คนรุ่นใหม่กับพื้นที่ทางการเมือง เราต้องรู้จักรากเหง้าตัวเอง

สิ่งหนึ่งที่เห็นชัดสำหรับบริบทการเมืองไทยเวลานี้ก็คือ  พรรคการเมืองต่างๆ ทั้งพรรคการเมืองขนาดใหญ่และพรรคตั้งใหม่ พยายามสร้างฐานเสียงไปยัง ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งที่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ อย่างมาก อีกทั้งบริบทการเมืองช่วงหลังก็เห็นชัดว่า คนรุ่นใหม่เข้ามามีบทบาทการเมืองทั้งในรัฐสภาและนอกรัฐสภามากขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับ ส.ส.ชุดปัจจุบันที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อมีนาคม  2562 หนึ่งใน ส.ส.รุ่นใหม่-ยังบลัดทางการเมือง ที่มีความโดดเด่น เป็นที่พูดถึงอย่างมากสำหรับบทบาททางการเมืองในช่วงของการเป็น ส.ส.กว่า 2 ปีที่ผ่านมา นั่นก็คือ เพชร-เพชรชมพู กิจบูรณะ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมพลังประชาชาติไทย-รปช. ที่เคยเป็น ส.ส.ที่อายุน้อยที่สุดในสภา คือ 25 ปี ปัจจุบันได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค รปช. และพ้นจากการเป็น ส.ส.ไปแล้วเมื่อ 18 ต.ค.ที่ผ่านมา     

อย่างไรก็ตาม เพชรชมพู กิจบูรณะ ในฐานะคนรุ่นใหม่ ที่มีประสบการณ์จริงทางการเมือง ทำงานในระบบรัฐสภามาแล้วกว่าสองปี หลังจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในต่างประเทศด้านกฎหมาย-การเมือง โดยจบปริญญาตรี 2 ใบและปริญญาโทอีก 1 ใบ อีกทั้งก่อนหน้านี้ก็เป็นที่พูดถึงอย่างมาก กับความโดดเด่นในเนื้อหาการปราศรัยบนเวที กปปส.ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถ.ราชดำเนิน ก่อนที่ต่อมาจะเข้าสู่การเมืองเต็มตัว ส่วนอนาคตหลังจากนี้จะเล่นการเมืองต่อหรือไม่ และจะไปอยู่พรรคการเมืองไหน เราไม่พลาดที่จะต้องถามสิ่งที่หลายคนอยากรู้

คนรุ่นใหม่กับการเมือง เขาเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ที่ก็มีข้อดีเยอะ ทำให้ประชาธิปไตยมีความหลากหลาย มีความแตกต่างในเรื่องมุมมอง อย่างหลายมุมมองที่เราไม่เคยได้ยินมาก่อนได้ถูกนำเสนอขึ้นมา แต่อีกมุมหนึ่งก็กลายเป็นว่าเราพูดถึงเรื่องสิทธิ แต่เราลืมคำว่าหน้าที่และความรับผิดชอบในการเป็นพลเมือง

อนาคตการเมือง

สังกัดพรรคไหน?

เพชรชมพู ที่มีชื่อเล่น เพชร อดีต ส.ส.อายุน้อยที่สุดในสภา บอกว่า ที่ผ่านมามีคนถามกันมาเยอะถึงอนาคตการเมืองต่อจากนี้ ว่าจะไปทำอะไรต่อหลังจากลาออกจาก ส.ส.

“คนก็มาหาว่าเราถูกซื้อตัว ไปอยู่บางพรรคการเมือง  อันนี้ขอบอกเลย ที่บอกกันว่าไปรับเงินอะไรต่างๆ มันไม่เป็นความจริง เราลาออกมา แต่ก็ไม่ได้หยุดในการจะทำงานเพื่อสังคมและส่วนรวม อะไรที่เป็นประโยชน์เราก็ยังทำอยู่ เช่นงานในสภา ที่คนนอกซึ่งไม่ได้เป็น ส.ส.สามารถทำได้ ที่คนขอให้เรายังทำต่อ เราก็ยังทำต่อ  เพียงแต่เราทำงานโดยไม่ได้สังกัดพรรคและทำงานในลักษณะที่เป็นตัวเราจริงๆ โดยใช้ความรู้ทักษะไปทำงานเพื่อช่วยพัฒนาด้านต่างๆ”

...ส่วนเรื่องการจะลงเลือกตั้งรอบหน้าต่อไปอีกหรือไม่  เรื่องนี้ยังไม่ได้คิด เรื่องของวันข้างหน้าก็ยังบอกไม่ได้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร แต่อยากจะอยู่ในที่ซึ่งตัวเองเข้าไปแล้วทำประโยชน์ได้มากที่สุด

ถามถึงว่า มีพรรคการเมืองมาติดต่อทาบทามให้ไปร่วมงานด้วยหรือยัง เพชร เปิดเผยว่า ก็มีพูดคุยกัน แต่เป็นการคุยกันในฐานะเพื่อนร่วมงานเก่า ก็มีเพื่อน ส.ส.หรือคนที่อยู่คนละพรรคการเมืองกัน ที่พบเห็นรู้จักกันตอนทำงานคณะกรรมาธิการของสภา ซึ่งการพูดคุยเรื่องบ้านเมือง หารือต่างๆ  ก็ไม่ได้หมายถึงว่าเราจะไปอยู่กับพรรคการเมืองดังกล่าว

-พรรคการเมืองที่มีอยู่ตอนนี้ตอบโจทย์แนวทางการเมืองของตนเองหรือไม่?

