บ้านกาญจนาภิเษกเป็นหน่วยราชการในสังกัดกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม ที่มีภารกิจแก้ไข ฟื้นฟู เยียวยาเยาวชนหลังคำพิพากษา โดยเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกเข้าไปบริหารองค์กรร่วมกับภาคราชการในลักษณะสถานควบคุม “ระบบเปิด” หรืออาจกล่าวได้อย่างง่ายว่า ที่นี่คือบ้านทดแทนชั่วคราวของวัยรุ่นที่ก้าวพลาด ไม่ใช่ “คุก”
หน่วยงานที่มีลักษณะพิเศษเช่นนี้ เกิดขึ้นมาจากแรงผลักดันสำคัญของ คุณหญิงจันทนี สันตะบุตร ซึ่งมีประสบการณ์จากการเป็นผู้พิพากษาสมทบในศาลเยาวชนฯ มาอย่างยาวนาน ได้เห็นเยาวชนกระทำผิดซ้ำ จนวนเวียนมาขึ้นศาลเป็นว่าเล่น ท่านซึ่งไม่อยากเห็นการกระทำความผิดซ้ำของเยาวชนเช่นนี้ จึงดำริว่า ถ้ามีสถานควบคุมที่เหมาะสม ให้เยาวชนเหล่านั้นได้รับความรักความอบอุ่น ตระหนักในคุณค่าของตัวเองแล้ว จะตระหนักในสิทธิและเสรีภาพของตัวเอง เด็กเหล่านี้เปลี่ยนแปลงได้ จึงเริ่มโครงการที่จะมีบ้านที่เป็นสถานฝึกอบรม ไม่ใช่เรื่องของสถานที่กักกัน นำมาสู่การโครงการบ้านกาญจนาภิเษก ในวาระมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี เมื่อ พ.ศ. 2539
ความรักความอบอุ่นเช่นว่านี้เป็นสิ่งที่คุณหญิงจันทนีในวัยเด็กเคยได้รับมาจากการอาศัยอยู่ในบ้านของเพื่อนบิดา ขณะที่เธอ “เด็กประชาบาล” ย้ายเข้ามาเรียนต่อที่โรงเรียนราชินีบนและราชินีในกรุงเทพฯ โดยเธอได้รับความรักเต็มที่ มีสิทธิ์เหมือนลูกคนหนึ่งซึ่งทำให้มีความสุข อยากทำอะไรดี ๆ ให้คนอื่น
เพื่อนบิดาของเธอนั้น คือ ขุนอนุสรศุภกิจ (บุญ ทัพพันธุ์) มีภรรยาชื่อ ส้อย (หรือเดิมคือ เส่ย) ซึ่งคุณหญิงจันทนีกล่าวถึงเอาไว้ว่า “คุณอาเส่ยรักและเมตตา ปฏิบัติต่อทุกคนเหมือนเป็นลูกของท่านเอง ให้กินให้อยู่ ซื้ออะไรให้ลูกท่าน ก็ให้พวกเราด้วย เราทุกคนรักกันเหมือนพี่น้องแท้ ๆ จนตายจากกัน”
และกล่าวถึงความคิดในการสร้างบ้านกาญจนาภิเษกว่า “การเป็นเด็กต่างจังหวัดมาคนเดียว ขออาศัยอยู่กับเพื่อนของพ่อ และได้รับความรักความอบอุ่น การยอมรับประดุจลูกหลานพี่น้องแท้ ๆ ทำให้ฉันเชื่อมั่นว่า เด็กที่ได้รับความรัก การยอมรับ จะตระหนักและเห็นคุณค่าของตัวเอง จะรักคนอื่น ให้คุณค่าคนอื่น ไม่ทำร้ายคนอื่น สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ และถ้ามีเสรีภาพ จะมีอิสระทางความคิด มีศักยภาพ และสร้างวินัยภายในตนเองได้…เมื่อทำบ้านกาญจนาภิเษก เพื่อเด็กที่ทำผิด ฉันก็เน้นเรื่องความเข้าใจ และบ้านไม่มีรั้ว เพื่อไม่ให้เด็กรู้สึกถูกกักขัง จำกัดเสรีภาพ”
นี่เป็นเพียงผลงานหนึ่งในชีวิตอันยาวนานของสตรีผู้นี้ ที่สร้างคุณูปการไว้ให้สังคมไทยอย่างมากมาย
คุณหญิงจันทนี เดิมชื่อฉลอง เกิดที่จังหวัดลพบุรี เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2465 โดยเป็นธิดาของสุดท้องของนายผัน ทนายความ กับนางกิมฮวย ชิตสุข ซึ่งเรียกอย่างสมัยนี้ได้ว่า “นักธุรกิจ” เพราะเป็นเจ้าของตลาดบ้านหมี่ ค้าข้าว ให้เช่าที่ ฯลฯ
เธอเติบโตมาในบ้านสวน หลังบ้านของเธอมีเนื้อที่กว้างขวาง มีคนจีนมาเช่าอยู่เป็นส่วนมาก รวม 50-60 หลังคาเรือน เธอจึงเป็นหัวโจกของเด็ก ๆ ในบริเวณนั้นที่เป็นเพื่อนเล่นของเธอ นอกจากนี้ มารดายังคอยดูแลทุกข์สุขให้ผู้เช่าอีกด้วย ทั้งเรื่องเงินทอง หยูกยา และการยุติข้อพิพาท ทำให้ ด.ญ.ฉลอง คุ้นเคยกับงานสังคมเคราะห์และงานกระบวนการยุติธรรมมาแต่วัยเยาว์
ชีวิตวัยเด็กมีผลต่อการสร้างความเป็นตัวตนของเธอเป็นอย่างมาก ดังที่เธอเขียนเอาไว้ว่า “การมีครอบครัวที่อบอุ่นและได้รับความรักจากคนรอบข้างเต็มที่ ทำให้ฉันเป็นเด็กที่มีความมั่นใจในตัวเองค่อนข้างสูงมาก จนทำให้ไม่ยอมเชื่อใครง่าย ๆ และไม่กลัวใคร”
