ทฤษฎีความไม่พร้อม ปูพรมให้ถนนสายทรมานวิถี

งานเข้าผู้พิทักษ์สันติราษฎร์อีกแล้ว

จดหมายจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ฉบับด่วนที่สุด ที่ ตช 0011.24/64 ลงวันที่ 2 มค. 66 ลงชื่อ พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์  ผบ.ตร. ถึง รมว. ก. ยุติธรรม  เรื่อง ปัญหาขัดข้องในการปฏิบัติตาม พรบ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย  พ.ศ. 2566เป็นประเด็นให้เห็นว่าหน่วยงานราชการภาคปฏิบัติกำลังใช้ “ทฤษฎีความไม่พร้อม” มาถ่วงเวลาการบังคับใช้กฎหมายให้ทอดเวลาออกไป

เวลาที่ยืดยาวออกไปนั้น ย่อมหมายถึงการทรมานผู้ต้องหายังดำเนินต่อไปได้เรื่อยๆ โดยไม่รู้ว่าจะเข้าสู่ระบบแห่งการรับรู้รับเห็นของผู้เกี่ยวข้องและสาธารณะได้เมื่อไร

ทำให้นึกถึงนายตำรวจระดับ ผกก. และพวก ที่นครสวรรค์ เอาถุงดำครอบศีรษะผู้ต้องหา

คนหนึ่ง แล้วรุมกันเตะต่อยทุบตีจนสิ้นใจคาถุงดำอย่างทรมาน  เป็นภาพตรึงตาที่สังคมไทยลืมไม่ได้

กฎหมายฉบับนี้ จะประกันว่าการทรมานและการอุ้มหายบุคคลจะกระทำมิได้ เพราะผู้มีหน้าที่จับกุมต้องบันทึกปากคำและบันทึกภาพไว้ทุกขั้นตอนอย่างละเอียด โปร่งใส เพื่ออำนวยความยุติธรรมที่เป็นจริงต่อประชาชน ด้วยเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งอัยการและบุคคลอื่นเข้ามารับรู้รับเห็น ที่สามารถเป็นประจักษ์พยานยืนยันข้อเท็จจริง

ในขณะที่จดหมายของ สตช. ฉบับดังกล่าว อ้างความไม่พร้อม 3 ด้านคือด้านงบประมาณ (การจัดซื้อกล้องสำหรับตำรวจ 250,000 คน) ด้านบุคลากร และข้อขัดข้องในระเบียบวิธีปฏิบัติงาน

กฎหมายประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว มีผลบังคับใช้ในวันที่ 22  กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งเป็นวันครบกำหนด 120 วัน นับแต่วันประกาศ

จริงหรือไม่ว่า สตช. ไม่พร้อม

บันทึกการประชุม คณะอนุกรรมาธิการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนของสภาผู้แทนราษฎร ประชุมเมื่อวันที่ 22 ธค. 65  ซึ่งมีนายอดิลัน อาลีอิสเฮาะ ส.ส.ยะลา  เป็นประธาน ชี้ว่า

1.เมื่อ 14 พย. 65  มีการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งประกอบด้วยสภาความ

มั่นคงแห่งชาติ  ก. กลาโหม กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ  สนง. อัยการสูงสุด  สตช. ก.มหาดไทยมีการตั้งคณะทำงานร่วมกัน เพื่อออกแบบกำหนดมาตรการ และมาตรฐานในการปฏิบัติร่วมกัน ปรากฏว่าทุกหน่วยงาน ขานรับกับที่ประชุมอนุกรรมาธิการว่า สามารถปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดได้ ในวันที่ 22 กพ. 66

2.ในการประชุมวันนั้น พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล  รอง ผบ.ตร. ในฐานะประธาน

คณะทำงานเรื่องนี้ของ สตช. ได้ยืนยันกับที่ประชุมว่า สตช. มีความพร้อมที่จะปฏิบัติตามกฎหมายได้ แม้ว่างบประมาณอาจยังไม่ครบ แต่อุปกรณ์ที่มีอยู่รวมทั้งเครื่องมือถือที่ทุกคนมีอยู่แล้วก็สามารถใช้บันทึกภาพได้ ส่วนการทำความเข้าใจกับประชาชน ก็ต้องทำหน้าที่ชี้แจงให้ความรู้ความเข้าใจกันไปตามหน้าที่อยู่แล้ว

พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล   ยืนยันว่า ทาง สตช. พร้อมที่จะปฏิบัติได้ในวันที่ 22 กพ. 66

และหากย้อนกลับไปตรวจสอบ ก็พบว่า พล.ต.อ. สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข  ตั้งแต่ครั้งเป็น ผบ.ตร.ในปี 2564  ได้มีคำสั่ง เป็นบันทึกชัดเจนว่าในการจับกุมผู้ต้องหาทุกครั้งต้องบันทึกภาพและเสียงให้ละเอียด ชัดเจน ทุกขั้นตอนอย่างโปร่งใส

แปลว่าการบันทึกภาพและเสียงเป็นข้อปฏิบัติที่ทางหน่วยงานที่มีหน้าที่จับกุมสอบสวนต้องปฏิบัติเป็นวิถีปกติอยู่แล้ว

ความจริงก็ไม่จำเป็นที่จะต้องซื้อกล้องประจำตัวตำรวจทั้ง 250,000 คน  เพราะตำรวจที่มีหน้าที่จับกุม สอบสวน มีจำนวนหนึ่งเท่านั้น หากมีกล้องส่วนกลางไว้ที่สถานีตำรวจ ใครออกไปจับกุมก็หิ้วกล้องไป  ที่ สน.ตร. เองก็มีกล้องประจำสถานีอยู่ที่ใช้งานได้ตลอดเวลา เครื่องมือถือก็มีอยู่แล้วทุกคน

มีข้อควรพิจารณา ดังนี้

1.พรบ. ฉบับนี้ ที่เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของทุกภาคส่วน  ก. ยุติธรรมได้เริ่มวาง

แนวทางไว้ตั้งแต่ปี 2558 ถึงขั้นเป็นร่าง พรบ.เข้าสู่ สนช. แล้ว แต่มีเหตุขัดข้องมาเป็นลำดับ  จนล่าสุดสภาผู้แทนราษฎร ลงมติผ่านร่างที่แก้ไขแล้วจากวุฒิสภา เมื่อ 24 สค. 65  ด้วยคะแนนเสียง  287 จากผู้ลงมติ 289  คน  ไม่เห็นด้วย 1  งดออกเสียง 1

เท่ากับฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้  กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า 8 ปีมานี้ กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีละเมิดสิทธิในชีวิตด้วยการซ้อมทรมานและทำร้ายร่างกายระหว่างถูกควบคุมตัวถึง  232  เรื่อง  และไม่มีแนวโน้มจะลดลงเลย

หน่วยราชการทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งวุฒิสภา กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และภาคประชาสังคมด้านสิทธิมนุษยชนทั้งหมด จึงพากันหนุนเนื่อง เป็นจิตหนึ่งใจเดียวกันในการทำบุญมหากฐินร่วมกันสะท้อนถึงจิตวิญญาณที่เคารพในศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ที่ใครๆ ก็ไม่พึงละเมิด

2.กฎหมายประกาศเป็น พรบ. แล้ว ครบ 120 วัน ต้องบังคับใช้ บุคคลระดับรัฐมนตรีว่าการ

ก. ยุติธรรม จะไปยับยั้งหรือชะลอใช้ไม่ได้ เพราะผ่านสภาแล้ว ถ้าจะออกเป็นพระราชกำหนด ก็ต้องไปผ่าน ครม. และยังต้องนำเข้าไปสู่การรับรองของสภาอีกครั้ง สภาจะไปรับรอง พรก. ที่ออกมาเพื่อแก้ปัญหา พรบ. ที่สภามีมติรับรองไปแล้วได้อย่างไร         

นายอนุชา บูรพชัยศรี  รองเลขาธิการนายกฯ  เผยว่า  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ยินดีที่ สนง. ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ชื่นชมรัฐบาลไทยที่ประกาศใช้ พรบ. ฉบับนี้ ถือเป็นการปฏิบัติตามคำมั่นที่ให้ไว้ในการทบทวนสิทธิมนุษยชนครั้งล่าสุด ตามกระบวนการ Universal Periodic Review และ สนง. UN ยังชี้ว่าหลังจากนี้ ไทยสามารถให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ และพิธีสารว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

จะเรียกว่าเป็นการพลิกโฉมกระบวนการยุติธรรมไทยครั้งใหญ่ในรอบร้อยปีเลยก็ยังได้

ใครๆ ก็พากันร่วมบุญมหากฐิน ที่อำนวยความยุติธรรมอย่างมีนัยสำคัญ จะมีก็แต่ สตช.ที่ยกเอาทฤษฎีความไม่พร้อม เป็นข้ออ้าง ทั้งๆ ที่ความจริงนั้นมีความพร้อมอยู่แล้ว ส่วนที่ยังขาดพร่อง ย่อมจะพัฒนาไปเป็นความพร้อมขึ้นเองเมื่องานได้ตั้งต้นและดำเนินไป

หรือจะปล่อยให้คนไทยจำนวนหนึ่งอยู่ในวังวนของการทรมานต่อเนื่องไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้ชะตากรรม.

ประสาร  มฤคพิทักษ์

[email protected]

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘ผู้การจ๋อ’ ส่งทนายยื่นหนังสือ ‘ผบ.ตร.’ ยัน ป.ป.ช.ไม่ชี้มูล คดี ‘อัจฉริยะ’ ร้องเรียน

ทนายความของ พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล นำมติ ป.ป.ช.ที่ไม่ชี้มูลความผิด กรณีที่นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ร้องทุกข์กล่าวโทษ

สาวโดดน้ำเจ้าพระยา! แฟนหนุ่มตามลงไปช่วยแล้วขึ้นไม่ได้

เมื่อเวลา 02.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองสมุทรปราการ ได้รับแจ้งมีคนกระโดดลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณริมเขื่อนภายในลานจอดรถตลาดหัวเกาะ

พล.ร.อ.พัลลภ อดีตเสธ.ทร. ผ่ากับดัก MOU 44 บันไดสามขั้น เสี่ยงทำไทย สูญเสียดินแดน

ประเด็น "การเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล" ในไหล่ทวีป 26,400 ตารางกิโลเมตร ระหว่างไทย-กัมพูชา กลับมาเป็นเรื่องร้อนๆ ที่ถูกพูดถึงทางการเมืองอีกครั้ง

'รองผบช.ก.' แย้มพยานหลักฐานเพียบ คดีโกง 71 ล้าน จ่อหมายเรียก 'ทนายตั้ม'

พล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม รองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (รอง ผบช.ก.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการสอบปากคำ น.ส.จตุพร อุบลเลิศ หรือ เจ๊อ้อย

บุกจับ 2 หนุ่ม ซุกเฮโรอีนในพรมเช็ดเท้า 4 กิโล มูลค่า 12 ล้าน

พ.ต.อ.ยศวัจน์ แก้วสืบธัญนิจ ผกก.สภ.เมืองขอนแก่น พร้อมด้วย พ.ต.ท.เมธี ศรีวันนา รอง ผกก.(ป.) สภ.เมืองขอนแก่น นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดปราบปรามยาเสพติด