนามพรรคเกิดการทับซ้อนกัน ซึ่งตอนนี้ บุคคลที่พรรคจะส่งลงสมัคร ประมาณ 20 กว่าคนชัวร์แล้วว่า เขตเลือกตั้งไม่ทับซ้อนกัน คนไหนได้ลงแน่นอน ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 7-8 เขต ก็อาจมีการทำโพล์ หรือไม่ก็อาจให้เป็นการตัดสินใจของผู้บริหารพรรค เพราะบางครั้ง โพล์ก็วัดทุกอย่างไม่ได้ เพราะพอเกิดสถานการณ์จริง เป็นเรื่องจริง บางทีมันไม่ได้เป็นแค่โพล์ตรงพื้นที่นั้น แต่ต้องพิจารณาโดยนำน้ำหนักของหลายอย่างมาชั่งน้ำหนักดู ซึ่งคาดว่าภายในสองสัปดาห์ต่อจากนี้ รายชื่อผู้สมัครส.ส.เขต กทม.ทั้ง 33 เขตก็คงได้ข้อยุติ เพราะอย่างที่มีการพูดกันว่า เส้นตายคือ 7 ก.พ. ทำให้อย่างน้อยสัปดาห์หน้า ทุกอย่างก็ต้องเรียบร้อยเกือบจะร้อยเปอร์เซนต์
ชิง 33เก้าอี้ ส.ส.เมืองหลวง
พปชร. รอบนี้ หวัง 6 บวกลบ
-จากเลือกตั้งปี 2562 พลังประชารัฐได้ส.ส.เขต กทม.มากที่สุดคือ 12 เก้าอี้ แล้วรอบนี้ ตั้งเป้าไว้กี่เก้าอี้?
ถ้าบอกตรงๆ ก็อยากได้ทุกเขต เพียงแต่ว่าการเลือกตั้งรอบที่แล้วปี 2562 ต้องยอมรับเลยว่า กระแสที่มาเป็นกระแสของท่านนายกฯ (พลเอกประยุทธ์ ) เป็นหลักในกรุงเทพฯ ปฏิเสธไม่ได้ในส่วนนั้น ส่วนการเลือกตั้งครั้งนี้ เมื่อท่านนายกรัฐมนตรีไม่อยู่ ท่านย้ายไป ก็ต้องพูดตามตรงว่ากระแสก็ต้องตามท่านนายกฯไปด้วย แต่ว่าของเราพลังประชารัฐก็ยังมีอยู่แต่ว่าก็ต้องทำงานหนักขึ้นและตัวผู้สมัครก็ต้องทำงานหนักขึ้น แต่ว่าเลือกตั้งรอบนี้เป็นการเลือกตั้งด้วยบัตรสองใบ ไม่ใช่บัตรใบเดียว คือหากเป็นบัตรใบเดียว ผมยอมรับเลยว่าเหนื่อยรากเลือด คือพอท่านนายกฯไป ท่านก็หอบกระแสส่วนหนึ่งตามไปด้วย แต่เมื่อการเลือกตั้งใช้บัตรสองใบ บางคนก็รักนายกรัฐมนตรี แต่ก็ชอบผู้สมัครของพรรคเรา ก็มีสิทธิ์แบ่งมาได้ ซึ่งตรงนี้เป็นจุดที่พลังประชารัฐ จะสู้ในส่วนนั้นได้ ส่วนหากถามว่าหวังกี่คน ถ้าตามความเป็นจริงที่ไม่ได้เกินเลย เอาแบบตรงๆ ผมว่า ก็ประมาณสัก 6 บวกลบ ที่จะดูเหมาะสมกับความเป็นจริงที่สุด
สำหรับ"คะแนนปาร์ตี้ลิสต์"ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ผมก็หวังว่าไม่ให้ต่ำกว่าคะแนนพรรคในการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครหรือส.ก.ที่คะแนนรวมทั้งหมดอยู่ที่ประมาณสองแสนเจ็ดหมื่นคะแนน แต่ว่าครั้งแรกเลย ตอนเลือกตั้งส.ส.เมื่อปี 2562 คะแนนตอนนั้น ประมาณเจ็ดแสนเก้าหมื่นคะแนน แต่เลือกตั้งรอบนี้ จะมีตัวแบ่งเยอะ ดังนั้น ถ้าผมหวัง ก็หวังไว้สักสามแสนคะแนนขึ้นไป
-การที่มีข่าวพลเอกประยุทธ์จะไปลงสมัครส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่หนึ่ง ของรวมไทยสร้างชาติ แบบนี้จะมีผลหรือไม่ในการที่คนกทม.ก็จะไปเลือกรวมไทยสร้างชาติในบัตรลงคะแนนปาร์ตี้ลิสต์มากขึ้น?
ก็คงมี เหมือนกับว่าเลือกตั้งครั้งนี้ท่านนายกฯก็ชัดเจนว่าเข้ามานำพรรค เป็นปาร์ตี้ลิสต์เบอร์หนึ่ง ก็ทำให้คนทีนิยมชมชอบท่าน ก็คงไปเลือกทางนั้นอยู่แล้ว
บัตรใบเดียว-บัตรสองใบ
มีผลอย่างไรต่อสนามกทม.
-การเลือกตั้งที่รอบนี้ใช้บัตรสองใบกับการเลือกตั้งปี 2562 ที่ใช้บัตรใบเดียว จะมีความแตกต่างกันอย่างไร?
แตกต่างกันมาก คือหากเป็นบัตรเลือกตั้งใบเดียว กระแสของแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี หรือตัวผู้นำของพรรคที่จะชูขึ้นไป สำคัญมาก เหมือนกับการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ทุกคนก็รู้ว่า พลังประชารัฐคือพลเอกประยุทธ์ เพราะฉะนั้นคนที่ชอบท่าน เขาไม่สนใจเลยว่า นาย ก. นาย ข.หรือนายสกลธี จะลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส.ในเขตใด แต่เขาอยากได้พลเอกประยุทธ์เขาก็เลือก
แต่สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้แตกต่างออกไป เพราะมีบัตรเลือกตั้งสองใบ คือคนอาจจะยังชอบพลเอกประยุทธ์เหมือนเดิมแต่ว่าในพื้นที่เช่น เขตจตุจักร คนชอบสกลธี เขาก็อาจเลือกสกลธี ส่วนบัตรบัญชีรายชื่อก็ไปเลือกพลเอกประยุทธ์ที่พรรครวมไทยสร้างชาติ มันอาจออกมาเป็นแบบนั้น คือทำให้มีการให้โอกาสกับทุกคนหรือคนที่ติดกับพื้นที่ อย่างเช่นที่เรียกว่าบ้านใหญ่ของกรุงเทพ มีโอกาสขึ้นมา
ส่วนเรื่อง"แคมเปญหาเสียง"ต่างๆ ตอนที่ผมได้รับการทาบทามให้มาอยู่พรรคพลังประชารัฐ ทางพลเอกประวิตร หัวหน้าพรรคก็บอกว่าให้อิสระเต็มที่ในการทำงาน ซึ่งผมก็ได้บอกกับท่านพลเอกประวิตรตั้งแต่ตอนแรกว่า ด้วยกระแสและปัจจัยหลายอย่างในการเลือกตั้งปีนี้ ไม่เหมือนกับการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2562 มันยากขึ้นและมันไม่เหมือนเดิมแน่นอน และสองคือ ผมอยากได้อิสระในการที่จะกำหนดเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น รูปแบบการหาเสียง ยุทธศาสตร์หรือนโยบายการหาเสียง ซึ่งตอนที่ผมหาเสียงตอนช่วงลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯกทม.เมื่อปี 2565 โดยตอนที่ผมลาออกจากพลังประชารัฐ ก่อนหน้านั้นไปลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯกทม.ก็เพื่อให้เป็นอิสระอย่างเต็มที่ในการหาเสียงด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งครั้งนี้ ทางหัวหน้าพรรคก็ให้อิสระนั้นกับผม ซึ่งในส่วนของยุทธศาสตร์และแผนรณรงค์การหาเสียงทั้งหมด ขณะนี้อยู่ระหว่างการประชุมทีมงานภายในของผมอยู่ ที่ก็ใกล้จะเสร็จแล้ว
สำหรับเรื่อง"นโยบายพรรคในการหาเสียงสำหรับพื้นที่เลือกตั้งกรุงเทพมหานคร"ทางผมก็จะต้องไปพิจารณาร่วมกับทีมนโยบายของพรรคพลังประชารัฐ เพราะหลายอย่างจะเกี่ยวเนื่องกับพรรคด้วย
ดังนั้นผมจะพิจารณาด้วยตัวเองคนเดียวคงไม่ได้ เพียงแต่ว่า เราก็จะนำประสบการณ์ของเราในฐานะที่เราเคยเป็นอดีตส.ส.กรุงเทพมหานคร เคยเป็นรองผู้ว่าฯกทม. และได้ทำงานจริง เราก็ได้รู้ว่า อะไรที่จำเป็นสำหรับชาวกรุงเทพมหานคร เราก็นำส่วนนี้ไปเสริม เพื่อให้ออกมาเป็นนโยบายสำหรับการหาเสียงในพื้นที่กทม.
เพราะภาพรวมของประเทศก็จะเน้นนำเสนอนโยบายในระดับประเทศเช่น เรื่องบัตรสวัสดิการประชารัฐ 700 บาทต่อเดือน ก็จะเป็นนโยบายภาพรวมทั้งประเทศ แต่ก็หาเสียงในกรุงเทพมหานครได้เช่นกันเพราะว่า ก็มีคนจนในเมืองที่ถือบัตรดังกล่าวหลายแสนคน นโยบายดังกล่าวก็จะเป็นการติดอาวุธเพิ่มเข้าไป จากเดิมอาจจะแค่นำไปซื้อของทั่วไป เป็นส่วนลดในการซื้อของต่างๆ หรือเป็นส่วนลดค่าสาธารณูปโภคต่างๆ แต่นโยบาย 700 บาทดังกล่าวก็จะมีการเพิ่มเรื่องอื่นเข้าไปด้วย ที่ทางพรรคกำลังพิจารณากันอยู่
"สกลธี-อดีตรองผู้ว่าฯกทม."กล่าวว่าสำหรับปัญหาของคนกรุงเทพมหานครโดยเฉพาะ ผมคิดว่า ด้วยความที่เราเป็นคนกรุงเทพมหานครโดยกำเนิด และทำการเมืองเกี่ยวกับกรุงเทพฯมาตลอด ทำให้เราก็จะรู้ว่าปัญหาที่คนกรุงเทพฯเขาต้องประสบคืออะไร ในส่วนนั้นก็จะนำมาวางนโยบายเช่นเรื่องการจราจร เรื่องความเป็นระเบียบเรียบร้อย -สิ่งแวดล้อม เรื่องเหล่านี้ เราก็จะมีการนำมาปรับให้เข้ากับยุคสมัย ซึ่งจะมีหลายอย่างที่จะล้อมาจากตอนที่ผมลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯกทม.เมื่อปี 2565 ที่ปัญหาคนกรุงเทพฯ ก็จะเป็นปัญหาเดิมๆ เพียงแต่ว่า ยังไม่ได้รับการแก้ไขที่ดีพอ ยกตัวอย่างเช่นเรื่อง ฝุ่น PM 2.5 ที่ตอนนั้นผมยังเป็นรองผู้ว่าฯกทม. ที่ประชาชนก็จะบ่นกัน แต่มาถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่ได้แก้อยู่ดี ซึ่งเราก็ต้องไปหาวิธีมาแก้ปัญหาในส่วนนี้
สำหรับ"จุดแข็ง"ของพลังประชารัฐในสนามเลือกตั้งกทม.รอบนี้ก็คือ"ความใหม่"คือผมอาจจะขายความใหม่ คืออาจเป็นด้วยตัวผมเอง ที่หลังจากผ่านการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.มา ก็ยังสดๆร้อนๆ กับสนามเลือกตั้ง ซึ่งหลายนโยบาย ที่ผมคิดว่าคนที่เขาสนับสนุนผมตอนเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. เขารู้ว่าถ้าเป็นผมเข้ามา ผมจะทำตรงนั้นได้ ซึ่งผมก็นำเสนอมาตลอดว่าสิ่งที่ผมเสนอออกไป แล้วผมเข้าไปเป็นคนทำ มันเกิดได้แน่นอน ซึ่งก็มีคนอยากให้เกิดเรื่องนั้นอยู่
เรื่องที่สอง อย่างที่หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ พลเอกประวิตร ได้พูดมาตลอดว่า "ก้าวข้ามความขัดแย้ง" ตัวบุคลิกของท่านหัวหน้าพรรค เหมือนกับอาจเป็นคนพูดน้อย พูดไม่เก่ง แต่ทำงาน ซึ่งเราก็จะนำสิ่งนั้นมาขาย เพียงแต่ว่า บางครั้งต้องเข้าใจว่าเรื่องกระแสในพื้นที่กรุงเทพมหานครของนายกรัฐมนตรี ก็ยังแรงอยู่ เพราะฉะนั้นเราต้องพยายามนำจุดเด่นของพรรคพลังประชารัฐที่มีนำไปสู้ในส่วนนั้น
-นโยบายหาเสียงที่พรรคพลังประชารัฐนำเสนอออกมา เช่นบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 700 บาท จะสามารถสื่อสารกับประชาชนในกทม.ได้หรือไม่?
ผมว่าก็ส่วนหนึ่งคือเรื่องบัตร 700 บาท หลักๆ ที่ต่างจังหวัด จะนำเสนอได้เยอะ แต่ในกรุงเทพ ก็ต้องไม่ลืมว่าก็ยังมีคนจนในเมืองอีกเยอะ ซึ่งตัวเลขที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอยู่ก็หลายแสนคน และใช้ทุกเดือนซึ่งในส่วนนี้หากมีการเพิ่มรายละเอียดเข้าไป มีการเพิ่มจำนวนเงินในบัตร และให้ใช้บัตรได้ครอบคลุมหลากหลายมากขึ้น ตรงนี้ก็อาจเป็นจุดขายในชุมชน แต่อย่างที่ได้บอก ก็ต้องมีนโยบายของคนเมืองเป็นหลัก เช่นอาจมีเรื่องของภาษีคนทำงาน นโยบายเกี่ยวกับเรื่องการเดินทางของคนทำงาน เรื่องเกี่ยวกับผู้สูงอายุ เรื่องของสุขภาพที่มีมากขึ้น ซึ่งตรงนี้ทีมของพลังประชารัฐ กำลังทำอยู่
-ตอนนี้บางพรรคการเมือง ก็เริ่มชูนโยบายเรื่องเกี่ยวกับค่าโดยสารคมนาคมเช่น ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสี่สิบบาทตลอดสาย ทำนองนี้ แล้วในส่วนของพลังประชารัฐ จะมีนโยบายแบบนี้หรือไม่ในการหาเสียง?
มีครับ แต่ผมต้องขอบอกว่าอย่างตอนช่วงหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.เมื่อปี 2565 บางคนหาเสียงว่า ค่าโดยสาร 20 บาทหรือ 25 บาทตลอดสาย แต่ถึงเวลาทำไม่ได้
ซึ่งหากจำได้ ตอนช่วงหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.แล้วมีการเชิญผู้สมัครไปออกรายการโทรทัศน์แห่งหนึ่ง ผมเป็นคนเดียวที่ไม่พูดเลยว่าจะเป็นเท่าไหร่ แต่ทุกคนบอกหมดว่า 20 บาท แต่ถึงเวลาก็ทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่พรรคพลังประชารัฐจะนำเสนอ ต้องเป็นนโยบายที่ทำได้จริงทั้งหมด ซึ่งในส่วนของเรื่องค่าครองชีพ ค่าเดินทาง ค่าขนส่งสาธารณะ ก็อยู่ในส่วนการพิจารณาของทีมนโยบายของเรา แต่เราก็ต้องมาดูตัวเลขกัน เราคงไม่โยนตัวเลขออกมาเพียงเพื่อให้ประชาชนเลือกเรา แล้วถึงเวลาทำไม่ได้ แต่ว่านโยบายในส่วนเหล่านี้ จะมีแน่นอน คือผมจะพยายามในฐานะที่ดูแลพื้นที่กทม. เรื่องไหนที่เรานำเสนอประชาชนไป ทุกอย่างต้องทำได้ ไม่ใช่ย้อนกลับมาที่เรา คือนำเสนอไปแต่ถึงเวลาก็ทำไม่ได้จริง
-การที่ตอนนี้ พลังประชารัฐ เหลือส.ส.เขต กทม.จากตอนเลือกตั้งปี 2562 ที่ตอนนั้นได้ 12 คน แต่ตอนนี้เหลือแค่ ศิริพงษ์ รัศมี คนเดียว กับเวลาการเลือกตั้งที่เหลืออยู่ไม่นาน จะมีผลหรือไม่ในการสร้างคนขึ้นมาแทนคนที่ออกไป?