เมื่อเธอสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนฝึกหัดครูสวนสุนันทาแล้ว กลับไปรับราชการครูที่จังหวัดลพบุรี ที่โรงเรียนปานขาว สอนภาษาอังกฤษและวิชาขับร้อง สถานที่สอนขับร้องของเธอ คือ ศาลาวัดซึ่งอยู่ริมทางที่ตัดตรงไปที่ว่าการอำเภอ หลายครั้งคุณครูสาวจึงเห็นนายอำเภอบ้านหมี่มายืนฟังเพลงอยู่ใต้ต้นไม้ริมทาง
ในสมัยรัฐนิยมของรัฐบาลพิบูลสงคราม “ฉลอง” เป็นชื่อที่บ่งความเป็นชาย เธอจึงจำต้องเปลี่ยนให้เป็นหญิง มีคนแนะนำให้ใช้ “ฉลองลักษณ์” แต่เธอไม่นึกอยากจะเก็บชื่อเดิมไว้ จึงเลือกชื่อ “จันทนี” เพราะประทับใจในความหมายที่ว่า “ผู้ลูกไล้ด้วยจุลจันทน์ คือ พระศิวะ”
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง คุณครูจันทนีสมรสกับนายอำเภอ ศิริ สันตะบุตร ขณะเป็นนายอำเภอบ้านหมี่ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2488 และมีบุตรธิดารวม 4 คน คือ ศิรินี ศุทธินี จิรวุฒิ และจริย์วัฒน์
เมื่อศิริย้ายเข้ามารับราชการในกรุงเทพฯ แล้ว จันทนีได้เข้าเป็นสมาชิกสโมสรวัฒนธรรมหญิง ซึ่งมีภริยานายกรัฐมนตรี ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม และภริยารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย คุณหญิงอารี สุนาวินวิวัฒน์ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรง ที่นี่เองเธอได้เริ่มทำงานสังคมสงเคราะห์ ไปช่วยเหลือที่โรงพยาบาลเด็กและโรงพยาบาลหญิง เป็นต้น
ครั้นลูกชายคนเล็กเข้าโรงเรียนอนุบาลแล้ว เธอพอจะมีเวลาเป็นของตัวเอง จึงกลับไปเรียนต่อ จนสำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่ออายุ 35 ปี หลังจากนั้น เธอได้ใช้ความรู้ทำงานเพื่อสังคมในองค์กรต่าง ๆ เช่น ประธานสภาสตรีแห่งชาติ นายกสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมาย ผู้พิพากษาสมทบศาลเยาวชนฯ (17 ปี) และงานในมูลนิธิหลายแห่ง อาทิ มูลนิธิพิบูลสงเคราะห์ มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม ฯลฯ
หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เธอได้เป็นสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสมาชิกวุฒิสภา ตามลำดับ ซึ่งมีบทบาทผลักดันสิทธิสตรีให้เท่าเทียมบุรุษ แก้ไขกฎหมายต่าง ๆ เช่น กฎหมายครอบครัว กฎหมายแรงงานหญิงและเด็ก กฎหมายอาญาในส่วนที่เกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก เป็นต้น
นอกจากนี้คุณหญิงจันทนียังทำงานด้านคุ้มครองผู้บริโภค โดยเป็นประธานอนุกรรมการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ในปี 2522-2542 ผลักดันให้สอนในหลักสูตรการศึกษาและรณรงค์ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ ทั่วประเทศ
ในปี 2544-2549 คุณหญิงจันทนีได้รับเลือกเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดแรก ที่ดูแลงานด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว กับงานด้านราชทัณฑ์และสถานพินิจ
13 ปีสุดท้าย คุณหญิงจันทนีเริ่มลืม แต่ก็มีความสุขตามวัย จนชีวิตถึงที่สุดเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2563 รวมอายุได้ 97 ปี
ในโอกาส 100 ปีชาตกาลของคุณหญิงจันทนี เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2565 ทายาทได้จัดพิมพ์หนังสือ รำลึกถึง เผยแพร่ในโอกาสนี้ด้วย ผู้สนใจติดต่อได้ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ โทรศัพท์ 02 381 3860
เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ สําหรับ
กษิดิศ อนันทนาธร
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สู้ดิวะ : จากอาจารย์ป๋วย ถึงหมอกฤตไท
“อุดมการณ์นั้นมีค่าควรแก่การต่อสู้ แม้มองไม่เห็นชัยชนะ”
อยากไปเดินงานหนังสือที่สถานีกลางบางซื่อ
ตั้งแต่วันที่ 23-31 ตุลาคมนี้มี งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 26