อันนี้ต้องดูต่อไป เพราะรู้สึกว่าพรรคการเมืองหลายๆ อย่างต้องพิสูจน์ ต้องดูกันยาวๆ เพราะบางทีอุดมการณ์ตอนตั้งต้นก็แบบหนึ่ง แต่พอผ่านไปอะไรหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเจอกับความเป็นจริง รวมถึงสถานการณ์สภาพแวดล้อมต่างๆ บางทีก็ทำให้ไม่ตรงกับจุดเริ่มต้น ต้องดูไปยาวๆ เหมือนกัน ตอนนี้ยังไม่ได้ตัดสินใจอะไร

สำหรับเรื่องการเมืองแล้ว เพชร บอกว่า ติดตามการเมืองไทยมาตั้งแต่เรียนระดับมัธยมต้นที่ประเทศสิงคโปร์ ดังนั้นเมื่อเราขอให้เธอนิยามการเมืองไทยก่อนจะเข้าไปเป็น ส.ส. ว่าก่อนหน้านี้มองการเมืองไทยอย่างไร คำตอบคือ มองว่าเป็นเรื่องของ ผลประโยชน์ ไม่ว่าจะของคนที่เข้าไปทำการเมืองก็ดี หรือว่าญาติพี่น้องเขาก็ดี แต่ก็ไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย แต่มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับการเมืองทั่วโลก แต่ของไทยพอเป็นแบบนี้เลยทำให้ประเทศหมดโอกาสในหลายๆ ด้านไป เพราะการที่ไปจดจ่อกับผลประโยชน์ภายในมากกว่าการทำเพื่อประชาชน

ส่วนเมื่อเข้าไปทำงานเป็น ส.ส.เป็นนักการเมืองเต็มตัวสองปีกว่า สิ่งที่เห็นการเมืองในความเป็นจริง ก็รู้สึกว่ามีสองด้าน ด้านหนึ่งคือเราคาดอยู่แล้วว่าจะเป็นแบบนั้น กับอีกด้านที่เหนือความคาดหมาย ก็คือมีทั้งด้านบวกและด้านลบ โดยเรื่องที่คาดไว้อยู่แล้วคือ เรื่องการทำงานที่พบว่ามันยากกว่าที่คนภายนอกคิดเยอะเลย คือเรื่องการหาเสียงเลือกตั้ง ก็เหมือนกับการสัมภาษณ์สมัครงาน คือคุณอาจจะไปพูดอะไรก็ได้ว่าจะทำแบบนี้ 1 2 3 4 บอกว่ามีนโยบายแบบนี้ แต่ว่าพอเข้าไปในสภานั่นคือการทำงานจริง เพราะการสมัครงาน-สัมภาษณ์งานกับการทำงานจริง การบริหารจัดการภายใน  เราเห็นเลยว่ามันแตกต่างกันมาก เพราะว่าปัจจัยที่มันมีผลกระทบต่อคนทั้งประเทศมันเยอะ เพราะฉะนั้นพอเราเข้าไป ที่คนก็มองแค่ว่านักการเมืองทะเลาะกัน สร้างภาพหรือเปล่า  เพราะสุดท้ายก็มานั่งกินข้าวกัน ซึ่งอันนั้นมันก็ตรงตามนั้น  เพราะว่าการที่จะผลักดันประเด็นอะไรบางอย่างออกไป มันก็จำเป็นต้องใช้การเจรจา การประนีประนอม คือว่านโยบายของแต่ละพรรคการเมืองที่เข้ามาในสภา ไม่ว่าจะเป็นพรรครัฐบาลหรือพรรคฝ่ายค้านก็จะแตกต่างกันอยู่แล้ว ตรงนี้คือการที่จะหาจุดร่วมสงวนจุดต่างกันอย่างไรให้มันเดินไปได้  เพราะหากต่างฝ่ายต่างไม่ยอมกัน มันก็ไม่มีทางขับเคลื่อนอะไรไปได้เลย สิ่งนี้คือสิ่งที่เราคาดหมายอยู่แล้วว่าจะต้องเจอ  จึงไม่ได้แปลกใจอะไร