ผมมองว่าไม่มี คือเราก็อยากให้คนที่เคยเป็นส.ส.เขต กทม. ของพลังประชารัฐ อยู่กับพรรคทุกคน แต่ว่าในทางการเมืองทุกคนก็มีเส้นทางของตัวเอง แต่ที่ถามผม แล้วผมบอกว่า ไม่กังวลก็เพราะว่า ณ วันที่เราสร้างพรรคพลังประชารัฐขึ้นมา ทุกคนที่เป็นส.ส.เขต กทม.พลังประชารัฐ ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ก็ไม่เคยเป็นส.ส.กทม.มาก่อน แต่ว่ามาจากการวางแผนของทีมกทม.ของพลังประชารัฐในเวลานั้นก็คือ ท่านณัฏฐพล ทีปสุวรรณ คุณพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ และตัวผมเอง และกระแสของนายกฯ พลเอกประยุทธ์ ก็เป็นการสร้างคน
เพราะฉะนั้น ผมเลยไม่กังวลในส่วนนั้นเพราะว่า ก็มีโอกาสที่พลังประชารัฐ จะสร้างคนใหม่ๆ ขึ้นมาได้เหมือนกัน เพราะอย่างที่บอกคือสนามกทม.ไม่เหมือนกับสนามเลือกตั้งต่างจังหวัด ที่ความเป็นบ้านใหญ่มันสำคัญ คือในกทม.บ้านใหญ่อาจมีความสำคัญบ้างแต่กระแสของคนกรุงที่ไว้ใจ สำคัญกว่า คือต่อให้คุณทำพื้นที่แข็งแค่ไหนก็ตาม แต่ถึงเวลา หากคนกรุงเทพ เขาพร้อมจะไม่เอา เขาก็ไม่เอาเลย ผมมองตรงนั้นสำคัญ จึงเป็นหน้าที่สำคัญของทางพรรคพลังประชารัฐและตัวผมในฐานะที่เป็นหัวหน้าทีมกทม. พลังประชารัฐที่จะสร้างกระแสในกรุงเทพ ให้คนกรุงเทพฯเขายอมรับพรรคพลังประชารัฐให้ได้ แล้วส.ส.ก็จะตามมา
-การที่พลังประชารัฐ มีส.ก.แค่สองคนในเวลานี้ จะมีผลทางการเมืองได้เปรียบเสียเปรียบในสนามกทม.หรือไม่ เมื่อเทียบกับพรรคอื่นที่มีส.ก.มากกว่า เช่นบางพรรคมีส.ก.ร่วมยี่สิบคน?
กรณีดังกล่าว หากเป็นพื้นที่เลือกตั้งกรุงเทพมหานคร ไม่เสียเปรียบมาก เพราะว่าจะไม่เหมือนผู้นำท้องถิ่นในพื้นที่ต่างจังหวัด คือสังคมเมือง จะค่อนข่างแตกต่าง ผู้นำหรือนักการเมองท้องถิ่นจะไปชี้นำคนอยู่บ้านรั้ว บ้านหลัง ผมว่าไม่ง่าย ที่ผมคิดว่าอันนี้จะต่างกับการเลือกตั้งส.ก.พอสมควร
มองการตัดคะแนนกันเอง
ของพรรคการเมืองในขั้วเดียวกัน
-วิเคราะห์อย่างไรที่พรรคการเมืองที่ถูกมองว่าอยู่ในสายเดียวกัน ต่างก็ส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส.เขตกทม.กันหลายพรรคเช่นอย่างที่คนมองว่าพรรคฝ่ายขั้วรัฐบาล อย่าง พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย รวมถึงรวมไทยสร้างชาติ ต่างก็ส่งคนลงสมัครกันหมด จะมีผลอย่างไร
ก็คงเหนื่อยแน่นอน คือกรุงเทพมหานคร หากมองย้อนกลับไปดูการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ที่ผ่านมา ตั้งแต่ยุคคุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน มาถึงม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร หากผมแบ่งคะแนนเป็น อย่างฝ่ายอนุรักษ์นิยมกับฝ่ายซ้ายแล้วกัน ก็จะพบว่าเดิมที ฝ่ายอนุรักษ์นิยม ก็จะมีเปอร์เซนต์ที่มากกว่าอยู่จำนวนหนึ่ง และก่อนหน้านี้มีแค่สองฝั่ง ก็จะไม่ยากสำหรับคนที่จะลงคะแนนเลือก คือไม่ซ้ายก็ขวา แต่ปัจจุบัน คะแนนดังกล่าวเหมือนจะกลับกัน กลายเป็นคะแนนฝ่ายซ้ายใหม่ มากกว่าอนุรักษ์นิยมแล้ว และเมื่อพรรคการเมืองที่อยู่ในฝ่ายอนุรักษ์นิยมมีมากกว่า ทำให้การตัด-แบ่งคะแนนกันเองจึงเยอะกว่า ก็เป็นการยากมากขึ้นของแต่ละพรรคการเมือง
-แบบนี้จะมีผลอย่างไรกับพรรคพลังประชารัฐในสนามพื้นที่กทม.?
ก็มีครับ ก็จะคล้ายกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ครั้งล่าสุดที่ผ่านมา ที่มีการตัดคะแนนกันเยอะพอสมควร
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ดูยากพอสมควรอยู่ เพราะอย่างเดิมที ก็ไม่คิดกันว่า ทางผู้ว่าฯกทม.ไม่น่าจะได้คะแนนเยอะมากขนาดนั้น อย่างที่ผมบอก เรื่อง "กระแส"เป็นสิ่งสำคัญ คือหากกระแสดี นโยบายดี คนกรุงเทพมหานคร ก็พร้อมที่จะสวิงเลือก แต่ว่าการที่คะแนนตัดกันเองของฝ่ายที่มีคะแนนจากฐานเดียวกัน มีแน่อยู่แล้ว
"กระแส"เป็นสิ่งสำคัญ คือหากกระแสดี นโยบายดี คนกรุงเทพมหานคร ก็พร้อมที่จะสวิงเลือก แต่ว่าการที่คะแนนตัดกันเองของฝ่ายที่มีคะแนนจากฐานเดียวกัน มีแน่อยู่แล้ว.......คิดว่า พรรคได้ผ่านอะไรมาเยอะ โดยผู้บริหารพรรคทั้งหมดที่เข้ามาตอนนี้ ทุกคนพร้อมที่จะจับมือแล้วทำงานกันอย่างเต็มที่ ผมว่าภาพรวมในพรรคตอนนี้ดีขึ้น ก็เหลือแต่ว่าเราจะทำอย่างไร ให้ประชาชนที่เขาจะเลือก ได้เห็นว่า พรรคพลังประชารัฐ ตอนนี้เป็นปึกแผ่น มีความมั่นคง ตรงส่วนนี้ก็เป็นหน้าที่ของพวกเราในการทำต่อ
-มีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่คนกทม.กับการเลือกตั้งรอบนี้ อาจจะสวิงโหวตไปเลือกอีกฝั่งเลย?
