“สังเวชธรรม .. สู่วิถีชีวิตในปีพุทธศักราช ๒๕๖๖”

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา .. ห้วงเวลาที่ผ่านมาระหว่างวันที่ ๑๔–๒๑ ธันวาคม ๒๕๖๕ อาตมาเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจที่ เมืองนาสิก–เมืองปูเน่ ในรัฐมหาราษฏระ สาธารณรัฐอินเดีย ตามการอาราธนานิมนต์อย่างเป็นทางการขององค์กรพุทธศาสนาของชาวพุทธในอินเดีย ที่รอคอยการเดินทางไปเยี่ยมเยียนยาวนานมาร่วม ๓ ปี ด้วยวิกฤตการณ์ไวรัสโควิด-๑๙ ที่คร่าชีวิตพี่น้องชาวอินเดียและชาวโลกไปมากมาย นับเป็นโศกนาฏกรรมครั้งยิ่งใหญ่ของชาวโลกในรอบร่วม ๑๐๐ ปีที่ผ่านมา ที่ไม่เคยปรากฏการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินไปมากมายเช่นนี้ กล่าวว่า ยิ่งกว่าสงครามโลกในครั้งใดๆ ที่ผ่านมา

บนวิกฤตการณ์ที่ปรากฏ.. เราจึงได้เห็นการผนึกกำลังของคนในสังคมนั้นๆ เพื่อการต่อสู้กับภัยร้ายจาก เชื้อโรคไวรัสโควิด-๑๙ ที่ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้สร้างเชื้อโรคสายพันธุ์นี้ขึ้นมา.. เพื่อเป็นอาวุธชีวภาพ ทำลายล้างมนุษยชาติ.. แม้ในบัดนี้ ได้แต่วิพากษ์วิจารณ์กันไปตามความคิดนึกตรึกตรองหาเหตุผลหรือเทียบเคียงเอาตามที่พอมีความรู้ในหมู่ชนในสังคม...

การต่อสู้ของคนในสังคม.. ที่ผนึกกำลังรวมกัน.. ร่วมกันแก้ไขปัญหา.. แม้จะไม่เด็ดขาดในชัยชนะ แต่ก็สามารถพอประทังชีวิตให้ผ่านพ้นวิกฤตการณ์ไปได้ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ดียิ่ง.. ที่พึงจะเกิดขึ้นได้ในสถานการณ์ของสงครามกับเชื้อโรคที่ร้อนแรงดังกล่าว...

การเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจในอินเดียในครั้งนี้ จึงต้องระมัดระวังตัวตลอดเส้นทางบิน.. และการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน ในขณะที่ชาวอินเดียจำนวนมากใช้ชีวิตอย่างปกติ ด้วยเชื่อว่าไวรัสโควิด-๑๙ สูญสิ้นไปแล้ว ซึ่งต่างจากฝ่ายเราที่ระมัดระวังกันเหมือนเดิม จึงไม่แปลกที่จะต้องมีทั้ง แมสก์ เจล สเปรย์ป้องกันพ่นจมูก.. พ่นคอ.. อันเป็นยุทธปัจจัยในสงครามเชื้อโรคไปด้วย แถมด้วยหมากพลูไว้เคี้ยวฉันยามเจ็บคอ.. ตามสูตรธรรมโอสถ !! จึงไม่แปลก หากญาติโยมเห็นภาพอาตมานั่งเคี้ยวหมากปากแดงอยู่แถวสนามบินหรือบนเครื่องบิน ก็อย่าได้แปลกใจ.. และอย่าได้ขัดใจในเวลานั้น ด้วยกำลังท่องบ่นเสกคาถาไล่ไวรัสอยู่ ด้วยคาถาอันศักดิ์สิทธิ์ของโบราณาจารย์.. ที่ชะงักนัก.. ในการกำจัดสรรพโรค ยกเว้นโรคอันเกิดแต่กรรมเป็นมูลเหตุ... ที่ควรพิจารณาธรรมสังเวช ท่องคาถาว่า.. อนิจจัง วะตะ สังขารา.!! เพื่อการปลงใจ.. ด้วยความเข้าใจ...