แต่ก็จะมีอีกบางมุมที่เหนือความคาดหมายเช่นกัน อย่างเช่นก่อนเลือกตั้งก็จะมีวาทกรรมบางอย่าง เช่น นักการเมืองอาชีพเขี้ยวลากดิน ไม่สมควรอยู่ในการเมืองต่อไปแล้ว แต่ว่าพอเราเข้าไปทำงานในสภา อย่างเพชรก็ไปทำงานในกรรมาธิการของสภาหลายคณะ เราก็มองเห็น ส.ส.ผู้ใหญ่หลายคนที่เป็น ส.ส.มาแล้วหลายสมัย เขามีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำงานเพื่อบ้านเมืองมาก ซึ่งมันตรงกันข้ามกับภาพที่คนอื่นมองว่าเข้ามาเพื่อหาผลประโยชน์ แต่กลายเป็นว่าด้วยความที่เขามีประสบการณ์เยอะ ชั่วโมงบินเขาสูง เขากลับมีมุมมองที่สามารถเชื่อมต่อระหว่าง ส.ส.ที่เพิ่งเข้าไปทำงานสมัยแรกอย่างตัวเรา ที่เราอาจมีมุมมองแบบใหม่ๆ แบบคนรุ่นใหม่ที่เข้าไป แต่ด้วยประสบการณ์ของเขา ตัวเขาก็มองว่าอะไรคือปัญหาที่แท้จริง เพราะบางเรื่องเขาศึกษามาแล้ว 20-30 ปี บางเรื่องที่เราเคยคิดเองว่าเป็นไอเดียใหม่ แต่จริงๆ เขาอาจคิดมาก่อนแล้วก็ได้ แต่พอจะไปทำแล้วมันติดขัดยังทำไม่ได้ ตรงนี้เขาก็จะมาช่วยเติมเต็ม

...เป็นจุดที่เราเห็นแล้วเราก็ประทับใจว่า ผู้ใหญ่ในรัฐสภาหลายคนทำเพื่อบ้านเมืองจริงๆ ลบคำสบประมาทไปได้เลย ที่เคยคิดกันว่านักการเมืองรุ่นเก่าไม่ดี ซึ่งเราก็มีความรู้สึกว่ามีการเหมารวมเหมือนกัน ที่ชอบบอกว่านักการเมืองคือคนที่เข้าไปกอบโกยผลประโยชน์ ซึ่งยืนยันได้ว่าไม่ใช่แบบนั้นทุกคน

เมื่อพูดถึงด้านดีแล้ว ก็ต้องพูดถึงอีกด้านหนึ่งว่า การเมืองที่เป็นการเมืองยุคเก่า ที่เป็นการใส่ร้ายป้ายสีสาดโคลนใส่กันมันก็ยังมีอยู่ แล้วก็มีแนวโน้มว่ามันจะเป็นแบบนั้นอีกต่อไป ซึ่งบางครั้งเราก็แปลกใจเหมือนกัน เพราะบางทีบางคนที่เป็นภาพของคนรุ่นใหม่ เมื่อเข้ามาในสภาก็ควรทำการเมืองแบบใหม่ๆ มาแข่งกันในเรื่องการทำงานในสภา การทำหน้าที่เพื่อประชาชน เสนอนโยบายต่างๆ แต่กลายเป็นว่ากลับมีการสร้างเรื่อง มีการใช้การเมืองแบบเดิมๆ ใช้วิธีการในการจัดการกับคนที่เขาคิดว่าเป็นคู่ต่อสู้ ซึ่งวิธีการแบบที่ใช้ ประเทศชาติไม่เดินไปไหน เราเห็นแล้วเราก็ค่อนข้างผิดหวัง และคิดว่าถ้าเราแข่งกันด้วยนโยบายและด้วยการทำงานได้เมื่อใด หยุดการเมืองแบบเก่าๆ ที่ใส่ร้ายป้ายสีกัน เชื่อว่าประเทศไทยไปได้อีกไกลเลย ก็น่าเสียดายตรงนี้

-จากที่ได้เข้าไปเห็นการเมืองในความเป็นจริงที่รัฐสภา ผิดหวังหรือไม่กับสิ่งที่เคยคาดหวังไว้ก่อนเข้ามาเป็น ส.ส.?

