ช่วงนี้จะเห็นได้ว่า หลายพรรคการเมืองเคลื่อนไหวทำกิจกรรมการเมืองกันคึกคัก ทั้งพรรคการเมืองขนาดใหญ่-พรรคเล็ก และพรรคตั้งใหม่ เพื่อเตรียมพร้อมสู้ศึกเลือกตั้ง ในทางการเมือง ต้องติดตามกันว่า แต่ละพรรคการเมืองจะมีการปรับทัพ-จัดวางยุทธศาสตร์การเลือกตั้งอย่างไร
สำหรับ “พรรคพลังท้องถิ่นไท”ซึ่งปัจจุบันมีส.ส.อยู่ 5 คน ที่ล่าสุดมีกระแสข่าวว่าผู้ก่อตั้งพรรค “ชัชวาลล์ คงอุดมหรือชัช เตาปูน”อาจจะย้ายไปที่พรรครวมไทยสร้างชาติ ในอนาคตอันใกล้นี้
“ศาสตราจารย์ ดร.โกวิทย์ พวงงาม หัวหน้าพรรคพลังท้องถิ่นไทและส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังท้องถิ่นไท-อดีตคณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการชื่อดังที่มีชื่อเสียงทางวิชาการเรื่ององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น” ให้ความชัดเจนถึงทิศทางพรรคต่อจากนี้ โดยบอกว่า พรรคพลังท้องถิ่นไท มีความมุ่งมั่นที่จะทำพรรคการเมืองเพื่อคนท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการกระจายอำนาจ ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง ทำให้พลเมืองของเราคอยเป็นหูเป็นตา คอยเสนอนโยบายและให้ข้อมูลที่ตรงเป้าต่อท้องถิ่น
...ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังท้องถิ่นไท ยืนยันว่าพรรคจะไม่มีการควบรวมกับพรรคการเมืองอื่นแน่นอน พรรคจะทำการเมืองต่อไป เพื่อที่จะเป็นพรรคการเมืองที่มีความชัดเจนว่า เรามุ่งมั่นให้ประเทศไทยมีการกระจายอำนาจอย่างสมบูรณ์แบบ เพื่อต้องการให้ประเทศเปลี่ยนมุมมองในการพัฒนาประเทศใหม่ จากการที่รวมศูนย์อำนาจที่ส่วนกลางและภูมิภาค มากระจายอำนาจให้ท้องถิ่นเป็นผู้ให้บริการสาธารณะแทนรัฐบาลกลาง ให้รัฐบาลกลางมองท้องถิ่นเป็นหุ้นส่วน เราต้องการสร้างท้องถิ่นให้แข็งแกร่งให้เข้มแข็งโดยการปลดล็อกท้องถิ่น เพื่อให้ท้องถิ่นมีอำนาจ-หน้าที่สมบูรณ์แบบ เช่น ปลดล็อกเรื่องการเงินการคลังของท้องถิ่น พรรคมีนโยบายต้องการสร้างบุคลากรของท้องถิ่น โดยผลักดันให้มีการออกกฎหมายข้าราชการส่วนท้องถิ่น เพื่อให้มีคณะกรรมการข้าราชการส่วนท้องถิ่นหรือก.พ.ของข้าราชการส่วนท้องถิ่น เพื่อจะได้เป็นกลไกช่วยสนับสนุนการพัฒนาท้องถิ่น
-จากกติกาเลือกตั้งที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นบัตรเลือกตั้งสองใบ และหาร 100 ปาร์ตี้ลิสต์ อีกทั้งมีการมองกันว่าการเลือกตั้งรอบหน้าจะเข้มข้น จะมีการใช้ทุนในการเลือกตั้งเยอะ แล้วพรรคการเมืองขนาดเล็กอย่างพลังท้องถิ่นไท จะสู้ได้หรือไม่สำหรับการเข้าสู่ศึกเลือกตั้ง?
ผมคิดว่าเรื่องแบบนี้มันอยู่ที่การอธิบาย การสร้างความเข้าใจกับประชาชนให้ชัดเจนว่าพรรคเราคือใคร พลังท้องถิ่นไท คือพรรคของใคร ซึ่งพรรคพลังท้องถิ่นไท คือพรรคการเมืองของคนทั่วไป คนจน พรรคเราไม่มีเงิน เพราะหัวหน้าพรรคอย่างผม มาจากลูกชาวบ้าน ลูกคนจน ผมจะไปเอาเงินจากไหน ผมไม่ใช่นักธุรกิจ ผมเป็นอดีตอาจารย์ มาจากนักวิชาการจนๆ คนหนึ่ง แล้วเข้ามาสู่การเมืองเพราะรักประเทศชาติ ต้องการให้ประเทศรักการกระจายอำนาจ รักความเป็นท้องถิ่น อยากทำให้ชุมชนท้องถิ่นให้มีศักยภาพ เพื่อให้ในท้องถิ่นต้องดูแลบ้านของตัวเอง
ผมว่าหมดเวลาที่คนไทยจะมัวแต่ไปหวังพึ่งรัฐบาลส่วนกลาง เหมือนพ่อแม่ ก็ต้องจัดการให้ลูกเดินด้วยขาของตัวเองให้ได้ พ่อแม่หรือรัฐบาล ก็ต้องมีส่วนในการสนับสนุนให้ท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง ทำให้ลูกยืนด้วยขาของตัวเองได้ นี้คือจุดยืนของพรรค แต่ในส่วนของเรื่องเงินทอง เป็นเรื่องอันตรายต่อประเทศชาติ ที่ต้องอธิบายกับประชาชนว่าการเอาธุรกิจการเมืองมาทำการเมือง มันคืออันตรายต่อประเทศชาติในแนวธุรกิจการเมืองทางที่หาช่องถอนทุนคืน ประเทศไปไม่รอด
-เคยมีพรรคการเมืองอื่นๆ มาติดต่อขอให้พลังท้องถิ่นไท ไปควบรวมพรรคหรือไม่?
ก็มี แต่เราก็ยืนยันว่าทำพรรคต่อ อย่างคนที่มาชวน บางคนก็มาชวนด้วยปาก อย่างคุณชัชวาลล์ คงอุดม ก็ถูกชักชวน แต่ว่าคนที่มาชวน จะบริหารจัดการอย่างไร ไม่ได้บอกกัน อย่างเรื่องการทำพรรคแบบเป็นคู่ขนานกัน ก็ไม่ได้บอกว่าจะเป็นคู่ขนานกันอย่างไร การส่งคนลงสมัครส.ส.เขต และบัญชีรายชื่อ จะจัดลำดับกันอย่างไร คือมาพูดแต่เรื่องว่าสนใจจะมารวมพรรคหรือไม่ แต่ไม่ได้พูดเรื่องหลักการบริหารจัดการ จะทำอย่างไร แบบนี้ พรรคจึงตัดสินใจว่า เมื่อไม่ชัดเจน เราก็ยืนของเราดีกว่า ซึ่งการยืนของเรามันดีคือทำให้เราสามารถทำตามนโยบายที่บอกกับประชาชน บอกกับคนท้องถิ่นได้ว่าเรามุ่งมั่นจะทำอะไร
ส่วนกระแสข่าวว่าคุณชัชวาลล์ คงอุดม จะไม่อยู่พรรคพลังท้องถิ่นไท หากเป็นแบบนั้นจริง ก็ยังยืนยันว่า พรรคก็จะเดินหน้าต่อ เราก็คิดว่ามีคนท้องถิ่น ชุมชนท้องถิ่นจำนวนหนึ่งที่เห็นว่าแนวคิดแบบพลังท้องถิ่นไท เป็นแนวคิดที่สร้างความเข้มแข็งให้ท้องถิ่นและชุมชนชัดเจน
จะนำผลเลือกตั้งปี 2562
มาเทียบกับเลือกตั้ง 2566 ไม่ได้
-ตอนเลือกตั้งปี 2562 ที่ใช้บัตรใบเดียวและคิดคำนวณส.ส.แบบพึงมี ทำให้พลังท้องถิ่นไท ได้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์สามคน แต่ด้วยระบบกติกาเลือกตั้งที่เปลี่ยนแปลงไป จะมีผลกับพรรคหรือไม่ เพราะฐานคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ต่อส.ส.หนึ่งคนก็ขยับไปสูงขึ้นจากเดิมมาก?
ผมไม่เห็นด้วยกับการที่คนนำผลการเลือกตั้งปี 2562 มาเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งปี 2566 ที่จะเกิดขึ้น เพราะระบบเลือกตั้งมันแตกต่างกัน
มีบางคนไปใช้วิธีคิดโดยเอาคะแนนจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 มาคิดกับการได้ส.ส.บัญชีรายชื่อในการเลือกตั้งปีหน้า ซึ่งผมว่าหลักคิดแบบนี้ผิดเลย เพราะตอนปี 2562 การเลือกตั้งใช้บัตรใบเดียว โดยนำคะแนนทั้งระบบเขตและบัญชีรายชื่อมาใช้ร่วมกัน แต่เลือกตั้งปี 2566 มันแยกกันระหว่างบัตรเลือกตั้งแบบเขต กับบัตรเลือกตั้งปาร์ตี้ลิสต์
นักวิเคราะห์จึงต้องวิเคราะห์ให้ถูกต้องด้วย ผมว่าเขาวิเคราะห์ผิด เขากำลังเอาตระกะแบบหนึ่งมาประเมินกับการเลือกตั้งอีกแบบหนึ่ง ที่ทำไม่ได้ เพราะตระกะการเลือกตั้งด้วยบัตรใบเดียวก็คือ การผสมทั้งระบบเขตและบัญชีรายชื่อรวมกัน แต่เลือกตั้งปี 2566 คะแนนเขตกับบัญชีรายชื่อ มันแยกจากกัน ซึ่งการแยกจากกันดังกล่าว ทำให้การเลือกตั้งปีหน้า ระบบเขตก็ว่าไปในระบบเขต ไม่ได้นำคะแนนมารวมกับบัญชีรายชื่อ คะแนนบัญชีรายชื่อ คือคะแนนที่คนไปเลือกพรรคเท่านั้น ไปเลือกนโยบาย ตรงนี้ผมว่าต้องคิดใหม่
เช่น ในเขตเลือกตั้งบางซื่อ ประชาชนอาจเลือกผู้สมัครส.ส.เขต ของพรรคการเมืองหนึ่ง แต่ในบัตรลงคะแนนแบบบัญชีรายชื่อ เขาอาจลงคะแนนให้กับพรรคการเมืองอีกพรรคหนึ่ง เช่น อาจเป็นพรรคพลังท้องถิ่น ที่ไม่ใช่พรรคต้นสังกัดของคนที่เขาเลือกในระบบเขต ก็ทำให้คะแนนที่ประชาชนเลือกในเขตบางซื่อ มันก็ต้องมี
ดังนั้น จะคิดว่าเราจะได้คะแนนเท่าเดิมแบบตอนปี 2562 มันก็ไม่ใช่ ในความเห็นผม จึงมองว่า ระบบบัตรสองใบแบบนี้ โอกาสของพรรคพลังท้องถิ่นไท จะมีมากกว่าตอนเลือกตั้งปี 2562 ก็ได้และนโยบายพรรคต้องดีด้วย ไม่ใช่ว่าไม่ทำอะไรเลย ผมจึงมองว่าพรรคพลังท้องถิ่นไท น่าจะได้คะแนนมากกว่าเดิมตอนเลือกตั้งปี 2562ด้วยกติกาบัตรสองใบและด้วยนโยบายพรรคที่มีความชัดเจนในการทำให้กับท้องถิ่น แล้วนโยบายใหม่ๆบางเรื่องเช่น รายได้ของท้องถิ่น -กฎหมายบุคลากรและข้าราชการท้องถิ่น การแก้กฎหมายของท้องถิ่น ส่วนว่าจะได้ส.ส.เข้าสภาฯหรือไม่ ก็ต้องแล้วแต่ประชาชน
....ทิศทางพรรคเราชัดเจนว่าเราทำพรรคการเมืองเพื่อทำให้ประเทศไทยมีการกระจายอำนาจที่เข้มแข็งและสมบูรณ์ สิ่งนี้คือทิศทางที่พรรคพลังท้องถิ่นไทยึดมั่นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเรื่อง"การกระจายอำนาจ"เราไม่ได้คิดเพียงแค่กระจายอำนาจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเท่านั้น แต่ต้องกระจายอำนาจบนเป้าหมายคือเพื่อประชาชน-พลเมืองของประเทศด้วยให้เข้มแข็ง มีควาสามารถ เป็นพลเมืองที่พร้อมจะช่วยเหลือชุมชน ช่วยกำหนดทิศทาง"ชุมชนท้องถิ่น"ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำให้มีพลเมืองที่แข็งขัน เราจึงมีนโยบายจัดให้มีสภาพลเมือง ที่เป็นนโยบายสำคัญของพรรคที่เราอยากจะตั้งสภาพลเมืองทุกท้องถิ่น เพื่อร่วมกันทำงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเชิงนโยบาย ในเรื่องการจัดการชุมชน ให้สามารถแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสภาท้องถิ่น ย่อมรู้ปัญหาในพื้นที่เช่น ใครคือคนจน ใครคือผู้ด้อยโอกาส ที่ต้องการความช่วยเหลือในการดูแลเป็นพิเศษเช่น คนพิการ -ผู้สูงอายุ-คนด้อยโอกาสทั้งหลาย
เรื่องเหล่านี้คนในท้องถิ่นเขารู้ปัญหา และเมื่อบวกกับสภาพลเมืองที่เป็นกลุ่มประชาชนที่แข็งขัน เมื่อเขารู้ปัญหา จะทำให้การทำงานของท้องถิ่นจะมีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์เรื่องการแก้ปัญหาความยากจน-ความเหลื่อมล้ำ -การบริการสาธารณะต่อคนในชุมชนของตัวเองได้อย่างตรงเป้าหมายมากที่สุด
"นโยบายเหล่านี้คือเรื่องใหม่ของประเทศเรา เพราะประเทศเรามันรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่ส่วนกลางและส่วนภูมิภาคมากเกินไปมาร่วม 70-80 ปีแล้ว ซึ่งระบบดังกล่าวมันไม่มีประสิทธิภาพแล้วในการแก้ปัญหาประเทศ เพราะการรวมศูนย์อำนาจทำให้ปัญหาประเทศพบแต่ความยากจน ความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น"
"หัวหน้าพรรคพลังท้องถิ่นไท"ย้ำว่า นโยบายของพรรคพลังท้องถิ่นไทในการหาเสียงเลือกตั้งที่จะมีขึ้น พรรคจะชูเรื่อง"การปลดล็อกท้องถิ่น-การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น"ซึ่งพรรคมั่นใจว่าการขับเคลื่อนนโยบายพรรคดังกล่าวจะทำให้พรรคสร้างแรงกระเพื่อมทางการเมืองในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นได้
ดังนั้น พรรคพลังท้องถิ่นไท ไม่หวั่นไหวกับกติกาการเลือกตั้งส.ส.ที่เปลี่ยนแปลงไปจากตอนเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ที่จะใช้หาร 100 ในการคำนวณสัดส่วนส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง โดยพรรคพลังท้องถิ่นไท ได้เตรียมตั้งรับไว้แล้วว่าพรรคจะต้องทำอย่างไร พรรคไม่ได้หวั่นไหว และมองว่า ระบบหาร 100 ปาร์ตี้ลิสต์ก็ดี เพราะการมีบัตรเลือกตั้งสองใบ ทำให้ประชาชนจะได้ตัดสินใจว่า นโยบายของพรรคพลังท้องถิ่นไท เรื่องการกระจายอำนาจ-ปลดล็อกท้องถิ่น การทำให้ท้องถิ่นมีหน้าที่และอำนาจมากขึ้น มีงบประมาณมากขึ้น สัดส่วนระหว่างรัฐบาลส่วนกลางกับท้องถิ่นต้องมีมากขึ้น อย่างน้อยก็ 35-40 เปอร์เซนต์ และปรับโครงสร้างภาษีท้องถิ่นใหม่ รวมทั้งทำกฎหมายบุคคลของท้องถิ่นใหม่ เป็น
ผมได้เสนอแก้ไขพรบ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ พ.ศ.2542ก่อนที่จะมีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราเพื่อปลดล็อกท้องถิ่นเสียอีก โดยเสนอเป็นร่างแก้ไขเพิ่มเติมสองเรื่องแรก คือหนึ่ง ให้ท้องถิ่นมีอำนาจโดยทั่วไปทุกเรื่องในการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน เช่นเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาสิ่งแวดล้อม การพัฒนาการศึกษาและสาธารณสุข เป็นต้น ที่ให้ท้องถิ่นทำได้หมด แต่ยกเว้นงานด้านการทหาร -ความมั่นคง การป้องกันประเทศ งานเรื่องกระบวนการยุติธรรม-การตัดสินคดีของศาลและงานด้านกระบวนการยุติธรรม งานด้านการทูต-การต่างประเทศ งานที่เป็นภาพรวมของประเทศ เป็นต้น ก็ให้รัฐบาลส่วนกลางและส่วนภูมิภาคร่วมกันทำ แต่งานด้านคุณภาพชีวิตประชาชนทั่วไป ต้องปลดล็อกให้ท้องถิ่นรับผิดชอบอย่างสมบูรณ์แบบ เรื่องที่สอง เสนอแก้ไขเรื่องสัดส่วนรายได้ให้ท้องถิ่น มีรายได้ 35 เปอร์เซนต์ภายในปี 2567 อย่างไรก็ตาม ร่างแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวเป็นร่างพรบ. เกี่ยวข้องกับการเงิน ที่ต้องให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาว่าจะรับร่างดังกล่าวหรือไม่ โดยตอนนี้เรื่องอยู่ที่นายกรัฐมนตรี ทั้งหมดคือความชัดเจนของพรรคพลังท้องถิ่นไท ที่พยายามต่อสู้เพื่อคนท้องถิ่น
ปลดล็อกท้องถิ่น-กระจายอำนาจ
กับแนวคิดเลือกตั้งผู้ว่าฯโดยตรง
-นโยบายพรรคที่จะชูในการเลือกตั้งเรื่อง การปลดล็อกท้องถิ่น และผลักดันให้มีการกระจายอำนาจ มีนโยบายรูปธรรมอย่างไรบ้าง?
มีอยู่ 3-4 เรื่อง เรื่องแรกคือ"หน้าที่และอำนาจของท้องถิ่น"เราต้องทำให้หน้าที่และอำนาจของท้องถิ่น มีอิสระในการจัดการสาธารณะ -กิจกรรมสาธารณะของประชาชนได้อย่างสมบูรณ์ เพราะที่ผ่านมา ไม่ได้ปลดล็อก ทำให้ภารกิจหลายอย่างไปซ้ำซ้อนกับส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เช่นท้องถิ่นไปทำเรื่องท่องเที่ยวในพื้นที่ แต่ก็ไปซ้ำซ้อนกับกระทรวงท่องเที่ยวฯ ที่มีอำนาจอยู่ หรือการบรรเทาสาธารณภัย ก็ไปทับซ้อนกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ตามพรบ.บรรเทาสาธารณภัยฯ มันก็ซ้ำซ้อนอำนาจกัน หรืออำนาจการจัดการเรื่องน้ำ ก็ไปซ้ำซ้อนกับกรมเจ้าท่า กรมชลประทาน จึงต้องมีการปลดล็อกเรื่องการซ้ำซ้อนหน้าที่และอำนาจ
สอง คือ"ปลดล็อกเรื่องรายได้ของท้องถิ่น" ที่ตอนนี้ สัดส่วนคือ รัฐบาลกลางได้ประมาณ 70 เปอร์เซนต์ ส่วนท้องถิ่นได้ 29.6 เปอร์เซนต์ วิธีแบบนี้ทำให้ท้องถิ่นมีรายได้ที่น้อย ซึ่งการปลดล็อกผมคิดว่าควรทำเป็นแบบขั้นบันได เช่นปี พ.ศ. 2567 จัดสรรให้ท้องถิ่น 35 เปอร์เซนต์ -ปี 2569 ให้ 40 เปอร์เซนต์ -ปี 2570 ให้ 45 เปอร์เซนต์ จากนั้นปี 2572 ให้ 50 เปอร์เซนต์
โดยหากดำเนินการลักษณะดังกล่าว รัฐบาลกลางก็สามารถปรับตัวได้ เรามองเป็นขั้นบันไดในการปลดล็อกเรื่องงบประมาณ นอกจากนี้ เรายังมีแนวคิดเรื่อง"ประกันรายได้ให้ท้องถิ่น"ที่จะให้กับทุกแห่ง แต่ท้องถิ่นที่มีความยากจน อยู่ชายขอบ-ชายแดน ห่างไกลความเจริญ ที่จะไม่เท่าเทียมกับท้องถิ่นที่อยู่ใกล้เมือง อย่างท้องถิ่นในจังหวัดสมุทรปราการบางแห่งมีงบประมาณ 300 ล้าน 500 ล้าน แต่ท้องถิ่น ที่นราธิวาส ปัตตานี หรือ ออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ งบประมาณเขาน้อยกว่ามาก นโยบายประกันรายได้ให้ท้องถิ่นเพื่อความเท่าเทียมก็จะจัดสรรงบให้ท้องถิ่นตามสัดส่วน
นอกจากนี้พรรคเสนอให้มีกฎหมายรายได้การเงินการคลังกับท้องถิ่น ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรทำ โดยจะพบว่าในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 บัญญัติให้รัฐบาลทำกฎหมายดังกล่าวไว้ด้วย แต่รัฐบาลในอดีตช่วงที่ผ่านมา ไม่เคยทำให้สำเร็จจนคาราคาซังมา
พรรคจึงมีแนวคิดเสนอให้มีกฎหมายรายได้ท้องถิ่น ที่จะทำให้เกิดการจัดระบบการจัดเก็บภาษีใหม่ เพื่อให้ท้องถิ่นมีรายได้มากขึ้นที่เป็นเรื่องที่ก้าวหน้ามาก เช่นเรื่องภาษีสิ่งแวดล้อม ภาษีขยะที่สร้างมลพิษ ใครเป็นผู้ทำให้เกิดมลภาวะในท้องถิ่นก็ต้องจ่ายภาษี หรือภาษีใหม่ๆที่ควรให้ท้องถิ่นนั้นได้ บนหลักคือ ภาษีเกิดที่ไหน ต้องให้ท้องถิ่นนั้นได้ ส่วนจะจัดสรรคืนให้รัฐบาลกลางเท่าใด ก็มาพิจารณาอีกที
"ศ.โกวิทย์-หัวหน้าพรรคพลังท้องถิ่นไท"ยังได้กล่าวถึงเรื่อง "การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรง"ว่า แนวคิดดังกล่าว หากดูจากโครงสร้างท้องถิ่นขณะนี้ มีโครงสร้างหนึ่งที่เราตั้งใจทำ ก็คือท้องถิ่นที่มีอัตลักษณ์พิเศษ ท้องถิ่นที่เป็นเมืองพิเศษ เป็นพื้นที่เมืองพหุวัฒนธรรม
ยกตัวอย่าง พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเมืองพหุวัฒนธรรม ยะลา-ปัตตานี-นราธิวาส เราควรให้เป็นรูปแบบการปกครองท้องถิ่นพิเศษแต่ละจังหวัดไป ส่วนจะออกแบบอย่างไร เราก็จะคิดไว้ในการเสนอกฎหมาย เพราะการปกครองท้องถิ่นในรูปแบบพิเศษต้องมีกฎหมายพิเศษขึ้นมา ซึ่งหากจังหวัดที่ผมกล่าวถึง มีเสียงขานรับว่าควรเป็นจังหวัดที่มีรูปแบบการปกครองท้องถิ่นพิเศษ ถึงตอนนั้นก็ว่ากันไป
นอกจากนี้รูปแบบพิเศษอีกรูปแบบหนึ่งคือ พื้นที่ซึ่งมีความเป็นเกาะเช่น ภูเก็ต ที่น่าจะเป็นการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษ เพราะภูเก็ตมีรายได้ของจังหวัดมาก เก็บภาษีจากการท่องเที่ยว-สาธารณูปโภคต่างๆ แต่ละปีส่งให้รัฐบาลกลางจำนวนมาก ซึ่งหากทำให้เป็นรูปแบบพิเศษ ให้มีรายได้-ภาษีของจังหวัดเอง งบก็จะนำมาใช้พัฒนาในจังหวัด จึงเสนอให้ มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดที่ภูเก็ต ซึ่งเขาก็ขานรับ หรืออย่าง เกาะสมุย ก็ให้ยกสถานะจากเทศบาลนครเกาะสมุยเป็นการปกครองท้องถิ่นในรูปแบบพิเศษ ทำคล้ายๆ ภูเก็ต
สิ่งเหล่านี้คือการปลดล็อกให้มีการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ให้มีภาษีของเขาเอง มีการจัดการเมืองของเขาเอง การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ก็จะเกิดขึ้นในพื้นที่พิเศษซึ่งเต็มจังหวัด นอกจากนี้ยังมีการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษอีกแบบหนึ่งคือ"เขตเศรษฐกิจพิเศษ"เช่น แหลมฉบัง -มาบตาพุด แถบบางพื้นที่ใกล้ๆ พัทยาหรือหัวหิน ก็ควรทำเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ
การปกครองรูปแบบพิเศษก็คือจะมีสองแบบคือ การปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษแบบไม่เต็มพื้นที่กับแบบเต็มพื้นที่ แบบเต็มพื้นที่ก็คือลักษณะเป็นแบบจังหวัดจัดการตนเอง คือการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด โดยเราเสนอเมืองที่มีความพร้อมก่อน 10 เมืองเช่น ภูเก็ต หรืออย่างจังหวัดหลายจังหวัดที่มีความพร้อม มีความคล่องตัวทั้งระบบสาธารณูปโภค-สาธารณูปการของจังหวัดเจริญเต็มที่แล้ว รายได้-ภาษีในจังหวัดสามารถจัดการตนเองได้ เช่น จังหวัดนนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี นครปฐม ชลบุรี ระยอง หรือจังหวัดอื่น ๆ ที่มีความพร้อม จัดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯไปก่อนประมาณสิบจังหวัด โดยในสองปีแรก ให้ทดลองเลือกผู้ว่าฯก่อนในเมืองที่มีอัตลักษณ์พิเศษ -เมืองที่มีความพร้อมและประชาชนในจังหวัดต้องการ เพราะการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ควรเกิดขึ้นแบบเป็นขั้นเป็นตอนเพื่อให้มีการปรับตัวเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต
เรื่องที่สี่ คือ"กลไกการดูแลท้องถิ่น" ซึ่งผมเป็นคนหนึ่งที่ร่วมกับเพื่อน ส.ส. ในสภาฯ เสนอญัตติให้สภาฯ ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาเรื่องกระทรวงท้องถิ่นที่จะบูรณาการงาน หน่วยงานที่ดูแลท้องถิ่นคือกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ที่อยู่กับกระทรวงมหาดไทย และสำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อยู่กับสำนักนายกรัฐมนตรี หรือกระทรวงอื่นๆ ที่เขานำงานของท้องถิ่นไปทำ จึงต้องมีการบูรณาการเพราะการทำงานแต่เดิมมันไปแยกส่วนกันการจะไปสนับสนุนท้องถิ่น ทำให้ไม่มีศักยภาพมากพอ
วิธีการทำให้ท้องถิ่นมีศักยภาพมากพอก็คือต้องมีหน่วยที่ต้องดูแล จึงต้องจัดให้มีกระทรวงท้องถิ่น แต่ผมมองว่ากระทรวงท้องถิ่น อาจจะเป็นกลไกเชิงอำนาจมากเกินไปก็ได้ จึงเสนอทางออกให้เป็น "สำนักงานคณะกรรมการท้องถิ่นแห่งชาติ" ที่อาจจะให้เป็นองค์กรมหาชน ที่เป็นอิสระหรือจะให้เป็นอิสระ แต่ยังให้ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรี ที่รูปแบบคล้ายกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ คือ ให้เป็นอิสระ ซึ่งพรรคพลังท้องถิ่นไท มีแนวคิดว่าควรให้เป็นแบบหลังคือให้หลุดไปเลยจากกระทรวง แต่ให้สำนักงานคณะกรรมการท้องถิ่่นแห่งชาติ ขึ้นกับนายกรัฐมนตรี โดยรวมงานจากกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานคณะกรรมการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานบุคลากรส่วนท้องถิ่น มาไว้ที่สำนักงานคณะกรรมการท้องถิ่่นแห่งชาติ ที่จะทำให้คนท้องถิ่นรู้สึกว่าเขาอิสระจริงๆ โดยมีนายกรัฐมนตรีนั่งหัวโต๊ะ ดีกว่าให้เป็นรัฐมนตรี ที่มาจากโควต้าของพรรคการเมือง มาจากมุ้งการเมืองในพรรคการเมือง ซึ่งบางทีรัฐมนตรีไม่รู้เรื่องกระจายอำนาจเลย ก็เจ๊งเลย
ผมเห็นว่า การกระจายอำนาจที่จะประสบความสำเร็จได้ ต้องมาจากองค์ประกอบสำคัญคือ ผู้นำประเทศต้องเล่นด้วย นายกรัฐมนตรีต้องนั่งหัวโต๊ะเล่นด้วยกับการทำเรื่องการกระจายอำนาจ และพรรคการเมืองทุกพรรคต้องเอาด้วยกับเรื่องนี้ และส่วนราชการต้องให้ถือว่าท้องถิ่นคือหุ้นส่วนในการช่วยเหลือบ้านเมือง แบ่งเบาภารกิจรัฐบาล
-เรื่องของบ้านใหญ่ ตระกูลการเมืองในท้องถิ่น เป็นอย่างไร?
ผมว่าอันนี้มันเป็นอิทธิพลทางการเมือง อย่างผมอยู่ในสภาฯ เห็นว่า ส.ส. ก็อาจจะมีที่มาหลายประเภท เช่น
ประเภทมาจากบ้านใหญ่ กลุ่มการเมืองบ้านใหญ่
ประเภทที่สองมาจากความเป็น ธุรกิจการเมือง ก็พวกมีเงิน พรรคมีเงิน ก็สร้างธุรกิจการเมืองเพื่อให้ได้มาซึ่งคะแนนเสียง แล้วก็มาเป็นนักการเมือง
ประเภทที่สามคือ พวกอิทธิพล คือมาจากอิทธิพลท้องถิ่น ก้าวขึ้นมาเป็นอิทธิพลการเมืองระดับชาติ อิทธิพลนักเลงโต หรืออาจจะมีธุรกิจสีเทามาก่อน
ประเภทที่สี่ก็เป็นพวก เงินมาก ก็ไม่รู้จะทำอะไร ก็เอาเงินไปสนับสนุนพรรคการเมือง พรรคการเมืองก็โอเคด้วย
ซึ่งทั้งสี่ประเภทกำลังจะลามที่โยงใยสัมพันธ์กันการเมืองท้องถิ่น
ซึ่งส่วนตัวผมในฐานะหัวหน้าพรรค ผมไม่มีทั้งสี่ประเภท เพราะผมเป็นลูกคนจน และพรรคพลังท้องถิ่นไท ขอประกาศต่อต้านธุรกิจการเมืองทุกรูปแบบ เพราะเราอยากสร้างการเมืองโปร่งใส การเมืองที่ใสสะอาดโดยร่วมมือกับประชาชน เพื่อให้ประชาชนคิดได้ว่า หากคุณรับเงินจากนักการเมืองสักหนึ่งพันบาทหรือสองพันบาท จงรู้ไว้ว่า เขาจะหาวิธีการเอาคืน เช่นซื้อเสียงคนละสองพันบาท จ่ายไปสักล้านคนจากหลายเขตเลือกตั้ง หลังจากเลือกตั้งเสร็จ ก็จะต้องมีการถอนทุนคืน ซึ่งการถอนทุนคืนทางการเมือง เป็นมือที่เรามองไม่เห็น เบียดบังงบประมาณแผ่นดิน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อุทธัจจะ .. ในวังวนแห่งการตื่นธรรม .. ยุคไอที!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระรัตนตรัย... สัทธายะ ตะระติ โอฆัง.. บุคคลข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา.. โอฆะ หมายถึง ห้วงน้ำ ที่มีกระแสเชี่ยวกราก พัดพาสัตว์ทั้งหลายให้ตกไปในกระแสน้ำนั้น ยากจะข้ามฝั่งไปได้
’ห้าพันตารางกิโลเมตร‘ เท่ากับกี่ตารางนิ้ว ? เงื่อนตายของ MOU 2544 ?
MOU 2544 ไม่ใช่กรอบการเจรจาเพื่อหาข้อตกลง ”แบ่งผลประโยชน์(ปิโตรเลียม)“ เท่านั้น แต่หาข้อตกลง “แบ่งเขตแดน(ทะเล)“ ด้วย !
คำนูณ ผ่าปม 2 ได้ 3 เสีย ถ้าไม่ยกเลิก MOU 2544
ความเคลื่อนไหวและการแสดงความคิดเห็นเรื่อง MOU 2544 ที่เชื่อมโยงถึงเกาะกูด, การหาแหล่งพลังงานแห่งใหม่ในพื้นที่อ้างสิทธิไทย-กัมพูชา ที่มีการประเมินกันว่ามีมูลค่าสูงถึง 10 ล้านล้านบาท ยั
'แก้วสรร' แพร่บทความ 'นิติสงคราม' คืออะไร?
นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ออกบทความเรื่อง “นิติสงคราม” คืออะไร???
อย่าได้ประมาทในธรรม.. “เมื่อใจตรง .. จะตรงใจ”..
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา.. เดินทางกลับมาจากอินเดีย เมื่อ ๗ พ.ย.๒๕๖๗.. ถึงกรุงเทพฯ ๘ พ.ย.๒๕๖๗ หลังจากไปร่วมประชุม “The First Asian Buddhist Summit 2024” ที่นิวเดลี งานนี้จัดโดยกระทรวงวัฒนธรรมและท่องเที่ยวของรัฐบาลอินเดีย
ขึ้นต้นก็(เขียน)ผิดแล้ว ! ว่าด้วยเส้น “ละติดจูด” ที่ 11° “E” ในเอกสารแนบท้าย MOU 2544
เขียนและพูดเรื่อง MOU 2544 มาหลายปี หลากมุมมอง ล่าสุดช่วงนี้ก็จำแนกข้อดีข้อเสีย รวมทั้งส่วนที่จะได้และส่วนที่จะเสียหากเจรจาสำเร็จ ล้วนหนัก ๆ ทั้งนั้น .