เมื่อพูดถึงคำว่า “ธรรมสังเวช” ให้นึกถึงการพูดโดยทั่วไปของคำไทยเพี้ยนความหมาย.. ที่มักนำไปใช้กันผิด ออกเป็นค่าเชิงลบ ว่า สลดใจ.. เศร้าใจ.. เสียใจ ฯลฯ ในความเข้าใจของคนโดยทั่วไป

แต่แท้จริง คำว่า “สังเวช”.. ย่อมเป็นคำฝ่ายกุศลที่แสดงถึง ความมีปัญญา รู้เห็น ทุกข์ โทษ ภัย ใน สังขาร กาย จิต.. หรือรูปนาม หรือในโลกนี้

อันสังเวชจะเกิดขึ้น.. เมื่อเข้าสู่ระดับของปัญญาตั้งแต่ เบื้องต้น/สุตมยปัญญา ท่ามกลาง/จินตมยปัญญา และที่สุด/ภาวนามยปัญญา

..ซึ่งอาจจะพูดได้ว่า.. เมื่อเกิดความเข้าใจธรรม มีปัญญา.. ย่อมต้องเกิดความ สังเวชในธรรม ที่เรียกว่า ธรรมสังเวช ซึ่งเป็นปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งที่ลุ่มหลง เข้าใจผิด ยึดถือมานานว่า สวยงาม เที่ยงแท้ เป็นสุข และมีความเป็นตัวตนบุคคล เป็นเรา.. เป็นของเรา...

แต่เมื่อ.. ได้เห็นความจริง รู้เข้าใจในความจริงนั้น จนอุทานขึ้นในกลางใจว่า.. อ้อ.!! ก็จะเกิดความ สังเวช.. ปลุกใจรู้.. ให้ใจตื่นขึ้นมา เพื่อประกอบความเพียรชอบ ด้วยความรู้ ความเห็น ที่ถูกต้องตรงธรรมนั้น

การประกอบความเพียรในทางจิต คือ การพิจารณาโดยปัญญาที่รู้ชอบ จนแยกแยะคุณ โทษ ประโยชน์ มิใช่ประโยชน์ ออกมาให้เห็นจริงได้ เพื่อประกอบความเพียรชอบถูกต้องโดยหลัก สัมมัปปธาน ๔ .. ที่เรียกว่า ความเพียรชอบ ๔

ความสลด.. ความสังเวช.. โดยความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง ประกอบจิตอยู่ด้วย สติปัญญา จึงไม่ปล่อยให้จิตใจนั้น เศร้าหมอง.. ตกลงไปในลำคลองบ่อตมแห่งอาสวกิเลส.. จนขาดการรู้อย่างวิเศษในธรรม

ดังเมื่อพิจารณาเห็นความแก่ของคนอื่นๆ ก็ให้ย้อนกลับมามองดูตนเอง แม้เรา.. ก็จักต้องแก่ ต้องเจ็บไข้ได้ป่วย.. ต้องตาย เหมือนกัน.. ไม่มีใครหลีกหนีความเป็นธรรมดาดังกล่าวนี้ไปได้

ความรู้ ความเข้าใจ.. ดังกล่าว เรียกว่า ปัญญา เมื่อรู้แจ้งเห็นจริง.. ก็จะปลุกเร้าจิตใจให้ตื่นขึ้นมา... เพื่อปรารภความเพียรเกิดกุศลจิตว่า...

 “เมื่อเรายังมีชีวิตอยู่..

ร่างกายยังแข็งแรง รีบขวนขวายในการเจตสิกกุศลทุกอย่าง

ด้วยความไม่ประมาทเถิด !”

ตามที่พระสงฆ์ได้นำมาสวดพิจารณาประกอบการชักผ้าบังสุกุลว่า...

 “...อนิจจา วะตะ สังขารา

อุปปาทะวะยะธัมมิโน

อุปปัชชิตวา นิรุชฌันติ

เตสัง วูปะสะโม สุโข...

แปลว่า       “สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ

มีอันเกิดขึ้นแล้วเสื่อมไปเป็นธรรมดา

เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป

ความเข้าไประงับสังขารเหล่านั้น เป็นสุขแท้จริง”

ธรรมสังเวช.. หรือ สังเวชธรรม.. จึงเป็นการเข้าถึงความเป็นจริงในธรรมทั้งหลาย ว่าที่สุดต้องมีอย่างนี้เป็นธรรมดา คือ อนิจจัง ทุกข์ อนัตตา... จนก่อเกิดปัญญา คือ ความรู้แจ้งเห็นจริงขึ้นว่า.. ร่างกาย ชีวิต จิตวิญญาณ สักว่าเป็นเพียงธาตุหนึ่งๆ มาประชุมกัน.. เป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง.. เป็นอนัตตา.. ที่จะนำไปสู่การละวางอุปาทานความยึดถือยึดมั่นในธรรมทั้งหลายเสียได้... อันเป็นเหตุให้จิตปราศจากอาสวกิเลส บรรลุคุณธรรมอันวิเศษ คือ พระนิพพาน !!

ปัญญาอันเกิดจากธรรมสังเวช หรือผู้ที่มีปัญญาอันเกิดความสลดสังเวชแล้ว ย่อมจะนำไปสู่ความเพียรชอบ.. เจริญกุศลอันเป็นที่พึ่ง.. ตามแนวอริยมรรคอันเป็นที่พึ่งสูงสุด.. จะไม่ดำเนินไปในทาง มิจฉาปฏิปทา เลย.. เพราะมี ปัญญา!!

จึงได้เห็นการ สวดธรรมสังเวช กันในบท อภิณหปัจจเวกขณปาฐะ ในการสวดมนต์ทำวัตรเช้า-เย็น เพื่อความสลดใน สังเวชวัตถุทั้ง ๘ หมายถึง วัตถุที่พึงสังเวชมี ๘ ประการ คือ ชาติทุกข์.. ชราทุกข์.. พยาธิทุกข์.. มรณทุกข์.. นิรยทุกข์.. ติรัจฉานทุกข์ เปตติทุกข์ อสุรกายทุกข์

...ซึ่งการที่จะพิจารณาในสรรพสิ่งทั้งหลายว่าเป็นทุกข์ ก็จะต้องมีความเข้าใจว่า การเกิด แก่ เจ็บ ตาย เหล่านั้นเป็นธรรมะ.. คือ การเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ตามความเป็นจริง ไม่เป็นอื่น เป็นไปตามเหตุและปัจจัย ซึ่งการพิจารณาอย่างนี้ จักทำให้เกิด ปัญญา ขึ้น แต่จะเป็นปัญญาระดับใด ขั้นไหนนั้น ก็ขึ้นอยู่กับความเข้าใจที่อบรมเพาะบ่มมาด้วยความเพียรชอบ.. สติชอบ.. และสมาธิชอบ.. ซึ่งนั่นเป็นแนวทางการเจริญธรรมสังเวชในพุทธศาสนา ที่ควรนำมาใช้ประโยชน์อย่างยิ่งในการดำเนินชีวิตไปในสังคมปัจจุบัน ที่เกลื่อนกล่นไปด้วย วัตถุสังเวช ที่คนในปัจจุบันเข้าไป เสพคบความสังเวช อย่างขาดปัญญา ด้วยความยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตนบุคคล เป็นเรา เป็นของเรา ซึ่งทำให้เกิดความเป็นตัวตนในความสังเวช.. ที่จะนำไปสู่ ความเศร้า เสียใจ สลดใจ.. ทุกข์ใจ.. คับแค้นใจ.. เพราะรับไม่ได้กับ วัตถุ บุคคล หรือสิ่งนั้น ๆ.. ตลอดจนถึงเรื่องราวทั้งหลายที่เราชอบ.. เมื่อสรรพสิ่งเหล่านั้นต้องแปรเปลี่ยนไปตามกฎความจริง.. ที่เรียกว่า ธรรมนิยาม

การไม่เข้าใจว่าทุกสรรพสิ่ง.. ทุกสรรพธรรม มีความเป็นธรรมดา ว่า.. เป็นอนัตตา จึงเป็นเรื่องวิกฤตการณ์วิปลาสในจิตใจของมนุษยชาติ.. ในแต่ละยุค แต่ละสมัย.. ที่จะพาลชักนำไปสู่ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยที่เชื่อมโยงกันไป... จนก่อเกิดเป็นกระแสแห่งสภาวธรรมที่ผิดเพี้ยนไปจากกฎธรรมชาตินั้นๆ ... และนี่คือ ความหายนะของสัตว์โลกที่สามารถผลิตปัญญาได้... แต่กลับละเลย ไม่กระทำ ตั้งอยู่ในความประมาท.. ที่เรียกว่า ขาดสติสัมปชัญญะ

ธรรมสังเวช.. หรือสังเวชธรรม ที่มีรูปเป็นกุศลธรรม.. จึงผิดเพี้ยนไปจากการนำไปใช้ของบุคคลที่ขาดสติปัญญา ความรู้ ความเข้าใจในธรรม.. จึงมีแต่ความเศร้าใจ ทุกข์ใจ.. จมจ่อมหมกหมักอยู่กับความทุกข์ใจนั้น.. อย่างไม่ยอมลืมตามาดูให้เห็นตามความเป็นจริง.. ว่าแท้จริง ทุกสรรพสิ่งย่อมเป็นอย่างนี้.. เป็นเช่นนี้ จะแปรเปลี่ยนไปจากความเป็นอย่างนี้ไปไม่ได้เลย.. เรียกอาการดังกล่าวว่า สังเวชใจ ที่เป็นความหมายที่แตกต่างไปจาก สังเวชะ ในความเป็นธรรมในพุทธศาสนา

ดังในพุทธศาสนาที่บัญญัติคำว่า “สังเวช .. สังเวค” แปลว่า แรงพลัง ปลุกเร้า กระตุ้นเตือนใจ ให้เกิด สติปัญญา รู้จักคิด รู้จักพิจารณา เพื่อให้เข้าถึงความเป็นธรรมดาของเรื่องนั้นๆ .. เพื่อจะได้ตระหนักถึงความดีงาม อันทำให้ตื่นตัว ถอนตัวขึ้นมาจากความชั่ว บาปอกุศลทั้งปวง ทั้งคิด พูด ทำ.. ให้ใจจมอยู่ในอาการที่เป็นอกุศล.. จนเกิดความเศร้าใจเสียใจ..

จึงควรอย่างยิ่ง.. ที่ทุกคนจะได้ร่วมกันปลุกเร้าจิตใจ กระตุ้นเตือนความสำนึก.. ให้เกิดขึ้นมาอย่างถูกต้อง ตรงกับความเป็นจริง.. ยอมรับความเป็นจริงว่า... ที่สุด มันก็ต้องเป็นอย่างนี้.. จะหลีกหนีความเป็นอย่างนี้ไปมิได้เลย... เพื่อจะได้ปลูกสร้างเพิ่มพูนภูมิปัญญาให้ยิ่งขึ้น ด้วย ญาณทัสสนะ ในจิตดวงนั้น.. ที่สามารถสร้างให้เกิดขึ้นได้.. ด้วย การพึ่งตน.. การพึ่งธรรม.. ที่ทุกคนควรนำมาประพฤติปฏิบัติ.. เพื่อจะได้ดำเนินชีวิตไปสู่พุทธศักราช ๒๕๖๖.. ได้อย่างปลอดภัยจากภัยมารทั้งปวง ด้วยการปลุกเร้า “สังเวชธรรม” ให้เกิดปรากฏมีขึ้นใน วิถีจิต-วิถีชีวิต ที่จะต้องดำเนินผ่านสะพานแห่งเวลา.. ไปสู่ทิศเบื้องหน้า เพื่อถึงที่สุดแห่งความดับทุกข์ คือ พระนิพพาน!!.

เจริญพร

[email protected]

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเสื่อม.. ที่ควรเห็น.. ก่อนตาย!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. มีคำกล่าวเป็นสุภาษิต ว่า ความเสื่อมของมนุษย์ ล้วนมีสาเหตุมาจากมนุษย์.. ความเสื่อมของสิ่งใดๆ .. ก็มีสาเหตุมาจากสิ่งนั้นๆ..

รัฐบาลแพทองธาร อยู่ไม่ครบปี บิ๊กป้อม ยังสู้-พปชร.เดินหน้าต่อ

เหลือเวลาอีกเพียง 3 สัปดาห์เศษ ปี 2567 ก็จะผ่านพ้นไปแล้วเพื่อเข้าสู่ปีใหม่ 2568 ซึ่งภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2567 เป็นอย่างไร และปีหน้า 2568 จะมีทิศทางเช่นไร เรื่องนี้มีมุมมองแนววิเคราะห์จาก

คานถล่ม ผู้บริสุทธิ์จบชีวิต 6 ราย กับ สำนึกของนักการเมืองไทย!

เช้าตรู่วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2567 เกิดโศกนาฏกรรมคานเหล็กยักษ์ที่ใช้สำหรับก่อสร้างทางยกระดับถนนพระราม 2 ถล่ม คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์จำนวน 6 ราย

ศึกเลือกตั้ง อบจ. 1 ก.พ. 68 Generation War พท.-ปชน. บารมีบ้านใหญ่ ขลังหรือเสื่อม?

การเมืองท้องถิ่นกับการเลือกตั้ง "นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด" (นายก อบจ.) ซึ่งที่ผ่านมามีการเลือกตั้งกันไปหลายจังหวัด ได้รับความสนใจจากแวดวงการเมืองอย่างมาก