อย่างหนึ่งเลยก็คือ เราภูมิใจที่ประชาชนให้โอกาสเข้าไปทำงานในช่วงที่ผ่านมา และทำให้เราได้มีโอกาสเสนอแนวทางนโยบายการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในบางเรื่อง ซึ่งมันก็เป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติที่หลายคนอาจจะมองไม่ทะลุตรงนี้ คือเพชรเข้าไปทำงานในสภา เป็นกรรมาธิการของสภาหลายคณะมาก อย่างกรรมาธิการสามัญก็คือคณะกรรมาธิการต่างประเทศ ก็ทำงานเชิงนโยบายเช่นเรื่องการสร้างความสัมพันธ์กับต่างประเทศ หรือการช่วยเหลือคนไทยในต่างแดน โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตโรคระบาดโควิด เราได้ลงมือทำงานกันจริงจัง ทำให้เราเห็นว่างานในสภา ภาพการเมืองที่เราเคยมองก่อนเข้ามาในสภา ที่เคยเห็นแต่การทะเลาะกัน แต่พอมาทำงานในกรรมาธิการของสภา ทำให้เห็นเลยว่าแม้กรรมาธิการที่เป็น ส.ส.จะมาจากต่างพรรคต่างฝ่ายการเมืองกัน แต่ทุกคนทำงานกันกลมเกลียวเข้มแข็งสามัคคีกันมาก  เพราะเรารู้ว่าเราก็ทำงานเป็นเหมือนผู้แทนประเทศไทย เวลาเราไปพบทูต-ไปประชุมเวทีต่างประเทศกับรัฐสภาต่างประเทศ กับอียูหรืออาเซียน เราไปในฐานะประเทศไทย ไม่ใช่การเอาปัญหาภายในออกไปตีแผ่ให้ต่างชาติเขารับรู้ แต่ว่าเป็นการทำงานร่วมกัน ซึ่งในมุมนี้ก็ภูมิใจ และเรารู้สึกว่านี้คือการสร้างความเปลี่ยนแปลงจริง

และยังมีอีกหลายกรณี เช่นการเข้าไปเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติ หรือกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ รวมถึงกรรมาธิการวิสามัญของสภาที่ศึกษาประเด็นต่างๆ ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย เช่นเรื่องหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ก็มีผู้จัดการของกองทุนมานั่งทำงานร่วมกับกรรมาธิการ ทำให้เราได้แลกเปลี่ยนข้อมูล ได้ศึกษาปัญหาเรื่องนี้ในเชิงลึกเพื่อทำให้ กยศ.ได้มีเงินหมุนเวียนให้คนแต่ละรุ่นได้ใช้เงินของ กยศ.ไว้เป็นทุนสำหรับการศึกษารุ่นต่อรุ่น  หรือการแก้ปัญหาเรื่องเหตุใดคนที่กู้ยืมเงินไปแล้วจึงค้างการชำระหนี้มากขึ้น โดยแต่ละประเด็นเมื่อนำเสนอผลการศึกษาแล้วนำไปเสนอฝ่ายบริหาร ก็ได้ผลลัพธ์ที่ออกมาเป็นรูปธรรม

ดังนั้น การเมืองที่คนอาจมองเข้ามาแบบเหมารวม แต่โดยส่วนตัวเราหลังเข้ามาทำงานในสภาแล้ว ก็เห็นว่ามันไม่ใช่ทั้งหมด และไม่ใช่กับทุกคน โดยควรต้องดูว่าจะส่งเสริมอย่างไรเพื่อให้คนที่ตั้งใจทำงานได้เข้ามาทำงานการเมืองอย่างต่อเนื่อง เพราะด้วยชั่วโมงบินที่หากเขามีมากขึ้น ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมากกับการเดินหน้าพัฒนาประเทศต่อไป

คนที่เชื่อมระหว่างรุ่น เราเห็นว่ามีความสำคัญมาก  เพราะหากขาดรากฐานประเทศไทยก็เดินไปไม่ได้ แต่ถ้ายึดติดกับเรื่องบางเรื่อง ประเทศก็เดินไปไม่ได้อยู่ดี มองว่าหากมีการหันมาคุยกันมากขึ้น มันอาจเชื่อมอะไรได้ แต่ตอนนี้กลับกลายเป็นว่า แต่ละฝ่ายก็กระทำการในการที่จะทำให้ช่องว่างมันห่างไปเรื่อยๆ

พื้นที่การเมืองใหม่-การเมืองเก่า

เพชรชมพู สะท้อนการเมืองไทยจากประสบการณ์จริงว่า  ในมุมที่เรากลับมาคิดได้หลังจากเข้าไปเป็น ส.ส.มากว่าสองปี ทำให้เห็นว่าประเด็นต่างๆ ที่จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนไปได้  จะต้องมีปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยกันสามปัจจัย คือ 1.การสนับสนุนของภาคประชาชน 2.บุคลากรภายใน คือเจตจำนงทางการเมือง คนที่จะเอาไปปฏิบัติ เขาพร้อมจะทำหรือไม่ 3.ตัวผู้นำที่จะต้องชี้ว่านี่คือเส้นทางที่เราจะเดิน

-มีทัศนะความเห็นต่อเรื่องการเมืองกับพื้นที่ของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันอย่างไร?

หากมองย้อนกลับไปสมัยที่เรายังเป็นนักศึกษาเมื่อสัก  7-8 ปีที่แล้ว ที่โซเชียลมีเดียมีบทบาท ทำให้การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารทำได้รวดเร็ว อย่างการรวมตัวกันของคนที่มีความคิดเห็นแบบเดียวกัน แล้วต้องการทำกิจกรรมร่วมกันมันทำได้ง่าย ทำให้การที่พลเมืองจะมีส่วนร่วมทางการเมืองจึงทำได้ง่าย จากเมื่อก่อนจะมีคำว่าพลังเงียบ ซึ่งก็จะมีคนที่เขาก็ห่วงกังวลว่าประเทศชาติจะเกิดอะไร แต่เขาก็จะไม่มีช่องทางที่จะแสดงความเห็นหรือแสดงออกอะไรมากนัก แต่ด้วยยุคโซเชียลมีเดียทุกอย่างเปลี่ยนไป ทำให้การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารทำได้อย่างทั่วถึง ก็เป็นข้อดีส่วนหนึ่งที่ทำให้นักศึกษา คนรุ่นใหม่ สามารถเข้ามามีบทบาทที่จะแอกทีฟและมีความอิสระในการเคลื่อนตัวเยอะขึ้น

ในมุมนี้ก็เป็นนิมิตหมายที่ดีกับประชาธิปไตย ที่จะมีคนทุกรุ่นเข้ามาในการเมือง ใครก็สามารถแสดงความคิดเห็นได้  อย่างไรก็ตาม การแสดงความคิดเห็นกลับกลายเป็นว่าเราไปมองแต่เรื่องสิทธิการแสดงออกอย่างเดียว แต่หน้าที่ความรับผิดชอบในฐานะเป็นพลเมือง พบว่ามันเหมือนกับหล่นหายไปนิดนึง อันนี้ไม่ได้มองเฉพาะในมุมของคนที่ออกมาชุมนุมประท้วงเท่านั้น แต่มองไปถึงนักการเมืองด้วย เพราะด้วยข่าวสารที่มันกระจายไปเร็ว ที่เกิดกรณีข่าวปลอม ข่าวบิดเบือนความจริง อันนี้เป็นมุมที่ค่อนข้างผิดหวังกับนักการเมืองบางคนที่เขาก็รู้อยู่แล้วว่าข้อมูลที่เอามามันผิด มีการบิดเบือนหรือเอามาใช้แค่ครึ่งเดียว แต่เขาก็เลือกที่จะแชร์ออกไปโดยไม่ได้ตรวจสอบข้อมูล ทั้งที่มาตรฐานในการกลั่นกรองข้อมูลควรจะสูงกว่าคนทั่วไปด้วยซ้ำ

 "เห็นว่าคนรุ่นใหม่กับการเมืองเขาเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นก็มีข้อดีเยอะทำให้ประชาธิปไตยมีความหลากหลาย มีความแตกต่างในเรื่องมุมมอง อย่างหลายมุมมองที่เราไม่เคยได้ยินมาก่อน ได้ถูกนำเสนอขึ้นมา แต่อีกมุมหนึ่งก็กลายเป็นว่า เราพูดถึงเรื่องสิทธิ แต่เราลืมคำว่าหน้าที่และความรับผิดชอบในการเป็นพลเมือง"

...เมื่อก่อนที่คนเคยเข้าใจว่า การเมืองไม่ค่อยมีผลกระทบกับการใช้ชีวิต แต่มายุคนี้ที่เยาวชนเติบโตขึ้นมา เขามองเห็นความขัดแย้งที่รู้สึกว่ามันไม่จบเสียที และอาจมองว่าประเทศชาติมันเดินอยู่ในวงจรที่เขาอาจรู้สึกว่ายังหาทางออกไม่ได้ เพราะฉะนั้นด้วยสภาพสังคมและการรับรู้ต่างๆ จากสื่อ ก็ทำให้เขาเกิดความรู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่าง เพื่อทำให้ประเทศมันดีขึ้น โดยก็จะมีวิธีการแสดงออกและระดับการเคลื่อนไหวที่แตกต่างกันไป อย่างบางกลุ่มเช่น "ไอลอว์" ก็จะทำเรื่องข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมาย การแก้ไขรัฐธรรมนูญ บางคนก็จะทำโดยการโพสต์ข้อความ การแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับการออกมาเคลื่อนไหวบนท้องถนน รวมถึงการชุมนุมประท้วง ก็ทำออกมาอีกแบบหนึ่ง ซึ่งต้องมาดูอีกทีว่าเหมาะสมหรือไม่ อยู่ในขอบเขตของกฎหมายหรือไม่ อะไรทำได้หรือไม่ได้

มองปรากการณ์

คนรุ่นใหม่กับสถาบันฯ

-มองยังไงที่ดูเหมือนช่วงหลังคนรุ่นใหม่จะมีการพูด หรือวิพากษ์วิจารณ์เรื่องสถาบันฯ มากขึ้น?

อันนี้ก็เป็นเทรนด์เป็นกระแสที่มันเกิดขึ้นทั่วโลก เวลาเพชรมองการเมืองไทย เราก็จะพยายามมองว่ากระแสโลกมันไปทางไหนด้วย พอเป็นกระแสว่าอยากให้คนรุ่นใหม่ อยากให้คนที่ไม่เคยทำการเมืองเข้ามามีส่วนร่วม บางครั้งการศึกษาประวัติศาสตร์ การศึกษารากฐานของประเทศในบริบทต่างๆ  เป็นเรื่องสำคัญ

ในสมัยเรียนมีข้อคิดอันหนึ่งที่ว่า สังคมเหมือนกับเป็นหุ้นส่วนระหว่างคนที่ยังมีชีวิตอยู่ กับคนที่เสียชีวิตไปแล้ว และคนที่ยังไม่เกิด มันเป็นสายใยที่มีการเชื่อมโยงกันค่อนข้างแน่นหนา ทีนี้ถ้าเราเติบโตมาในสังคมที่เราไม่ได้มองว่าในอดีตเกิดอะไรขึ้น แล้วทำไมปัจจุบันจำเป็นต้องเดินเส้นทางนี้ เราก็จะไม่เข้าใจ

อันนี้ก็อาจเป็นเรื่องที่พูดยากและเข้าใจยากเหมือนกัน  เพราะมุมหนึ่งเด็กก็มองว่าตอนนี้เป็นยุคสมัยของเขา เขาสามารถกำหนดหรือเปลี่ยนแปลงทุกอย่างได้ แต่ด้วยมุมมองของผู้ใหญ่วิธีการแสดงออกของเด็กหลายอย่าง มันแฝงไปด้วยการแสดงออกที่มันไม่สุภาพ ความรุนแรงในคำพูดบางอย่างที่มันทำให้เกิดความรู้สึกที่ว่า ไม่เปิดรับในความคิดเห็นของแต่ละฝ่าย คือในมุมหนึ่งเด็กก็อาจมีความอึดอัด รู้สึกว่าไม่มีพื้นที่ในการแสดงออก ก็เลยออกมาในรูปแบบหนึ่ง แต่ผู้ใหญ่เองบางทีด้วยวิธีการแสดงออกของเด็ก ก็ใช้วิธีที่ผู้ใหญ่ก็ไม่คุ้นเคย ก็อาจไม่ถูกกาลเทศะ ไม่ได้รับการยอมรับนัก ก็ทำให้เขาปิดในความคิดนี้ ก่อนที่เขาจะได้มีโอกาสมาคุยกัน

"เพราะฉะนั้นคนที่เชื่อมระหว่างรุ่น เราเห็นว่ามีความสำคัญมาก เพราะหากขาดรากฐานประเทศไทยก็เดินไปไม่ได้  แต่ถ้ายึดติดกับเรื่องบางเรื่อง ประเทศก็เดินไปไม่ได้อยู่ดี มองว่าหากมีการหันมาคุยกันมากขึ้น มันอาจเชื่อมอะไรได้ แต่ตอนนี้กลับกลายเป็นว่า แต่ละฝ่ายก็กระทำการในการที่ทำให้ช่องว่างมันห่างไปเรื่อยๆ"

-เป็นเพราะคนรุ่นใหม่ยังอาจไม่เข้าใจรากเหง้าของประเทศและสังคม?

ก็อาจมีส่วน เพราะการศึกษาเพื่อให้เข้าใจว่าก่อนที่จะเป็นประเทศตอนนี้ อย่างที่ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย-อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เคยบอกว่า หากไม่เข้าใจ ไม่รู้จักฐานราก ไม่รู้จักรากเหง้าของประเทศ ก็จะไม่เข้าใจที่ประเทศไทยมาถึงได้ในตอนนี้ ประเพณีอะไรบางอย่างมันมีที่มาที่ไปอย่างไร นี่ก็เป็นด้านที่สำคัญ แต่อีกด้านหนึ่งผู้ใหญ่เองบางครั้งก็ต้องเปิดใจรับฟัง เพราะประชาธิปไตยไม่มีใครที่จะได้อย่างที่ตัวเองต้องการหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่อย่างน้อยการเรียนรู้ที่มาที่ไป ประวัติศาสตร์ของชาติตัวเอง มันทำให้เข้าใจบริบทของวันนี้ได้

-น่าเป็นห่วงหรือไม่ในระยะยาว ถ้าคนรุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ มีทัศนคติหรือตั้งคำถามบางอย่างเกี่ยวกับเรื่องสถาบันฯ?

เรื่องอะไรก็ตามที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ที่เป็นเรื่องของความจงรักภักดี ความเคารพนับถือต่อสถาบันฯ บางคนพอเขาไม่ได้ศึกษามา เขาก็ไม่เห็นภาพ เขาไม่เห็นเกียรติประวัติ  ไม่เห็นพระราชกรณียกิจต่างๆ ที่พระองค์ท่าน ไม่ว่าจะเป็นพระองค์ท่านเอง หรือบูรพกษัตริย์ที่ท่านได้ทำเพื่อประเทศชาติ ช่องว่างตรงนี้จริงๆ ก็เป็นปัญหาเหมือนกันนะ คือมองว่าไม่ใช่แค่เรื่องนี้อย่างเดียว แต่เรื่องอื่นๆ ที่เขาพยายามเปลี่ยนแปลง บางครั้งในเรื่องของมุมมอง ที่ประชาธิปไตยมันเหมือนกับกระบวนการเรียนรู้ ถ้าเราไม่ได้มองเรื่องหลักๆ แต่ไปมองเรื่องที่ว่าแค่เช่น ต้องการคนรุ่นใหม่ทั้งหมดเข้าไปบริหารประเทศ ก็มองว่าการเลือกบางครั้งมันเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง เรามองว่าหลายครั้ง การเมืองไทยกระบวนการเรียนรู้มันถูกตัดให้สั้นลง เช่น หากเราเลือกอะไรไป เราไม่เคยเห็นเลยว่าผลลัพธ์ของการเลือกนั้น ผลจะเป็นอย่างไรต่อไป เพราะบางครั้งเหมือนกับคนไม่อาจจะทนให้เห็นกระบวนการที่ไปถึงที่สุดจริงๆ โดยที่คนที่เคยมีประสบการณ์มาก่อน เขาก็รู้ว่าเส้นทางนี้ หากไปแล้วมันจะเกิดอะไร จะเจออะไร เขาก็พยายามเตือน ให้ข้อเสนอแนะให้คำแนะนำ แต่บางครั้งเราก็ต้องมองว่า กระบวนการบางอย่างสุดท้ายแล้ว เขาก็ต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองในเรื่องของการเลือกรัฐบาล การเลือกคนไปบริหารประเทศ

-เป็นเพราะกำลังเกิดความคิดในเรื่องของการมองคนแต่ละกลุ่ม เช่นมองว่ากลุ่มหนึ่งคืออนุรักษนิยม ส่วนคนรุ่นใหม่เขามองว่าเขาคือเสรีนิยม?

เรารู้สึกว่านี่คือปัญหาหนึ่งของการเมืองไทย ด้วยการที่เรานิยามว่า อนุรักษนิยมคือขวาจัด แล้วไปกันไม่ได้เลยกับ เสรีนิยม คือเราพยายามแยกความคิดออกอย่างชัดเจน ซึ่งหากมองตัวอย่างเช่นที่ญี่ปุ่น ทำไมเขาถึงอนุรักษ์สืบสานประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงามได้ แต่ขณะเดียวกันความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจก็เกิดขึ้น มันเป็นสองด้านที่ไปด้วยกันได้ แต่พอเราไปยึดเช่นอุดมการณ์แบบนี้ เช่นอนุรักษนิยม ก็ต้องอนุรักษ์ไปเลยทุกด้าน แล้วอีกฝั่งก็ไปอีกด้านไปเลย ทำให้มันเลยไม่มีช่องทางที่จะพูดคุยกันได้เลย เราก็มองว่าจริงๆ  อนุรักษนิยมกับเสรีนิยมมันเดินไปด้วยกันได้ เพียงแต่ว่าในบางแง่บางมุมก็ต้องหาจุดเชื่อม

-คนรุ่นใหม่กับการเมือง ถ้าเขาจะเข้ามาการเมืองในระบบเช่นลงเลือกตั้ง?

ก็มีการพูดกันเยอะมากว่า ช่องทางไหนดีที่สุดและทำให้เกิดการเปลี่ยนเปลง ก็มีบางกลุ่มก็ใช้ช่องทางที่มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญ เช่นไอลอว์ เช่นการเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายโดยประชาชน ส่วนเรื่องสิทธิในการชุมนุม ของประเทศไทยก็มีอยู่แล้ว แต่ว่าต้องชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ เพราะหากทำอะไรไปโดยไม่รับผิดชอบ สังคมก็จะเดินไปลำบาก บรรทัดฐานจะอยู่ตรงไหน คนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามามีบทบาททางการเมือง ก็ควรมาตามช่องทางที่ถูกกำหนดไว้แล้วได้ เช่นการไปเป็นสมาชิกพรรคการเมือง การไปสนับสนุนการทำงานของพรรคการเมือง ส่วนบทบาทของคนรุ่นใหม่กับการเมืองก็มองว่ามีมากขึ้นแน่นอนด้วยช่วงวัยและอายุ

การที่เป็นคนรุ่นใหม่แล้วจะเข้ามาทำงานการเมือง อาจต้องใช้ความตั้งใจและความพยายามพิสูจน์ตัวเองพอสมควร  อย่างประสบการณ์ของเรา ตอนเข้าไปเป็น ส.ส.ในสภาที่อายุน้อยที่สุด ตอนนั้นเข้าไปก็อายุ 25 ปี บวกกับความเป็นผู้หญิงด้วย มันก็ทำให้เราต้องทำงานเพื่อพิสูจน์ตัวเองมากขึ้น เพราะเมื่อเราไปทำงานกับคนที่มีอายุมากกว่าเราเยอะ มีประสบการณ์ที่แตกต่างจากเราค่อนข้างชัดเจน ทำให้การเสนอมุมมองต่างๆ ในสภา เราต้องทำการบ้าน เราต้องหาข้อมูลให้แน่น การอภิปรายต่างๆ ไม่ได้แค่พูดจากความคิดเห็น ความรู้สึกส่วนตัว แต่มันต้องมาจากหลักฐานเชิงประจักษ์

สำหรับคนรุ่นใหม่ที่สนใจจะเข้ามาการเมือง แน่นอนว่าด้วยอุดมการณ์เขาก็ต้องมีอยู่แล้วในการจะเข้ามาทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงต่างๆ แต่ก็อยากบอกว่าเข้ามาแล้วต้องทำงานหนักและทุ่มเท เพื่อให้สิ่งที่เขาต้องการเข้ามาผลักดันเกิดผลขึ้นมาได้จริง แต่บางอย่างเราอาจไม่ได้ทำตามที่เราคาดหวังไว้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะในระบอบประชาธิปไตยย่อมมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับเรา ทำให้การจะเข้าไปผลักดันอะไร เราก็ต้องมองหาคนที่มีอุดมการณ์และมีความคิดเห็นเดียวกับเรา เราต้องเอาเขาเข้ามาเป็นพวกด้วย ไม่ใช่ว่าเข้าไปแล้วก็มีการแบ่งฝ่าย อันนี้ฝั่งเรา ตรงโน้นฝั่งคุณ เพราะไม่อย่างนั้นการจะไปผลักดันอะไร สิ่งนั้นก็อาจไม่เกิดขึ้น  เพราะพอแบ่งฝ่ายมันก็จะแตกแยกตั้งแต่แรกเริ่มแล้ว สิ่งที่ตั้งใจอยากจะเข้าไปทำก็อาจทำไม่สำเร็จ ก็ขอเป็นกำลังใจให้คนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาทำงานการเมือง ที่จะเข้ามาทำงานเพื่อส่วนรวมจริงๆ เพราะสุดท้ายแล้วการมืองในรัฐสภา ก็เป็นปัจจัยที่ตอบโจทย์ที่สุดแล้วในการขับเคลื่อนประเทศ แต่ปัจจัยอื่นๆ เช่น สภาพแวดล้อม เจตจำนงทางการเมือง การสนับสนุนของประชาชน ก็ต้องไปด้วยกันถึงจะแก้ปัญหาต่างๆ  ของประเทศได้ ที่ก็จะขึ้นอยู่กับกระบวนการตั้งแต่ ต้นน้ำ คือการเลือกตั้ง ที่ประชาชนจะเลือกคนประเภทไหน เลือกคนอย่างไรให้เข้าไปทำหน้าที่ในสภา และพอเลือกไปแล้วเขาได้เข้าไปทำหน้าที่ตรงนั้นหรือไม่ ได้เข้าไปทำงานจริงหรือแค่พยายามจะสร้างภาพลักษณ์ หรือไปหาผลประโยชน์ทางการเมืองที่มันไม่ได้ตอบโจทย์ประเทศ แต่ถามว่าระบบสภาตอบโจทย์หรือไม่ ก็ต้องตอบว่าตอบโจทย์ เพราะมันไม่มีระบบไหนจะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้เท่ากับระบบของรัฐสภา ซึ่งข้างนอกก็มีเช่นภาคประชาสังคม หรือการเข้ามามีส่วนร่วมของภาคเอกชน ที่สุดท้ายก็ต้องร่วมมือกัน แต่รัฐสภาก็ยังต้องยืนหนึ่งอยู่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อุทธัจจะ .. ในวังวนแห่งการตื่นธรรม .. ยุคไอที!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระรัตนตรัย... สัทธายะ ตะระติ โอฆัง.. บุคคลข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา.. โอฆะ หมายถึง ห้วงน้ำ ที่มีกระแสเชี่ยวกราก พัดพาสัตว์ทั้งหลายให้ตกไปในกระแสน้ำนั้น ยากจะข้ามฝั่งไปได้

คำนูณ ผ่าปม 2 ได้ 3 เสีย ถ้าไม่ยกเลิก MOU 2544

ความเคลื่อนไหวและการแสดงความคิดเห็นเรื่อง MOU 2544 ที่เชื่อมโยงถึงเกาะกูด, การหาแหล่งพลังงานแห่งใหม่ในพื้นที่อ้างสิทธิไทย-กัมพูชา ที่มีการประเมินกันว่ามีมูลค่าสูงถึง 10 ล้านล้านบาท ยั

'แก้วสรร' แพร่บทความ 'นิติสงคราม' คืออะไร?

นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ออกบทความเรื่อง “นิติสงคราม” คืออะไร???

อย่าได้ประมาทในธรรม.. “เมื่อใจตรง .. จะตรงใจ”..

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา.. เดินทางกลับมาจากอินเดีย เมื่อ ๗ พ.ย.๒๕๖๗.. ถึงกรุงเทพฯ ๘ พ.ย.๒๕๖๗ หลังจากไปร่วมประชุม “The First Asian Buddhist Summit 2024” ที่นิวเดลี งานนี้จัดโดยกระทรวงวัฒนธรรมและท่องเที่ยวของรัฐบาลอินเดีย