ผมว่า ถ้าร้อยเปอร์เซนต์ ประมาณสักข้างละสามสิบเปอร์เซนต์ มันจะสวิงยากแล้ว คือสามสิบเปอร์เซนต์ของแต่ละฝั่ง จะเป็นฝั่งที่ ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ก็จะเลือกจากฝั่งเดิมของตัวเอง ก็จะมีประมาณสี่สิบเปอร์เซนต์ที่อยู่ตรงกลาง ที่อาจจะสวิงได้ ที่จะชี้ขาดกัน ก็คือกลุ่มสี่สิบเปอร์เซนต์ตรงกลาง ก็จะเหมือนกับตอนเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ที่ผ่านมา ที่คะแนนของพรรคพลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ หายไป แล้วไปโผล่ที่คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. ทั้งที่ในทางปฏิบัติ เราก็รู้ว่าผู้ว่าฯชัชชาติ อยู่ทางไหน มีแนวอย่างไร ก็คือกลุ่มตรงนี้สี่สิบเปอร์เซนต์ที่พร้อมจะสวิงได้ อาจจะสวิงข้ามไปข้ามมา ขึ้นอยู่กับสถานการณ์นั้นๆ โดยสี่สิบเปอร์เซนต์ดังกล่าว ผมว่าจะเป็นกลุ่มคนชั้นกลาง ที่อาจจะเบื่อง่ายหน่อย เพราะคนกรุงเทพฯ บางทีวันนี้รัก พรุ่งนี้อาจจะหน่าย ที่เห็นได้จากการเลือกตั้งหลายครั้งที่ผ่านมา ก็มักจะเป็นแบบนั้น
-กลุ่มฐานเสียงคนรุ่นใหม่ พวกนิวโหวตเตอร์ ทางพลังประชารัฐ จะสื่อสารกับผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งกลุ่มนี้อย่างไร เพราะก็มีการมองกันว่ากลุ่มดังกล่าว เสียงส่วนใหญ่อาจจะไปเลือกบางพรรค?
อันนี้ก็เหนื่อย เพราะกลุ่มดังกล่าวก็เป็นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งอีกกลุ่มหนึ่งที่ทุกพรรคการเมืองก็ต้องแย่งเสียงกัน ซึ่งพรรคการเมืองใดที่ดูมีความเป็นconservative หรืออนุรักษ์นิยมมาก ก็อาจจะได้คะแนนจากผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งกลุ่มนี้น้อย ตรงนี้ก็เป็นหน้าที่ของพรรคที่ต้องหานโยบายหรือจุดที่จะมาได้คะแนนจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ คือบางทีผมว่าเด็กรุ่นใหม่ ในการเลือก อาจจะยังไม่ได้ดูอะไรที่มันลึกเกินไป อาจจะดูความสร้างสรรค์ หรือแนวนโยบายที่มันติดหู โดนใจ แล้วก็เลือก จุดนี้ก็อยู่ที่แต่ละพรรคการเมืองจะมีแนวในดึงคะแนนอย่างไร
อย่างตัวผม อายุ 45 ปี อาจจะเป็นรุ่นใหม่ก็ได้ เก่าก็ได้ ซึ่งในทีมผู้สมัครส.ส.เขต กทม.พลังประชารัฐ ก็จะมีผู้สมัครหลายคนที่เป็น Gen ใหม่ๆที่อาจจะสื่อสารพูดภาษาเดียวกัน กับคนรุ่นใหม่ และอาจจะต้องมองปัญหาของเขา ที่เป็นปัญหาในการใช้ชีวิต เช่นเด็กรุ่นใหม่ๆ ที่เติบโตขึ้นมาก็อาจจะเป็นปัญหาเรื่องของการเดินทาง เรื่องการเตรียมเข้าทำงานเพื่อหารายได้ เราก็ต้องมีนโยบายที่ทำให้คนกลุ่มนี้จับต้องได้ และแนวในการหาเสียง ก็ต้องให้เขาเข้าถึงได้ ไม่ใช่แบบเดิม ที่เป็นป้าย หรือหนังสืออะไรที่มันโบราณ ก็อาจใช้กับเด็กรุ่นใหม่ลำบาก
-เชื่อเรื่องของโพลต่างๆ ที่จะออกมาหลังจากนี้แค่ไหน คาดว่าหลังจากนี้คงออกมาเยอะ แล้วตรงนี้จะมีผลต่อการชี้นำอย่างไรหรือไม่?
ผมว่าโพล ก็ตอบได้ระดับหนึ่ง ขึ้นอยู่กับการสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างและการสำรวจทำจริงจังแค่ไหน ซึ่งผมก็จะใช้วิทยาศาสตร์ประกอบด้วยในการพิจารณาหลายอย่าง แต่ตอนเลือกตั้งก็จะมีโพลหลายสำนัก ที่ก็เชื่อถือได้ และเชื่อถือไม่ได้ มันก็มีการชี้นำ ที่ก็อยากให้พี่น้องชาวกรุงเทพมหานคร และประชาชนทั่วประเทศ ได้ระวังด้วย เพราะบางทีบางโพล ชื่อว่าเป็นโพล แต่ไม่รู้ไปทำสำรวจกันที่ไหนอย่างไร แต่ก็มีผลในการชี้นำ คนที่ไปเลือกตั้งพอสมควร
-ยุทธศาสตร์การหาเสียงในพื้นที่กทม.ของพลังประชารัฐต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร มีข่าวว่าพลเอกประวิตร จะไปคิกออฟหาเสียงครั้งแรกที่พื้นที่เลือกตั้งป้อมปราบศัตรูพ่าย?
ตรงนี้ก็เป็น Gimmick เพราะการหาเสียงยุคนี้จะใช้แบบการเดินไปตลาดอย่างเดียวคงไม่ได้แล้ว แต่ละพรรคก็ต้องคิดอะไรที่ครีเอทมากขึ้น อย่าง"ป้อมปราบศัตรูพ่าย"ก็ไม่ใช่ว่าเราจะไปเป็นศัตรูกับใคร แต่เราถือว่า หัวหน้าพรรคเราชื่อป้อม "ป้อม"ก็มาปราบศัตรูให้พ่าย"ที่ศัตรู ก็ไม่ใช่พรรคการเมืองอื่น แต่ศัตรก็คือความลำบาก ความเดือดร้อนของประชาชน อันนี้เราจะมาปราบ ชื่อก็มาคล้องกัน แล้วมีเขตในกทม.ที่ชื่อนี้ ตรงนี้เราก็จะมาเอาฤกษ์เอาชัย ที่ท่านหัวหน้าพรรคจะพาผู้สมัครส.ส.เขต กทม.ของพลังประชารัฐลงพื้นที่ในกรุงเทพมหานครเป็นครั้งแรก แต่รูปแบบในการลงพื้นที่ อย่างหากจะเป็นการปราศรัย แต่ด้วยพื้นที่ในเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ที่เป็นพื้นที่ซึ่งค่อนข้างจำกัด ก็อาจจะเป็นรูปแบบเช่นการไปไหว้พระสามวัด ทั้งมัสยิด วัดจีน วัดไทยและมีกิจกรรมให้หัวหน้าพรรคทำสักอย่างหนึ่งเพื่อเป็นการโหมโรงว่าขณะนี้ได้นับหนึ่งแล้ว กรุงเทพมหานคร เราจะลุยหาเสียง
โดยเบื้องต้นการลงพื้นที่เขตป้อมปราบศัตรูพ่ายของหัวหน้าพรรค วางไว้ว่าอาจให้เป็นวันที่ 14 กุมภาพันธ์ (วันวาเลนไทน์) ช่วงบ่ายๆ แต่อันนี้ยังไม่นิ่ง แต่ก็มีการวางไว้ ที่ก็จะเป็นอีเวนต์แรกที่หัวหน้าพรรคจะลงพื้นที่พร้อมกับผู้สมัครส.ส.เขต กทม.แบบจริงจัง
ส่วนการปราศรัยใหญ่ในกรุงเทพมหานคร ก็จะมีแน่นอน เพราะผมคิดว่าการเมืองกับการปราศรัย เป็นของคู่กัน โดยหากถามผม ก็คิดว่าสำหรับกทม. ก็คงต้องมีการปราศรัยในพื้นที่ฝั่งธนบุรีหนึ่งครั้งและฝั่งพระนครอีกหนึ่งครั้ง แต่สำหรับสถานที่ในการจัดปราศรัย ก็คงดูกันอีกที ส่วนรูปแบบ ผมจะใช้วิธีแบบเป็นส่วนกลาง โดยผมจะลงไปช่วยหาเสียงกับผู้สมัครส.ส.เขต กทม.ของพรรคทุกเขต เช่นวันนี้ผมไปจตุจักร วันพรุ่งนี้ไปหลักสี่ วันต่อไปก็ไปพื้นที่เขตบางคอแหลม
-ที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าพลังประชารัฐ กระแสในกทม.ตอนนี้ตกลงไปเยอะ แล้วจะมียุทธศาสตร์แก้ไขตรงนี้อย่างไร?
ผมว่าที่ผ่านๆมา ก็คงเห็นกันอยู่แล้วว่า ก็อาจมีปัญหากัน ที่ก็ตกลง อย่างที่มีการตั้งข้อสังเกตุกันจริงๆ เพียงแต่ว่า ณ วันนี้ผมคิดว่า พรรคก็ได้ผ่านอะไรมาเยอะ โดยผู้บริหารพรรคทั้งหมดที่เข้ามาตอนนี้ ทุกคนก็พร้อมที่จะจับมือแล้วทำงานกันอย่างเต็มที่ ผมว่าภาพรวมในพรรคตอนนี้ดีขึ้น ก็เหลือแต่ว่าเราจะทำอย่างไร ให้ประชาชนที่เขาจะเลือก ได้เห็นว่า พรรคพลังประชารัฐ ตอนนี้เป็นปึกแผ่น มีความมั่นคง ตรงส่วนนี้ก็เป็นหน้าที่ของพวกเราในการทำต่อ
-คิดว่าผลการเลือกตั้งที่ออกมา ที่มีการชิงกัน 33 เก้าอี้ส.ส.เขต กทม.จะมีพรรคการเมืองได้แบบเกินสิบที่นั่ง หรือไปที่ระดับเกิน 15 คน จะเป็นแบบนี้ได้หรือไม่?
ก็เป็นไปได้ อยู่ที่กระแส คือในกรุงเทพมหานคร กระแสจะออกมาในช่วง 1-2 สัปดาห์สุดท้าย ก่อนวันเลือกตั้ง อย่างตอนผมลงเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ตอนแรก ก็มีคนคิดว่า ผมจะได้ถึงห้าหมื่นหรือไม่ แต่ในช่วงสองสัปดาห์สุดท้าย ก็มีกระแสเข้ามา จากการที่เราทำแคปเปญหาเสียงมาตลอด ผมว่าการเลือกตั้งใหญ่ครั้งนี้ก็จะเป็นแบบนั้น อยู่ที่ว่าแต่ละพรรคจะงัดขึ้นมาอย่างไร จะนำเสนออะไรให้คนกรุงเทพฯได้เห็น ที่อาจจะต้องมีอะไรสักอย่างหนึ่งออกมาเพื่อให้คนได้ตัดสินใจ ผมถึงมองว่าหากดูจากตอนนี้ ยังอาจดูอะไรไม่ออก ต้องรอใกล้ๆจริง
บทสัมภาษณ์ในช่วงท้ายๆ เราถามและพูดคุยกันถึงเรื่องที่ตอนนี้ อดีตแกนนำกปปส.ที่เคยเป็นอดีตส.ส.กทม. ซึ่งตอนช่วงกปปส. ทั้งหมดต่างอยู่พรรคประชาธิปัตย์ แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ แยกย้ายไปอยู่กันคนละพรรค โดยที่พบว่า แต่ละคน ก็รับผิดชอบพื้นที่เลือกตั้งกทม. ทั้ง พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ที่อยู่ภูมิใจไทย เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ที่อยู่รวมไทยสร้างชาติ ส่วนตัว สกลธี ก็มาเป็นหัวหน้าทีมกทม.พลังประชารัฐ เมื่อถามถึงเรื่องนี้ ทาง”สกลธี-หัวหน้าทีมกทม.พลังประชารัฐ”พูดคุยกับเราว่า ในเรื่องของอุดมการณ์ จุดยืนของพวกเรา ผมว่า มันเหมือนกันอยู่แล้ว ไม่ได้เปลี่ยน เพียงแต่ว่าเส้นทางการเมือง พอเติบโตกันไป ข้อจำกัดของแต่ละคนมันไม่เหมือนกัน บางคนก็อาจอยู่ตรงนั้นแล้วเขาสบายใจกว่า บางคนอยู่ตรงนี้สบายใจกว่า ก็เป็นเงื่อนไขของแต่ละคน
...ส่วนตัวผมเอง ผมถือคติว่าอยู่ที่ไหนก็ได้ แต่ต้องไม่ขัดกับอุดมการณ์ของเรา สิ่งที่เราทำ เพราะตัวผมเอง เป็นอย่างไร ก็เป็นแบบนั้น สกลธี วันนี้ กับสกลธี เมื่อสิบปีที่แล้ว ก็ยังเป็น สกลธี คนเดิม แต่ผมถือคติว่าอยู่ที่ไหน ที่เรามีคุณค่า เราได้ทำงานเต็มที่ เพราะของผม ไม่ได้อะไรมาก ผมแค่อยากทำงาน แล้วอยากแก้ปัญหา ที่เราเห็นและเราอยากทำ สำหรับผมมีแค่ตรงนั้นเอง แต่บางครั้งที่ต้องแยกกัน ก็เพราะอาจจะมีเรื่องของเงื่อนไขของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งถ้าจริงๆ ก็อยากอยู่ร่วมกัน เพราะหากเรารวมกัน มันก็แข็งแรงกว่า แต่ว่าบางทีคนข้างนอกก็ไม่รู้ว่า เงื่อนไขแต่ละคนเป็นอย่างไร ซึ่งบางครั้งเงื่อนไขที่มันปิด ก็พูดออกมาทางสื่อไม่ได้ด้วย เราก็เลือกที่จะเก็บไว้
... ซึ่งผมก็โอเค ยอมรับว่า จากที่ผมอยู่ตรงนี้ หลายคนถามผมเยอะ อย่างที่เห็น ตอนที่ผมเริ่มเปิดตัวว่าอยู่ที่พลังประชารัฐ ก็มีข้อความส่งเข้ามาในเพจของผมเป็นพันข้อความเลยว่า ทำไม ไม่ไปอยู่กับท่านนายกรัฐมนตรี ทุกคนจะถามผมหมด ผมก็บอกว่า คือโอเค อาจจะมีเงื่อนไขบางอย่างที่ไม่ลงตัว แต่ผมก็ยังเคารพท่านนายกรัฐมนตรีเหมือนเดิม
-ที่กลับมาพลังประชารัฐครั้งนี้ตัดสินใจอย่างไร และใช้เวลานานหรือไม่ในการพิจารณาตัดสินใจ?
คือตั้งแต่หลังเสร็จสิ้นการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่ผ่านมา ผมก็หยุดพักไปสักระยะ และเมื่อหยุดไปได้สัก 3-4 เดือน ก็มีการทาบทามมาจากผู้ใหญ่ของหลายพรรคการเมือง โดยไม่ใช่แค่ 1-2 พรรคการเมือง แต่มีหลายพรรคการเมืองที่คุยกับผม และอยากจะชวนไปทำงานการเมืองร่วมกัน เพียงแต่ว่าที่ติดต่อเข้ามาเยอะที่สุด และให้คนถามมา ก็คือ ท่านพลเอกประวิตร ที่ถามผมมา
โดยวันที่ผมตัดสินใจเข้ามาที่พลังประชารัฐ ผมก็ยังไม่ได้เข้ามาเต็มตัว ผมก็คุยกับพลเอกประวิตรก่อน โดย ณ วันนั้น ทางนายกรัฐมนตรีกับพลเอกประวิตร ยังอยู่ด้วยกัน ผมก็เลยตัดสินใจง่ายเลย เพราะผมก็เคารพทั้งสองท่านอยู่แล้ว ผมก็กลับมา แต่ระหว่างทาง นายกรัฐมนตรีก็ไปที่พรรครวมไทยสร้างชาติ ส่วนท่านพลเอกประวิตร ก็ทำพลังประชารัฐต่อ ผมก็ต้องตัดสินใจในส่วนนั้น
มันก็เป็นที่มาที่ว่าผมต้องเลือก แต่อย่างที่บอก ที่ไหน ที่ผมอยู่แล้ว ผมมีอิสระในการทำงาน และผมทำงานได้เต็มที่ ผมก็เลือกที่นั่น ตรงนั้น คือรวมไทยสร้างชาติ เขาก็เป็นพรรคที่เพิ่งก่อตั้งมาได้สักระยะ ที่ก็อาจจะมีคนที่เขาวางคนไว้อยู่แล้ว หากผมไป ผมก็ไม่ได้ไปคนเดียว เพราะก็อาจจะมีคนที่ตามมากับผมหลายคน บางทีมันก็ไม่ลงตัวกัน ก็เลยทำให้เราไม่สามารถที่จะไปตรงนั้นได้
...........................................................................
ผลเลือกตั้ง 2566
ไม่เชื่อจะเกิด"แลนด์สไลด์"
"สกลธี ภัททิยกุล กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ -พรรคแกนนำรัฐบาลในปัจจุบัน"ยังได้วิเคราะห์การเลือกตั้งในภาพใหญ่ที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้การแข่งขันสูง แต่ละพรรคการเมืองที่ส่งคนลงเลือกตั้ง ก็จะพบว่าตัวผู้สมัคร ก็มีดีๆกันหลายคน ก็เหมือนกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ที่ผ่านมา ที่ผู้สมัครที่ลงสมัครดีๆ กันหลายคน ซึ่งการเลือกตั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นก็เช่นกัน ก็ทำให้อาจเป็นงานยากของพรรคการเมืองแต่จะดีสำหรับประชาชน เพราะประชาชนจะมีตัวเลือกมากขึ้น
"ผมมองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีการตัดคะแนนกันค่อนข้างเยอะ แล้วอย่างที่บอกพรรคที่เป็นฝั่งอนุรักษ์นิยม จะตัดคะแนนกันเยอะกว่า โอกาสก็เหนื่อย ผลอาจออกมาในแนวที่ฝ่ายเพื่อไทยอาจจะได้ส.ส.เยอะขึ้น รวมถึงก้าวไกล ที่ก็เป็นไปได้"
ส่วนเป้าหมายการเลือกตั้งจำนวนส.ส.ของพลังประชารัฐนั้น ทางหัวหน้าพรรคพลเอกประวิตร และทางคุณวิรัช รัตนเศรษฐ รองหัวหน้าพรรคให้สัมภาษณ์ ก็หวังไว้ที่ 120 เสียงประมาณนั้น แต่ผมก็มีตัวเลขในใจ แต่อาจไม่ตรงกับท่าน
-มีโอกาสหรือไม่ที่ผลการเลือกตั้งที่จะออกมา จะมีบางพรรคการเมืองได้เสียงข้างมากแบบแลนด์สไลด์?
ผมว่า หากดูจากตอนนี้ การที่จะมีพรรคการเมืองใด ชนะแบบแลนด์สไลด์เลย จนตั้งรัฐบาลได้พรรคเดียว น่าจะเกิดขึ้นยากมาก เพราะตอนนี้มีการแบ่ง ซึ่งไม่ใช่แค่กับฝั่งอนุรักษ์นิยมเท่านั้นที่แบ่ง แต่ฝั่งซ้ายก็แบ่งเช่นเดียวกัน และแบ่งหนักด้วย เพราะฉะนั้นจะเป็นเหมือนเดิมแบบที่สองขั้วแล้วแลนด์สไลด์เลย ผมว่าน่าจะเกิดขึ้นได้ยากมาก
"สกลธี"กล่าวทิ้งท้ายถึงการเข้ามาทำหน้าที่เป็นกัปตันทีมการเลือกตั้งส.ส.กทม.ให้กับพลังประชารัฐในครั้งนี้ว่า ถือเป็นเกียรติอย่างมากเพราะว่า พลเอกประวิตร ก็ให้อิสระกับผมเต็มที่จริงๆ อย่างเรื่องการวางคอนเสปต์ ผมก็บอกกับหัวหน้าพรรคว่าการหาเสียงของผม รูปแบบการหาเสียง เช่น ป้าย รวมถึงทุกอย่างเช่นการคัดเลือกตัวผู้สมัครส.ส. เราจะไม่เหมือนกับพื้นที่่ต่างจังหวัด ผมได้บอกกับพลเอกประวิตรว่าผมจะขอทำในแนวที่แหวกออกไป ซึ่งโดยรวมๆ 80-90 เปอร์เซนต์ หัวหน้าพรรคก็ให้ผมทำแบบนั้น ซึ่งผมก็แฮปปี้ตรงนั้น โดยผมก็จะลองทำตามแบบที่คิดไว้ แต่ว่าเมื่อออกมาแล้ว จะแค่ไหน อย่างไร ก็ขึ้นอยู่ว่าคนกรุงเทพฯ จะเห็นหรือไม่ แต่รับรองว่ามีการเปลี่ยนแปลงแน่นอนในส่วนนั้น และผมคิดว่าตอนนี้ภายในพรรคพลังประชารัฐ เรื่องความเป็นปีกแผ่นมีเยอะขึ้นกว่าสมัยก่อนมาก และทุกคนพร้อมที่จะเคลื่อนทัพไป ซึ่งอันนี้ก็ต้องแล้วแต่ประชาชนจะเห็นเหมือนกันหรือไม่ แต่พวกเราก็เต็มที่กันหมด
โดยวรพล กิตติรัตวรางกูร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สส.เพื่อไทย ดี๊ด๊า ประเทศไทยมีระบบที่เป็นมาตรฐาน!
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่าประชาชนที่ติดตามเรื่องนี้คงสบายใจขึ้นที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับ
'อิ๊งค์' ยิ้มรับ 'พ่อ-เพื่อไทย' รอดล้มล้างปกครอง ชาวเน็ตชี้จากนี้ไป 'ทักษิณ' ใส่เกียร์เหลิง
จากกรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติไม่รับไว้พิจารณาวินิจฉัย คำร้องที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ในฐานะประชาชน ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ
ระทึกสุดขีด! 22 พ.ย. ศาลรธน.ลงมติ 'รับ-ไม่รับ' คำร้อง 'ทักษิณ-เพื่อไทย' ล้มล้างการปกครอง
คอนเฟิร์ม ศุกร์นี้ 22 พ.ย. 9 ตุลาการศาลรธน.นัดประชุมวาระพิเศษ หลังงดมาสองรอบ เตรียมนำหนังสือ-ความเห็นอัยการสูงสุด กางบนโต๊ะประชุม ก่อนลุ้นโหวตลงมติ”รับ-ไม่รับคำร้อง”คดีทักษิณ-เพื่อไทย โดนร้องล้มล้างการปกครองฯ
'แพทองธาร' โชว์วิชั่น การเมืองมีเสถียรภาพ ประเทศไทยจะดีขึ้น!
นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ไทยสงบ สันติ หวังรัฐบาลเปลี่ยน นายกฯเปลี่ยน แต่นโยบายเพื่อปชช.เดินหน้า บอกต่างชาติเจอคำถามแรกถามพ่อ-อาเป็นอย่างไร ย้ำการเมืองมั่นคง มีเสถียรภาพแน่นอน
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476
รู้ไว้ซะ 'ปิยบุตร' เผย 'ทักษิณ' ได้กลับบ้าน เพราะก้าวไกลชนะเลือกตั้ง!
นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา มีเรื่องหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาถกเถียงกันอีกครั้ง